1
โต้ง จากรักแห่งสยาม (2550) เป้ จาก ห้าแพร่ง (2552) หรือเป็ด จาก Suck Seed ห่วยขั้นเทพ (2554) เหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นภาพจำแรกๆ ของคอหนังชาวไทยกับการได้เห็นเก้า-จิรายุ ละอองมณี ปรากฏอยู่ในวงการภาพยนตร์ เป็นภาพจำว่า นักแสดงรายนี้คืออีกหนึ่งวัยรุ่นมาแรง ที่จะเติบโตเป็นนักแสดงฝีมือดีในอนาคต
ทว่าในความจริงแล้ว จิรายุคือเด็กที่เข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และน้อยคนนักที่จะรู้ว่า นี่ไม่ใช่ความฝันของเขาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที การแสดงเป็นเพียง ‘โอกาสที่เข้ามา’ ซึ่งเขาตั้งใจแล้วว่า จะทำออกมาให้ดีที่สุด
“ผมเริ่มเป็นนักแสดงตั้งแต่เด็กเลย เป็นแบบไม่ตั้งใจด้วย เพราะผมเองก็ไม่ใช่คนกล้าแสดงออก ตอนนั้นยังพูดไม่ค่อยเป็นด้วยซ้ำ แต่ด้วยช่วงจังหวะของชีวิต เราเลยได้กลายมาเป็นนักแสดงเด็กตั้งแต่อายุ 5 ขวบ
“ตอนนั้นสังคมจะมีความเชื่อว่า การได้มาออกโทรทัศน์ ได้แสดงหนัง มีชื่อเสียง เป็นสิ่งที่ดี อย่างน้อยก็ได้ค่าตอบแทนเยอะ ชีวิตสบาย สามารถเอาชื่อเสียงไปก่อร่างสร้างตัวต่อได้ เลยจะมีธรรมเนียมบางอย่างที่เกิดขึ้นกับเด็กในช่วงนั้น ที่พ่อแม่มักจะพาลูกไปแคสต์บททั้งละคร ภาพยนตร์ กระทั่งโฆษณา
“ซึ่งครอบครัวผมก็เป็นแบบนั้น จำได้ว่า วันนั้นพ่อแม่เขาไม่ได้พาผมไปแคสต์เองหรอก แต่เหมือนตั้งใจจะพาลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งไปแคสต์บท เราก็เลยได้ติดสอยห้อยตามไปด้วย ปรากฏว่า จังหวะที่อยู่ในกองถ่ายมีพี่โมเดลลิงเขามาขอถ่ายรูปเก็บไว้ ซึ่งพอรูปของเรามันไปอยู่ในสต๊อกของเขาแล้ว เวลามีงานก็จะถูกส่งต่อมาถึงผมได้ง่ายขึ้น”
เมื่อถามต่อว่า นักแสดงเด็กยุคนั้นต้องทำอะไรบ้าง จิรายุตอบอย่างเรียบง่ายว่า ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่พาตัวเองไปอยู่หน้ากล้อง ยิ้มให้เก่งก็เพียงพอแล้ว
แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ ช่วงเวลาหลังจากนั้น ที่นักแสดงเด็กต้องเติบโตเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ สำหรับจิรายุที่เป็นนักแสดงในยุคนั้น เขาเอ่ยปากว่า เป็นเรื่องท้าทายอยู่ไม่น้อย
“การเป็นนักแสดงเด็กถึงจะเก่งแค่ไหน พอผ่านไปสักพักหนึ่ง จะมีช่วงที่เขาหายไป ซึ่งจุดนี้แหละ ที่บางคนจะกลับมาเป็นนักแสดงวัยรุ่นได้ หรือไม่ก็หายไปจากวงการเลย
“ผมคิดว่า หลังจากพ้นช่วงวัยเด็กเลย คือช่วงคาบเกี่ยวระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เป็นช่วงวัยที่ไม่ค่อยมีบทรองรับเท่าไรในยุคสมัยนั้น คือคุณต้องเข้าใจว่า สมัยก่อนพวกละครหรือซีรีส์เกี่ยวกับวัยรุ่นยังไม่ได้เป็นที่นิยมเท่าไร
“แต่กลายเป็นว่า ผมได้รับบทจากหนังรักแห่งสยาม, ห้าแพร่ง, Suck Seed ห่วยขั้นเทพ มันเป็นช่วงจังหวะที่เราได้ทำงานต่อเนื่องจากวัยเด็ก อีกทั้งได้ทำงานกับทั้งทีมงานและนักแสดงที่มีคุณภาพ หน้าตา และชื่อของเราเลยยังถูกจดจำในวงการอยู่
“พูดกันตรงๆ คือถ้าไม่มีบทหนังเข้ามา แล้วจะไม่ได้เป็นนักแสดง ตอนนั้นผมยอมรับได้นะ ตอนนั้นคิดแค่ว่า ถ้าไม่มีหนังให้เล่นก็จะได้กลับไปเรียนหนังสือ ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนต่อ แต่ไม่รู้ว่า เพราะอะไรเราถึงได้รับโอกาสมา ผมเองก็ไม่ได้รู้สึกว่า เป็นนักแสดงที่เก่งหรือมีพรสวรรค์อะไรขนาดนั้น
“เพียงแต่พอเขาให้โอกาสมาแล้ว ผมก็เลยพยายามทำให้เต็มที่อยู่ตลอด ทำให้สมกับความไว้ใจที่เขาจ่ายเงินให้เราไปแสดงในผลงานของเขา ผมยึดถือสิ่งนี้เป็นหลักในการทำงานมาตลอด คือจะดีหรือไม่ดี ผมไม่รู้หรอก แต่ผมทำเต็มที่ทุกครั้งให้สมกับที่เขาไว้ใจเรา”
เมื่อถามว่า จิรายุในวันนี้มีเป้าหมายกับการแสดงอย่างไร เขากล่าวสั้นๆ เพียงแค่ว่า ในปีที่ 28 นั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความพร้อมในหลายด้าน ก่อนที่จะเริ่มลงหลักปักฐานใช้ชีวิตในรูปแบบครอบครัวอย่างเต็มรูปแบบ เขาจึงหวังว่า ในช่วงนี้จะสร้างอะไรบางอย่างที่สำคัญ เป็นสิ่งที่คนจะจดจำว่า เขาเป็นคนแบบไหน
จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องพูดถึง ศึกค้างคาวกินกล้วย (2567) ผลงานการแสดงเรื่องล่าสุดของเขา ที่ได้ร่วมงานกับทีมงานหกฉากครับจารย์ รายการซิตคอมที่เขาร่วมงานมาอย่างยาวนาน
“โปรเจกต์นี้ผมคุยกับ พี่เจแปน (ภาณุพรรณ จันทนะวงษ์) ไว้นานแล้ว เขาเกริ่นว่า เขาอยากทำหนังสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งพอได้คุยกันแล้ว ผมก็ตอบตกลงทันที ผมก็ตื่นเต้นนะ อยากรู้ว่า เขาจะเป็นผู้กำกับอย่างไร
“พี่เจแปนเขาเป็นคนจริงจังนะ ภายนอกอาจดูเป็นคนตลก แต่พอทำงานจริง เขาค่อนข้างจริงจังเลย ดังนั้นอะไรที่ผมไม่คิดว่าจะทำ ก็ได้ลองทำในหนังเรื่องนี้ เช่น การตีระนาดหรือเป็นทหาร ที่ผมรู้สึกว่า ตัวเองทำไม่ได้เลย มันค่อนข้างยาก ไกลตัวกับบุคลิกของเราชัดเจน”
2
นอกจากตัวตนในฐานะนักแสดงแล้ว อีกหนึ่งบทบาทที่เป็นเหมือนความชอบของจิรายุคือ ฟุตบอลและสโมสรเชลซี จนทำให้ที่ผ่านมามักจะเห็นเขาปรากฏอยู่ในรายการเกี่ยวกับกีฬาชนิดนี้อยู่บ่อยครั้ง
“ถ้าพูดแค่ความบันเทิง ผมว่าเรื่องฟุตบอลก็น่าจะควบคู่มากับการแสดงและดนตรีเลย คือผมลองสังเกตตัวเองนะว่า คอนเทนต์ในแต่ละวันส่วนใหญ่เราฟังพอดแคสต์เกี่ยวกับฟุตบอลหรือดนตรีอยู่ตลอด เกมก็ไม่ค่อยได้เล่น ถ้าจะเล่นก็เป็นเกมกับฟุตบอลเป็นส่วนใหญ่”
สำหรับการดูฟุตบอล จิรายุเล่าว่า ตัวเองเริ่มดูตั้งแต่ฟุตบอลโลกปี 2549 ที่จัดในประเทศเยอรมนี “อาจเพราะตอนนั้นฟุตบอลโลกมันฟีเวอร์มากๆ มีสินค้าเกี่ยวกับฟุตบอลโลกเต็มไปหมด กระแสมันระบาดไปทั่วเมือง เราก็เลยตัดสินใจลองดูว่ามันเป็นอย่างไร
“จำได้เลยว่า ช่วงนั้นผมไปซื้อนิตยสารสตาร์ซอคเกอร์รายสัปดาห์มา มันเป็นเล่มที่เกี่ยวกับข้อมูลฟุตบอลโลกในครั้งนั้น มีข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลนักเตะต่างๆ คนไหนเก่ง คนไหนดาวรุ่ง เราก็ได้รู้จัก ได้จำจากหนังสือนั้น จำได้ว่ามี เดวิด เบคแฮม (David Beckham) ที่จะดังๆ
“จนฟุตบอลโลกจบลง ผมก็ยังไม่ได้เลือกทีมเชียร์หรอก แต่พอฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2006/2007 (พ.ศ. 2549-2550) เปิดการแข่งขัน แล้วมีนัดชิงถ้วยคอมมูนิตี้ชิลด์ ระหว่างลิเวอร์พูลกับเชลซี น้าผมก็ชวนมาดูบอล ซึ่งเขาชอบทีมลิเวอร์พูลมาก ก็จะยุให้เราเชียร์อยู่ตลอด แต่ด้วยความที่เราเป็นเด็กหัวรั้นตอนนั้น เขาให้เชียร์อะไร ก็จะต่อต้านอยากเชียร์ทีมอีกฝั่งแทน
“วันนี้ถ้าลิเวอร์พูลเจอกับแอสตันวิลล่า ผมก็อาจจะเชียร์ทีมนี้ก็ได้นะ (หัวเราะ) คืออะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ทีมลิเวอร์พูล
“แล้วจำได้ว่าตอนนั้น เชลซีมีนักเตะไหมคือ อังเดร เชฟเชนโก (Andriy Shevchenko) และมิชาเอล บัลลัก (Michael Ballack) ซึ่งเป็นนักเตะที่เก่งมากในตอนนั้น เราเลยเริ่มตามดูและเชียร์มาโดยตลอด หลังจากนั้นก็มีนักเตะอย่าง ดิดิเยร์ ดร็อกบา (Didier Drogba) ตามมาภายหลัง”
สำหรับเหตุการณ์ที่จิรายุรู้สึกประทับใจจนลืมไม่ลงในการเชียร์เชลซีคือ การเชียร์สโมสรเข้าชิงชนะเลิศการแข่งขันยูฟ่าแชมป์เปียนส์ลีก (UEFA Champions League) ทั้ง 3 ครั้ง
ในปี 2551 สโมสรฟุตบอลเชลซี เข้าชิงกับสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ที่สนามกีฬาลุจนีกี ในเมืองมอสโก ประเทศรัสเซีย โดยผลการแข่งขันเป็นทีมปีศาจแดงที่สามารถเอาชนะได้ในช่วงยิงจุดโทษ (6-5) เป็นการแข่งขันที่แฟนฟุตบอลสิงห์บลูยากที่จะลืม ซึ่งจิรายุก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน
“คุณคิดดู พวกเราชาวเชลซีต้องอดนอน เพื่อจะดูสิ่งนี้ที่จบเกือบตี 5 แล้วต้องมาดูทีมที่เรารักแพ้อีก มันข่มตานอนไม่หลับหรอกนะ ยังรู้สึกเจ็บอยู่”
กระทั่งในปี 2555 ที่เชลซีเข้าชิงอีกครั้งกับสโมสรบาเยิร์นมิวนิก ที่สนามฟุตบอลอาลิอันซ์ อารีนา ในเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ทีมเชลซีสามารถเอาชนะได้ในช่วงดวลจุดโทษ (3-4) ซึ่งจิรายุเล่าว่า เขาตัดสินใจไม่ดูการแข่งขันนัดนั้น เพราะไม่อยากเจ็บปวดเหมือนกับ 4 ปีที่แล้ว แต่กลายเป็นว่า ทีมที่ตนรักสามารถคว้าแชมป์ยุโรปได้เป็นครั้งแรก
จนในปี 2564 เชลซีก็สามารถคว้าแชมป์ได้อีกครั้ง หลังเอาชนะสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ 1-0 ซึ่งเป็นอีก 1 แมตช์ที่เขารู้สึกประทับใจเช่นกัน
“ปีนั้นแมนเชสเตอร์ซิตี้ก็เก่งนะ แต่ผมต้องให้เครดิตของ โธมัส ทูเคิล (Thomas Tuchel) ผู้จัดการทีมในตอนนั้นเลย ที่ทำให้สุดท้ายในปีนั้นเชลซีมีถ้วยติดไม้ติดมือกลับมาได้ ทำให้การดูบอลของเชลซีรู้สึกสนุกขึ้น”
แตกต่างกับเชลซีในปีนี้ที่จิรายุเล่าว่า เจ็บปวดอย่างมาก สำหรับการดูฟุตบอลสักแมตช์หนึ่ง
“มันเจ็บปวดนะคุณ กับการได้ดูสิ่งที่รักอย่างฟุตบอลแล้ว เพราะดูแล้วมันอึดอัด ดูแล้วจะเป็นซึมเศร้า ทุกอย่างมันดูยากไปหมด คือแค่นักเตะจะจับลูกบอลให้อยู่กับตัว ทำไมมันยากขนาดนี้ อย่าว่าแต่จะยิงประตูอยู่เลย เอาแค่ให้เลี้ยงฟุตบอลผ่านกลางสนามยังยากเลย
“แต่พอปีนี้ มันไม่ได้แย่มากนะ ยังดีกว่าปีที่แล้ว แต่จะถึงกับลุ้นแชมป์ไหม ผมว่ายาก”
ถ้าจะให้จิรายุแสดงความเห็นว่า ทำอย่างไรให้สโมสรพัฒนาขึ้นกว่านี้ เขาเสนอว่า หากเป็นไปได้ก็อยากให้สโมสรกล้าทุ่มเงินซื้อนักฟุตบอลระดับบิ๊กเนม ที่มีความสามารถการันตีอยู่แล้วเข้าทีมบ้าง แทนที่จะมุ่งไปพัฒนาเยาวชนอย่างเดียว หรือนักฟุตบอลที่ประเมินแล้วว่า เล่นในระดับพรีเมียร์ลีกไม่ไหว ก็อยากให้ต้องมีการโละทิ้งบ้าง และรีบหาตัวแทนมาอย่างโดยเร็ว
“อย่าง นิโคลัส แจ็กสัน (Nicolas Jackson) นี่รีบขายเลย
“ผมเป็นคนดูฟุตบอล ผมจะชอบคนที่ตัดสินใจเด็ดขาด ไม่ต้องเก่งหรือลีลาท่าทางเยอะ ขอแค่รู้ว่า จังหวะไหนต้องทำอะไร ต้องตัดสินใจแบบไหนก็พอแล้ว” จิรายุกล่าว
และหากถามถึงนักฟุตบอลที่เก่งสำหรับจิรายุ ในวันนี้คำตอบแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวเขาคือ ลิโอเนล เมสซี (Lionel Andrés Messi) นักฟุตบอลจากประเทศอาร์เจนตินา ที่การันตีด้วยถ้วยรางวัลมากมาย รวมถึงถ้วยฟุตบอลโลกปี 2565 ที่เขาเป็นคนนำทัพจนคว้าชัยมาได้
ส่วนนักเตะเชลซีที่เขาชื่นชอบนั้น เขายกให้ แฟรงก์ แลมพาร์ด (Frank Lampard) โดยให้เหตุผลว่า เป็นนักเตะที่สามารถยืนระยะได้นาน อีกทั้งแทบไม่มีอาการบาดเจ็บใดๆ ตลอดการเล่นอาชีพ ซึ่งเขามองว่า ถือเป็นอีกหนึ่งความสามารถของการเป็นนักฟุตบอลที่ดูแลตนเองได้เป็นอย่างดี
เมื่อถามว่า ฟุตบอลมอบอะไรให้กับเขา จิรายุอธิบายว่า นอกจากความสนุกในชีวิตแล้ว มันเป็นเหมือนเครื่องมือหนึ่งในการทำความรู้จักและเข้าสังคมกับคนอื่นๆ ด้วย เพราะฟุตบอลน่าจะเป็นประเด็นสนทนาเรื่องหนึ่งที่เป็นสากล สามารถใช้พูดคุยเสริมสร้างความสัมพันธ์ต่อกันได้
3
ในวันนี้อีกหนึ่งภาพจำของจิรายุ นอกจากจะเป็นดารา ศิลปิน และแฟนฟุตบอลแล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่เรามักเห็นเขาปรากฏอยู่ในข่าวต่างๆ คือ การสัมภาษณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างเขาและวี-วิโอเลต วอเทียร์ นักร้องและนักแสดงสาวที่คบหาดูใจกันอยู่
ความน่าสนใจคือ ในทุกการสัมภาษณ์หรือการพูดคุยในประเด็นนี้ จิรายุมักพูดชื่นชมแฟนสาวของเขาอยู่เสมอ จนดูเหมือนเป็นนิสัยส่วนตัวของเขาที่หากจะรักใครสักคน เขาจะให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ไม่เคอะเขินที่จะพูดเรื่องนี้ต่อหน้าสาธารณะแต่อย่างใด
“ทุกเรื่องที่ผมพูดมันเป็นความจริงทั้งหมด เลยไม่รู้สึกว่า จะต้องเขินอะไรเลย” จิรายุเกริ่น
“ผมรู้สึกว่าการที่เขา (วิโอเลต) อยู่ เป็นเหมือนกำลังใจที่ดี คอยส่งเสริมชีวิตอยู่ตลอด ที่สำคัญคือเขาเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นสิ่งที่ผมเป็นจริงๆ เป็นคนที่สามารถรับฟัง และให้ความเห็นกับผมตรงๆ ได้
“สมมติเรื่องเพลง ถ้ามาถามผมว่า เพลงนี้จะดังไหม ผมตอบไม่ได้หรอก ถ้าผมบอกมันจะดังปุ๊บ โอกาสที่เพลงนั้นจะดังน้อยลงทันที (หัวเราะ) แต่ถ้าถามวี เปอร์เซ็นต์ที่ดังจะมีมากขึ้นหน่อย
“ผมจะใช้คำว่า เขาเป็นคนที่จริงใจ มีอะไรก็บอกกับเราได้ตรงๆ น้อยคนนะที่จะพูดอะไรแบบนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาอาจเกรงใจ ไม่กล้าพูดกับเราตรงๆ ซึ่งผมจะหงุดหงิดมากหากรู้เรื่องนี้ทีหลัง ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของเขาเลย ดังนั้นการมีคนแบบนี้ในชีวิต ก็ทำให้ผมได้แก้ปัญหาเรื่องนี้ของตัวเอง”
ท้ายที่สุดเมื่อถามว่า ความรักที่ดีคืออะไร จิรายุตอบเพียงสั้นๆ ว่า เป็นคนที่ความรู้สึกที่สบายใจ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว
Tags: วี วิโอเลต, The Frame, เชลซี, เก้า จิรายุ, จิรายุ ละอองมณี, ศึกค้างคาวกินกล้วย