ถ้าไปเดินสยามแล้วถามเด็กวัยรุ่นในชุดนักเรียนว่ารู้จัก Kakagoesbackhome ศิลปินจากค่าย SAUCE หรือ กาก้า-ธนวิชญ์ จังนิลวงศ์ หรือไม่ เชื่อว่าเกือบทุกคนรู้จักและร้องเพลงของเขาได้ เพราะเพลง เธอไม่ชอบเด็ก ก.ท. เธอชอบแต่เด็กอัสสัมชัญ (Unfair) ที่ปล่อยออกมาเมื่อปี 2566 มียอดสตรีมในยูทูบมากถึง 4 ล้านวิว และใน Spotify 8 ล้านครั้ง รวมถึงเพลงถัดมาอย่าง มาแตร์เดอี ก็มียอดสตรีมมากกว่า 5 ล้านครั้ง
ทั้งนี้เขายังเป็นที่รู้จักใน Tiktok จากการคัฟเวอร์เพลง ‘กรุณาฟังให้จบ’ จากต้นฉบับของ แช่ม แช่มรัมย์ ให้กลายเป็น Pop R&B ตามสไตล์ Kakagoesbackhome จนมีคนใช้แผ่นเสียงนี้ใน Tiktok ถึง 5,000 โพสต์ หลังจากนั้นในเดือนธันวาคม ปี 2567 กาก้าถูกเปิดตัวเป็นศิลปินของค่าย SAUCE ในเครือ What The Duck และปล่อยเพลงออกมาอีก 3 เพลง คือ Ghosted, ลื้อลื้อ และ ถ่ายติดเธอนิดๆ (Mention) ซึ่งแต่ละเพลงได้สะท้อนรูปแบบชีวิตของวัยรุ่น Gen Z และเป็นเพลงที่กาก้าแต่งเองตอนเรียนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
The Momentum ได้พูดคุยกับกาก้า ถึงจุดเริ่มต้นในการเขียนเพลง ที่มาของแต่ละเพลง และการทำเพลงของ Gen Z ที่แม้จะสั้นแต่ไม่ได้ทำง่าย ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากเด็กมัธยมไปสู่รั้วมหาวิทยาลัย
Kaka goes back to school
ในวันนี้กาก้าได้เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาแล้ว กำลังจะศึกษาต่อในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยกาก้าเริ่มเล่าว่า เขาชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ มีระบบการเรียนแบบ ‘Track’ เป็นการเลือกสายการเรียนตามความสนใจ เมื่อขึ้น ม.4 กาก้าจึงเลือกเรียน Track ดนตรี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการทำเพลง
“กาก้าร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก ก็รู้สึกว่าอยากทำเพลงเองบ้าง เลยเลือก Track ดนตรีก็เป็นเหมือนสายศิลป์ดนตรีของโรงเรียนอื่น เข้าไปก็มีเพื่อนที่เรียนด้วยกัน 6-7 คน มีเพื่อนคนหนึ่งทำดนตรีเป็น เราก็เลยชวนว่าลองทำเพลงด้วยกันไหม ฮาๆ ประกอบกับตอนนั้นต้องส่งงาน คุณครูให้ทำโปรเจกต์เพลงส่ง ให้คัฟเวอร์ก็ได้ แต่เราอยากทำเพลงของตัวเองเลยออกมาเป็นเพลงเธอไม่ชอบเด็ก ก.ท. เธอชอบแต่เด็กอัสสัมชัญ พอส่งครูเสร็จก็ลองปล่อยเพลงบนยูทูบ ปรากฏว่ามันแมส” กาก้าเล่าถึงก้าวแรกของการเป็นศิลปิน
เขาบอกว่าไม่ได้คาดคิดว่า เพลงที่เขาแต่งเองจะดัง แต่เมื่อเพลงแรกเป็นที่รู้จักแล้ว กาก้ากับเพื่อนที่เป็นโปรดิวเซอร์จึงเริ่มลงมือทำเพลงอีกครั้ง คือเพลงมาแตร์เดอี ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับโรงเรียน และอัดเพลงที่สตูดิโอลับของโรงเรียน
“ที่โรงเรียนกาก้าจะมีสตูดิโออัดเพลงด้วย แต่จะไม่ค่อยมีใครรู้ว่ามี คุณครูก็จะไม่ค่อยให้เข้า พวกเราก็จะแอบเข้าไปกัน เพื่อไปอัดเพลง หลายเพลงก็อัดมาจากที่นั่น”
เช่นเดียวกับเพลงแรก เพลงมาแตร์เดอีก็โด่งดังไม่แพ้กัน ทำให้ชื่อ Kakagoesbackhome เป็นที่รู้ทั้งในและนอกโรงเรียน ปูทางให้กาก้าได้เข้ามาอยู่ในค่าย SAUCE ซึ่งในวันเซ็นสัญญากับค่าย กาก้ายังเรียนอยู่ ม.6 และมีความฝันอยากเป็นศิลปินอยู่แล้ว จึงเหมือนทำตามความฝันได้รวดเร็ว
“หลังจาก 2 เพลงนี้ดัง กาก้าอยู่อีกค่ายหนึ่งก่อน เหมือนจะมีซีรีส์ให้กาก้าแสดง แต่ในตอนนั้น กาก้ายังมีไฟกับการทำเพลงมากๆ การแสดงเป็นเรื่องรอง กาก้าอยากเป็นศิลปินก่อน นักแสดงค่อยว่ากัน ก็เลยออกจากค่ายนั้น
ผ่านไปประมาณเดือนหนึ่งเราก็ว่างๆ ก็ไปเดินพารากอน ไปเจอค่าย What The Duck จัดบูทขายของศิลปิน ในโอกาสครบรอบ 9 ปีของค่าย กาก้าก็เข้าไปเลือกซื้อเสื้อ แล้วได้ยินพูดว่า ‘เลือกได้เลยนะครับกาก้า’ ปรากฏว่าพี่ทีมงาน What The Duck เขารู้จักกาก้า ก็เลยลองส่งพอร์ตให้ค่ายพิจารณา จนวันหนึ่งพี่เฟิร์สซึ่งเป็นผู้จัดการของค่าย SAUCE เป็นค่ายลูกของ What The Duck ก็ทักมาว่าลองดูไหม เป็นค่ายใหม่ เราก็เลยมาเลย มาคุย แล้วก็มาเซ็นสัญญา” กาก้าเล่าย้อนไปยังเหตุการณ์ก่อนเซ็นสัญญากับค่าย SAUCE
เมื่อได้เป็นศิลปินเต็มตัวตั้งแต่ยังเรียนมัธยม กาก้าบอกว่าเขาใช้เกือบทั้งหมดเพื่อทำเพลงและทำกิจกรรม
“ทำเพลงรวมกับทำกิจกรรม 99% เรียน 1%” กาก้ากล่าว
แม้เขาจะไม่ได้แบ่งเวลาให้การเรียนมากนัก แต่การทุ่มเทเวลาให้กับแพสชันของตัวเองก็ทำให้เขาประสบความสำเร็จในเส้นทางดนตรี และเป็นที่รักของเพื่อน รุ่นน้อง รวมถึงคุณครูอยู่ไม่น้อย
“คุณครูเขาก็จะชอบพูดว่า น้องเอากาก้าเป็นตัวอย่างหมดเลยนะ แต่งตัวยังไง ใส่แหวนยังไง ทาเล็บอะไร ห้อยพวงกุญแจที่กางเกง น้องๆ เขาก็จะห้อยตาม กาก้าอาจจะมีอิมแพกกับน้องๆ หรือเปล่าอันนี้ไม่รู้” กาก้าเล่า
บันทึกประกอบ Beat สไตล์ Gen Z
ถ้าเรารักการฟังเพลงและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย โดยเทียบเคียงจากเนื้อเพลงในยุคสมัยต่างๆ ในปี 2566 เป็นต้นไป เพลงของ Kakagoesbackhome ก็อาจเป็นจดหมายเหตุบันทึกไลฟ์สไตล์ หรือ Way of Life ของวัยรุ่นในยุคนี้ ทั้งเนื้อเพลงที่บอกว่า ‘กระเป๋าเธอใช้ Marimekko ลิปของเธอ Christian Dior เธอคงเดินเที่ยวอยู่ชิดลม’ จากเพลงมาแตร์เดอี หรือเพลง Ghosted ที่พูดถึงพฤติกรรมมาๆ หายๆ ของ ‘คนคุย’ เมื่อแชตกันในโซเชียลและถ่ายติดเธอนิดๆ ที่เล่าถึงการถ่ายรูปและโพสต์รูปคนที่เราชอบลงในสตอรี Instagram
จุดนี้หลายคนคงสงสัยว่า เรื่องราวในเพลงเหล่านี้แต่งมาจากชีวิตจริงของกาก้าหรือเปล่า ซึ่งกาก้าตอบว่าเกือบทั้งหมดมาจากชีวิตจริง แต่เป็นเรื่องของเพื่อนๆ กาก้าที่มาเล่าให้ฟัง
“เพลงเธอไม่ชอบเด็ก ก.ท. เธอชอบแต่เด็กอัสสัมชัญ มันมาจากที่โรงเรียนกาก้าจะใส่กางเกงสีดำ แต่อัสสัมชัญเขาใส่สีน้ำเงิน เพื่อนกาก้าก็จะมาเล่าว่าเวลาไปคุยกับสาว สาวเขาจะชอบอยู่ดีๆ ก็หายไป แล้วก็ไปอยู่กับเด็กอัสสัมชัญแล้วอะไรอย่างนี้ เราก็เลยลองแต่งดูเล่นๆ ฮาๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก”
เช่นเดียวกับเพลงมาแตร์เดอีที่มาจากเพื่อนกาก้า ซึ่งความจริงแล้วเพลงมาแตร์เดอีเป็นเพลงที่ร่างเอาไว้ก่อนเพลงเธอไม่ชอบเด็ก ก.ท. แต่เมื่อคุณครูให้ส่งโปรเจกต์เพลงจึงเลือกทำเพลงเธอไม่ชอบเด็ก ก.ท. ก่อน
“มาแตร์เดอีมีกลิ่นอายของโรงเรียน ด้วยความที่กาก้าอยู่ในชั้นมัธยมก็เลยจะแต่งเพลงเกี่ยวกับอะไรพวกนี้ มาจากเพื่อนกาก้าที่บอกว่าชอบเด็กมาแตร์เดอี ก็ต้องไปชิดลมทุกวัน เพื่อนก็มาพูดให้ฟังบ่อยๆ เราก็เลยลองแต่งเพลงดูเล่นๆ แล้วก็อัปโหลด สรุปก็แมสอีก เลยคิดว่าคงต้องทำเพลงต่อไป” กาก้ากล่าว
หลังจากเข้าค่าย SAUCE แล้ว เพลงที่ปล่อยออกมาคือ Ghosted ที่ร้องว่า ‘ตัวเธอนั้นอย่างกับการท่องคาถา มามาไปไป เธอนั้นคิดว่าเธอเป็นผีหรือไง’ เป็นความสัมพันธ์แบบ ‘Ghosting’ เดี๋ยวมาเดี๋ยวหาย ตอบแชตเรานานๆ ครั้งที่หลายคนทั้ง Gen Z หรือ Gen Y ผู้เริ่มความสัมพันธ์กับใครสักคนบนโลกอินเทอร์เน็ตเองก็น่าจะเคยเจอสถานการณ์แบบนี้
“เพลง Ghosted คือเพื่อนกาก้าเล่าว่า เขาชอบมาๆ หายๆ ไม่ชอบตอบแชต อยู่ดีๆ ก็หายไปไหนไม่รู้ พอตอบกลับมาก็ตอบนิดเดียว เธอเป็นผีหรือไงอะไรแบบนี้ ซึ่งไอเดียเพลงนี้มันมาตอนดึกมากๆ ตี 1 ตี 2 แล้วกาก้าก็กลัวผีด้วยเลยเอามาแต่ง แล้วมันก็ไปตรงกับพฤติกรรมการ Ghosting ด้วยพอดี” กาก้าเล่าถึงที่มา
แน่นอนว่า การเป็นศิลปินนักแต่งเพลงก็ต้องเขียนเนื้อเพลงมาจากตัวเองบ้าง ซึ่งเพลงที่กาก้าได้แรงบันดาลใจจากตัวเองคือเพลง ลื้อลื้อ กาก้าได้ใส่ความเป็นตัวเองลงไป ไม่ใช่ในเรื่องของความรัก แต่เป็นพื้นฐานชีวิตที่โตมาในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน
โดยเริ่มจากประโยค ‘อยากได้อั่งเปาแบบตั่วตั่วไก๊’ ค่อยๆ ต่อยอดจนกลายเป็นเพลงอกหักนิดๆ ปวดใจหน่อยๆ แบบน่ารักๆ ไปในที่สุด
“จริงๆ มันมีโปรเจกต์คัฟเวอร์เพลง แต่กาก้ารู้สึกว่าไม่อยากคัฟเวอร์แล้ว อยากมีเพลงของเราในช่วงเวลานี้เหมือนกัน ซึ่งมันคือก่อนตรุษจีนไม่นาน ก็เลยคุยกับเพื่อนที่เป็นโปรดิวเซอร์นี่แหละว่าทำเพลงกันดีกว่า ฮาๆ เริ่มจากอยากได้อั่งเปาแบบตั่วตั่วไก๊ แต่ว่าลื้อก็หนีอั๊วไป”
ถัดมาในเพลงล่าสุดของกาก้า ดูเหมือนจะเป็นเพลงที่บันทึกพฤติกรรมคนรุ่นใหม่บนโซเชียลได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการกระทำที่คนเจเนอเรชันโตกว่าอาจจะไม่เข้าใจ อย่างการถ่ายรูปภาพคนคุย หรือคนที่เราแอบชอบให้เห็นเพียงส่วนเล็กๆ ลงในสตอรี Instagram พอให้คนอื่นที่มาเดาเล่นๆ ว่า คนที่เราถ่ายรูปลงเป็นใคร
กลายเป็นท่อนฮุก ‘ถ่ายติดเธอนิดนิด คงไม่ผิดใช่ไหม ให้คนนั้นสงสัยว่าเรานั้นเป็นอะไรกัน’
“เพลงนี้ก็มาจากที่กาก้าดูสตอรี่เพื่อนๆ มันจะชอบถ่ายรูปให้เห็นอะไรบางอย่างใหญ่ๆ แต่ความจริงไม่ได้ต้องการให้เห็นอะไรใหญ่ตรงนั้น เพราะจุดประสงค์คือต้องการให้เห็นคนที่ติดมานิดเดียวในรูป”
นอกจากนี้เพลงถ่ายติดเธอนิดๆ ยังมีการกล่าวถึงวง Mirrr วงดนตรีวงโปรดของ Gen Z อีกด้วย ในท่อน ‘ที่บอกเอาไว้ว่าเย็นพรุ่งนี้อยากจะไปดูพี่ Mirrr ตอนที่ยืนฟังกำแพงหัวใจ ก็เหลือบไปมองหน้าเธอ’
แม้เพลงทั้งหมดของกาก้าจะได้อยู่เพลย์ลิสต์ของคนวัยเดียวกัน แต่สำหรับผู้ใหญ่หลายคนอาจคิดว่าเพลงของเขาเข้าใจยากเกินไป เพราะไม่ได้โตมาในยุคเดียวกัน ไม่ได้มีประสบการณ์แห่งยุคสมัยร่วมกัน ในประเด็นนี้กาก้าเองมองว่า ไม่ใช่เรื่องสำคัญและอาจให้ทุกคนลองเปิดใจ
“อยากให้ลองเปิดใจฟังดูครับ เพราะว่าแม่กาก้าก็เป็นหนึ่งในนั้นที่บอกว่าฟังไม่รู้เรื่องเลย แต่ถ้าฟังบ่อยๆ มันจะเข้าใจเองครับ รวมถึงเพลงจากศิลปินคนอื่น หลายๆ คนที่เป็น Gen เดียวกับกาก้าด้วย ก็อยากให้ทุกคนลองฟังดู” ศิลปิน Gen Z กล่าว
เพลงสั้นที่ไม่ได้ทำง่าย
เมื่อคุยถึงเพลงของกาก้า เราจึงได้ทราบว่าเพลงยุคใหม่ หรือเพลงที่ Gen Z ชอบฟังเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ ‘ความสั้น’
“จุดเด่นของเพลง Gen Z คือสั้นครับ สั้นมากๆ อย่างกาก้าเองกับเพื่อนก็ชอบฟังเพลงเก่า ทั้งเก่าแบบเก่ามากๆ กับยุค 2000 ขึ้นมา เป็นยุคคุณพ่อ ยุคพี่เราก็ฟัง พอเปิดฟังก็รู้สึกว่ามันยาวมากๆ เลยนะ แค่ 3 นาทีครึ่ง 4 นาทีก็ยาวแล้ว กาก้าทำเพลงแค่ 2 นาที ยังรู้สึกยาวเลย
“แล้วที่คน Gen Z เป็นเกือบทุกคนเวลาฟังเพลงเก่าๆ คือฟังได้ครึ่งเพลงก็เปลี่ยนแล้ว เราเลยรู้สึกว่าเราทำเพลงสั้นๆ ไปเลยดีกว่า แต่อย่างไรเพลงก็ต้องมีเนื้อเรื่องอยู่ ซึ่งเพลงที่สั้นสุดของกาก้าคือเพลงเธอไม่ชอบเด็ก ก.ท. ยาว 1 นาที 50 วิ”
กาก้าเสริมว่า การฟังเพลงอาจเน้นไปที่อารมณ์ของเพลงมากกว่าเนื้อหา
“เด็กยุคกาก้าอาจไม่ได้ต้องการเนื้อหา เนื้อเรื่องขนาดนั้น ต้องการแค่ว่าฟังแล้วมันโดนใจ อยู่ที่เมโลดีกับเนื้อหาว่ามันทัชใจไหม อาจจะเป็นเรื่องรักๆ เล่าด้วยคำที่เข้าใจง่าย ประโยคที่เข้าใจง่ายๆ”
กาก้าเล่าว่า เขาใช้เวลาแต่งเพลงเฉลี่ยอยู่ที่ 1 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่รวดเร็วมาก แม้เขาจะยังไม่แน่ใจในตัวเองมันเร็วหรือช้ากว่าศิลปินหรือไม่
“ส่วนใหญ่แต่งเพลงวันเดียว ถ้าฟีลมันมา ไม่นานก็เสร็จ แต่ก่อนหน้านี้เราร่างไว้ในหัวแล้วว่า เราจะพูดอะไรบ้าง พอเรามาถึงห้องที่มีทั้งเพื่อนให้คำปรึกษาตลอด พูดโต้ตอบได้ตลอด Workflow มันดีมาก เราเลยพยายามจะแต่งในวันเดียว อย่างเพลงลื้อลื้อก็มาในวันเดียวเลย ท่อนแรกคิดตอนเช้า ตอนกินข้าวกับเพื่อน แล้วตอนเย็นก็อัดเพลงเลย ท่อนเวิร์สก็คิดตอนอัดตอนนั้นเลย
“แต่ว่าก็แล้วแต่เพลง ถ้าอย่างเพลงถ่ายติดเธอนิดๆ ก็ใช้เวลานิดหน่อย แต่อยู่ในวันเดียวเหมือนกัน” กาก้าเล่า
แม้เพลงของกาก้าจะไม่ได้ยาวเท่าเพลงในอดีต ทั้งยังใช้เวลาทำไม่นาน แต่กาก้าเล่าว่า กระบวนการทำเพลงแต่ละเพลงนั้นไม่ง่ายเลย
“ไม่ง่ายนะครับ เพลงมีการ Rearrange ให้มันไม่เหมือนกันแต่ละท่อน มันยากเหมือนกันนะ” เขายืนยัน
ถึงตรงนี้หลายคนคงมองเห็นความอัจฉริยะ และอนาคตที่สดใสของศิลปินหนุ่มหน้าใหม่คนนี้แล้ว ในด้านความคาดหวังในตัวเองของกาก้า เขาตอบทิ้งท้ายว่า
“แค่เพลงเราติดหูคนในประเทศก็ดีใจแล้วจริงๆ ทำเพลงมาแล้วคนอยากฟังเราเรื่อยๆ อยากเป็นแบบนั้น อาจอยากเป็นไอดอลด้วย อยากให้เด็กๆ มามองเราแล้วรู้สึกว่าเราเป็นไอดอล” กาก้ากล่าว
Fact Box
- กาก้า-ธนวิชญ์ จังนิลวงศ์ เกิดวันที่ 27 กันยายน ปี 2549 ปีนี้อายุ 19 ปี
- ชื่อ Kakagoesbackhome มาจากการหาชื่อที่มีเอกลักษณ์เพื่อตั้งเป็นชื่อแอ็กเคานต์ Instagram จึงได้เป็นชื่อนี้มาจากการแนะนำของรุ่นพี่ เพราะบางครั้งเวลาเพื่อนชวนไปไหน กาก้าชอบบอกว่า ขอกลับบ้านหรือไปอยู่ในเซฟโซนของตัวเอง
- กาก้าชอบร้องเพลงและเป็นตัวแทนโรงเรียนร้องเพลงตั้งแต่เด็ก โดยที่ไม่เคยเรียนร้องเพลง
- กาก้าชอบฟังเพลงของ BIG Naughty กับ Jay Park แรปเปอร์จากประเทศเกาหลี และศิลปินไทยที่ชอบคือ The Toys, นนท์ ธนนท์ และ Billkin และเสริมว่าอยากร่วมงานกับ The Toys เพราะได้แรงบันดาลใจหลายอย่างมาจาก The Toys