ต้นเดือนกันยายน ‘เจ้ย’อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เดินทางมาพำนักที่บ้านในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ บ้านสไตล์โมเดิร์นทรอปิคอลบนภูเขาหลังนี้ เป็นสถานที่ทำงานของเขาในช่วงการระบาด 

เขาตื่นตั้งแต่เช้ามืด เริ่มต้นวันด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารวันละสองมื้อ นั่งสมาธิกำหนดรู้ความเคลื่อนไหวทั้งร่างกายและความคิด ปล่อยเวลาไหลไปเหมือนน้ำในลำธารด้วยการอ่าน ก่อนจะเริ่มงานในช่วงสายของวัน

หนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind ฉบับภาษาอังกฤษของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี วางอยู่บนโต๊ะไม้ขนาดใหญ่ “อ่านหนังสือยอดฮิตเล่มนี้หรือยัง ผมอ่านใกล้จะจบแล้ว” เขาถามเมื่อเห็นผู้สัมภาษณ์สำรวจหนังสือกองพะเนินบนโต๊ะ 

บนผนังด้านหนึ่งแขวนภาพวาดสีน้ำคล้ายคณะทหารถืออาวุธ อีกภาพที่แขวนติดกันคือภาพบุรุษผู้หนึ่งยืนตรงเผยองคชาต ทั้งสองภาพเป็นผลงานของ ตะวัน วัตุยา ศิลปินผู้มีชื่อเสียงของไทย

หลายจุดภายในบ้านเป็นที่จัดตั้งความทรงจำส่วนตัวของเขา สำหรับใครบางคน สิ่งของเหล่านั้นอาจเป็นความทรงจำบาดแผล แต่อภิชาติพงศ์จัดวางทุกอย่างคงเดิม

“ของพวกนี้เป็นของแฟนเก่าครับ” เขาบอกราวกับของเหล่านั้นคือวัตถุพยานในอนุสรณ์สถานส่วนตัว

เราสนทนากันท่ามกลางเสียงปืนที่ดังออกมาจากค่ายทหารละแวกบ้าน ฟังไปฟังมา เสียงปืนที่ดังไม่หยุดนี้มีความตลกหน้าตายเหมือนภาพยนตร์บางเรื่องของอภิชาติพงศ์ เพราะเสียงปืนจากค่ายทหารดังเข้ามาในรั้วบ้านของผู้กำกับภาพยนตร์ผู้พยายามรื้อถอนรากบางอย่าง ที่หยั่งมั่นในรั้วที่ล้อมเสียงปืนนั้นไว้

ในจดหมายเปิดผนึกถึงคณะทำงานในกระทรวงวัฒนธรรม คุณเลือกที่จะลงท้ายจดหมายด้วยรายชื่อรางวัลทางศิลปะที่เคยได้รับมาจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทำไมจึงเลือกที่จะลงท้ายจดหมายแบบนั้น

เราพยายามจะบอกว่าศิลปะไม่มีขอบเขต ก็เลยเลือกลงท้ายจดหมายด้วยรายนามรางวัลที่เคยได้จากหลายภูมิภาคทั่วโลก เพราะสิ่งที่คุณสุชาติทำไม่ได้มีคุณค่าต่อผู้คนและสังคมนี้เท่านั้น ไม่ได้มีคุณค่าเฉพาะพื้นที่และเวลานี้เท่านั้น แต่สิ่งที่คุณสุชาติทำจะถูกส่งต่อไปยังอนาคตด้วย ดังนั้น การที่คุณไปปลดเกียรติยศของเขา เป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับคุณค่าที่สังคมโลกเชิดชู ส่งผลเสียไม่เฉพาะพื้นที่และเวลานี้เท่านั้น จึงอยากให้ช่วยพิจารณาด้วย 

ในตอนแรกผมอยากจะคืนหรือไม่ก็เผารางวัลศิลปาธรทิ้งเสียเลย เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าเราไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจข่มขู่คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี แต่เมื่อพิจารณาอีกที ผมคิดว่าตนเองคู่ควรกับรางวัลศิลปาธรที่ได้รับ เพราะเป็นผลจากการทำงานศิลปะมาอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานรัฐซึ่งทำงานโดยประชาชนกลุ่มหนึ่งมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ จึงมอบรางวัลนี้เพื่อส่งเสริมคุณค่าของงานศิลปะ ฉะนั้นมันอาจจะเป็นการเสียเปล่าหากเรานำรางวัลที่ได้มาไปเผาทิ้ง เราจึงตัดสินใจเขียนและลงท้ายจดหมายฉบับนั้นด้วยลิสต์รางวัลทางศิลปะจากนานาชาติที่เคยได้ เพื่อบอกว่าขอบเขตความเสียหายที่คุณทำไม่ใช่แค่พื้นที่และเวลานี้เท่านั้น ที่สำคัญ การข่มขู่ประชาชนไม่เป็นผลดีเลย

ขออนุญาตตั้งข้อสังเกตแบบนี้ ในเนื้อจดหมายมีข้อความ ‘อำนาจเบื้องบน’ มันน่าสนใจเพราะความหมายของคำนี้อยู่ในสถานะกำกวมมาตลอด กระทั่งหลังจากเพดานพัง มันเหมือนกับว่าคำว่า ‘อำนาจเบื้องบน’ ในจดหมายฉบับนี้มีความชัดเจนขึ้นว่าหมายถึงใคร

ผมไม่รู้นะว่าตัวเองหมายถึงใคร (หัวเราะ) หรือเพราะอำนาจในสังคมนี้มีช่วงชั้นของอำนาจซ้อนทับกันมากมาย มีข้างบนของข้างบนของข้างบนขึ้นไปอีก เมื่อสังคมไม่สามารถพูดจากันอย่างตรงไปตรงมา ก็เลยจินตนาการกันไปเอง ความไม่ชัดเจนนี้สร้างความไม่เป็นธรรมกับฝ่ายผู้มีอำนาจเหมือนกันนะ เมื่อสังคมไม่สามารถพูดคุยเพื่อหาความชัดเจน ผู้คนก็ชี้นิ้วไปข้างบน นี่คือลักษณะของสังคมที่มีช่วงมีชั้น เช่นกรณีโจ้ เฟอร์รารี่ เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเป็นสังคมที่ไม่เคลียร์ 

นี่คือคำว่า ‘อำนาจเบื้องบน’ ที่เราหมายถึง

เหตุผลที่คุณบอกกล่าวแก่สาธารณชนในการไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่โคลอมเบีย เพราะสังคมไทยไม่มีเสรีภาพ แต่เมื่อปีที่แล้วเกิดกระแสการชุมนุมที่เปลี่ยนทุกอย่างในสังคมไทย มันทำให้ความคิดเรื่องพื้นที่ในการทำงานเปลี่ยนไปไหม

ผมอยากทำสารคดีมากกว่า แต่อาจจะทำเป็นลักษณะของกลุ่ม อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การถ่ายทำหนังที่โคลอมเบีย ผมมีความรู้สึกว่าที่นั่นเป็นพื้นที่ที่มีอิสระ แต่เมื่อพูดถึงเมืองไทยกลับรู้สึกตรงกันข้าม จากการที่เราทำงานจนได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ ก็ส่งผลให้สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ในสังคมโลก ดังนั้นงานชิ้นใหม่ก็อาจจะยังไม่ใช่เมืองไทย เพราะรู้สึกได้รับการกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เวลาที่ออกไปทำงานนอกประเทศ

อีกด้านหนึ่งของสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษต่อการสร้างสรรค์ มันก็เอื้อให้คนทำงานศิลปะค้นหากลวิธีอันแยบคายในการพูด แต่ทำไมสัญลักษณ์หรือการซ่อนความในงานศิลปะจึงกลายเป็นความน่าเบื่อหน่ายสำหรับคุณ ทั้งๆ ที่สัญลักษณ์น่าจะทำให้คนดูออกแรงขบคิดเพื่อหาปัญญา

มันเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดบนท้องถนนโดยคนรุ่นใหม่ เพราะเขาใช้ทั้งสัญลักษณ์และการพูดตรงๆ เราทึ่งกับแนวความคิดในการใช้สื่อเพื่อสื่อสารความคิดของพวกเขา เพราะมันก้าวกระโดดมาก แต่ถ้าเราย้อนกลับไปในช่วงก่อนเพดานพังทลาย บรรยากาศในตอนนั้นศิลปินไม่มีทางเลือก พวกเขาต้องใช้สัญลักษณ์อย่างเดียวในการสื่อสาร ผมว่าน่าเบื่อและอันตราย 

แต่ถ้าคุณมีทางเลือกที่จะใช้สัญลักษณ์หรือไม่ใช้ก็ได้ พูดตรงไปตรงมาบ้างก็ได้ นั่นหมายความว่าบรรยากาศในการสร้างสรรค์งานศิลปะเริ่มเบ่งบาน แต่ความน่าเบื่อของสัญลักษณ์ที่ผมพูดไว้คือบริบทของเมื่อสามสี่ปีที่แล้ว ศิลปินต่างอยู่ในโรงงานผลิตสัญลักษณ์ ซึ่งตอนนี้ผมคิดว่ามันไม่ใช่แล้ว คนรุ่นผมอาจจะก้ำกึ่งอยู่ เพราะเราโตมากับชุดความคิดแบบหนึ่ง แต่คนรุ่นใหม่คิดคนละแบบแล้ว

เหมือนกับว่าความตรงไปตรงมาอันทรงพลังในพื้นที่การชุมนุมได้ย้อนมาตั้งคำถามกับกลวิธีซ่อนความในพื้นที่ของเรื่องแต่ง สำหรับคนทำงานศิลปะที่ใช้สัญลักษณ์ใช้การซ่อนความมาทั้งชีวิต ก็อาจจะเกิดคำถามว่า ที่ผ่านมาเรามัวซ่อนอะไรกันอยู่ จนป่านนี้คนเสพก็อาจจะยังหาไม่เจอ เพราะการพูดตรงๆ มันชัดเจนและทรงพลัง

นี่คือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น ศิลปะหรือศิลปินควรถูกสะท้อนจากความจริง ศิลปะพยายามจะหนีจากความเป็นจริงมาตลอด อุตสาหกรรมภาพยนตร์อยู่ในโลกจินตนาการมาตลอด เราผลิตหนังผีหนังตลกมากมาย เพราะไม่สามารถพูดความจริงได้ เราทำให้คนดูชาชินกับโลกจินตนาการ เมื่อมีหนังที่สะท้อนความเป็นจริงออกมา หรือหนังที่พูดถึงความเป็นจริงในสังคม คนดูต้องปรับตัวกันยกใหญ่ หรือบางทีก็ปรับตัวไม่ได้เลย… หนังก็เจ๊ง ภาพยนตร์จึงไม่ได้ถูกขับเคลื่อนโดยความจริง 

ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของการปฏิรูปปฏิวัติสื่อและศิลปะ ซึ่งคนจะทำงานในเชิงที่อิงความเป็นจริงมากขึ้น เราไม่เชื่อว่าลักษณะนี้จะเกิดจากคนรุ่นเรา แต่จะเกิดจากคนรุ่นใหม่ เพราะนี่คือความจริงของเขา 

สัญลักษณ์เป็นโซ่ตรวนที่ล่ามร้อยคนสร้างกับคนเสพเข้าไว้ด้วยกัน แม้แต่นักวิจารณ์ก็มองงานชิ้นหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ เท่าที่ผมสังเกต นักวิจารณ์บ้านเราพยายามจะมองว่าเรื่องนี้สื่อถึงอะไร ไม่ว่างานเขียนหรือภาพยนตร์ งานชิ้นนั้นมี Metaphor มีสัญลักษณ์อย่างไร ซึ่งเขาคิดว่านั่นคืองานวิจารณ์ที่ดี ซึ่งหมายรวมไปถึงคนสร้างงานเช่นกันที่คิดแบบนี้ พยายามจะใส่สัญลักษณ์เพื่อป้อนให้นักวิจารณ์ตีความ ผมคิดว่าอันตราย มันก็เลยเป็นขนบของบ้านเรา ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ต้องนำความจริงมาทุบหัวบ้าง

ช่วยเล่าเรื่องการเดินทางเลียบเลาะแม่น้ำโขงในช่วงเวลาที่หลายจังหวัดผ่อนปรนมาตรการโควิดในช่วงต้นปีที่ผ่านมาให้ฟังได้ไหม เพราะการเดินทางครั้งนี้ก่อให้เกิดงานชุด ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ 

เป็นการเดินทางไปบนเส้นทางเดิมที่เราเคยเดินทางสำรวจอีสานเมื่อ 10 ปีก่อน ครั้งนี้ผมเริ่มต้นเดินทางจากขอนแก่นไปหนองคาย เลียบเลาะแม่น้ำโขงจากหนองคายไปถึงอุบลราชธานี ผมไปอยู่ที่โขงเจียมสัปดาห์กว่าๆ ก่อนจะวกกลับมาที่มุกดาหาร เดินทางต่อไปที่สกลนคร กลับไปขอนแก่น แล้วก็ไปกาฬสินธุ์ 

ที่โขงเจียม อุบลราชธานี ผมสนใจผาแต้ม อยากไปบันทึกผาแต้ม, ที่สกลนคร ผมไปหาคุณลุงวิทิต จันดาวงศ์ (บุตรชายของ ครอง จันดาวงศ์ นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย หนึ่งในสมาชิกขบวนการเสรีไทยสายอีสาน) เพราะเราเคยสัมภาษณ์คุณลุงวิทิตไว้เมื่อ 10 กว่าปีก่อน การเดินทางครั้งนี้จึงกลับไปพบเจอเขาอีกครั้ง, ที่กาฬสินธุ์ ไปดูโรงหนังร้างแห่งหนึ่ง, ที่นครพนม มีสลิ่มเยอะมาก เราหาคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องประชาธิปไตยไม่เจอ แต่สลิ่มก็น่าสนใจสำหรับเรา เรายอมรับและเคารพเขานะ คนใกล้ตัวเรามากมายก็เป็นสลิ่ม 

ที่เมืองขอนแก่น ที่นี่เป็นบ้านเกิดของแบงค์ (ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ศิลปินหมอลำคนสำคัญของยุคสมัย ผลงานกลอนลำของเขาน่าสนใจและมีความล้ำลึก ปัจจุบันเขาเป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำ อ. 287/64 ร่วมกับแกนนำและแนวร่วม ‘ราษฎร’ รวม 22 คน ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 112, ข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตามมาตรา 116 และข้อหาอื่นๆ จากกรณีร่วมชุมนุม ‘19 กันยา ทวงคืนอำนาจราษฎร’

เรามีโอกาสได้ไปพบน้องๆ กลุ่มดาวดิน ไปเจอคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีความคิดน่าสนใจ เราได้พบกับกวีชื่อ เมฆ’ครึ่งฟ้า เขาเพิ่งจะอายุยี่สิบต้นๆ แต่วุฒิภาวะของเขาทำให้เราอายไปเลย ตอนอายุเท่ากันเรายังเป็นวุ้นทางความคิดอยู่เลย ไม่ว่าจะการเมืองหรือศิลปะก็ตาม แต่ เมฆ’ครึ่งฟ้า รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร มีความเป็นศิลปิน เวลาที่เราเจอคนแบบนี้ก็เหมือนถูกแม่เหล็กดูดเข้าไป เป็นอีกมุมหนึ่งที่เราอยากเป็นแต่เป็นไม่ได้ หรือแม้แต่หมอลำแบงค์ พอเราได้ฟังงานของเขา เรารับรู้ได้เลยว่านี่คือระดับเซียน แต่ทำไมเขาถูกทิ้งร้างไว้แบบนี้ ในหลายประเทศคนที่มีความสามารถแบบนี้ล้วนได้รับการสนับสนุน แต่เมื่อมองกลับมาที่บ้านของเรา เขากลับถูกกดเอาไว้ เศร้าเหลือเกิน 

ผมเจอคนเหล่านี้ ก็เลยเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานชุดนี้

การเดินทางครั้งนี้สำคัญกับคุณอย่างไร

ผมเชื่อเสมอว่าเหตุการณ์และพื้นที่ตรงนี้มีความสำคัญ ผมเดินทางครั้งนี้ด้วยความรู้สึกแบบทัวริสต์ เราได้ไปในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า ‘ไก่ทอดโคลัมโบ’ เป็นสถานที่ประชุมของกลุ่มดาวดินและเครือข่ายทางอีสาน เราตื่นเต้นเหมือนนักเดินทางจากอนาคตย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ของปัจจุบัน ถ่ายรูปมุมต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่น่าตื่นตาตื่นใจ นักเคลื่อนไหวในภูมิภาคอีสานเพิ่งเดินทางมาประชุมกันเมื่อสัปดาห์ก่อน ยังมีผังความคิดบนกระดานไวท์บอร์ดที่ยังไม่ถูกลบ เราก็ถ่ายรูปเก็บไว้ 

เรามองว่านี่คือห้วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ เราอยู่ในยุคสมัยที่คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาตั้งคำถามและเรียกร้องเสรีภาพ สิ่งเหล่านี้เกิดจากกลุ่มคนอายุ 20-30 ปี และมาจากอีสานเสียส่วนใหญ่ ซึ่งเรามองว่ามันคือการปฏิวัติทางความคิด 

เหมือนในยุคหนึ่งที่มีการปฏิวัติทางพุทธศาสนา เกจิอาจารย์ทางอีสานพยายามจะเดินทางเพื่อปลีกวิเวก พยายามที่จะหาพื้นที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเดินป่า เข้าถ้ำ นั่งสมาธิ แล้วค้นพบสิ่งที่พวกเขาคิดว่ามันมีค่า แล้วผู้คนก็กรูกันไปหาเกจิอาจารย์เหล่านั้นที่อุดรธานีและเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน เรามองว่าปรากฏการณ์คนหนุ่มสาวร่วมสมัยก็คืออีก revolution หนึ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นอีกทางหนึ่งที่แตกต่างไปจากพระนักธุดงค์ในอดีต เป็นทางที่ไม่ปลีกวิเวก แต่เชื่อมร้อยความรู้สึกต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน

หัวใจก็คือการเรียกร้องเสรีภาพ เกจิอาจารย์ต่างๆ เหล่านั้นท่านต้องการเสรีภาพในการปฏิบัติทางศาสนา การปฏิบัติในแง่ปัจเจกบุคคล เรามองเห็นความงามทั้งสองปรากฏการณ์นะ แม้มันจะต่างกัน แต่ก็มีความคล้ายกันบางประการ แล้วคนก็จะกรูกันเข้าไปเหมือนกัน เมื่อคนในพื้นที่ที่ถูกกดขี่มากๆ พอเกิดความหวัง คนจะกรูกันไปหาเกจิอาจารย์ กรูกันมาทางนักศึกษา 

ฟังจากน้ำเสียงเวลากล่าวถึงคนหนุ่มสาว สัมผัสได้ว่าคุณมองว่าพวกเขาคือประวัติศาสตร์

ใช่ ซึ่งจริง แม้ว่าทางรัฐบาลทหารจะพยายามสื่อสารอย่างหนักหน่วงเพื่อผลักพวกเขาไปด้านลบ พวกเขาพยายามทำให้การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวเป็นการก่อความไม่สงบ ทั้งที่สังคมขับเคลื่อนได้ก็เพราะคนหนุ่มสาวทั้งนั้นเลย นี่คือสิ่งที่เป็นจริงในสังคมทั่วโลก 

คนรุ่นใหม่ที่ได้พบเจอ พวกเขาสนใจอะไร มีชีวิตแบบไหน 

เราเข้าหาพวกเขาเหมือนคนเข้าหาดารา แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาเป็นดารารุ่นใหม่ ไม่มีเปลือกห่อหุ้มเหมือนดารารุ่นเก่า ดารารุ่นเก่าถูกจำกัดด้วยภาพพจน์ ต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่ง เช่น ต้องมุ่งประชาธิปไตย ต้องเป็นคนดี คนเหล่านั้นต้องอยู่ในกรอบที่สื่อสร้าง จนเขาค่อยๆ กลายเป็นแบบนั้น แต่คนรุ่นใหม่มีความไร้สาระ ไม่สร้างภาพ มีความเป็นคนที่เราจับต้องได้ ซึ่งการนำเสนอตัวตนของพวกเขาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เขาทำ 

เป้าหมายการเดินทางครั้งนี้ก็คือการได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการประชาธิปไตย ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์?

ปฏิรูปประเทศเลยแล้วกัน เพราะผมมองว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่จุดเดียวของปัญหา แต่ปัญหาคือทั้งหมดของระบบ รวมถึงระบบราชการ

คุณบอกว่าคุณแม่มีความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษนิยม การออกไปคอลเอาต์แต่ละครั้งไม่ได้ไปสร้างความกังวลใจให้กับท่านหรือ

แม่จะบอกว่าระวังตัวนะ เพราะพ่อเคยเป็นนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ เพราะฉะนั้นครอบครัวของเราจะรับรู้ถึงอำนาจและความรุนแรง เพราะประเทศนี้ operate ด้วยอำนาจมืด

นอกจากเป็นแพทย์ คุณพ่อยังเล่นการการเมืองด้วยหรือครับ

ไม่ได้เล่นนะ จริงจังเลย (หัวเราะ) เป็นพรรคประชาธิปัตย์ สมัยก่อนจะมีคนเข้าออกบ้านเยอะมาก คุณชวน หลีกภัย ก็มาที่บ้านบ่อย เรารู้จักเขาประมาณหนึ่ง เราไม่เห็นด้วยในหลายอย่างกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในทุกพื้นที่ย่อมมีคนที่มีอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง เราเชื่อว่าพ่อเป็นคนหนึ่งในนั้น แต่ในสังคมที่มีความอนุรักษนิยมสูงและป่าเถื่อน เราพูดถึงสังคมไทยเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วนะ ไม่มีทางที่มือของคุณจะไม่เปื้อนหากอยากเปลี่ยนแปลง ถ้าอยากเอาไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน มือคุณต้องเปื้อน

ช่วยเล่าถึงการเจอกับกลุ่มกู้ภัยที่พบศพนิรนามลอยในแม่น้ำโขงได้ไหมครับ

น้องคนหนึ่งและกลุ่มกู้ภัยกู้ศพนิรนามขึ้นมาจากแม่น้ำโขงที่มุกดาหาร ห่างจากจุดที่พบศพสองศพ (ทั้งสองศพเป็นศพของไกรสรณ์ ลือเลิศ และชัชชาญ บุปผาวัลย์) ซึ่งเป็นผู้ติดตามคุณสุรชัย แซ่ด่าน ประมาณ 90 กิโลเมตร แม้แต่ตอนนี้ยังสืบอยู่เลยว่าศพที่พบคือใคร เป็นไปได้หรือเปล่าว่าศพที่พบที่มุกดาหารจะเป็นศพของสุรชัย เราพยายามจะหารูปอยู่ว่าศพถูกกระทำเหมือนสองศพหรือเปล่า ถ้าใช่ ก็เป็นไปได้มากว่าเป็นศพของสุรชัย แต่น้องคนนั้นก็ยังหาหลักฐานให้เราอยู่ เราไม่แน่ใจว่าเขากลัวหรือเปล่า แต่โชว์นี้ (ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย) มันไม่ได้พูดเรื่องความจริง มันเป็นจินตนาการหมดเลย เราเอาละครวิทยุเข้ามาแทรก เราพูดถึงพญานาค

มีฉากหลังลิเกที่เป็นภาพท้องพระโรง รวมถึงฟุตเทจโรงภาพยนตร์ร้างที่กาฬสินธุ์?

ผมก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองต้องการจะพูดหรือแสดงออกอะไรในงานนี้ ทำไมเราถึงชอบโรงหนังเก่า ทำไมถึงต้องมีท้องพระโรง เราไม่รู้นะ แต่เมื่อทำงานชุดนี้ไปเรื่อยๆ ก็เพิ่งรู้ตัวว่ากำลังพูดถึงซาก พูดถึงความทรงจำเก่าๆ หรือแม้แต่การมองแม่น้ำโขงเป็นประหนึ่งซาก แม่น้ำโขงเป็นสิ่งโอบอุ้มซากศพ ซึ่งเกิดเหตุแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัยไม่เว้นยุคทักษิณ เราก็เริ่มดีไซน์งานในภาคแรก ซึ่งกระบวนการสร้างงานมันเป็นแบบนี้เกือบทุกครั้ง เราจะยังไม่รู้หรอกว่ากำลังจะพูดอะไรชัดๆ จะมีแค่ความรู้สึกและสัญชาตญาณ ระหว่างที่ติดตั้งงาน เรื่องราวและไอเดียที่เราสะสมโดยไม่รู้ตัวก็ค่อยๆ โผล่ให้เห็นในระหว่างการจัดตั้งชิ้นงาน

ช่วยเล่าถึงชื่อของนิทรรศการชุดนี้ได้ไหม ทำไมคำสองคำนี้ที่ดูเหมือนจะมีขนาดที่ต่างกันมาอยู่ร่วมกันได้ ‘ประวัติศาสตร์’ กับ ‘กระจ้อยร่อย’

จริงเนอะ มันฟังดูใหญ่ในความรู้สึกเราใช่ไหม 

เราก็รู้กันอยู่แล้วใช่ไหมว่าประวัติศาสตร์บ้านเมืองนี้ถูกเขียนขึ้นมาโดยใคร มันสะท้อนไปถึงสันดานของเราทุกคนที่เรื่องราวทั้งหลายเขียนขึ้นมาจากอำนาจ มันแทรกเข้ามาในทัศนคติของเรา รวมถึงทัศนวิสัยด้วย ทำไมถึงมีรูปปั้นของกระบวนการโฆษณาชวนเชื่ออยู่ทั่วประเทศ เราอยากจะพูดถึงเรื่องราวของคนธรรมดา ไม่จำเป็นต้องพูดถึงคนกุมอำนาจ ซึ่งเรามองว่ามันเป็นอำนาจใหม่ อำนาจของการเล่าเรื่อง จาก bottom-up ไม่ใช่ top–down 

ทำไมจึงเปรียบเปรยงานชุดประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อยว่าเป็นเหมือนการไว้อาลัยให้กับความไร้เดียงสาในอดีต

เพราะเราโตมาแบบนั้นจริงๆ โตมากับการมองเรื่องราว มองผืนแผ่นดินนี้ไปอีกแบบ เรามองคน มองพื้นที่ มองเพื่อนบ้าน มองทุกอย่างเป็นสีขาวกับสีดำ แม้ว่าเราจะโตมาในรั้วโรงเรียนสาธิตฯ (สาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น) ซึ่งน่าจะเป็นโรงเรียนทดลอง เราก็จินตนาการไม่ออกว่าแล้วโรงเรียนที่ไม่ทดลองจะแย่ขนาดไหน ก็เลยรู้สึกว่าเป็นทั้งประเทศเลยหรือเปล่าเรื่องการฝึกให้คนมองทุกอย่างเป็นสีขาวสีดำ มองชีวิตมีแค่ขาวกับดำ

แล้วคุณล่ะ เป็นแบบนั้นไหมครับ เพราะเห็นบอกว่าเรียนสาธิต มข. มาเหมือนกัน

ผมโตมากับฝูงชนที่เพิกเฉยต่อการเมืองและประวัติศาสตร์ พวกเราเป็นผลผลิตของโฆษณาชวนเชื่อ ต่างจากเด็กสมัยนี้ จากโรงเรียนสาธิตฯ ข้ามไปที่อีกมุมของเมือง ที่โรงเรียนแก่นนครฯ มีเด็กมัธยมคนหนึ่งชื่อ ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ เขาถูกรัฐคุกคาม ผมคิดว่าคนรุ่นผมเทียบไม่ได้เลยกับคนรุ่นเขา

อาจจะไม่ใช่การเมืองอย่างเดียวเนอะ หลายๆ เรื่อง การเสพสื่อ ความรู้ มันคนละยุคกันแล้ว การเมืองก็ไหลเข้าไปในกระแสนี้เหมือนกัน กระแสของการตื่นรู้ 

คุณเคยบอกว่า ตอนที่เป็นเด็กวัยรุ่นอยู่ในเมืองขอนแก่นที่ยังเป็นเมืองขนาดกลางขนาดเล็ก น่าเบื่อหน่าย เฝ้ารอว่าเมื่อถึงเวลา จะหนีไปจากเมืองนี้ 

ใช่

แต่ขณะเดียวกัน เด็กรุ่นนี้ก็มีความคิดที่จะหนีเหมือนกัน แต่พวกเขาอยากจะหนีออกไปจากประเทศนี้

เหมือนอย่างที่พูดไปตอนต้น ผมเพิ่งรู้ตัวว่าตัวเองเป็นประชากรโลก 

ผมรู้จักคนคนหนึ่ง เขาเป็นคนจีนที่มาอยู่ที่นี่ เขาอึดอัดมาก เขาถามว่าทำอย่างไรจึงจะสลัดสัญชาติจีนออกได้ ซึ่งเราว่าไม่มีทาง เพราะคุณโตมากับพื้นที่นี้ ไม่มีทางสลัดตัวตนนี้ออกได้ เขามีความคิดเช่นนั้นเพราะจีนใช้อำนาจในการกดขี่ข่มเหงทั้งประชากรของตนและของภูมิภาคอื่นๆ เรื่องของเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน เรื่องของอำนาจเหนือแม่น้ำโขง มันส่อไปในทางอำนาจนิยมหมดเลย เขาก็เลยไม่อยากเป็นคนจีน 

เรื่องของเขาก็สะท้อนกลับที่มาที่หัวใจของเรา เออว่ะ เราเคยคิดไหมว่าไม่อยากเป็นคนไทย แต่ตราบใดที่คุณอยู่ในกฎอยู่ในระบบนี้ คุณพูดเรื่องบางเรื่องไม่ได้ เพราะมีกฎหมายที่จะพาคุณเข้าคุก มันสลัดไม่ได้นะ ตราบใดที่เรายังใช้ถนน ใช้ไฟฟ้า เสียภาษี อยู่ในระบบนี้อยู่ แต่สำหรับคนอายุ 20 กว่าๆ มันเป็นไปได้สำหรับเรานะ มันเป็นไปได้ที่เขาจะถีบตัวเองออกจากพื้นที่นี้ไปตั้งรกรากในพื้นที่อื่น ซึ่งเรารู้สึกว่ามันคือการลื่นไหลของคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ เขาไม่ยึดติด ฉะนั้นคำพูดที่ว่าถ้าคุณชังชาติก็ออกไปอยู่ที่อื่นสิ คนรุ่นใหม่เทกแอกชันจริงนะ “ฉันไปได้นะ ฉันจะไปแล้วละ” เขาเทกแอกชันจริงไง ซึ่งมันน่าชื่นชม

ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง Memoria ก็เป็นการเทกแอกชันเหมือนกัน เป็นการออกไปถ่ายทำภาพยนตร์ที่ประเทศโคลอมเบีย ประเทศที่เรารู้จักแค่ไม่กี่อย่าง เช่น กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ และ พาโบล เอสโคบา การออกไปทำงานที่นั่นเป็นอย่างไรบ้างครับ

น่าสนใจๆ ถ้าพูดถึงเมืองไทยเขาจะมองเห็นอะไรนะ ประยุทธ์หรืออะไร (หัวเราะ)

โคลอมเบียก็เป็นประเทศที่ใหญ่มาก มีความหลากหลาย มีชนเผ่าเยอะ มีภาษาและขนบของตัวเอง พื้นที่ก็จะมีตั้งแต่ป่าดงดิบแอมะซอน ทะเลทราย กระทั่งมีหิมะด้วยซ้ำ เราเก็บเรื่องราวและข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะประเทศใหญ่มาก เราออกเดินทางไปทั่วประเทศ พูดคุยกับผู้คนถึงความทรงจำของพวกเขา เรื่องการดิ้นรนเพื่อเสรีภาพ ซึ่งเชื่อมโยงกับเราได้ เรามีคำถามว่าเขาดีลกับความทรงจำหรือความรุนแรงจากภาครัฐอย่างไร แม้ว่าการเมืองจะมีความคุกรุ่นมีความรุนแรงอยู่ในตอนนี้ แต่เขาไปไกลกว่าบ้านเราในเรื่องของสำนึกเรื่องเสรีภาพ 

แน่นอนว่าเขาก็มีความเป็นอนุรักษนิยมมาก ไล่กันไปตายก็มีเหมือนกัน แต่ในพื้นที่สาธารณะเขาสามารถพูดคุยกันได้ มีพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการที่ว่าด้วยว่าการชำระประวัติศาสตร์บาดแผล รัฐฆ่าคนไปเท่าไร ฆ่าที่ไหนบ้าง จำนวนคนที่ถูกรัฐสังหารมีเท่าไร ซึ่งรัฐยอมรับด้วย รัฐเปิดเวทีเพื่อแก้ปัญหา 

เมื่อเป็นเช่นนั้น คนโคลอมเบียมีวิธีการจัดการกับความทรงจำบาดแผลอย่างไร เพราะรัฐมีท่าทีแสดงความรับผิดชอบต่ออดีต แต่สำหรับประเทศไทย เหยื่อผู้ถูกกระทำทางการเมืองไม่มีแม้แต่อัตลักษณ์หลงเหลือ ผู้กระทำก็ไม่มีตัวตน

โคลอมเบียเพิ่งจะเริ่มชำระสะสางกันเมื่อ 10-15 ปีที่ผ่านมา มันกำลังผุดขึ้นมา แต่สำคัญที่มันถูกขุดด้วยองค์กรภาครัฐเอง เมื่อความทรงจำบาดแผลได้รับการยอมรับจากรัฐ ความรู้สึกของเขาย่อมเปลี่ยนไป ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของประเทศ ความรู้สึกที่ไม่ได้ถูกทอดทิ้ง ไม่ได้ถูกกดขี่ 

โคลอมเบียก็เป็นสังคมที่มีช่วงชั้นเยอะเหมือนกัน มีหลายพื้นที่ที่เราเข้าไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ถ้าเข้าไปแล้วจะไม่มีชีวิตกลับออกมา แต่เขาเริ่มชำระประวัติศาสตร์บาดแผล ซึ่งไม่ได้เริ่มจากคนข้างล่าง แต่เริ่มจากคนข้างบน สังคมของเขารุนแรง นักข่าวถูกฆ่าเยอะมาก หรือเพราะสังคมรุนแรง การชำระบาดแผลจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน

ฟังดูเหมือนว่ากระบวนการทำงานของคุณก็ยังคงเหมือนเดิม พกคำถามสำคัญนั่นก็คือ เรื่องการจัดการกับความทรงจำส่วนตัวที่อยู่ภายในความทรงจำร่วมของสังคมโคลอมเบีย แล้วออกเดินทาง

จริง เราเริ่มจากความทรงจำส่วนตัวนะ แล้วสุดท้ายมันก็สะท้อนไปถึงสังคมเอง คุยกับคนในโรงพยาบาล ทำไมเขาจึงติดยา เพราะปัญหายาเสพติดที่โคลอมเบียเป็นปัญหาใหญ่ มันก็เชื่อมโยงไปกับเรื่องการเมืองเรื่องสังคม 

ในศิลปะเรื่องแต่ง มีการกล่าวกันว่าถ้าเราไม่รู้จักบ้านช่องห้องหับของตัวละคร ไม่รู้จักสังคมที่ตัวละครเติบโต เรื่องมันจะไม่สมจริง คุณเผชิญกับความกังวลนี้บ้างไหมในการทำ Memoria 

เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราทำงานกับ ทิลดา สวินตัน เพราะเธอไม่ใช่คนที่นั่น เราไม่ได้มองตัวละครว่าเป็นคนจริงๆ ด้วยซ้ำ เขาเป็นแค่วิญญาณหรือตัวแทนของความทรงจำ ซึ่งเชื่อมกับหลายๆ ตัวละครในหนังเรื่องก่อนๆ ของเรา เชื่อมโยงกับป้าเจนกับโต้ง เราก็ไม่ได้มีแผนผังในชีวิตของตัวละครเยอะนะ เพราะเวลาในหนังของเราบางเรื่องเกิดขึ้น 3 วัน 5 วัน สำหรับ Memoria น่าจะ 4-5 วัน ฉะนั้นเราตั้งใจจะไม่ขุดประวัติตัวละครเลย แต่บางทีมันก็จำเป็น เพราะคนที่ออกแบบบ้าน ออกแบบเสื้อผ้าให้ตัวละคร ออกแบบกระเป๋าของเธอ ก็จะมาถามเราว่า “เธอเป็นคนยังไง” “สามีตายมากี่วันแล้ว” “เธอเคยมาโบโกตาไหม” จนเราต้องบอกว่า “ฉันไม่รู้” ก็แต่งเรื่องกันตอนนั้นเลยแล้วกัน “เธอคิดว่าเขาอยู่มากี่ปีแล้วล่ะ” ลักษณะการทำงานก็จะเป็นแบบนั้น ซึ่งทิลดาก็มีลักษณะคล้ายกันกับเรา เธอไม่สนใจปูมหลังตัวละคร

นักแสดงบางกลุ่มโดยเฉพาะฮอลลีวูด จะมีสิ่งที่เรียกว่า Method actor นักแสดงก็จะเป็นลักษณะที่เมื่อผู้กำกับสั่งคัตแล้ว ตัวเองยังติดอยู่ในบทบาท เครียดเหมือนสวมวิญญาณตัวละครอยู่ นักแสดงประเภทนี้ก็จะสนใจตัวละคร ตัวละครมีชีวิตอย่างไร มีลูกกี่คน มีเงินในบัญชีเท่าไร แต่สำหรับเรา ไม่ เราต้องการความสด เธอรู้สึกอย่างไร ก็เค้นกันก่อนถ่ายเลย ถ้าเหตุการณ์เกิดกับตัวละครแบบนี้ ในฐานะนักแสดงคุณจะทำยังไง ซึ่งเรามีแพลน แต่มันก็สดด้วย 

การจัดการกับโรคระบาดในช่วงเทศกาลหนังเมืองคานส์เป็นอย่างไรบ้าง

ผมไปอยู่ฝรั่งเศสก่อนหน้าเทศกาลหนังจะเริ่มประมาณหนึ่งเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่มาตรการค่อนข้างคุมเข้ม ทุกคนต้องใส่หน้ากาก แต่พออยู่ไปสักสองสัปดาห์ เริ่มจะคุมเคสได้ดี คนฉีดวัคซีนระดับหนึ่ง ทางการก็ผ่อนปรน สามารถถอดหน้ากากนอกบ้านได้ ผู้คนก็ฉลองกัน ถอดหน้ากากนอกบ้าน เพราะช่วงซัมเมอร์ ผู้คนก็อยากจะออกมาใช้ชีวิตเอาต์ดอร์ เคสมันก็ขึ้นอีก ส่วนคานส์ก็เป็นช่วงที่คนดูหนังร่วมกันในโรงภาพยนตร์ได้ แต่ต้องสวมหน้ากาก ขณะที่สามารถถอดหน้ากากเวลาอยู่นอกอาคารได้ ปาร์ตี้มันก็เกิดขึ้น 

ไม่ได้มีการจำกัดว่าคนที่เข้าร่วมงานต้องฉีดวัคซีน

ไม่นะ เขามองว่าทุกคนมีสิทธิ์ แต่ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่มาตรการผ่อนปรน แต่คานส์จะมีพื้นที่หนึ่งเป็นอาคารใหญ่ของตลาดขายหนัง คุณต้องฉีดวัคซีนก่อน หรือเข้ารับการตรวจที่ผู้จัดเตรียมไว้จึงจะเข้าได้ แต่คนก็ไม่ค่อยเข้าไปที่ตลาดนั้น คนจะเข้าไปดูหนัง 

ที่ฝรั่งเศส ไม่เฉพาะที่คานส์ ที่โรงภาพยนตร์ไหนคนก็เข้าไปดูหนังได้ แต่คุณต้องใส่หน้ากาก เขาก็เลยใช้กฎนี้ แต่หลังจากเทศกาลคานส์จบ คนก็ติดกันเยอะเลย เคสก็ขึ้น เขาก็ปิดอีกทีหนึ่ง ตอนนี้คนต้องสวมหน้ากากอย่างเข้มงวด รัฐใช้กฎหมายเข้มขึ้น บีบคนว่าหากจะไปในพื้นที่โรงหนัง มิวเซียม คุณต้องฉีดวัคซีนแล้วนะ กฎเข้มขึ้น แต่เขาไม่บังคับ แต่สร้างสถานการณ์ให้คนฉีดวัคซีน 

มันเป็นสิ่งที่ยุโรปทำมาตลอดคือการเปิดๆ ปิดๆ ตอนนี้เริ่มจะปิดอีกแล้ว แต่ที่นั่นจะรู้สึกผ่อนคลายกว่าไทยพอสมควร เพราะหากคุณติดโควิด คุณจะได้รับการช่วยเหลือ คุณสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ แต่บ้านเราคนต้องป้องกันตัวเองสูง เพราะถ้ารู้ตัวว่าติด โดยเฉพาะคนจน คุณจะลำบากมาก  

ขณะที่เราพูดคุยกันนี้คือเดือนกันยายน กรุงเทพฯ และจังหวัดสีแดงเริ่มผ่อนปรนมาตรการ เชียงใหม่กำลังจะเปิดรับนักท่องเที่ยวในเดือนตุลาคม แต่หลายอาชีพยังไม่สามารถกลับคืนภาวะปกติ รวมถึงผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับภาพยนตร์ ชีวิตในช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง

งานเยอะมาก เราทำงานที่นี่ เรายังปรับตัวไม่ได้เลยกับการที่ต้องมีการออนไลน์ตลอดเวลา โดยเฉพาะหนังที่ออกฉายแล้ว ต้องคอยตอบคำถามกับสื่อและคนดู ก็เหมือนทำงานตลอดเวลา เพียงแต่เราอยู่ที่เชียงใหม่ 

ชีวิตของคุณที่เชียงใหม่ดูจะมีความสงบ มีรูทีนชีวิตช่วงเช้าอย่างไรบ้าง

มันเปลี่ยนไประดับหนึ่งเลยนะ ผมเริ่มวันประมาณหกโมง แต่ก็ตื่นตั้งแต่ตีห้า ออกกำลังกายครึ่งชั่วโมง เรานั่งสมาธิประมาณ 3-4 วันต่อสัปดาห์ ใช้เวลาครั้งละประมาณ 20 นาที จากนั้นก็กินข้าวเช้า แล้วก็เถลไถลมาก กว่าจะเริ่มทำงาน 

คุณมีวิธีนั่งสมาธิอย่างไร 

เราจะเริ่มจากกำหนดรู้สัมผัส เท้าติดพื้น ก้นบนเบาะ เสียงที่ได้ยิน กำหนดรู้ความรู้สึกของเรา หลังจากนั้นก็จับความคิดว่ามันไหลไปอย่างไร พอเรากำหนดรู้แล้วมันก็สงบไปเอง

นั่งสมาธิด้วยเหตุผลทางศาสนาหรือเหตุผลอย่างอื่น

เรานั่งในเชิงวิทยาศาสตร์มากกว่า เพราะเชื่อว่ามันช่วยได้ ทำให้เราผ่อนและยึดติดน้อยลง การทำหนังและงานศิลปะทำให้เรายึดติดเหมือนกันนะ เรามีความสุขกับการทำงาน แต่ลึกๆ เครียดนะ แม้จะมองเผินๆ ว่างานของเราอิสระ แต่เมื่อเราสร้างข้อแม้ให้ตัวเองว่างานต้อง

ออกมาเป็นแบบนี้ ต้องดีแบบนั้น มันเริ่มเครียด การนั่งสมาธิเหมือนการได้อาบน้ำ ได้ชำระสะสางตัวตน แล้วมาเริ่มใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลว่าในช่วงหลังเราทำงานช้าลงถ้าเทียบกับสปีดในช่วงก่อน ชิลกับชีวิตมากขึ้น

ยึดติดกับอะไร ลายเซ็นของตัวเองหรือเสียงตอบรับจากงานชิ้นก่อนๆ

ยึดติดกับการทดลองมากกว่า เพราะเราเริ่มต้นและเดินทางมากับหนังทดลอง เราพยายามจะไขกุญแจ คือเราพยายามที่จะคงการทดลองไว้ ว่าอย่างนั้นเถอะ แต่หนังของเราไม่ได้ทดลองถึงขนาดดูไม่รู้เรื่อง หนังของเรามีเส้นเรื่องด้วยซ้ำ เราชอบทำหนังและอยากทำหนังทดลอง ฉะนั้นเป้าหมายของหนังแต่ละเรื่องในฐานะคนดูที่ดูหนังตัวเอง มันต้องมีความท้าทาย จึงไปสร้างกฎเกณฑ์ให้ตัวเองจนเครียด

ลักษณะเด่นในหนังของคุณคือการเล่นกับโครงสร้างของหนัง แต่เห็นบอกว่าชอบอ่านนวนิยายของนักเขียนญี่ปุ่นอย่าง ยูกิโอะ มิชิมะ หรือแม้แต่ ยาสึนาริ คาวาบาตะ ซึ่งมีลักษณะสัจนิยม เน้นไปที่ตัวละคร เน้นไปที่ตัวเรื่อง แต่วิธีการทำหนังของคุณกลับมุ่งไปที่โครงสร้างของความเป็นภาพยนตร์ ทำไมจึงเป็นแบบนั้น

นักเขียนญี่ปุ่นเหล่านี้ก็มีการเล่นกับโครงสร้างนะ หลายเรื่องเลยที่เขาเขียนออกมาเพื่อที่จะอยู่ในฟอร์มของนิตยสาร ที่ถูกจำกัดว่าต้องลงเป็นตอนๆ ฉะนั้นมันจะมีโครงสร้างของนิตยสาร มีจังหวะแบบนั้นที่เขาต้องฮุกคนอ่านให้ได้ 

แต่ถ้าดูในดีเทลแล้วเขาฟรีมากเหมือนกันนะ การที่เขาลงไปในความคิดตัวละคร อย่าง ยูกิโอะ มิชิมะ นี่ตัวเก่งเลย เขาบรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที ขยายความออกมา 5-6 หน้า เราว่ามันท้าทายขนบเหมือนกันนะ สำหรับเรามันสวยงามมาก เพราะมีความดื้อดึงภายใต้โครงสร้างที่ถูกคุมไว้อีกทีหนึ่ง

คำตอบชวนให้นึกถึงชื่อบริษัท Kick the Machine เหมือนกับว่าคุณหลงใหลความดื้อดึง ชื่นชมความดื้อดึง ค้นพบความงดงามของการดื้อดึง

หรือเป็นความฝันของเราก็ไม่รู้ เป็นสิ่งที่อยากเป็นแต่เป็นไม่ได้ ส่วนนัยความหมายของ Kick the Machine ก็หมายถึงได้หลายแบบ จะหมายถึงการเตะอำนาจเก่าออกไปก็ได้

คุณมักกล่าวอ้างถึงวัตถุดิบในการทำหนังแทบทุกเรื่องว่ามาจากความทรงจำส่วนตัว ทั้งๆ ที่ความทรงจำเป็นอะไรที่เชื่อถือไม่ค่อยได้ แต่ก็ใช้สอยมันมาเสมอ แล้วมันจะมีวันหมดไปไหม

ไม่มีทาง เพราะอย่างที่คุณกล่าวมา ความทรงจำเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย เรามองย้อนกลับไปยังบ้านที่ขอนแก่นวันนี้กับเมื่อห้าวันก่อน มันก็ไม่ใช่บ้านหลังเดิม เราทำหนังจากเรื่องส่วนตัวตั้งแต่หนังเรื่องแรก ความทรงจำมันไม่รู้จบ แต่เมื่อเดินทางมาถึงจุดหนึ่ง เราได้เชื่อมโยงกับคนอื่นมากขึ้น อย่างป้าเจนหรือโต้ง ศักดา หรือใครต่อใคร มันกลายเป็นความทรงจำส่วนตัวของคนอื่นไปแล้ว แต่ว่าเราพยายามเชื่อมโยงพื้นที่ของเขาเข้ากับพื้นที่ของเราด้วย แต่หนังสั้นหลายๆ เรื่องก็ยังเป็นความทรงจำส่วนตัวของตัวเองอยู่ 

หลงใหลอะไรในความทรงจำส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำส่วนตัวของตัวเองหรือของคนอื่นๆ

อำนาจไง ความทรงจำส่วนตัวคืออำนาจของประชาชนในการเล่าเรื่อง มันก็คือประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อยนั่นแหละ มันคืออำนาจ คือการท้าทาย คือการดื้อดึง

Fact Box

  • อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นนักทำหนังและศิลปินชาวไทยผู้มีชื่อเสียงระดับโลก ภาพยนตร์เรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 64 เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาล ขณะที่ภาพยนตร์เรื่องล่าสุด Memoria ชนะรางวัล Jury Prize ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นำแสดงโดย ทิลดา สวินตัน
  • อภิชาติพงศ์ยังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยอย่างต่อเนื่องจนได้รับการยอมรับในระดับสากล เขาแสดงผลงานในหอศิลป์และสถาบันทางศิลปะชั้นนำมาแล้วทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย
Tags: , , ,