8,848 เมตร 

ที่ความสูงจากน้ำทะเลในระดับนั้นจะถูกเรียกว่า ‘Death Zone’ หรือ ‘เขตมรณะ’ นั่นเพราะกลไกร่างกายมนุษย์จะทำงานได้ดีที่สุดที่ระดับน้ำทะเล (Sea Level) เนื่องจากมีออกซิเจนเพียงพอต่อสมองและปอด 

แต่ที่ 8,848 เมตร เป็นระดับความสูงที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถอยู่เป็นปกติได้นาน

ที่นั่น ออกซิเจนจะเบาบางจนเซลล์ของร่างกายเริ่มตาย ระบบกลไกในร่างกายจะบกพร่อง สติสัมปชัญญะของมนุษย์จะค่อยๆ พร่าเลือน และอาจเสียชีวิตลงในเวลาอันรวดเร็ว

บนโลกมนุษย์ จุดเดียวที่มนุษย์จะสามารถพาตัวเองไปอยู่ที่ความสูงระดับนั้นได้ก็มีแต่ยอดเขา ‘เอเวอเรสต์’ สถานที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นหลังคาโลก เป็นทั้งความงดงามราวสรวงสวรรค์และเขตแดนแห่งความตาย

แม้ว่าที่จุดนั้น โลกแห่งความตายจะอยู่แนบชิดกับมนุษย์ยิ่งกว่าบนพื้นโลกปกติ แต่ก็มีนักปีนเขาจำนวนไม่น้อยเลือกท้าทายขีดจำกัดของร่างกาย ข้ามเขตแดนมรณะนั้นเพื่อไปสู่ ‘ดินแดนเหนือความตาย’ ที่ผู้รอดชีวิตเท่านั้นที่จะได้สัมผัสรางวัลแห่งจิตวิญญาณที่ความสูง 8,848 เมตร

มัณฑนา ถวิลไพร หรือ หมอกุ๊กไก่ คือหนึ่งในนั้น

อดีตแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินและแพทย์เวชบำบัดวิกฤตจากขอนแก่น ผู้หลงใหลในการปีนเขา เริ่มต้นจากความสนใจ จนเริ่มจริงจัง กระทั่งค้นพบเป้าหมายในการพิชิตเอเวอเรสต์เมื่อ 8 ปีก่อน

8 ปีถัดมา พ.ศ. 2566 เธอกลายเป็นคนไทยคนที่ 5 ที่สามารถพิชิตหลังคาโลกได้สำเร็จ

ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของโลกได้ เพราะมันเรียกร้องความทุ่มเททุกด้านและจิตวิญญาณที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง

นี่คือเรื่องราวของแพทย์ไทยผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ และเราอยากส่งต่อให้ทุกคนได้รับรู้

อยากเริ่มจากความรู้สึกของคุณ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจพิชิตเอเวอเรสต์ได้สำเร็จผ่านมาเกือบสามเดือน ทุกวันนี้เวลาเข้านอนหรือตื่นเช้า คุณยังคิดถึงวันนั้นไหม 

ตั้งแต่ปีนยอดเขาเอเวอเรสต์มาจนถึงตอนนี้ ผ่านมาเกือบสามเดือนแล้ว ความรู้สึกที่หลงเหลืออยู่คือความโล่งใจที่ปนไปด้วยความสุข แม้ว่าเราจะบาดเจ็บ แต่อาการบาดเจ็บของเราถูกกดไว้ด้วยความสุขและความโล่งใจจนแทบจะไม่เหลือความทุกข์อยู่เลย แต่อาจจะมีความกังวลใจเล็กน้อย เรื่องอนาคตว่าจะกลับไปปีนเขาได้ไหมหรือจะกลับไปทำงานได้เมื่อไร

ย้อนกลับไปในช่วงวัยเด็ก คุณเติบโตมาในครอบครัวแบบไหน 

เราโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงค่อนข้างแปลก เช่น เขาจะไม่ให้เราดูการ์ตูนของดิสนีย์เลย เราจึงไม่รู้จักอะลาดิน หรือเจ้าหญิงต่างๆ ที่เพื่อนรู้จัก แต่คุณแม่จะให้ดูอะลาดินที่เป็นเวอร์ชันต้นฉบับ หรือว่ามาจากนิทาน 1001 ราตรี หรือเรื่องราวนิทานทางยุโรป ซึ่งจะไม่ได้มีความฝันหวานเหมือนดิสนีย์ เพราะฉะนั้นเราจึงโตมาโดยไม่มีความฝันหวานในชีวิต สิ่งที่เราคิดมันมักจะอิงกับความเป็นจริงมากกว่า

ต่อมาที่พ่อแม่ปลูกฝังคืออยากให้เราเป็นนักสำรวจ ส่วนใหญ่หนังสือหรือการ์ตูนที่เราอ่านสมัยเด็กจะเกี่ยวกับการสำรวจทั้งนั้น เช่น การสำรวจเมืองทรอย เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีความเป็นนักสำรวจตั้งแต่เด็ก เราคิดมาตลอดว่า ‘เมื่อฉันโตขึ้น ฉันอยากจะสำรวจอะไรสักอย่าง’ แต่ก็ไม่เจอสักทีว่าจะไปสำรวจอะไร ม้าไม้เมืองทรอย หรือเมืองทรอย ที่ตอนเด็กเป็นความฝัน เราก็ไปตามหามาแล้ว แต่พอไปถึงก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่การผจญภัยของเรา จนกระทั่งมาเจอว่า การปีนเขาน่าจะเป็นการผจญภัยที่ถูกกับจริตของเรามากที่สุด

คุณมีเรื่องที่ชอบมากๆ ไหม

เราเป็นคนที่โตมากับหนังสือและห้องสมุด พอเริ่มอ่านหนังสือออกตั้งแต่เด็ก แทนที่เราจะไปวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น เราก็ฝังตัวอยู่ในห้องสมุด ทั้งช่วงเที่ยงและช่วงเย็น ก่อนที่คุณพ่อจะมารับกลับจากโรงเรียน เพราะฉะนั้น เราอ่านหนังสือเยอะมาก เรียกว่าประทับใจในหนังสือและห้องสมุดมากที่สุดแล้วกัน เหมือนเป็นมนต์สะกดที่ยิ่งใหญ่

วันวัยนั้นหนังสือหมวดที่คุณชอบคืออะไร

ในห้องสมุดของโรงเรียนจะมีหมวดหนึ่งเป็นสารานุกรมภาษาอังกฤษ คือตอนนั้นอ่านภาษาอังกฤษยังไม่ออก แต่รูปภาพประกอบในหนังสือมันดึงดูดมาก มันไม่ใช่แค่นิยายเยาวชนหรือสมุดการ์ตูน แต่มันเปิดโลกให้เราเห็นว่าผู้ใหญ่เขาทำอะไรกัน เช่น สร้างอาคาร ออกแบบสวน ซึ่งสารานุกรมก็จะมีทุกหมวดที่ทำให้เราเห็นโลกกว้างในสมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต

แล้วเหตุผลของคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่อยากให้คุณดูการ์ตูนดิสนีย์คืออะไร

ต้องเล่าว่า คุณพ่อเป็นข้าราชการ ทำอาชีพสัตว์แพทย์ คุณแม่เป็นเจ้าของกิจการทำธุรกิจ ส่วนเหตุผลว่าทำไม เขาไม่อยากให้เราไปอิงชีวิตกับเจ้าหญิงในดิสนีย์มากมาย เราไม่มั่นใจ แต่เคยได้ยินเขาพูดว่า ‘ไม่อยากให้ลูกมีความเพ้อฝันที่ไม่สามารถเป็นจริงได้’ คือ เจ้าหญิงดิสนีย์หรือชีวิตแบบเจ้าหญิงไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เขาอยากให้เราได้ตามหาชะตาชีวิตด้วยตนเองมากกว่า

การเติบโตมากับการไม่ได้ดูการ์ตูนที่เพื่อนในวัยเดียวกันอาจได้ดูกันเป็นปกติ ทำให้คุณรู้สึกอย่างไร 

ตอนเด็กๆ ก็มีความรู้สึกขาด เพราะเพื่อนผู้หญิงหรือเพื่อนรุ่นเดียวกันจะพูดถึงอะลาดิน โพคาฮอนทัส เราไม่รู้เรื่องเลย แล้วสิ่งที่เราบอกกับเพื่อนคือ “อะลาดินไม่ใช่เรื่องเหมือนดิสนีย์นะ” หรือ “เจ้าหญิงเงือกก็ไม่ใช่เรื่องอย่างที่พวกคุณเข้าใจ” “เรื่องจริงมันคืออีกแบบหนึ่ง” เพื่อนก็จะบอกว่าเรามองโลกในแง่ร้าย ทำไมเราไม่มีความคิดเพ้อฝันเหมือนเด็กทั่วไป

คุณบอกว่าในวัยเด็กชอบการสำรวจ แล้วอะไรทำให้เส้นทางเปลี่ยนเข้าสู่วงวิชาการแพทย์ 

เนื่องจากเราอยากเป็นนักโบราณคดี คุณแม่ก็เลยพาไปปรึกษานักโบราณคดีที่เป็นเพื่อนท่านว่า เส้นทางนี้เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน มันยากไหม ซึ่งอาจารย์ก็บอกว่า “มันเป็นเส้นทางที่คุณจะมีความสุขกับชีวิตนะ แต่ว่าเรื่องความเป็นอยู่ก็จะเป็นเหมือนอาจารย์มหาวิทยาลัย เหมือนนักวิชาการ คุณอาจจะไม่ได้มีเงินมากมายอะไร” พอได้รับคำตอบแบบนั้น จึงทำให้ความฝันของเราถูกปิดไป แต่เรายังเก็บความอยากสำรวจเอาไว้ในใจอยู่ แค่ไม่ได้ตั้งเป้าแล้วว่าจะทำเป็นอาชีพ

พอเวลาผ่านมา ตอนเป็นนักเรียนมัธยมมีเพื่อนบอกว่าใครเรียนเก่งให้ไปสอบหมอ เราก็ตามเพื่อนไป เพราะกลุ่มเพื่อนเราก็เลือกเอนทรานซ์คณะเดียวกัน จึงทำให้เราสอบเข้าคณะแพทย์ เพราะได้ยินมาว่าอาชีพนี้น่าจะมั่นคง พอมีเงินใช้บ้าง 

คุณเลือกเรียนแพทย์สาขาอะไร

เราเรียนสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือ Emergency Medicine และเวชบำบัดวิกฤต หรือ Critical Care พอเรียนจบก็ทำงานตรงสายเลย หน้าที่ของเราคือการดูผู้ป่วยในแผนกฉุกเฉิน หรือเวลามีเรียกไปดูเคสนอกโรงพยาบาล เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนน เราก็จะออกไปกับรถพยาบาล เพื่อไปให้บริบาลผู้ป่วยในจุดเกิดเหตุและพากลับมาโรงพยาบาล

ต้องบอกว่าช่วงเป็นนักศึกษาแพทย์เป็นอะไรที่เบาที่สุดแล้ว พอจบมาเป็นแพทย์จริงๆ หนักกว่า ยิ่งพอเราเรียนเฉพาะทางก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก 

ในการเรียนแพทย์หรือทำงานแพทย์ มันทำให้คุณคุ้นเคยกับความเจ็บป่วยหรือความตายมากขึ้นไหม

ด้วยความที่เราทำงานสายนี้ เราก็จะเกิดความชินชากับความเจ็บป่วยหรือความตายมากขึ้น เพราะว่าได้เห็นมันทุกวัน ช่วงแรกต้องบอกว่ามีความตกใจหรือขวัญเสียมากเวลาที่เห็นคนไข้มีเลือดออกมาก เสียชีวิต หรือเวลาได้เห็นการพรากจากกัน ระหว่างแม่กับลูก มันก็ทำให้เราจิตใจห่อเหี่ยว บางครั้งถึงกับต้องหันหลังไปร้องไห้ เพราะไม่อยากให้เขาเห็น แต่พอเราทำงานจุดนี้ทุกวัน เหมือนจิตใจเราพยายามที่จะสร้างเกราะป้องกันตัวเอง ทำให้เราชินกับความสูญเสียได้มากขึ้น

บุคลิกคุณตอนทำงานแพทย์เป็นอย่างไร 

บุคลิกของเราเวลาทำงานจะเป็นคนจริงจัง เนี้ยบ กับเพื่อนร่วมงาน แต่กับคนไข้ เราก็พยายามจะทำให้เขารู้สึกว่าเขามาถึงที่ที่เขาพึ่งได้ พยายามทำให้คนไข้และญาติมีความกังวลลดลง และให้การรักษาตามมาตรฐาน

การเป็นแพทย์สอนอะไรคุณบ้าง

เราทำงานเป็นแพทย์มา 12 ปี การเป็นแพทย์สอนให้เราควบคุมอารมณ์และควบคุมสถานการณ์ เวลาเจอสถานการณ์ที่คับขันหรือยาก เราจะต้องคุมสติให้ได้ก่อน เพราะถ้าคุมสติไม่ได้ เราก็ไม่สามารถคุมทีมที่จะให้การรักษาได้ ญาติคนไข้หรือคนไข้ที่เห็นหมอสติแตก เขาก็จะไม่ไว้วางใจ เพราะฉะนั้นมันทำให้เรามีสติมากขึ้น ประคองสถานการณ์ได้

การเป็นแพทย์กับการปีนเขาดูจะห่างไกลกัน แล้วคุณมาสนใจการปีนเขาได้อย่างไร

ความจริงแล้วมันมีสาขาของแพทย์ที่เกี่ยวกับการปีนเขาด้วย เช่น Mountain Medicine, Wilderness Medicine หรือ Emergency Medicine ซึ่งเป็นสาขาที่เราเรียน ซึ่งมีบทหนึ่งในหนังสือคือเรื่องของการเจ็บป่วยบนที่สูง พอเราอ่านก็รู้สึกว่าโรคพวกนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ถ้าเราอยากเจอคนไข้กลุ่มนี้ก็ต้องไปที่สูง ถึงตอนนั้นเราก็เริ่มมองหาว่าจะไปที่ไหนได้บ้าง เพื่อจะได้เจอคนไข้กลุ่มนี้ หรือเราเองหรือเปล่าที่จะป่วยด้วยอาการโรคเหล่านี้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มสนใจเรื่องของการปีนเขาสูง

พอได้อ่านเจอว่ามันมีโรคบนที่สูง เราก็เริ่มหาทริป ซึ่งทริปแรกที่ไปก็จะพยายามเลือกที่ต่ำสุดก่อน ตอนนั้นเราเลือกเป็น พูนฮิลล์ (Punhill) ที่ประเทศเนปาล ซึ่งความสูงสุดอยู่ที่ 3,300 เมตร ซึ่งก็ได้ดั่งใจ เพราะเราก็ป่วยจริงๆ แต่ในอาการที่เล็กน้อย และเราก็เตรียมยามา พอลองใช้ยาตามที่มีการแนะนำในไกด์ไลน์การรักษา เราก็สามารถจบทริปนี้ได้ด้วยความปลอดภัย 

ความสนุกของการปีนเขาที่ได้สัมผัสจากทริปพูนฮิลล์เป็นอย่างไรบ้าง

พูนฮิลล์เป็นสถานที่ที่แปลกมาก คือเราปีนเขาไปแค่ 3,300 เมตร แต่ว่าสามารถเห็นวิวที่อลังการได้ มันเปิดโลกทัศน์เราที่ไม่เคยยืนอยู่ต่อหน้าภูเขาที่รายล้อมรอบเลย เราจึงเกิดความตื้นตันและอยากไปทริปแบบนี้ซ้ำๆ 

หลังจากพูนฮิลล์ เรากำลังจะสอบจบ Emergency Medicine พอดี ซึ่งจะมีช่วงเบรกให้ เราก็เลยไป K2 Basecamp ที่ปากีสถานเลย ซึ่งก็ถือว่าเป็นก้าวกระโดดที่ค่อนข้างรุนแรง และเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างอันตรายทีเดียว ไม่ค่อยเหมาะกับนักปีนเขามือใหม่เท่าไร แต่เราก็ซื้อทัวร์ไป เพราะอยากเห็นภูเขา

พอมันเริ่มเป็นการปีนเขาที่สูงและยากขึ้น คุณต้องฝึกซ้อมเพิ่มไหม

ก่อนที่เราจะไปปีนเขา ต้องซ้อมให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งการจะไปปีนเขาต้องมีการแบกของ ต้องเดินขึ้น เดินลง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องซ้อมคือ เอากระเป๋ามาใส่ของและเดินขึ้นบันไดที่หอพักและเดินลง ทำซ้ำๆ หลายชั่วโมงต่อวันเพื่อเกิดความแข็งแรง

การทำงานในสายแพทย์น่าจะกินเวลาชีวิตเยอะมาก คุณมีวิธีแบ่งเวลาอย่างไร ทั้งทำงานและไปปีนเขา 

การปีนยอดเขาสูงต้องซ้อมหนักทีเดียว การซ้อมก็จะมีจ็อกกิ้งบนลู่ชัน แบกเป้ด้วยน้ำหนักประมาณ 14 กิโลกรัม และถ่วงน้ำหนักที่ขาข้างละ 1.5 กิโลกรัม เพื่อเดินขึ้นตึกวันละประมาณ 5-6 ชั่วโมง ยกน้ำหนักอีกวันละประมาณ 3 ชั่วโมง 

เราต้องแบ่งเวลาให้ได้ เช่น ต้องกินข้าวให้เร็วขึ้น อาบน้ำให้เร็วขึ้น นอนให้น้อยลง ไม่ออกไปเที่ยว ถ้าเลิกงานแล้วต้องไปซ้อม แปลว่าก่อนเลิกงานสองชั่วโมงต้องเริ่มหาของกินแล้ว ให้อาหารย่อยและเก็บมาเป็นพลังงาน เพื่อที่เลิกงานแล้วจะได้ซ้อมทันที เป็นต้น 

ย้อนกลับไปชีวิตตอนนั้นเหนื่อยขนาดไหน ทั้งทำงานไปด้วย ฝึกซ้อมร่างกายไปด้วย 

ไลฟ์สไตล์แบบนั้นมันเหนื่อยมาก แต่ด้วยแรงอะไรบางอย่าง มันทำให้เราทำได้

เราใช้ไลฟ์สไตล์แบบนี้มาตั้งแต่อายุประมาณ 27 จนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อไรที่จะต้องปีนเขาที่ยากขึ้น ก็ต้องซ้อมให้หนักมากขึ้น แบ่งชั่วโมงซ้อมมากขึ้น จากเมื่อก่อนซ้อมชั่วโมงเดียว เพิ่มมาเป็นสี่ชั่วโมง เก้าชั่วโมงต่อวัน

ตั้งแต่เมื่อไรที่ภาพของเอเวอเรสต์กลายมาเป็นความฝันของคุณ 

ย้อนไปช่วงปีใหม่ของปี 2556 ตอนนั้นเราไปเที่ยวที่ Everest Base Camp ตอนที่ไปถึงก็ไม่ได้รู้สึกอยากปีนอะไร เพราะมันมองไม่เห็นยอดเขาเอเวอเรสต์ แต่พอไปถึงจุดสูงสุดของทริปที่ 5,500 เมตร ซึ่งความสูงระดับนี้จะถูกจัดเป็น Extreme Altitude หมายถึงมนุษย์ไม่สามารถอยู่ปกติสุขได้ หรืออยู่ได้เป็นเวลานาน เราเหนื่อยจนหอบแฮ่กๆ แต่พอได้พักครู่หนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่า เรายังมีชีวิตอยู่ได้ที่ความสูงเท่านี้ ก็เริ่มมีความหวังว่าเราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ในที่สูงกว่านี้ ทำไมเราไม่คิดจะปีนให้สูงขึ้นไปอีกนิดหนึ่งล่ะ แล้วพอมองไปอีกฝั่งเห็นยอดเขาเอเวอเรสต์ ก็คิดว่า หรือเราจะตั้งเป้าหมายปีนเอเวอเรสต์ดี

ตอนนั้นคุณมีทัศนคติต่อเอเวอเรสต์อย่างไรบ้าง ในขณะที่หลายคนมองว่ามันคือเขตแดนแห่งความตาย

ทัศนคติของเราต่อภูเขาเอเวอเรสต์มันค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นในระยะเวลาหลายปี พอเริ่มตั้งเป้าว่าเราน่าจะลองปีนดู เราก็ต้องศึกษาว่า กว่าคนที่คนคนหนึ่งจะปีนเขาเอเวอเรสต์ได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง เราต้องไปทำการบ้าน ไปผ่านด่านพวกนั้นก่อน ซึ่งเราก็ศึกษาหลายแง่มุมมาตลอด 8 ปี เช่น กลุ่มประชากร ลักษณะการปีนเขา เทคนิคการปีนเขา รูปแบบการปีนเขา 

ตอนแรกก็คิดว่ามันเหมือนมีหลักไมล์ที่เราต้องผ่านหลายจุดมากกว่าจะเข้าไปถึงเอเวอเรสต์ ทุกครั้งที่ก้าวเข้าไปใกล้ขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีก อย่างเช่นทัศนคติบางอย่างมันเกิดจากอคติของเรา ซึ่งก็จะถูกแก้ด้วยความอยากรู้ของเราเองเมื่อได้ผ่านจุดนั้นไป เพราะฉะนั้น ทัศนคติแต่ละคนไม่เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในอดีต หรือสิ่งที่รับรู้มา แต่ถ้าสุดท้ายได้สัมผัสมันด้วยตัวเองจริงๆ เราก็จะมีทัศนคติที่เป็นของเราเองต่ออะไรบางอย่าง

หลังจากนั้นคุณเตรียมตัวอย่างไรบ้างเพื่อจะไปเอเวอเรสต์ 

เราใช้เวลา 8 ปี ในการเตรียมตัวก่อนปีนเอเวอเรสต์ โดยมีเมนเทอร์เป็นนักปีนเขาชาวอิหร่านที่คอยช่วยดูว่า ภูเขาแต่ละลูกที่เราปีนนั้นถึงเวลาที่ถูกที่ควรหรือยัง หรืออะไรที่เราต้องมีเพิ่ม อุปกรณ์อะไรที่ต้องซื้อ ถือเป็นความโชคดีของเราที่เจอกับผู้นำทางกีฬาที่เหมาะสม และได้รับคำแนะนำจากนักปีนโดยตรง ทำให้เราประหยัดเวลา และประหยัดเงินไปด้วย

เราเริ่มปีนภูเขาที่ประเทศเนปาล ซึ่งก็ถือว่าเป็นภูเขาที่ปีนง่าย เช่น อิมชาตเซ (Imja Tse) หรือที่เรียกกันว่า Island Peak ความสูงประมาณ 6,100 เมตร หลังจากนั้นก็ไปปีนลูกที่เตี้ยลงมา แต่ว่าปีนยากขึ้น คือที่เทือกเขาแอลป์ และเทือกเขาเทียนชาน (Tian Shan) นอกจากนั้นก็ไปลงเรียน Ice Climbing ที่จีนสองคอร์ส แต่ละคอร์สใช้เวลานานทีเดียว ทำให้เรามีความคุ้นชินกับอุปกรณ์ในการปีนภูเขาหิมะ

หลังจากฝึกซ้อมมานาน จุดไหนที่คุณรู้สึกว่าพร้อมจะไปเอเวอเรสต์แล้ว 

มันเกิดจากตอนที่เราปีนภูเขามานาสลู (Manaslu) ตอนนั้นขึ้นไปสูงประมาณ 8,100 เมตร ซึ่งถือว่าเลยระดับ Death Zone มาแล้ว แต่เรายังมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้น ก็คิดว่าจะต้องไปเอเวอเรสต์แล้ว แต่หลังจากปีนเขามานาสลูก็เกิดการระบาดของโควิดพอดี เลยทำให้เราต้องหยุดไปสองปี ซึ่งระยะเวลาสองปีนั้นเราก็ยังฝึกซ้อมอยู่เพื่อรอว่าเมื่อไรโควิดหมดจะต้องไปแน่ เราซ้อมหนักเท่าเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือ เนื่องจากช่วงนั้นไม่สามารถไปไหนได้ จึงทำให้เราสามารถเก็บเงินจากการทำงานขึ้นเวรนอกเวลาได้มากพอที่จะใช้จ่ายในการปีนเอเวอเรสต์ครั้งแรกในปี 2565 เพราะเราประหยัดมาก ไม่ได้ไปไหนเลย ทานข้าวของโรงพยาบาล ไลฟ์สไตล์ก็เปลี่ยนไป ช้อปปิ้งก็ไม่ได้ ไปข้างนอกก็ไม่ได้

หลายคนอาจไม่รู้ว่า การปีนเอเวอเรสต์ ไม่ใช่อยากปีนเมื่อไรก็ไปได้เลย อยากให้คุณแนะนำหน่อยว่า หากคนคนหนึ่งอยากไป ต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง 

ถ้าเป็นคนจากประเทศอื่นก็อาจจะไม่เหมือนเรา แต่ถ้าถามว่าคนไทยคนหนึ่งอยากไปเอเวอเรสต์ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง  ก็ต้องเล่าว่าประเทศไทยค่อนข้างอยู่ในระดับใกล้น้ำทะเลหรือ Sea Level เพราะฉะนั้นจะต้องมีการเตรียมร่างกายให้ชินกับ High Altitude หรือที่สูง 

ต่อมา ถ้าอยากปีนเอเวอเรสต์ ก็ต้องเก็บเงินให้พอ ซึ่งการเก็บเงินเราก็สามารถไปดูได้ว่าจะปีนกับบริษัทไหน ถ้าจะปีนแบบ Commercial Style ก็ไปเลือกได้เลย จะปีนกับทีมท้องถิ่น หรือปีนกับไกด์ฝรั่ง ราคาก็จะมีหลากหลายและแตกต่างกันมากอยู่

ส่วนต่อมา คือส่วนของเทคนิคในการปีน เราก็ต้องพัฒนาตัวเอง ประเทศไทยไม่มีภูเขาหิมะ ถ้าอยากเรียนปีนก็ต้องไปอย่างเช่น ญี่ปุ่น จีน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน หรือแอลป์ ฝรั่งเศส อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา เป็นต้น

นอกจากเรื่องของเทคนิคก็ต้องมีเรื่องของร่างกาย ซึ่งมันก็จะใช้ความอดทนอย่างมาก เพราะนักปีนเขาควรจะต้องปีนได้ต่อเนื่องเกิน 24 ชั่วโมง 

อีกเรื่องคือการที่คนคนหนึ่งจะไปเอเวอเรสต์มันอันตรายมาก แล้วคนรอบข้างคุณหรือครอบครัว เขามองเรื่องนี้อย่างไร

สำหรับคนในครอบครัว เราก็ต้องเตรียมเขาให้พร้อมกับความรู้สึก ซึ่งส่วนตัวเราก็แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ดูหนัง Everest (2015) เขาจะได้รู้ว่าสิ่งที่ลูกจะได้เจอจะคล้ายๆ แบบนี้ คือมันไม่ค่อยมีภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องดีๆ เกี่ยวกับภูเขาสักเท่าไร ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโศกนาฏกรรม แต่เราก็ต้องให้เขารู้ว่าสุดท้ายแล้วถ้าแย่ที่สุดคือเสียชีวิต แต่ก็อยากให้เขายอมรับ เพราะนั่นคือสิ่งที่เราเป็น

ครอบครัวคุณเข้าใจตั้งแต่แรกเลยไหม หรือมีความยากในการสร้างความเข้าใจอย่างไร

คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เข้าใจแต่แรก แต่เราก็บอกให้เขาศึกษาจากหนัง แต่เราก็บอกเขาว่าเรามีแผนรับมือ เพราะเราก็ซื้อประกัน อย่างเช่นถ้ามีเหตุร้ายก็จะมีเฮลิคอปเตอร์มาเคลื่อนย้ายในกรณีที่เราอยู่ในพื้นที่ที่บินไปได้ หรือ เราเลือกบริษัทที่คิดว่ามีคุณภาพในการพาเราไป และพยายามเช็กความชัวร์ว่าเราเตรียมแผนรับมืออย่างดีที่สุดแล้ว นอกจากนี้ เราก็แสดงให้เขาเห็นว่าเราพร้อมจากการซ้อมด้วย

ทีนี้ย้อนกลับไปปี 2565 ที่คุณไปเอเวอเรสต์ครั้งแรกเป็นอย่างไรบ้าง

ปี 2565 เป็นครั้งแรกที่เราตัดสินใจปีนเอเวอเรสต์ ซึ่งในครั้งนั้นเราไม่ได้ใช้บริษัทใหญ่ในการปีน แต่ให้เชอร์ปาที่รู้จักกันจัดทีมปีนให้ แล้วเราใช้วิธี Rotation (การค่อยๆ เพิ่มระดับความสูงในการปีนเขาเพื่อให้ร่างกายคุ้นชิน) แบบโบราณ คือไม่ได้ไปปีนที่ภูเขาอื่นก่อน แต่มา Rotation ที่เอเวอเรสต์เลย 

หลังจากที่เรามาถึงเบสแคมป์ เราจะ Rotation โดยครั้งแรกขึ้นไปที่ความสูง 5,500 เมตร กลับลงมา ครั้งที่สองขึ้นไปที่ความสูงประมาณ 5,700 เมตร กลับลงมา ครั้งที่สามปีนไปที่แคมป์หนึ่ง นอนที่แคมป์หนึ่ง ปีนขึ้นไปที่แคมป์สอง ปีนขึ้นไปที่แคมป์สาม กลับลงมา แล้วค่อย Summit Push (รอบในการพิชิตยอดเขา)

มีข้อมูลบอกว่าปี 2565 เป็นปีที่อากาศดี แต่สิ่งที่เราเจอ คือ วันที่เราขึ้นไป Summit Push เป็นวันที่ลมแรงมาก คืนนั้นหลังจากขึ้นแคมป์สี่ที่ความสูงประมาณ 8,217 เมตร ก็เห็นว่าข้างบนเริ่มมีพายุหิมะก่อตัว ทำให้ทีมตัดสินใจลง เราก็ลงมาที่แคมป์สี่ และรอขึ้นไปใหม่พรุ่งนี้ แต่ช่วงกลางวันที่รอ มีพายุที่ค่อนข้างแรงประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเข้ามาที่แคมป์ ทำให้เต็นท์ของเราปลิวไปเต็นท์หนึ่ง แปลว่าทีมเราซึ่งประกอบไปด้วย 5 คน เหลืออยู่เต็นท์เดียว จึงต้องมาอัดกันอยู่ในเต็นท์และพยุงเต็นท์ไว้ไม่ให้ล้ม ระหว่างนี้ก็ต้องใส่หน้ากากออกซิเจน เพราะต้องมีสติ หากเต็นท์แตกเมื่อไร เราก็ต้องวิ่งไปเกาะก้อนหินเพื่อไม่ให้ปลิวไปที่อื่น

ลมแรงทั้งวัน จนกระทั่งช่วงบ่ายๆ ลมแรงมากจนกระทั่งตีลงมาฟาดหน้าเรา คือไม่สามารถจะพยุงเต็นท์ได้แล้ว ทำให้เราไม่สามารถทำอาหารหรือทำน้ำได้เลย นั่นหมายถึงการขาดน้ำ ขาดอาหาร ไปด้วย กว่าลมจะสงบก็เป็นช่วงกลางดึกของคืนนั้น พอลมสงบ เขาก็ถามว่า “มัณฑนาจะขึ้นไหวไหม” เราก็บอกว่าไม่ไหวแล้ว เพราะถือเต็นท์มาตั้งแต่กลางวันจนถึงตอนนี้ ไม่มีแรงจะปีนแล้ว พอเช้าอีกวัน เขาก็ทดสอบเราอีกที และถามว่าปีนไหวไหม ตอนนั้นยังไม่ได้ให้คำตอบ แต่พอเราเดินออกไปปัสสาวะ ปรากฎว่าเราควบคุมตัวเองไม่อยู่ แค่รูดซิปกางเกงยังยาก จึงคิดว่านี่มันอันตรายแล้ว ที่ระดับ Death Zone หรือ 7,900 เมตรขึ้นไป มนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้นาน ถ้าอยู่นานเกินไปจะเสียชีวิตในระยะเวลาอันเร็ว ขนาดแค่ที่แคมป์สี่เรายังคุมตัวเองไม่ได้ เราจะปีนขึ้นไปสูงกว่านั้นได้อย่างไร จึงบอกทีมเชอร์ปาว่า “ลงกันเถอะ” และจบความฝันของปี 2565 ที่ตรงนั้น

ความเป็นแพทย์ทำให้คุณประเมินร่างกายตัวเองได้ว่า ปลอดภัยก่อนดีกว่าใช่ไหม 

ด้วยความที่เราเป็นหมอด้วย เราก็รู้ว่าอาการแบบนี้ ถ้าไปดันทุรังต่อไม่น่ารอด จึงตัดสินใจลง

หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการปีนครั้งแรก คุณรู้สึกอย่างไร 

มันเป็นความรู้สึกที่ดิ่งและมืดมนมากในหัวใจเรา เป็นความผิดหวังที่ปั่นป่วน เพราะด้วยพายุที่เข้ามา และการที่เราอยู่ใน Death Zone นานเกินไปจนทำให้ร่างกายเราไม่ปกติ เราก็ต้องยอมรับความจริงว่านั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น แต่มันก็เป็นความปั่นป่วนว่า ฉันทำได้หรือฉันไม่ได้กันแน่ ฉะนั้นต้องพิสูจน์ตัวเองกับตัวเองหรือเปล่า

พอคิดว่าต้องพิสูจน์อีกครั้ง คุณมีการเตรียมตัวเพิ่มเติมอย่างไรบ้างไหม 

การเตรียมตัวเพิ่มมากขึ้น จากสมัยก่อนเราเน้นความอดทนอย่างเดียว โค้ชปีนเขาก็บอกให้เพิ่มการจ็อกกิ้งเข้าไป เพื่อเพิ่มเรื่องของสมรรถภาพการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular fitness) ทำให้การซ้อมของเราก่อนไปมีการจ็อกกิ้งบนลู่ชันวันละหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ตามด้วยการแบกเป้แล้วถ่วงน้ำหนักขึ้นตึกหนึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นเราก็ไปทำงาน พอทำงานเสร็จ ก็แบกเป้ขึ้นตึกอีกสี่ชั่วโมง พักทานข้าว แล้วก็ยกน้ำหนักอีกสามชั่วโมง เราซ้อมประมาณนี้ต่อวัน

ได้ยินว่าคุณทุ่มหมดหน้าตักกับการไปเอเวอเรสต์ครั้งที่สอง ถึงขั้นลาออกจากงานเลยใช่ไหม

เนื่องจากเราไม่อยากให้เพื่อนร่วมงานทำงานไม่สะดวก คือการขาดเราไปสองเดือนอาจทำให้การดูแลผู้ป่วยหรือการบริการมันดรอปลง ก็เลยตัดสินใจลาออกเพื่อให้มีคนใหม่เข้ามาตรงนี้ตอนที่เราไม่อยู่จะดีกว่า

อีกเรื่องคือพอเราลาออกก่อนไปปีนเขาประมาณหนึ่งเดือนก็ทำให้เราได้ซ้อมมากขึ้น ไม่ต้องพะวงเรื่องการไปขึ้นเวร 

การลาออกจากการเป็นแพทย์ที่ค่อนข้างมั่นคง ทั้งอาชีพ รายได้ เพื่อไปปีนเอเวอเรสต์ ถือเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่สุดในชีวิตไหม 

ความจริงไม่เคยอยากลาออกจากงานเลย เพราะมีความสุขมากเวลาตรวจคนไข้ ชอบคุยกับคนไข้ มีความสุขกับการวิ่งเต้นทำงาน แต่ตอนตัดสินใจลาออก เพราะมีไฟลต์บังคับว่าเพื่อนร่วมงานอาจทำงานได้ไม่สะดวก เพื่อความแฟร์จึงลาออกเลย เหมือนเรามีสมการชีวิตแล้วว่าต้องการอะไรมากที่สุด เราก็เลือกอันนั้นไว้ก่อน 

ถามว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากไหม ไม่เลย ง่ายมาก เมื่อเราต้องการไปปีนเขา เราก็ต้องทิ้งสิ่งอื่นไป

การกลับไปเอเวอเรสต์ครั้งที่สองเป็นอย่างไรบ้าง 

สำหรับการปีนเอเวอเรสต์ครั้งที่สองในปีนี้ (2566) ช่วงแรกคือการพาตัวเองไปเนปาล พอไปถึงเมืองหลวงกาฐมาณฑุ ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 เมตร คนทั่วไปอย่างเราที่ไปจากระดับน้ำทะเลก็จะมีอาการเหนื่อยตั้งแต่เดินซื้อของแล้ว เพราะออกซิเจนเริ่มลดลง เราอยู่ที่นั่นประมาณสองวันจนรู้สึกสบายขึ้น ก็เริ่มเดินทางเข้าไปในหุบเขา ซึ่งอยู่ใน Sagarmatha National Park โดยเฮลิคอปเตอร์

หลังจากนั้นเป็นช่วงที่สอง คือการเดินเขา (Trekking) ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 15-20 วัน เพื่อให้นักปีนคุ้นชินกับความสูงและออกซิเจนที่ต่ำลง ช่วงนี้เราก็เดินตามปกติ นอนในโรงเตี๊ยม มีร้านอาหาร ค่อนข้างสะดวกสบายทีเดียว

หลังจากช่วงเทรกกิ้ง เราก็จะไปปีนภูเขาโลบูเช ที่ความสูงประมาณ 6,100 เมตร อยู่ใกล้เอเวอเรสต์ เพื่อให้ชินกับความสูงแล้วก็กลับลงมา และเดินทางไปที่เบสแคมป์

พอถึงเบสแคมป์ก็เข้าสู่ช่วงที่สาม เรียกว่าช่วง Rotation ช่วงนี้เราต้องไปอยู่เบสแคมป์ และปีนขึ้นปีนลงจนกว่าจะชินกับความสูง แต่ละคนอาจจะใช้ Rotaion ต่างกัน หนึ่ง สอง สาม สี่ครั้ง แล้วแต่คน 

หลังจบการ Rotation ก็จะเป็นรอบพิชิตยอดเขา Summit Push โดยเริ่มจากเบสแคมป์ไปให้ถึงยอดเขา ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่ 4-6 วันในการไปถึงยอดเขา และเวลาลงเขาอีก 2 วัน

ช่วงไหนในการปีนที่รู้สึกว่ายากสุด 

สำหรับเรายากทุกช่วง เพราะร่างกายเราจะต้องค่อยๆ ปรับตามระดับความสูง ช่วงเทรกกิ้งก็ยาก ช่วงปีนโลบูเชก็ยากเหมือนกัน เพราะเป็นครั้งแรกที่เราไปถึง 6,100 เมตรของปีนี้ แต่ช่วงที่ต้องใส่ใจสุด คือช่วง Summit Push เพราะมันคือช่วงที่เราจะไปให้ถึงยอดแล้ว ใส่ใจ ใส่ความตั้งใจ เก็บพลัง ฟื้นฟูร่างกายให้พร้อม เพราะมันคือโอกาสสุดท้ายและโอกาสเดียวที่เราจะไปสู่ยอดเขา

แต่ในช่วง Summit Push ก็มีเรื่องที่เราไม่คาดคิด เรื่องแรกคือเชอร์ปาที่คู่กับเราป่วย ทำให้เราต้องเปลี่ยนเป็นเชอร์ปาคนอื่น แต่เหมือนเขาจะมีปัญหาอะไรบางอย่าง พอหลังจากแคมป์สี่เขาก็ทิ้งเราและลงเขาไปโดยไม่บอก ทิ้งของต่างๆ ของเราไปหมด ทำให้เรามีช่วงที่ต้องปีนคนเดียว แต่ไม่ใช่คนเดียวทั้งหมด คือทีมเราก็ยังมีลูกค้าอีกหลายคน มีเชอร์ปาอีกหลายคน เราก็ใช้วิธีปีนอยู่ระหว่างทีมเรา 

จนกระทั่งมีคุณอัง ริตา เชอร์ปา (Ang Rita Sherpa) ที่เป็นไกด์ฝึกหัดของบริษัท ขึ้นมาบอกว่าจะพาเราปีนเอง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของเขาเลย เพราะว่าปีนี้บริษัทแค่ต้องการให้คุณอัง ริตา พาตัวเองไปให้ถึงยอดเพื่อฝึก แต่เขาบอกว่าไม่เป็นไร เขาจะดูแลเรา ก็เลยทำให้เรากล้าจะปีนต่อ 

คุณเล่าในโพสต์ส่วนตัวว่า เห็นศพที่ถูกลำเลียงลงเขามา มันเพิ่มความกลัวหรือทำให้คุณอยากหันหลังกลับไหม 

ถ้าเรามีซัพพอร์ตทุกอย่างครบ มีเชอร์ปา เราอยากไปต่อ เพราะมันคือการแก้มือของเรา ไม่ว่าอะไรที่เราเห็นระหว่างทาง ไม่มีอะไรที่ทำให้เราอยากหันหลังกลับเลย อาจจะมีช่วงหนึ่งตอนที่เห็นเขาขนศพลำเลียงลงมา ตอนนั้นตกใจ แต่ไม่ยอมให้ความกลัวมันดำเนินในจิตใจเรานาน กดมันให้สงบภายในไม่ถึงหนึ่งนาทีแล้วไปต่อ 

ในที่สุดคุณก็ไปถึงยอด บนความสูง 8,848 เมตร คุณมองเห็นอะไรหรือรู้สึกอย่างไร 

สิ่งที่เราอยากเห็นมาตลอดหลายปีนี้คือภาพพีระมิดของภูเขาสูงที่โดนแสงดวงอาทิตย์แล้วกลายเป็นเงารูปสามเหลี่ยมไปอีกฝั่งหนึ่ง สิ่งนี้เหมือนเป็นภาพทางจิตวิญญาณของเรา เป็นสิ่งที่เราอยากเห็น เราได้เห็นที่จุดสูงสุดของยอดเขา มันเติมเต็มความรู้สึกบางอย่าง อธิบายได้ยาก เราเห็นภาพนี้มาหลายครั้งตามหน้านิตยสาร อินเทอร์เน็ต แต่นี่คือการเห็นจากตาของเราเอง แม้ว่าตาตอนนั้นจะเริ่มมองไม่ค่อยเห็นก็ตาม

เราขึ้นไปนั่งบนจุดสูงสุดและมองหาว่า พีระมิดนั้นอยู่ไหน พอได้เห็นแล้ว สิ่งที่เกิดตามมาคือความโล่งใจ ภูเขาที่มันทับอยู่ในอกเรามาตลอดหนึ่งปี ที่คอยกวนใจเราอยู่ มันถูกยกออกไปแล้ว ไม่ใช่ว่าฉันปีนไม่ได้ ฉันปีนได้อยู่นี่นา และยังไม่ตายด้วย

หลังจากนั้นก็เริ่มร้องไห้ น้ำตาไหล สุมาน กูรุง ช่างภาพปีนเขาชาวเนปาลที่ไปด้วยก็ถามว่า ร้องไห้ทำไม แค่มาถึงยอดเขาต้องร้องไห้ด้วยเหรอ เราก็บอกว่าเราทำให้คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจได้แล้ว เพราะทั้งสองคนเห็นความฝันของเรา และเชื่อในตัวเรา ในวันที่ไม่มีใครเชื่อเราอีกแล้วว่าจะปีนได้ มีแค่เขาสองคนและน้องชาย ที่ให้โอกาสและซัพพอร์ตเรา 

คุณใช้เวลาอยู่บนจุดสูงสุดของโลกนานไหม 

เราใช้เวลาอยู่บนยอดเขาประมาณ 3-5 นาที ตอนที่คุยกับสุมาน กูรุง เขาก็ถ่ายรูปให้เรา เราพยายามกางธงชาติออกมาถ่าย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือลมแรงมาก ถืออย่างไรธงชาติก็ปลิว สุดท้ายก็เห็นธงชาตินิดหน่อยข้างถุงมือเรา สักพักก็มีคุณอัง ริตา เชอร์ปา ตามขึ้นมาถ่ายรูปกัน 

หลายคนอาจคิดว่าการเดินขึ้นยอดเขาเป็นเรื่องลำบาก แต่ความจริงแล้วขาลงก็อันตรายเช่นกันใช่ไหม 

การลงเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดในขาลง เพราะนักปีนเขาจะเกิดความเหนื่อย ร่างกายอาจจะไปไม่ไหว เพราะใส่สุดช่วงขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือเผื่อแรงเอาไว้ในขาลงด้วย นอกจากนั้น ก็จะมีเรื่องของการบาดเจ็บจากขาลง เพราะมันอาจมีการตกได้ และอาจเกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต สาเหตุใหญ่ๆ น่าจะเป็นนักปีนเหนื่อย กับอุบัติเหตุจากการลง

คุณเล่าในโพสต์ว่าขาลงต้องเผชิญกับอาการมองไม่เห็นด้วย ตอนนั้นเป็นความกลัวที่เกิดขึ้นขนาดไหน 

พอเรารู้ว่ามองไม่เห็นแล้ว จากแคมป์สี่ถึงยอดความสูงมันชันที่สุดของเอเวอเรสต์ แล้วเราจะลงอย่างไร การที่เราไม่สามารถเอาตัวเองลงไปได้ คำตอบคือความตายแน่นอน ถ้าเชอร์ปาเห็นว่าเราไปไม่ไหวเขาจะทิ้งเราไหม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทุกคนในทีมช่วยเรา จนเราลงมาถึงแคมป์สี่ได้ ซึ่งก็คือระยะประมาณ 1 กิโลเมตรในแนวตั้ง ที่ต้องลงในระบบเชือกทั้งที่มองไม่เห็น มันเสี่ยงกับทุกคน เพราะเราต้องใช้ออกซิเจนกระป๋อง ซึ่งอาจจะหมดได้ทุกเมื่อ และการเอาคนที่มองไม่เห็นลงก็ลำบาก แต่ความที่เราชินกับระบบเชือกแบบนี้พอสมควร ทำให้ยังลงได้เร็ว 

สุดท้ายก็ลงมาถึงแคมป์ข้างล่างทันในช่วงยังมีแสงอาทิตย์อยู่ ทุกคนปลอดภัย ออกซิเจนก็ยังไม่หมด คือไม่ได้ทำให้คนอื่นเกิดการบาดเจ็บ อาจจะมีแค่ตัวเองอย่างเดียวที่เกิดอาการหิมะกัด (Frozebite)

ตอนนี้สภาพร่างกายเป็นอย่างไรบ้าง

สำหรับทางร่างกาย ตอนนี้ผ่านมาเกือบสามเดือน แผลหิมะกัดที่เท้าถือเป็นระดับลึก ยังต้องรักษาต่ออีกหลายเดือน รับการผ่าตัดอีกหลายครั้งในการตัดเนื้อตายหรือตัดต่อรูปเท้าให้เราสามารถใช้งานได้ ซึ่งยังไม่จบง่ายๆ อาจยาวนานประมาณหนึ่งปี ส่วนด้านจิตใจ ถึงแม้จะขาดเรื่องงานที่ไม่สามารถไปทำได้ เพราะยังยืนไม่ได้ แต่ถือว่าแฮปปี้เพราะเรายังมีอะไรทำอีกเยอะมากในระหว่างที่ว่าง เช่น เรียนภาษาใหม่ อ่านหนังสือที่เราชอบ ถ้าเมื่อไรที่เรารู้สึกว่าตกผลึก ก็จะกลับไปเขียนหนังสือเหมือนที่เราทำประจำ 

คุณลาออกจากงานที่มั่นคง มีค่าใช้จ่ายในการปีนเอเวอเรสต์กว่า 3 ล้านบาท แถมยังต้องเผชิญกับการบาดเจ็บทางร่างกายที่รุนแรง ราคาที่จ่ายไปถือว่าคุ้มไหม 

ถามว่าคุ้มไหมกับสิ่งที่เราสูญเสียไป คิดว่าคุ้ม คือความคุ้มของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ไม่มีใครเอาความสุขไปจากหัวใจของเราได้

คุณคิดว่าเอเวอเรสต์มีแรงดึงดูดอะไรให้คนอยากขึ้นไปพิชิต แม้จะต้องเสี่ยงกับความตายก็ตาม

อย่างหนึ่งคือมันเป็นจุดที่สูงที่สุดในโลก เรื่องอื่นคือ เรื่องของนักสำรวจแต่ละยุค นักปีนแต่ละยุค เขาได้สร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโศกนาฏกรรม หรือสิ่งที่น่ายินดี มันเป็นสิ่งที่เย้ายวนใจนักสำรวจ คนที่มีความเป็นนักสำรวจก็อยากไปสัมผัสจุดนั้น ถึงแม้เราจะไม่ใช่นักสำรวจเต็มภาคภูมิที่แบกทุกอย่างขึ้นไปเอง แต่มีซัพพอร์ตค่อนข้างเยอะ แต่เราว่านั่นมันคือจิตวิญญาณของนักสำรวจ ที่อยากไปถึงจุดที่น้อยคนไปถึงได้

นอกจากการสำรวจภายนอก คุณได้ย้อนกลับมาสำรวจอะไรในจิตใจระหว่างปีนเขาไหม 

การปีนเขาเราจะได้อยู่กับตัวเอง มันคือการตัดขาดจากโลกภายนอกทั้งหมด ไม่มีมือถือ ไวไฟ จะเหลือแค่ตัวเราเองกับของที่แบกอยู่ และเพื่อนร่วมทางเท่านั้น ระหว่างปีน จิตใจก็เหมือนจะมีสมาธิระดับสูง ต้องมองดูว่าเส้นทางเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นนักปีนมักจะบอกว่าเราได้สำรวจสภาวะภายในจิตใจตัวเองเวลาปีน

สำหรับตัวเอง ถามว่าบทเรียนที่ได้จากการปีนเอเวอเรสต์ในสองปีรวมกัน เจออะไรบ้าง ข้อแรก คือ ความสุขอยู่กับตัวเรา ไม่มีใครเอาความสุขไปจากเราได้ ข้อต่อมา เป็นความสุขที่ได้จากการทำในสิ่งที่เรารัก ทุกคนมีเอเวอเรสต์เป็นของตัวเอง ซึ่งเอเวอเรสต์ของเราคือการปีนเขา แต่ไม่ใช่แค่เอเวอเรสต์ ยังมีลูกอื่นๆ ที่เราอยากปีนอีก สำหรับตอนนี้ถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ก็อยากจะก้าวต่อไปในฐานะนักปีนเขาสมัครเล่นและนักเขียน อยากนำประสบการณ์ที่เราได้ปีนถ่ายทอดให้คนอื่นได้รับรู้ร่วมกันเหมือนเขาได้ไปปีนกับเรา 

การเป็นผู้หญิงคนที่ 2 และคนไทยคนที่ 5 ที่พิชิตเอเวอเรสต์ได้มีความหมายอย่างไรกับคุณไหม

เวลาที่มีใครมาบอกว่าเราเป็นผู้หญิงคนที่ 2 หรือคนไทยคนที่ 5 ที่ปีนเอเวอเรสต์สำเร็จ ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย เพราะเราไม่อยากให้เรื่องเพศมาจำกัดความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนจะจำกัดความตัวเองเป็นอะไรก็ได้ ในสิ่งที่เขาอยากเป็น มันมีความสากลของมนุษย์ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องมีเพศ เพราะฉะนั้น การที่มีคนพูดว่า ‘เป็นผู้หญิงคนที่สอง’ รู้สึกเป็นคำที่ค่อนข้างบาดใจพอสมควร แต่เราก็ต้องยอมรับว่าเราเกิดมาเป็นเพศหญิง

เราอยากให้ทุกคนสลัดอคติไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม อคติ หมายถึง ความคิดที่มันผิดไป เช่น ความเชื่อที่เราถูกปลูกฝังหรืออะไรก็ตาม หรือบางศาสนาจะเชื่อว่าผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย หรือการเป็น LGBTQ เป็นเพราะคุณทำสิ่งชั่วร้ายมาในอดีต ถ้าเราสลัดได้ เราก็จะเป็นคนที่เป็นอิสระต่อทุกอย่าง เราก็จะตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง แต่ถ้าเรายังถือทุกอย่างที่เป็นอคติ มันอาจจะไม่ได้เป็นจริง มันเป็นแค่ความคิด ความมโนไปเอง

ดังนั้น ถ้าย้อนไปตอบคำถามเพิ่มเติม ตัวเลขลำดับที่เท่าไรไม่มีความหมายสำหรับเรา เพราะว่าสิ่งที่เราทำ เราทำเพราะรักที่จะทำ และอยากรู้ศักยภาพของตัวเอง ความสุขของเราไม่ใช่การแข่งขัน แต่มันคือการท่องไปในโลก เปิดใจรับทุกอย่าง และการได้ถ่ายทอดเรื่องราว

ถึงตอนนี้คุณมีความคิดอยากกลับไปปีนเขาอีกไหม

การกลับไปปีนเขาอีกเป็นสิ่งที่อยากทำมากที่สุด เพราะการเกิดแผลหิมะกัดในระดับลึก จะมีการบาดเจ็บของเส้นประสาทและเส้นเลือด ทำให้เราทนความหนาวได้ไม่เท่าเดิม ขยับ รู้สึก หรือฟังก์ชันนิ้วอาจจะไม่เท่าเดิม เราอาจจะปีนได้ไม่ดี เพราะฉะนั้นเป้าหมายต่อไปอาจจะไม่ใช่ยอดเขาสูง แต่ต้องกลับไปเดินป่าก่อน แล้วถ้าทนได้ค่อยๆ เพิ่มกลับเข้าไป

หากย้อนกลับไปบอกตัวเองแปดปีก่อนได้ อยากบอกอะไรกับตัวเองในวันนั้น 

อยากบอกว่า ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปมากจริงๆ ในทางที่ดีขึ้น (ยิ้ม)

ขอบคุณ Volume Climbing Gym ขอนแก่น เอื้อเฟื้อสถานที่ในการสัมภาษณ์

Tags: , , ,