ถ้าพูดว่ามีหนังเรื่องหนึ่งขายตั๋วหมดในเวลาไม่ถึงนาที หลายคนอาจเดาว่าเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์จากฮอลลีวูดสักเรื่อง ไม่ก็หนังภาคต่อฟอร์มยักษ์ที่คนทั้งโลกรอคอย

แต่ถ้าเราบอกว่ามีหนังไทยที่ทำแบบนี้ได้ในการขายตั๋วล่วงหน้ารอบพิเศษที่ประเทศเกาหลีใต้ คุณจะเชื่อไหม

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะหนังเรื่องนั้นคือ ร่างทรง ผลงานหนังสยองขวัญเรื่องล่าสุดของ ‘โต้ง’ – บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับหนังพันล้านอย่าง พี่มาก..พระโขนง (2556) และหนังผีไทยที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่าง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547)

26 คือจำนวนวินาทีแบบเป๊ะๆ ที่ตั๋วรอบพิเศษของ ร่างทรง ถูกขายจนหมดเกลี้ยง

บางคนอาจจะไม่แปลกใจ เพราะตั้งแต่ค่าย GDH ประกาศโปรเจ็กต์นี้ในปี 2563 ว่านี่คือหนังที่ร่วมทุนสร้างกับค่าย ShowBox ของเกาหลี และมี นา ฮง-จิน ผู้กำกับหนังสยองที่สั่นประสาทคนทั่วโลกอย่าง The Wailing (2016) มารับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ คอหนังผีหลายคนก็นับวันรอทันที

ก่อนหน้านั้น ผู้กำกับทั้งสองคนเจอกันในงาน Cinema Diverse ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อหกปีก่อน บรรจงได้มอบดีวีดีหนังทุกเรื่องของเขาให้นา ฮง-จิน อีกสามปีต่อมา เขาก็ได้รับการติดต่อจากผู้กำกับในดวงใจว่ามีโปรเจ็กต์สนุกๆ ที่อยากให้บรรจงมาทำด้วยกัน

แม้จะเป็นหนังว่าด้วยร่างทรงในภาคอีสานของไทย และออกฉายท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้หลายคนไม่กล้าไปดูหนังในโรง แต่ ร่างทรง ถล่มบ็อกซ์ออฟฟิศเกาหลีด้วยการขึ้นอันดับ 1 ตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉาย แถมยังกวาดรายได้ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์กับไต้หวัน และได้รับเลือกไปฉายในเทศกาลดังๆ ในหลายประเทศ นอกจากนี้ เมื่อเข้าฉายในไทย ร่างทรง ก็ขึ้นแท่นหนังไทยที่เปิดตัวด้วยรายได้สูงสุดอันดับ 1 ของปีทันที

ล่าสุด หนังเรื่องนี้ได้รับเลือกจากสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ บรรจงทำหนังเกี่ยวกับร่างทรงโดยไม่เชื่อเรื่องร่างทรงเลย “จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เชื่อ” ผู้กำกับหนุ่มยืนยันในตอนหนึ่งของบทสนทนา

จากความไม่เชื่อนั้น เขาทำหนังเกี่ยวกับความเชื่อให้เฮี้ยนขนาดนี้ได้อย่างไร ให้บทสนทนาต่อไปนี้เล่าให้ฟัง

อะไรทำให้คุณตอบตกลงตอนที่ นา ฮง-จิน ชวนให้มากำกับ ร่างทรง

จริงๆ ไม่ต้องคิดมากเลยครับ นา ฮง-จิน จะชวนผมทำอะไร โยนอะไรมา ผมก็ทำหมด (หัวเราะ) คือผมรู้สึกว่าคนระดับนี้เขาไม่ตัดสินใจทำอะไรง่ายๆ เขาทำหนังมานานแล้ว และอายุมากกว่าผม ถึงจะทำมาแค่สามเรื่อง แต่ทุกเรื่องก็ท็อปฟอร์มหมดเลย เขาเป็นแค่คนที่ผมนับถือมาก ชื่นชมในผลงานมากอยู่แล้ว

พอเขามาชวน แวบแรกก็คิดว่า เฮ้ย คนเกาหลีจะชวนคนไทยทำไม เขาคาดหวังอะไรจากเราวะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราตื่นเต้นและอยากทำ แล้วยิ่งได้อ่านทรีตเมนต์ (โครงเรื่องภาพยนตร์) จากเขา เราก็ทั้งตื่นเต้นและหนักใจไปพร้อมกัน เพราะร่างทรงเป็นเรื่องที่ไกลตัว ผมไม่รู้จักโลกนี้เลย สุดท้ายก็แก้ความหนักใจด้วยการทำการบ้านให้หนัก

ยิ่งเราทำการบ้านไปเราก็ยิ่งสนุกสนาน ตื่นเต้น แล้วรู้สึกว่าหนังมีความลึกซึ้ง มันไม่ใช่แค่หนังผี แต่มันสำรวจอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความเชื่อ

เขาเคยบอกไหมว่าทำไมถึงเลือกคุณมากำกับเรื่องนี้

ไม่ได้บอกเลย แล้วผมก็ไม่ได้ถามด้วย (หัวเราะ) แต่ในการให้สัมภาษณ์ เขาบอกว่าเลือกผมจากงาน แต่ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่หนังเรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ และ แฝด เป็นที่รู้จักของคนเกาหลีด้วย ผมมองว่าเขาอ่านขาดในแง่ของมาร์เก็ตติ้งนะ การพูดว่าผู้กำกับ ชัตเตอร์ และนา ฮง-จิน มารวมตัวกัน เหมือนคนบ้ามารวมกันน่ะ (หัวเราะ) มันเหมือนคนทำงานเฮี้ยนๆ สองงานมารวมกัน มันขายได้

ทราบมาว่าโครงเรื่องดั้งเดิมของ ร่างทรง มาจากเกาหลี คุณปรับให้กลายเป็นหนังผีไทยได้อย่างไร

ในแง่โครงเรื่องไม่ได้เปลี่ยนมาก ผมว่า 70% เหมือนเดิม แต่จะมีรายละเอียดต่างๆ นานา อย่างซีนสยองขวัญหรือตัวละครที่เปลี่ยนไปบ้าง ซึ่งจริงๆ ฝั่งเกาหลีเขาไม่ได้พูดเลยว่านะห้ามเปลี่ยน 

ระหว่างที่พัฒนาบทร่วมกับคุณเต๋อ (ฉันทวิชช์ ธนะเสวี) คุณเยเมน (ศิววุฒิ เสวตานนท์) ทีมก็จะคิดนู่นคิดนี่แล้วก็เริ่มว้าวขึ้นเรื่อยๆ เช่น เราสนใจไอเดียผีของภาคอีสานที่พูดว่า ‘ผีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง’ อันนี้เป็นสิ่งที่เติมเข้ามาและไม่เหมือนในฉบับเกาหลี ซึ่งเท่าที่ผมรู้ ไม่น่าจะมีหนังเรื่องไหนพูดในมุมนี้ เราตื่นเต้นกับมันมากๆ และทางฝั่งนา ฮง-จิน ก็ชอบด้วย 

คุณบอกว่าเรื่องร่างทรงเป็นเรื่องไกลตัว แล้วคุณทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร

ตอนแรกเริ่มจากอ่านวิทยานิพนธ์ก่อน มีคนทำวิทยานิพนธ์เรื่องร่างทรงเยอะมาก ทำให้เราเห็นเรื่องนี้ในหลายมิติ ทั้งมิติที่โยงกับเรื่องจิตวิทยาของชุมชนหรือเพศสภาพ เช่น มีบทวิเคราะห์ว่าทำไมร่างทรงเป็นสาวประเภทสองเยอะ ผมก็รู้สึกว่าเรื่องนี้มันมีบางอย่างที่น่าสนใจ 

แต่สุดท้ายก็คิดว่าเราต้องเจอตัวจริง ผมคิดถึงรายการพวกหมอปลา ตามล่าหาความจริง เลยไปเจอโปรดิวเซอร์ที่กันตนา ซึ่งเขาทำรายการประเภทนี้มาเป็นสิบๆ ปี น่าจะเจอร่างทรงมาเป็นพัน ผมขอให้เขาหาข้อมูลร่างทรงภาคต่างๆ ให้ก่อนในเบื้องต้น แล้วให้เขาแนะนำร่างทรงตัวเบ้งๆ ให้เรา (หัวเราะ) คนไหนน่าสนใจ คนไหนเด็ด คนไหนน่าจะเข้าทางหนัง เราก็ไปเจอ 

เราเดินทางไปภาคเหนือกับภาคอีสานกันหลายทริป และไม่ได้ไปแค่ตามลิสต์ พอไปที่ไหนเราก็ถามชาวบ้านว่ามีใครที่เป็นร่างทรงอีก ถือว่าเป็น 2-3 ปีที่เปลี่ยนชีวิตนะ เพราะเราไม่เคยเดินเข้าไปใกล้หรือเฉียดสิ่งเหล่านี้เลย เราไปเจอสิ่งที่ amazing มาก เช่น ไปเจอฤาษีอยู่ในถ้ำที่เต็มไปด้วยพระพุทธรูป อลังการมาก เขานั่งอยู่ในโลงศพแล้วพูดกับเราว่า “ร่างทรงไม่มีหรอก” พีกมาก เราก็รู้สึกว่ามิติของเรื่องนี้มันอลังการจริงๆ แบบทำภาคต่อได้เลย (หัวเราะ)

ทั้งๆ ที่มีร่างทรงในหลายภาคทั่วประเทศ ทำไมสุดท้ายคุณถึงเลือกทำหนังเกี่ยวกับร่างทรงในภาคอีสาน

ตอนแรกเราไม่ได้ปิดกั้น พยายามคิดถึงร่างทรงในทุกๆ ภาคของไทย แต่เราตัดภาคใต้ออกก่อน เพราะเท่าที่เห็น ร่างทรงส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกับความเป็นจีน แล้วรู้สึกว่าวิชวลนี้เราไม่อยากได้ หลังจากนั้นเราไปภาคเหนือกับภาคอีสานต่อ ที่ภาคเหนือไปเจอร่างทรงเยอะมาก และผมรู้สึกว่าในแง่วิชวล ร่างทรงของภาคเหนือจะมีความงาม อ่อนช้อย พิธีกรรมจะผูกโยงกับประเพณี มีการฟ้อนรำ ซึ่งผมเองอยากให้หนังเรื่องนี้มีมู้ดขลังที่อีกแบบหนึ่งมากกว่า

ในขณะที่ภาคอีสาน เราไปเจอรายละเอียดในพิธีกรรมหลายอย่าง ซึ่งนอกจากจะไม่เหมือนกับภาคอื่นๆ แล้ว พิธีกรรมในแต่ละจังหวัดของอีสานก็ไม่เหมือนกัน เช่น สุรินทร์จะมีความเขมรเยอะ ขอนแก่นกับสกลฯ ก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง เราไปเจอรายละเอียดของพิธีกรรมที่ดูขลังมาก คือเขาจะใช้ไข่ไก่ มีลักษณะของหิ้ง เครื่องแต่งกายที่เฉพาะ และรู้สึกว่าพิธีกรรมแบบนี้น่าจะตอบโจทย์ในแง่ของภาพในหนังที่เรามองเห็น

อีสานยังทำให้ผมตื่นตาตื่นใจ เพราะปกติตอนไปเที่ยว คนกรุงเทพฯ ก็จะชอบไปภูเก็ต เชียงใหม่ อะไรแบบนี้ แต่พอได้ไปอีสานจริงๆ แล้วรู้สึกว่ามัน rich (รุ่มรวยทางวัฒนธรรม) มาก พอตัดสินใจได้เราก็รีเสิร์ชกันอีกเยอะ พยายามขลุกเข้าไปในเชิงลึก ทีมงานเราก็เป็นคนอีสานเยอะมาก นักแสดงก็เป็นคนอีสานเกือบหมด เพราะเราพยายามให้หนังเรื่องนี้มัน ‘ถึง’ ความเป็นอีสานจริงๆ

พอได้เริ่มถ่ายจริงๆ กดดันบ้างไหม เพราะคุณได้ร่วมงานกับผู้กำกับที่เป็นไอดอล แถมตัวเองก็เคยทำหนังพันล้านมาแล้ว 

(หัวเราะ) ยอมรับเลยว่าเครียดมากๆ ช่วงแรกมีเป๋เหมือนกัน เหมือนเราไม่มั่นใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ คิดตลอดว่าเขาจะชอบหรือเปล่า แต่พอผ่านสองสามคิวแรกไปแล้วผมก็พูดกับทีมงานแบบเปิดใจ แล้วก็ได้คำตอบกับตัวเองว่าคิดอย่างนี้ไม่ได้ ต้องทำหนังแบบที่กูชอบ แค่นั้นแหละ ถ้าเขาไม่ถูกใจและต้องถ่ายใหม่ก็ว่ากันไป สุดท้ายเราก็ทำเต็มที่แบบที่เราเห็นได้เท่านั้น เพราะเราเดาใจเขาไม่ถูกหรอก

พอคิดได้ดังนั้นก็ปลดล็อกเลย แต่มันก็ยังเครียดอยู่ เพราะลำพังแค่ถ่ายตามสคริปต์ก็ยากจะแย่อยู่แล้ว

ประสบการณ์การทำงานร่วมกับนา ฮง-จิน เป็นอย่างไรบ้าง

ช่วงแรกๆ ผมกลัวว่าเขาจะควบคุมเหมือนกัน เพราะเขาเคยเป็นผู้กำกับมา เขาต้องละเอียดกับงานมากๆ แล้วเป็นโปรดิวเซอร์เขาจะอดใจได้เหรอ แต่ปรากฏว่าตอนคอมเมนต์งานกัน เขาคอมเมนต์แต่ภาพรวม ในแง่รายละเอียดก็แล้วแต่ผม ถ้าผมไม่เข้าใจหรือไม่เห็นภาพจากสิ่งที่เขาคอมเมนต์มาเราจะโทรคุยกัน แล้วเขาจะพูดตลอดว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ยูเลย 

ผมไม่ได้รู้สึกว่าโดนควบคุมเลย แล้วก็สนุกสนานมากๆ คือเรามองหนังใหญ่โตยังไงเขาไม่มีค้าน ส่วนใหญ่มีแต่สนับสนุนและผลักดัน

ความแตกต่างของหนังเรื่องก่อนๆ ของคุณกับ ร่างทรง คืออะไร

อย่างแรกน่าจะเป็นเรื่องเป้าหมายของมัน ผมอยากให้มีความน่ากลัวอยู่ในทุกเฟรม การสร้างโลกของเรื่องนี้อาจจะสำคัญเท่ากับการสร้างตัวละครและพล็อตเลย ซึ่งก่อนหน้านี้หนังผมจะขับเคลื่อนด้วยพล็อตเยอะ เรื่องราวเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่เรื่องนี้ผมอยากจะให้มันค่อยๆ ซึม ให้คนดูรู้สึกว่าโลกของอีสานในหนังเป็นยังไง เขาเชื่ออะไร ตระกูลนี้มันยังไง หนังอาจจะมีท่าทีที่ค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งถือว่าเป็นลีลาใหม่ของเรา

อีกอย่างน่าจะเป็นสไตล์แบบ mockumentary หรือหนังสมมติที่ถ่ายทำเหมือนตากล้องไปถ่ายความจริง อันนี้แหละยาก เพราะคนดูทั่วไปอาจจะไม่คุ้นเคยกับแนวนี้มาก เราจะทำยังไงให้ดูเหมือนคนถ่ายไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หาบาลานซ์อยู่เยอะเหมือนกัน แต่สุดท้ายแล้วผมก็ทรีตมันเป็นแค่สไตล์การเล่าเรื่อง หมายถึงเราไม่แคร์ว่ามันจะต้องสมจริงขนาดนั้น ตัวละครในหนังมันจะต้องถือกล้องตลอดเวลา ไม่ว่ามันจะตายห่ายังไงก็ตาม (หัวเราะ) ซึ่งถ้าคุณขัดใจกับเรื่องแบบนี้ คุณอาจจะดูหนังเรื่องนี้อย่างไม่เป็นสุขเท่าไร แต่ถ้าคุณมองมันว่ามันก็เป็นสไตล์การถ่ายทำอย่างหนึ่ง มันก็เป็นความบันเทิง ผมมองอย่างนี้

ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีหนังผีเกิดขึ้นมากมาย หลายเรื่องมีจังหวะหลอกของผีที่คล้ายๆ กัน คุณจะสร้างความน่ากลัวใน ร่างทรง ให้แตกต่างกับเรื่องอื่นๆ ได้อย่างไร

ลำพังแค่ซับเจ็กต์เรื่องร่างทรงกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นมันแข็งแรงมากสำหรับผม มันดึงดูดให้ผมอยากทำมากๆ เพราะรู้สึกว่ามันไม่เหมือนกับเรื่องที่เคยทำมา แล้วคำอธิบายเรื่องผีในหนังเรื่องนี้มันไม่ใช่คนตายกลับมาหลอกคนเป็น แค่นี้ก็ท้าทายมากเลยว่าจะทำให้คนดูกลัวได้ยังไง

ส่วนมากแล้วหนังผีที่มาเข้าร่างมนุษย์จะโดนตีความไปทางคริสเตียน แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นกับหมอผีที่เป็นป้าคนหนึ่งในหมู่บ้าน พูดอีสาน แล้วปราบผีกันกลางวันแสกๆ เลย สิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้ผมตื่นเต้น คือเราก็ไม่กล้าเคลมว่าหนังของเราใหม่อะไรขนาดนั้น มันอาจจะมีบางองค์ประกอบที่คนดูหนังคุ้นเคยบ้าง ในขณะเดียวกัน มันก็มีส่วนผสมที่ไม่ได้เห็นในหนังสยองขวัญทั่วไปเท่าไร

ทำหนังผีมาหลายเรื่อง คุณเชื่อไหมว่าผีหรือเรื่องเหนือธรรมชาติมีจริง

มันเอนไปทางไม่เชื่อนะ แต่ก็ไม่กล้าฟันธงเพราะหลายๆ คนที่รู้จักเขาก็เจอ เรารู้สึกว่าถ้ามีก็น่าจะเป็นแนวพลังงานที่หลายคนอาจจะสื่อสารหรือได้เห็น แต่ก็ไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นวิญญาณพยาบาทมาเอาชีวิตหรือมาทำร้ายได้เหมือนในหนัง คิดว่าไม่น่ามีขนาดนั้น

แล้วคุณเชื่อเรื่องร่างทรงไหม

ไม่เชื่อ 

อะไรทำให้คุณทำหนังเกี่ยวกับร่างทรงได้ทั้งๆ ที่ไม่เชื่อ

ตั้งแต่ช่วงเดินทางหาข้อมูล เราไม่ได้ไปเจอร่างทรงด้วยความอยากพิสูจน์ว่าเขามีจริงหรือไม่มีจริง แล้วผมก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่หน้าที่ผมที่จะไปตัดสินว่าเขาจริงหรือไม่จริง แต่เราสำรวจมากกว่าว่าคนที่เชื่อเขาเป็นคนยังไง แล้วทำไมต้องไปเหรอ เขามีพิธีกรรมอย่างไร มีวิธีคิดยังไง

เราไม่เคยไปบอกเขาว่าโชว์ให้ผมดูซิว่าคุณเป็นของจริง ไม่ได้ทำแบบนั้น เราก็เลยตอบไม่ได้และความเชื่อนั้นก็ยังไม่ได้เปลี่ยนไป แต่เรามองเรื่องคนที่ไปหาร่างทรงและการเป็นร่างทรงในมิติที่เข้าใจมากขึ้นเท่านั้นเอง

ในทางกลับกัน คุณทำหนังเกี่ยวกับร่างทรงยังไงไม่ให้ไปลบหลู่ความเชื่อของคนที่เชื่อเรื่องนี้

(นิ่งคิด) หนังเราไม่ได้มานั่งจับผิดว่าเรื่องนี้มันจริงหรือไม่จริงอยู่แล้ว แต่มีการทำให้คนดูตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่จริง เอาง่ายๆ เราเองไม่ได้ไปตัดสินด้วยซ้ำ ผมเลยคิดว่าหนังไม่น่าจะนำไปสู่ความรู้สึกนั้น

ในมุมมองของคุณ หนังผีไทยในตลาดโลกตอนนี้เป็นอย่างไร 

ผมว่าคำว่า Thai Horror ก็ยังมีอยู่ แต่ถามว่ายังเป็นยุครุ่งเรืองอยู่ไหม มันน่าจะผ่านไปแล้ว คนต่างชาติสนใจ Thai Horror น้อยลง และหนังผีไทยก็น้อยลงด้วย มันคงทำยากขึ้นแหละ ทำแล้วไม่ได้สำเร็จอะไรมากมาย 

คิดว่าทำไมหนังผีไทยถึงซบเซา

มันคงหาหนทางไปยาก น่าจะเป็นทั่วเอเชียเลยมั้ง มันมีช่วงที่ Asian Horror รุ่งเรือง ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย ทำเป็นว่าเล่น ฝรั่งซื้อเราไปทำใหม่อย่าง The Ring, The Grudge แล้วมันก็เริ่มซ้ำ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมเบื่อหนังผีไปเลย กระทั่งกลับมาตื่นเต้นอีกครั้งตอนที่ฝั่งอเมริกันมีหนังผีที่ดีและฮิตมากๆ เกิดขึ้นมากมาย อย่าง Conjuring กับ Insidious ที่เป็นหนังผีสายพาณิชย์ ซึ่งน่ากลัวและประสบความสำเร็จมาก และมีหนังผีสายศิลปะที่มีคุณภาพมากๆ อย่าง Hereditary, Midsommar, The vvitch หรือ It follows กลายเป็นว่าหนังเหล่านี้เกิดขึ้นมาและดังมากในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ถ้านึกถึงหนังสยองขวัญคนทั้งโลกอาจนึกถึงชื่อผู้กำกับฝั่งอเมริกา ฝั่งเอเชียนก็หลุดหายไปนาน อาจจะมีแค่ The Wailing ของคุณนา ฮง-จิน เรื่องเดียวที่ดัง 

ในหนังที่ยกตัวอย่างมา คิดว่าอะไรทำให้มันโดดเด่นจากหนังผีเรื่องอื่นๆ

ผมรู้สึกว่ามันใหม่มากนะ ในแง่ที่ว่ามันเป็นหนังที่มีบรรยากาศเฉพาะตัวมากๆ ที่สำคัญคือมันเวิร์ก มันน่ากลัว สมมติมันเป็นหนังทดลองมัวแต่จะอาร์ตหรือแปลกใหม่อย่างเดียวแต่ไม่น่ากลัวเลย ผมก็ว่ามันไม่ประสบความสำเร็จหรอก อย่าง Hereditary นี่พาเราดิ่งมาก กลัวโคตร รวมถึง The Wailing ที่บรรยากาศมันน่าขนลุกจริงๆ

ความแตกต่างอาจอยู่ที่หนังสร้างโลกขึ้นมาอีกใบ มันเป็นโลกที่เราจะสามารถพูดว่า เฮ้ย บรรยากาศแบบ Hereditary เลยว่ะ แล้วทุกคนก็จะรู้เลยว่ามันเป็นยังไง คือมันพิเศษมาก ซึ่งใน ร่างทรง ผมก็พยายามทำแบบนั้นเหมือนกัน

ในกระบวนการทำ คิดไว้ไหมว่าจะทำหนังผีไทยให้คนดูทั่วโลกกลัว

ไม่คิดเลยครับ (ตอบทันที) เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าต่างชาติจะกลัวไหม เราเลยเลือกทำอะไรที่เราซี้ดซ้าดด้วยตัวเองเท่านั้น แต่คุณนา ฮง-จิน ก็จะคอยเป็นตัวเช็กให้เราอยู่แล้ว มีบางองค์ประกอบในเรื่องที่เป็นความเชื่อแบบไทยมากๆ และผมว่าเขาเองก็ไม่ได้เข้าใจมัน 100% หรอก แต่เขาน่าจะรู้สึกว่ามันไปกับหนัง มันเป็นความคลุมเครือที่ทำให้หนังมีเสน่ห์และน่ากลัว

แต่พอออกฉายแล้ว ผลตอบรับในหลายๆ ประเทศก็ดีมาก คิดว่าทำไม ร่างทรง ถึงมีกระแสที่ดีขนาดนี้ ทั้งๆ ที่หนังมีความเป็นท้องถิ่นมาก

ผมก็พยายามวิเคราะห์อยู่นะ เอาจริงๆ ร่างทรงเป็นหนังที่ค่อนข้างแรงและอาจจะแบ่งแยกคนดูได้เหมือนกัน อย่างในเกาหลีมันดังมาก คนที่ชอบก็คลั่งไปเลย คนที่ไม่ชอบก็ด่าไปเลย ในขณะที่ไต้หวันหรือสิงคโปร์ทำเงินระยะยาวมาก ผมก็มานั่งคิดว่าบางทีคนดูเขาอาจจะเป็นเหมือนเราที่เป็นคอหนังผี อยากดูหนัง Asian Horror ที่เราสามารถอินกับมันแล้วมีความเข้มข้น ซึ่งเราไม่ได้ดูมานานมากแล้ว เรื่องนี้มันตอบโจทย์ได้ เขาอาจจะได้บางอย่างที่รู้สึกว่า เออว่ะ รสชาติแบบนี้แหละ

อีกอย่างที่ทำให้คนดูเชื่อมโยงได้น่าจะเป็นเรื่องร่างทรงที่ประเทศเขาก็มีเหมือนกัน อย่างที่เกาหลีเขาก็อินเรื่องร่างทรงมากพอๆ กับไทย นี่เป็นอีกเรื่องที่คุณนา ฮง-จิน อ่านขาด 

คุณได้เรียนรู้อะไรจากการทำหนังเรื่อง ร่างทรง บ้าง

จากการที่ผมได้ทดลองทำเต็มที่กับเรื่องนี้ ได้เรียนรู้อะไรจากคุณนา ฮง-จิน เยอะมาก แล้วพอมันสำเร็จในแง่บ็อกซ์ออฟฟิศที่ต่างประเทศ ทำให้ผมรู้สึกว่า การทำหนังมันคือการที่บางครั้งเราก็ต้องกล้าเสี่ยง เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะทำในสิ่งที่เราสบายใจและอยู่ในที่เดิมๆ และจะไม่ได้เติบโตขนาดนี้ 

ถ้าคุณอยากให้หนังมันไปถึงขั้น World cinema ให้มันเป็นกระแสหรือเป็นที่พูดถึงจริงๆ คุณต้องกล้าเสี่ยงกับอะไรบางอย่าง จะเห็นได้จากหนังคานส์ที่บางเรื่องเราดูแล้ว โอ้โฮ เหวอแดกจริงๆ แต่เพราะหนังมันมีความเหวอแดกอะไรบางอย่างนี่แหละ มันถึงเปลี่ยนโลกได้ ซึ่ง ร่างทรง เองก็อาจจะไม่ได้เหวอแดกอะไรขนาดนั้น แต่มันก็มีส่วนผสมแปลกๆ บางอย่างที่รู้สึกว่าเราได้ลองทำแล้วมันคุ้มค่าจริงๆ

จนถึงตอนนี้ คุณคาดหวังอะไรจาก ร่างทรง

(นิ่งคิด) ในแง่คนทำ เราได้ทดลองทำมันจนเสร็จก็ฟินแล้ว แต่ก็อยากรู้เหมือนกันว่าคนไทยจะคิดยังไงกับมัน อยากให้มันสำเร็จในไทยด้วย 

ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยเห็นด้วยกับคำที่พูดว่า “มาอุดหนุนหนังไทยกันเถอะ” เพราะรู้สึกว่าหนังเรื่องนั้นๆ มันต้องดึงดูดด้วยตัวของมันเอง เราจะไปขอให้เขามาดูทำไม คนดูต้องอยากดูของเขาเอง แต่พอนาทีนี้ที่มันมีทั้งโรคภัย ทั้งอะไรต่างๆ นานา ผมอยากจะพูดคำนั้นแล้ว (หัวเราะ)แต่พูดในแง่ที่ว่า ถ้าคุณอยากดูมัน ขอให้ดูมันอย่างถูกต้องและดูบนจอภาพยนตร์นะครับ อันนี้ขอร้องในแง่คนทำ เพราะว่าในระยะยาวมันก็จะมีคนมีกำลังใจทำงานให้คุณดูต่อไป

  เรื่องการฉายในโรงก็เป็นความตั้งใจของเรา เพราะตอนโควิดมาแรกๆ เราก็มีการคุยกันในค่ายว่าลงสตรีมมิงไปเลยไหม กระทั่งผู้บริหารฝั่งไทยเองนี่แหละที่บอกว่า “หนังอย่างนี้ถ้าไม่ดูในโรงก็เสียของป่ะวะโต้ง” คือผมไม่ต้องพูดด้วยซ้ำ เรายอมเสี่ยงกัน ถึงแม้จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเราจะได้ฉายเมื่อไร คุณค่าทางการตลาดหายไปกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ก็จะฉายโรง เพราะการดูในโรงมันมีพลังกว่าเยอะมากๆ ยิ่งเป็นหนังที่เน้นบรรยากาศ คุณภาพเสียงและความมืดเป็นเรื่องสำคัญ ผมว่าการดูในโรงมันมีพลังกว่าเท่าตัวเลย 

แล้วในมุมคนดู เราสามารถคาดหวังอะไรจาก ร่างทรง ได้บ้าง

ผมว่ามันเป็นหนังผีไทยในรสชาติที่ไม่ค่อยได้เห็น มันเน้นบรรยากาศมากๆ เน้นการถ่ายทำทุกอย่างให้สมจริง และไม่เอาดาราดังมาเล่นเลย เราพยายามปั้นทุกอย่างให้มันมีคุณค่าในทุกองค์ประกอบ ก็หวังว่าคนดูจะรู้สึกคุ้มค่ากับหนังเรื่องนี้ที่พวกเราทุ่มเทไป

 

ภาพ: GDH

Fact Box

ร่างทรง เป็นภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องล่าสุดของ บรรจง ปิสัญธนกูล ที่ได้ผู้กำกับระดับโลกชาวเกาหลีใต้อย่าง นา ฮง-จิน มาเป็นโปรดิวเซอร์ โดยเล่าเรื่องราวความเชื่อในเรื่องของผี ร่างทรง และสิ่งลี้ลับต่างๆ ของชาวอีสาน

Tags: , , ,