ในวงการภาพยนตร์ไทย มีอยู่อีกชื่อหนึ่งที่สามารถสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้แก่คนในวงการได้ทั่วทุกหย่อมหญ้า 

ชื่อของเขาคือ กัลปพฤกษ์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ผู้ฝากผลงานในวงการไว้ยาวเป็นหางว่าว ตั้งแต่เพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Kalapapruek ที่เขียนถึงหนังทุกเรื่องที่ได้ชมมา และยังเป็นคอลัมนิสต์ด้านภาพยนตร์บนสื่อออนไลน์ ที่สำคัญเขาคือหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ในปี 2566 ที่ผ่านมา 

สำหรับเหล่าคอหนังนอกกระแสหลายคน อาจคุ้นตากับผลงานการวิจารณ์ของกัลปพฤกษ์เป็นอย่างดี เขานับเป็นหนึ่งในนักวิจารณ์ภาพยนตร์ที่มีลายเซ็นเป็นเอกลักษณ์อย่างเด่นชัด เนื่องจากลีลาการเขียนที่กล่าวแซะและเสียดสีถึงหนังอย่างเผ็ดร้อน ประกอบกับการให้ดาวที่แทนความชอบในแต่ละเรื่อง ซึ่งหลายคนใช้คำว่า ‘กดเกรด’ เพราะบางเรื่องที่หลายคนรวมถึงเขามองว่าดี กัลปพฤกษ์ก็ให้เพียง 2 ดาวเท่านั้น น้อยมากที่จะได้ความชอบระดับ 4 ดาว ไปจากนักวิจารณ์รายนี้

แม้บทวิจารณ์ภาพยนตร์ของเขาจะถูกใครหลายคนมองว่า เป็นการทำร้ายจิตใจคนทำหนังเป็นอย่างมาก ทว่ากัลปพฤกษ์กลับ​ให้ความเห็นว่า ข้อเขียนที่ปรากฏนั้นล้วนเป็นเพียงวรรณศิลป์ที่ยึดโยงกับลายเซ็นในงานวิจารณ์เท่านั้น เพราะสุดท้ายเขาก็คือผู้ชมคนหนึ่งที่รักสื่อที่เรียกว่า ‘หนัง’ อย่างสุดหัวใจ

“ไม่ว่าเราจะด่าอะไรไป สุดท้ายเราอยู่ข้างคนทำหนังเสมอ เพียงแต่ต้องทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อน เพราะอยากเห็นหนังมันไปได้ไกลยิ่งขึ้น”

วันนี้กัลปพฤกษ์คือ นักดูแล้วเขียน ที่โลดแล่นอยู่ในแวดวงศิลปะมาอย่างยาวนาน ทว่าน้อยคนนักที่จะทราบถึงชีวิตนอกบทวิจารณ์ของชายผู้คลั่งไคล้ภาพยนตร์รายนี้ The Momentum จึงขอทำหน้าที่พาผู้อ่านสำรวจชีวิตและมุมมองทางศิลปะแบบกัลปพฤกษ์มากยิ่งขึ้น

เริ่มจากดูแล้วจึงมาเขียน

“ก่อนที่จะมาเป็นนักวิจารณ์แน่นอนว่า ต้องเป็นนักดูหนังมาก่อน ซึ่งขอบคุณพ่อที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เราเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น”

  อาจกล่าวได้ว่า หากไม่มีละครหลังข่าวในวันนั้น ก็คงไม่มีกัลปพฤกษ์ในวันนี้ เพราะความกลัวของคุณพ่อว่า ลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมจากละครที่มีการตบตี ชิงรักหักสวาทกันบนจอแก้ว ทำให้คุณพ่อตัดสินใจเช่าวิดีโอหนังฮอลลีวูด (Hollywood) มาให้กัลปพฤกษ์ดูแทนละครหลังข่าว นับตั้งแต่นั้น การดูหนังจึงถูกสร้างให้ติดเป็นนิสัยของเขา

อย่างไรก็ตาม เมื่อการดูหนังในกระแสดำเนินมาได้ระยะหนึ่ง ความชินชาก็เกิดขึ้น หนังผีหรือหนังสยองขวัญอะไรที่ใครว่าน่ากลัว ก็ไม่สามารถสร้างความรู้สึกใดๆ ให้กัลปพฤกษ์ได้ แม้แต่หนังนอกกระแสที่เขาชอบในปัจจุบัน ก็ไม่อาจดูเข้าใจได้ในช่วงอายุนั้น กระทั่งวันที่เขาบังเอิญเจอหนังของ ดารีโอ อาร์เจนโต (Dario Argento) ที่มีชื่อไทยว่า โหดสุดขีด หรือ Phenomena (1985) เรื่องราวของหญิงสาวผู้สามารถสื่อสารกับแมลงได้ เธอจึงใช้พลังนี้เพื่อตามจับฆาตกรต่อเนื่อง ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นก้าวแรกในการเข้าสู่วังวนหนังนอกกระแสของกัลปพฤกษ์

  “โหดสุดขีด สมชื่อจริงๆ ตอนนั้นก็รู้สึกว่า ทำไมดูเรื่องนี้แล้วกลัวจังเลย ด้วยความที่มันมีความเป็นหนังยุโรป ดารีโอเป็นคนอิตาเลียนใช่ไหม สไตล์ก็จะไม่เหมือนผู้กำกับอเมริกันคือ มันจะมีมุมของศิลปะ มีการใช้ดนตรี มีการถ่ายภาพ มีการสร้างบรรยากาศ ซึ่งหลอนและน่ากลัวมาก” ช่วงนั้น กัลปพฤกษ์จึงเริ่มหาหนังเรื่องอื่นๆ ของผู้กำกับชาวอิตาเลียนผู้นี้ดูเพิ่ม จนกลายเป็นผู้กำกับคนแรกที่ประทับใจ

  ต่อมากัลปพฤกษ์ได้รู้จักกับ Filmvirus กลุ่มคนรักหนังของ สนธยา ทรัพย์เย็น ซึ่งมีการจัดฉายหนังที่ดวงกมลฟิล์มเฮาส์ เขาไปดูหนังที่นั่นเพราะ Peeping Tom (1960) จัดฉายขึ้น ซึ่งหนังเรื่องนี้นับเป็นงานต้นแบบของดารีโอ ผู้กำกับในดวงใจของเขา จนในที่สุดกัลปพฤกษ์ก็กลายมาเป็นสมาชิกในเวลาต่อมา 

  หลังจากนั้นไม่นาน พอดูหนังไปได้ระยะหนึ่ง ชายผู้ตกหลุมรักภาพยนตร์รายนี้ก็เริ่มอยากฟังความเห็นของคนอื่น เขาจึงเริ่มสนใจอ่านงานของนักวิจารณ์ภาพยนตร์มากขึ้น

  “คนเหล่านี้ความรู้แน่นปึ้กทั้งนั้น อ่านแล้วได้อะไรเยอะมาก มีลิสต์ชื่อผู้กํากับมาอีกเป็น 10 คนให้เราตามต่อ อย่างตอนนั้นก็ชอบอ่านงานของสนธยา, อาจารย์ กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ในนิตยสาร Starpics หรืออาจารย์ ประวิทย์ แต่งอักษร ที่หลายคนรู้จัก เขาเป็นนักวิจารณ์สายคลาสสิก ก็จะแนะนำเราได้ว่า เรื่องไหนพลาดไม่ได้ พออ่านไปเรื่อยๆ ก็เสพติด”

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจในการเขียนวิจารณ์ของกัลปพฤกษ์ ดูเหมือนว่า รสมือที่ถูกตาต้องใจเขาเห็นจะเป็นสนธยา ผู้เขียนหนังสือ Filmvirus

  “การเขียนของพี่สนธยานี่คือปากแจ๋วมาก เขาเป็นนักเขียนที่ปากทแยงมุม ด่าหนังในกระแสทั้งหมด แรงไม่เกรงใจใคร มีการกระแนะกระแหนคนดูหนังว่า หนังขาวดําร่วมสมัยไม่ได้มีแค่ Schindler’s List (1993) นะ”

จนในจังหวะที่กัลปพฤกษ์กำลังสนใจแวดวงภาพยนตร์และการวิจารณ์อยู่นั้น กองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ประกาศเปิดรับบทวิจารณ์ภาพยนตร์ขึ้นมา พร้อมกับการออกฉายหนังเรื่องสัตว์ประหลาด! (2004) ของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรักชาย 2 คนกับความลึกลับในป่าลึก และ The Ladykillers (2004) เรื่องราวของกลุ่มโจรที่ถูกขัดขวางแผนการปล้นโดยหญิงชราคนหนึ่ง กัลปพฤกษ์จึงเริ่มเขียนถึงหนังทั้ง 2 เรื่องส่งไปประกวด ก่อนจะคว้ารางวัลมาได้ในที่สุด

 “ตอนนั้นเราได้อ่านงานวิจารณ์ของคนอื่นที่พูดถึงสัตว์ประหลาดนะ แต่รู้สึกว่า ทำไมไม่มีใครพูดถึงในมุมมองเชิงทดลองเลย เพราะพี่เจ้ยถือว่ามีความเป็นนักทำหนังทดลองอยู่ในสายเลือดเลยนะ เรื่องความ Narrative, Non-narrative ก็เหมือนกัน หลายคนมองว่า หนังต้องดูรู้เรื่อง แต่หนังพี่เจ้ยมันมีความ Impressionism (สร้างอารมณ์และความประทับใจ) ไหลไปเรื่อยๆ บางทีหนังมันไม่จำเป็นต้องดูรู้เรื่อง ผู้กำกับบางคนก็ต้องการนำเสนอปริศนา นำเสนอความไม่มีคำตอบ ก็ถูกแล้วที่คุณจะดูไม่รู้เรื่อง”

หลังจากการได้รางวัล นับว่าเป็นใบเบิกทางชั้นดีให้กัลปพฤกษ์ได้เขียนงานอื่นๆ ตามมา ทั้งนิตยสาร Flickz และ FILMAX ประกอบกับยังได้ตีพิมพ์พ็อกเกตบุ๊กเล่มแรกกับสำนักพิมพ์ openbook นั่นคือ asia 4 สี่ยอดผู้กำกับแห่งเอเชียตะวันออก

เพราะบทวิจารณ์คืองานศิลปะ

ในช่วงยุคเริ่มต้นของกัลปพฤกษ์ ขณะที่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่เป็นสายบริบทนิยม (Contextualism) ซึ่งมุ่งเน้นการตีความเนื้อหาเป็นหลัก แต่กัลปพฤกษ์เป็นนักวิจารณ์รูปแบบนิยม (Formalism) ที่มุ่งเน้นการพูดถึงภาษาภาพยนตร์ว่า ผู้กำกับเลือกใช้เทคนิคนี้เพราะอะไร เขาต้องการให้ผู้ชมรู้สึกอย่างไร อย่างไรก็ตามเมื่อเขียนมาระยะหนึ่ง ความเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ด้วยความชอบทำการทดลองอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ เขาจึงเริ่มจากการเปลี่ยนแนวทางการเขียนของตนเอง

  “เรารู้สึกว่า การเขียนงานวิจารณ์คืองานศิลปะ มันเป็นงานสร้างสรรค์เหมือนการเขียนเรื่องสั้น เขียนนวนิยาย ซึ่งมันต้องหาอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดไม่งั้นมันจะซ้ำ เราก็เลยต้องหาลูกเล่นใหม่อยู่เรื่อยๆ”

  เขาเล่าว่า ในการเขียนวิจารณ์เรื่อง The Ghost Writer (2010) เป็นเรื่องราวของนักเขียนเงาที่ค้นพบความลับมืดของอดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้เขาตัดสินใจสร้างสรรค์งานเชิงทดลอง โดยการจ้างคนอื่นมาเขียนแทนเขา นั่นหมายความว่า เขาใช้นักเขียนผีเขียนงานวิจารณ์เช่นเดียวกับบริบทภายในหนัง

  “อยากลองดูว่า ถ้าคนอื่นเขียนแบบเราจะเป็นอย่างไร ซึ่งจริงๆ มันก็มีทั้งส่วนที่เหมือนและไม่เหมือนนะ แล้วก็มันก็ได้เห็นนะว่า เขามองว่างานเราเป็นแบบนี้ ใช้ภาษาแบบนี้และมีความคิดแบบนี้ ซึ่งก็สนุกดีกับการเป็นโปรเจกต์ทดลอง”

  เช่นเดียวกันกับใน สาวคาราโอเกะ (2013) ภาพยนตร์ลูกครึ่งสารคดีกับเรื่องแต่ง (Fiction) เกี่ยวกับชีวิตของสาวกลางคืน ที่รับบทโดย สา สิทธิจันทร์ ดังนั้นกัลปพฤกษ์จึงเลือกใช้วิธีการนัดให้สามาคุยกัน แล้วให้เธอวิจารณ์หนังตนเองเสียเลย

  “หนังเรื่องนี้ผู้กํากับให้สาเล่าชีวิตตัวเองใช่ไหม เราเลยนัดสาให้มาคุยกัน วิจารณ์ตัวเองหน่อย มันก็เหมือนกับเป็นการแก้เผ็ดผู้กํากับนิดหนึ่งว่า โอเค ถ้าคุณใช้วิธีนี้ได้ นักวิจารณ์ก็จะทำเหมือนกันนะ

  “อย่างล่าสุดที่เขียนวิจารณ์ Poor Things (2023) จริงๆ ก่อนหน้านี้ก็พยายามที่จะ Gender-free นะ จะพยายามไม่ใช้คําว่าครับอะไรเท่าไร คือให้สามารถมองว่า เป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ แต่รู้สึกว่า Poor Things มันมีประเด็นของการมองผู้หญิงผ่านมุมมองของผู้ชายเยอะ เลยแก้เผ็ดว่า ถ้าเกิดเราเป็นผู้หญิงเราดูเรื่องนี้แทน เราจะเขียนอย่างไร

  “วันนี้กัลปพฤกษ์พยายามวิวัฒน์ตัวเองอยู่ตลอด” เขากล่าว ดังนั้นงานเขียนแต่ละชิ้นของเขา จึงไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ นับเป็นเสน่ห์ที่ทำให้งานกัลปพฤกษ์มีความสดใหม่อยู่เสมอ

นอกจากนี้ กัลปพฤกษ์เชื่อว่า ‘ศิลปะจะส่องทางให้แก่กัน’ ดังนั้น การดูหนังอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับเขา เพราะหนังประกอบด้วยดนตรี หรือบางครั้งหนังก็มีต้นแบบมาจากวรรณกรรม ศิลปะภายในภาพยนตร์นั้นขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นนอกจากการวิจารณ์ภาพยนตร์แล้ว เขาก็ข้องแวะกับวงการอื่นด้วย ทั้งเป็นกรรมการซีไรต์ วิจารณ์วรรณกรรม วิจารณ์ดนตรีคลาสสิก หรือแม้กระทั่งเป็นผู้กำกับเอง

  “เราเคยทำหนังยาว 2 ชั่วโมงกว่าชื่อ Absolute ส่งไปฉายเทศกาลภาพยนตร์สั้น (Thai Short Film and Video Festival)”

 กัลปพฤกษ์เล่าว่า เขาต้องการทดลองโดยการฉายภาพขาวทั้งเรื่องเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เพราะเขามักมีความสงสัยว่า ทำไมหนังต้อง 2 ชั่วโมง มากหรือน้อยไปกว่านั้นไม่ได้หรือ ประกอบกับอยากลองคืนเวลาอิสระให้กับผู้คนที่นั่งชมเทศกาลหนังมาอย่างยาวนาน โดยเขาจะยึดถือทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับคนดูนอกจอภาพยนตร์ใน 2 ชั่วโมง เป็นเรื่องราวหนังเรื่องนี้เสียเอง

  “แรงบันดาลใจมาจากตอนมัธยมศึกษาตอนต้น ที่วันหนึ่งครูสอนวิทยาศาสตร์ไม่มา ไม่มีใครสอนแทน ครูประจำชั้นเลยให้เป็นคาบว่าง ซึ่งเราดีใจว่าเราได้เวลาอิสระมาตั้ง 2 ชั่วโมงเลยนะ ให้ได้ไปทำนู่นทำนี่” 

  รวมถึงคำว่า ศิลปะแห่งความว่างเปล่า ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้กัลปพฤกษ์สนใจจะทำหนังเรื่องนี้

“ตอนนั้นเขียนบทความออนไลน์ให้สํานักพิมพ์ openbooks ช่วงนั้นมีบทความเกี่ยวกับศิลปะของความว่าง มีศิลปินในอเมริกัน โรเบิร์ต เราส์เชนเบิร์ก (Robert Rauschenberg) ทำผลงานศิลปะชื่อ White Painting (1951) เอาผ้าใบมาแล้วกรีดให้เป็นแถบแค่นั้น เป็นริ้วๆ ที่เหลือเป็นสีขาวหมด นี่ก็ถือเป็นงานศิลปะ แล้วก็นักประพันธ์ดนตรี จอห์น เคจ (John Cage) ก็แต่งเพลงที่ไม่มีโน้ต ชื่อเพลง 4′33″ ให้นับเปียโนนั่งอยู่เฉยๆ 4 นาที โดยไม่ต้องเล่นอะไรเลย ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในฮอลล์นั้นก็ถือว่าเป็นเพลง ใครจะไอกระแอมอะไรก็แล้วแต่เรื่องของคุณ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของงาน คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็เขียนเรื่องสั้นเรื่องความว่าง ลงในนิตยสารช่อการะเกด 4- 5 หน้าไม่มีอะไรเลย ทําไมเขาทํากันได้ แล้วหนังล่ะ ก็เลยเอาบ้าง”

  สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อนักวิจารณ์ภาพยนตร์อย่างกัลปพฤกษ์มาทำภาพยนตร์เสียเอง แน่นอนว่า สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ต้องให้เขาพูดถึงหนังตนเอง พร้อมไปกับการให้ดาวหนังเรื่องนั้น 

  “ก็ต้อง 4 ดาวนะ เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน ด้วยคอนเซปต์ที่ชัดเจนแล้วก็ตรงประเด็น แล้ว เทียบเท่ากับ 4′33″ เทียบเท่ากับ White Painting เทียบเท่ากับของสุชาติ ซึ่งเป็นตํานานไปหมดแล้ว ถ้าให้พวกนั้นเป็นตํานานได้ เรื่องนี้ต้องเป็นตํานานได้เหมือนกัน ก็ตรงง่ายๆ ไม่มีอะไร จริงใจไม่มีนอกไม่มีนัย”

หนังที่ดีสำหรับกัลปพฤกษ์

แม้ว่าการมีหนังเพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้นที่ได้ดาวเต็ม 4 ดวงจากกัลปพฤกษ์ อาจทำให้หลายคนสงสัยว่า ต้องเป็นหนังที่ ‘ครบเครื่อง’ ขนาดไหน จึงจะสามารถครองใจนักวิจารณ์คนนี้ได้ ทว่าในการพูดคุยครั้งนี้ เขาอธิบายว่า หนังที่จนได้คะแนนเต็มนั้นคือ การสามารถดึงอารมณ์และความรู้สึกของเขาไว้ได้ตั้งแต่นาทีแรกไปจนถึงตอนจบ

  ประเด็นการให้ดาวของกัลปพฤกษ์ยังสร้างความฉงนให้กับผู้อ่านบางส่วนไม่น้อยว่า ทำไมดาวของกัลปพฤกษ์มีแค่ 4 ดวง ไม่ใช่ 5 ดวงตามมาตรฐานทั่วไป เขาให้คำตอบว่า เพราะได้รับอิทธิพลจากนิตยสารช่อการะเกดที่เขาเคยเขียน 

“ก่อนหน้านี้เคยเขียนอยู่ FILMAX 8-9 ปี แล้วต้องให้ดาวหนังทุกเรื่องที่ดู ซึ่งเกณฑ์ของเขาจะมี 4 ดาว 1 ดาวคือ แย่, 2 ดาวคือ พอใช้, 3 ดาวคือดี ส่วน 4 ดาวคือเป็นหนังที่ตรึงเราอยู่กับจอ ไม่ทำให้เราว่อกแว่กไปไหน เหมือนสร้างมาเพื่อให้เราดู”

  เมื่อถามถึงหนัง 4 ดาวในดวงใจสำหรับกัลปพฤกษ์ เขายกเรื่อง Close (2022) และ Marriage Story (2019) ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์มาตอบในประเด็นนี้ เขาให้เหตุผลว่า เป็นเพราะหนังทำงานกับความรู้สึกตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง โดยการมอบความรู้สึก ‘จริง’ จนทำให้เขาเชื่อได้ว่า เรื่องราวทั้งหมดมันสามารถเกิดขึ้นได้จริง

“ทุกคําพูดทุกอารมณ์ที่สาดใส่กัน ไม่เห็นเทคนิคเลยอะไรเลย เห็นแต่คนที่มาทะเลาะกันจริงๆ”

 นอกจากนี้ หนังอีกเรื่องที่ได้ดาว 4 ดวงของกัลปพฤกษ์ไปครอง ก็ไม่จำกัดอยู่แค่หนังที่ต้องดูรู้เรื่องเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง Pepe (2024) หนังเล่าถึงชีวิตของฮิปโปโปเตมัสที่ตายไปแล้ว แม้เป็นหนังที่ดูไม่รู้เรื่อง แต่หนังสื่อสารความรู้สึกให้สามารถอยู่เหนือความเข้าใจได้

  “หนังที่เล่าแล้วทรงพลังคือ หนังที่ผู้กำกับต้องไม่แคร์อะไรแล้ว ไม่สนว่ามันจะประกวดที่ไหน ได้เงินหรือไม่ แค่จะทำในสิ่งที่ฉันอยากเล่าจริงๆ แบบเดียวกับอภิชาติพงศ์ แล้วจะประสบความสําเร็จได้ คุณต้องชัดเจนกับวิสัยทัศน์ของตัวเองจริงๆ จนเป็นหนังที่ดี จริงใจ และมีที่ทางของตัวเอง”

ดุด่า ประชดประชัน ทำไมกันจึงต้องปรากฏอยู่ในงานเขียนของกัลปพฤกษ์

เมื่อพูดถึงงานของนักวิจารณ์รายนี้ อีกสิ่งที่เด่นชัดจนอาจเรียกได้ว่า เป็นลายเซ็นของเขา คือ การ ‘ด่า’ ถึงหนังเรื่องต่างๆ เมื่อถามถึงเหตุผลในการวิพากษ์เสียดสีอย่างออกรสนี้ กัลปพฤกษ์ก็ให้คำตอบว่า การที่ใครสักคนจะดูหนังในแต่ละเรื่อง เขามีต้นทุนที่ต้องเสียไปไม่น้อย ไม่ใช่เพียงแค่ตั๋วหนัง แต่รวมถึงการเตรียมตัว ต้องมีการออกจากบ้านไปเพื่อดูหนัง 

ในแต่ละครั้งกัลปพฤกษ์เดินทางไปด้วยหัวใจที่เชื่ออยู่เสมอว่า หนังเรื่องที่กำลังจะได้ดูต่อจากนี้จะต้องดี จนทำให้รู้สึกประทับใจ แต่เมื่อในหลายๆ เรื่องไม่เป็นดั่งที่ต้องการ จึงไม่แปลกใจที่จะรู้สึกเสียใจ ผิดหวัง จนต้องระบายออกมาผ่านตัวอักษร

“เราหวังนะ มันจะต้องดีต่อให้เรื่องที่แล้วผิดหวัง แต่เรื่องนี้ผู้กำกับจะต้องกลับมาใหม่ จะต้องทำหนังเซอร์ไพรส์ ทำหนังให้ดีกว่านี้ และต้องเป็นหนังที่ต้องได้ 4 ดาวแน่ๆ เราคิดแบบนี้กับทุกเรื่อง

“เวลาหยิบเรื่องไหนมาเขียนด่ายาว 6-7 หน้า ขอบอกไว้เลยว่า เราไม่ได้ดูรอบเดียวนะ ต้องดู 2 รอบขึ้นไป เพราะบางทีรอบแรกเราอาจจะอารมณ์ไม่ดี พอดูรอบ 2 มันจะช่วยคอนเฟิร์มความรู้สึกเราได้ว่าคิดแบบนั้นจริง เพราะเราต้องมั่นใจก่อนที่จะไปด่าเขา ทุกคําด่ามันคือความรับผิดชอบของผู้เขียน”

  และหากขยับวงให้แคบลง มาพูดถึงการด่าหนังไทยของกัลปพฤกษ์ เขาให้เหตุผลว่า มันคือการพยายามชี้จุดบกพร่องของหนัง เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยกัลปพฤกษ์นิยามการกระทำนี้ว่า ‘Devil’s Advocate’ หรือกล่าวได้ว่า เป็นการแสดงความเห็นที่ขัดแย้ง เพื่อให้เกิดการครุ่นคิดถึงประเด็นใหม่ๆ 

  ทว่าในอีกมุม กัลปพฤกษ์กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า การเขียนของเขาเป็นเพียงน้ำเสียงทางวรรณศิลป์ อันเป็นวิธีการถ่ายทอดงานของเขาเท่านั้น รวมถึงผู้กำกับในแต่ละเรื่อง อาจไม่ต้องสนใจกับความเห็นของเขาคนเดียว เพราะถึงกัลปพฤกษ์จะไม่ได้ชอบ แต่ก็ยังมีคนอื่นๆ อีกมากมายชอบหนังเรื่องนี้อยู่เช่นกัน 

“หลายคนแคร์กับคะแนนดาวกัลปพฤกษ์ จนเราก็แปลกใจว่า มันขนาดนั้นเลยหรือ บางคนสงสัยว่า ทำไมเรื่องนี้ได้ 2 ดาวเอง แต่ว่าคุณจะเอาดาวไปทำอะไรหรือ” กัลปพฤกษ์พูดพร้อมหัวเราะ

“คนที่อ่านวิจารณ์เราแล้วรู้สึกโกรธจนต้องอีเมลมาด่า เราก็ต้องขอบคุณเขานะที่ให้ความสนใจมาอ่านงานของเรา จริงๆ หนังของผู้กำกับคนไหนที่เราเคยด่า พอมาเจอผู้กำกับตัวจริง เราก็ให้กําลังใจเสมอ เพราะฉะนั้นอย่าได้ถือโทษว่าโกรธอะไรเลย เพราะสุดท้ายเราอยู่ข้างคุณนั่นแหละ”

  กัลปพฤกษ์ยังสะท้อนว่า อุตสาหกรรมหนังไทยมีคุณภาพทั้งนักแสดง และทีมงานสร้าง (Production) ดังนั้น หากปรับปรุงทักษะด้านการเล่าเรื่องได้ วงการหนังไทยก็นับว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะไปแข่งกับต่างประเทศได้ พร้อมกันนั้น กัลปพฤกษ์ยังได้ให้ข้อแนะนำ สำหรับคนทำหนังที่อยากพัฒนาทักษะการเล่าเรื่อง โดยการให้อ่านวรรณกรรมเพิ่มมากขึ้น

มุมมองของกัลปพฤกษ์ต่อวงการวิจารณ์ภาพยนตร์ในปัจจุบัน

ในปัจจุบันที่การวิจารณ์ภาพยนตร์ไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่เพียงคนกลุ่มหนึ่ง แต่ใครก็สามารถพูดถึงภาพยนตร์ได้อย่างอิสระ ในส่วนนี้กัลปพฤกษ์มองว่า เป็นเรื่องน่ายินดี เนื่องจากการเปิดกว้างเช่นนี้ จะทำให้วงการวิจารณ์มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นประโยชน์กับผู้สร้างหนัง ที่จะได้ฟังความคิดเห็นของกลุ่มคนที่หลากหลาย ไม่จำกัดอยู่กับแค่คนกลุ่มเดียว

  เมื่อถามถึงข้อแนะนำในการเป็นนักวิจารณ์สำหรับกัลปพฤกษ์ เขามองอย่างเรียบง่ายว่า ไม่จำเป็นต้องดูหนังเยอะ หรือต้องมีความรู้ท่วมไปหมดเหมือนกับนักวิจารณ์ยุคก่อนหน้า เพียงแค่หาแนวทางของตนเองให้เจอ ปักธงถึงสิ่งที่ตนเองต้องการจะพูดเป็นสำคัญ 

  “งานวิจารณ์ที่ดี ไม่จําเป็นต้องมีภูมิความรู้เรื่องหนังอะไรเยอะมาก เพราะเส้นทางวิจารณ์มันมีหลาย เช่นเพจเฟซบุ๊กผมอยู่ข้างหลังคุณ เขาก็ใช้เรื่องจิตวิทยาเป็นธงว่า จะเล่าในเรื่องจิตวิทยาในหนัง ซึ่งเป็นอีกทางที่เอาศาสตร์อื่นมาบูรณาการ สุดท้ายแค่เสนอในมุมมองอะไรที่น่าอ่าน เพราะคนเสพงานถือว่ามีอํานาจสูงสุดในการตัดสินงานนั้น

  “แต่ที่สำคัญ งานวิจารณ์ต้องสะท้อนตัวตนคนเขียน มันต้องจริงใจ หาเสียงของตัวเองให้เจอ เขียนวิจารณ์ก็คืองานศิลปะอย่างหนึ่ง มันคือการเขียนเชิงสร้างสรรค์เราต้องมีลีลา มีลายเซ็นของตัวเอง งานวิจารณ์ที่ดีสำหรับเราต้องปิดชื่อแล้วรู้ว่าใครเขียน สํานวนแบบนี้คือพี่ประวิทย์ ขึ้นมา 2 ประโยคนี้คือ คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง หรือคือ ชญานิน เตียงพิทยากร หรือคือกัลปพฤกษ์ มันต้องทําให้ได้”

  ขณะเดียวกัน ในวันนี้ที่การวิจารณ์แพร่หลายในสื่อออนไลน์ จะเห็นได้ว่า มีการพูดถึงหนังบางประเภทที่กล่าวได้อย่างเต็มปากไม่ได้ว่า เป็นการวิจารณ์ คนมักใช้คำว่า ‘รีวิว’ ซึ่งอาจมีการให้คะแนนเกินจริงแก่ภาพยนตร์ เช่นการให้คะแนน 1 ล้านเต็มสิบ ซึ่งกัลปพฤกษ์มองถึงประเด็นนี้ว่า เมื่อสุดท้ายเวลาผ่านไป สิ่งนี้ก็จะไม่มีคนให้ความสนใจ

“อะไรปลอมคนเขาก็ดูออกหมดว่า อันนี้รับจ้างรีวิวมา เรารับจ้างไม่เป็นนะ เอาดาวละกี่บาทอะไรแบบนี้หรือ” กัลปพฤกษ์ตอบอย่างขบขัน

  สุดท้ายเมื่อถามถึงข้อแนะนำต่อนักวิจารณ์รุ่นใหม่ กัลปพฤกษ์ตอบว่า เขาไม่อาจไปแนะนำอะไรได้ เพราะนักวิจารณ์รุ่นใหม่ต่างหากที่ต้องแนะนำเขา เมื่อการวิจารณ์มาอยู่ในสื่อออนไลน์ ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่กัลปพฤกษ์ทำไม่ได้ พร้อมกันเขายังพูดอย่างติดตลกถึงการวิจารณ์หนังในแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ว่า

  “ถ้าลงเอ็กซ์คือได้แค่คำสั้นๆ ใช่ไหม ต้องให้ดาวแล้วจบหรือ หรือขอ 3 คำ ซึ่งท้าทายดีนะ จากที่เขียนวิจารณ์ยืดยาว ถ้าเอาแค่ 3 คําของแต่ละเรื่องมา จะมีคําไหนหลุดออกมาบ้าง” ท้ายที่สุด กัลปพฤกษ์ยังคงไม่ทิ้งลายความเป็นนักทดลองของเขา 

Tags: , , , ,