ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไมซ์ หรือ MICE ซึ่งประกอบด้วย Meetings, Incentives, Conventions และ Exhibitions เติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าหรือ Exhibitions ซึ่งไม่เพียงแค่ส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการจัดงานธุรกิจ ทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ งานเหล่านี้ไม่เพียงแต่ดึงดูดนักธุรกิจจากทั่วโลก แต่ยังกระจายโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้ไปทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตามการที่อุตสาหกรรมไมซ์ไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในเวทีระดับโลกได้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่น การปรับตัวให้ทันกับเทรนด์ใหม่ และการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและขยายโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เป็นองค์กรหลักที่มีบทบาทสำคัญมากในการสนับสนุนและผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศไทย
The Momentum มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมการแสดงสินค้านานาชาติ TCEB ซึ่งเป็นผู้ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำในเวทีงานแสดงสินค้าระดับโลก ตั้งแต่มองจุดแข็ง จุดอ่อน ทิศทางในอนาคต และบทบาทสำคัญของ TCEB ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีนานาชาติ
บทบาทของ TCEB คืออะไร
เราเป็นองค์กรของรัฐที่ทำงานเชิงรุกแบบเอกชน ต้องเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็ว โดยเราทำหน้าที่เป็นนักการตลาดของประเทศ ช่วงชิงนักเดินทางธุรกิจจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งจะแตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือการกีฬาแห่งประเทศไทย ก็จัดอีเวนต์ทางการกีฬา เพื่อนำแฟนๆ ของกีฬาแต่ละประเภทเข้ามา ส่วน TCEB เรามีพันธกิจในการดึงนักเดินทางแบบ Premium Traveller ที่มีคุณภาพ หรือเรียกว่า Business Traveller เข้ามา
การช่วงชิงกลุ่มดังกล่าวส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอย่างไรบ้าง
คนกลุ่มนี้เวลาเขาเดินทางมาจะมีค่าใช้จ่ายที่องค์กรต้องรับผิดชอบ ซึ่งแต่ละองค์กรจะดูแลพนักงานของเขาเป็นอย่างดี เช่น พักโรงแรมที่ดี รับประทานอาหารที่ดี หากมีการเลี้ยงลูกค้าก็ต้องพาไปสถานที่ที่ดี ซึ่งค่าใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้สูงถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวปกติ
เมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาเริ่มเกิดการแย่งชิงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรงนี้ ดังนั้น TCEB จึงถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เป็นนักการตลาดของชาติ ในการช่วงชิงกลุ่มเป้าหมายนี้
TCEB มีหน้าที่และมีกลุ่มเป้าหมายลูกค้าอย่างไรบ้าง
บทบาทของ TCEB คือ เป็นผู้ส่งเสริม ผลักดัน และพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งประกอบด้วย
หนึ่ง การจัดประชุมสัมมนา เราต้องคิดว่าพอมีกลุ่มเป้าหมายแบบนี้ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง องค์ประกอบของธุรกิจการจัดประชุมสัมมนาที่หากใครจะเดินทางมาอาเซียนต้องนึกถึงประเทศไทยเป็นที่แรก นี่คือหน้าที่เรา
สอง การประชุมวิชาชีพ เราต้องช่วงชิงตลาดตรงนี้มาให้ได้ เพราะปกติแล้วจะมีการประชุมเพื่อแสวงหาความรู้แขนงต่างๆ ทั่วโลก เช่น การประชุมแพทย์ทางด้านผ่าตัดหัวใจ หรือการประชุม Sustainability ซึ่งมีการจัดประชุมทุกปี
สาม อีกกลุ่มที่เราต้องช่วงชิงคือ กลุ่ม Exhibitions หรือการจัดงานแสดงสินค้า ซึ่งงานประเภทนี้ถือเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญในการนำเสนอสินค้าและบริการ เพราะเป็นที่ที่คนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันมารวมตัวกัน เจรจาธุรกิจ สร้างคอนเนกชัน นำมาซึ่งรายได้มหาศาล
และสุดท้ายเป็นเรื่องของเมกะอีเวนต์และเทศกาลนานาชาติ ซึ่งเป็นงานเฟสติวัลขนาดใหญ่ที่ดึงมาจัดที่ประเทศไทย ซึ่งแต่ละงานก็จะมี Core Business หรือ DNA ที่แตกต่างกันไป
คุณมองว่าในแง่ของการจัดงานแสดงสินค้า ประเทศไทยอยู่ในระดับ Global หรือยัง
เราเป็น Global Platform หมายถึงไม่ว่าจะมาจากยุโรป อเมริกา หรือเอเชีย สิ่งที่คุณจะได้คือความสะดวกสบายที่ไม่แตกต่างจากเมืองใหญ่อื่นๆ ในโลก และคุณจะได้คนมาดูงานนอกจากคนในประเทศไทยแล้ว อย่างน้อยที่สุดต้องมีกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาชมงาน นอกจากนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันยังผลักดันให้เกิดฟรีวีซ่า ดังนั้นคนที่ไม่ได้เข้ามาทำธุรกิจไม่ต้องขอวีซ่าก็สามารถเดินทางมาชมงานได้ เหล่านี้ทำให้เราได้เปรียบทางการแข่งขันกับบางประเทศว่า ถ้าคุณมาจัดงานในประเทศไทยอย่างน้อยมี 93 ประเทศที่สามารถเดินทางเข้ามาได้เลย โดยไม่ต้องมีปัญหาในการขอวีซ่า
นอกจากวีซ่าแล้ว ทาง TCEB ยังอำนวยความสะดวกให้ผู้จัดงานอื่นๆ อย่างไรอีกบ้าง
เรียกว่าเป็น One Stop Service ซึ่ง TCEB ทำงานกับภาครัฐหลายองค์กร เช่น กรมศุลกากร และกระทรวงต่างประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการนำสินค้าเข้ามาจัดแสดงในประเทศไทย ยกตัวอย่างหากมีจดหมายได้รับการรับรองการจัดงานจากเรา ผู้จัดงานได้รับการยกเว้นในการวางเงินค้ำประกันสินค้าที่จะนำเข้ามาแสดง สามารถนำสินค้าเข้ามาได้ เพียงแต่ทำสัญญารับผิดชอบแทน นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับทาง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการจัดช่องทางพิเศษสำหรับตรวจลงตราขาเข้า ผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพียงแค่โชว์สัญลักษณ์ของงานก็ได้ผ่านช่องทางพิเศษ ซึ่งประเทศอื่นในอาเซียนไม่มี นี่เป็นจุดหนึ่งที่นักเดินทางต่างชาติประทับใจ ดังนั้น TCEB จึงเป็นเหมือนคอนดักเตอร์ในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน
อีกบทบาทที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เรามีการจัดทำโรดโชว์ คือนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปเจอกลุ่มเป้าหมายโดยตรง เช่น พาเขาไปพรีเซนต์กับผู้ประกอบการ เนื่องจากเราได้รับความร่วมมือกับกระทรวงต่างประเทศ และประสานงานกับสถานทูตเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ TCEB ยังมุ่งเน้นสร้างบุคลากรที่มีความรู้ทักษะ เพราะองค์กรเชื่อมั่นว่าจะพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ต้องเริ่มจากการพัฒนาคน ดังนั้นบุคลากรในอุตสาหกรรมการแสดงสินค้าจึงผ่านการอบรมรับรองมาตรฐานระดับโลก Certified Exhibition Management (CEM) ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำ มีจำนวนผู้ผ่านการอบรมมากที่สุด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จุดเด่นของงาน Thailand MICE X-Change 2025 คืออะไร ทำไมต้องมางานนี้
จุดเด่นคือเราต้องการให้องค์กรธุรกิจที่ต้องการทำการตลาด สร้างยอดขาย ตระหนักรู้ว่า งานแสดงสินค้าจะเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญให้กับองค์กรของคุณอย่างไร ถ้าคุณได้มาออกบูทในงานแสดงสินค้าสักหนึ่งงานในประเทศ คุณจะได้เจอกลุ่มเป้าหมาย และโอกาสที่คุณจะปิดการขายได้มันสูงมาก จึงอยากเชิญชวนองค์กรธุรกิจ เข้ามาหาประสบการณ์ในการใช้งานแสดงสินค้าในการสร้างยอดขายให้กับองค์กรของคุณ มาเรียนรู้กับผู้จัดงานแสดงสินค้า ผู้ออกแบบบูท ผู้นำเทคโนโลยีในการหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย
สอง กลุ่มคนที่ออกบูทอยู่แล้วก็จะได้เรียนรู้ว่า ทำอย่างไรบูทของเขาถึงจะตื่นตาตื่นใจสำหรับลูกค้าที่เข้ามาดู ซึ่ง TMX เตรียมคำตอบไว้ให้คุณแล้ว
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมงานจะได้ใช้งานฐานข้อมูล Database และแอปพลิเคชันเพื่อให้เห็นพฤติกรรมลูกค้า หรือสามารถต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้
นอกจาก Thailand MICE X-Change 2025 แล้ว TCEB มีโครงการหรือมาตรการใดอีกบ้างที่ช่วยยกระดับงานแสดงสินค้าไทยในตลาดโลก
TCEB ถือเป็นองค์กรแรกๆ ที่ทุกคนยอมรับว่า เป็นเหมือนเพื่อนที่ดีของเขา เมื่อเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ผมมองว่า นอกจากเราจะเป็นหัวใจสําคัญของการติดต่อสื่อสารระหว่างภาครัฐกับเอกชน เรายังมีลิสต์พาร์ตเนอร์ให้อีกด้วย
ผมมองว่าเวลาที่เขาเดินทางเข้ามาจัดงานก็ต้องมองหาพาร์ตเนอร์ที่ดี ซึ่งไม่ใช่ใครก็ไม่รู้ ดังนั้นเราจะมีรายชื่อพาร์ตเนอร์ที่เป็นสมาชิกเพื่อบอกเขาว่า คนกลุ่มนี้คุณไปคุยกับเขาได้ เรามั่นใจว่าเขามีองค์ความรู้ มีแพสชันในการทำงานร่วมกับคุณ
จะเห็นว่ามันสร้างประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายและเรายังสามารถสร้าง Ecosystem ในอุตสาหกรรมบ้านเราให้แข็งแรงได้อีกด้วย การหา Domestic Partner จึงไม่ใช่แค่เรื่องหาคนร่วมงาน แต่เป็นการหาคนทำ PR ให้กับเขา รวมไปถึงเรื่องโลจิสติกส์และโรงแรม ดังนั้นจึงผลักดัน Ecosystem เราอย่างเต็มรูปแบบ
นอกจากนี้เรายังเป็น Thought Leader คือรวบรวมและใช้เวลากับการทำวิจัย เพื่อบอกคนที่จะเข้ามาชมการจัดแสดงว่า มีอะไรบ้างที่เป็น Intelligent ที่น่าสนใจของประเทศที่คุณต้องรู้ เช่น ช่วงนี้ที่กำลังมาแรงคือด้าน FinTech และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ
ตอกย้ำว่า TCEB เป็น One Stop Service
อย่างที่ผมบอกมันก็เหมือนเราเป็นคอนดักเตอร์ เรามีครบวงจร คือเขาไม่ต้องเดินไปหาแต่ละที่ แต่ TCEB เป็นจุดศูนย์กลางให้กับเขา ซึ่งเหล่านี้มันทำให้การตัดสินใจที่จะนำงานเข้ามาจัดมันง่ายขึ้น มันก็เหมือนว่า TCEB จะเป็นชูชีพที่เขาสามารถกอดไว้ได้
กระแสการทำงานช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ดีมากเลย เมื่อก่อนตอนโควิด-19 ระบาด เวลามีการจัดแสดงสินค้าอะไรคนเข้ามาดูประมาณ 3 ชั่วโมง นอกนั้นก็จะเงียบ แล้วการจัดงานก็จะต้องจัดแบบเงียบมากๆ เพื่อให้คนเจรจาธุรกิจกันรู้เรื่อง เป็นประเพณี ห้ามใช้เสียงดัง ทุกบูทต้องมีโบรชัวร์แจก การเกิดโควิด-19 มันทำให้เกิดการจัดงานที่ เปลี่ยนไป เรียกว่าประเทศไทยมีการฟื้นตัวกลับมาที่รวดเร็ว การจัดงานมีเนื้อหาและรูปแบบที่เปลี่ยนไปมาก ถือว่าประเทศไทยเตรียมตัวต่อการเปลี่ยนผ่านและรองรับการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี วันนี้เรายังคงรักษาแชมป์ในการใช้พื้นที่การจัดงาแสดงสินค้าเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากการวางแผนการอย่างรอบคอบ และการร่วมมือร่วมใจกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
ทิ้งท้ายหน่อยว่า งาน Thailand MICE X-Change 2025 ผู้ชมจะเห็นอะไรบ้าง
อันดับแรกเลย คุณจะได้เห็นถึงความร่วมมือ เห็นแพสชันของคนที่อยู่ในวงการงานแสดงสินค้าที่เขาจะมาบอกว่า เขาจะสามารถทําให้ธุรกิจของคุณเติบโตอย่างกระโดดได้อย่างไร
อันดับที่ 2 นักกการตลาด นักขาย จากองค์กรธุรกิจต่างๆ จะได้รับข้อมูลในเชิงลึกว่า งานแสดงสินค้า จะเป็น Marketing Tool ที่สำคัญสำหรับองค์กรคุณได้อย่างไร
ส่วนคนสร้างบูทคุณจะรู้ว่า มีเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรบ้างที่ทำให้ลูกค้าคุณเดินมาที่บูทและรู้สึกว้าวว่า นี่คือผู้ประกอบการที่ฉันใฝ่ฝัน คือซัพพลายเออร์ที่มั่นใจได้ เพราะฉะนั้นคุณพรีเซนต์ตัวคุณกับลูกค้าได้อย่างเต็มที่
สุดท้ายก็คือ นอกจากภายในงานจะมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดงานกับผู้เข้าชมงานแล้ว ยังมีความเพลิดเพลินจากการเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานในออฟฟิศแล้ว เขาจะได้องค์ความรู้จากงาน ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้เป็น Wisdom ที่เขาได้ฟัง ได้คิด ได้ตกผลึก ซึ่งจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนบริษัทที่เขาทำงานอยู่อีกที ซึ่งนี่เป็นประโยชน์ที่สุดแล้ว
นี่คือภาพรวมที่เราจะได้เห็น และผมคิดว่า การมางานในครั้งนี้อาจจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลางานขององค์กร แต่ขอให้ทุกองค์กรมั่นใจได้ว่า การผลักดันให้บุคลากรของท่านมาในงาน มันมี Return ที่กลับไปมันมากกว่า 3-4 ชั่วโมงที่ท่านลงทุนไปแน่นอน
Tags: Branded Content, The Chair, MICE, TCEB, งานแสดงสินค้าระดับโลก, ดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี