ในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์ แผ่ขยายอิทธิพลเข้าสู่ทุกอณูในการดำเนินวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ศักยภาพในการกระจายข้อมูลข่าวสารถูกพัฒนาแบบก้าวกระโดด และเป็นเหตุให้ชุดข้อมูลที่ถูกเก็บงำไว้ หรือถูกเผยแพร่อยู่ใวงจำกัด ไหลทะลักออกสู่พื้นที่สาธารณะจำนวนมาก คำอธิบายบางอย่างที่เคยถูกผูกขาดเอาไว้กับผู้มีอำนาจรัฐ ถูกท้าทายด้วยคำอธิบายที่แตกต่างออกไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จนหลายคนเกิดค้นพบหนทางที่นำไปสู่การ ‘ตาสว่าง’ ได้สำเร็จ
แต่บริบททางการเมืองไทย ซึ่งเกิดขั้วตรงข้ามที่แบ่งแยกผู้คนออกจากกันโดยปราศจากจุดกึ่งกลาง (Polarized) อันเป็นผลมากระบวนการหล่อหลอมทางความคิดหรือความเชื่อจากผู้มีอำนาจรัฐในอดีต จนกลายเป็นโลกทัศน์หรือมุมมองการมองโลกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของผู้คนในสังคม
โดยเฉพาะระหว่างคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากให้เลือกสรร กับคนยุคก่อนหน้า ที่เป็นผลผลิตของกระบวนการหล่อหลอมของรัฐเมื่อครั้งอดีต และยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อหนึ่ง ๆ อย่างถึงที่สุด น่าคิดต่อว่า ‘การตาสว่าง’ จะเป็นประโยชน์มากแค่ไหน ในสถานการณ์เช่นนี้
เรื่องราวของ ‘ดินแดนคนตาบอด’ (The Country of the Blind)
เรื่องราวของ ดินแดนคนตาบอด (The Country of the Blind) ของ เอช. จี. เวลส์ (H.G. Wells) ที่จะทำให้เข้าใจว่า ถ้าคุณเป็นคน ‘ตาดี’ หรือ ‘ตาสว่าง’ ในดินแดนที่มีแต่คนตาบอด ซึ่งทุกคนล้วนเชื่อในสิ่งที่คนตาดีอย่างคุณไม่มีวันมองเห็นและเข้าใจ การพยายามเบิกเนตรและอธิบายถึงสรรพสิ่งหรือความจริงที่ปรากฏอยู่ในนัยน์ตาของคุณแก่พวกเขา ย่อมกลายเป็นการกระทำที่ไร้ความหมาย
ดินแดนคนตาบอดเป็นเรื่องสั้นที่เล่าถึงเมืองควิโต ดินแดนลับแลแห่งหนึ่งที่ซ่อนอยู่กลางหุบเขาลึกลับ ตัดขาดจากโลกกว้างโดยสิ้นเชิง ความประหลาดของเมืองนี้ คือ ทุกคนมีโรคประจำตัวซึ่งทำลายประสาทในการมองเห็น เด็กที่เกิด ณ ดินแดนแห่งนี้ล้วนแต่ตาบอด และเมื่อวันเวลาผ่านไปหลายชั่วอายุคน ดินแดนแห่งนี้จนกลายเป็นถิ่นของคนตาบอดอย่างสมบูรณ์ในที่สุด
ผู้คนในดินแดนคนตาบอด ต่างมีชีวิตแสนเรียบง่าย พื้นที่อุดมไปด้วยต้นไม้ไร้หนาม ไม่มีแมลงมีพิษหรือสัตว์ร้าย และทุกคนต่างรู้จักสถานที่ทุกตารางนิ้วอย่างน่าอัศจรรย์ สุดท้ายแล้ว อาการตาบอดกลับไม่ได้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของผู้คนในดินแดนดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย ดังนั้น ต้องเข้าใจว่า คนตาบอดในเรื่องสั้นของ เวลส์ ไม่ได้หมายถึง ผู้ด้อยความสามารถเหมือนอย่างโลกความจริงแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ชาวดินแดนคนตาบอดยังมีชุดความรู้ที่สืบทอดกันมาหลายช่วงอายุคน มีระบบคุณค่าและความเชื่อที่เกี่ยวโยงกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับบางอย่าง เช่น เรื่องปัญญาเบื้องบนซึ่งคอยปกปักรักษาที่คนในดินแดนนี้ให้พ้นจากทุกข์ภัยต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนตาดีล้วนไม่มีวันรับรู้และเข้าใจความหมายของมันได้
หนึ่งในตัวละครหลักนามว่า นูเนซ หรือ โบโกตา (ชื่อเมืองใหญ่ที่นูเนซจากมา แต่ชาวดินแดนคนตาบอดใช้เรียกเขา) ชายนักปีนเขา ซึ่งประสบอุบัติเหตพลัดตกหน้าผา มายังเดินแดนคนตาบอด และเมื่อเขาพบว่า ทุกคนในเมืองนี้ เป็นคนตาบอด เขาก็นึกถึงสำนวนคลาสสิกที่ว่า “ในดินแดนของคนตาบอด ชายตาเดียวคือพระราชา” (The Country of the Blind, The one-eyed man is King.) ดังนั้น เขาจึงมีรีรอที่จะยกตัวเองขึ้นเป็นใหญ่ โดยอาศัยความสามารถ ‘การมองเห็น’ ของเขา ด้วยการอธิบายถึงสรรพสิ่งที่เขามองเห็นว่า สวยงามและวิเศษอย่างไรบ้าง แต่ทว่า คำพูดและการกระทำของ นูเนซ ในความคิดของพลเมืองคนตาบอด กลายเป็นสิ่งไร้ความหมาย งี่เง่า และแปลกประหลาดอย่างยิ่งในเมืองคนตาบอด
เมื่อคำว่า ‘มองเห็น’ (see) ไม่ได้ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมของดินแดนคนตาบอด ส่งผลให้การมองเห็นของนูเนซจึงพลอยไร้ค่าไร้ความหมายไปโดยปริยาย การพูดถึงความสามารถในการมองเห็นของเห็น และการบอกเล่าถึงความสวยงามของสรรพสิ่งที่เขามองเห็น เป็นเพียงอาการของ ‘คนบ้า’ เท่านั้น
ท้ายที่สุดการพยายาม รัฐประหาร เพื่อปกครองดินแดนคนตาบอดของเขาจึงต้องประสบกับความล้มเหลวไม่เป็นท่า เรื่องราวความวุ่นวายสิ้นสุดลง ด้วยเหตุการณ์ที่ นูเนซ ต้องยอมรับว่าตนเองเป็นบ้า ตามที่คนตาบอดกล่าวหา และสูญสิ้นความเป็นตัวเองด้วยการแสดงออกมาว่า ตนมีความคิด ความเชื่อตามอย่างที่เหล่าคนตาบอดเป็น
…คนตาบอด ถามว่าเขา (นูเนซ) ยังคิดว่าตัวเอง ‘มองเห็น’ อยู่อีกหรือไม่? “ไม่แล้ว” เขาบอก “เรื่องนั้นมันงี่เง่า คำนั้นมันไม่มีความหมายอะไรเลย ยิ่งกว่าไม่มีเสียอีก!”
คนตาบอดถามต่อว่ามีอะไรอยู่ข้างบน “เหนือหัวมนุษย์ขึ้นไปราวสิบช่วงตัว มีหลังคาครอบโลกอยู่ เป็นที่เรียบลื่น แสนราบเรียบและสวยงามที่สุด”
ประเด็นนี้ เป็นสิ่งที่ผู้แต่งได้ล้อเลียน เย้ยหยัน สำนวนที่ว่า “ในดินแดนของคนตาบอด ชายตาเดียวคือพระราชา” อย่างมีชั้นเชิง
ครั้นที่ นูเนซ ยอมเป็นพลเมืองคนตาบอดอย่างเต็มใจ เขาก็ได้ตกหลุมรัก เมดินา-ซาโรต หญิงสาวพลเมืองตาบอดคนหนึ่ง เขาสามารถพิชิตใจเธอ และเกือบจะได้แต่งงานกับเธอ แต่ดันมาติดตรงที่ในความคิดของพลเมืองคนตาบอดทั่วไป นูเนซ ไม่ต่างอะไรจากคนบ้าสมองทึ่ม โง่เขลาเบาปัญญา จากการที่เขามักพร่ำเพ้อเรื่องการมองเห็น และปฏิเสธความเชื่อแผ่นหินโค้งครอบจักรวาล ซึ่งมันไม่ได้มีอยู่จริงตามที่เขามองเห็น อย่างไรก็ตาม เฒ่ายาค็อบ ด้วยความที่เป็นบิดาของ เมดินา-ซาโรต และเจ้านายของนูเนซ ยังคงอยากให้ลูกสาวของตนได้แต่งงานกับคนที่เธอรัก เพียงแต่มีเงื่อนไขอย่างหนึ่ง คือ จะต้อง ‘รักษา’ อาการบ้าของนูเนซเสียก่อน
หมอผีประจำหุบเขา ได้ตรวจร่างกายของนูเนซ แล้วพบว่า สิ่งที่ทำให้เขามี ‘สมองที่ผิดเพี้ยนไป’ คือ ของพิลึกกึกกือที่เรียกว่า ‘นัยน์ตา’ มิหนำซ้ำ หมอยังกล่าวอีกว่า ขนตาและหนังตาที่ขยับได้ ถือเป็นสิ่งที่รบกวนสมองของนูเนซให้วอกแวกอยู่ตลอดเวลา
“ฉันมั่นใจว่า หากจะให้มันหายขาด เราก็แค่ทำการผ่าตัดง่าย ๆ ซึ่งก็คือ กำจัดอวัยวะที่ก่อการรบกวนนี่ออกซะ…มันจะมีสติครบถ้วนทุกประการกลายเป็นพลเมืองน่านับถือเลยทีเดียวล่ะ” หมอผีกล่าวต่อยาค็อบ
การมองเห็นเปรียบเสมือนโลกของนูเนซ การสูญเสียการมองเห็น ย่อมเท่ากับการสูญเสียโลกทั้งใบของเขา เนื่องจากมันทำให้เขาต้องพลาดการมองเห็นสรรพสิ่งสวยงามรอบตัว ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เขาชื่นชอบในการเป็นนักปีนเขา และสิ่งที่ทำร้ายเขามากกว่าการควักนัยน์ตาเขาออก คือ การที่เขาจะไม่ได้มองเห็น เมดินา-ซาโรต ผู้เป็นจุดหมายในชีวิตของเขาอีกต่อไป
ถึงอย่างนั้น เขาได้เลือกเดินออกไปจากดินแดนของคนตาบอด เขารู้สึกว่า ยามอยู่เบื้องหน้าความงดงามที่ยิ่งใหญ่นี้ โลกของคนตาบอดในหุบเขาและความรักของเขา ล้วนเป็นเพียงหลุมลึกของบาป
เรื่องจริงไม่อิงนิยายที่แสนเศร้า
ชะตากรรมของนูเนซในดินแดนคนตาบอดกับหลายคนซึ่งค้นพบหนทางตาสว่างด้วยตนเอง อาจไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก เมื่อต้องพบปะ และถกเถียงกับผู้คนที่ยึดมั่นความเชื่อ หรือมีอุดมการณ์ทางการเมืองหนึ่ง ๆ อย่างเหนียวแน่น
เรื่องราวของดินแดนคนตาบอดสะท้อนให้เห็นว่า บางครั้งในสังคมที่เต็มไปด้วยระบบความคิดแบบอำนาจนิยมที่รัฐเห็นชีวิตประชาชนเป็นเพียงวัตถุแห่งสิทธิของรัฐ สังคมที่ผู้คนไม่เชื่อเรื่องการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน หรือในสังคมที่มีระบบกฎหมายอันไร้ซึ่งหลักนิติรัฐ และหลักความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย อาจทำให้การเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค รวมถึงการแสดงความเห็นต่างอันกระทบกระเทือนต่อสถานะความมั่นคงของผู้มีอำนาจ เช่นเดียวกับการปฏิเสธความเชื่อเรื่องแผ่นหินครอบจักรวาลของนูเนซ อาจทำให้เราดูเป็นคนบ้าเสียสติในสายตาของคนกลุ่มหนึ่งได้ในทันที
นอกจากนี้ ในดินแดนคนตาบอด การใช้เสรีภาพการแสดงออกของบุคคลในลักษณะของการปฏิเสธ หรือต่อต้านอำนาจที่พวกเขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่คอยกดทับความเจริญก้าวหน้าสังคมในการเดินไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่ทุกคนมีความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ล้วนกลายเป็นการกระทำที่ดู ‘สิ้นคิด’ ภายใต้ตรรกะที่ ‘บิดเบี้ยว’ และมีแต่ ‘สร้างความวุ่นวาย’ แก่บ้านเมืองอันแสนสงบสุข
สุดท้าย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะเลือกหนทางเดียวกับนูเนซ คือ หันหลังหนีไปให้พ้นจากดินแดนที่ ‘การมองเห็น’ หรือ ‘การตาสว่าง’ กลายเป็นสิ่งไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง
แต่โชคร้ายที่อีกหลายต่อหลายคนไม่ได้มีโอกาสเช่นนั้น พวกเขาต้องซุกซ่อนความปรารถนาที่แท้จริงของตนเองเอาไว้ พร้อมทั้งแสร้งให้เหมือนว่าตัวเองนั้นตาบอด และมีความเชื่อในแบบที่คนตาบอดเชื่อ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต
เอกสารอ้างอิง
เอช. จี. เวลส์ , ดินแดนคนตาบอด = The Country of the Blind. แปลโดย มโนราห์ (นามปากกา), พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : สมมติ, 2561).
Tags: เอช. จี. เวลส์, ดินแดนคนตาบอด, The Country of theBlind