สำหรับเด็กกรุงเทพฯ ยุค 80s-90s แล้ว คงไม่มีความสุขใดยอดเยี่ยมไปกว่าการเกาะขอบจอโทรทัศน์ เพื่อเฝ้าดูการ์ตูนเย็นวันพฤหัสบดี-ศุกร์ และเช้าตรู่วันเสาร์-อาทิตย์ รวมไปถึงการขี่จักรยานฝ่ารถบนถนนใหญ่ เพื่อซื้อหนังสือการ์ตูนหมึกจีน ที่แยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศหรือสี่แยกสะพานควาย
อย่างไรก็ดี เมื่อกาลเวลาเดินหน้าตลอดเวลาและไม่เคยหวนกลับ บรรยากาศวิถีชีวิตของเด็กยุคก่อนจึงค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ กระทั่งยุคปัจจุบัน ที่สื่อรูปแบบดังกล่าวทยอยล้มหายตายจาก เพราะถูกสื่อใหม่ๆ เข้ามาแทนตำแหน่ง
แต่ใช่ว่าจะเป็นเช่นนั้นทั้งหมด เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ บนหน้าสื่อโซเชียลฯ ชื่อของ ‘ทีวีแมกกาซีน’ (TV Magazine) นิตยสารที่อัดแน่นข้อมูลไกด์ไลน์การ์ตูนเรื่องดังไว้มากมาย ตั้งแต่เซนต์เซย่า, ดราก้อนบอล, ตำรวจอวกาศเกียบัน, คาเมนไรเดอร์แบล็ก ฯลฯ ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ แม้กระทั่งบนจอโทรทัศน์ด้วยซ้ำ
เพียงเท่านี้เชื่อว่า ผู้ใหญ่ที่ยังหลงเหลือซึ่งความฝันและความทรงจำในวัยเยาว์ น่าจะตื่นเต้นและยิ้มน้อยยิ้มใหญ่
The Momentum มีโอกาสนัด สมคิด เกษรขจรทิพย์ ผู้ก่อตั้งและบริหารนิตยสารทีวีแมกกาซีน มาพูดคุยถึงนิตยสารระดับตำนานนี้ ตั้งแต่วันที่ออกวางจำหน่ายเล่มแรก กับคำถามที่ว่า อะไรคือความพิเศษที่ทำให้ทีวีแมกกาซีนยังเป็นที่รัก และอยู่ยงข้ามกาลเวลามาในฐานะ ‘ความทรงจำที่จับต้องได้’
นิตยสารอายุ 35 ขวบ ที่เกิดจากเด็กชายผู้หลงใหลหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นและลายเส้นหมึกจีน
“บนโต๊ะนี้รวมๆ กันราคาเกือบล้านเลยนะ บางเล่มผมต้องไปยืมคนอื่นมาด้วย”
ชายวัยกลางคนท่าทางทะมัดทะแมงเปิดประตูห้องเข้ามา และทักทายเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เขาคือ สมคิด เกษรขจรทิพย์ บิดาผู้ให้กำเนิดนิตยสารทีวีแมกกาซีน และบริษัท อนิเมท กรุ๊ป จำกัด
สายตาเราสังเกตเห็นวัตถุล้ำค่าที่อยู่ในมือของสมคิด แน่นอนว่าไม่ใช่แก้วแหวนเงินทอง แต่เป็นนิตสารทีวีแมกกาซีนฉบับแรก ที่วางขายเมื่อปี 2531 บนรูปปกเป็นการ์ตูนเรื่องเซนต์เซย่า ที่ในหมู่นักสะสมรู้ดีว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นบาท จากเดิมที่มีราคาวางขายแค่ 15 บาทเท่านั้น และถ้าหากนับรวมฉบับอื่นๆ ที่กองพะเนินอยู่บนโต๊ะ ก็อาจจะมีมูลค่ารวมเกือบล้านบาท
จวบจนวันนี้ นิตยสารทีวีแมกกาซีนมีอายุถึง 35 ปี (อายุเยอะกว่าตัวผู้เขียนเสียอีก) และกำลังจะวางขายฉบับที่ 377 ทว่าน้อยคนนักที่จะรู้ถึงเรื่องราวความเป็นมา เราจึงเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการชวนสมคิดรำลึกความหลัง ทั้งจุดเริ่มต้นของอาชีพนักวาดการ์ตูนและการก่อตั้งทีวีแมกกาซีน
“เท่าที่จำความได้ คือผมเป็นเด็กที่ชื่นชอบหนังสือการ์ตูน โดยเฉพาะจากฝั่งญี่ปุ่น สมัยนั้นการ์ตูนที่โด่งดัง คือหุ่นอภินิหาร โกลด้า (Magma Taishi) อุลตร้าแมนตัวแรก และมาสก์ไรเดอร์หมายเลขหนึ่ง หรือที่คนชอบเรียกว่าไอ้มดแดง วีหนึ่ง
“ผมเดินจากบ้านที่ซอยประดิพัทธ์ ไปร้านขายหนังสือการ์ตูนแถวแยกสะพานควายทุกวันหยุด ถือว่าไกลเหมือนกันสำหรับเด็กอายุแค่ 7-8 ขวบ ผมเก็บเงินซื้อเองมาตลอด พออ่านจบก็เกิดจินตนาการ หยิบสมุดเรียนมาตีหน้ากระดาษเป็นช่องๆ เพื่อวาดการ์ตูนและจัดหน้าคอลัมน์ เรียกว่าทำเป็นนิตยสารของตนเองเลย
“ผู้ใหญ่สมัยนั้นมักจะมีค่านิยมว่า อย่าให้ลูกดูการ์ตูนพวกนี้ เดี๋ยวเด็กไปเลียนแบบ กระโดดถีบกันหัวร้างข้างแตก แต่มองให้ลึกเข้าไปจะเห็นถึงคติที่แฝงอยู่ นั่นคือสุดท้ายธรรมะย่อมชนะอธรรม” สมคิดนึกย้อนความถึงวัยเยาว์ที่หลงใหลไปกับเสน่ห์ของบรรดาซูเปอร์ฮีโร่จากแดนอาทิตย์อุทัย
นานวัน ความชอบส่วนบุคคลดังกล่าวยิ่งทวีคูณ จนก่อเกิดเป็นความมุ่งมั่นที่จะประกอบเป็นอาชีพในอนาคต สมคิดในวัยเยาว์จึงตัดสินใจมุ่งหน้าไปยังสำนักพิมพ์การ์ตูนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อฝึกวิชานักวาดการ์ตูนขั้นจริงจัง
“หลังจากที่ชอบวาดการ์ตูนเรื่อยมา ถึงจุดหนึ่งประมาณตอนเรียนอยู่ ม.2 ผมเลยตัดสินใจเข้าไปสำนักพิมพ์ผลิตการ์ตูนญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง เพราะอยากเข้าไปเรียนรู้วิชาจากกองบรรณาธิการ ตอนนั้นผมเหมือนเป็ดเลยนะ (หัวเราะ) พอรู้ตัวว่ามีฝีมือระดับ 50-60% แต่ยังไม่มีความรู้จริงๆ จังๆ
“สมัยก่อน การผลิตการ์ตูนแต่ละเล่ม นักวาดจะต้องเอาภาพต้นฉบับมาประกบคู่กับกระดาษไข เพื่อค่อยๆ ลอกลายเส้นตัวการ์ตูนตามต้นฉบับ ผลลัพธ์คือภาพที่ได้จะกลับหน้าจากขวาไปซ้าย ซึ่งต้นฉบับของญี่ปุ่นจะอ่านจากซ้ายไปขวา และนำแต่ละหน้าที่ลอกเสร็จไปเข้าเครื่องพิมพ์
“แต่หน้าที่ส่วนของผม คือเริ่มจากการช่วยนักวาดถมดำด้วยพู่กันหมึกจีน ไม่ว่าจะเส้นผมหรือฉากหลังก็ตาม ถ้าเปรียบกับหนังจีนกำลังภายใน คือต้องเริ่มจากแบกถังน้ำขึ้นภูเขา”
อาชีพ ‘นักวาดการ์ตูน’ กับโชคชะตาที่พลิกผันสู่นักวาดภาพประกอบของเล่นให้กับขนมยี่ห้อดัง
เราถามชายผู้ก่อตั้งทีวีแมกกาซีน ถึงเหตุการณ์หลังจากเขาเข้าไปฝึกวิชาในสำนักพิมพ์การ์ตูนญี่ปุ่น ก่อนที่เขาจะเล่าต่อว่า เมื่อมั่นใจในประสบการณ์ที่สั่งสมมา จึงตัดสินใจนำผลงานที่เคยวาดมารวมเล่ม เพื่อเสนอผลิตกับโรงพิมพ์ต่างๆ ท่ามกลางเครื่องหมายคำถามจากคนรอบตัวว่า เขาจะทำได้จริงหรือ
“ผ่านไปสัก 5-6 เดือนที่ไปฝึกวิชา ผมก็เรียนรู้ศาสตร์การเป็นนักวาดการ์ตูนจนแตกฉาน ว่าต้องเขียนอย่างไร ทำอย่างไร จึงมีความคิดอยากเป็นบรรณาธิการเอง ผมบอกเป้าหมายนี้กับพี่นักเขียนที่รู้จักกัน เขาก็พยักหน้าแล้วไม่ได้ตอบกลับอะไร ในใจเขาคงจะคิดว่า ผมทำไม่ได้แน่ เพราะตอนนั้นอายุแค่ 15 ปี (หัวเราะ)
“ผมนำต้นฉบับที่เคยเขียนมาใส่ข้อความบรรยายเนื้อเรื่อง เสร็จเรียบร้อย หวังจะนำไปเสนอขายตามโรงพิมพ์ต่างๆ แต่พอจะมาเข้าเล่มปรากฏว่า การ์ตูนเล่มหนึ่งต้องใช้ทั้งหมดราว 64 หน้า จึงต้องอาศัยการ์ตูนของนักเขียนรุ่นพี่คนอื่นมารวมเล่ม หลังจากนั้นก็นำต้นฉบับไปเสนอขายกับโรงพิมพ์ชื่อว่าอักษรบัณฑิต เจ้าของโรงพิมพ์ชื่อเฮียเทียม เขาก็อุทานว่า ‘จริงหรือ อายุแค่นี้เองนะ?’
“แต่ด้วยความที่หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นยุคนั้นเฟื่องฟู ทว่ามีนักเขียนไม่พอและที่วางขายอยู่ก็มีเพียงไม่กี่หัว เช่น ท็อปการ์ตูน แฮปปี้ฮิต และพิริยะสาส์น เจ้าของเลยตกลงรับพิมพ์ผลิต ปรากฏว่าวางขายเพียงไม่กี่วันก็เกลี้ยงทุกแผง ผมได้ค่าต้นฉบับประมาณพันกว่าบาท จึงนำไปแบ่งให้รุ่นพี่ที่ช่วยวาด ที่เหลือเอาไปให้พ่อ เหมือนแสดงให้ท่านเห็นว่า อาชีพนี้สามารถเลี้ยงดูปากท้องได้จริง
“ยุคนั้นกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ยังไม่แรง ฉะนั้น ใครก็นำมาวาดขายได้ ผมไปซื้อต้นฉบับที่เขาผลิตรายเดือนจากประเทศญี่ปุ่นที่ห้างไทยไดมารู ในร้านหนังสือไทยบุนโด ซึ่งแต่ละเจ้าที่ผลิตการ์ตูนจะแข่งกันว่าใครพิมพ์ได้เร็วกว่า”
ดูเหมือนชีวิตจะรุ่งโรจน์ในฐานะนักวาดการ์ตูนดาวรุ่ง ทว่าชีวิตของสมคิดหลังจากนั้นกลับพลิกผันหลายตลบ จนมาถึงช่วงเวลาเหมาะสมในการก่อตั้งทีวีแมกกาซีน เราฟังแล้วก็นึกเทียบกับตัวเอกการ์ตูนแนวโชเน็น ที่ต้องพบอุปสรรคก่อนจะเก่งกาจ และใครจะเชื่อว่า สมคิดคือผู้ออกแบบการ์ดลายการ์ตูนดราก้อนบอล ให้แก่ขนมยี่ห้อโอเดงย่า ที่หลังจากนั้นอีกหลายสิบปีจะเป็นของสะสมระดับตำนาน
“ผมกับรุ่นพี่ทำแบบนั้นได้เกือบปี โดยตั้งเป้าหมายคือเราจะเป็นทีมที่ออกหนังสือการ์ตูนมากที่สุดในประเทศไทย และทุกโรงพิมพ์จะต้องตกลงผลิตหนังสือการ์ตูนกับเรา ทว่าต่อมาทีมกลับมีปัญหากัน สุดท้ายจึงต้องแยกวงกันไป ผมหันไปเขียนหนังสือแท็บลอยด์เกี่ยวกับวงการบันเทิงชื่อว่า สตาร์ไกด์
“ระหว่างนั้น มีโรงงานผลิตขนมติดต่อเข้ามาให้ผมออกแบบวาดสติกเกอร์การ์ตูนที่แถมกับขนมเวเฟอร์ยี่ห้อปักกิ่งและขนมยี่ห้อยูโร่เค้ก รวมถึงวาดการ์ดดราก้อนบอลให้ขนมโอเดงย่า ถือว่าเป็นเรื่องดีในการหันมาทำหน้าที่นี้ ผมจึงเปิดบริษัทแถวซอยทองหล่อ ชื่อว่า อาร์ตติส สตูดิโอ รับจ้างออกแบบของแถมและวางกลยุทธ์ส่งเสริมการขายให้โรงงานผลิตขนม
“แต่ลึกๆ แล้วตัวตนคนทำหนังสือการ์ตูนยังอยู่ในจิตวิญญาณผม และมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่ยังไม่สำเร็จ คือผมจะทำนิตยสารที่ไกด์ไลน์ข้อมูลของการ์ตูนแต่ละเรื่อง โดยคุณภาพต้องดีกว่าประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นต้นแบบ ต้องมีสี่สีเกือบทั้งเล่ม มีจำนวนหน้าที่มากกว่า และมีของแถมที่มากกว่า ประกอบกับถึงจุดหนึ่งที่เรามีเงินทุนสะสมมากพอ จึงตัดสินใจก่อตั้งนิตยสารทีวีแมกกาซีนฉบับแรก”
ก้าวแรกของ ‘ทีวีแมกกาซีน’ นิตยสารการ์ตูนรายเดือนขวัญใจเด็กยุค 80s-90s ที่อัดแน่นด้วยข้อมูลการ์ตูนดัง
ในยุคสมัยที่โปรแกรม Adobe InDesign ยังไม่ถือกำเนิด การจะสร้างงานภาพที่ทั้งสวยงามและจัดวางองค์ประกอบได้สมบูรณ์ จึงขึ้นอยู่กับฝีมือนักออกแบบล้วนๆ เช่นเดียวกับนิตยสารทีวีแมกกาซีนยุคเริ่มแรก ที่สมคิดอธิบายว่า เขาเป็นผู้ออกแบบตั้งแต่หน้าปกจนถึงหน้าสุดท้าย โดยเป็นนิตยสารการ์ตูนเล่มแรกของประเทศไทย ที่ใช้เทคนิคการพิมพ์สี่สีแทบทั้งเล่ม
“การทำต้นฉบับโปสเตอร์หน้ากลาง ผมจะนำกระดาษร้อยปอนด์มาประกบซ้อนภาพต้นฉบับแล้ววางบนตู้ไฟ จากนั้นจึงลากลายเส้นตามต้นฉบับ แต่เทคนิคสำคัญที่จะทำให้ภาพโปสเตอร์สวย คือการจัดวางองค์ประกอบคาแรกเตอร์แต่ละตัวบนภาพ จากนั้นจึงตัดลายเส้นและลงสีแบบกลับด้านบนพลาสติกเซลลูลอยด์อีกที ซึ่งหมึกสีผมก็บินไปซื้อที่ประเทศญี่ปุ่น
“หรืออย่างหน้าปกฉบับแรกที่เป็นเรื่องเซนต์เซย่า ก็ต้องใช้คาแรกเตอร์ตัวหลักจากภาพสี่ภาพมาจัดวางเรียงกัน ความคมชัดพิถีพิถันไม่ต่างจากโปสเตอร์ภาพยนตร์ บวกกับคุณภาพสี่สีเกือบทั้งเล่ม คือหลักประกันที่ทำให้ผู้คนชื่นชอบทีวีแมกกาซีน”
ไม่ใช่แค่เทคนิคการพิมพ์ที่ได้ใจผู้อ่าน แต่ในแง่ของคุณภาพเนื้อหาก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้นิตยสารนี้เติบโตและเป็นที่ชื่นชอบอย่างรวดเร็ว สมคิดเผยว่า เขาเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ข้อมูลมาจากค่ายการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดัง แต่กว่าจะได้มาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ในยุคที่การติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตยังไม่เสถียร วิธีการที่แน่นอนที่สุดคือการบินลัดฟ้าไปคุยถึงดินแดนต้นตำรับ
“ยุคแรกของทีวีแมกกาซีน ผมต้องบินไปอยู่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเดือนๆ เพื่อดีลข้อมูลกับฝั่งโทเอแอนิเมชัน (Toei Animation) ซื้อสีหมึกและดูเทรนด์ของเล่นที่นั่น เพื่อเป็นแนวไอเดียในการผลิตของแถมคู่นิตยสาร จุดนั้นราวกับผมได้นั่งไทม์แมชชีนไปเห็นโลกอนาคตก่อนคนอื่น เพราะบ้านเขามีรถไฟใต้ดิน มีตู้หยอดเหรียญซื้อน้ำ เรียกว่าญี่ปุ่นถือเป็นอันดับหนึ่งเกี่ยวกับสินค้าจุกจิกหรือของเล่น
“ผมอาจจะติดจิตวิญญาณการเป็นคนทำหนังสือ ทีวีแมกกาซีนเล่มที่ 1–30 เป็นผมทำเกือบ 70% โดยเฉพาะการจัดวางอาร์ตเวิร์ก อาจมีลูกน้องช่วยเตรียมภาพประกอบบ้าง ผมทำไปด้วยความสนุก ส่วนพวกข้อมูลต่างๆ เราจ้างนักเขียนแปลจากญี่ปุ่นเป็นภาษาไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด
“หากถามว่าการเลือกเนื้อหาหรือภาพปกส่วนใหญ่ผมเลือกจากอะไร ต้องตอบว่า ผมเลือกจากความรู้สึกของตนเองและความนิยมของผู้อ่าน เช่น หากตอนนั้นเรื่องเซนต์เซย่าดัง ผมก็ต้องเลือกเรื่องเซนต์เซย่าลง หรืออย่างปัจจุบันที่ผมทำการ์ดอุลตร้าแมนขาย ถ้าผมขายการ์ดอุลตร้าแมนแค่หกใบ แล้วขายการ์ดสัตว์ประหลาดสี่สิบห้าใบ ก็คงไม่มีใครซื้อ (หัวเราะ)”
จากนิตยสารการ์ตูนสุดคลาสสิก สู่ของเก็บสะสมแนวเรโทร ที่เป็นดั่งไทม์แคปซูลอัดแน่นความทรงจำ
หลังรื้อฟื้นความหลัง สมคิดชวนเราเดินสำรวจโรงพิมพ์ของบริษัท อนิเมท กรุ๊ป จำกัด ที่ ณ เวลานี้ นอกจากจะเป็นโรงพิมพ์ผลิตนิตยสารทีวีแมกกาซีน ขณะเดียวกัน ยังผลิตของสะสมประเภทสติกเกอร์หรือการ์ด รวมไปถึงรับจ้างผลิตและออกแบบลายกล่องบรรจุภัณฑ์แก่แบรนด์ขนมชื่อดัง เช่น ยูโร่คัสตาร์ดเค้ก
ขณะที่กลิ่นกระดาษอบอวลและเสียงเครื่องพิมพ์ทำงานดังเป็นระยะ เราถามคำถามสำคัญว่า เคล็ดลับใดที่ทำให้นิตยสารของเขาอยู่รอดจนถึงปัจจุบัน ซ้ำยังได้รับความนิยมยิ่งกว่าเดิม ในขณะที่หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารเจ้าดังอื่นๆ ที่เผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ทยอยล้มหายเกือบหมดสิ้น
คำตอบของสมคิดไม่ใช่เรื่องของกลยุทธ์ซับซ้อน แต่กลยุทธ์ที่เขาใช้คือ ‘สิ่งที่ทำมาตลอด’ นั่นคือการประยุกต์นำของสะสมแนวเรโทร เช่น การ์ดเลเซอร์สามมิติหรือสมุดสะสมสติกเกอร์มาใช้ดึงดูดการขาย
“เมื่อสองปีก่อน ทีวีแมกกาซีนมียอดขายจากเดิมเหลือแค่ 40% และมีแนวโน้มว่าจะลดลงยิ่งกว่านั้น ผมจึงตัดสินใจกระตุ้นยอดขายด้วยการออกสินค้าส่งเสริมการขาย เช่น แผ่นพับเช็กลิสต์ของวิเศษ ที่ไว้ใช้เล่นคู่กับจิ๊กซอว์การ์ดโดราเอมอน, สมุดสติกเกอร์เมทัลฮีโร่, การ์ดพิมพ์ลายเลเซอร์ขบวนการห้าสี (Sentai) จนถึงล่าสุด คือสมุดสะสมสติกเกอร์และการ์ดพิมพ์ลายเลเซอร์ จากซีรีส์อุลตร้าแมนยุคโชวะ ที่คุณโอม วงค็อกเทล ตามสะสมจนเป็นไวรัลบนโซเชียลฯ
“ถือว่าประจวบเหมาะที่กระแสของเล่นยุคเรโทรกลับมาพอดี และของสะสมเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ผมเคยทำมาก่อน ถ้าคุณสะสมของเล่น คุณก็ต้องเก็บนิตยสารทีวีแมกกาซีนวางคู่กันถึงจะลงตัว
“คนที่ซื้อส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า คนรุ่นเขาเป็นพวกคนมีปม ตอนเด็กอยากได้แต่ไม่มีเงินซื้อ พอทำงานมีเงิน ของเหล่านี้ก็ไม่มีให้ซื้อแล้ว พอมีวางขายเขาเลยกว้านซื้อทีละหลายสิบลัง (ยิ้ม) และผมเชื่อว่ายิ่งนานไป ของพวกนี้จะมีมูลค่าทางทรัพย์สินที่มากกว่าเดิม
“ปัจจุบัน หนังสือทีวีแมกกาซีนไม่ได้แค่มีไว้อ่าน แต่กลายเป็นของสะสมรูปแบบหนึ่ง เปรียบดังไทม์แคปซูลที่อัดแน่นไปด้วยความทรงจำที่จับต้องได้ของคนยุค 80s-90s
“คุณเชื่อไหมว่าของสะสมเหล่านี้ ถ้าเป็นคาแรกเตอร์ที่ร่วมสมัยมาจนถึงปัจจุบัน จะสามารถเล่นเพื่อกระชับความสัมพันธ์ได้ทั้งครอบครัว ยกตัวอย่างขบวนการห้าสี รุ่นพ่ออาจจะรู้จักขบวนการโกเรนเจอร์ รุ่นลูกโตขึ้นมาหน่อยเป็นขบวนการจูเรนเจอร์ รุ่นหลานก็เป็นขบวนการเซ็นไคเจอร์ ถึงเวลาครอบครัวมานั่งอ่าน เขาก็แบ่งปันเรื่องราวกัน”
ก่อนจบการสนทนา สมคิดให้คำมั่นสัญญาทิ้งท้ายว่า นิตยสารที่เขาปลุกปั้นมากับมือจะยังคงคุณภาพ เฉกเช่นวันที่ฉบับแรกออกสู่สายตานักอ่าน และจะเป็นเช่นนี้เสมอไปตราบเท่าที่เขายังมีแรงทำไหว
“ผมมั่นใจว่าธุรกิจหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือการ์ตูนคือสิ่งที่ฆ่าไม่ตาย เพราะต่อให้คุณสามารถดูบนมือถือ บนแท็บเล็ต สุดท้ายคุณก็ยังถวิลหาการสัมผัสรูปเล่มที่จับต้องได้ และสื่อสิ่งพิมพ์จะกลายเป็นของหายากที่ใครก็ต้องการ
“ในฐานะที่ทีวีแมกกาซีนเดินทางสู่ปีที่ 35 และเรากลับมาอย่างเต็มตัวอีกครั้ง ผมก็อยากจะขอบคุณแฟนๆ ที่ติดตามมาจวบจนปัจจุบัน ผมสามารถให้สัตย์กับพวกคุณได้เลยว่า ทุกอย่างที่เราทำยังคงเน้นคุณภาพเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องของราคาและผลกำไรเป็นเรื่องรอง”
บทสนทนาจบลงด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความประทับใจ เหนือสิ่งอื่นใด ดูเหมือนว่า เราจะได้รู้จักตัวตนของนิตยสารดังกล่าว ที่เป็นดั่งเพื่อนคลายเหงาวัยเด็กนี้มากขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัว
แล้วคุณล่ะ มีความทรงจำกับนิตยสารทีวีแมกกาซีนอย่างไร คงไม่สายเกินไปที่จะลองหยิบเพื่อนคนนี้ขึ้นมาทักทายในยามว่าง เผื่อความทรงจำอันเลือนลางที่เปี่ยมสุขในวัยเด็กจะกลับมาชัดเจนขึ้นอีกครั้ง
Fact Box
- นักอ่านรายใดที่อยากพบกับ สมคิด เกษรขจรทิพย์ และหาซื้อนิตยสารทีวีแมกกาซีน รวมถึงสมุดสะสมสติกเกอร์และการ์ดอุลตร้าแมนยุคโชวะ สามารถไปเจอได้ที่บูธอนิเมท กรุ๊ป ในงาน Thailand Comic Con 2023 ที่จัดขึ้น ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน ตั้งแต่วันที่ 22-24 กันยายน 2566
- นอกจากจะผลิตนิตยสารทีวีแมกกาซีน ในอดีตบริษัท อนิเมท กรุ๊ป จำกัด ยังผลิตนิตยสารชื่อดังมากมาย เช่น Gamemag Online ที่รวมบทสรุปวิธีการเล่นเกม, Top Gun ที่นำเสนอข่าวสารแวดวงทหารต่างประเทศ, หนังสือการ์ตูน Animate ที่รวมการ์ตูนมังงะชื่อดังหลายเรื่องไว้ภายในเล่มเดียว และหนังสือเรื่องย่อละครจากโทรทัศน์ช่องดัง
- ทีวีแมกกาซีนมีอีกหัวที่แยกย่อยออกมา คือนิตยสารทีวีแมกกาซีน HERO ที่รวบรวมเฉพาะเนื้อหาการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่แนวเรโทร
- บริษัท อนิเมท กรุ๊ป จำกัด มีอีกหัวแยกย่อยออกไป คือบริษัท อนิเมท พริ้นต์ แอนด์ ดีไซน์ จำกัด (Animate Print and Design) ที่รับผลิตของสะสมส่งเสริมการขายขนมยี่ห้อดัง เช่น การ์ดการ์ตูนดราก้อนบอลที่แถมกับขนมยี่ห้อโอเดงย่า ที่ได้รับความนิยมราวปี 2532 และการ์ดสตรีทไฟเตอร์ ที่แถมกับขนมยี่ห้อบีนเน่ ซึ่งผลิตราวปี 2536 โดยเป็นบริษัทแรกที่ใช้เทคโนโลยีเลเซอร์ ในการพิมพ์การ์ดออกมาเป็นลักษณะโฮโลแกรมสามมิติ