ปี 2002 ชายชาวเกาหลีผู้เป็นอดีตโค้ชกีฬาเทควันโดทีมชาติบาห์เรนเดินทางมาถึงประเทศไทย ดินแดนแปลกตาที่เขาไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับประเทศนี้เลย ทั้งภาษาและวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งเทควันโดทีมชาติไทย สิ่งที่เขารู้มีเพียงอย่างเดียว คือสัญญาระยะสั้นจากสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย ในการพาเทควันโดทีมชาติไทยคว้าเหรียญในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ที่เมืองปูซาน บ้านเกิดของเขาเองให้ได้
การแข่งครั้งนั้น ทีมชาติไทยคว้าสองเหรียญเงิน หลังจากพ่ายแพ้ต่อเกาหลีใต้ในนัดชิงชนะเลิศ
หลังจบสัญญาระยะสั้น หลายประเทศติดต่อมาให้เขาไปเป็นผู้ฝึกสอน ทว่านักกีฬาไทยที่ได้ฝึกซ้อมกับเขารวมตัวร้องขอต่อสมาคมให้พิจารณานำโค้ชชาวเกาหลีใต้กลับมา เพื่อเป็นผู้นำนักกีฬาสู่การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ในปี 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นฝันอันห่างไกล
จากวันนั้นถึงวันนี้ ชเว ยอง ซอก หรือที่ชาวไทยคุ้นเคยในนาม ‘โค้ชเช’ ทำหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอนเทควันโดทีมชาติไทยมาแล้วกว่า 20 ปี พาทีมชาติคว้าเหรียญรางวัลในระดับนานาชาติมาแล้วมากมาย ทั้งยังสร้างนักกีฬาเทควันโดรุ่นใหม่หลายคนมาประดับวงการ
ในอดีตทีมชาติไทยคว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกมาแล้วทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงในหลายชนิดกีฬา หากแต่ว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผู้ที่พาทีมชาติไทยคว้าเหรียญล้วนเป็นโค้ชต่างชาติทั้งสิ้น ซึ่งนั่นคือเป้าหมายสูงสุดของโค้ชเชในวันนี้ ที่เขาเลือกสละสัญชาติเกาหลีเพื่อรับ ‘สัญชาติไทย’ หลังจากเป็นประเด็นในหน้าสื่อมายาวนาน
บ่ายวันหนึ่งที่สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย The Momentum ชวนโค้ชเชมาร่วมย้อนความทรงจำ ความสำเร็จ ความยากลำบาก และก้าวต่อไป ในวันที่ปัญหาทุกอย่างจบลงด้วยดี ก่อนมุ่งหน้าสู่เป้าหมายสำคัญที่เขาตั้งใจไว้
นั่นคือการเป็นโค้ชคนไทยคนแรกที่พาทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองโอลิมปิก
ย้อนกลับไปตอนปี 2002 ที่คุณย้ายมาทำงานที่ประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านั้นคุมทีมชาติบาห์เรน ทำไมถึงตัดสินใจย้ายมาทำงานที่นี่
ช่วงนั้นมีการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ประมาณเดือนกรกฎาคม ซึ่งประเทศไทยก็มีโค้ชเป็นชาวเกาหลีใต้อยู่แล้วคือโค้ชจาง ซึ่งสัญญาของเขาจะสิ้นสุดหลังเอเชียนเกมส์ครั้งนั้น แต่เขาเกิดมีปัญหากับสมาคมเทควันโดไทย แล้วได้อาชีพใหม่ที่เกาหลีพอดี เขาเลยยกเลิกสัญญา และกลับเกาหลี ผมจึงถูกจ้างมาเป็นเหมือนตัวแทนของโค้ชจาง
ผมไม่มีประสบการณ์เรื่องประเทศไทยเลย ไม่เคยมาและไม่เคยได้ยินชื่อเทควันโดทีมชาติไทย พอมาครั้งแรกก็รู้สึกว่ามีปัญหาแน่ เพราะตอนที่ผมมา เทควันโดไทยยังไม่มีทีม ส่วนใหญ่ก็เป็นนักกีฬาชุดเก่าๆ พอเริ่มงาน ผมก็คุยกับสมาคมเพื่อวางแผนเรื่องเตรียมแข่งเอเชียนเกมส์ ผมอยากคัดตัวนักกีฬาใหม่ ตอนนั้นมีชิงแชมป์เทควันโดประเทศไทยที่นครสวรรค์ ผมก็ไปดูแล้วเลือกนักกีฬามา 20 กว่าคนให้มาฝึก ก่อนคัดเหลือ 10 กว่าคน
ปัญหาของสมาคมเทควันโดไทยที่คุณมองเห็นตอนนั้นคืออะไร
ความจริงไม่มีอะไรเท่าไหร่ แต่ว่าอาจารย์ผมเคยทำงานที่สหพันธ์เทควันโดโลก เขาแนะนำให้มาที่ประเทศไทยเพื่อแค่เป็นตัวแทนโค้ชเก่าคือโค้ชจาง แล้วสัญญาของผมก็แค่ช่วงเอเชียนเกมส์ คือประมาณ 6-7 เดือน พอแข่งเสร็จ หมดสัญญา ผมก็ต้องกลับเกาหลี
เพราะฉะนั้น ตอนนั้นผมไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่ แล้วผมก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับสมาคมเทควันโดไทย แต่ผมแค่ตั้งใจทำหน้าที่เรื่องเตรียมเอเชียนเกมส์ปี 2002 ให้ดีที่สุดเท่านั้น
การเป็นโค้ชทีมชาติไทยมีความกดดันต่างจากที่อื่นที่เคยคุมไหม
ผมกดดันเรื่องสัญญาในเอเชียนเกมส์ เพราะตอนแรกที่มาคุยกับทางเจ้าหน้าที่สมาคม เขาบอกว่า “โค้ชเช เราต้องการอย่างน้อยหนึ่งเหรียญทองแดง” เพราะนักกีฬาเทควันโดเราไม่ค่อยได้เหรียญเท่าไหร่ แล้วเอเชียนเกมส์เป็นการแข่งขันที่ใหญ่ พวกเทควันโดเอเชียส่วนใหญ่เก่งมาก เช่น เกาหลีใต้ อิหร่าน ไทเป จีน
ตอนนั้นผมยอมรับว่าไม่มั่นใจว่ามีโอกาสจะได้เหรียญ แต่ผมไม่กล้าพูดกับนักกีฬาและสมาคม เพราะทุกคนจะเสียกำลังใจ ผมเลยพยายามเต็มที่ เพราะเป็นหน้าที่ของผมที่ต้องได้ผลงานจากเอเชียนเกมส์
แล้วคุณทำอย่างไรในระยะเวลาเพียงสั้นๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้
ตอนนั้นผมพูดภาษาไทยไม่ได้เลย แล้วผมมองว่านักกีฬายังไม่มีเทคนิค จุดดีที่ผมเห็นคือทุกคนตั้งใจซ้อม ดังนั้น ผมตัดสินใจว่าไม่ต้องสนใจเทคนิค แต่ใช้วิธีเข้าคู่กับนักกีฬาด้วยตัวเองไปเลย ไม่ใช่สอนอย่างเดียว เพราะผมคิดว่าไม่มีเวลาแล้ว
ช่วงนั้นผมเข้าคู่กับนักกีฬาอย่างเดียวประมาณ 5-6 เดือน และสอนไปด้วย ถ้าเป็นนักกีฬาตัวเล็กเจอนักกีฬาตัวสูงต้องสู้อย่างไร เมื่อไหร่ต้องชน เมื่อไหร่ต้องเตะ หลังจากนั้นผมยังเข้าคู่กับนักกีฬาด้วยตัวเองถึงสิบปีจนถึงโอลิมปิกปี 2012 ที่ลอนดอน เพราะว่าเป็นนักกีฬาต้องสู้ ทุกคนรู้ว่ายังไงก็ต้องสู้ เพราะฉะนั้น ผมก็ต้องใช้ตัวเองสู้ด้วย
ผลสรุปเอเชียนส์เกมปีนั้น เราส่งนักกีฬาชาย 4 คน นักกีฬาหญิง 4 คน เราได้สองเหรียญเงิน เพราะรอบชิงไปแพ้เกาหลีใต้ทั้งสองคน แต่ผมคิดว่าได้เหรียญเงินก็ดีแล้ว เพราะนักกีฬาซ้อมกันมาแค่ 8 เดือนเอง ผมคิดว่าค่อยๆ ไปเหมือนเดินขึ้นบันไดเป็นแบบทีละขั้นดีกว่า
หลังแข่งเอเชียนเกมส์เสร็จคุณวางแผนอย่างไรต่อ
ตอนนั้นผมคิดว่าแข่งเสร็จที่ปูซานก็คงไม่กลับไทยแล้ว เพราะข้าวของทุกอย่างผมเอากลับมาที่เกาหลีหมด สัญญาก็สิ้นสุดหลังเอเชียนเกมส์ด้วย แต่วันสุดท้ายก่อนกลับ นักกีฬามาหาผมแล้วบอกว่า ขอให้ผมสอนอีกได้ไหม ผมถามว่าทำไม ปีหน้ามีซีเกมส์ก็น่าจะมีโค้ชใหม่ที่ดีกว่าผมมา แต่ทุกคนบอกว่าต้องการผม เขาเห็นผมตั้งใจและมุ่งมั่นจริงๆ แล้วทุกคนฝันอยากไปโอลิมปิกอีกสองปีข้างหน้าที่เอเธนส์ (2004)
วันนั้นผมประทับใจมาก แต่เรื่องสัญญาก็ไม่ใช่สิ่งที่ผมสามารถจัดการได้ หลังจากนั้น นักกีฬากลับไทย แต่ผมไม่ได้กลับ นักกีฬาเขาก็นัดคุยกับผู้ใหญ่ที่สมาคมเทควันโดว่าต้องการโค้ชเช ทางสมาคมก็เลยติดต่อผมมา ความจริงหลังจากเอเชียนเกมส์จบ มาเลเซียกับเวียดนามก็ติดต่อมาหาผม เขาพร้อมทำสัญญาและตกลงเรื่องเงินเดือนแล้ว แต่ว่าใจผมก็ยังติดกับลูกศิษย์ที่เป็นนักกีฬาไทย
ผมเลยลองคุยกับอาจารย์ผมที่เกาหลี และครอบครัว ผมบอกเขาว่า ผมขอเวลาอีกสองปีเพื่อมาช่วยให้นักกีฬาไทยไปโอลิมปิก เพราะโอลิมปิกไม่เหมือนเอเชียนเกมส์ มันต้องมีการผ่านรอบคัดเลือก ดังนั้น ผมเลยตัดสินใจกลับมาที่ไทย
พอตัดสินใจกลับมา สิ่งแรกคุณอยากเปลี่ยนแปลงในการฝึกซ้อมคืออะไร
ผมบอกนักกีฬาว่า ถ้าคุณมีฝันอยากไปโอลิมปิกหรืออยากได้เหรียญโอลิมปิก คุณต้องซ้อมหนักกว่าเดิม ระเบียบวินัยต้องหนักกว่าเดิม ทุกอย่างต้องหนักกว่าเดิม ทุกคนก็โอเค ผมจำได้ว่าช่วงนั้นซ้อมหนักจริงๆ จากคนซ้อม 20 คน เหลือประมาณ 3-4 คน เพราะซ้อมหนักมาก แต่เทควันโดเป็นกีฬาที่ต้องสู้ ฉะนั้นนักกีฬาต่อสู้ก็ต้องใจสู้ และต้องพยายามอดทน
ผมมองว่านักกีฬาเกาหลีกับนักกีฬาไทยไม่ต่างกันมาก แต่คนเกาหลีตอนเด็กๆ ต้องมีระเบียบวินัยเหมือนเป็นทหารเลย แต่เด็กไทยมีอิสระมากกว่าเด็กเกาหลี ดังนั้น สิ่งแรกที่ผมตั้งใจสอนคือเรื่องระเบียบวินัย เราซ้อมหกโมงเช้า บางคนก็มาหกโมงห้านาที สิบนาที ช่วงแรกผมไม่สน ผมให้กลับไปนอนต่อเลย เพราะคุณมาแล้วแต่ใจยังไม่พร้อม ตอนแรกเขาไม่เข้าใจกันเยอะ แต่สักพักเขาก็รู้แล้วว่าโค้ชไม่ชอบให้มาสาย ต้องตรงเวลา อย่างน้อยต้องมาก่อนโค้ช เขาก็ค่อยๆ เรียนรู้ไป
ที่ผมอยู่มาได้ยี่สิบปีเพราะผมตั้งใจสอนเรื่องระเบียบวินัยก่อนตั้งแต่แรก ไม่ใช่เรื่องเทคนิค ถึงตอนนี้นักกีฬาชุดปัจจุบันและชุดใหม่ทุกคนรู้ว่าโค้ชเชชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีระเบียบวินัย
วัฒนธรรมเกาหลีกับไทยไม่เหมือนกัน บางคนก็ทนความเข้มงวดของระเบียบวินัยและการฝึกซ้อมแบบเกาหลีไม่ไหว ทำไมคุณถึงเลือกที่จะไม่ลดความเข้มงวดลง
ไม่เลย เพราะถ้าไม่ไหว ทนไม่ได้ ก็ติดทีมชาติไม่ได้ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณไปแข่งระดับนานาชาติ และติดธงชาติ เวลาแพ้ไม่ใช่คุณแพ้คนเดียว คนไทยก็เหมือนแพ้ด้วย
ผมพูดตรงตลอด ใครไม่ไหวก็ต้องกลับบ้าน จะเหลือแค่หนึ่งหรือสองคนผมก็ยินดี เพราะถ้าคุณอยู่ที่นี่ คุณได้เงินเดือน ได้เสื้อผ้า ได้อาหารกิน ผมอยากให้นักกีฬามีสปิริตและใจแข็งแรงไม่ใช่ใช้แค่เทคนิคอย่างเดียว ถ้าข้างในไม่แข็งแรง เทคนิคก็ใช้ไม่ได้ เพราะเทควันโดไม่ใช่กีฬาบุคคลเหมือนว่ายน้ำหรือยิงปืน มันเป็นกีฬาต่อสู้ คุณต้องมีคู่ต่อสู้
มันจึงเป็นที่มาที่คนบอกว่าคุณเข้มงวดใช่ไหม ในมุมของคุณ ความเข้มงวดหรือระเบียบวินัยสำคัญกับนักกีฬาอย่างไร
ต้องเข้าใจว่าคุณไม่ได้เล่นกีฬาตลอดชีวิต วันหนึ่งคุณก็ต้องเลิก ฉะนั้น มันไม่ใช่แค่เรื่องตอนเป็นนักกีฬา แต่ถ้าคุณมีระเบียบวินัย มีมารยาท คุณไปใช้ชีวิตข้างนอกก็ได้ แล้วไม่ใช่แค่กับเรื่องกีฬา แต่ใช้กับอาชีพไหนก็ได้
ผมมีประสบการณ์ทั้งโอลิมปิก เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ ผมเห็นมาหมดทั้งนักกีฬาไทย นักกีฬาเกาหลีใต้ ถ้าคุณเก่งและมีระเบียบวินัยดี อนาคตจะดีมาก แต่ว่าบางคนผลงานดี ไม่มีระเบียบวินัย ชีวิตจะลำบาก สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่อาจารย์ผมเคยสอนเสมอ สำหรับผม ฝีมือและเทคนิคสำคัญ แต่ว่าระเบียบวินัยสำคัญกว่า
ทุกวันนี้ยังใช้ระบบเดิมไหม
เหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยน
ปกติคุณมีวิธีวางตัวกับนักกีฬาอย่างไร หากไม่ใช่การฝึกซ้อม
เรามีกติกาของเรา แต่ใช้แค่ตอนซ้อมอย่างเดียว ตอนพักผมให้เวลาเต็มที่ ตอนเล่นให้เล่นเต็มที่ แต่ว่าเวลาซ้อมต้องตั้งใจ เพราะเราแข่งก็มีโอกาสบาดเจ็บบ่อย ถ้าไม่ตั้งใจ ไม่มุ่งมั่น ก็มีโอกาสบาดเจ็บด้วย แล้วอาจไม่ได้พัฒนาด้วย อีกอย่าง เทควันโดซ้อมเป็นทีมก็จริง แต่เวลาลงแข่งเป็นการแข่งบุคคล ไม่ใช่แข่งทีมเหมือนฟุตบอลหรือวอลเลย์บอล
เคยมีนักกีฬามาปรึกษาเรื่องการใช้ชีวิตกับคุณบ้างไหม
ตอนซ้อม ผมสอนเรื่องเทคนิค เรื่องกีฬา แต่ว่านอกเหนือจากการซ้อม ผมก็พยายามคุยกับนักกีฬาเรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว บางคนผมไม่เคยรู้ชีวิตเขาเลย เขาไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ หรือพ่อแม่แยกกัน มีหลายเรื่อง คือถ้าเรื่องส่วนตัวเขามีปัญหามันอาจส่งผลเรื่องความตั้งใจซ้อม
ผมอยากรู้ว่าใครมีปัญหาอะไรไหม บางทีผมก็เรียกมาถาม พอถาม เขาก็จะรู้สึกว่าโค้ชสนใจ ตั้งใจกับเขา มันก็เป็นกำลังใจ เป็นแรงบันดาลใจให้เขา เพราะเรื่องจิตใจสำคัญมาก
คุณพานักกีฬาเทควันโดไทยคว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันมากมาย ถ้าให้มองย้อนกลับไป ความสำเร็จเหล่านั้นยากไหมกว่าจะได้มา
แน่นอนว่ายาก โดยเฉพาะช่วงแรก ผมพูดตรงๆ ว่าตอนมาครั้งแรก เทควันโดทีมชาติไทยคือโนเนม ชาติอื่นไม่มีใครรู้จักนักกีฬาไทย ถ้าเมื่อไหร่ได้เจอนักกีฬาไทยตอนแข่ง เขาจะคิดว่าสบายแล้ว เหมือนแค่มาฝึกซ้อม แต่พอถึงมาวันนี้ นักกีฬาทุกชาติกลัวนักกีฬาไทยแม้แต่เกาหลีใต้ก็ตาม ดังนั้นมันยากจริงๆ เพราะผมดุและเข้มงวดมาก
ช่วงแรก เวลามาซ้อมใครจะดื่มอะไรต้องให้ผมอนุมัติก่อน ถ้าใครดื่มน้ำเองโดยไม่ได้รับอนุมัติ ทุกคนต้องโดนทำโทษ เราซ้อมด้วยกัน แต่มีคนหนึ่งทำผิด ผมก็ต้องทำโทษหมด เพราะผมอยากสร้างให้เป็นทีม ไม่ใช่ใครสำคัญคนเดียว
ผมจึงรู้สึกขอบคุณทางสมาคมและนักกีฬาทั้งชุดเก่าและชุดปัจจุบันมากที่พยายามอดทนถึงวันนี้ ให้ผมดุ ให้ซ้อมหนัก ให้ระเบียบวินัย ทุกคนก็พยายามทำตาม ถ้าผมซ้อมหนักไปแล้วไม่มีผลงาน ทุกคนก็ตำหนิแน่ ฉะนั้น ผมก็รู้สึกดีที่ผลงานดีด้วย นักกีฬาทุกคน สตาฟโค้ช ก็มีความเชื่อเดียวกัน เลยทำให้เทควันโดไทยเรามาได้จนถึงวันนี้
เวลาคนมองโค้ชเช เขาจะเห็นความสำเร็จที่คุณสร้างกับเทควันโดทีมชาติไทย แล้วคุณเคยมีช่วงเวลาที่ล้มเหลวบ้างไหม
เคยมี บางทีผมเชื่อว่าการแข่งครั้งนี้ นักกีฬาคนนี้มีโอกาสได้เหรียญทอง แต่สุดท้ายก็แพ้ แล้วผมเป็นโค้ช ผมก็คิดว่านักกีฬาแพ้เพราะผม
ช่วงแรกๆ ตอนอายุช่วง 30 ปี ผมแพสชันเยอะมาก ตอนที่นักกีฬาแพ้หรือนักกีฬาผลงานไม่ดี ผมก็คิดว่าตัวผมไม่ดี ผมต้องหยุดเป็นโค้ชไหม แต่พอมันผ่านมา ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติ กีฬาชนะได้ก็แพ้ได้ ถ้าครั้งนี้แพ้เราก็ซ้อมต่อ ครั้งหน้าอาจชนะก็ได้ มันไม่ได้มีแข่งแค่ครั้งเดียว ตัวผมเองก็ต้องพยายามบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร รอคราวหน้าได้ ต้องดูแลจิตใจตัวเองไป
เวลานักกีฬาได้เหรียญรางวัล สิ่งแรกที่คุณจะไปพูดกับพวกเขาคืออะไร
คนที่ไม่ได้เหรียญ ผมจะให้กำลังใจและคำชื่นชม แต่คนที่ได้เหรียญผมจะไม่ค่อยชื่นชม ผมแค่กอด แต่จะไม่บอกว่า ดีมาก สุดยอดมาก ผมไม่เคยทำ เพราะถ้าผมแสดงออกแบบนั้น เขาจะคิดว่าครั้งนี้เหมือนตอนจบแล้ว แต่ผมคิดว่ามันยังไม่จบ ถ้าได้เหรียญทองแดงหรือเหรียญเงิน แต่ไม่ได้ถึงเหรียญทองก็ต้องพยายามต่อ ไม่ใช่บอกว่า ‘สุดยอดมาก ได้เหรียญทองแดง’ ผมไม่ค่อยแสดงกับนักกีฬาแบบนั้น เพราะมีเหตุผล ผมอยากให้นักกีฬาเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า ยังไม่ถึงเหรียญทองมันก็ยังไม่จบ ยังต้องไปต่อเนื่อง
ช่วงที่ผ่านมามีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนสัญชาติของคุณ อยากให้เล่าหน่อยว่า ก่อนหน้านี้สถานะของโค้ชในการอยู่เมืองไทยโดยถือสัญชาติเกาหลีเป็นอย่างไร
ความจริงก่อนหน้านี้ผมเองตัดสินใจลำบาก เรื่องแรกคือคุณยาย เพราะว่าพ่อแม่ผมเสียตั้งแต่ยังเด็ก คุณยายก็เลี้ยงผมมา ตอนนั้นคุณยายผมอายุ 95 ปี ผมรู้ว่าท่านก็คงอยู่อีกไม่นาน และไม่อยากให้ท่านมองว่าผมทิ้งสัญชาติเกาหลี ผมเลยต้องพยายามรอเวลา เรื่องที่สอง ถ้าสามารถทำได้ผมก็อยากขอสองสัญชาติ ตอนแรกรัฐบาลไทยจะให้เป็นกรณีพิเศษ คือให้ผมถือสองสัญชาติ แต่ว่าที่เกาหลีทำไม่ได้
พอมาตอนนี้ ผมมีเหตุผลชัดเจนว่า ปีนี้เรามีโอกาสคว้าเหรียญทองโอลิมปิกที่โตเกียวได้ ที่ผ่านมากีฬาไทยได้เหรียญโอลิมปิกจากสามประเภทกีฬา มวยสากล ยกน้ำหนัก และเทควันโด แต่ถ้าพูดถึงเหรียญทอง เรามีโค้ชเป็นคนต่างชาติทั้งหมด แต่ครั้งนี้ ผมอยากได้สัญชาติไทย เพื่อเป็นคนไทยที่พาทีมชาติไทยคว้าเหรียญทอง และสร้างประวัติศาสตร์ให้เทควันโดไทยเรา นั่นเป็นเหตุผลข้อแรกเลย
เป็นการตัดสินใจที่ยากสุดในชีวิตไหม
แน่นอน เพราะว่ามันเกี่ยวกับเรื่องประเทศชาติ แต่คนเกาหลีส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าประเทศไทยเหมือนบ้านหลังที่สองของโค้ชเช ผมอยู่ที่ไทย 20 ปี ตรงกันข้าม ผมไม่ได้อยู่เกาหลี 20 ปี เหมือนความสัมพันธ์ที่เกาหลีก็น้อยกว่า แล้วกฎหมายหรือระบบที่ไทยก็เข้มงวด การเป็นคนต่างชาติทำอะไรลำบาก ซื้อบ้านไม่ได้ รับตำแหน่งทั้งทางสมาคมหรือเรื่องต่างๆ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามองยาวๆ ถึงอนาคต หากจะสร้างชีวิตที่นี่ ผมก็ต้องเป็นคนไทย
ผมคุยกับทางนายกสมาคมเทควันโดไทย (พิมล ศรีวิกรม์) ว่าผมอยากสร้างชื่อ สร้างอนาคตที่ไทย ผมจึงต้องมีสัญชาติไทย แล้วหากหลังจากนี้ 20 ปี 30 ปี ถ้าผมต้องกลับเกาหลี ผมค่อยเปลี่ยนสัญชาติกลับเป็นเกาหลีก็ได้ เพราะเกาหลีสามารถเปลี่ยนสัญชาติได้ครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นผมก็มองยาวๆ แต่สิ่งสำคัญคือผมอยากเป็นโค้ชไทยคนแรกที่ได้เหรียญทอง
เวลาพูดถึงการเปลี่ยนสัญชาติจะมีฟีดแบ็กทั้งแง่บวกและแง่ลบ เช่น ประเด็นเรื่องความรักชาติ คุณคิดอย่างไรกับประเด็นนี้
บางคนไม่เข้าใจว่าชาติอื่นให้เงินเดือนและสวัสดิการดีกว่าที่ไทย ทำไมโค้ชเชไม่ไป แต่สำหรับผม ผมพูดตลอดว่านักกีฬาเหมือนลูกชายลูกสาว ถ้าไปเป็นโค้ชชาติอื่นแล้วผมนั่งเป็นโค้ชฝั่งตรงข้าม ต้องสู้กับลูกชายลูกสาว ต้องพยายามชนะพวกเขา ผมไม่อยากทำ
ประเด็นการเปลี่ยนสัญชาติของคุณคาราคาซังมานาน จนวันนี้ที่มันจบแล้ว คุณรู้สึกอย่างไร
ตอนนี้สบายใจมาก จริงๆ แล้วเกือบทุกครั้งหลังจากจบการแข่งขันใหญ่ๆ เช่น เอเชียนเกมส์ โอลิมปิก พอเทควันโดเราคว้าผลงานดีกลับมา ทุกคนก็พูดถึงเรื่องเปลี่ยนสัญชาติ แต่ผมยังไม่พร้อม และยังไม่ตัดสินใจร้อยเปอร์เซ็นต์
อย่างที่บอก ผมก็ออกข่าวไม่ได้เพราะมันเซนซิทีฟมาก และมีผลทั้งฝั่งเกาหลี ทั้งฝั่งไทย เพราะฉะนั้นก็ต้องรอจังหวะและโอกาส จนครั้งนี้ผมตัดสินใจชัดเจนว่า ไม่ต้องถือสองสัญชาติก็ได้ แต่ผมอยากเป็นคนไทย
พอเปลี่ยนสัญชาติไทยแล้ววางแผนตัวเองอย่างไรบ้าง
ผมอยากจะอยู่ที่นี่นานๆ ไม่ใช่แค่เรื่องการเป็นโค้ช แต่อยากดูแลเรื่องการบริหารที่สมาคม และถ้ามีโอกาสช่วยอะไรได้ ผมก็จะพยายามช่วย เพราะหลังจากนี้ผมเป็นคนไทยแล้ว เวลาติดต่ออะไรก็สะดวก สบายใจกว่า
ส่วนเป้าหมายกับเทควันโดไทยคือปีนี้ได้เหรียญทองโอลิมปิก ทำประวัติศาสตร์ให้ไทยเรา และไม่ใช่ทีมชาติอย่างเดียว แต่รวมถึงโครงการเทควันโดไทยเราด้วย เพราะเทควันโดมาจากเกาหลี แต่ถ้าผมสามารถช่วยเรื่องเทควันโดหรือกีฬาในไทยได้ ผมก็ยินดีและพร้อมพยายามเต็มที่ โชคดีที่ครอบครัวผมก็รักเมืองไทย และชอบอยู่ที่นี่ ผมก็อยากอยู่กับครอบครัวและสร้างชีวิตที่สวยงามที่นี่
อยู่กับเทควันโดทีมชาติไทยมา 20 ปี คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง
ได้เรียนรู้หลายเรื่อง ที่ชัดเจนคือเรื่องวัฒนธรรมไทย นิสัยคนไทย ช่วงแรกๆ ผมไม่ค่อยรู้เรื่องวัฒนธรรมไทย เพราะตั้งใจทำงาน ตั้งใจสอนอย่างเดียว แต่พอมาหลังๆ ผมก็รู้สึกว่าสิ่งที่ดีที่สุดในไทยคือเรื่องอิสระและความมีน้ำใจ ผมมีคนรู้จักที่นี่เยอะขึ้น ทุกคนเป็นมิตรกับผมมากและพยายามช่วยผม คำว่า “เหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง” ไม่ใช่แค่คำพูด แต่ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ รวมถึงสมาคม นักกีฬาทุกคน ทั้งเก่าและปัจจุบันก็เหมือนเป็นครอบครัวผม ผมอยู่ที่นี่มีความสุขมากที่สุด
การเป็นโค้ชกีฬามันสอนอะไรบ้างกับชีวิตคุณ
ผมเป็นโค้ชเทควันโดมา 25 ปี การเป็นโค้ชสอนทุกอย่างไม่ใช่แค่เรื่องระเบียบวินัย เพราะเวลาผมสอนนักกีฬา ผมต้องเป็นตัวอย่างให้พวกเขาด้วย เช่น นักกีฬาห้ามสูบบุหรี่ แต่ถ้าผมสูบมันก็ไม่ถูกต้อง ผมเรียนจบปริญญาเอกเพราะความต้องการส่วนตัว ผมคิดว่าการเรียนต่อ มองในอนาคตก็ดีกว่าไม่เรียน และอยากเป็นตัวอย่างให้นักกีฬาให้ชัดเจนด้วย ไม่ใช่พูดอย่างเดียวแต่ทำคนละเรื่อง อันนี้ไม่ได้ มันไม่ใช่ว่าคุณต้องเคารพผม เพราะผมเป็นโค้ช คุณเป็นลูกศิษย์ แต่มันต้องอยู่ที่ใจ ต้องเกิดความเชื่อต่อกัน
ถึงวันนี้ ที่นี่เหมือนบ้านผม ผมไม่ได้เกิดที่นี่ แต่ผมมีลูกศิษย์ที่เป็นลูกชายลูกสาวเกือบสองร้อยคน แล้วผมก็รักคนไทยทุกคน รักเมืองไทย
มองอนาคตวงการเทควันโดไทยอย่างไร
ผมว่าทีมชาติไทยเรามีอนาคตที่ดี เราได้ผลงานมาเกือบทุกรายการแข่งขัน แต่ผมอยากให้ช่วยพัฒนาเรื่องสโมสรต่างๆ เพราะผมยังเห็นในต่างจังหวัด เรื่องสถานที่ซ้อม อุปกรณ์ต่างๆ ยังไม่ค่อยดี และหากมีโอกาสเมื่อไหร่ผมก็อยากทำมูลนิธิโค้ชเช ผมอยากช่วย ไม่ใช่เฉพาะคนในวงการเทควันโดอย่างเดียว แต่ช่วยสนับสนุนเด็กๆ ที่ยากลำบาก ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีทุนทรัพย์ ไม่มีค่าเล่าเรียน เพราะที่ผ่านมาคนไทยรักผมมาก ผมก็อยากให้คืนไปให้เด็กที่ลำบากในชีวิต
ถ้าวันหนึ่งไม่ได้เป็นโค้ชแล้ว หรือต้องกลับเกาหลี คุณอยากให้คนไทยจดจำโค้ชเชในแบบไหน
มันเป็นเรื่องปกติที่พอนานไปคนก็ลืมได้ แต่อย่างน้อยหากปีนี้ได้เหรียญทองโอลิมปิกมา ก็อยากให้จำว่า โค้ชเชเป็นคนไทยที่สร้างประวัติศาสตร์เหรียญทองโอลิมปิกให้คนไทย เขาเป็นแค่คนธรรมดาที่ใช้ชีวิตด้วยความตั้งใจ และเป็นคนที่รักคนไทย รักเมืองไทยมาก
Tags: The Frame, taekwondo, choiyoungsuk, โค้ชเช, ชเว ยอง ซอก, เทควันโด, Sport