‘เฮี้ยน หลอน ที่สำคัญคือรู้สึกใกล้ตัว’

หากพูดถึงคำว่า หนังผีไทย ในมุมมองของคอภาพยนตร์เชื่อว่า ทั่วโลกต่างยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ถึงความน่าสะพรึง ชนิดที่แม้หนังจบแล้ว ภาพยังติดตา เรื่องราวยังคงวนเวียนอยู่ในสมอง ทำให้แม้จะเป็นผู้ชมชาติใด ก็สัมผัสได้ถึงความฉกาจของฝีไม้ลายมือผู้กำกับหนังผีไทยในตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาอยู่เสมอ

แล้วถ้าหากเป็นผู้ชมชาวไทยด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงความเฮี้ยนให้มากความ เพราะนอกจากศาสตร์ในการเล่าเรื่องที่ชวนให้ขนหัวลุกแล้ว ประสบการณ์ร่วม ความรู้สึกใกล้ตัวของคนไทย ต่อบริบทพื้นที่และสังคม ทำให้หนังผีไทยทวีคูณมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังเช่นในหนังเรื่อง เทอมสอง สยองขวัญ (2022) ที่หยิบยกตำนานเรื่องผีในมหาวิทยาลัยมาบอกเล่า จนทำให้นักศึกษาทั้งอดีตและปัจจุบันต่างขนหัวลุกกันอย่างถ้วนหน้า

จึงเป็นที่มาของ เทอม 3 (Haunted Universities) ผลงานล่าสุดจากทางค่ายสหมงคลฟิล์ม ที่ขอหยิบยกเรื่องในมหาวิทยาลัยมาบอกเล่าอีกครั้ง แต่คราวนี้จะมาพร้อมกับเรื่องราว ตำนาน และประเพณีในแง่มุมใหม่ ผ่าน 4 ผู้กำกับทั้ง สรวิชญ์ เมืองแก้ว และอัศฎา ลิขิตบุญมา ในตอนขบวนแห่, นนทวัฒน์ นำเบญจพล ในตอนพี่เทค และอรุณกร พิค ในตอนศาลล่องหน

จุดแข็งของหนังผีไทยคืออะไร เรื่องสยองขวัญในเทอม 3 เป็นแบบไหน หนังผีไทยในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อก่อนอย่างไร ที่สำคัญคืออะไรที่ยังทำให้รู้สึกว่าหนังผีไทยยังคงไม่แพ้ชาติใดในโลก ร่วมหาคำตอบได้ผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้กัน

ในมุมของคุณ หากพูดถึงความน่าสนใจของหนังภาคก่อนอย่าง เทอมสอง สยองขวัญ คุณมองว่าคือเรื่องอะไร

อัศฎา: สำหรับผม มองว่าเรื่องประสบการณ์ร่วม ที่หลายคนน่าจะต้องเคยผ่านเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องผี เรื่องสยองขวัญช่วงวัยเรียนมา ตั้งแต่มัธยม จนมหาวิทยาลัย ซึ่งแต่ละเรื่องก็มีเสน่ห์ที่แตกต่างกันออกไป แต่ถ้าหากเป็นนักเรียน นักศึกษามาก่อน เวลาได้ยินเรื่องพวกนี้แล้ว ก็จะมีความรู้สึกร่วม รู้สึกว่ามันจับต้องได้อยู่

นนทวัฒน์: ตอบในฐานะผู้ผลิต แต่อยู่ในพื้นที่ของผู้ชมเรื่องเทอมสอง สยองขวัญ ผมรู้สึกว่าการเป็นหนังสั้น เป็นหนังประเภทรวมเรื่องสั้น (Omnibus Film) เป็นเหมือนสนามทดลองที่ดูแล้วสนุก เป็นพื้นที่ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้กำกับแต่ละคนได้ลองตีความโปรเจกต์ที่ได้รับมอบหมายในมุมมองของพวกเขา

ซึ่งตอนดูเทอมสอง สยองขวัญก็คิดนะ ว่าถ้ามีโอกาสได้ทำ เราจะตีความเรื่องผีในมหาวิทยาลัยในมุมไหนบ้าง จะใช้มุมมองแบบไหน ใช้วิธีอย่างไร 

อรุณกร: การที่หนังเทอมสอง สยองขวัญ อ้างอิงมาจากเหตุการณ์จริงสักอย่าง ทำให้ขณะที่ดูหนังเรื่องนี้ มันสนุกตรงที่การได้เห็นเขาตีความสิ่งที่ผู้ชมรู้จักคุ้นเคยอยู่แล้ว ว่าจะทำอย่างไรให้ยังรู้สึกน่ากลัว รู้สึกหลอน รู้สึกถูกหลอกล่อให้โดน Jump Scare ได้อยู่

สรวิชญ์: ตอบตรงๆ จุดแข็งหนังเรื่องนี้เหมาะกับการเป็นหนังทำเงิน คือด้วยความที่คนไทยมีพฤติกรรมชอบฟัง ชอบดูเรื่องผีแล้ว รวมถึงผู้คนในปัจจุบันยังเป็นชอบเสพอะไรที่กระชับด้วยแล้ว ทำให้หนังผีประเภทรวมเรื่องสั้น แบบสามตอนในเรื่องหนึ่ง ความยาวประมาณ 30 นาที เหมาะแก่การทำตลาดในประเทศไทยมาก เพียงแต่ผู้กำกับต้องมาทำการบ้านต่อ ว่าในช่วงเวลาที่กระชับแบบนี้ จะออกแบบจังหวะการเล่าอย่างไรให้น่าสนใจ 

แต่พอต้องมารับบท ผู้กำกับในเทอม 3 บ้าง พวกคุณมองว่าเป็นความท้าทายบ้างไหม

 นนทวัฒน์: ตอนทำเราไม่ได้คิดถึงเรื่องเทอมสอง สยองขวัญนะ ไม่ได้เอาไปเปรียบเทียบเลย ตอนที่ทางสหมงคลฟิล์มชวนให้มากำกับเรื่องนี้ เราคิดแค่ว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ เพราะเป็นโปรเจกต์แรกเลยที่ไม่ได้เริ่มจากตัวเอง คือทางค่ายมีบท มีโครงสร้างมาให้ประมาณหนึ่งแล้ว เราเป็นเพียงฟันเฟืองที่จะต้องทำไอเดียพวกนี้ให้เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งแตกต่างกับที่ผ่านมาทุกอย่างเริ่มจากตัวเรา 

แล้วพอได้อ่านบทของตอนพี่เทค ที่ต้องกำกับ คือนอกจากความสนุกและความน่ากลัว เรายังเห็นถึงประเด็นทางสังคมที่สอดแทรกอยู่ในเรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราให้ความสนใจอยู่แล้ว เพียงแต่พอมาอยู่ในขนบของความเป็นหนังผี มันเลยมีลู่ทางบางอย่างในการบอกเล่าประเด็นสังคมด้วยท่าทีแบบ แฟนตาซีมากขึ้น สามารถต่อยอดไปสู่ตรรกะใหม่ๆ ที่หนังผีสามารถจะทำได้ 

อรุณกร: ต้องบอกว่าแทบไม่มีอะไรเหมือนกับหนังเรื่องก่อนเลย จะมีก็แค่ธีมหลักคือเรื่องผีในมหาวิทยาลัย กับรูปแบบการเป็นหนังสั้น ที่เหลือคือมันใหม่หมดเลย ดังนั้นผมเลยไม่ได้รู้สึกว่าต้องเอาไปเปรียบเทียบกับหนังเรื่องเทอมสอง สยองขวัญ

สำหรับพวกคุณเรื่องผีในมหาวิทยาลัย มีความแตกต่างจากเรื่องผีในสถานที่อื่น ในบริบทอื่นอย่างไรบ้าง 

มองว่าจุดแข็งของเรื่องผีในมหาวิทยาลัยคืออะไร

อรุณกร: หนังผีในมหาวิทยาลัย เกิดขึ้นจากการได้อยู่ในพื้นที่ของคนที่พร้อมจะลองของ พร้อมจะท้าทายผีอยู่ตลอด เลยทำใหัผีในพื้นที่ตรงนี้ มีแรงอาฆาต มีความรู้สึกอยากจะเอาคืนเด็กพวกนี้ มันเลยมีเรื่องราวเกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องเล่าอะไรมากมาย 

นนทวัฒน์: สำหรับผมตอนพี่เทค ในเชิงประเด็นผมเห็นถึงการต่อสู้ต่อระบบบางอย่าง มีการห้ามปรามทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ชวนอยากให้คนในพื้นที่ลองของ

อัศฎา: ส่วนตอนขบวนแห่ ด้วยความที่เป็นกิจกรรมที่นักศึกษาเขาทำกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยภาคเหนือที่ผมเคยได้สัมผัส มันจะมีเรื่องของประเพณีและความเชื่อที่ผูกโยงอยู่กับพื้นที่นั้นๆ ก็เป็นอีกเสน่ห์เรื่องผีในมหาวิทยาลัย ที่มีกลิ่นอายเฉพาะตัว

สำหรับทั้ง 3 ตอน ในหนังเรื่องนี้ ไอเดียมาจากไหน

อัศฎา: สำหรับตอนขบวนแห่ เรื่องราวมาจากตำนานขบวนแห่ไร้หัว ของเจ้านางที่หลงรักกับทาสแบกเสลี่ยงหนุ่ม ก่อนที่เรื่องราวจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมกับทั้งคู่ และในท้ายที่สุดสถานที่เกิดเรื่องก็ได้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา 

‘เรื่องราวที่เกี่ยวกับรักไม่สมหวัง ความอาฆาตของคนรุ่นก่อน’ นำไปสู่การปรากฏเรื่องลี้ลับในมหาวิทยาลัย เราวางโจทย์เอาไว้แบบนั้น 

สรวิชญ์: ซึ่งพอมีโจทย์มาแบบนี้แล้ว ก็เลยต้องมานั่งคิดกันต่อว่า จะเล่าด้วยมุมมองแบบไหนดี สุดท้ายเราตัดสินใจใช้ธีม Romantic Horror มาครอบเรื่องดังกล่าว เพื่อให้อารมณ์ประมาณว่า รักมากก็แค้นมาก

นนทวัฒน์: พี่เทคคือการบอกเล่าการปะทะกันระหว่าง คนรุ่นเก่า วัฒนธรรมเก่า พิธีกรรมเก่าๆ ที่สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งดูไม่สมเหตุสมผลแล้วในเวลานี้ ก็เลยมีคนตั้งคำถามหรือไม่เอากับระบบนี้ จนทำให้เกิดเหตุการณ์สลดอยู่บ่อยๆ เช่นการรับน้องโหด

ซึ่งในพี่เทค ผมสอดแทรกความสยองขวัญลงไปผ่านโจทย์ประมาณว่า เมื่อพี่เทคคนหนึ่งไม่เอาระบบรับน้อง ทำให้น้องใหม่ที่เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้รับการดูแลจากพี่เทค แต่อยู่ๆ กับน้องคนดังกล่าวของขวัญจากพี่เทคปริศนา กลายเป็นเรื่องลี้ลับว่า มันเกิดอะไรขึ้นในมหาวิทยาลัย และพี่เทคคนนั้นเป็นใครกันแน่

อรุณกร: ศาลล่องหนเป็นการเล่นกับความเชื่อของคนที่มองเห็นและมองไม่เห็นศาล ก่อนที่เราจะเอามาต่อยอดหลังจากนั้น กลายเป็นเรื่องผีเชิงสืบสวนสอบสวนว่า ทำไมบางคนถึงเห็น บางคนถึงไม่เห็น มันเกิดอะไรขึ้น ผ่านตัวละครนักศึกษาในค่ำคืนหนึ่ง 

การที่เรื่องสั้นของพวกคุณต้องมารวมอยู่ในหนังยาวเรื่องเดียวกัน จำเป็นต้องมีประเด็นหลักมาครอบคลุมทิศทางของเรื่องราวเอาไว้ไหม 

นนทวัฒน์: เราว่าทางสหมงคลฟิล์มกำหนดประเด็นมาอยู่แล้ว ซึ่งก็คือเรื่องผีในมหาวิทยาลัยนั่นแหละ แต่เขาไม่ได้มาตีกรอบว่าต้องมีประเด็นไหน เรื่องอะไร หรือต้องเล่าทิศทางใดบ้าง เขาให้อิสระเราเต็มที่เลย แต่ด้วยประเด็นที่เขาตั้งไว้แต่แรก มันก็เป็นกระดูกช่วยทำให้ทุกตอนในเรื่องมีประเด็นร่วมกันอยู่

อีกอย่างเรารู้สึกว่า ธีมสำหรับผนวกเรื่องสั้น ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเท่าไร ในเรื่องสั้นแต่ละเรื่องก็ควรให้มันมีอิสระ เป็นเอกเทศของตัวเองมากกว่า เรามองแบบนั้น

คิดเห็นกับคำว่า หนังผีไทย ในปัจจุบันอย่างไรบ้าง

อรุณกร: เราว่าวันนี้หนังผีไทยก็ยังไม่ได้เปลี่ยนไปจากเมื่อหลายสิบปีก่อนที่เป็นยุคทองของหนังประเภทนี้ เพียงแค่ว่าผู้ผลิตต้องมาอะไรใหม่ๆ มาเสิร์ฟเพิ่มเติม จะมาเป็นผีอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องมีประเด็นบางอย่างเพิ่มไปด้วย เพราะฝั่งคนดูเองเขาก็เรียกร้องมากขึ้น ไม่ได้อยากดูอะไรซ้ำๆ แบบสิบปีก่อน 

สรวิชญ์: จริงๆ หนังผีไทยแข็งแรง เป็นหนังที่มีเอกลักษณ์และกลิ่นอายไม่เหมือนกับชาติอื่นๆ อันดับหนึ่งเลยคือความหลอน สำหรับผม เพราะเวลาดูหนังไทยเราจะมีความน่ากลัวในแบบที่ต่างชาติเขาไม่ทำกัน การบรรเลงเสียงดนตรีไทย การซูมไปยังซอกหรือมุมมืดต่างๆ 

อัศฎา: ที่สำคัญเลยคือประสบการณ์ร่วม หนังผีไทยมันใกล้ตัวกับวิถีชีวิตและประสบการณ์ของคนไทยมากกว่าหนังผีต่างชาติ ดังนั้นเวลาที่ผู้กำกับถ่ายทอดอะไรบนหน้าจอ เราก็จะรู้สึกว่า เออปกติแล้วเราก็เคยทำอะไรแบบนั้นเหมือนกัน 

นนทวัฒน์: ผมว่าบ้านเราค่อนข้างได้เปรียบ ด้วยสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ทำให้เรามีวัตถุดิบในการทำหนังผีเยอะมาก ในมุมหนึ่งเรื่องนี้แทบจะเป็นเอกลักษณ์ของสังคมไทยอยู่แล้ว

ดังนั้นถ้าพูดว่าหนังผีเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของไทยก็ไม่ผิด

นนทวัฒน์: ใช่ (หัวเราะ)

มองว่าหนังผียังควรมี Jump Scare อยู่ไหม และหากจะมีต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง

อรุณกร: ความจริงแล้ววิธีการเล่าแบบใช้ Jump Scare ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร โดยตนในฐานะคนชอบดูหนังก็ยังคาดหวังจะถูก Jump Scare อยู่เสมอ เพียงแต่ต้องมีชั้นเชิงในการหยิบมาใช้ที่ถูกต้อง

สำหรับผมก่อนจะมี Jump Scare มันควรต้องมีการสร้าง Tension มีการหว่านล้อมคนดูให้ไปทิศทางอื่นก่อนนะ มันถึงจะทำให้จังหวะ Jump Scare ถูกต้อง มันทำงานกับผม

นนทวัฒน์: สิ่งนี้ก็เป็นองค์ประกอบและปัจจัยสำคัญหนึ่งของหนังประเภทนี้ ไม่ต่างอะไรกับฉากตบจูบในหนังรัก ฉากไล่ล่าบนรถยนต์ของหนังแอ็กชัน เพียงแต่ต้องมีความสร้างสรรค์ในการเลือกใช้ ให้คนดูรู้สึกว่า กำลังถูกปั่นหัวหรือถูกชักจูงไปทางอื่น ก่อนจะโดน Jump Scare ทีหลัง

สรวิชญ์: แต่อันที่จริง เรื่องนี้ก็เป็นโจทย์ของฝั่งผู้กำกับด้วยเช่นกันว่า จะทำอย่างไรให้ Jump Scare ในหนังของตนไม่จำเจ ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ก็อาศัยกึ๋น ของผู้กำกับแต่ละคนในการเล่าเรื่อง และสร้างบรรยากาศที่นำไปสู่ Jump Scare อันสมบูรณ์ของแต่ละคน 

มองว่าเป้าหมายสารที่ต้องการจะส่งให้ไปให้กับผู้ชมคืออะไร

อรุณกร: เราไม่ได้คาดหวังอะไรเลย นอกจากให้เขารู้สึกสนุกไปหนังกับเรา แต่ถ้าเขาจะตีความ จะต่อยอดไปเรื่องอื่นๆ ได้ ก็เป็นโบนัสของเขา แต่อย่างน้อยหากใช้เวลาสองชั่วโมงในหนังแล้ว เขาลืมโลกข้างนอก รู้สึกประทับใจในผลงานของเรา เท่านี้ก็รู้สึกว่าเราสำเร็จแล้ว หนังที่ทำมาคุ้มค่าแล้ว 

อัศฎา: เช่นกัน ผมก็ไม่ได้คาดหวังการตีความลึกซึ้งอะไร อยากให้ผู้ชมดูหนังทั้งสามเรื่องแล้วสนุกไปกับสิ่งที่พวกเราอยากเล่า แต่ถ้าจะมีการถกเถียง ชวนคนมาดูต่อ ก็เป็นกำไรหลังจากนั้นแล้ว 

นนทวัฒน์: ส่วนตัวผมเวลาจะพักผ่อน ดูสตรีมมิงที่บ้าน ก็ไม่ได้อยากจะดูหนังอะไรที่มันเคร่งเครียดมากเกินไป บางทีก็อยากดูหนังที่สนุกสนาน ซึ่งหนังผีก็เป็นประเภทหนังที่เราเปิดดูบ่อยมาก

สำหรับเรื่องเทอม 3 ก็อยากให้คนดูมาสนุกสนานผ่อนคล้าย สะดุ้งเล่น ตกใจบ้าง แต่ด้วยความที่ผมก็สนใจเรื่องสังคม วัฒนธรรมการเมือง ผมก็มีประเด็นนี้สอดแทรกเอาไว้อยู่ ซึ่งถ้าคุณชอบประเด็นแบบนี้อยู่ ก็อยากชวนมาดูหนังเรื่องนี้กัน

Tags: , , , , ,