ตลอดหลายสิบปีในวงการกีฬาเจ้าลมกรด ถ้าจะให้พูดถึงแบรนด์รองเท้าวิ่งสัญชาติไทยที่ได้รับความนิยมจากคนไทยด้วยกันเอง เชื่อว่าหลายคนอาจจะนึกไม่ออก หรือหากนึกชื่อแบรนด์ออกบ้าง ก็คงไม่มั่นใจที่จะตอบว่ามีคุณภาพพอ เพราะที่ผ่านมาแทบไม่เคยเห็นเลยว่า จะมีรองเท้าวิ่งแบรนด์ใดที่โดดเด่น มากกว่ารองเท้าวิ่งจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศที่ครองตลาดมาโดยตลอด
นั่นอาจเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลให้เหล่าผู้ประกอบการไทยจะต้องยอมแพ้ เพราะภายใต้ยุคสมัยที่แบรนด์ระดับโลกครองตลาด เราก็มักเห็นรองเท้าวิ่งไทยถือกำเนิดอยู่เนืองๆ พร้อมความเชื่อว่า สักวันหนึ่ง ‘นักวิ่งไทยจะหันมาใส่รองเท้าวิ่งของแบรนด์ไทยบ้าง’
ความเชื่อข้างต้นเป็นเหตุให้ พัชรพล เทียนอำไพ อดีตนักเรียนนอก ลงมือผลิตและจำหน่ายรองเท้าวิ่งภายใต้แบรนด์ที่ชื่อว่า ‘Unpause’ ที่ตัวเขาหมายมั่นไว้ว่า จะต้องเป็นรองเท้าที่ถูกจริตคนไทย ออกแบบดีไซน์ให้สวยโดดเด่น และมีราคาสามารถจับต้องได้ เพื่อคนไทยหันมาสนใจกับแบรนด์รองเท้าน้องใหม่นี้บ้าง
แต่กว่าจะได้รองเท้าวิ่งสเป็กเทพขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย The Momentum จึงถือโอกาสแวะพูดคุยกับพัชรพล เจ้าของแบรนด์รองเท้าสัญชาติไทยนี้ รวมถึงพบปะ ณัฏฐิ์พล จงเรียน ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบรองเท้า ถึงเส้นทางธุรกิจในสายกีฬาวิ่ง ว่าในประเทศไทยมีข้อจำกัดและความท้าทายอย่างไร และแนวทางการทำธุรกิจแบบไหนที่จะทำให้ Unpause สามารถก้าวขึ้นมาเบียดแบรนด์ยักษ์ใหญ่ จนคนไทยหันมาให้ความสนใจได้เช่นทุกวันนี้่
ก่อนที่ Unpause จะเกิดขึ้น ในตอนนั้นวงการรองเท้าวิ่งไทยเป็นอย่างไร
ต้องย้อนกลับไปปี 2562 เวลานั้นรองเท้าวิ่งในตลาดก็จะมีแต่แบรนด์ต่างชาติ ส่วนรองเท้าวิ่งแบรนด์ไทย ผมจะขอใช้คำว่า ได้รับความนิยมน้อยแล้วกัน ซึ่งประหลาดตรงที่มันสวนทางกับกระแสกีฬาวิ่งในบ้านเราที่กำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ แต่คนไทยกลับเลือกใส่รองเท้าจากต่างประเทศมากกว่า แล้วพอกระแสรองเท้าใส่แผ่นคาร์บอนเกิดขึ้นมาและได้รับความนิยมอีก เรียกได้ว่าแบรนด์ต่างชาติยิ่งทิ้งห่างแบรนด์ไทยมากขึ้นกว่าเดิม
เช่นนั้น เพราะอะไรนักวิ่งไทยจึงค่อนข้างนิยมแบรนด์รองเท้าวิ่งต่างประเทศ และเพราะอะไรประเทศไทยจึงไม่มีแบรนด์รองเท้าวิ่งเป็นของตนเอง
ก็ต้องยอมรับนะ ว่าถ้าเน้นเรื่องประสิทธิภาพการใช้งานจริงๆ รองเท้าแบรนด์ต่างชาติตอบโจทย์เรื่องนี้
แต่สำหรับผม ในใจลึกๆ เลยคือไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น
ขอย้อนความก่อน คือสมัยผมเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ประเทศจีน ผมเห็นว่าคนจีนใส่รองเท้าของแบรนด์ชาติตนเองเยอะมาก ตั้งแต่รองเท้าทั่วไปราคาไม่แพง ไปจนถึงรองเท้าวิ่งที่เน้นประสิทธิภาพ พวกเขาก็เลือกแบรนด์จีนกันหมด
ผมสงสัยมาตลอดนะว่าเขาทำได้อย่างไร จนวันหนึ่งที่ได้มาเป็นล่ามให้นักธุรกิจชาวไทยที่มาอยู่จีน ก็เผอิญมีโอกาสเยี่ยมภายในโรงงานรองเท้าวิ่งของเขา เลยรู้ว่าเขามีทรัพยากรในการผลิตรองเท้าวิ่งเยอะมาก คือจีนเริ่มต้นจากเป็นฐานผลิตรองเท้าวิ่งให้แบรนด์ระดับโลกมาก่อน เขาเลยมีทรัพยากร บุคลากร และเทคโนโลยี เหลือมากพอที่จะทำแบรนด์ของตนเอง
นั่นทำให้ผมเริ่มมีความคิดว่า เราน่าจะใช้ทรัพยากรจากจีนมาผลิตรองเท้าวิ่งของตนเองบ้าง
พอเห็นว่าประเทศจีนสามารถผลิตแบรนด์รองเท้าวิ่งของตนเองจนได้รับความนิยม คุณเลยมองเห็นว่าประเทศไทยก็พอจะมีโอกาสแบบนี้บ้างใช่ไหม
จีนทำได้ ไทยก็ต้องทำได้ ผมคิดแบบนั้น
อีกอย่างคือเป็นการตอบแพสชันของตัวผมด้วย คือตอนเราเป็นเด็ก เวลาออกกำลังกายไม่ว่าจะวิ่ง จะเตะฟุตบอล ก็ใส่รองเท้าของแบรนด์ต่างชาติมาตลอด ทั้งที่ในใจก็อยากใส่แบรนด์ของไทยนะ แต่ต้องยอมรับว่าในเวลานั้น แบรนด์ของประเทศไทยยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร
ดังนั้น ในวันนี้ที่โอกาสมาถึง และบ้านผมเองก็ทำธุรกิจนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกจากจีนมาอยู่ตลอด ก็เลยลองเริ่มโปรเจกต์ทำรองเท้าวิ่งของไทยขึ้นมาบ้าง
กลัวไหมว่าหากทำแบรนด์รองเท้าไทย แล้วจะไม่ได้รับความนิยมเหมือนที่แบรนด์ไทยหลายเจ้าประสบ
ไม่กลัวเลย เพราะตอนนั้นไม่รู้ว่าจะต้องเจอความเหนื่อยและความยาก (หัวเราะ) คือผมไม่รู้ว่าต้องเจออุปสรรคแบบไหน เจออะไรที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง คือมันไม่ได้มีแค่ผลิตรองเท้าออกมา แต่ต้องมีเรื่องการทำราคา การทำการตลาด การเจาะกลุ่มลูกค้า มีรายละเอียดยิบย่อยมากมายไปหมด
การทำแบรนด์รองเท้าวิ่งจากศูนย์ ต้องเริ่มอย่างไร
คนอื่นไม่รู้ทำอย่างไร แต่สำหรับผมคือเริ่มต้นด้วยการหาสินค้ามาลองตลาดดูก่อน ว่าทำรองเท้าแบรนด์ไทยออกมาจะมีคนสนใจไหม ก็เลยพยายามไม่ลงทุนมากนัก คือเริ่มจากวางขายสินค้าตัวกึ่งสำเร็จรูปก่อน โดยใช้โมเดลที่โรงงานเขามีให้มาผลิตและออกแบบด้วยวิธีง่ายๆ แค่ใส่โลโก้ไปก่อน เอาให้รู้ว่าเป็นรองเท้าผ้าใบที่ผลิตโดยคนไทย อยากรู้ว่าโมเดลประมาณนี้จะขายได้ไหม จะมีความเห็นกลับมาอย่างไร เพราะการจะขึ้นโมเดลใหม่ใช้ราคาเกือบแสนบาท
แบรนด์อื่นๆ เวลาเปิดตัว มักจะมาพร้อมกับสินค้าเรือธง วางเป้าหมาย กำหนดทิศทางชัดเจน แต่ Unpause เลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของตลาดแบบเงียบๆ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
เป็นเรื่องของงบประมาณด้วย ผมต้องประเมินความเสี่ยง จุดคุ้มทุนของตัวเอง แต่หลักๆ เลยคืออยากให้ลูกค้าลองใช้ก่อน จะได้เก็บข้อมูล เก็บความเห็น เพื่อวางแนวทางพัฒนาแบรนด์ต่อไป
รองเท้าคู่แรกของ Unpause ได้รับความเห็นจากลูกค้าอย่างไร
ส่วนใหญ่เขาจะบอกว่าเราขายไม่แพง ประมาณ 1,400 บาท ซึ่งราคาประมาณนี้กับแบรนด์ของไทยเขาโอเค ก็เลยรู้ว่าเรื่องราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อรองเท้าของคนไทย
แต่บางส่วนก็ให้ความเห็นเหมือนกันว่า รองเท้าของเราค่อนข้างเรียบง่ายไปหน่อย ก็เป็นจุดที่ต้องปรับปรุง
สำหรับชื่อ Unpause นั้น มีที่มาอย่างไร
ในตอนแรกที่ผมให้โจทย์คนออกแบบโลโก้ ผมใช้ชื่อแบรนด์ของตัวเองว่า Up แต่เขาไปต่อยอด แล้วผสมคำจนกลายเป็นคำว่า Unpause มาเสนอผม เพราะคำว่า Up สั้นไป ผมเห็นว่าชื่อนี้ความหมายก็ค่อนข้างดี ตรงกับความเป็นรองเท้าวิ่ง สุดท้ายเลยตัดสินใจใช้ชื่อนี้
จากนั้นพวกโลโก้ก็ถูกต่อยอดเพิ่ม ปรับเส้นลวดลายเพื่อให้ดูสมูทและลื่นไหลมากที่สุด
คุณประเมินอย่างไรว่า การลองตลาดจะมีโอกาสสำเร็จหรือพอมีช่องทางไปต่อได้
วัดง่ายๆ เลยคือ ขายหมดไหม สินค้าแรกของ Unpause คือขายได้เกิน 80% เลยพอคาดเดาได้ว่า เรากำลังมาในทิศทางที่ถูกต้องสำหรับโมเดลแบบนี้ จากนั้นก็เริ่มปรับเปลี่ยนตามความเห็นต่างๆ เช่น เรื่องโลโก้ เรื่องดีไซน์
ต่อมาก็เริ่มลุยกับตลาดกีฬาวิ่งจริงจังในรุ่น Unpause Atlas ที่ออกแบบมาในปี 2563 ที่ในวันนั้นมีเทคโนโลยี Super Foam ออกมาแล้วในตลาด แต่ผมก็ยังไม่อยากเล่นใหญ่มาก เลยเอาแผ่นคาร์บอนมาใส่ในรองเท้าประเภท Daily Trainer ที่ทุกคนใส่ได้ จากนั้นก็มาออกแบบโลโก้ใหม่ให้มันชัดเจน เป็นเอกลักษณ์มากขึ้น
เรื่องโลโก้นี้ให้ บิว (ณัฏฐิ์พล จงเรียน) ออกแบบใหม่หมดจนได้เป็นสัญลักษณ์นี้ ซึ่งอ้างอิงถึงท่าทางลักษณะการวิ่งของคน จากที่ตอนแรกเป็นแค่ลูกศรแบบปกติ
ส่วนการออกแบบรองเท้า ผมมีโจทย์ว่าต้องใส่ได้ทุกสถานการณ์ ดังนั้น รองเท้าต้องออกมาค่อนข้างเรียบง่าย มีความมินิมอล แต่ก็สามารถใส่วิ่งได้อยู่เช่นกัน เลยกลายมาเป็นรองเท้าแบบที่เห็นในทุกวันนี้
พอเริ่มมาเจาะตลาดรองเท้าวิ่งจริงๆ กับรุ่น Atlas ฝั่งลูกค้ามีความเห็นอย่างไรบ้าง
ก็มีทั้งข้อชมและข้อติ ประเด็นหลักๆ เลยคือ ด้วยความที่ผมจะชูนโยบายรักษ์โลกด้วย ดังนั้นส่วนผสมของ Outsole (พื้นรองเท้า) ประมาณ 50% จะใช้ยางเกรดรีไซเคิล แต่สุดท้ายผลที่ได้คือวัสดุไม่ทนทานเท่าที่ควร เลยมีความเห็นจากลูกค้าว่า พื้นรองเท้าสึกค่อนข้างเร็ว บ้างก็บอกว่าพื้นรองเท้าแข็งเกินไป
ส่วนที่ได้รับคำชมก็มีเรื่องวัสดุโฟมบริเวณพื้นรองเท้า ที่ได้รับคำชมเยอะและไม่เคยโดนติเรื่องนี้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลผมก็เอาทุกอย่างเก็บไปพัฒนาต่อ
กลุ่มลูกค้าที่ซื้อรองเท้า Unpause Atlas ส่วนใหญ่เป็นใคร
ส่วนใหญ่คือคนไทยที่อยากลองรองเท้าของแบรนด์ไทย กับกลุ่มที่เห็นว่ารองเท้าแบรนด์เราราคาไม่สูงมาก 2,800 บาท คือจับต้องได้สำหรับพวกเขา
แต่กลายเป็นว่าช่วงหลังๆ มันเริ่มเป็นที่นิยมของลูกค้ากลุ่มหนึ่งมากขึ้น นั่นคือนักเรียนเตรียมทหาร ที่พวกเขาจะมาซื้อรองเท้าวิ่งรุ่น Atlas ไปเป็นรองเท้าเอาไว้วิ่งซ้อมทุกๆ เช้า ตามระเบียบการฝึกของนักเรียนเตรียมทหาร แล้วรองเท้าของรุ่นนี้ที่ได้รับการแก้ไขแล้ว มันถึกและทนทานมากขึ้น อีกอย่างสีสันมันก็เรียบๆ ถูกระเบียบ เขาเลยมาซื้อกันเป็นกลุ่มใหญ่
เลยกลายเป็นว่ารองเท้าของเรา ถูกบอกต่อในนักเรียนเตรียมกลุ่มทหารว่าอยากได้รองเท้าวิ่งดีๆ ราคาไม่แพง ใส่ได้ ไม่มีผิดระเบียบ ต้อง Unpause Atlas
ต่อมาคุณเปิดตัวรองเท้ารุ่น Halley ซึ่งเป็นรองเท้าความเร็วที่มีแผ่นคาร์บอน เฉกเช่นอีกหลายแบรนด์ที่มีอยู่เกลื่อนตลาด ตรงนี้คุณมีวิธีทำการตลาดให้น่าสนใจอย่างไรกว่าแบรนด์อื่น
รุ่น Halley เริ่มขึ้นช่วงปลายปี 2564 แนวคิดก็ยังคงไว้ซึ่งคอนเซปต์เดิม คือล้อกับความเร็วในอวกาศ แต่ก็ยังเชื่อมโยงกับโลกเราอยู่ เลยได้ชื่อออกมาคือ Halley ที่มาจากดาวหางฮัลเลย์
จากนั้นก็ต่อยอดไดีไซน์ที่อ้างอิงมาจากตัวดาวหาง ตั้งแต่สีรอบเส้นวงโคจรที่มีหลายเฉด ทั้งก่อนและหลังใกล้เส้นขอบโลกกับดวงอาทิตย์ ที่ทำให้สเปกตรัมของสีจะแตกต่างออกไปในแต่ละช่วง
คุณพิจารณาอย่างไรว่า ต้องออกแบบรองเท้าทรงนี้ถึงจะวิ่งได้เร็ว
ผมใช้วิธีเอารองเท้าวิ่งทำความเร็วที่มีอยู่ในตลาดมาศึกษา มาลองใส่ทีละคู่ ทีละแบรนด์ ดูว่ามีข้อดีและข้อเสียอย่างไร แล้วคนไทยต้องการรองเท้าวิ่งเพื่อทำความเร็วแบบไหน
คำตอบของพวกเราที่คิดว่าคนไทยต้องการ คือรองเท้าวิ่งที่หน้ากว้างพอสมควร แต่ไม่กว้างเกินไป คือไม่ได้เรียวจนบีบเท้า มีพื้นที่ให้เท้าได้พอหายใจบ้าง แต่ยังคงกระชับ เท้าไม่สามารถขยับได้ภายในรองเท้า ซึ่งตอนขึ้นบล็อกรองเท้ารุ่นนี้ ก็อ้างอิงจากเท้าของผมเนี่ยละ ที่เป็นคนไทยประเภทเท้าใหญ่กว่าปกตินิดหนึ่งจากมาตรฐาน ซึ่งเป็นไซซ์ส่วนใหญ่ของคนไทย
จากนั้นก็มาพิจารณาต่อเรื่องความรู้สึกในการวิ่ง ว่าจะให้รองเท้ามันลื่นไหล วิ่งได้เรื่อยๆ หรือนุ่มเด้ง พุ่งเร็วแรง เพราะจะมีผลต่อการออกแบบการจัดวางพื้นรองเท้าและแผ่นคาร์บอน ที่สามารถวางได้ทั้งรูปแบบ C Curve และ S Curve
จนสุดท้ายเราได้ข้อสรุป คือรองเท้าวิ่งรุ่น Halley จะให้ความรู้สึกนุ่มและเด้ง จึงมีมติว่าต้องใส่แผ่นคาร์บอนแบบ S Curve
ในตอนแรกคุณใช้วิธีเปิดพรีออเดอร์ก่อน ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาสั่งซื้อเป็นใคร
ก็เป็นลูกค้าเก่าที่ติดใจมาจากรุ่น Atlas ประมาณหนึ่ง แล้วก็มีลูกค้าหน้าใหม่อีกครึ่งหนึ่งที่เข้ามาพรีออเดอร์ เหตุผลก็เหมือนเดิมเลย คือลูกค้ากลุ่มหลังอยากลองรองเท้าวิ่งทำความเร็วที่เป็นของแบรนด์ไทย
ในการทำธุรกิจรองเท้าวิ่ง อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับคุณ
ความเสี่ยงที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการทำรองเท้าแต่ละครั้งที่ค่อนข้างสูง
การทำรองเท้าวิ่งจะมีสิ่งที่ใช้เงินค่อนข้างมาก คือการขึ้นแม่พิมพ์หรือโมเดลในแต่ละรุ่น ซึ่งในรุ่นเดียวกันนั้น ก็ต้องมีแม่พิมพ์ในแต่ละไซซ์แตกต่างกันออกไป สมมติรุ่นหนึ่งมี 15 ไซซ์ ก็ต้องมีโมเดล 15 บล็อก แล้วโมเดลบล็อกหนึ่งนี่ใช้เงินกันหลักแสนเลยนะ
ดังนั้น ถ้าทำรองเท้าออกมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ขายไม่ออกนี่คือเข้าเนื้อเต็มๆ เราเลยต้องใช้เวลา ต้องทำการบ้าน ต้องหากลุ่มลูกค้าจนมั่นใจว่ารองเท้ารุ่นนี้จะขายได้ จะคุ้มค่ากับการลงทุน
กับอีกเรื่องที่ยาก คือทุกวันนี้ วงจรของรองเท้าวิ่งเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว ปีสองปี เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็เข้ามา รูปทรงใหม่ๆ เริ่มมีให้เห็น รองเท้ารุ่นที่เพิ่งผลิตบางทีก็ตกรุ่นไปแล้ว ดังนั้น ต้องคอยดู คอยวางแผน ตามเกมของวงการวิ่งให้ดีๆ
ด้วยความที่กระแสรองเท้าวิ่งเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ทำให้คนทำธุรกิจนี้ต้องแบกรับต้นทุนและความเสี่ยงมากขึ้น
แล้วยิ่งแบรนด์ไทย เราไม่มีกลุ่มลูกค้าที่เยอะเท่าแบรนด์ระดับโลก เลยยากที่จะมีรองเท้าหลายโมเดล หลายดีไซน์ แบบแบรนด์ใหญ่ๆ แบรนด์ระดับโลกที่เขาออกมา 7-8 รุ่นต่อปี คือเขาขายทั่วโลก ขายหลายประเทศ เลยมีเงินมาหมุนค่อนข้างเยอะ
แบรนด์ Unpause มีการประเมินอย่างไรว่า เวลาไหนควรจะมีรองเท้าโมเดลใหม่ๆ ออกมาจำหน่าย
ผมยกตัวอย่างจากรุ่น Halley ก็แล้วกัน คือผมใช้วิธีประเมินจากทิศทางในโซเชียลมีเดีย คือผมมีการปล่อยภาพรุ่นทดลองในเพจเฟซบุ๊กของ Unpause ก่อน เพื่อดูว่ามีคนให้ความสนใจมากแค่ไหน คือเราปล่อยภาพตั้งแต่ยังเป็นสเก็ตช์ดีไซน์อยู่เลย
จากนั้นก็ค่อยๆ เก็บข้อมูลว่าคนที่ให้ความสนใจเป็นใคร เป็นนักวิ่งหรือเปล่า เขามีท่าทีว่าจะซื้อสินค้าแน่ๆ ใช่ไหม จนพอรู้สึกว่าได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี คนให้ความสนใจค่อนข้างมาก ทั้งที่เราไม่ได้บูสต์หรือจ่ายเงินโฆษณาอะไรเลย ก็พอจะรู้ว่า มีคนรอรองเท้าวิ่งทำความเร็วของแบรนด์ไทยเยอะอยู่ประมาณหนึ่ง
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือการที่แบรนด์ Unpause มีแบรนด์แอมบาสเดอร์เป็นนักเรียนเตรียมทหาร มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
มันเริ่มต้นจากการที่ผมอยากหานักวิ่งขาแรงในไทยสักคนหนึ่งมาใส่รองเท้าของรุ่น Halley เพื่อแข่งขัน เผอิญน้องนักเรียนเตรียมทหารเขาเป็นคนวิ่งทำเวลาได้ดีอยู่แล้ว 10 กิโลเมตร ใช้เวลาแค่ 33 นาทีเอง ส่วนภาพจำของการที่เราดึงนักเรียนเตรียมทหารมาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ มันเพิ่งมาทีหลังมากกว่า
แต่เรื่องนี้ลึกๆ ผมก็มองว่าน่าสนใจนะ คือน้องเขาต้องตื่นมาซ้อมตั้งแต่ตี 3 แล้วตี 5 ไปฝึกทหารต่อ คือขนาดมีเวลาจำกัด พักผ่อนน้อย ยังทำได้ดีขนาดนี้ แสดงว่าต้องมีศักยภาพสำหรับการพัฒนาต่อไปอีกได้ไกล เลยคิดว่า แบรนด์ Unpause ควรเข้าไปสนับสนุนน้องเขา
ทำไมการทำธุรกิจรองเท้าวิ่ง ถึงต้องมองหานักกีฬามาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ หรือมีการอัดฉีดให้เมื่อได้รับรางวัล หากตอบในมุมของผู้ประกอบการ
คือด้วยความที่ Unpause เป็นแบรนด์ที่ทำรองเท้าวิ่งสำหรับทำความเร็วด้วย ดังนั้นทุกครั้งที่น้องเขาขึ้นโพเดี้ยมด้วยรองเท้าของเรา ก็เป็นการประกาศไปในตัวว่าสินค้าของเรามีคุณภาพนะ มันตอบโจทย์ด้านทำความเร็ว
อีกอย่างคือเหมือนกับเป็นการพิสูจน์กลายๆ อย่างหนึ่งว่าจริงๆ แล้วรองเท้าไทยไม่ได้แพ้รองเท้าที่ต่างประเทศผลิตเลย
และอีกปัจจัยคือคนจะเลือกซื้อรองเท้าวิ่งก็มักดูจากนักวิ่งที่เขาชื่นชอบ เรื่องนี้มีผลเยอะมาก อย่างน้องที่เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้เรา เขาก็มีรุ่นน้องนักเรียนเตรียมทหารที่หันมาใส่รองเท้าแบรนด์ Unpause ตาม
ทว่าทุกวันนี้นักวิ่งไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงเลือกใส่รองเท้าวิ่งจากแบรนด์ต่างชาติ ในมุมมองของคุณที่อยู่ในตลาดนี้มาสักพัก พอจะมีความเป็นไปได้ไหม ที่ในอนาคตนักวิ่งไทยจะเลือกใช้รองเท้าวิ่งแบรนด์ของไทยบ้าง
ผมมองว่าเป็นเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นของตัวแบรนด์ด้วย เพราะแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลกเขาอยู่มานาน พิสูจน์มาแล้ว ว่ารองเท้าคุณภาพระดับโลกจริงๆ นั่นจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนไทยหันหลังให้กับแบรนด์ที่ไร้ข้อกังขาเหล่านั้น เพื่อหันมาลองแบรนด์ไทยที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว
นี่จึงเป็นโจทย์ของแบรนด์รองเท้าในประเทศไทย ว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยเชื่อมั่น แต่สำหรับ Unpause เราชัดเจนเสมอว่า เราเป็นรองเท้าที่ผลิตมาเพื่อคนไทย ดังนั้นข้อได้เปรียบของการใส่รองเท้าแบรนด์เรา คือฟีดแบ็กของพวกคุณที่จะถึงหูผู้ผลิตอย่างเราเสมอ และรองเท้ารุ่นต่อไปเรื่อยๆ ก็จะผลิตออกมาให้ตรงกับจริตของนักวิ่งไทยมากขึ้น
จริงไหมที่ประเทศไทยก็มีทั้งทรัพยากร โรงงาน และบุคลากรเกี่ยวกับการผลิตรองเท้าวิ่งที่ดีมากๆ แห่งหนึ่ง
จริง แต่นั่นเป็นเรื่องราวเมื่อ 15-20 ปีที่แล้ว แต่ด้วยค่าแรงและต้นทุนที่สูง การเป็นแหล่งผลิตรองเท้าวิ่งขนาดใหญ่ในไทยจึงไม่สามารถไปต่อได้
ถ้าจะให้มารื้อฟื้นตอนนี้ ขอบอกตรงๆ ว่าสายไปแล้ว เพราะตอนนี้เราตามเทคโนโลยี ตามเทรนด์ของโลกในปัจจุบันไม่ทันแล้ว
เลยเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทุกวันนี้ Unpause ยังเป็นแบรนด์ไทย ที่ผลิตในประเทศจีนอยู่ใช่ไหม
ใช่ แต่ผมก็หวังอยู่เสมอนะ ว่าแบรนด์เราจะเป็นจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่ทำให้อุตสาหกรรมรองเท้าวิ่งในไทยกลับมาโตอีกครั้ง อย่างน้อยมีห้องวิจัยและพัฒนาของตนเองก่อนก็ได้ แล้วค่อยขยายสเกลไปเป็นระดับโรงงานหรืออะไรก็ตามแต่ เพื่อให้การทำรองเท้าวิ่งในไทยง่ายยิ่งขึ้น
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาของการทำธุรกิจรองเท้าวิ่งรู้สึกอย่างไรบ้าง
เอาตรงๆ คือเมื่อก่อนผมเคยคิดนะว่า การทำรองเท้าแค่ไปจ้างโรงงาน ส่งมอบแบบแล้วก็ได้รองเท้าออกมาเลย ผมไม่เคยรู้ว่ามันยุ่งยากซับซ้อนขนาดนี้ ไม่เคยคิดว่า การเลือกโฟมต่างกันไม่กี่มิลลิเมตร จะส่งผลมหาศาลต่อรองเท้า การวางคาร์บอนผิดองศาเดียวอาจเปลี่ยนรองเท้าจากหน้ามือเป็นหลังมือ อะไรแบบนี้ก็เป็นความรู้ที่ได้สะสมมาตลอดจากการเป็นผู้ผลิตรองเท้าวิ่ง
ที่สำคัญคือได้รู้จักคนในวงการวิ่งเต็มไปหมด ได้พูดคุยและฟังฟีดแบ็กรองเท้าของเราจากผู้ใหญ่ อินฟลูเลนเซอร์ หรือนักกีฬาของไทย ในฐานะนักวิ่งแบบผม ก็คิดว่ามันก็เติมเต็มความฝันอยู่ประมาณหนึ่ง
แล้วความรู้สึกในฐานะนักวิ่งที่วันหนึ่งได้มีแบรนด์รองเท้าวิ่งเป็นของตนเองล่ะ
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่ามีความสุขขนาดไหน แต่ผมก็มีฝันลึกๆ ต่ออีกนะ ว่าอยากเห็นภาพรายการแข่งใหญ่ในประเทศไทย ที่มีพื้นให้กับรองเท้าของ Unpause บ้าง ถ้าเป็นไปได้นี่จะเป็นความรู้สึกสมบูรณ์แบบที่สุด
หลังจากนี้แบรนด์ Unpause มีทิศทางอย่างไรบ้าง
ก็คงสะสมความรู้ บุคลากร และทรัพยากร เพื่อทำโมเดลใหม่ต่อไปเรื่อยๆ และหวังว่าสักวันหนึ่งจะเริ่มตีตลาดในไทย และในโลกต่อไปได้ แต่ที่สำคัญคือหลังจากนี้ไป อยากให้รองเท้าวิ่งของแบรนด์ Unpause ถูกพูดถึงว่าดีขึ้นอยู่ตลอด
สำหรับคนที่ยังตั้งคำถามกับแบรนด์รองเท้าไทยอยู่ มีอะไรอยากบอกถึงพวกเขาบ้าง
อยากให้มาลองดูก่อน คือถ้าไม่ลอง คุณก็ไม่รู้ว่าแบรนด์ไทยสามารถเทียบเท่ากับแบรนด์ต่างประเทศได้หรือยัง เพราะสิ่งที่เราทำคือพยายามผลิตรองเท้าที่ดีที่สุด ที่คนและทรัพยากรของไทยจะทำได้ในเวลานี้ พยายามลบภาพเก่าๆ ว่ารองเท้าวิ่งไทยมันไม่สวย มันไส่แล้ววิ่งไม่เร็วเท่าของแบรนด์นั้น แบรนด์นี้ เราตั้งใจและพัฒนาให้ดีขึ้นจริงๆ ก็อยากให้มาลองกัน
Tags: Unpause Halley, Unpause Atlas, รองเท้าวิ่งไทย, รองเท้าคาร์บอนไทย, รองเท้าวิ่ง, The Chair, Unpause