คนที่อายุน้อยกว่า 35 ปี หลายคนคิดหนักและปฏิเสธการมีลูก

อาจเป็นเพราะคนกลุ่มนี้จัดอยู่ในกลุ่มเจนวาย (Gen Y) ที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2523-2546 ที่ให้ความสำคัญกับ work-life balance ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานและใช้ชีวิต และยินดีจ่ายเงินเพื่อซื้อ ‘ประสบการณ์’ เพื่อเดินทางและท่องเที่ยว มากกว่าจะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินทรัพย์ราคาแพง

เมื่อ ‘อิสระ’ คือสิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องการ การมีลูกจึงเปรียบเสมือนเครื่องเหนี่ยวรั้งการมีชีวิตที่ปรารถนา

แต่เหตุผลที่คนกลุ่มนี้ไม่ยอมมีลูก มีแค่นั้นจริงๆ หรือ?

ชีวิตที่ ‘ไม่พร้อม’ ของคนเจนวาย

งานวิจัยเรื่อง การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ (2559) โดย ผศ. ดร. มนสิการ กาญจนะจิตรา และคณะ ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง ‘ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย’ ของ ผศ. ดร. ภูเบศร์ สมุทรจักร และคณะ แห่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุหลักที่ทำให้คนเจนวายตัดสินใจมีลูกช้าหรือน้อยลง เพราะขาดสมดุลในการใช้ชีวิต (Balance of Life)

งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้คนเจนวายมีชีวิตที่ ‘ไม่พร้อม’ เกิดจากปัจจัย 4 ข้อ

1. ปัจจัยมหภาค: งานยุ่ง ไม่มีเวลา

ความคาดหวังต่อบทบาทของชายและหญิงที่ไม่ลงตัว เนื่องจากผู้หญิงถูกกำหนดบทบาทให้มีหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกและทำงานบ้าน ส่วนผู้ชายถูกกำหนดบทบาทให้เลี้ยงครอบครัว แต่วิถีชีวิตในปัจจุบันไม่เอื้อให้ทั้งหญิงและชายทำบทบาทนั้นได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากชีวิตที่ต้องยุ่งกับการทำงาน ทำให้ไม่สามารถจัดสรรเวลาว่างให้มากพอและใกล้เคียงกัน ส่งผลให้การคิดที่จะแต่งงานหรืออยากมีลูกลดลง

2. ปัจจัยด้านสังคม: ถ้าเลี้ยงลูกได้ไม่ดี อย่ามีดีกว่า

คนเจนวายมีค่านิยมที่อยากมีลูกเพื่อพึ่งพาในยามชราน้อยลง โดยหวังจะพึ่งพาตัวเองมากกว่า และหวังให้ลูกมีชีวิตอย่างอิสระ ดังนั้นการแต่งงานและการมีลูกจึงไม่ใช่เป้าหมายสำคัญของชีวิต นอกจากนี้ ถ้าคิดจะมีลูก ยังมีแรงกดดันจากสังคมที่เน้นการแข่งขันว่า ถ้าจะมีต้องเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด จึงไม่แปลกที่คนยุคนี้เลือกที่จะมีลูกน้อย ทั้งนี้ถ้ามีแล้วหากไม่มั่นใจว่าจะมีคนช่วยดูแลที่ไว้ใจได้ คนเจนวายก็จะไม่ยอมมีลูกเร็วขึ้น รวมถึงการได้เห็นคนที่แต่งงานมีลูกและต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ก็จะมีผลต่อการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกเช่นกัน

3. ปัจจัยด้านที่ทำงาน: ความสำเร็จที่ต้องไขว่คว้า

คนเจนวายที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน ปัจจัยด้านนี้มีอิทธิพลสูงสุด เพราะงานของคนรุ่นนี้เรียกร้องให้ต้องทุ่มเทเวลาเพื่อประสบความสำเร็จ จึงให้ความสำคัญกับงานมากกว่าเรื่องอื่น นอกจากนี้ งานวิจัยเผยว่า หากบริษัทมีทรัพยากรไม่เพียงพอและผู้บริหารไม่มีนโยบายที่เอื้อต่อสวัสดิการของพนักงาน เช่น ความยืดหยุ่นในการลาคลอดและเลี้ยงลูก จะทำให้พนักงานตัดสินใจมีลูกช้าลง

4. ปัจจัยด้านบุคคล: ขอใช้ชีวิตให้คุ้มก่อน

คนเจนวายในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจนหรือรวย มองว่าการเลี้ยงลูกมีราคาแพง โดยคนที่มีฐานะเศรษฐกิจปานกลางขึ้นไปจะให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกเป็นหลัก ส่วนคนที่มีฐานะเศรษฐกิจต่ำ จะกังวลเรื่องที่อยู่อาศัย การมีรถเพื่ออำนวยความสะดวกลูก และการซื้อของเล่นให้ลูกในโอกาสต่างๆ ด้วยเหตุนี้ การมีลูกจึงทำให้เสียโอกาสในการทำงานและการใช้ชีวิตตามที่ต้องการ เช่น อาจเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางท่องเที่ยว เรียนต่อ และใช้เวลาส่วนตัว

เรื่องเรียนต้องมาก่อน

ผศ. ดร. ภูเบศร์ สมุทรจักร รองผอ.ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยข้อมูลในงานเปิดตัวรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 เรื่องโฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน ในประชาชาติธุรกิจออนไลน์ว่า

“จากการสำรวจกลุ่มเจนวายพบว่า การวางแผนของคนเจนวายนั้นจะให้ความสำคัญกับการเรียนต่อเป็นลำดับแรก แล้วค่อยคิดถึงความมั่นคงเรื่องงาน โดยส่วนใหญ่มองว่าปริญญาตรีนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป จะใช้ดีกรีที่ได้มาเพื่อหางานที่ดีกว่า ทำให้คนกลุ่มนี้อยู่ไม่ค่อยทน เมื่อวางแผนงาน แล้วก็จะมองเรื่องซื้อรถ ก่อนจะซื้อบ้าน สิ่งที่ตามมาลำดับสุดท้ายคือการสร้างครอบครัวแต่งงาน และค่อยมีลูก เมื่ออายุ 30 เป็นต้นไป นี่ทำให้แม้จะคิดว่าอยากจะมีลูกก็ล่วงเลยเวลาเจริญพันธุ์ไปกว่าครึ่ง ทำให้มีลูกยาก คลินิกปรึกษาปัญหาเรื่องลูกจึงเยอะขึ้นมากกว่าเดิม

“อีกเหตุผลหนึ่งเป็นเพราะ หลายคนคิดว่ากว่าจะมีลูกหนึ่งคนต้องใช้เงินมาก ค่าเฉลี่ยที่ต้องใช้ต่อคนอยู่ที่ 1.9 ล้านบาท ซึ่งคนเจนวายไม่ได้มองว่าลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจเหมือนคนยุคก่อน แต่มองว่าคือสิ่งเติมเต็มให้ชีวิตสมบูรณ์เท่านั้น หลายคนจึงคิดหนักที่ต้องปันเงินที่จะเติมเต็มส่วนอื่นอย่างซื้อบ้าน รถ ไปท่องเที่ยว มาให้กับการมีลูก”

ชีวิตจริงไม่ต้องอิงงานวิจัย

“เราอยากมีลูก แต่แฟนไม่อยากมี” โจ้-นทธัญ แสงไชย ชายหนุ่มอายุ 29 ปี บรรณาธิการสำนักพิมพ์อะบุ๊ก และนักดนตรีพาร์ตไทม์ ที่เริ่มต้นใช้ชีวิตคู่มาได้ปีกว่าๆ บอกว่าแฟนของเขายังไม่อยากมีลูก เพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และคิดว่าตัวเองยังไม่พร้อมที่จะมีลูก

“แฟนได้ทุนเรียนแฟชั่นดีไซน์ ตอนนี้จะยุ่งมาก เพราะต้องเรียนสองวัน ทำงานใช้ทุนอีกสองวันต่อสัปดาห์”

โจ้บอกว่า แฟนขอเวลาอีก 2 ปี เพื่อเรียนแฟชั่นให้จบก่อน แล้วหลังจากนี้ค่อยวางแผนเรื่องการมีลูก

“ถ้ามีคงจะช่วยกันดู และเราก็มีแม่ที่ช่วยดูได้”

ส่วนเรื่องเวลาและชีวิตส่วนตัว โจ้มองว่าประเด็นนี้เคยเป็นปัญหา แต่เมื่อผ่านมาถึงช่วงเวลาหนึ่ง “เราคิดว่าชีวิตเราควรจะมีลูก เพื่อจะผ่านไปอีกสเต็ปหนึ่งของชีวิต”

ด้าน เอ็นจอย-อนันตภา กมลพันธ์ พนักงานธนาคารสาวอายุ 30 ปี ที่เพิ่งแต่งงานมาได้ 2 เดือน ยืนยันว่า เรื่องลูกไม่เคยอยู่ในความคิด แม้ว่าพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่จะเชียร์ให้มีลูกก็ตาม เพราะมองว่าจะทำให้ครอบครัวสมบูรณ์

แต่เอ็นจอยมองนิยามคำว่าครอบครัวต่างออกไป สำหรับเธอแค่คนสองคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันก็คือครอบครัวแล้ว

นอกจากนี้ เธอบอกว่า ถ้าจะต้องมีตอนนี้ รู้สึกว่าตัวเองยังไม่พร้อม

“อย่างแรกเลย คือกลัวการคลอดลูก ดังนั้นอย่ามีเลยดีกว่า หรือถ้าจะต้องมีจริงๆ ก็คิดว่าตอนนี้ยังไม่พร้อมที่จะเลี้ยงเด็กตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

“อีกอย่างคือ ถ้ามีก็ต้องเลี้ยงให้ดี ซึ่งน่าจะใช้เงินไม่น้อย”

เมื่อเหตุปัจจัยไม่เอื้อ เอ็นจอยเลยปฏิเสธที่จะมีลูก และจริงๆ แล้วเธอก็ไม่เคยคิดที่จะมีลูกอยู่แล้วตั้งแต่แรก

6 ข้อเสนอปลดล็อกชีวิตที่ไม่พร้อม

เมื่อพบว่า คนเจนวายไม่อยากมีลูก เกิดจากความไม่พร้อมในหลายๆ ด้านของชีวิต งานวิจัยเรื่อง การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ (2559) ได้เสนอข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างความพร้อมในชีวิตให้กับคนเจนวาย ทั้งหมด 6 ข้อ ดังนี้

1. ขยายวันลาคลอดของแม่แบบได้รับค่าจ้าง (Maternity Leave with Pay)

แต่เดิมไทยกำหนดไว้ที่ 90 วัน หรือ 13 สัปดาห์ หากมีการขยายวัน ให้ขยายตามกรอบอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศเป็นอย่างน้อย 14 สัปดาห์ แต่สำหรับกรณีที่ต้องการให้แม่ให้นมลูกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการเลี้ยงลูกอย่างมีคุณภาพ ก็ควรขยายวันลาคลอดไปถึง 6 เดือน หรือ 180 วัน โดยขยายเวลาการได้รับเงินสงเคราะห์หยุดงานเพื่อการคลอดบุตรให้ครอบคลุมด้วย

2. ส่งเสริมการลาของบิดาเพื่อช่วยภรรยาดูแลลูกหลังคลอด (Paternity Leave)

ควรขยายเวลาการลาดูแลลูกหลังคลอดของผู้ชายให้มากกว่า 15 วัน นอกจากนี้ไม่ควรจำกัดสิทธิการลาดูแลลูกหลังคลอดเฉพาะคู่สมรสที่จดทะเบียนเท่านั้น

3. เพิ่มการลาเพื่อดูแลบุตร (Parental Leave)

ทั้งในระบบราชการและสถานประกอบการทั่วไปควรเพิ่มประเภทการลาเพื่อดูแลบุตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการดูแลครอบครัวและการทำงานของคนเจนวาย เช่น เมื่อลูกเจ็บป่วย พ่อแม่สามารถขอลาเพื่อไปดูแลลูกได้

4. จัดบริการศูนย์ดูแลเด็กเล็กให้มีคุณภาพและครอบคลุมในทุกพื้นที่

เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการมีลูก แต่ไม่มีเวลามากพอที่จะเลี้ยงดูลูกได้เอง และ/หรือไม่มีเพื่อนหรือญาติช่วยดูแลลูก

5. สร้างแรงจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบาย

โดยการลดภาษีสำหรับเอกชนที่มีนโยบายในองค์กรสนับสนุนความยืดหยุ่นในการทำงานของพนักงานในทางที่เป็นมิตรต่อครอบครัวของพนักงาน เช่น การสร้างห้องให้นมเด็กแรกเกิด

6. จัดตั้งกองทุนครอบครัว

โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ทำงานนอกระบบ กองทุนจะได้รับการสมทบจากสมาชิก (ที่ใช้ระบบสมัครใจ) และรัฐบาล เป้าหมายของกองทุนนี้คือ ช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลสมาชิกในครอบครัว ทั้งผู้เป็นลูกและผู้สูงอายุ โดยสิทธิประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ เช่น เงินชดเชยกรณีตั้งครรภ์และคลอดบุตร เงินสนับสนุนสำหรับการเลี้ยงดูบุตรหรือผู้สูงอายุในครอบครัว และเงินช่วยเหลือในการจ้างคนดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ เป็นต้น

 

แม้ข้อเสนอทั้ง 6 ข้อข้างต้นจะน่าสนใจ แต่คำถามคือข้อเสนอทั้งหมดนี้จะเป็นจริงเมื่อไหร่

เพราะถ้าวันนั้นมาถึง คนเจนวายอาจจะอยากมีลูกก็ได้

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง: งานวิจัยเรื่อง การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ (2559) โดย ผศ. ดร. มนสิการ กาญจนะจิตรา และคณะ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จาก http://knowledgefarm.in.th/gen-y-no-child/