แม้หลายคนบอกว่า หนังผี หนังตลก รวมถึงเนื้อหาประเภทความหลากหลายทางเพศ คือไม้เด็ดของวงการภาพยนตร์ไทย ที่ช่วยผลักดันให้สื่อในไทยก้าวไปข้างหน้าอยู่ตลอด ทว่าในต่างประเทศประเด็นเช่นนี้ก็ถือเป็นทิศทางของอุตสาหกรรมสื่อเช่นกัน
โดยเฉพาะไต้หวันที่ช่วงหลายปีที่ผ่านมานำเสนอหนังที่มีเนื้อหาประเภทนี้จำนวนมาก รวมถึง Marry My Dead Body ผลงานจาก เฉิง เหว่ยหาว (Cheng Wei-hao) ที่หยิบจับทั้งผี ความเป็นแอ็กชัน คอเมดี และ LGBTQIA+ มาร้อยเรียงรวมกันได้อย่างลงตัว จนทำให้ตัวหนังกวาดรายได้ไปกว่า 360 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน รวมถึงได้เป็นตัวแทนภาพยนตร์แห่งชาติที่ส่งไปประกวดสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม บนเวทีออสการ์ครั้งที่ 96 อีกด้วย
สำหรับใครที่ได้ดูเรื่องนี้ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่คือหนังอีกเรื่องที่มีครบทุกรสชาติ สามารถมอบประสบการณ์ทั้งสนุก ตลก กลัว เศร้า ให้กับผู้ชมได้ตลอดทั้งเรื่อง อีกทั้งยังมีความทะเยอทะยานกล้านำเสนอประเด็นที่แหลมคมต่างๆ ทั้งแนวคิดเกี่ยวกับการสมรสของคนเพศเดียวกัน หรือปัญหาในแวดวงข้าราชการ
ทำให้ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับชาวไทย ที่เป็นหนึ่งในผู้ชมเรื่องนี้เช่นกัน ตัดสินใจติดต่อทีมผู้ผลิตเพื่อเจรจาขอซื้อลิขสิทธิ์มาทำเป็นเวอร์ชันไทย จนกลายเป็น ซองแดงแต่งผี (The Red Envelope) โปรเจกต์ระหว่าง GDH, Billkin Entertainment และ PP Krit Entertainment ที่จะได้ พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร และบิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล มารับบทนำในเรื่อง และได้ ชยนพ บุญประกอบ ผู้กำกับจากเรื่อง SuckSeed (2011), เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ (2015) และ Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน (2019) มาคุมบังเหียนกำกับโปรเจกต์นี้ให้เกิดขึ้นมา
ในช่วงที่หนังเรื่องนี้เข้าฉายใน เทศกาลภาพยนตร์ไต้หวัน TAIWAN MOVIE WEEK ที่จัดขึ้นโดย สถาบันสร้างสรรค์คอนเทนต์ไต้หวัน (TAICCA) The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยกับทั้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล, ชยนพ บุญประกอบ, เฉิง เหว่ยหาว และจิน ไป่หลุน (ผู้อำนวยการสร้าง – Executive Produce เรื่อง Marry My Dead Body) ถึงการรีเมกหนังเป็นเวอร์ชันไทยในครั้งนี้ว่า จะมีความพิเศษและแตกต่างอย่างไรบ้าง รวมถึงมองว่าผู้ชมฝั่งไทยจะได้รับประสบการณ์แบบไหน กับการได้ดูหนังเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า
ทำไมจึงคิดว่าหนังเรื่อง Marry My Dead Body เหมาะที่ดัดแปลงเป็นเวอร์ชันไทย
บรรจง: สำหรับตัวผมเอง หลังจากได้ดูหนังเรื่องนี้จบ ผมคิดอยู่คำเดียวในหัวเลยคือ ทำไมเราคิดไม่ได้วะ เพราะความสยอง ความ Bromance มันเป็นสไตล์หนังที่ประเทศไทยถนัดอยู่แล้ว
ดังนั้นพอเริ่มมีความคิดว่าจะเอามาทำเป็นเวอร์ชันไทยผมคิดอยู่ 2 เรื่องเลยคือ พีพี (กฤษฏ์ อำนวยเดชกร) และบิวกิ้น (พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) ต้องมาเล่นเรื่องนี้ ถ้าเอาเขาไปสวมอยู่ในบทนำของเรื่อง หนังเรื่องนี้จะต้องมีชีวิตชีวาเอามากๆ อีกสิ่งคือ ต้องเป็น หมู (ชยนพ บุญประกอบ) กำกับ คือส่วนตัวผมก็เป็นแฟนหนังขอเขามาตลอด ทั้ง SuckSeed (2011) เมย์ไหน..ไฟแรงเฟร่อ (2015) หรือ Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน (2019) ที่จะมีอารมณ์ขันในแบบเฉพาะตัว ดังนั้นถ้าได้เขามาช่วยตีความเรื่องนี้ในรูปแบบไทย จะทำให้หนังมันพิเศษมาก
ชยนพ: ผมเห็นด้วยอยากที่พี่โต้งบอก หนังเรื่อง Marry My Dead Body มันสนุก มีหลายรสชาติ เป็นหนังหลายแนวที่รวมอยู่ในเรื่องเดียว ซึ่งผมชอบคอนเซปต์อะไรประมาณนี้อยู่แล้ว และพอได้รู้ว่าจะได้ร่วมงานกับพีพีและบิวกิ้นอีก เราก็เลยรู้สึกว่า คงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้กำกับหนังที่มีทั้งบทและนักแสดงคุณภาพขนาดนี้
เพียงแต่โจทย์ของผมคือต้องทำอย่างไรให้มันดูไทยมากขึ้น ให้คนไทยดูแล้วเข้าใจบริบท แต่ผมว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะต้นฉบับเขาทำไว้ดีมาก ผมเองดูจบก็ประทับใจจนน้ำตาไหลเลย
จิน ไป่หลุน: ในส่วนของต้นฉบับ พวกเราชอบไอเดียของหนังเรื่องนี้แต่แรกแล้ว แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะกลายเป็นหนังระดับนานาชาติ เราคิดว่ากันแต่ว่า หนังเรื่องนี้ถ้าได้ทำจริงต้องสนุกมากๆ แน่ เลยทำขึ้นมาด้วยความตั้งใจแบบนั้นมากกว่า แต่พอได้ไปฉายที่เทศกาลหนังฮ่องกงที่บรรจงได้มาดู เขาก็ติดต่อมาทันทีเลย มาเล่าถึงความชอบในตัวหนังและความตั้งใจที่อยากทำหนังเป็นเวอร์ชันไทย
เชื่อไหมว่าด้วยน้ำเสียง ด้วยความรู้สึกของบรรจงในวันนั้น มันแทบไม่ต่างกับวันแรกที่พวกเราคุยกันถึงการสร้างหนังเรื่องนี้เลย
ในการจะรีเมกหนังให้เป็นเวอร์ชันไทยสักเรื่องหนึ่ง ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง
บรรจง: ด้วยความที่หลายๆ อย่างในเวอร์ชันต้นฉบับดีอยู่แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ยังต้องคงโครงสร้างที่แข็งแรงไว้ให้ครบถ้วนที่สุด แต่ในบางอย่างที่อาจไม่ได้เข้ากับบริบทของสังคมไทย ก็จะมีการดัดแปลง ตีความให้เหมาะกับผู้ชมไทยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นรสชาติเป็นสีสันที่แตกต่างทั้งในแง่ของเนื้อเรื่อง ตัวละครที่เข้ามาเสริม รวมถึงฉากแอ็กชันต่างๆ
ชยนพ: เพราะการจะยกทุกอย่างที่หนังเรื่องนี้เป็น มันจะทำให้ผู้ชมรู้สึกแปลกๆ หากเราเอาตัวละครไทย ไปสวมกับวิธีคิด ทัศนคติ หรือสภาพสังคมแบบไต้หวัน เราเลยต้องมีการปรับเปลี่ยน รวมถึง เราอยากให้มีการเซอร์ไพรส์คนดูบ้าง เพราะหากบางคนที่เคยดูต้นฉบับมาแล้ว ก็จะรู้ว่าทุกอย่างเป็นอย่างไร ซึ่งเราอยากให้มันมีความแตกต่าง ให้เขาได้ลุ้นในระหว่างการดูสำหรับเวอร์ชันรีเมกของไทย
คิดว่าจุดเด่นของ Marry My Dead Body คือเรื่องอะไร
เฉิง เหว่ยหาว: ผมคิดว่าทั้ง 2 เวอร์ชัน มีจุดร่วมที่ต้องการจะบอกเล่าเรื่องเดียวกัน คือความสัมพันธ์ของคนสองคน ที่คนหนึ่งเป็นผู้ชายและอีกคนหนึ่งเป็นเกย์ ที่จากความสัมพันธ์ติดลบ พวกเขาค่อยๆ พัฒนา และเปิดใจยอมรับซึ่งกันและกันได้อย่างไร
คิดว่ากลุ่มเป้าหมายของหนังเรื่องนี้คือใคร
บรรจง: มันต้องกว้างมากๆ เพราะในเวอร์ชันต้นฉบับเขากวาดเงินไปกว่า 360 ล้านบาทดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 370 ล้านบาทไทย) แสดงว่าผู้ชมทุกเพศทุกวัย เขาสนุกกับเรื่องนี้ ไม่ว่าใครก็สามารถดูได้
สำหรับคนที่ยังตั้งแง่ ไม่เปิดรับหนังที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศนั้น มีอะไรอยากจะบอกพวกเขาบ้าง
บรรจง: ผมว่าถ้าตัวอย่างหนังเรื่องนี้ถูกปล่อยออกไป มันจะไม่มีคำถามนี้อีกเลย เพราะตัวหนังมันชัดเจนมากว่า หนังมันเล่าถึงผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องมาเจอสิ่งต่างๆ ที่ในตอนแรกเขาอาจจะตั้งคำถามกับมัน แต่ทุกอย่างมันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ จนนำไปสู่มิตรภาพที่งดงาม ซึ่งผมว่าจุดเริ่มต้นของตัวละครมันก็ไม่ต่างกับคนกลุ่มนี้เท่าไร ดังนั้นถ้าหากเขาได้มาดู ก็จะทำความเข้าใจประเด็นนี้ได้ไม่ยาก
ชยนพ: อีกอย่างคือ เราจะพยายามโปรโมตและชี้แจงตลอดว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังสำหรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ใช่หนังเฉพาะกลุ่ม ใครๆ ก็สามารถดูได้ โดยที่เขายังจะได้แง่คิดบางแง่มุมกลับไปอย่างแน่นอน
จิน ไป่หลุน: หนังเรื่องนี้ เป้าหมายคือการพูดถึงความสัมพันธ์ของคนสองคน ที่ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นความรัก เป็นมิตรภาพ หรือเป็นความรู้สึกแบบครอบครัว เราไม่ได้ตั้งใจอธิบายว่ามันเป็นความสัมพันธ์ประเภทไหน ดังนั้นทุกคนก็สามารถเลือกจะตีความได้ ตามแต่ประสบการณ์และความคิดของตัวเอง
ซึ่งทั้งหมดนี้มันขึ้นอยู่กับการตลาดและสื่อสาร ซึ่งเราเชื่อว่าทางฝั่งประเทศไทยจะทำเรื่องนี้ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ในหนังมีเรื่องประเด็น การสมรสของคนทุกเพศอย่างเท่าเทียม ในวันนี้พวกคุณมองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ชยนพ: สำหรับประเด็นกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวันนี้ทุกอย่างมันกำลังดำเนินไปข้างหน้าแล้ว ผมเลยคิดว่าการที่คนไทยมาได้ดูหนังเรื่องนี้ จะได้เห็น ได้เข้าใจมากขึ้นว่า การมองหรือใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องนี้อย่างเป็นปกติ แบบที่ไต้หวันเขาทำมาก่อนนั้นเป็นอย่างไร
แล้วในฝั่งของไต้หวันเอง ที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2019 แล้ว วันนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงไหม
จิน ไป่หลุน: แน่นอนว่าย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายภาคส่วน แต่ยังมีบางเรื่องที่จำเป็นต้องใช้เวลาอย่างมาก เช่นการเปลี่ยนทัศนคติของคนที่ยังไม่เปิดใจให้เขายอมรับเรื่องนี้มากขึ้น
ซึ่งหนังเรื่องนี้เองก็เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า มันก็ยังมีคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วย การบังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างจะคลี่คลาย มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ต้องเริ่มจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่ตามมาอีกมาก เช่นการปลูกฝั่งทัศนคติเรื่องนี้ให้กับสังคม
มองว่าสุดท้าย ผู้ชมที่มาดูหนังเรื่องนี้จะได้รับประสบการณ์แบบไหน
ชยนพ: อย่างน้อยที่สุด ผมอยากให้หนังเรื่องนี้ เป็นหนังบันเทิงที่จะทำให้คุณรู้สึกเพลิดเพลิน และหากเป็นไปได้ ก็อยากให้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ใครบางคนได้เข้าใจและยอมรับในเรื่องความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น
เฉิง เหว่ยหาว: เพราะเป้าหมายสำคัญของหนังเรื่องนี้ คือการชวนให้ทุกคนร่วมกันคิด ร่วมกันคุยถึงประเด็นเรื่องนี้ ผมอยากให้หนังเรื่องนี้เป็นประเด็นในการพูดคุยระหว่างพ่อกับลูกชายหรือลูกสาว ถึงความหลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน เผื่อหากวันหนึ่งมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นกับพวกเขา เขาจะได้เข้าใจและรับมือได้ดียิ่งขึ้น
Tags: เฉิง เหว่ยหาว, จิน ไป่หลุน, The Frame, Marry My Dead Body, บรรจง ปิสัญธนะกูล, ชยนพ บุญประกอบ