ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายเดือนมิถุนายน ไทยและต่างประเทศต่างอิ่มเอมกับการเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Month) ธงสีรุ้งห่มคลุมถนนหลายสายทั่วโลก แต่สำหรับการเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ของไทยปีนี้มีวาระหนึ่งที่พิเศษ นั่นคือการพิจารณาพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมเป็นครั้งสุดท้ายที่สนามวุฒิสภา ถึงวันนี้ผลลัพธ์ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ประเทศไทยจะมีสมรสเท่าเทียมเป็นประเทศแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

สำหรับผู้ขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศมาอย่างยาวนาน เดือนมิถุนายนปีนี้คงเป็นช่วงเวลาที่ความเหนื่อยล้าถูกแทนที่ด้วยความภาคภูมิใจ สำหรับเด็กวัยรุ่นสักคนอาจกล้ามากพอที่จะบอกกับบิดามารดาถึงตัวตนของพวกเขาที่แตกต่างจากชาย-หญิง และสำหรับคู่รัก ไม่ว่าจะเพศไหน นี่คงเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาได้มีเวลานั่งปรึกษาอนาคตชีวิตคู่อย่างจริงจังมากขึ้น

ขณะเดียวกันมิถุนายนปีนี้ สำหรับ จักรภพ เพ็ญแข และป๊อบ-สุไพรพล ช่วยชู นับเป็นช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจเปิดเผยความสัมพันธ์ พาความรักออกจากมุมมืด หลังเก็บซ่อนมานานนับทศวรรษ

“ผมอยากให้ความสัมพันธ์ระหว่างเราทั้งคู่เป็นประโยชน์กับคนอื่น” จักรภพทิ้งทวนประโยคแก่ฉันผู้ถือสาย และเจตนารมณ์มุ่งมั่นนี้เองที่พาฉันเดินทางมาฝั่งพระนคร เพื่อใช้เวลาดำดิ่งไปในสายสัมพันธ์แบบคู่รักของทั้งคู่

จาก ‘งานเขียน’ สู่ ‘ความรัก’

หน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร ณ ร้านหนังสือเล็กๆ นามว่า ‘สวนเงินมีมา’ เป็นจุดนัดพบระหว่างจักรภพและป๊อบ เจ้าของร้านรู้จักมักคุ้นกับแขกในวันนี้เป็นอย่างดี พร้อมกำชับตั้งแต่ต้นว่า จะขอถ่ายรูปกับจักรภพ ผู้ซึ่งเธอเรียกคำนำหน้าว่า ‘อาจารย์’ 

อันที่จริง สวนเงินมีมา คือร้านหนังสือและคาเฟ่ หนึ่งในธุรกิจของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม นักวิชาการอาวุโส ซึ่งจักรภพให้ความเคารพนับถือ แม้ในช่วงหลัง สุลักษณ์จะเดินคนละข้างกับ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าของจักรภพ แต่เขาก็ยังนับถือความคิดของสุลักษณ์เรื่อยมา

ด้วยเหตุนี้ ไม่แปลกที่เจ้าของร้านหนังสือแห่งนี้จะคุ้นเคยกับจักรภพ

ก่อนจักรภพจะเดินเข้าสู่เวทีการเมือง เขาเคยอ่านข่าวและจัดรายการวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศอยู่นานหลายปี กระทั่งได้รับชักชวนให้เข้ามาเป็นโฆษกประจำสำนักนายกฯ ในยุครัฐบาลทักษิณ ตามมาด้วยตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ 2 

ช่วงรัฐประหารปี 2549 ผลักให้จักรภพเปลี่ยนสถานที่ทำงานจากสำนักนายกฯ เป็นท้องสนามหลวง ตั้งแต่ยังเป็นกลุ่มต้านรัฐประหาร เรื่อยมากระทั่งเป็นแกนนำกลุ่มประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) จับไมค์ปราศรัยท่ามกลางมวลชน จนมีคดีติดตัวมากมาย แล้วตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ

แม้ภาพจำของจักรภพในอดีตเมื่อหลายสิบปีจนถึงวันนี้ มีความเป็นนักการเมืองเต็มตัว จากอดีตตำแหน่งทางการเมืองและเส้นทางนักเคลื่อนไหว ทว่าเมื่อเริ่มต้นสนทนาด้วยการถามไถ่เส้นทางอาชีพ คำตอบที่ได้กลับไม่ใช่นักการเมือง

“ผมเป็นนักวิชาการ และเป็นนักเขียนมาก่อน ก็มีออกงานหนังสือบ้าง มาแจกลายเซ็น”

ชื่อของจักรภพบนชั้นวางหนังสือนี่เอง ที่เปิดโอกาสให้เขาได้เจอกับป๊อบในฐานะแฟนคลับงานเขียน

“ป๊อบเป็นหนึ่งในแฟนคลับที่มาเข้าคิวขอลายเซ็นผมวันนั้น นี่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเจอกัน” 

งานสัปดาห์หนังสือ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นสถานที่แรกพบเจอระหว่างจักรภพ นักเขียนและสื่อมวลชนหนุ่มวัย 30 ปีเศษๆ กับป๊อปนักศึกษาวัย 20 ปี ที่เดินทางมาขอลายมือชื่อนักเขียนในดวงใจ

“หนังสือที่จักรภพเขียนเป็นบันทึกเล่าการเดินทางของเขา เขาให้ความรู้ในประเทศที่เราไม่เคยไป ตอนเราอ่านมันเหมือนเราได้เดินทางไปพร้อมกับเขาด้วย” ป๊อบเล่าให้ฟัง

ขอบฟ้าที่ตาเห็น เป็นงานเขียนชิ้นแรกๆ ที่นำพาป๊อบรู้จักกับจักรภพ วาทศิลป์และการพรรณนาเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ เชื้อเชิญให้ป๊อบเดินทางจากบ้านมุ่งตรงมางานสัปดาห์หนังสือ

แรกเจอ ป๊อบเลือกปรึกษาปัญหาสัพเพเหระของตัวเอง โดยมีจักรภพเป็นผู้ให้คำแนะนำ จักรภพจึงมองป๊อบพิเศษกว่าแฟนคลับคนอื่นๆ ด้วยวิธีการพูดคุยที่ต่างจากคนทั่วไป 

“เราสนิทกันเพราะเราขอปรึกษาเขา แล้วเขาให้คำตอบเราชัดเจน ทั้งเรื่องการเรียน ปัญหาที่บ้าน และครอบครัวบ้าง มันเลยทำให้เราคลิกกัน และสะสมความสัมพันธ์มาเรื่อยๆ” จักรภพระบุ

ครอบครัวของป๊อบมีฐานะไม่ดีนัก คนในครอบครัวต่างหันหน้าทำมาหากินเลี้ยงตัวเอง จนไม่มีเวลาแม้แต่การสนทนากัน เมื่ออยู่ในบ้านป๊อบจึงไร้ที่ปรึกษา นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เธอต้องมองหาใครสักคนพอจะเป็นพื้นที่ให้เธอได้พูดคุยและให้คำแนะนำกับเธอได้

“ป๊อบมาจากครอบครัวไทยที่ต้องต่อสู้เหมือนกับคนอื่นๆ อีกเป็นล้านครอบครัว ต้องปากกัดตีนถีบ ไปทำงานแต่เช้า เย็นกลับมานอน ไม่มีเวลามานั่งคุยกับคนในบ้าน มากเข้าก็อาจจะพูดแค่คำสองคำ พอคนในบ้านไม่คุยกัน ป๊อบเขาเลยมาคุยกับผม

“ตัวผมมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง ผมมีปัจจัยสี่ ผมมีเวลาสนใจเรื่องหนังสือหนังหา มีความรู้ ผมโชคดีกว่าเขา ป๊อบเลยมาสนทนาพูดในสิ่งที่เขาไม่เคยได้รับในบ้านมากนัก” จักรภพเปรียบเทียบ

ทุกบทสนทนาระหว่างป๊อบกับจักรภพมีส่วนกระชับความสัมพันธ์ของทั้งคู่เสมอ เมื่อสนิทกันมากเข้า จักรภพจึงชักชวนป๊อบมาร่วมงานเป็นผู้ช่วย นั่นยิ่งทำให้ระยะห่างระหว่างทั้งคู่ลดน้อยลง พร้อมกับกิจกรรมระหว่างกัน เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ หรือการต่อสายโทรศัพท์คุยกัน ล้วนเป็นสิ่งที่ใครในฐานะแฟนคลับงานเขียนธรรมดายากจะได้รับ

ทุกเวทีชุมนุม ‘ป๊อบ’ อยู่ข้างจักรภพ

แต่เมื่อจักรภพก้าวสู่การเป็นนักการเมือง หลายสิ่งก็ดูวุ่นวาย โดยเฉพาะเหตุการณ์รัฐประหาร ปี 2549 ที่ความสัมพันธ์ของป๊อบและจักรภพตกอยู่ในแรงกดดัน ในฐานะแกนนำปราศรัยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ ทำให้เขาเสี่ยงตกเป็นเป้าโจมตี

“ช่วงชุมนุมตลอดทั้งปี ผมเปลี่ยนที่นอนทุกคืน ต้องไปนอนที่เซฟเฮาส์ แกนนำคนอื่นๆ จะแยกกันไปคนละที่ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตามตัวเจอ”

 “ช่วงนั้นผมคิดถึงป๊อปเลยให้เขามาอยู่ด้วย มันก็เป็นความคิดที่เห็นแก่ตัวนะ ถ้าอยู่ๆ มีคนบุกเข้ามายิงผมในเซฟเฮาส์ หรือเอาตัวผมไปโดยมีเขาอยู่ตรงนั้นด้วยมันจะเป็นยังไง เราอยากอยู่กับเขานะ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็ไม่อยากให้เขาเป็นอันตราย”

อย่างที่จักรภพกังวล การเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับแกนนำ ไม่มีอะไรรับประกันว่า ชีวิตเขาจะปลอดภัยจากการถูกโจมตีของฝ่ายตรงข้าม และไม่ได้มีเพียงจักรภพเท่านั้นที่อาจตกเป็นเป้า แต่กับคนใกล้ชิดอย่างครอบครัว รวมถึงป๊อบต่างมีความเสี่ยงถูกโจมตีเช่นเดียวกัน

 “หากมีความไม่สงบทางการเมือง มีอย่างหนึ่งที่คนอาจนึกไม่ถึงคือ คนใกล้ตัวเราจะกลายเป็นเป้าในการสะกดรอย ถ้าผมมีความเสี่ยง ป๊อบก็มีความเสี่ยงด้วย”

“คนที่ถูกสะกดรอยตาม หรือถูกไล่ล่าทางการเมือง มักจะตกหลุมพรางเพราะเรื่องความรัก ความใคร่ หรือความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว นี่เป็นเหตุผล 90% ที่ทำให้ถูกจับ” จักรภพ พูด

ท่ามกลางความเปราะบางทางการเมือง แกนนำล้วนตกอยู่ในความเสี่ยง จักรภพเป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่ในความเสี่ยง ขณะเดียวกันยังเป็นความเสี่ยงสำหรับคนอื่นๆ รอบตัว ทว่าป๊อบรับรู้ข้อนี้ดี กระนั้นเธอยังคงยืนอยู่ข้างเวที ส่งสายตาห่วงใยแก่จักรภพ แม้ในสถานการณ์กดดัน 

ป๊อปยกตัวอย่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมบ้านสี่เสาเทเวศร์ ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเธอจดจำสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำ

“วันนั้นคุณจักรภพขึ้นไปอยู่บนรถแห่ มีมวลชนอยู่รอบๆ รถหลายหมื่นคน ตอนนั้นมวลชนจะรับประทานอาหารกันประกอบกับฟังปราศรัยไปด้วย ไม่นานเริ่มมีกระสุนแก๊สน้ำตายิงใส่มวลชน มีการสลายการชุมนุมบริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ จำได้ว่าคุณจักรภพเดินขึ้นเวทีปราศรัย ส่วนข้างล่างเวทีพยายามยื่นน้ำให้ล้างตา

“จริงๆ สถานการณ์ตอนนั้นจักรภพบอกให้เรารีบออกจากพื้นที่ชุมนุมแล้วกลับบ้านนะ แต่พอดีว่าเป็นห่วงเขา ก็เลยยืนคอยอยู่บนรถ” 

ความ ‘ห่วงใย’ ยื้อป๊อบอยู่ในพื้นที่ชุมนุม ขณะที่จักรภพร้องขอให้ป๊อบขึ้นรถออกจากพื้นที่ชุมนุมพร้อมกับแม่และน้องสาวของเขา ทว่าป๊อบร้องขอกับจักรภพให้ได้อยู่คอยระแวดระวังอยู่เคียงข้าง 

“เรามองหน้ากัน พยายามส่งความห่วงใยให้กัน ด้วยความที่อยู่ด้วยกันมานานจึงไม่อยากแยกจากกันไปไหนถามว่ากลัวหรือเปล่า เรากลัวเขาโดนจับไปทรมาน ต้องนอนในที่ไหนที่ไม่ใช่บ้านของเขามากกว่า”

สิ้นสุดเหตุสลายการชุมนุม ป๊อบอยู่กับจักรภพจนจบ อาจดูเหมือนเรื่องโรแมนติกที่ต่างคนไม่หายจากกันไปไหนแม้จะตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ขณะที่ควันจากแก๊สน้ำตาลอยคลุ้ง จะนับว่านี่เป็นความโรแมนติกคงยาก 

“จริงอยู่ที่การพบกันระหว่างผมกับป๊อบมันเป็นเวลาที่โรแมนติก แต่ก็ไม่ได้โรแมนติกเต็มที่ เพราะเราอยู่ท่างกลางการต่อสู้ ใจเราไม่สงบ เราไม่รู้ว่าคืนนี้จะเกิดอะไรขึ้น 

“แต่สำหรับผมมันก็มีค่ามาก เพราะเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันท่ามกลางความกดดันสิ่งที่จะบอกว่าคนเราเข้มแข็งหรืออ่อนแอเทียบได้จากการรับมือกับความกดดัน” จักรภพมองกลับ

จักรภพ เพ็ญแข ไม่ใช่ ‘ตุ๊ด’ 

เมื่อความกดดันทางการเมืองเบาลง ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จึงกลับสู่ความสงบสุขอีกครั้ง แต่หากย้อนกลับไปในปี 2551 ในยุคที่ยังไม่เกิดกฎหมายสมรสเท่าเทียม การยอมรับระบบเพศนอกกรอบชาย-หญิง จึงเป็นเรื่องยาก นั่นเป็นเหตุผลที่ป๊อบต้องปิดบังตัวตนเอาไว้ข้างใน

“พ่อไม่อยากให้เราเป็นคนข้ามเพศ เขาอยากให้เรามุ่งเรียนให้จบ รวมทั้งการคบเพื่อน LGBTQIA+ พ่อเขากลัวโดนเพื่อนตัวเองล้อ” ป๊อบบอกกับเรา

แม้แต่การกันคิ้วออกสักเพียงเล็กน้อยตามประสาวัยรุ่น ก็อาจถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ป๊อบเล่าว่า หากพ่อของเธอพบว่าเธอกันคิ้ว ก็อาจเป็นเรื่องเป็นราวจนเธอถูกลงโทษได้ 

อีกความคิดแห่งยุคสมัยที่ผิดเพี้ยน คือการบำบัดเพศ โดยหวังว่า การบังคับให้กลุ่มเพศทางเลือกอยู่กับสังคม ‘ชายแท้’ จะกลับสู่รสนิยมทางเพศที่ตรงกับเพศกำเนิดได้ ป๊อบก็โดนแบบนั้นเช่นกัน ความพยายามของครอบครัวแฝงมากับการส่งเธอไปอยู่กับญาติที่เป็นทหารเรือในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อให้มีความเป็น ‘ชาย’ มากขึ้น เดชะบุญที่ย่าของเธอปรามไว้ได้ทัน

เมื่อไม่มีอะไรรองรับความเป็นเพศอื่นนอกเหนือจากชายและหญิง การโอบรับความหลากหลายทางเพศจึงเป็นไปได้ยาก ป๊อปเล่าว่า การศึกษาทำให้เธอเผชิญความเหลื่อมล้ำจากการถูกเบียดขับทางเพศ อีกทั้งความไม่เข้าใจในความหลากหลายทางเพศยังส่งผลให้เธอถูกกลั่นแกล้งโดยเพื่อนร่วมชั้นบ่อยครั้ง

“เพื่อนชอบแหย่ชอบแกล้งเรา ยิ่งเห็นว่าแกล้งแล้วได้ผล เขายิ่งทำหนักกว่าเดิม บุลลี่อยู่แล้วก็จะยิ่งบุลลี่มากขึ้นอีก”

ทว่าหากโดนบ่อยเข้าก็อาจทำให้ความอดทนถึงขีดจำกัด ป๊อบเล่าต่อว่าครั้งหนึ่งเคยปาเครื่องดนตรีใส่เพื่อนร่วมวิชาจนได้รับบาดเจ็บเพราะถูกล้อเลียน

“มีครั้งหนึ่งเราเรียนวิชาดนตรี ในคาบมันมีเพื่อนที่ชอบล้อเลียนเราอยู่ด้วย เราเคยเขวี้ยงขลุ่ยใส่จนขลุ่ยหัก ตอนนั้นโดนทำโทษด้วย เพราะขลุ่ยต้องใช้เรียนในคาบ ส่วนเพื่อนคนนั้นก็หัวแตกไป ถ้าโดนแกล้งขนาดนั้นมันคงผิดปกติมากถ้าเราไม่สู้”

การไม่สยบสยอมต่อพฤติกรรมย่ำแย่ของเพื่อนฝูง ผลักดันให้ป๊อบลุกขึ้นสู้ทุกครั้งที่ภัยมา อาจพอเป็นคำตอบได้ว่า ในวันที่อันตรายที่สุด กดดันมากที่สุดในสนามหลวง เธอจึงยังยืนหยัดสู้ เป็นเพราะทั้งชีวิตนี้ เธอผ่านสมรภูมิการต่อสู้มานับร้อยนับพันใช่หรือไม่

ย้อนกลับมาที่จักรภพ เขารับรู้รสนิยมแบบชายรักชายตั้งแต่ 9 ขวบ ทว่าในยุคที่คำว่า LGBTQIA+ ยังไม่ถูกใช้แพร่หลายในประเทศไทย รสนิยมของเขาจึงกลายเป็นสิ่งกำกวม และอาจถูกเหมารวมอยู่ในกล่องของ ‘ตุ๊ด’ ทั้งหมด

“ตอนนั้นมันไม่มีคำว่า LGBT ไม่มีคําจํากัดความที่ชัดเจนว่า L คืออะไร G B T คืออะไร มีแต่เรียกรวมๆ ว่าตุ๊ด ไม่ก็กะเทย แล้วใครจะอยากเป็นตุ๊ดล่ะ”

ตั้งแต่อดีต คำว่า ‘ตุ๊ด’ และ ‘กะเทย’ ถูกใช้เพื่อข่มขวัญอีกฝ่ายเพื่อให้อับอาย ถูกมองว่าอ่อนแอและแปลกแยกจากสังคม หลายคนจึงเลือกต่อต้านการเป็น ตุ๊ด กะเทย ตั้งแต่เด็ก ใครถูกเรียกเช่นนั้น ก็มักตามมาด้วยอารมณ์โกรธเกรี้ยว

จนถึงตอนโต หลายคนยังมีอคติกับคำว่าตุ๊ดหรือกะเทย เช่นเดียวกันกับจักรภพที่มองว่า การถูกเรียกลักษณะนี้ในตอนที่เขายังหนุ่ม อาจกระทบถึงขั้นสูญเสียอนาคตหน้าที่การงานที่มั่นคงดังที่เขาว่า “ผมอยากเป็นข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ อยากเป็นนักการทูต จะมาเป็นตุ๊ดได้อย่างไร”

จักรภพเปรียบเปรยว่า บริบทคำว่า ‘ตุ๊ด’ คล้ายการประกอบสร้างของความดีความเลว ให้ทุกคนเลือกระหว่าง 2 อย่างนี้ แน่นอนว่า ตุ๊ดกลายเป็นคำด้านลบที่คงไม่มีใครเลือกที่จะเป็น เป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงไม่ค่อยพบเยาวชนที่เปิดเผยว่า ตนเป็น LGBTQIA+ ตั้งแต่เด็ก เพราะหลายคนเลือกหลบซ่อน เกรงกลัวความเจ็บปวดที่อาจมาพร้อมกับการเปิดเผยตัวตน

ยังมีปัญหาสืบเนื่องจากการหลบซ่อนตัวตน คือวิธีหลีกหนีการจับผิดในรสนิยมทางเพศนำมาซึ่งความกดดัน LGBTQIA+ หลายคนจึงหลีกหนีโดยการโกหกรสนิยมเพื่อหลีกหนีการจับผิด

นี่เป็นสิ่งที่จักรภพกังวล เพราะการโกหกรสนิยมทางเพศอาจไม่ใช่เพียงคำพูด ผู้มีความหลากหลายทางเพศบางคนอาจสร้างตัวละครกำมะลอ เพื่อตบตากลุ่มคนที่อาจตั้งคำถามกับรสนิยมทางเพศ 

“บางคนแต่งงานกับผู้หญิงเพื่อให้เขาช่วยบังหน้า เป็นไปถึงขั้นมีลูกด้วยกันเพื่อให้สังคมเลิกตั้งคำถาม สุดท้ายเมื่อไม่ชอบพอกันจริงๆ ก็แอบไปเอาคนอื่นข้างนอก แบบนี้มันจะยิ่งร้าวฉานร้าวรานเข้าไปใหญ่” จักรภพพูดถึงสังคมที่เขาเจอ

รักที่ไม่ต้องหลบซ่อน 

“สวัสดีค่ะ เลขาฯ คุณจักรภพนะคะ”

ก่อนหน้าที่ทุกคนจะรู้จักสมรสเท่าเทียม และก่อนหน้าที่จักรภพจะรวบรวมความกล้าเปิดเผยรสนิยมทางเพศ ป๊อบถูกนิยามว่าเป็น ‘คนอื่น’ เสมอมา ทั้งตำแหน่งเลขานุการ ตำแหน่งผู้ช่วยส่วนตัว เป็นทุกอย่าง ยกเว้น ‘คนรัก’ เพื่อหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ที่คนนอกอาจตั้งคำถาม

“ผมบอกว่าเขาเป็นผู้ช่วย หรือเลขาฯ ด้นสดไปเรื่อยอยู่แบบนั้น บางคนก็ตั้งคำถามว่าเป็นเลขาฯ ต้องนอนด้วยกันเหรอ จับผิดเราว่านอนเตียงเดี่ยวหรือคู่” จักรภพระบุ

การปิดบังความสัมพันธ์ระหว่างป๊อบและจักรภพเป็นเกราะป้องกันความไม่เข้าใจทางสังคม หลายครั้งการเปิดเผยตัวตน (Come Out) ไม่ได้นำมาซึ่งอิสรภาพและความสุข ตรงกันข้ามอาจนำมาซึ่งความทุกข์จากการถูกตีตราทางเพศ สำหรับจักรภพการเก็บป๊อบไว้เป็นคนในความลับ ย่อมดีกว่าการป่าวประกาศให้ใครรู้

เหตุการณ์หนึ่งที่จักรภพภูมิใจนำเสนอ คือช่วงที่ป๊อบถูกพบในห้องนอนของเขาโดยหนุ่มใต้อย่าง เต้น-ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เพื่อนแกนนำคนเสื้อแดง อย่างไม่ได้ตั้งใจ

“ช่วงกลางดึก ป๊อบมาหาผม โดยไม่มีใครรู้ ตัวผมไม่ได้อยู่ในห้องเนื่องจากไปประชุม เลยซ่อนป๊อบไว้ในห้อง สักพักป๊อบกำลังจะออกไปด้านนอก ประตูก็ถูกเปิดมาอย่างแรกกระแทกป๊อปจนล้มลงไปนอนกับพื้น เป็นเต้นที่เปิดเข้ามา แล้วเขาก็เหวอ คิดว่าเข้าผิดห้อง” จักรภพเล่า

สำหรับป๊อบในสถานการณ์นั้น สิ่งที่ทำได้คือบอกไปว่าเข้าผิดห้องเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม วันนี้ ในแง่ของกฎหมาย สมรสเท่าเทียมนับเป็นความก้าวหน้าในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุด ส่วนการสนับสนุนระหว่างทางที่ทำให้สิทธิของ LGBTQIA+ เป็นที่ถกเถียง มีแรงสนับสนุน ล้วนชี้ชัดถึงแรงสนับสนุน สะท้อนภาพมุมมองทางเพศของชาวไทยที่ไปไกลกว่าหญิงและชายแล้ว

สำคัญคือ เมื่อกฎหมายบัญญัติความหลากหลายทางเพศไว้ในตัวบท รองรับสิทธิของคนในกรอบชาย-หญิงไว้ การทำงานกับมุมมองสังคมต่อ LGBTQIA+ ย่อมเป็นเรื่องง่าย จากการยอมรับที่มากขึ้น 

“เมื่อเราไม่ต้องหลบซ่อน ผมจึงมีความสุขไปอีกชั้นหนึ่งแล้ว เหมือนอิ่มทิพย์ไปอีกชั้นหนึ่ง ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมารับรู้ ส่วนตัวก็รู้สึกว่านี่คือการให้เกียรติคู่รักของเรา”

เสียงจากคู่รักใต้ชายคาร้านหนังสือเล็กๆ ย่านพระนครแห่งนี้ เป็นผลลัพธ์เล็กๆ อันเกิดจากมุมมองทางเพศของไทยที่เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี ในวันนี้ป๊อบและจักรภพไม่จำเป็นต้องเดินหลบสายตาผู้คน จะนั่งรถคันเดียวกัน ร่วมโต๊ะกินข้าว นอนเตียงเดียวกัน จะไม่มีคำถามอีกแล้วว่าเหตุใดชาย-ชายจึงนอนด้วยกันได้ จะไม่มีอีกแล้วกับความกังวลในเรื่องหน้าที่การงานหากเปิดเผยว่าตนเป็นเกย์ 

แสงอาทิตย์ยามเย็นส่องลอดกระจกกระทบโต๊ะเก้าอี้ของร้าน 16.00 น. เป็นช่วงเวลาที่เหมาะควรแก่การเดินลัดเลาะบนถนนเฟื่องนคร ในการนัดหมาย จักรภพ-ป๊อบ กำชับขอให้เดินไปยัง ‘สนามหลวง’ ที่ซึ่งถูกนิยามว่าเป็นความทรงจำของการต่อสู้ร่วมกัน

ความรักระหว่างเพศเดียวกันมิได้แตกต่างจากความรักคู่บนถนนสายเดียวกัน ทั้งคู่จับมือถือแขน กอด หอม อย่างที่คู่รักจะทำกัน ไม่มีสิ่งใดที่บ่งบอกว่าความรักของ LGBTQIA+ แตกต่างจากชายและหญิง และหากมันไม่แตกต่าง พวกเขาก็ควรได้รับสิทธิในชีวิตคู่เช่นเดียวกันใช่หรือไม่

“เมื่อกฎหมายผ่านเราจะจดทะเบียนสมรส และแต่งงานกัน ส่วนชุดแต่งงานยังไม่ได้หา พอเธอพูดมาก็เลยคิดขึ้นมาได้เลย ก็ว่าถ้าจะแต่งรอบนี้ก็จะทำให้เป็นสัญลักษณ์ไปเลย” จักรภพทิ้งท้าย

Fact Box

  • จักรภพ เพ็ญแข มีประสบการณ์ทำงานเป็นทั้งนักเขียนหนังสือ นักวิชาการ นักจัดรายการ และนักการเมืองระดับรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรียุคทักษิณ ชินวัตร 2
  • ป๊อบพบกับจักรภพครั้งแรกภายในงานสัปดาห์หนังสือจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
Tags: , , , , , , , , ,