‘ใบตองแห้ง’ – อธึกกิต แสวงสุข ในความทรงจำหลายๆ คน อาจเป็นคอลัมนิสต์ อาจเป็นสื่อมวลชน หรือนักจัดรายการทีวีฝีปากกล้า ผู้มีลีลาการวิเคราะห์ และความเข้าใจสถานการณ์อย่างแหลมคม แต่ในช่วงเวลาหนึ่ง อธึกกิตคือ ‘คนเดือนตุลาฯ’ ผู้ผ่านเหตุการณ์ทั้ง 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และ ‘เข้าป่า’ เป็นแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ (พคท.) แห่งประเทศไทย ยาวนานเกิน 5 ปี จนถึงวันนี้ เฟซบุ๊กของเขายังระบุสถานที่ทำงานในอดีตว่าคือ ‘ดอยยาว – ผาหม่น’ เขตงานของเขาในวันที่เขาเข้าป่า สะท้อนให้เห็นว่าอธึกกิตมีความทรงจำในฐานะแนวร่วมของ พคท. ในฐานะ ‘สหาย’ อยู่ไม่น้อย 

ก่อนจะผ่านพ้นเดือนตุลาคม เราชวนใบตองแห้งเปิดลิ้นชักความทรงจำ เพื่อค้นหาตัวตนในห้วงเวลานั้น ที่ประกอบสร้างเขาขึ้นมาในวันนี้ อะไรคือความสำเร็จ อะไรคือความล้มเหลว อะไรคือบทเรียนที่ล้ำค่า ที่คนรุ่นต่อไปสามารถนำไปใช้กับการต่อสู้เพื่อบ้านเมืองที่ดีกว่าบ้าง? 

ตอนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ คุณทำอะไรอยู่

ผมเรียนอยู่ มศ.5 ที่เตรียมอุดมฯ บ้านก็อยู่ที่ประตูน้ำ เลยมีโอกาสได้ไปธรรมศาสตร์กับเพื่อนอยู่ครั้งหนึ่ง แต่วันที่เกิดเรื่องหรือวันที่เดินขบวนใหญ่นั้นไม่ได้ไป ผมอาจจะเหมือนเด็กสมัยนี้ อาจจะเป็นคนห่างๆ สักคนหนึ่ง ที่เขาม็อบกันปีที่แล้ว ก็เคยไปสักครั้งสองครั้ง ไม่ได้ซีเรียสอะไร แต่ว่าผมก็สนับสนุน 

ผมสอบเอนทรานซ์ติดที่ธรรมศาสตร์เมื่อปี 2517 ซึ่งก็เป็นเรื่องบังเอิญ แล้วพอเข้าไป เพื่อนก็พาไปเข้าชุมนุมวรรณศิลป์ เพราะเพื่อนที่เรียนเตรียมฯ ไปอยู่ตรงนั้นถึง 3 คน คนหนึ่งเป็นรองประธานชุมนุมวรรณศิลป์ คือ อนุวัตร อ่างแก้ว ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 

ตอนแรกก็รู้สึกว่าดึงดูด สุดท้ายก็ไปตลอด แล้วก็ใช้ชีวิตอยู่ในนั้น วรรณศิลป์ก็จะมีการทำกิจกรรมหลายอย่าง ตอนนั้นมีนิทรรศการจีนแดง ที่วรรณศิลป์ทำแล้วโด่งดัง ถัดจากนั้นปีละ 2 ครั้ง ก็จะมีการจัดนิทรรศการที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วพอเข้าร่วมกับกิจกรรมนักศึกษา ก็มีทั้งเดินขบวน ติดป้าย ออกค่าย ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ออกค่ายเพื่ออะไร ออกค่ายเพื่อดึงสมาชิก ชวนนักศึกษาเข้า เพื่อที่จะทำงานความคิด อยู่ไปอยู่มาก็ 2 ปีกว่า

ตอน 6 ตุลาฯ ผมอยู่ปี 3 ผมเป็นนักศึกษาแบบลอยตัวมา 2 ปีแรก ในธรรมศาสตร์ ปีแรกๆ ก็มี มธ.1 สายศิลป์ พอปี 2 เขาให้แยกคณะ แต่คะแนนผมยังไม่ถึง ปี 2 ก็ยังเป็นนักศึกษาแบบลอยตัว ติดโปรมาตลอด 4 เทอม เทอมที่ 5 ที่จะสอบก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ขึ้นพอดี คือถ้าไม่เกิดเหตุการณ์นี้ ผมก็รีไทร์อยู่ดี เพราะผมไม่เรียนเลย แล้วตอนท้ายๆ ก็ใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัย คือชุมนุมวรรณศิลป์ จะอยู่ที่ชั้น 2 ของตึกโดมเก่า ท่าพระจันทร์ ที่ตอนนี้เป็นศูนย์หนังสือ เป็นห้องโล่งๆ เป็นห้องกิจกรรม วรรณศิลป์อยู่ด้านในสุด ด้านข้างก็จะเป็นชุมนุมต่างๆ แล้วก็จะมีคนนอนกันทุกคืน บางทีก็นอนเพื่อทำเพื่อกิจกรรม ก่อนหน้านั้นผมอาศัยน้าชายที่เป็นตำรวจอยู่ในบ้านพักตำรวจ แล้วแกย้ายต้องไปอยู่แฟลต พอน้าอยู่แฟลต ผมก็ไม่มีห้องอยู่ ก็ไปนอนในธรรมศาสตร์ เช้าๆ ก็ถือแปรงสีฟัน เดินไปห้องน้ำที่คณะศิลปศาสตร์ (หัวเราะ)

ตอนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผมไม่เหลืออะไรเลย มันเอาไปหมด เงินเก็บเราที่อยู่ที่ตึกโดมก็เอาไป ผมโดนจับติดคุกอยู่ 3 วัน ก่อนจะได้ประกันตัวเป็นชุดแรกๆ เพราะน้าเป็นตำรวจ แล้วก็กลับไปอยู่บ้านที่โคราช ก่อนจะส่งหนังสือมาลาออกที่ธรรมศาสตร์ 

แต่ต้องยอมรับว่าขาดสายหมดเลย เพื่อนทุกคนที่มีก็ติดต่อไม่ได้ ผมอยู่กับพ่อแม่ ช่วยทำงานที่บ้านไปครึ่งปี กระทั่งแม่ให้สอบเอนทรานซ์ใหม่ ผมก็สอบ อยู่วิศวะ จุฬาฯ ได้สักครึ่งปี ก็เข้าป่าไป ผมนี่ไปช้านะ ผมไปปี 2520 

ตอนที่กลับมาเรียนนั้น พ่อแม่ให้กลับมาเรียน แต่เราก็ไม่เอาแล้ว น่าเบื่อ ไม่ใช่สายที่เราเคยชิน แต่ก็เสือกไปติดจุฬาฯ ติดวิศวะ ซึ่งคนละโลกกันเลย (หัวเราะ)

ผมออกไปเดือนตุลาคม 2520 ช่วงใกล้เคียงกับเกรียงศักดิ์ (พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์) ทำรัฐประหารรัฐบาลหอย (รัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร) ที่เข้าป่าได้ เพราะมีเพื่อนคนหนึ่งถูกจับนาน แล้วรัฐบาลปล่อยออกมาช่วงนั้นพอดี เลยชวนกันเข้าป่า

เช้าวันที่ 6 ตุลาฯ คุณจำอะไรได้บ้าง

คืนวันที่ 6 ตุลาฯ พวกเราอยู่ด้วยกันหมด พอมีเสียงปืน ทุกคนก็แตกกระจาย มีการยิงระเบิด แล้วก็แตกกันเข้าไปในตึกบัญชี อนุวัตรก็กระโดดถีบประตูตึกบัญชีซึ่งล็อกอยู่ให้พัง เพื่อให้คนเข้าไปหลบ แต่เขาก็โดนยิง สักครู่หนึ่งก็เสียชีวิต เพราะเป็นกระสุนจากปืนเอ็ม 16 

ส่วนผมเข้าไปอีกประตูหนึ่ง ตอนนั้นที่เข้าไปหลบได้ก็คิดว่าคงตายแน่ เพราะเสียงปืนยิงเข้ามาตลอด ไม่ใช่แค่ปืนเล็ก แต่ยังมีปืน ปรส. (ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง ใช้สำหรับต่อสู้รถถัง) ตึกก็สะเทือน แต่ตึกบัญชีสร้างมาหนา ผมเข้าไปอยู่ข้างในและไม่มีใครโดนกระสุน หลังจากนั้นทหารก็เข้ามา ตะโกนด่า เอาพานท้ายปืนซัดเข้าที่หน้าอกผม ก่อนจะไล่ให้ออกมานอนกลางสนามฟุตบอล แล้วก็สั่งให้ถอดเสื้อ นำพวกเราขึ้นรถไปที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ผมกระซิบบอกก็ได้นะ ว่าเรารู้ว่าจะไม่ตายตอนไหน คือตอนที่ไปอยู่โรงเรียนพลตำรวจบางเขน ตอนนั้นทุกคนไม่รู้ชะตากรรมจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนั้นถูกขังรวมอยู่ด้วยกันประมาณ 50-60 คน ใช้ห้องน้ำเดียวกัน 

แต่หลังจากถูกขังประมาณ 2-3 วัน วันนั้นห่อข้าวทุกห่อมีมาให้ครบทุกคน ปรากฏว่ามีรูปในหลวงเว้ย (ยิ้ม) แล้วห่อข้าวดันเป็นรูปเดียวกันหมดเลย คืออาจจะตัดมาจากหนังสือพิมพ์ แต่ก็ติดรูปเดียวกันทั้งหมดทุกห่อ ผมก็รู้ว่าไม่ตายแล้ว เขาคงปล่อยว่ะ

มีคนตั้งคำถามว่า ทำไมแกนนำนักศึกษาตอนนั้นไม่ตัดสินใจสลายก่อน 6 ตุลาฯ ในฐานะคนอยู่ในธรรมศาสตร์ คุณคิดอย่างไร

ก็พูดยาก คือถ้าเราเลิกการชุมนุม ก็เหมือนเราแพ้หมดเลย ต้องเข้าใจก่อนว่าก่อนหน้านั้นมีกรณีที่จอมพล ประภาส จารุเสถียร กลับมา เราก็ประท้วงใหญ่ที่ธรรมศาสตร์ จนสุดท้ายประภาสกลับมาไม่ได้ ตอนนั้นมีการยิงกันประปรายจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเหมือนกัน แต่ก็เหมือนซ้อม ไม่ได้เกิดเหตุการณ์รุนแรง แล้วก็ปิดมหาวิทยาลัย ให้เราออก 

แต่การคุกคามพวกนี้ได้ทำให้ผู้นำนักศึกษาจำนวนหนึ่งเข้าป่าไปก่อนแล้ว เพราะรู้ว่าอยู่ไม่ได้ เขาจะปราบน่ะ เรารู้แต่จะไปโทษคนตัดสินใจก็คงไม่ได้ ถามว่ารู้แล้วอย่างไร เราจะถอยตรงไหน ในจังหวะไหน เวลาไหน เพราะตอนนั้นก็ดึกแล้วและมันก็ล้อมหมดแล้ว อีกอย่างหนึ่ง ตอนดึกวันที่ 5 ตุลาฯ ก็มีคนส่วนหนึ่งกลับไปก่อน พวกเขาวางแผนไปเคาะประตูเคลื่อนไหวข้างนอก สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ผู้ปฏิบัติงานของขบวนการนักศึกษาครึ่งหนึ่งก็ออกมาแล้ว แต่ผมไม่ไปไหน เพราะผมนอนในธรรมศาสตร์

แต่ ยานเกราะ ดาวสยาม อะไรก็ใส่ความขบวนการนักศึกษาเต็มที่แล้ว 

ใช่ๆ ใส่เต็มที่ มาหลายวัน มาเป็นเดือนๆ หากให้ลำดับ-พัฒนาการคือ 14 ตุลาฯ ขบวนการนักศึกษามันชนะ แล้วหลัง 14 ตุลาฯ ใหม่ๆ เหมือนมันมีช่องว่างอำนาจ เป็นสุญญากาศที่ตำรวจทหารหายหมดเลย แล้วขบวนการนักศึกษาผู้นำสมัย 14 ตุลาฯ มีบางส่วนเข้าไปคุยกับรัฐบาลได้ 

แต่พอปี 2518 กลับมีการตื่นตัวของการเลือกตั้งที่พรรคสังคมนิยม พรรคพลังใหม่ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม ได้รับเลือกตั้งร่วม 30 คน แต่พอการเลือกตั้งปี 2519 หายกันหมด สู้ไม่ได้เลย

เพราะ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) และพลังฝ่ายขวาเองก็เข้มข้นตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2518 คือการออกไปใช้ปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อการโจมตีฝ่ายซ้ายมีเต็มไปหมด กระแสพวกนี้มีมาตลอด มาเป็นระลอกคลื่น พอปี 2518 คือเวียดนามชนะสงคราม อเมริกาแพ้ เวียดนาม ลาว กัมพูชา แตกหมดเลย ปลดปล่อยหมดเลย ความกลัวเลยขึ้นสูงมาก

กระแสคอมมิวนิสต์ปกคลุมนักศึกษามากขนาดไหน

จริงๆ ก็เยอะ ไม่ได้ปฏิเสธอะไร วันก่อน อาจารย์ธิกานต์ (ธิกานต์ ศรีนารา อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ก็เขียนบทความว่า อย่าปฏิเสธความเป็นคอมมิวนิสต์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ 

คือในโลกยุคนั้นมันไม่มีทางอื่น เพราะในประเทศโลกที่สามทั้งหลายนั้นไม่มีรูปแบบ มีแต่รูปแบบประชาธิปไตยที่อเมริกาหนุนหลัง แล้วก็สู้กับฝั่งกองกำลังฝั่งคอมมิวนิสต์ อินโดนีเซีย ก่อนหน้านั้นก็มีกรณีที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โตรัฐประหาร ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์ หรือผู้ที่สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์หลายแสนคน บ้างก็ว่าเป็นล้าน ฆ่ากันมหาศาลมาก ฟิลิปปินส์ก็มีมาร์กอส (เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟิลิปปินส์) ชิลีก็มีการรัฐประหารโค่นล้มอาเยนเด (ซัลวาดอร์ อาเยนเด ประธานาธิบดีชิลี ผู้ก่อตั้งพรรคสังคมนิยมชิลี) กระแสโลกตอนนั้นไม่มีคำว่า ‘เสรีประชาธิปไตย’ อยู่ในพื้นที่แบบนี้ 

ในตะวันตกอาจจะมี แต่ในตะวันออก แอฟริกา ละตินอเมริกานั้นไม่มี ก็สู้กันสองอย่างแค่นี้ ว่าเราจะเลือกไปทางไหน คือโลกยุคนั้นก็ต้องบอกว่าเป็นธรรมชาติเหมือนพม่าวันนี้ คือถ้าคุณคิดว่าถูกปราบต้องทำอย่างไร คุณก็ต้องเข้าป่าจับปืน แล้วก็มีกระแสสังคมนิยมเข้ามา 

ขบวนการนักศึกษาประมาณปี 2518 ก็ทำหนังสือขายกัน แล้วพรรคพลังธรรมยูงทองก็ทำหนังสือขาย ตั้งแต่ประธานเหมาเดินทัพทางไกล อ่านกันเต็มไปหมด สรรนิพนธ์เหมา อย่างนี้คือพรรคคอมมิวนิสต์เป็นความใฝ่ฝันที่สูงสุด ว่าเป็นสังคมที่เป็นธรรม ไม่มีชนชั้น มันพูดถึงทฤษฎีการต่อสู้ พูดถึงความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ คล้ายกับว่าโลกนี้ไม่มีนรกสวรรค์ ไม่มีบุญทำกรรมแต่ง ทุกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โลกคือเทหวัตถุ แล้วก็คือสรรพสิ่ง เปลี่ยนแปลงจากความขัดแย้ง ว่ากันด้วยปริมาณและคุณภาพ ทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่ทันสมัยกับโลกยุคนั้นมาก แล้วก็มีแบบอย่างเช่น จิตร ภูมิศักดิ์, เช เกวารา ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะสมัยนั้น แต่เราเห็นเชเต็มไปทั้งโลก 

แล้วคนหนุ่มสาวก็เป็นฝ่ายซ้าย ที่อยากเปลี่ยนสังคมให้ถึงรากถึงโคน ยุค 60s–70s ที่เป็นอย่างนั้น พอประสานกับการปราบแล้วก็เห็นชัดว่าไปทางนั้นจริงๆ แล้วส่วนหนึ่งก็รู้อยู่แล้วว่าสุดท้ายจะต้องเข้าป่า แต่ป่าในจินตภาพนี่คืออะไร ผมไม่รู้เลยนะ ดูแต่หนังที่ทหารเอามาฉาย ว่าพวกคอมมิวนิสต์อยู่ในป่า โดนทหารบุกเข้าไปยิง เราไม่รู้หรอกว่าจะโดนทหารยิงจริงไหม ไม่มีภาพในหัว ทุกอย่างเป็นเหมือนภาพศิลปะ คือเห็นทหารป่ายืนถือปืนบนยอดเขา

ตอนตัดสินใจเข้าป่า รู้สึกว่าอยู่ในเมืองไม่ได้แล้วนั้น เป็นอย่างไร

เป็นความคับแค้นใจส่วนหนึ่ง จริงๆ ผมอยู่ได้นะ ผมอาจจะเรียนจบไปอีกทางก็ได้ ก็มีหลายคนที่เลือกอยู่ อาจจะด้วยภารกิจที่ไปไม่ได้ เนื่องจากมีครอบครัวหรือต้องทำงานต่อ บางคนก็ทำงานในเมือง อย่างหมอเลี้ยบ (นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) ก็พยายามสร้างขบวนการนักศึกษาเข้ามาใหม่ ขณะเดียวกัน บางคนไม่ได้เข้าป่าแต่ก็ช่วยงานในเมือง เหมือนกับว่าการไปอยู่ป่าคือการซุ่มไปตามที่ต่างๆ เช่าบ้านอยู่ เป็นสถานีรับส่งคนจากเหนือไปอีสาน จากอีสานไปเหนือ จากเหนือไปใต้ หรือรับคนบาดเจ็บ รับกลุ่มต่างๆ เข้ามาช่วยดูแล หรือทำงานลับเลยก็มี หรือคนที่เดินทาง เดี๋ยวเข้าเขตนั้น ออกเขตนี้ เพื่อประสานงานก็มี เราไม่ได้มีความสามารถที่จะอยู่แบบนั้น ถ้าเราอยู่ก็คงเรียนหนังสือไปแล้วก็จบและทำงาน แต่ผมทำใจไม่ได้ เป็นความโกรธที่เพื่อนเราเสียด้วย แล้วมันก็กดดันเราเป็นช่วงเวลานานแล้ว

จริงๆ ผมกลับไปอยู่บ้านหลายเดือน แล้วค่อยกลับมาอีกที ทุกอย่างเป็นความกดดัน แล้วก็อายตัวเอง กดดันว่าถ้าเราไม่เข้าป่าแล้วชีวิตเราจะเป็นอย่างไร เหมือนไม่มีศักดิ์ศรี มองหน้าตัวเองไม่ได้ เราเคยมุ่งหวัง คิดว่าเป็นคนที่จะต้องต่อสู้ แต่สุดท้ายเราจะยอมแพ้เหรอ เรามุดหัวเหรอ แล้วชีวิตจะอยู่อย่างไรต่อ ชีวิตมันไร้ความหมาย ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีค่า และมองหน้าตัวเองไม่ได้ 

เจ็บปวดมากนะ คือตอนหลังมารู้พ่อผมไปเดินร้องไห้ ตามหาผมอยู่ที่ธรรมศาสตร์ เพราะพ่อก็รักผมมาก ผมเป็นลูกที่เขามุ่งหวังแต่ก็ผิดหวังมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เราก็ต้องเข้าป่า ต้องตัดใจ ไม่งั้นจะรู้สึกว่าชีวิตจะพังทลายหมดทุกอย่างเลย ไม่ใช่ความรู้สึกว่า เฮ้ย ต้องเป็นฮีโร่ แต่เราจะสู้หน้าตัวเองไม่ได้  

ผมอาจจะต่างกับคนอื่นด้วย ผมอาจจะเป็นตัวแทนคนรุ่นนั้น ตอนนั้นเราพ้นจากช่วงโบราณ พ้นจากอนุรักษนิยมแล้ว โลกมันเปลี่ยนไปมาก วิทยากร เชียงกูร ถึงได้เขียน เรื่อง ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ก็รู้สึกว่าเคว้งคว้าง อะไรวะ เราต้องเรียนไปเป็นเจ้าคนนายคนเหรอ เหมือนกับที่เขาเขียนบทกวีว่า สุดท้ายให้กระดาษแผ่นเดียวงั้นหรือ แต่คนรุ่นถัดมาตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นไป โตมาต้องประสบความสำเร็จ ต้องแข่งขัน แต่คนรุ่นผมจะเป็นลักษณะนี้เยอะ เคยมีความรู้สึกว่าเราแสวงหาแต่แรก คือตอนที่เราฟังเพลง The Sound of Silence ดูหนัง The Graduate แล้วรู้สึกว่าเราแปลกแยก ต้องการหาอะไรสักอย่าง ในแบบที่ไม่ใช่คนรุ่นเก่าหาให้เรา แบบที่เขาวางให้เรา แบบที่เราเป็นเจ้าคนนายคน ต้องเรียนให้จบ แต่พอประมาณปี 2520 กว่าๆ มียุคเปรม (พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ) ที่ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยน ญี่ปุ่นมาลงทุนเมืองไทย มีห้าง คนเรียนหนังสือจบ เขาก็จองตัวเข้าบริษัทอะไรต่างๆ แล้วคนยุคนี้ก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จ คืออารมณ์ของคนแต่ละรุ่นไม่เหมือนกัน เป็นภววิสัยที่แตกต่าง

ตอนเข้าไปอยู่ในป่า รู้สึกไหมว่าจะเปลี่ยนอะไรได้

ก็คิด… ใครจะไม่คิดเล่า ตอนนั้นปี 2520 เขตงาน พคท. ขยายเต็มไปหมดเลย ทางใต้ก็ใหญ่ขึ้น ทางอีสาน ทางเหนือ ไม่ว่าจะด้านการสู้รบ การมีข่าวเขตงาน การทำงานมวลชนขยายตัวกว้างไปที่ต่างๆ เพราะส่วนหนึ่งมีพื้นฐานจากสหพันธ์ชาวนาภาคเหนือ ผมเข้าที่เชียงราย คือพื้นฐานสหพันธ์ชาวนาเชียงใหม่ เชียงราย ทุกที่เป็นเขตงานไปหมด เป็นเขตที่อดีตสหาย อดีตนักศึกษา ไปเคลื่อนไหวกันเต็มพื้นที่ ตอนนั้นเราก็มองในทัศนะเราว่า ชัยชนะนั้นอยู่ไม่ไกล เขตต่างๆ ขยายขึ้นจริง ภาคใต้ก็ฮึกเหิม ตอนนั้นทำให้รัฐบาลแย่ด้วย เป็นรัฐบาลหอยประมาณปีหนึ่ง ซึ่งแย่มาก เซนเซอร์อะไรต่างๆ เยอะ ทำให้คนแอนตี้ 

แล้วตอนไหนที่สู้ไม่ได้แล้ว ไม่ไหวแล้ว

เป็นปัญหาท่าทีความไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างรุนแรง เอาง่ายๆ เวลาที่เราเข้าไปในป่า อย่างที่เราวาดภาพ ทหารป่าคือฮีโร่ตั้งแต่ 6 ตุลาฯ แล้ว พคท. ในทาง propaganda พรรคเหมือนพ่อแม่ พรรคคือผู้ยิ่งใหญ่ คืออุดมการณ์ที่สูงส่ง เพราะฉะนั้นก็หมายความว่า สหายนำของพรรคคือผู้ที่จะต้องมีความสามารถสูงกว่าเราเยอะ ในการมองปัญหาต่างๆ ต้องถูกกว่าเรา 

แล้วเวลาที่เข้าข้างในก็มีลักษณะที่ต้องไปเข้าโรงเรียนการเมืองการทหาร ฝึกทหาร ศึกษาทฤษฎีชนชั้น แล้วในทฤษฎีชนชั้นก็จะบอกอีกว่า จะแปลงตัวเองไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพอย่างไร คือกรรมาชีพก็ไม่ใช่กรรมกรนะ คือการทำงานเป็นระบบ การรวมหมู่ แล้วคล้ายๆ กับว่ากรรมกร คือความพร้อมเพรียง คือคนที่ทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งเกิดขึ้นใหม่ในโลกยุคร้อยกว่าปี ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ชาวนา ที่ทำอะไรอิสระตามใจฉัน คือคนที่มีวินัย 

ส่วนปัญญาชน ชนชั้นกลาง นายทุนน้อย คือคนที่แบบคิดดี แต่เสรี คนชั้นกลางก็จะเป็นคนเสรี ไม่ขึ้นต่อจัดตั้ง ไม่มีวินัย เราต้องดัดแปลงตัวเอง ทำตัวเองให้เป็นชนชั้นกรรมาชีพ แล้วเริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกสันนิบาตเยาวชน แล้วช่วงหนึ่งในกองทัพก็จะเป็นสันนิบาตเยาวชน คือเป็น ย. แล้วก็ขึ้นสู่การเป็นสมาชิกพรรค หรือเป็น ส. หลังจากนั้นก็ปลูกฝังความคิดว่าเราต้องดัดแปลงตัวเอง ต้องวิจารณ์ตัวเอง ว่าคุณมีข้ออ่อนตรงไหน คุณมีข้อบกพร่องตรงไหน ทำให้ที่คุณมั่นใจว่าคุณเก่งนั้น ไม่ใช่นะ สุดท้ายเราจะมอง พคท. ว่าเป็นน้องๆ รูปเคารพเลย

นั่นทำให้คุณเห็นว่าไม่ใช่คำตอบแล้ว 

ใช่ เราอยู่จนกระทั่งวันหนึ่งเริ่มเกิดปัญหา ภาคใต้เกิดก่อน เป็นเรื่องอีโก้ สหายนำภาคใต้เป็นพวกที่เขาเก่งตรงที่เขาต่อสู้ด้วยตัวเอง ไม่มีการสนับสนุนช่วยจากทีมจีน ลาว เวียดนาม แต่เริ่มจากสองมือเปล่าแย่งเอาอาวุธ แล้วก็สร้างงาน สร้างฐานที่มั่น สร้างเขตเขาขึ้นมา มีกองกำลังในป่าที่เชื่อมกันหมด เป็นเขตที่นักศึกษาเข้ามากที่สุดเพราะเข้าง่าย ลองนึกภาพ วันนั้นคุณลงรถไฟสถานีนาสาร สุราษฎร์ธานี ลงไปถึงปุ๊บเป็นเขต พคท. หมดทั้งอำเภอ แล้วใต้เป็นเขตที่ถึงแม้ว่ากองกำลัง พคท. อยู่ในป่า แต่ก็ไม่ได้ถูกสกัดอย่างนั้น จะเดินเที่ยวก็ได้ เข้าตลาดก็ได้ ซื้อของเข้าไปง่ายมาก ขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปก็ง่าย เชื่อมทั้งหมด ควบคุมได้หมด คนก็แห่เข้าไปภาคใต้ แต่ก็ไปเจอปัญหาคือสหายนำที่ประสบความสำเร็จเองเริ่มมีอีโก้ ไม่รู้นิสัยคนใต้ด้วยหรือเปล่า เขาก็แตกก่อนที่อื่น ประมาณปี 2520 นิดๆ พวกนี้ก็ขึ้นมา อาจารย์ยิ้ม (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ก็ขึ้นมาก่อน บางคนก็ยังกลับมาเรียน กลับมาทำงาน แต่บางคนก็ขึ้นไปทางเหนือ ทางอีสาน

อธิบายง่ายๆ ว่าพวกภาคใต้คือนักศึกษาเข้าไปแล้วจะถูกมองไม่ขึ้น ตอนแรกก็อาจจะต้อนรับดี แต่คุณต้องแข็ง ต้องเก่ง ต้องใช้แรงงานได้ดี อะไรแบบนี้ แล้วคนที่จะเป็นนักรบจะเป็นแค่หนึ่งในร้อย ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ค่ายใช้แรงงาน ทำการเกษตรจะอยู่ได้ไม่เยอะ แต่คนที่รู้สึกตัวว่าไม่ไหวแล้วเว้ย ไม่มีบทบาท ก็จะทะเลาะกัน ทางใต้ก็แตกขึ้นมาก่อน แต่ยังอยู่ มีคนอยู่เยอะเหมือนกัน แล้วคนที่อยู่จริงๆ อยู่กันถึงเกือบปี 2530 ก็มี 

บรรยากาศเขตงานคุณที่เชียงรายเป็นอย่างไรบ้าง

ทางเหนือของผม จะอธิบายทางภาพทฤษฎีชัดว่า เขตภาคเหนือ เขต 8 เชียงราย เขตภูชี้ฟ้า เป็นเขตงานคนม้ง แล้วเกิดจากความที่คนพื้นราบ คนเหนือทั่วไปดูถูกม้ง กลไกการปกครอง กำนันผู้ใหญ่บ้าน ก็คือคนพื้นราบนั้นขัดแย้งกับม้งมาตลอด แล้วพอ พคท. เข้าไปมันก็ง่าย 

วันที่ 8 พฤษภาคม 2508 วันเสียงปืนแตก ที่นั่นเขาเรียกว่ากองร้อย 85 เป็นฐานที่มั่นดอยยาว-ผาหม่น เป็นเขาลูกหนึ่ง ซึ่งทหารขึ้นไปไม่ได้เพราะความรกชัฏ แล้วม้งเขาชำนาญพื้นที่ แต่ม้งก็ลงมาไม่ได้ เป็นพรมแดนที่ตัดขาดกันเลย อาศัยว่าด้านหลังคือติดลาว แล้วตรงนั้นไปลาวใช้เวลาแค่วันเดียว เขตที่ผมอยู่อุดมสมบูรณ์มาก ปืนอาก้านี่ใหม่มาก ถ้าด้ามเป็นรอยหน่อยม้งเอามาเปลี่ยนให้เลย (หัวเราะ) เครื่องแบบ พคท. นี่เขียวปี๋ ปักสีแดงก็แดงสด พวกที่มาจากเขต 7 พะเยา ที่พี่อ๋อย (จาตุรนต์ ฉายแสง) อยู่ เดินข้ามมาเขต 8 นี่หัวเราะกลิ้งเลย เพราะตรงนั้นเป็นพรรคกระยาจก ปักกันมารุ่งริ่ง 

แต่แบบนี้ก็ลงจากดอยไปไม่ได้ เพราะพอลงไปชายป่า ผู้หญิง คนแก่นี่ยกมือไหว้ ฉี่จะราด บอกอย่าฆ่าแม่เลย แม่แก่แล้ว จะทำอะไรก็ทำเถิด กลัวมาก คือเป็นเขตที่ พคท. กับรัฐอยู่คนละโลกกันเลย เขาก็ส่งให้พวกนักศึกษาจากตรงนั้นข้ามไปทำงานในเขตงานเดิมของตัวเอง แต่ยุทธศาสตร์ก็คือต้องสร้างฐานที่มั่น ต้องไปอยู่ป่า แล้วชวนคนเข้าป่าตรงนั้น 

สุดท้ายก็เลยเกิดข้อถกเถียงว่า ทำอย่างนี้ถูกแล้วเหรอ คือวิธีคิดของ พคท. มาจากการวิเคราะห์สังคมกึ่งเมืองขึ้นศักดินา ซึ่งมาจากความคิดเหมาเจ๋อตุง ซึ่งต้องสร้างฐานที่มั่น ใช้ชนบทล้อมเมือง แต่นั่นคือแนวคิดสมัยเหมา 

แปลว่าในยุค พคท. ต่างกับยุคสมัยเหมาสิ้นเชิง

ตอนเหมารบชนะ นั่นคือปี 1949 สังคมจีนเป็นชนบทจริงๆ เทคโนโลยีเองก็ไม่ได้ทันสมัย ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ได้มีอาวุธทันสมัย วิธีการของเหมาคือสร้างฐานที่มั่นในชนบท คือยึดพื้นที่ในชนบท แล้วตอบแทนผลประโยชน์ให้ประชาชน การเมืองคือเรื่องผลประโยชน์ประชาชน ฉะนั้นเวลาที่เหมายึดพื้นที่ในชนบทได้ ถ้าเจ้าที่ดินยังไม่หนีก็โดนจับตัดหัว และแบ่งที่ดินให้ชาวนา

ปัญหาของสังคมจีนยุคนั้นคือที่ดินอยู่ในมือของเจ้าที่ดินเยอะมาก เจ้าที่ดินรวยเยอะมาก ให้เช่า แล้วก็ยังมีอันธพาล ภาษาสรรนิพนธ์เหมาเขาเรียกว่า เจ้าถิ่นและผู้ดีเลวร้าย พอกองทัพแดงไปถึงตรงนั้นก็ปราบหมด แล้วแบ่งที่ดินให้ชาวนา ชาวนาก็สู้ตาย แล้วโลกสมัยนั้นคือโลกที่กองทัพแดงไปถึงตรงไหนก็เคาะประตู ขอชาวบ้านนอน คือโบราณมาก ผู้หญิงก็สานรองเท้าฟางให้ทหาร ของเรารองเท้ายางก็มาจากจีน มีแค่ทางใต้ที่ซื้อกันเอง ผมเองบางทีลาดตระเวนยังกินมาม่าเลย (หัวเราะ) 

ชนบทล้อมเมืองตอนนั้นคือผลประโยชน์ประชาชน เขาตอบแทนในแง่ที่ตอนนั้น รากฐานของเขาคือสังคมเกษตร ทำให้เขาไม่ต้องพึ่งพิงเมือง คือกึ่งเมืองขึ้นศักดินา เขาตัดดินแดนไปส่วนหนึ่ง สร้างฐานที่มั่นก็อยู่ได้ เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งตัวเองเสียส่วนใหญ่ แต่เราทำไม่ได้ เกิดข้อถกเถียงที่ต้องกลับไปย้อนอ่านตำรากันใหม่ว่าใช่เหรอวะ

พวกนักคิดฝ่ายนักศึกษาก็คิดกันแล้วว่า วิธีคิดแบบนี้ แล้วเป็นชนบทล้อมเมืองจนคิดว่าสามารถยึดประเทศได้นั้นไม่ใช่นะ ผมยกตัวอย่าง ภาคเหนือ อำเภอพานที่ผมเคยอยู่ ไม่มีป่า ไม่มีเขา เขาที่อยู่ข้างหลังก็เป็นเขาเตี้ยๆ ผมมีสหายคนหนึ่งเป็นผู้นำเขตนั้น ขึ้นไปที่ป่าเขต 8 แล้วก็กลับลงมา แต่ตอนกลับลงมา เขาถูกส่งมาที่อื่น หวังให้ไปปลุกระดมชาวนาขึ้นไปที่ป่า เพราะตรงที่ชาวนาอยู่ไม่มีป่า แล้วเขาในบริเวณนั้นก็เตี้ย อยู่ไม่ได้ ต้องขึ้นไปสูงๆ แต่บ้านชาวบ้านเขาอยู่ในที่นา สุดท้ายก็ฝืนไม่ไหว สักพักชาวบ้านก็ต้องกลับมาที่บ้านตัวเอง จะนอนตรงไหนก็ได้ แล้วก็มีปืน แต่เอาซุ่มๆ ไว้ แล้วก็สร้างเขตงานขึ้นมาด้วยกัน กำจัดอิทธิพล ชาวบ้านไม่ชอบผู้ใหญ่บ้านคนนี้ก็ซัดซะ 1-2 ราย สุดท้ายได้กลายเป็นพื้นที่ที่ครึ่งอำเภอ เป็นเขตอิทธิพล พคท. แล้วที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เขาต้มเหล้าเถื่อน เจ้าหน้าที่สรรพสามิตเข้าไป สหายที่อยู่ในหมู่บ้านก็ระดมชาวบ้าน ล้อมรถ เอาหญ้าคาโยนใส่ บอกว่า “จะออกไม่ออก ไม่ออกกูเผา” เหล้าที่เคยขายขวดละ 20 บาท ลงมาเหลือขวดละ 8 บาท เหมือนกับใบกระท่อมตอนนี้ ขายกันเต็มไปหมด ถ้าโดนจับก็ไปล้อมโรงพัก สุดท้ายก็กลายเป็นเขตของเรา 

แต่เป็นเขตเราได้สัก 2-3 ปี สุดท้ายก็ต้องสลาย เพราะทหารรวมศูนย์เข้ามา การสร้างพื้นที่แบบนี้ได้ทำให้เห็นว่า ที่เขาพยายามสอนเราว่าป่าล้อมเมือง เข้าไปอยู่ที่อะไรต่างๆ นั้นผิดนะ ทฤษฎีปฏิวัติต้องอยู่ที่ผลประโยชน์ประชาชนนั้นอยู่ตรงไหน เวลาที่เราทำแบบนี้ ชาวบ้านก็รู้สึกว่ากำจัดอิทธิพลได้ ขายเหล้าได้ รัฐก็ไม่กล้ายุ่ง เป็นผลประโยชน์ประชาชนอยู่ช่วงหนึ่ง

ถึงที่สุด ผมไปอยู่หมู่บ้านที่เขาปลูกผักขาย เวลาผักชีบางครั้งกิโลละสองบาทกว่า บางครั้งกิโลละ 50 สตางค์ ชาวบ้านก็โยนทิ้งลงน้ำ เอาไปลอยแพ ผมถามชาวบ้านว่าเราต้องฆ่าใครเพื่อจะให้ผักชีขึ้นราคา นั่นคือกลไกทุนนิยม สังคมเปลี่ยนแล้ว ไม่ใช่โลกยุคเหมาอีกต่อไป

แล้วผมก็ชอบเล่าเรื่องตลกที่มาจากสหายเก่าว่า วันหนึ่ง เขานัดชาวนาไปศึกษาทฤษฎีมาร์กซที่เถียงนาตอนกลางคืน นัดสองทุ่ม ไม่มา สามทุ่ม ไม่มา สี่ทุ่มค่อยๆ มา ทุกคนก็สงสัยว่าคือเรื่องอะไรกัน อ๋อ ข้างบ้าน เพิ่งซื้อทีวีใหม่ ดูกระบี่ไร้เทียมทานที่ตอนนั้นดังมาก (หัวเราะ)

ทฤษฎีจีน เวียดนาม ใช้กับเราไม่ได้ เวียดนามคือสงครามประชาชาติ คือการรวมชาติ เพราะสู้กับฝรั่งเศสมาตั้งนาน เป้าหมายสูงสุดของคนเวียดนามคือทำให้ประเทศปลดปล่อย แล้วรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ธงคอมมิวนิสต์นำแค่นั้น พอเราคุยกันปุ๊บ เกิดความเห็นต่างกันในที่จัดตั้ง เกิดความเห็นให้วิเคราะห์สังคมใหม่ แต่ท่าทีของพรรคคือบอกว่า ไอ้พวกนี้ค้านพรรค ปัญญาชน เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ สุดท้ายก็แตกกันใหญ่มาก จนทำให้คิดว่าถึงที่สุดแล้ว ทฤษฎีคอมมิวนิสต์มันเปลี่ยนสังคมไทยได้จริงหรือ แล้วก็ตามมาด้วยการที่จีนพัง จีนเปลี่ยนไปเป็นทุนนิยมในยุคเติ้ง เสี่ยวผิง

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นวันที่โค่นแก๊งสี่คนพอดีนะ แล้ว 1-2 ปีจากนั้น ก็คือเติ้ง เสี่ยวผิงกลับมามีอำนาจ แล้วเติ้งก็กลับมาทุนนิยม มีเพื่อนเคยไปจีนตอนปฏิวัติวัฒนธรรม เล่าให้ผมฟังว่า มึงเชื่อหรือเปล่า เข้าไปซื้อของในร้าน ซึ่งร้านค้าเป็นรัฐวิสาหกิจหมด เรากำลังจะซื้อของ กดออดพักเที่ยง พนักงานไม่สนใจเราเลย แล้วเขาพาไปเยี่ยมโรงงานผลิตรถยนต์ เห็นคนจีนพ่นสีรถ เขาก็พ่นติดกระจกแล้วค่อยขูดออก แทนที่จะเอากระดาษหนังสือพิมพ์ไปแปะกระจก พอเราไปบอก นายก็บอกว่าอย่าไปยุ่งกับเขา สะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีต่างๆ จีนก็ไม่สนใจ คือยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนเองก็ตกต่ำมาก 

กลายเป็นว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้นตำรับ ก็เป็นต้นแบบให้กับ พคท. ไม่ได้แล้ว

ใช่ ไปสุดโต่ง จนเรื่องความคิด เรื่องเศรษฐกิจไม่มีอยู่เลย คือถ้าคุณเข้าใจอุดมคติ เรื่องสังคมเป็นธรรม สังคมเท่าเทียม ซึ่งก็เป็นอุดมคติด้านนึง แต่มนุษย์นั้นมีกิเลส มีความต้องการส่วนบุคคล อยากได้ใคร่รวย รักโลภโกรธหลง เป็นเรื่องธรรมชาติ ขึ้นกับว่าคุณจะควบคุมแบบไหน

แต่ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ยุคเหมา ไปสุดหมดเลยทุกทาง แล้วหลักจริงๆ ทางเศรษฐศาสตร์ก็ผิด ตอนนั้น คนงานขยัน ทำงานสามปี ปีแรกก็ได้ธงแดง ปีที่สองก็ได้ธงแดง เป็นการชมเชยกลับไปที่บ้าน เหมือนกับให้รางวัล คุณไม่ได้ขึ้นเงินเดือน แล้วจะขยันไปทำไม เศรษฐกิจก็พังพินาศหมด ทำให้เรากลับมาคิดว่าสังคมนิยมต้องไปแบบไหน

สังคมนิยมในโลกปัจจุบันอาจจะเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบสวีเดน คือคุณปฏิเสธทุนนิยมไม่ได้ ไม่ว่าจะขั้นตอนไหน ทุนนิยมได้ทำให้โลกหมุน มีกลางวันกลางคืน มีด้านมืดด้านสว่าง แล้วก็ทำให้เกิดความอยากรวย ความอยากมี ความอยากได้นู่นนี่ ผ่านการคิดค้น การทำธุรกิจ ด้านของการถ่วงดุล ความเป็นธรรม ทุกอย่างต้องมาด้วยกัน 

จากที่เริ่มต้น ดูเหมือนว่าไปรุ่งๆ เราก็เริ่มหัก ตอนนั้นคือเห็นชัดแล้วว่าการปฏิวัติของ พคท. นั้นไปไม่ได้ และตามมาด้วยการทะเลาะกันรุนแรง ทำให้รู้สึกเหมือนเราขึ้นไปถึงความฝันอันสูงสุดแล้วก็เหมือนวันหนึ่งเราตกลงมา เหมือนดิ่ง แล้วก็เคว้งคว้าง ผมร้องไห้รุนแรง เฮิร์ตรุนแรงมาก 

เอาเข้าจริง ตอนที่ออกจากป่า ทางเหนือบรรยากาศยังไม่ค่อยแรง ยังพอเข้าใจได้ กรรมการเขต กรรมการจังหวัด เขายังพยายามที่จะพูดคุยได้ เพราะเป็นอดีตกรรมการนักศึกษา เป็นนักศึกษาเก่าธรรมศาสตร์ด้วยกัน แต่สุดท้ายความไม่เห็นหนทางแล้วไปต่อไม่ได้ ทุกอย่างก็ถอยกลับ 

ผมอยู่เมืองพานถึงปี 2525 ตอนนั้นกลับไปพักที่บ้าน แล้วก็เดินทางกลับมา วันนั้นเข้าป่าไม่ยากแล้ว นั่งรถทัวร์ไปลงสถานีเชียงใหม่ แล้วก็นั่งรถเมล์กลับเชียงราย พอถึงท่ารถก็มีมอเตอร์ไซค์มารับ เราอยู่ในสภาวะที่เปิดได้เยอะเหมือนกัน แต่ก็อยู่ได้สักช่วง สุดท้ายทหารก็เต็มพื้นที่ และสิ่งที่เราคิดว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ก็ไปได้แค่ระดับหนึ่ง สุดท้ายทหารก็คุกคาม ทำให้การทำมาหากินของประชาชนลำบาก แล้วก็แย่ด้วยกันทั้งหมด ตอนหลังก็มีการเจรจา คนที่อยู่ที่นั่นก็มอบตัว เข้าศูนย์การุณฯ (โครงการการุณยเทพ) ก็ทำให้เป็นเรื่องเคยชิน 1-2 เดือนก็ออกมา สุดท้ายประณีประนอมกัน ตกลงกัน มอบตัวกัน แต่ก็ไม่เคยไว้วางใจกันนะ มีผู้นำของเขตพาน ซึ่งเป็นผู้นำนักศึกษา ก็ถูกฆ่าหลังจากไปทำร้านอาหารที่อำเภอเชียงของ 1-2 ปีจากนั้น 

ถ้านับ 6 ตุลาฯ เป็นจุดตั้งต้นความเปลี่ยนแปลงในชีวิตคุณ 45 ปีผ่านไป คุณนึกถึงอะไร

นึกถึงคนรุ่นใหม่ ผมก็คงพูดเหมือนที่ธงชัย (ธงชัย วินิจจะกูล) พูด ไม่ใช่ความแค้นแล้ว แต่เป็นเรื่องที่เราจะถ่ายทอดบทเรียนว่า เราจะไปต่อข้างหน้าได้อย่างไร 

45 ปีผ่านไป มันเป็นกงล้อที่หมุนกลับมา สุดท้ายมีการปลุกอุดมการณ์แบบเดิม เป็นอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่พยายามต่อต้านคนรุ่นใหม่ แต่ผลลัพธ์คือคนรุ่นใหม่ก็มาถึงขั้นเรียกร้องที่จะปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

ตั้งแต่หลัง 6 ตุลาฯ ก็ไม่เคยมี แล้วก็มีการเอาอุดมการณ์นั้นมาใช้ตอนรัฐประหาร 2549 เอามาใช้ตอนพันธมิตรฯ ตอน กปปส. เพื่อล้มประชาธิปไตยยุคทักษิณ ยุคยิ่งลักษณ์ พอมาถึงยุคนี้ก็ปะทุขึ้นมาอีกรอบ โดยเฉพาะจากรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถอยหลังมาก แล้วก็ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอ่อนแอมาก

ถ้าลองไล่ประวัติศาสตร์ คือหลัง 6 ตุลาฯ เป็นต้นมา ได้มีการคิดสูตรใหม่ ทำให้ระบอบนี้อยู่มาได้ 30 กว่าปี จนถึงปี 2549 เกิดความสั่นคลอนหวั่นไหว รัฐประหาร 2549 นั้นเสียของ มาซ้ำอีกรอบปี 2557 สุดท้ายรัฐธรรมนูญ​ 2560 ได้ทำให้ความเป็นประชาธิปไตยน้อยลง ถูกตีความใหม่ แล้วก็ถอยลงจนกลายเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้มแข็งขึ้น แต่ก็เข็มแข็งไม่ได้ สุดท้ายก็เกิดการต่อต้านจากคนรุ่นใหม่ 

จริงๆ แล้วก็คือภาวะของโลกด้วย ตรงที่ถ้าเรามองยุค 60s-70s คนรุ่นใหม่ยุคนั้นทั้งโลกก็เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิผู้หญิง การเหยียดผิวในอเมริกา การเรียกร้องสันติภาพ จนหมดยุคสงครามเย็นก็กลายเป็นโลกยุคการค้าเสรี ต้องการให้ทั่วโลกมีหลักเกณฑ์ มีประชาธิปไตย มีสิทธิมนุษยชน มีเสรีภาพที่สามารถเอื้อต่อการค้า จนกระทั่งวิกฤต แล้วก็เริ่มมีคนที่ออกมา เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตซับไพรม์ วิกฤติสิ่งแวดล้อม การประท้วง มีคนอย่างเกรตา ธันเบิร์ก ออกมา มันอาจจะไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด แต่เป็นกระแสคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นความเป็นธรรมทางสังคม

ของเราได้กลายเป็นเรื่องเฉพาะ ในแง่ที่ว่าความเป็นประชาธิปไตยมันถอยหลัง รุ่นผม โลกในอดีตอาจไปทางสังคมนิยม แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ทุกวันนี้ คือความเป็นประชาธิปไตย ไม่ได้บอกว่าต้องเป็นประชาธิปไตยแบบดั้งเดิม หากแต่ต้องลดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ต้องกระจายความมั่งคั่ง ต้องปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระแสที่ขึ้นมาในช่วงนี้ แล้วเป็นทั้งโลกด้วย ทรงอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ไทยด้วย ก็มาชนกันพอดีในช่วง 45 ปี 6 ตุลาฯ

ถ้าย้อนกลับไป งาน 6 ตุลาฯ ในอดีต เราแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย จนกระทั่ง 20 ปี เมื่อปี 2539 หลายคนเริ่มมีบทบาทการเมืองแล้ว ก็พยายามฟื้นบทบาท สถานะคนตุลาฯ ขึ้นมา ก็เลยมีกำแพงประวัติศาสตร์ จัดอะไรก็ได้ ปกติก็มีแต่คนตุลาฯ มานึกถึง แต่ 1-2 ปีมานี้ กระแสคนรุ่นใหม่ได้ปลุกขึ้นมาอีก

แล้วปีนี้เห็นชัดเลยว่า ถึงพวกผมตายแล้ว งาน 6 ตุลาฯ ก็ยังอยู่ต่อไป (ยิ้ม) คนรุ่นใหม่เห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 6 ตุลาฯ แล้วปัญหาคือเรายังสู้กับอำนาจเดียวกัน ถึงแม้ว่าประวัติศาสตร์รุ่นพวกผมจะเป็นคนละอย่าง แต่คนตุลาฯ ช่วงนั้นก็เริ่มจากพลังเสรีนิยม เรียกร้องจากประชาธิปไตยนี่แหละ อย่างไรก็ตาม ยุคนั้น โลกไม่มีได้มีคำว่าเสรีประชาธิปไตย ทุกคนก็เข้าป่าจับปืน แต่ยุคนี้คือการสู้กับอำนาจ แล้วทำอย่างไรให้ไปสู่ประชาธิปไตยที่มากขึ้น ก็ต้องรื้อโครงสร้างจนชนกับอำนาจรัฐ อำนาจนำ ไม่ใช่แค่ปฏิรูปสถาบันฯ แต่ยังมีปฏิรูปศาล ปฏิรูปอะไรต่างๆ ฉะนั้นเป็นเรื่องที่มาบรรจบกัน ก็เลยกลายเป็นประเด็นที่ 6 ตุลาฯ มีความหมายมากขึ้นเรื่อยๆ 

45 ปีผ่านไป ความแค้นยังเหลืออยู่ไหม

ไม่ใช่ความแค้น… ไม่ใช่ คือคนเกี่ยวข้องคงตายกันไปหมดแล้ว เพราะเราก็ 60 กว่ากันแล้ว ทมยันตีก็อายุเท่าไรล่ะ แต่เป็นความรู้สึกที่ต้องผลักดัน ต้องทำอะไรให้ได้ ให้เห็นว่าพ้นจากกับดัก จากอำนาจที่เป็นอยู่ 

อนุรักษนิยมไทยนี่เป็นอำนาจที่ล้าหลังมาก ไม่ได้เป็นอำนาจอนุรักษนิยมทั่วโลกที่ต่อสู้กันแบบลิเบอรัลกับคอนเซอเวทีฟ เราควรพ้นจากพันธนาการ และควรจะไปข้างหน้าได้แล้ว แต่ที่ถอยมากคือรัฐธรรมนูญ 2560 ถ้าถอยแบบนี้ก็อยู่ไม่ได้ แล้วเป็นปัญหาทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่เฉพาะเรา ฉะนั้นผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องความแค้น แต่เป็นเรื่องที่เราควรยืนยันว่าควรต้องเปลี่ยนแปลง

ผ่านมา 45 ปีแล้ว ยังสู้กันเรื่องเดิมอยู่ คุณคิดว่าเป็นความล้มเหลวไหม

ถึงเราจะแพ้ แต่ว่าในความพ่ายแพ้จะบอกว่าไม่เปลี่ยนเลยเหรอ เปลี่ยนนะ ประชาธิปไตยครึ่งใบก็มาจากวันนั้นที่ต่อสู้กัน คือสุดท้ายแล้วการเกิด 6 ตุลาฯ เขาก็รู้ว่าเขาตัดสินใจผิดพลาด รัฐบาลหอยก็มีอายุแค่ 1 ปี เกรียงศักดิ์ก็ต้องมาโค่นกันเอง แล้วก็มารัฐบาลเปรม 

แต่ก่อนหน้านั้น 2516 เป็นเผด็จการเต็มใบโดยทหาร 2516-2519 ก็เป็นประชาธิปไตยที่ในทัศนะของพวกอนุรักษนิยมมองว่าวุ่นวายเกินไป พยายามที่จะดึงกลับไปเผด็จการเต็มใบ เต็มเหนี่ยว แล้วก็หนักกว่าอีก ก็ไปไม่ได้ ต้องกลับมาระบอบครึ่งใบ ต้องเปิดให้มีพื้นที่การเมือง คือถ้าเราย้อนกลับไปยุคเปรม ก็จะเห็นว่ายุคนี้ มีบทบาทสื่อ นักวิชาการ เอ็นจีโอเกิดขึ้น และมีลักษณะที่ยอมผ่อนคลายหลายเรื่อง จริงอยู่ มีความพยายามสร้าง Propaganda สร้างความเคารพศรัทธา แต่ว่าพอผ่านพ้นช่วงนี้ ก็กลายเป็นว่าสิ่งนี้ก็อยู่ต่อไม่ได้เหมือนกัน และแม้ว่าจะเกิดรัฐประหาร 2549 และ 2557 แต่เขาเปลี่ยนไม่ได้ ก็พยายามต้องกระชับอำนาจ

ผมคิดว่าตอนนี้เขาตัน ผมก็พยายามเปรียบเทียบ ถ้าเราคิดว่าปี 2519 เขาปรับตัวได้หลังจากล้มรัฐบาลหอย เขาก็ปรับตัว แล้วก็กลับมาสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ แล้วเขาสำเร็จ แต่ตอนนี้เขาปรับตัวไม่ได้แล้ว ทุกอย่างชนกับสังคมเต็มเหนี่ยว แล้วก็คลายอำนาจไม่ได้ หาจุดลงตัว หาจุด Compromise กับสังคมไม่ได้แล้ว ทั้งหมดอาจดูเหมือนกับว่าคนรุ่น 6 ตุลาฯ แพ้ แต่อะไรที่ถ่ายทอดออกมาก็เยอะพอสมควร อ.สมศักดิ์ (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) ก็โดดเดี่ยวมาหลายปี แต่ก่อน มีใครสนใจแกบ้าง อาจารย์ยิ้ม อาจารย์ธงชัย ก็ทำงานวิชาการมาตลอด อาจารย์เกษียร (เกษียร เตชะพีระ) ก็พูดมาตลอด แต่โลกยุคปัจจุบัน การต่อสู้กันนั้นซับซ้อนกว่า ไม่ได้มีแค่เข้าป่าจับปืน การจับปืนทำให้เขากลัวว่าเขาจะถูกยึด ยุคปัจจุบัน เขาอาจจะไม่กลัว แต่เขาก็ไม่สามารถใช้ความรุนแรงได้ เขาก็ต้องอ้างกฎหมาย แต่ถามว่าเขาจับคนเป็นหมื่นได้ไหม เขาก็จับไม่ได้นะ ต้องเล่นแบบเอาไปจับแค่นี้ แกนนำ 4-5 คน คนอื่นก็จับๆ ปล่อยๆ เขาก็หาทางลงไม่ได้อยู่ดี อยู่ในจุดตัดเหมือนกันว่า ตกลงแล้วคุณจะลงตรงไหน

คือสุดท้าย โลกปัจจุบัน เราไม่สามารถฆ่ากันให้หมดไปได้ อาจจะทำได้แบบย่อยๆ ได้ แต่ฆ่ากันแบบในอดีตทำไม่ได้แล้ว ถึงทำได้ ก็คงตกต่ำแบบสุดๆ คือหักลงเหวไปเลย ก็อยู่ในภาวะที่ชักเย่อกันไปมา อำนาจของเขา อำนาจของรัฐอนุรักษนิยมตอนนี้แน่นไปหมด คุมทุกอย่างหมด ทั้งรัฐราชการ ทหาร ตำรวจ ศาล องค์กรอิสระ แต่ความเข้มแข็งของประชาชนก็ทำให้เขาหาที่ลงไม่ได้เหมือนกัน 

Fact Box

  • อธึกกิต แสวงสุข หรือ ‘ใบตองแห้ง’ มีชื่อเสียงจากคอลัมน์ ว่ายทวนน้ำ คอลัมน์ตอบจดหมายและบทสัมภาษณ์ใหญ่ทุกวันอาทิตย์ของหนังสือพิมพ์ ‘ไทยโพสต์’
  • เขาออกจากป่าชุดสุดท้ายในปี 2525 ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ออกนโยบาย 65/25 ก่อนเริ่มต้นอาชีพนักข่าวที่หนังสือพิมพ์แนวหน้า และย้ายไปที่สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น กับหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ และเริ่มทำงานที่หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ตาม โรจน์ งามแม้น หรือ ‘เปลว สีเงิน’ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง
  • ปัจจุบัน ใบตองแห้ง จัดรายการ ‘ใบตองแห้ง OnAir’ ทางสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี รวมถึงเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ข่าวสด หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ รวมถึงยังถูกเรียกจากแฟนคลับพรรคเพื่อไทยว่าตัวเขาเป็น ‘ใบตองส้ม’ เนื่องจากสนับสนุนแนวทางของพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลมากกว่าพรรคเพื่อไทย
Tags: , , ,