รู้รอบด้าน แต่รู้ไม่ลึก

ทำงานดี แต่ไม่โดดเด่น

เก่งหลายอย่าง แต่เก่งไม่สุดสักทาง เหมือนเป็ดที่บินได้ แต่บินไม่สูงเหมือนนก ว่ายน้ำได้ แต่ว่ายไม่เร็วเหมือนปลา เดินได้ แต่ไม่คล่องแคล่วเหมือนสัตว์สี่ขาอย่างช้างม้า หรือหมาแมว

คำกล่าวข้างต้นเป็นคำชมแฝงเจตนาสบประมาทที่ทั้ง พิม-ประทานพร ฝัน-นลินี และปาน-ชุติกาญจน์ 3 สาวหัวหน้า AE ชั่วโมงบินสูงจากบ้าน Yell Advertising ต่างรู้จักดี เพราะตำแหน่งผู้บริหารงานลูกค้า หรือ AE (Account Executive) นี่แหละ คือหนึ่งในตำแหน่งงานที่ว่ากันว่าต้องอาศัยความเป็น ‘เป็ด’ สูงที่สุด

อย่างไรก็ดี กว่าที่ Yell Advertising จะก้าวมาเป็นเอเจนซีโฆษณาระดับแนวหน้าของประเทศไทย ที่ มีผลงานโฆษณาน่าจดจำมากมายหลายชิ้น เช่น จีบได้แฟนตายแล้ว (The One Card) มนุษย์ตุ๊กแก (Weber Super Glue) หรือแม้แต่ในปี 2565 ที่ตีตลาดโฆษณาในแถบเอเชีย ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ SOUNDs Shanghai เอเจนซีสัญชาติจีน จนสามารถคว้ารางวัลระดับเมเจอร์กลับมาได้ถึง 4 รางวัล

อาจเปรียบได้ว่า รวงน้ำผึ้งหวานฉ่ำจำเป็นต้องมีเหล่าผึ้งงานผู้ขยันขันแข็งอยู่เบื้องหลัง เฉกเช่นเดียวกับเบื้องหลังความสำเร็จอันล้ำค่าของ Yell Advertising ที่ต้องมี ‘เป็ดงาน’ หรือตำแหน่งหน้าที่ AE เคียงข้างมาตลอด ตั้งแต่งานจิปาถะจนถึงงานใหญ่ระดับโลก

ด้วยเหตุนี้ คอลัมน์ The Chair จึงอยากชวนพิม ฝัน และปานมาร่วมแชร์บทเรียนฉบับ ‘เป็ดๆ’ ที่ตกผลึกจากประสบการณ์ชีวิตการทำงานของพวกเธอในตำแหน่ง AE สามัญ จนสามารถก้าวไปสู่การเป็น ‘Super AE’ ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการพาองค์กรของพวกเธอก้าวไปสู่ความสำเร็จ

ก้าวสู่โลกสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย ‘มนุษย์เป็ด’ 

ฝัน: เวลาได้ยินคำว่าเป็ด คนมักจะคิดถึงคำนี้ในแง่ลบก่อน แต่ถ้าถามเรา เราคิดว่าเป็ดมันเป็นคุณลักษณะที่ดีด้วยซ้ำ การมีความรู้หลากหลายแขนง ต่อให้เป็นเพียงความรู้ระดับพื้นฐานก็ตาม จะทำให้เรามองเห็นภาพกว้างของสิ่งต่างๆ ได้ดี 

เช่น ถ้าคนกลุ่มหนึ่งตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง แล้วการตัดสินที่ว่านั้นสามารถส่งผลกระทบกับคนอีกกลุ่มได้ คนแรกที่จะวิเคราะห์หาจุดเชื่อมโยงระหว่างคนทั้งสองกลุ่มที่ทำให้เกิดปัญหา ไม่ใช่คนที่รู้จักคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นอย่างดีเพียงกลุ่มเดียว แต่คือคนที่เข้าใจธรรมชาติพื้นฐานของคนทั้งสองกลุ่มต่างหาก

พิม: อยากให้ลองนึกภาพตาม ว่าถ้าในบริษัทหนึ่งมี 99% ของพนักงานเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจแค่ในศาสตร์ของตัวเองเพียงอย่างเดียว สมมติว่าคนหนึ่งเชี่ยวชาญด้านศิลปะ อีกคนเชี่ยวชาญด้านการเงิน แล้วก็มีอีกคนเชี่ยวชาญด้านการเทคโนโลยี แต่ในบรรดาพนักงานทั้งหมด ไม่มีใครมีความรู้ขั้นต้นเกี่ยวกับศาสตร์ของเพื่อนร่วมงานคนอื่นเลย บริษัทนี้จะดำเนินกิจการต่อไปได้นานแค่ไหน หากไม่มีใครมาเป็นคอยเป็นข้อต่อให้แต่ละฝ่ายเข้าใจกระบวนการทำงานของกันและกัน

ปาน: อย่างหนึ่งที่เราต้องยอมรับให้ได้ คือยุคนี้มันเป็นยุคของคน Multi-skills แล้ว ในเมื่อเราอยู่ในโลกที่หมุนเร็วแบบนี้ การมีทักษะรอบด้านและความพร้อมที่จะปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานี่ละ ที่นอกจากจะเป็นเครื่องมือแห่งความสำเร็จแล้ว ยังเป็นเบาะที่จะรองรับเราไม่ให้เรารู้สึกหมดหนทางไปง่ายๆ

อาจไม่เก่งเฉพาะทาง แต่ก็เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว

ปาน: ไม่ปฏิเสธนะว่าหลายคนคิดว่า AE เป็นงานจับฉ่ายจริงๆ อาจไม่ได้เป็น คนลงมือสร้างสรรค์งานเองอย่างแผนกอื่น แต่ต้องรู้รอบด้าน ทั้งเนื้องาน วิธีการ และเทคนิค ต้องรู้จักสวมหมวกหลากหลายใบ และทำความเข้าใจผู้คนหลายๆ ฝ่าย เพื่อให้มั่นใจว่าหากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราจะรู้ได้ทันทีว่าจะเริ่มแก้ตรงไหน ซึ่งจะต้องอาศัยทักษะที่โดดเด่นหลายอย่าง เช่น

เป็นนักสื่อสาร – คุณเป็นนักสะสมคำดีๆ หรือเปล่า มีทักษะการสื่อสารที่เฉียบคม ชัดเจนพอไหม

เป็นนักเจรจา – คุณมีทักษะการต่อรองมากแค่ไหน สามารถเจรจาให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่น่าพอใจสำหรับทุกฝ่ายไหม

เป็นนักจัดการ – คุณสามารถบริหารทั้งคุณภาพงาน ทั้งคน ทั้งเวลาให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีหรือไม่ และมีวิธีการรับมือกับอุปสรรคอย่างไร 

พิม: หนึ่งในพลังพิเศษของ AE คือสิ่งที่เรียกว่า ‘Insight’ เพราะต่อให้คนทำงานในแผนกอื่นๆ เชี่ยวชาญในด้านของเขาอย่างไร ก็ต้องมีช่องว่างบางอย่างที่เขาไม่สามารถเติมเต็มได้ด้วยตนเอง 

เช่น ลูกค้าอาจมีไอเดียกว้างๆ ในใจ แต่ไม่สามารถบรีฟให้ครีเอทีฟเห็นภาพที่ต้องการได้ ก็จะเป็นเราที่ต้องเข้าไปมีบทบาทในการไกด์ให้เขารู้ว่าจะต้องให้ข้อมูลอะไร ละเอียดขนาดไหน เพื่อให้ทีมสามารถนำข้อมูลส่วนนี้ไปต่อยอดออกมาเป็นงานได้จริง

หรือถ้าครีเอทีฟมีแผนงานที่คิดเอาไว้ แต่ยังดำเนินงานต่อไม่ได้ เพราะเขาไม่คุ้นเคยกับข้อจำกัดบางอย่าง ก็เป็นเราอีกที่จะต้องคอยหาข้อมูล ติดต่อ ประสานงาน ให้คำปรึกษา และเติมเต็มช่องว่างให้เขามองเห็นภาพรวมเป็นภาพเดียวกับเรา ว่างบประมาณเท่านี้เอาไปทำอะไรได้มากขนาดไหน ผู้จัดอีเวนต์เจ้าไหนสามารถจัดงานได้ใกล้เคียงที่เขาต้องการที่สุด ลูกค้าอยากให้ระวังเรื่องอะไรเป็นพิเศษไหม

AE: ผู้หญิงทำได้ เพศหลากหลายทำดี และผู้ชายก็มีนะ

ฝัน: ภาพที่บริษัทหนึ่งจะมีผู้บริหาร หรือมีพนักงานระดับซีเนียร์ในแผนกเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ไม่ใช่ภาพที่พบเห็นได้ง่ายๆ ในทุกองค์กร การที่เรามีโอกาสได้เห็นภาพของผู้นำทีมหญิงที่ Yell ในวันนี้ ทำให้เรารู้สึกดีเหมือนกันนะ มันเป็นสิ่งที่เปิดกว้างมานานแล้วในระดับสากล

พิม: สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะ AE เป็นหนึ่งในสายอาชีพ ที่นอกจากจะไม่ถูกปิดกั้นจากเพศหญิงแล้ว ยังเป็นอาชีพที่ดึงดูดผู้หญิงเข้ามาทำมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเราเองก็เห็นด้วยว่าเหมาะ เพราะเป็นงานที่ใช้ทักษะการเข้าหาผู้คน พูดคุย ต่อรอง ให้คำปรึกษา

ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายทำสิ่งเหล่านี้ได้ไม่ดี เพราะในทีมเราก็มี AE ผู้ชายอยู่ด้วย แต่ถ้าพิจารณาสัดส่วนก็จะเห็นว่าเรามี AE เป็นผู้หญิงเสียส่วนมาก รองลงมาคือ LGBTQ+ และมีผู้ชายเป็นส่วนน้อย

พิม – เป็ดที่เข้มงวด

พิม: จากมุมมองของทั้งน้องๆ ในทีมและลูกค้า เราน่าจะเป็นเป็ดที่ดุพอสมควร ด้วยธรรมชาติของตำแหน่ง AE ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจ ในการติดตามและฟีดแบ็กงาน ไทม์ไลน์และคุณภาพงานเป็นสิ่งที่เราจริงจังเสมอ ถ้าคุยไว้ว่าอย่างไร แล้วไม่เป็นอย่างนั้น ก็ต้องมีการพูดคุยกันว่าปัญหาคืออะไร

กับลูกค้าเองก็เหมือนกัน ถึงเราจะเข้มงวดกับทีม แต่ในขณะเดียวกันเราก็ปกป้องสิทธิของสมาชิกในทีมเต็มที่ ถ้ามีการสั่งแก้งานที่เอารัดเอาเปรียบกันเกินไป และการบรีฟงานที่ไม่มีคุณภาพเราก็จะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเลยว่า ควรหาทางแก้ปัญหาร่วมกันอย่างไร

ฝัน – เป็ดที่ไม่เคยหยุดเรียนรู้

ฝัน: สิ่งหนึ่งที่เราถูกหล่อหลอมจากการเติบโตมาใน Yell คือเราเรียนรู้ที่จะเปิดใจให้กว้างและให้โอกาสคนอยู่เสมอ ให้เขาได้ลองผิดลองถูก ลองเรียนรู้ ลองจับงานหลากหลายรูปแบบ เพราะในช่วงเริ่มต้น ก็เป็น Yell นี่แหละที่เปิดโอกาสให้เราได้ลองดึงศักยภาพในการทำงานของตัวเองออกมา

การจบตรงสายจึงถือเป็นเรื่องรองในการที่จะเข้ามาทำงานที่นี่ เรามองศักยภาพของคนก่อนเป็นสำคัญ เมื่อเข้ามาทำงานแล้ว หากมีใครรู้สึกว่าตัวเองยังขาดเหลือทักษะไหน หรือมีองค์ความรู้อะไรที่เป็นประโยชน์ องค์กรก็สามารถส่งเสริมให้พัฒนาได้ เพราะมีสวัสดิการ มีแรงจูงใจ ให้ไปเข้าคลาส อบรม และสัมมนาต่างๆ อยู่ตลอด นอกจากจะได้พัฒนาตัวเองแล้ว ยังได้ออกจาก Comfort Zone ไปเจอสังคมและคอนเนกชันใหม่ๆ

ปาน – เป็ดที่มีความสุข

ปาน: เราเชื่อว่าตลอดชีวิตการทำงานของคนคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหน หากต้องทำเหมือนเดิมตลอดเป็น 10 ปี ย่อมมีช่วงเวลาที่เบื่อ รู้สึกตัน หรือ Burnout บ้างเป็นธรรมดา 

แต่เพราะ Yell มีวัฒนธรรม ธรรมชาติ และรูปแบบการทำงานในองค์กรที่ให้ความสุขกับคนทำงาน เราได้รับโอกาสในการทำงานที่แปลกใหม่ท้าทายความสามารถ ได้อัปเลเวลให้ตัวเองและทีมอยู่เสมอ ตลอดจนอิสระในการเลือกสมาชิกเข้าทีมเอง ทำให้มีโอกาสได้เลือกคนที่มี Nature เดียวกันมาแวดล้อมเรา ได้สร้างทีมตามแบบฉบับ DNA ของเรา 

ทั้งหมดนี้ มันทำให้เรารู้สึกว่าใครจะมองว่าเป็นเป็ด แต่เราก็เป็นเป็ดที่มีความสุขกับการทำงาน

จาก First Jobber ในวันนั้นสู่ Super AE ในวันนี้ ด้วยการเรียนรู้จากความผิดพลาด

ปาน: ตอนเริ่มงานใหม่ๆ เราค่อนข้างเครียดกับการค่อยๆ ทำความเข้าใจงานไปทีละส่วน เพราะ Job Description ของ AE มันกว้างมาก จึงมีงานหลายส่วนที่เราต้องรับผิดชอบ ทั้งทีมลูกค้า, Supplier, Production House, อีเวนต์, อินฟลูเอนเซอร์ ฯลฯ ไหนจะคนภายในทีมเดียวกันอีก

และแน่นอนว่าเมื่อต้องรับผิดชอบหลายอย่าง เราย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญหน้ากับความผิดพลาด แต่ทุกความผิดพลาด ทุกบาดแผล และทุกปัญหาที่แก้ได้ ล้วนเป็นเหมือนขั้นบันไดที่เราค่อยๆ ก้าวขึ้นไปทีละขั้น และเอาชนะตัวเองไปให้ได้ทีละขีดความสามารถ

ฝัน: เป็นธรรมดาของเด็กจบใหม่ที่จะ ‘ไฟแรง’ และนั่นก็อาจจะหมายถึง ‘ใจร้อน’ ด้วย เราเองก็เหมือนกัน แน่นอนว่าซึ่งที่เกิดขึ้นคือมีข้อผิดพลาดบ้าง บางครั้งก็เรียกชื่อลูกค้าผิด ส่งอีเมลผิด หรือเผลอทำงานไม่รอบคอบ หากย้อนกลับไปบอกอะไรตัวเองในตอนนั้นได้ก็คงบอกว่า ‘ไฟแรงได้ แต่ต้องใจเย็นด้วย’

พิม: การโตเป็นผู้ใหญ่ไม่ง่ายไม่ว่ากับใครอยู่แล้ว กับเราเองก็เหมือนกัน ไม่ว่าจากนักศึกษากลายเป็นเด็กจบใหม่เริ่มทำงาน หรือจากตำแหน่งจูเนียร์กลายเป็นซีเนียร์ ก็ย่อมหมายถึงความรับผิดชอบที่มากขึ้น ความคาดหวังที่สูงขึ้น และการเจอสิ่งใหม่ในทุกวัน

ความทรงจำที่เด่นชัดเกี่ยวกับช่วงเวลานั้น จึงมีทั้งน้ำตาและรอยยิ้มปะปนกันไป แต่สุดท้ายเราก็เดินหน้าต่อไปและบอกตัวเองอยู่เสมอว่า “Every day is a fresh beginning; some are bright and some are blue, but they are all filled with delight at the end.”

ถ้ามีโอกาสได้พูดคุยกับใครก็ตามที่กำลังตกที่นั่งเดียวกับเราในตอนนั้น คงอยากเข้าไปตบบ่าแล้วพูดว่า “สาว สู้สิสาว ไม่ต้องร้อง สู้! เริ่มต้นอะไรก็ยากหมดแหละ”

หนึ่งคนที่คอยเตือนสติเราอยู่เสมอให้รู้จักที่จะรับผิดชอบให้ฐานะหัวหน้า รู้จักปกป้องดูแลทีม ก็คือหัวหน้าคนก่อนที่เคยดูแลเราในแบบเดียวกัน

Fact Box

  • Yell Advertising คือเอเจนซีโฆษณาระดับแนวหน้าของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2552 มีผลงานโฆษณาน่าจดจำมากมายหลายชิ้น ที่น่าจะเคยผ่านหูผ่านตาคนไทย เช่น จีบได้แฟนตายแล้ว (The One Card) หรือมนุษย์ตุ๊กแก (Weber Super Glue)
  • ชื่อบริษัท ‘Yell’ มีที่มาจากคำว่า ‘Yellow Mama’ ซึ่งเป็นอาหารที่สมาชิกยุคก่อตั้งรับประทานประจำ เพราะต้องประหยัดค่าใช้จ่ายบริษัท
  • ภายในระยะเวลา 14 ปี จากเดิมมีพนักงานเพียง 4 คน ก็กลายเป็น 120 คน พ่วงด้วยสามสำนักงานที่งอกเงยขึ้นมาในเมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพฯ สิงคโปร์ และเซี่ยงไฮ้ อย่างไรก็ดี พวกเขายืนยันว่า ขนาดที่ใหญ่ขึ้นและประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ไม่ได้ทำให้ความหิวโหยที่จะสร้างสรรค์ผลงานและขับเคลื่อนวงการโฆษณา ลดน้อยลงจากวันแรกที่ก่อตั้งบริษัทเลยแม้แต่นิดเดียว
Tags: , , , , , , , , , ,