ในเวลาปกติ โรงภาพยนตร์เป็นสถานที่ที่ผู้คนใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง เข้าไปดื่มด่ำรับชมอรรถรสต่อภาพยนตร์ที่ทางโรงนำมาฉาย ด้วยความคมชัดของภาพและคุณภาพของเสียง บวกกับป๊อปคอร์น และเครื่องดื่มแก้วโปรด ทำให้ช่วงเวลา 2-3 ชั่วโมงของการรับชมภาพยนตร์นั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว 

แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของผู้คนอย่างคอนเสิร์ตและในโรงภาพยนตร์ ได้กลายเป็นกิจกรรมอันดับต้นๆ ที่ถูกรัฐสั่งปิด เพราะกังวลถึงเรื่องความแออัดในการเข้าใช้บริการ ที่อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคระบาดจนไม่สามารถควบคุมได้ 

วันนี้ แม้สถานการณ์ของการฉายภาพยนตร์ และทิศทางธุรกิจของโรงภาพยนตร์จะคลี่คลายขึ้นมาบ้าง แต่การชมคอนเสิร์ตนั้นยังคงเป็นไปในทางตรงกันข้าม ไม่มีอนาคต และยังไม่มีท่าทีว่าจะจัดได้โดยเร็วในประเทศไทย

สมยศ ธนพิรุณธร , สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์  เรียงจากซ้ายไปขวา

ด้วยเหตุนี้ สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นถึงช่องว่างในการยกระดับประสบการณ์ในการเข้าใช้บริการโรงภาพยนตร์ จึงได้จับมือกับทาง สมยศ ธนพิรุณธร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ในการถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตบนจอของโรงภาพยนตร์ เพื่อเป็นทางเลือกให้สำหรับคอคอนเสิร์ตที่คิดถึงบรรยากาศการแสดงสดของศิลปิน และคอนเสิร์ตที่หลายคนต่างตั้งหน้าตั้งตารอ หนีไม่พ้น ‘BTS Permission to Dance on Stage Seoul’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา การแสดงสดของศิลปินวง BTS ผ่านโรงภาพยนตร์เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ ไม่ใช่แค่เพียงในเกาหลีใต้ แต่นับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญระดับโลกก็คงจะไม่เกินเลยไปนัก

The Momentum ได้รับโอกาสในการพูดคุยและสอบถามถึงเบื้องหลังการทำงานของ สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ และ สมยศ ธนพิรุณธร ในการนำคอนเสิร์ตมาเฉิดฉายบนจอเงินแบบถ่ายทอดสด ว่าความท้าทายในการจัดงานครั้งนี้คืออะไร และจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะได้เห็นคอนเทนต์ในลักษณะนี้อีกในอนาคตข้างหน้า

 

จุดเริ่มต้นการจับมือกันของโปรเจ็กต์นี้ มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร

สมยศ: จริงๆ แล้วทางเราและ SF นั้น เป็นพันธมิตรกันมาอย่างยาวนาน เรามีโรงภาพยนตร์ First Class ที่เปิดให้บริการ โดยการร่วมมือกันของเรา เป็นทาง NT ที่ช่วยดูแลระบบเน็ตเวิร์ก มาให้ที่โรง First Class ทำให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการโรงภาพยนตร์ First Class สามารถใช้งาน WiFi ความเร็วสูงได้ 

สำหรับโปรเจ็กต์นี้ SF ได้ติดต่อผมมา เมื่อประมาณกลางเดือนที่แล้ว ว่าต้องการที่จะทำ Live Concert ผ่านการถ่ายทอดสดบรรยากาศของคอนเสิร์ตเข้ามาที่โรงภาพยนตร์ ผมได้ฟังครั้งแรกก็รู้ได้ทันทีเลยว่า โปรเจ็กต์นี้เป็นโปรเจ็กต์ที่ท้าทายมากๆ เพราะแม้ว่า NT จะเป็นผู้ให้บริการ Network ในการให้สัญญาณถ่ายทอดสด ที่ส่งต่อให้กับสถานีโทรทัศน์ต่างๆ อย่างช่อง 5 หรือช่อง 7 ก็จริง แต่อีเวนต์นี้ไม่เป็นเช่นนั้น คือการที่รับสัญญาณมาปุ๊บ แล้วต้องกระจายต่อให้กับโรงภาพยนตร์ในทันที เพื่อให้สามารถถ่ายทอดสดได้ ซึ่งเราคิดว่าเรา ‘น่าจะทำได้’ ซึ่งผมก็ได้บอกกับฝั่ง SF ไปว่า ขอผมศึกษารูปแบบการถ่ายทอดสดดูก่อน ผมจึงได้เร่งประชุมคุยกับทีมงานเลยว่า เป็นไปได้ไหม สำหรับการถ่ายทอดสดในโรงภาพยนตร์

อีเวนต์พวกนี้ เป็นมิติใหม่ของการถ่ายทอดสด เพราะปกติ คนที่มาโรงหนัง จุดประสงค์ของเขาคือการดูหนัง แต่กิจกรรมอื่นๆ อย่างคอนเสิร์ตนั้น เป็นสิ่งที่เรายังไม่เคยเห็น ผมจึงบอกกับทีมงานให้ลุยเต็มที่ โชว์ฝีมือของเราให้เห็นไปเลยว่าเราทำได้ดีขนาดไหน แต่ตอนแรก เราก็คาดการณ์ว่าคงมีแค่ไม่กี่โรงหรอก หลักๆ คงจะเป็นที่เซ็นทรัลเวิลด์ที่เรามีการติดตั้งจุดรับสัญญาณอยู่แล้ว แต่เมื่อได้รับโจทย์ว่าต้องขยายการถ่ายทอดสดไปยังโรงต่างจังหวัดด้วย จึงเป็นความท้าทายว่า เฮ้ย เราต้องขยายไปยังต่างจังหวัดด้วยหรือ? เพราะการกระจายเสาสัญญาณออกไปนอกเหนือจากกรุงเทพฯ นั้น พูดได้เลยว่ามีความท้าทายสูง

แต่ว่าอย่างน้อยเรามี IP Network ที่กระจายไปอยู่ทั่วประเทศ จึงคิดว่าเราน่าจะทำได้ เลยปล่อยให้ทีมงานลองทดสอบดู จนเราสามารถกระจายสัญญาณถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตไปได้ 20 กว่าแห่ง และให้บริการฉาย 50 กว่าโรงทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเยอะมาก และจากการทดสอบสัญญาณจากทางประเทศอังกฤษที่จะส่งสัญญาณมาให้เราพบว่า ใช้ได้ปกติ ยังไม่มีปัญหาใดๆ

 

ความยากของโปรเจ็กต์นี้คืออะไร 

สมยศ: หนึ่งคือ สัญญาณที่ส่งมานั้น ตอนแรกเราเข้าใจว่าเป็นการถ่ายทอดผ่านสัญญาณดาวเทียมให้เรารับโดยตรง เพราะปกติการถ่ายทอดสดกีฬา หรืออีเวนต์ต่างๆ มันมีมาตรฐานอีกรูปแบบ แต่คอนเสิร์ตก็จะมีอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Decoder หรือตัวแปลงสัญญาณจำนวนมากในการแปลงสัญญาณที่ได้รับจากต่างประเทศ เพื่อส่งสัญญาณที่โรงภาพยนตร์สามารถรับได้ 

ความยากก็คือจะทำอย่างไรที่จะกระจายสัญญาณตัวนี้ออกไป เพราะระบบถ่ายทอดของภาพยนตร์ และระบบถ่ายทอดของโทรทัศน์นั้นมีความแตกต่างกันออกไป ผมเลยมีความกังวลว่า เอ๊ะ มันจะสามารถต่อกันได้ไหม เพราะการที่ผมรับสัญญาณมาเป็น SDI พวกสถานีโทรทัศน์ แต่พอโรงภาพยนตร์ จะเป็นการฉายในรูปแบบของ HDMI จึงมีความกังวลว่าจะมีการ ‘ลดทอนคุณภาพของสัญญาณบ้างหรือเปล่า’ แต่เราก็ลองดู

ผลก็คือ สัญญาณภาพก็ไม่ได้ถูกลดทอนไปมาก แต่ก็มีความท้าทายอีก คือสัญญาณจุดที่ต้องติดตั้งนั้นมีจำนวนค่อนข้างมาก เพราะว่าทาง SF ต้องการจำนวนจุดเยอะ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของแฟนๆ BTS ให้ได้มากที่สุด ทำให้ผมต้องใช้ Decoder เยอะขึ้นตาม ซึ่ง NT ก็มีอุปกรณ์เยอะพอประมาณ แม้ว่าจะได้เพียงแค่ 20 แห่งเท่านั้น แต่ก็ยังมากกว่าประเทศอื่น ที่มีจุดรับสัญญาณน้อยมาก อย่างมาเลเซียนี่ไม่ได้เลย และเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ประเทศไทยของเรา ได้รับจุดสัญญาณที่มากพอสมควร โดยเราใช้ระยะเวลาในการเตรียมการประมาณครึ่งเดือน ในการทดสอบระบบ และหาจุดรับสัญญาณจนสำเร็จ 

ถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของทั้ง NT และ SF ที่เป็นมิติใหม่ในการให้บริการด้านความบันเทิง ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาผนวกเข้าด้วยกัน ที่ในอนาคตหากคอนเสิร์ต Permission To Dance ประสบความสำเร็จ เราได้คุยกับทาง SF ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะนำอีเวนต์ ในลักษณะอย่างนี้เข้ามาฉายอีก

เพราะด้วยสถานการณ์ของโลกเราทุกวันนี้ที่กำลังเข้าสู่ยุค New Normal การออกไปดูคอนเสิร์ตนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ถามว่ามีคนที่อยากไปดูรึเปล่า แน่นอนว่าคงมีคนกลุ่มนั้นอยู่แน่นอน ซึ่งทำให้กิจกรรมของเราตรงนี้แสดงให้คนระดับโลกเห็นว่า ‘เมืองไทยสามารถทำได้’ และมันเวิร์ก

การถ่ายทอดสดนั้น เป็นงานที่ต้องจำกัดความผิดพลาดให้ได้น้อยที่สุด ทาง NT มีแผนรับมือต่อความผิดพลาดอย่างไร?

สมยศ: การถ่ายทอดสดนั้น เป็นงานที่เราพลาดอะไรไม่ได้อยู่แล้ว คอนเสิร์ตครั้งนี้จะเป็นการส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียมของประเทศอังกฤษ ซึ่งประเทศไทยมีปริมาณรับ-ส่งสัญญาณ (Bandwidth) จากอังกฤษที่เยอะมาก เพราะฉะนั้น เรื่องของสัญญาณการเชื่อมต่อจากเคเบิลใต้น้ำมายังประเทศไทยนั้นไม่มีปัญหา

นอกจากนี้ เรายังมีระบบสำรอง เราเตรียมระบบดาวเทียมของอังกฤษ ยิงสัญญาณขึ้นดาวเทียมแล้วเราก็รับมา เพราะฉะนั้น ในส่วนของการรับสัญญาณเราเตรียมไว้ 2 เส้นทาง 2 ระบบ ส่วนที่อยู่จากประเทศไทยที่จะกระจายไปยังจุดต่างๆ เรามีเน็ตเวิร์กกระจายทั่วประเทศ และลิงก์ไปยังแต่ละจุด เราใช้ระบบ 2 เส้นทางของ NT เอง แล้วหาพาร์ตเนอร์ที่จะช่วยกระจายสัญญาณให้เราอีกเส้น

ส่วนปลายทางที่รับสัญญาณอย่าง SF เราเตรียมอุปกรณ์อย่าง Encoder-Decoder แล้วก็เตรียม Back Up ไว้อีกหนึ่งตัว สำหรับแต่ละแห่งทั้ง 20 จุด เรามีความชำนาญในการให้บริการถ่ายทอดอยู่แล้ว เราจึงคิดว่าเหตุการณ์เช่นนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น และเรามีช่างจาก NT ประจำอยู่ด้วย แต่จากที่เราได้ทดสอบการถ่ายทอดสดมาจากอังกฤษนั้น ได้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างดี ภาพและเสียงมาตรงกัน ดีกว่าการถ่ายทอดสดตามปกติอยู่มาก 

 

ในอนาคต คอนเทนต์ถ่ายทอดสดรูปแบบอื่นๆ อย่างการรับชมกีฬา การแข่งขัน E-Sport จะได้เห็นในโรงภาพยนตร์บ้างหรือเปล่า

สมยศ: เรามีความคิดนะครับ แต่คอนเทนต์บางอย่าง ก็ยังสามารถจัดแบบ On-Site ได้ แต่ถ้าเกิดว่าระบบของเรามัน ‘เวิร์ก’ ขึ้นมา เราคุยกับ SF ไว้ว่า เดี๋ยวเรามาลองทำความร่วมมือร่วมกัน เพราะทางเขา ก็ได้บอกมาเองว่า SF มีความต้องการที่จะทำคอนเทนต์ประมาณนี้เยอะมาก แต่เขายังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามันทำได้ ซึ่ง SF มีความคิดว่าอยากให้ 60 สาขาของ SF ทั้งหมด สามารถทำอย่างนี้ได้บ้าง อย่างคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมต่างๆ อย่างเดี่ยวไมโครโฟน ดนตรี การแสดงสด ถ้ามีเวลาให้ผม ผมลากให้ได้ทุกจุด และผมพร้อมที่จะทำให้ได้

หรือถ้าช่วงโควิด-19 พ้นไปแล้ว ผมคิดว่ากิจกรรมบางอย่างที่ผู้คนไม่สามารถไปร่วมงานถึงที่ได้ ตั้งคำถามว่าจะรับประสบการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร คำตอบก็คือ มาที่โรงหนังสิ เห็นชัดด้วย เพราะระบบการถ่ายทอดปัจจุบันทำได้ดีมาก บางที บางอีเวนต์ อาจจะดีกว่าไปอยู่ในสถานที่จริงด้วยซ้ำ และอาจจะทำให้ศิลปินสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในโรงได้อีกด้วย จากที่เมื่อก่อน อาจจะเล่นกับผู้ชมเพียงแค่ด้านหน้าเวทีได้เท่านั้น ในอนาคตก็อาจจะไม่แน่นะ ที่ศิลปินจะเล่นกับผู้ชมที่ดูถ่ายทอดสดได้ 

NT มีแผนที่จะจับมือกับใครในอนาคตอีกไหม

สมยศ: อย่างที่บอกว่า ถ้าเป็นกรณีของ Live Streaming ทาง SF จะเป็นคนที่ช่วยให้เราสามารถขยายเน็ตเวิร์กออกไป เพราะเขามีอยู่ทั่วประเทศซึ่งเรามีการร่วมมือกับเขามาอย่างยาวนาน ซึ่งผมเชื่อว่าเทคโนโลยีทางด้านสื่อบันเทิง SF คือเบอร์หนึ่งของประเทศ 

อีกจุดหนึ่ง คือเขามีโรงภาพยนตร์กระจายไปตามหัวเมืองต่างๆ เยอะมาก ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ผู้ที่อยากเผยแพร่คอนเทนต์อื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยได้ ในอนาคตเราอาจจะไปสนามกีฬา หรือการแข่งโมโตจีพี ของบุรีรัมย์ โดยที่เราอาจจะไปขอดีลตั้งแต่ที่เขาจะเริ่มสร้าง ถ้าคุณจะถ่ายทอดสด เดี๋ยวเราจะเป็นคนจัดให้ เพื่อที่จะได้วางเน็ตเวิร์กไว้ที่สนามแข่งก่อนเลย 

 

อะไรคือตัวจุดประกายให้ SF นำคอนเสิร์ต BTS มาฉายในโรงภาพยนตร์

สุวิทย์: สำหรับคอนเทนต์ประเภทนี้ ทาง SF เราจะเรียกว่าเป็น Alternative Content และแน่นอนว่าการที่จะหาคอนเทนต์ดีๆ แบบนี้มาก็ถือว่าตรงกับสถานการณ์ตอนนี้เอาเสียมากๆ เพราะคอนเสิร์ต ‘BTS Permission to Dance on Stage Seoul live’ ถือว่าเป็น Series World Tour ล่าสุด ของศิลปินบอยแบนด์ K-Pop ระดับโลก ต้องเรียนว่าแน่นอนว่าเราตื่นเต้นมาก เพราะคอนเสิร์ตครั้งนี้เขาจัดทั้งหมด 3 วัน คือวันที่ 10 มีนาคม 12 มีนาคม และ 13 มีนาคม 

สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ คือการจัดคอนเสิร์ตในวันที่ 12 มีนาคมนั้น เป็นคอนเสิร์ตที่มีการถ่ายทอดสดไปยัง 75 ประเทศทั่วโลก แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือประเทศไทยเรา และที่สำคัญ คือมีการเอาคอนเทนต์ตัวนี้มาถ่ายทอดสดในโรงภาพยนตร์ทั้ง 20 สาขาทั่วประเทศ เป็นรูปแบบเอ็กซ์คลูซีฟ

ทั้งนี้ นอกจากการประสานงานกับเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างใกล้ชิดแล้ว SF ยังได้ลงทุนเพื่อยกระดับเทคโนโลยีการฉายไปกว่า 10 ล้านบาท เนื่องจากต้องใช้เทคนิค อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก SF พยายามอย่างเต็มที่ในการก้าวข้ามข้อจำกัด เพื่อกระจายสาขาให้ได้มากที่สุด และรองรับผู้ชมได้มากที่สุด มีจำนวนสาขามากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย 

เชื่อว่าคอนเทนต์นี้ เป็นคอนเทนต์ที่คนติดตามทั่วโลก ไม่ต้องพูดถึงเหล่า Army เลยนะครับ แม้แต่คนทั่วโลกก็อยากดูและอยากเห็น เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของการเดินทางไปชมคอนเสิร์ตเองนั้นยังไม่เอื้ออำนวย แต่ในครั้งนี้ไม่ต้องไปถึงเกาหลี และไม่ต้องไปแออัดกับคนอื่นเป็นหมื่น แต่เราได้ดูศิลปินแบบใกล้ตัวเรามากเลย เพราะการไปดูคอนเสิร์ตแต่ละที โห เราอยู่ห่างจากศิลปินมากเลย แทบจะห่างเป็นกิโลเลยครับ แต่ครั้งนี้เราได้อยู่ใกล้ๆ ได้สัมผัสพวกเขา บนสิ่งที่เรียกว่าความปลอดภัย และมาตรการต่างๆ ของโรงภาพยนตร์ 

 

น้ำเสียงของคุณดูตื่นเต้นมาก อยากให้ช่วยขยายความความพิเศษในการทำ Live Streaming ในโรงหนัง

สุวิทย์: วันที่เรารู้ว่า เราจะได้คอนเทนต์ตัวนี้มาฉาย ผมใช้คำว่ามันคือความท้าทายใหม่ของเรา และมันคือปรากฏการณ์ ผมอยากย้ำว่ามันคือปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนะครับ สำหรับการถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตความยาว 3 ชั่วโมง 15 นาที ในโรงภาพยนตร์ ในเวลาพร้อมๆ กัน โดยยิงสัญญาณสดจากต่างประเทศ 

ต้องยอมรับว่านี่คือเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า และตอกย้ำว่าประเทศไทยของเราเป็นผู้นำทางด้านโทรคมนาคม ผมว่านี่คือความท้าทาย และปรากฏการณ์ ที่ช่วยแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยของเรามีความพร้อมนำ ในการที่จะทำ Live Streaming อื่นๆ ได้ต่อไป

แน่นอนครับ พอเรารู้ว่าเราได้ลิขสิทธิ์มา สิ่งที่หนักใจก็คือ ด้วยความที่จัดเป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้น ประเทศตัวต้นสังกัดศิลปินเองก็ดี หรือเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอด เขาต้องการทดสอบระบบ เพราะต้องการมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก จึงต้องมีการทดสอบสัญญาณพร้อมกันกับประเทศอื่นๆ เพื่อเช็กว่า ‘คุณพร้อมจริงหรือเปล่า’ 

วันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา เราได้ยิงสัญญาณสดจากประเทศอังกฤษมายังโรงภาพยนตร์ SF ทั้ง 20 สาขา ก็พบว่าทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี แล้วคอนเสิร์ตของเราที่เปิดขายไปในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ในล็อตแรก ก็ขายตั๋ว Sold Out ทั้งหมด 

 

วินาทีแรกที่ได้บอกกับทาง NT ให้ทราบ ทาง NT มีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง มีความตื่นเต้นเช่นเดียวกับคุณหรือเปล่า?

สุวิทย์: เราโชคดีที่มีพาร์ตเนอร์คือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) พูดตรงๆ ว่าวันแรกๆ ที่เราได้รับสิทธิ์ในการถ่ายทอด สิ่งที่เราเป็นห่วงคือเราจำเป็นจะต้องมีผู้ที่มีความพร้อมในศักยภาพด้านการถ่ายทอดสด ซึ่งเราได้มีการพูดคุย และตกลงตัดสินใจแล้วว่า Infastructure และธุรกิจของ NT นั้น เขารับผิดชอบเรื่องนี้ให้กับเราได้อย่างแน่นอน เพราะเขาคือมืออาชีพในด้านนี้ และเขาก็เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมดังกล่าวอีกด้วย มากไปกว่านั้นคือ เขาอยากจะพิสูจน์ว่าเขาทำได้ 

ผมเลยยิ่งมั่นใจว่าเราทำได้อย่างแน่นอน เพราะเรียนตามตรงว่ามีบางประเทศที่ต้องถอนตัวเพราะความไม่พร้อมของตัวระบบ และเครือข่ายการถ่ายทอดสด

คอนเสิร์ตในวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ดูจะมีผลตอบรับที่ยอดเยี่ยม อนาคตเราจะได้เห็นคอนเทนต์รูปแบบใดจาก SF และ NT อีกบ้าง

สุวิทย์: เราวางแผนกันไว้ยาว เพราะความสามารถในการถ่ายทอดสดนั้น เป็นสิ่งที่เอื้อให้การจัดการแสดงสดนั้นมีความหลากหลายมากขึ้น

เพราะต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ การเดินทางอาจจะไม่สะดวก และการรวมตัวในที่แออัด ก็ไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อคอนเสิร์ตในวันที่ 12 มีนาคมผ่านไปด้วยดี เราได้วางแผนไปถึงการนำคอนเทนต์อื่นๆ เข้ามาในโรงหนังแล้ว ฝากทุกคนติดตามด้วย

และมันจะไม่ได้มีเพียงแค่คอนเสิร์ต ผมพูดถึงการแสดงสด และงานอีเวนต์ในรูปแบบอื่นๆ ที่พูดว่ามากกว่าภาพยนตร์ (More Than Movie) บน Cinematic Experience รูปแบบใหม่ๆ

 

หากคู่แข่งต้องการที่จะทำเช่นเดียวกับที่ SF ทำ สิ่งใดคือจุดแข็งที่ SF พูดได้เต็มปากว่า ‘สู้เขาได้’

สุวิทย์: ผมคงไม่เปรียบเทียบ SF กับคนอื่นๆ แต่ต้องบอกว่าการที่เจ้าของคอนเทนต์เขาจะเลือกใคร เขาต้องดูถึงความพร้อมของตัวผู้ที่ได้สิทธิในการถ่ายทอดสด และเขามั่นใจแล้ว เขาต้องมั่นใจก่อนที่จะเลือก สิ่งที่ผมคิดคือ หนึ่ง เรามีความพร้อมในเรื่องของเทคโนโลยี สอง ความพร้อมของเรื่องสถานที่ถ่ายทอดที่ครอบคลุมทั่วประเทศ สาม สถานที่ของ SF ทุกจุดที่เรามีนั้น เป็นสถานที่ที่เรียกได้ว่าเป็น จุดยุทธศาสตร์ล้วนๆ 

ผมคิดว่านี่คือ 3-4 จุดแข็งที่เรามี และต้องยอมรับว่า เขาต้องมีประสบการณ์ที่ดีกับ SF เขาจึงมั่นใจในมาตรฐานของเรา เขามั่นใจว่าเรา มีระบบทุกอย่างที่สามารถทำให้คอนเทนต์ที่มีคุณภาพของเขานั้น ถูกถ่ายทอดไปให้ลูกค้าได้อย่างดีที่สุด

 

เกณฑ์ในการพิจารณนำคอนเทนต์เข้ามาฉายของ SF คืออะไร?

สุวิทย์: เรามีทีมที่ดูแลเรื่องของการคัดเลือกคอนเทนต์ที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าของเรา ทั้งทีมโปรแกรมเมอร์ และทีมมาร์เกตติ้งที่มี ข้อมูล (Data) ว่าตอนนี้เทรนด์ของลูกค้ามันเป็นแบบไหน รวมถึงยังมีหน่วยงานที่ดูแลการคัดเลือกคอนเทนต์ที่เหมาะสม จะสังเกตได้ว่าคอนเทนต์ที่เราเลือกมานั้น จะได้รับการตอบรับจากฐานแฟนที่ต้องการดูคอนเทนต์ตัวนั้นอยู่ตลอด

 

ในเมื่อภาพยนตร์ที่เป็น Blockbuster น่าจะทำเงินได้มากกว่า ทำไมถึงยังมีการนำภาพยนตร์ที่เป็นภาพยนตร์นอกกระแส หรือคอนเทนต์แบบอื่นมาฉายด้วย

สุวิทย์: ในธุรกิจโรงภาพยนตร์ ตัวภาพยนตร์เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดอยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่าภาพยนตร์ Blockbuster นั้น ไม่ได้มีทุกสัปดาห์ ไม่ได้มาทุกเดือน สิ่งที่เราตามหาจึงเป็น คอนเทนต์ทางเลือก (Alternative Content) ที่จะเข้ามาเติมเต็มในช่วงที่ภาพยนตร์อาจจะไม่แข็งแรง ช่วงไหนที่หนังในกระแสหลักอาจจะเบาไปนิดหนึ่ง ตัวคอนเทนต์ทางเลือกนี่แหละที่จะเข้ามาเสริม จะสังเกตได้ว่าในสัปดาห์ของวันที่ 12 ที่จะมีการถ่ายทอดคอนเสิร์ต หนังเรื่อง The Batman ได้เข้าฉายมาเป็นสัปดาห์ที่ 2 แล้ว แต่หนังใหญ่ที่กำลังจะเข้ามาต่อท้ายนั้นก็ยังไม่มี เพราะฉะนั้นผมใช้คำว่า คอนเทนต์ทางเลือกคือสิ่งที่จะเข้ามาเติมเติมให้ผู้คนเข้ามายังโรงภาพยนตร์ของเรามากขึ้น

 

ระบบ Application Streaming ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่าง Netflix ส่งผลกระทบกับโรงหนังมากน้อยขนาดไหน

สุวิทย์: เรื่องของ Streaming ต้องเรียนว่าในระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา มันรู้แล้วว่าตัวคอนเทนต์ของ Streaming เองนั้น ทั้ง Netflix หรือ Viu เองนั้น เป็นคอนเทนต์คนละประเภทกับโรงภาพยนตร์ ในทางตรงกันข้าม มันดันเสริมแรงให้กันด้วย ยกตัวอย่างเช่น บางคอนเทนต์ของ Disney+ ที่มีการเอาตัวคอนเทนต์อย่างหนังหรือซีรีส์ออกมาฉาย ก่อนที่จะมีการฉายหนังใหญ่ในโรงภาพยนตร์ ผมมองว่ามันมีความ ‘อิงอาศัยกัน’ (Synergy) และไม่มีการ Disrupt กันโดยสิ้นเชิง

อีกทั้งยังถูกพิสูจน์แล้วว่า ตอนที่สตูดิโอเจ้าของคอนเทนต์มีการปล่อยหนัง Blockbuster อย่าง Black Widow ให้เข้าฉายใน Streamimg พร้อมโรงภาพยนตร์ เพราะสถานการณ์ของอเมริกาและยุโรปในขณะนั้นเต็มไปด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 เขาก็ต้องทำอะไรสักอย่างให้สามารถปล่อยคอนเทนต์ผ่านโรงหนังด้วย ทั้งหมดนี้ ทำให้สังเกตเห็นแล้วว่า Streaming มันทดแทนโรงหนังไม่ได้ เพราะโรงภาพยนตร์คือแหล่งรายได้สำคัญของอุตสาหกรรมฮอลลีวูด และอุตสาหกรรมภาพยนตร์

ถ้าอย่างนั้น ในอนาคตจะเห็น SF นำคอนเทนต์ของ Streaming เข้ามาฉายในโรงภาพยนตร์บ้างไหม

สุวิทย์: ตอนนี้เราทำแล้วครับ ตอนนี้เราได้จับมือกับทาง Viu มีการนำซีรีส์เข้ามาฉายในโรงภาพยนตร์ โดยอีเวนต์นี้จะใช้เวลาทั้งหมด 6 สัปดาห์ โดยการเอาซีรีส์ Remember 15 ซึ่งเป็นออริจินัลคอนเทนต์ของ Viu มาฉายในโรงภาพยนตร์ และมีการนำดารา แฟนคลับมาจัดอีเวนต์ในโรง ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นคอนเทนต์ใหม่ ที่เรากำลังดำเนินการทำอยู่ในปัจจุบันนี้ 

หลังจากนี้ จะมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจนำเข้ามาอีก ซึ่งผมต้องเรียนเบื้องต้นเลยว่าเยอะมาก อยากให้ติดตามกันให้ดีๆ ว่าเราจะมีการนำคอนเทนต์ใดของทาง Streaming เข้ามาฉาย

 

การถ่ายทอดสดคอนเสิร์ตของ BTS ที่ผ่านมา มีรูปแบบเป็นอย่างไร ต่างจากคอนเสิร์ตทั่วไปอย่างไร แฟนคลับสามารถสนุกได้เต็มที่ขนาดไหน?

สุวิทย์: ทาง SF ใช้มาตรการที่เรียกว่ามาตรการดูแลด้วยใจ คือการนำมาตรการที่เราคุยกับภาครัฐ มาดำเนินการอย่างเคร่งครัด ทั้งการ Social Distancing ที่เราเว้นที่นั่ง ไม่ได้ขายตั๋วเต็ม เพื่อไม่ให้ที่นั่งมีความแออัดกันจนเกินไป และระบบ Streaming ของโรงภาพยนตร์นั้น มีการเช็ดทำความสะอาดที่นั่ง เปลี่ยนผ้าปูรองศีรษะ และระบบระบายอากาศฆ่าเชื้อโรคอยู่ตลอดเวลา

ที่มากกว่านั้น คือการขอความร่วมมือลูกค้าในการตรวจ ATK ก่อนเข้ามาดูหนัง ผมคิดว่านี่คือสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ลูกค้ามาแล้วรู้สึกปลอดภัย เพื่อจะได้สนุกกับคอนเสิร์ตอย่างเต็มที่ และเราต้องการให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ได้รับเช่นเดียวกับการไปคอนเสิร์ต จะถือแท่งไฟ ก็สามารถทำได้อย่างเต็มที่ แต่หากมีการส่งเสียงที่รบกวนคนอื่น อาจจะต้องขอสงวนไว้ด้วยเช่นกัน แต่แน่นอนว่าอรรถรสที่ได้จะเหมือนกับการที่เขาอยู่ข้างหน้าของเราเลย เราจะเห็นเขาในทุกอิริยาบถ ซึ่งผมคิดว่าข้อนี้คือสิ่งที่เราให้ได้ และการไปดูติดขอบเวทีไม่สามารถทำได้

Tags: , , , , , , ,