หากเป็นห้วงยามปกติ เมื่อราตรีมาเยือน ร้านนอร์ทเกต (North Gate Jazz Co-Op) บาร์แจ๊ซขนาดย่อมที่มีชื่อเสียงแห่งเมืองเชียงใหม่ จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทั่วโลก ที่หลงใหลในรสบรรยากาศของบาร์อันคึกคัก ดนตรีสด บทสนทนาหลากภาษา กลิ่นและรสชาติแอลกอฮอล์ที่จะคอยปลุกโสตประสาทให้ตื่นตัวตลอดเวลา แต่ในสถานการณ์ที่สังคมกำลังบอบช้ำจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สถานที่แห่งนี้ดูเงียบเหงาลงไปถนัดตาและถนัดหู
ช่วงบ่ายแก่ใกล้เย็นย่ำปลายฤดูร้อน บานประตูเหล็กดัดหน้าร้านแง้มเปิดเพียงครึ่ง ‘ปอ’ – ภราดล พรอำนวย ชายหนุ่มร่างสูงโปร่งผู้ร่วมก่อตั้งบาร์นอร์ทเกต เดินนำเราเข้าไปด้านใน มีเพียงแสงสว่างลอดผ่านเข้ามาเล็กน้อย เขาบอกว่าร้านปิดมาแล้วประมาณหนึ่งเดือน ตามมาตรการของรัฐ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอกสาม ซึ่งเชียงใหม่เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนัก
มุมต่างๆ ภายในร้านยังคงเหมือนเดิม เครื่องดนตรีที่วางตัวอย่างเงียบงันบนเวทีแสดง กรอบภาพศิลปินชื่อก้องที่แขวนอยู่บนผนัง โต๊ะเก้าอี้ถูกวางเรียงซ้อนกัน มุมบาร์ยังมีเครื่องดื่มแช่เย็นค้างอยู่ข้างในตู้ แต่สิ่งที่ต่างไปคือ ‘คน’ ที่ควรเข้ามารับบทในการเติมเต็มจิตวิญญาณของบาร์แห่งนี้ ที่ในเวลานี้กลับหายไป
เชียงใหม่มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผับ บาร์และการแสดงดนตรีสดมากมายหลายแห่ง ทั้งขนาดย่อมไปจนถึงขนาดใหญ่ ที่นี่มีเทศกาลดนตรีดีๆ ทั้งระดับประเทศหรือระดับนานาชาติถูกจัดขึ้นเป็นประจำ จนเรียกได้ว่าธุรกิจเกี่ยวกับดนตรีได้นำเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยมาสู่เมืองแห่งนี้
ในขณะที่นักท่องเที่ยวยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ สถิติจากสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดเชียงใหม่ เผยให้เห็นว่า ในปี 2563 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในเชียงใหม่จำนวน 6,007,763 คน เทียบกับปี 2562 ที่มีจำนวน 11,165,860 คน ตัวเลขที่น่าตกใจกว่านั้นคือ เชียงใหม่มีรายได้จากชาวต่างชาติที่เข้ามาเยือนในปี 2563 เพียง 7,366 ล้านบาท ลดลงจากในปี 2562 ที่มีรายได้ 43,438 ล้านบาท
โควิด-19 เป็นศัตรูตัวฉกาจของเหล่าผู้ประกอบธุรกิจสถานบันเทิง เพราะมักจะถูกสั่งปิดเป็นแห่งแรกๆ เสมอเมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งผลให้ผู้ประกอบการทางดนตรีจำนวนมากในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ กำลังดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบาก และภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ กลับไร้ซึ่งการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ
เมื่อขาดการช่วยเหลือขาดข้อมูล ก็ยากที่ธุรกิจจะเดินหน้าต่อได้
“ตอนนี้เป็นอารมณ์เหมือนรีดเลือดกับปู กลุ่มภาคธุรกิจร้านอาหารหรือบาร์ก็แย่อยู่แล้ว เศรษฐกิจไม่ดี แต่เขายังต้องจ่ายค่าเช่า” ภราดลบอกกับเราในตอนหนึ่งของการสนทนา
อย่างไรก็ตาม เขายังมีความหวังว่าสุดท้ายแล้วผู้มีอำนาจรัฐจะมองเห็น และยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการสถานบันเทิง รวมถึงคนทำงานด้านดนตรีทุกคน ให้สมกับที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศมาโดยตลอด
เขายังมีความหวัง ในวันที่เสียงดนตรีของเชียงใหม่แผ่วเบาลงเรื่อยๆ
เพียงราตรีเช่นในวันวานจะกลับมาอีกครั้ง แม้มันจะยากก็ตาม
ในช่วงที่ยังไม่สามารถเปิดบาร์ได้ ตอนนี้คุณทำอะไรอยู่บ้าง
ตอนนี้หลักๆ ผมทำอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกเป็นโปรเจ็กต์เกี่ยวกับข้าว สืบเนื่องมาจากที่เราทำเรื่องระดมข้าวให้กับชุมชนและแคมป์ผู้อพยพ (Internally Displaced Person: IDP) ทำให้เรารู้ว่าข้าวสารไทยราคาถูกมาก เลยคิดว่าถ้าจะระดมข้าวต่อไปคงไม่เวิร์ก น่าจะทำเรื่องปลูกและเพิ่มมูลค่าของข้าวให้กับเกษตรกรร่วมกับชุมชนดีกว่า เลยได้มาทำโปรเจ็กต์เกี่ยวกับข้าว แล้วก็ทำนวัตกรรมอาหาร จนกลายเป็นแบรนด์เครื่องดื่มที่ชื่อว่า YoRice Amazake แปลตรงตัวว่าสาเกหวานที่ไม่มีแอลกอฮอล์ คนญี่ปุ่นจะเอาสิ่งที่เรียกว่า ‘โคจิ’ จากข้าว ไปทำพวกนัตโตะ มิโสะ โชยุ ถ้าใส่ยีสต์หมักต่อไปก็จะเป็นสาเก ปกติคนญี่ปุ่นใช้ข้าวญี่ปุ่นทำ แต่นอกจากเราใช้ข้าวญี่ปุ่นแล้ว เรายังใช้ข้าวกะเหรี่ยง ข้าวจากอำเภอแม่วาง อำเภอแม่แจ่ม ใช้ข้าวเหนียวสันป่าตอง ในการที่จะเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมอาหาร
อีกเรื่องเป็นงานชุมชน ผมกับเพื่อนๆ และกลุ่มภาคประชาสังคมในเชียงใหม่ เช่น กลุ่มสิทธิแรงงาน, กลุ่มเขียว สวย หอม, กลุ่มงานวิจัยคนไทย 4.0 และอื่นๆ อีกมากมายหลายกลุ่ม พวกเราพยายามที่จะรวบรวมความช่วยเหลือให้กับคนที่ตกงาน ตอนนี้ภาคแรงงานลำบากมาก ลำบากกว่าปีที่แล้วอีก คนตกงานเป็นแสน ปีที่แล้วยังมีแจกอาหาร มีครัวกลาง มีตู้ปันสุข แต่ปีนี้เศรษฐกิจไม่ดี ทุกคนก็เหนื่อยล้า การจะออกมาทำอาหารก็อันตราย รวมกันทำครัวกลางก็อันตราย แต่ว่าเราจะรวบรวมความช่วยเหลืออย่างไร ก็เลยกลายเป็นโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า ‘ครัวงาน’ ที่เอาเงินบริจาคจากการระดมทุน หรืองบประมาณของคนที่พอมีกำลังทรัพย์ มาจ้างงานชุมชน พัฒนาชุมชน ปรับปรุงภูมิทัศน์ ทำความสะอาด อยู่ที่ว่าชุมชนเขามีดำริจะทำอะไร จะลอกท่อลอกคลอง ระบายน้ำในชุมชนแออัด หรือปรับปรุงศาลาชุมชน ทำความสะอาดชุมชน จัดทำพื้นที่เกษตรกรรมเล็กๆ ของชุมชน โดยอาศัยที่ของเอกชนที่ไม่ได้ใช้งาน
ไม่เกี่ยวกับเรื่องดนตรีเลย
งานภาคประชาสังคมส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเกี่ยวกับดนตรี แต่เรื่องข้าวอาจจะมีเรื่องของดนตรีเข้ามาซัพพอร์ต เพราะเรื่องวัฒนธรรมข้าวกับดนตรีพื้นบ้านมันมีความสัมพันธ์กันอยู่ มันมีกลไกอยู่ในนั้น คิดไว้เหมือนกัน แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะทำออกมาอย่างไรดี จะเป็นดนตรีแจ๊ซหรือทำบาร์ ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้
ย้อนกลับไปช่วงก่อนมีโควิด-19 บรรยากาศของธุรกิจดนตรีเชียงใหม่ โดยเฉพาะที่ร้านนอร์ทเกตเป็นอย่างไร
คึกคักมาก เพราะธุรกิจบันเทิงสัมพันธ์โดยตรงกับธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของรัฐ เรียกว่ารายได้ของธุรกิจท่องเที่ยวในภาพรวมก็เท่ากับงบประมาณของรัฐเลย อย่างที่บาร์นอร์ทเกตของเราก็จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะมาก ชาวเกาหลี ชาวญี่ปุ่น ชาวยุโรป มาจากทั่วโลก ก่อนหน้าจะมีโควิด เราก็ขยายบาร์ไปชั้นสี่ มีการเปิดพื้นที่ทางดนตรีขึ้นมาใหม่คือ ท่าแพอีสต์ (Thapae East) ที่เราอยากจะขยายส่วนความเป็นไปได้ทางดนตรีที่ไม่ใช่เฉพาะดนตรีแจ๊ซ ซึ่งเราคิดว่ามันสำคัญ รวมถึงมีเทศกาล Chiang Mai Street Jazz ที่เราช่วยกันทำ
ที่ผ่านมา เรามีอุดมการณ์ทางด้านดนตรี เราเชื่อว่าดนตรี ศิลปะจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ช่วยยกระดับทั้งจิตใจของผู้เล่นและผู้ฟังได้ ซึ่งเราก็ช่วยกันผลักดัน
ธุรกิจดนตรีในเชียงใหม่ดึงเม็ดเงินเข้าเมืองมากขนาดไหน
ถ้าถามผม ผมจะตอบว่ามาก เชียงใหม่นับว่าเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมดนตรีสด (Live Music) ที่มากที่สุดเมืองหนึ่ง มีมหาวิทยาลัยทางดนตรี มีต้นทุนทางดนตรี เวลาเราพูดถึงดนตรีเราพูดถึงในภาพรวม ไม่ใช่เฉพาะดนตรีแจ๊ซ มันมีดนตรีพื้นถิ่นดั้งเดิมที่ไม่ใช่เฉพาะดนตรีล้านนา มีดนตรีของพม่า มีดนตรีของพี่น้องชาวไทใหญ่ พี่น้องชาวปกาเกอะญอ พี่น้องอาข่า พี่น้องลาหู่ พี่น้องกลุ่มชาติพันธ์เหล่านี้มีดนตรีหมด แล้วดนตรีก็ไปสัมพันธ์กับทุกเทศกาล มันอยู่ในปฏิทินชุมชน เป็นวิถีชีวิต เช่น ถ้าเราไปดูพี่น้องชาวปกาเกอะญอ พี่น้องกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง เขาใช้ดนตรีในการให้ความรู้ ส่งต่อภาษา ความเชื่อ ความคิด มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมหลักในชีวิตเขา
ผมคิดว่าดนตรีทำให้เมืองเชียงใหม่อ่อนนุ่ม ทำให้เมืองเชียงใหม่เต็มไปด้วยความรู้สึก มันไม่ใช่แค่ข้อมูล แต่มันผสมผสานกับองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น ถ้าพูดถึงเชียงใหม่ก็ต้องพูดถึงเรื่องของอาหาร ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่เป็นผลพวงที่เชื่อมต่อกันอยู่ ซึ่งช่วยเติมเต็มและทำให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้นในเมืองนี้
พอโควิด-19 เริ่มระบาดระลอกแรกและระลอกสองในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งกระทบกับบาร์นอร์ทเกตอย่างไร
ตอนระลอกแรกก็มีการล็อกดาวน์ทันทีทันใด มันสร้างแรงสะเทือนมาก แต่ว่าทุกคนก็ต่อสู้กันเต็มที่ ผมเชื่อว่าภาคประชาชน ทุกคนในสังคม หน่วยทีมงานสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ ต่างลุกออกมาทำบางสิ่งบางอย่าง เพื่อประคับประคอง ทั้งความรู้สึก ทั้งความกังวลใจของคนในสังคม ระลอกแรกยังมีทรัพยากรที่จะเข้ามาซัพพอร์ต ที่จะเข้ามาโอบอุ้มสถานการณ์ไว้ พอมีคนที่เดินไปด้วยกัน มันก็ไม่โดดเดี่ยว คนก็พร้อมที่จะปรับตัว
แต่พอมาระลอกสอง ช่วงปีใหม่ ผมก็มองว่าคนเริ่มเข้าใจมันบ้างแล้ว ดังนั้น การปิดรอบสองเป็นเรื่องเข้าใจได้ ปิดเพื่อทุบตัวเลขคนติดเชื้อให้ลดลง เพื่อที่จะมาเปิดใหม่ แต่ประเด็นคือ ตอนระลอกแรก ด้วยความที่เรามีชุดข้อมูลเกี่ยวกับมันน้อย ทำให้เราประเมินสถานการณ์ต่ำ เวลาเรารู้บางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับคู่ต่อสู้น้อย มีข้อมูลไม่เพียงพอ เราก็จะตัดสินใจผิดพลาด ผมมีความรู้สึกว่า ถ้าเรารู้ว่าจะมีระลอกสอง ระลอกสาม เราก็จะระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ประคับประคอง สามารถวางแผนการจัดการทรัพยากรและเวลาได้ดีกว่านี้ ไม่รู้คนอื่นเป็นยังไง แต่ผมคิดไม่ถึงว่ามันจะมีระลอกที่รุนแรง
แล้วในช่วงเวลานั้น นอร์ทเกตปรับตัวอย่างไร
ตอนปิดระลอกแรก เราก็ไปลงทุนปรับทำชั้นสี่ของร้าน ไปลงทุนทำเครื่องเสียง เราคิดว่ามันเป็นจังหวะที่จะทำร้านให้ดูดีขึ้น แต่ถ้ารู้ว่าจะมีระลอกสอง ระลอกสาม ผมคงประหยัดเงินไว้ดีกว่า เราคิดว่ามันจะโอเค แต่มันไม่โอเค ผมคิดว่าประเมินสถานการณ์ได้ดีประมาณหนึ่งแล้ว แต่กลับคิดผิด
พอผ่านระลอกแรก เศรษฐกิจไม่ดีอยู่แล้ว เพราะนักท่องเที่ยวมาไม่ได้ เชียงใหม่โชคร้ายที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นควันอีก ระลอกแรกที่ปิดตรงกับช่วงปัญหาฝุ่นควัน นักท่องเที่ยวหรือแบ็กแพ็กส่วนใหญ่เขาก็จะลงใต้ หรือย้ายไปถิ่นฐานอื่นเพื่อหลบปัญหาเรื่องฝุ่นควัน พอฝุ่นมันหมด เขาก็ไม่มีโอกาสจะเดินทางกลับมาแล้ว เพราะมันติดขัดเรื่องการบิน มีการหยุดบิน แต่ผมก็ยังดีใจที่กลุ่มผู้ฟังคนไทยยังให้โอกาสร้านเรา
ในแง่การปรับตัว ตอนระลอกแรกบอกตรงๆ ว่าเราต้องลดค่าจ้างของนักดนตรีลง ต้องช่วยกัน เพราะนักดนตรีนอร์ทเกตเป็นวงใหญ่ หลายวงมีนักดนตรี 8-9 คน เบรกแรกก็ปรับเป็นการเล่นแบบอะคูสติกเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง แต่มันก็ยังไม่สัมพันธ์กัน คือข้อมูลที่ไม่เพียงพอมีผลมากในการตัดสินใจ
ส่วนระลอกสอง เราคิดว่าไม่มีล็อกดาวน์ เดี๋ยวจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อคงลดลง แต่เชียงใหม่ก็สะเทือนจากคลัสเตอร์นิมมานฯ คนเลยไม่กล้าเที่ยว ก็เริ่มจะถดถอยไปอีก ตอนนั้นเป็นจังหวะปีใหม่พอดี เป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังจะผลักดัน เทศกาลกำลังจะมา กำลังใจหายไปเยอะ แต่เราก็เชื่อมั่น มองโลกในแง่ดี อาจจะด้วยสเกลของร้านนอร์ทเกตที่ไม่ได้ใหญ่มาก ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหรือค่าบำรุงต่างๆ แต่ก็ค่อนข้างสะเทือน ความรู้สึกนี้ผมว่ามันสัมพันธ์กับทุกคนในสังคม การได้เห็นเศรษฐกิจถดถอย หลายร้านของพี่ๆ น้องๆ ต้องปิดไป มันเจ็บปวด เวลาร้านปิดไปแล้วจะฟื้นใหม่ก็ยาก
พอมาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อเจอกับระลอกสามเป็นอย่างไรบ้าง
รอบสามนี่เหี้ยสุดๆ (หัวเราะ) ระยำเลย รอบสามมันรุนแรง น่ากลัว คือไม่ต้องล็อกดาวน์แล้ว เพราะคนกลัวตาย คนเลยล็อกดาวน์กันเอง ที่ผ่านมารัฐก็มีคำสั่งล็อกดาวน์ มาตรการนู่นนี่นั่น แต่รอบสามไม่ต้องแล้ว ขนาดตลาดยังจะวาย ทุกอย่างก็เงียบ แล้วก็เหมือนเดิม เรามีข้อมูลไม่เพียงพอในการตัดสินใจ ผมไม่อยากจะบอกว่ารัฐไม่จริงใจนะ แต่พอข้อมูลไม่เพียงพอ ทำให้เราเตรียมตัวได้ไม่ดี สำหรับภาคธุรกิจมันพูดยาก
คุณถึงกับประกาศขายสินค้าในร้าน รวมถึงเครื่องดนตรีคู่ใจอย่างแซ็กโซโฟน
ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องขาย แต่เวลาคุณมีปัญหา คุณก็จะต้องวางแผนจะแก้ไข ซึ่งก็ต้องมีลำดับขั้นตอน ฉะนั้น ลำดับขั้นตอนพวกนี้คุณต้องอาศัยข้อมูลกับความรู้ส่วนหนึ่ง ต้องใช้ทรัพยากรกับเวลา การที่เราขาดทรัพยากร เราก็ต้องดูว่ามีทรัพยากรอะไรสามารถมาเป็นทุนได้ก็ต้องใช้ อย่างที่บอกคือ นอร์ทเกตเป็นร้านเล็กๆ แต่การทำธุรกิจบาร์เป็นการหมุนเงิน เวลาคุณสั่งของ 15 วันจ่าย แต่เวลามันปิด ยอดที่มันทบกลับไปในอีก 15 วันย้อนหลังมันเยอะนะ อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง อีกส่วนคือการต้องเอาเงินทุนที่ไม่สมควรใช้ตอนนี้มาใช้ มันผิดพลาดไปหมด
บางคนอาจไม่รู้ว่าคนทำธุรกิจบาร์จะมีรายได้ส่วนใหญ่จากการขายเครื่องดื่มหรืออาหารใช่ไหม
ใช่ แต่นอร์ทเกตเลือกที่จะไม่ขายอาหาร มันมีกำไรส่วนของอาหารกับเครื่องดื่ม แต่พอเราตัดอาหารออกไป กำไรส่วนนี้ก็จะหายไป แต่สิ่งที่เราได้มาคือ พลังงานของการโฟกัส การมีส่วนร่วม จากการที่คนจะได้ฟังดนตรีโดยที่ไม่ต้องก้มกิน ผมอาจจะคิดถูกหรือผิดก็ได้ แต่ผมคิดแบบนักดนตรีมากกว่าคิดแบบคนทำธุรกิจร้านอาหารหรือบาร์ ผมคิดว่าทำอย่างไรให้บรรยากาศร้านดึงพลังงานของผู้คนให้ได้มากที่สุด นักดนตรีจะมีพลังงานได้ก็ต้องการพลังงานของผู้ฟังที่มีส่วนร่วม สายตาของเขา ความรู้สึกของเขา พอนักดนตรีเล่นแล้วรู้สึกมีพลัง ผู้ฟังก็จะตื่น ตาสว่าง ผู้ฟังเองก็จะยกระดับจิตใจขึ้นไป ผมมีความเชื่อในปรากฏการณ์แบบนั้น ก็เลยตัดสินใจว่าไม่ขายอาหาร แต่ไม่แน่ว่าอาจจะต้องมีแล้วมั้ง (หัวเราะ)
ถือเป็นการปักธงแต่แรกที่คุณเริ่มทำร้านเลยใช่ไหม ว่าจะลงทุนร้านแบบสายตาและความคิดของนักดนตรีมากกว่านักธุรกิจ
ใช่ ตอนนั้นผมคิดแบบนั้น แต่ถ้ามองมุมใหม่มันก็มีทางออกอื่นๆ เช่น ช่วงหกโมงเย็นถึงหนึ่งทุ่มครึ่งเรามีอาหาร มีสแน็ก พอสองทุ่มเราก็ปิดครัว เป็นดนตรีล้วน มันมีทางเลือกหลายอย่าง อันนี้เป็นความคิด แต่ในความเป็นจริงโควิดยังอยู่ (หัวเราะ) ผมว่าธุรกิจบาร์และร้านอาหารน่าจะซบเซาไปอีกนาน
มุมคนทำธุรกิจบาร์ มีอะไรต้องแบกรับที่คนภายนอกอาจไม่รู้บ้างไหม
มีเรื่องของค่าเช่า ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาร้านทั้งหมด เครื่องเสียง อุปกรณ์ เวลามันเสียค่าซ่อมแพงมาก เอาแบบนี้ดีกว่า การซ่อมแซ็กโซโฟนดีๆ ครั้งละเป็นหมื่นนะ แต่ความจริงแล้วต้นทุนของการที่จะรันบาร์นอร์ทเกต ผมว่าไม่เท่าไหร่ เพราะเราไม่ได้ทำให้ร้านแพง เราทำให้ร้านรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ คุณก็เห็นว่าโต๊ะ เก้าอี้ มันเคลื่อนย้ายตรงไหนก็ได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไป แต่ว่าค่าไฟก็สูงเหมือนกัน เพราะมีการใช้เครื่องไฟฟ้าเยอะ บาร์ชั้นสี่ที่ทำใหม่ก็มีแอร์ รวมถึงมีเรื่องของการหมุนเงิน
ความจริงไม่มีอะไรลึกลับ นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายในการจ่ายนักดนตรี อย่างสมัยก่อนเรามีวงใหญ่ๆ ระดับ 10-15 คน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ว่าเป็นการลงทุนในเรื่องศิลปะ ผมเชื่อว่าถ้าเราอยาก Keep environment หรือบรรยากาศทางดนตรีให้หลากหลาย เราก็ต้องลงทุนในเรื่องของคน
กำไรก็สำคัญ แต่ว่าสิ่งที่นอร์ทเกตต้องการกลับมาอาจไม่ใช่ตัวเงินอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของผู้คนหรือบรรยากาศ
กำไรในเรื่องตัวเงินมันตรงไปตรงมาอยู่แล้ว แต่การที่เราจะเอากำไรไปลงทุนกับการทำเทศกาล ทำไมเราต้องลงทุนทำ เราไม่ได้กำไรเลยนะ เราเสียทั้งเวลา ทั้งทรัพยากร แต่ว่ามันทำให้บรรยากาศหรือสังคมทางดนตรีขยับไปข้างหน้า และเป็นการเพิ่มทักษะความรู้ความสามารถ เป็นความสัมพันธ์ของชุมชนดนตรี ที่จะทำให้เราอยู่ในสังคมเชียงใหม่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ
การที่เราทำกิจกรรมต่างๆ เชื่อมั่นในดนตรี ลงทุนในดนตรี ก่อให้เกิดบรรยากาศของการร่วมทุกข์ร่วมสุข รักกัน ทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน เห็นหัวใจกัน เชื่อมั่นในกันและกัน ทำให้สังคมดนตรีสัมพันธ์กัน พอสัมพันธ์กันก็จะเกิดรูปร่างที่แข็งแรง ทำให้สังคมดนตรีอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย บรรยากาศปลอดภัยที่จะมาแชร์กัน มีองค์ความรู้อะไรเราก็จัดเวิร์กช็อปกัน ทำให้เราพยายามไปข้างหน้าด้วยกัน
อย่างที่เราทราบกันดีว่า ธุรกิจสถานบันเทิงมักเป็นกลุ่มแรกๆ ที่โดนสั่งปิดเมื่อมีการแพร่ระบาด คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
โควิด-19 เป็นโรคระบาดเกี่ยวกับทางเดินหายใจ มันได้รับการพิสูจน์ซ้ำๆ แล้วว่าอย่าไปอยู่ในพื้นที่ปิดหรือแออัด อย่าไปอยู่ในบ่อน อย่าไปอยู่ซ่อง อย่าไปอยู่ที่ที่ต้องมีการสัมผัสกัน ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม มันเป็น fact ที่ชัดเจนมาก
ในมุมหนึ่งถือว่าเข้าใจได้ แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไร เนื่องจากมันเป็นธุรกิจบันเทิง เป็นธุรกิจที่สัมพันธ์กับการท่องเที่ยว มีผู้คนจำนวนมาก ภาคแรงงานจำนวนมาก มีการลงทุนในธุรกิจการบันเทิงมหาศาลในยุคสมัยที่ผ่านมา พอไปไม่ได้ รัฐจะเยียวยาอย่างไร
แล้วภาครัฐเคยมีมาตรการการเยียวยาให้ผู้ประกอบการธุรกิจสถานบันเทิงไหม
ช่วงที่ผ่านมารัฐก็มีการแจกกันไปหลายรอบ ผมจำชื่อแคมเปญต่างๆ ไม่ได้ ถ้าเป็นภาคแรงงานปกติก็จะมีประกันสังคม พรบ. มาตรา 33 ที่ต้องมีการจ่ายชดเชยเยียวยา ซึ่งก็ถูกจ่ายให้กับคนที่มีการลงทะเบียน แต่ว่ากลุ่มนักดนตรีจำนวนมากจะไม่ได้มีประกันสังคม เพราะเขาไม่ได้ลงทะเบียนที่ไหนประจำ อาจมีส่วนน้อยที่มีประกันสังคม ทำให้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากส่วนนี้ และเป็นส่วนที่ตกหล่นไป เราจะเยียวยาพวกเขาได้อย่างไร รัฐควรจะไปไล่เก็บให้หมด เพราะเขาก็เป็นคนทำงานคนหนึ่งที่ควรจะได้รับเงินเยียวยา ที่ผ่านมาจ่ายไปหมื่นห้า รอบนี้อีกสองพัน ครั้งนี้คนเหล่านี้ก็ควรจะได้หมื่นเจ็ดเท่ากับทุกๆ คน เพราะมันคือความเท่าเทียม
อย่างธุรกิจโรงแรม ที่ผ่านมามีมาตรการโกดังพักหนี้ (Asset warehousing) ที่พักหนี้ให้โรงแรม มีกลไกโอนทรัพย์สินขายให้กับแบงก์ แล้วสุดท้ายให้ซื้อกิจการตัวเองคืนมาได้ แต่ว่าธุรกิจสถานบันเทิงไม่มีนโยบายอะไรเลย วนกลับมาที่เรื่องแรก ตัวรัฐเองก็ไม่มีเงิน กระเป๋าก็คงจะขาด ผมก็ไม่ทราบนะว่าเขาเอาเงินไปลงที่ไหน แต่พอรัฐไม่มีเงิน ก็ไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอะไร
พอไม่มีการเยียวยา มันส่งผลอะไรกับคนทำธุรกิจบาร์มากที่สุด
ผมบอกได้เลยว่าตอนนี้ เรื่องค่าเช่าสถานที่ของคนทำธุรกิจบาร์มีผลมาก เพราะมันเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนคงที่ (fixed cost) ซึ่งรัฐจะมาช่วยค่าเช่าได้หรือไม่ อย่างไร ผมไม่แน่ใจ แต่ถ้ารัฐจะมีความสามารถเข้าไปช่วยต่อรองให้กับผู้ให้เช่าว่าจะลดภาระเรื่องของค่าเช่าลงอย่างไร ช่วยครึ่งหนึ่งได้ไหม ตอนนี้เป็นอารมณ์เหมือนรีดเลือดกับปู กลุ่มภาคธุรกิจร้านอาหารหรือผับบาร์ก็แย่อยู่แล้ว เศรษฐกิจไม่ดี แต่เขายังต้องจ่ายค่าเช่า เชียงใหม่ถือว่าหนักประมาณหนึ่ง ถ้าเป็นโซนในเมืองอย่างเช่นนิมมานฯ ค่าใช้จ่ายก็สูง แต่กรุงเทพฯ ผมนึกไม่ออกเลย มันเสียหายมหาศาล ตอนนี้บางคนก็หักเงินมัดจำไปก่อน สามเดือน หนึ่งเดือน แต่สุดท้ายก็จะไม่ไหว การที่คุณย้ายของออกไป แล้วคุณจะย้ายกลับมาใหม่ มาเริ่มต้นใหม่ มันเหนื่อยมาก
ฉะนั้น รัฐจะต้องหาวิธีเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มนักดนตรีที่ตกหล่นให้เท่าเทียมกับคนอื่น ธุรกิจโรงแรมมีการพักหนี้ ธุรกิจบาร์ ธุรกิจดนตรี เราก็อยากขอให้รัฐมาช่วยค่าเช่ากับเรื่องของภาษี เช่น ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีทรัพย์สิน ปีที่แล้วมีการช่วยสิบเปอร์เซ็นต์ ปีนี้ไม่รู้ช่วยอย่างไร ซึ่งก็ควรจะต้องช่วย
การเยียวยาอาจไม่เพียงพอและไม่ชัดเจน คุณรู้สึกโกรธภาครัฐบ้างไหม
ถ้าผมจะโกรธ ผมอาจจะโกรธเรื่องบ่อน กี่ครั้งแล้วที่เกิดเรื่องจากบ่อนการพนัน ผมไม่รู้ว่ารัฐเขาดูแลบ่อนหรือเปล่า ถ้าเขาไม่ได้เป็นผู้ดูแล ผมก็ขอโทษด้วย แต่บ่อนการพนัน ซ่องผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ ที่รัฐต้องทำงาน แต่รัฐคอร์รัปชัน แล้วก็เอาเชื้อโรคเข้ามาเอง ผมว่าคงจะต้องมีการคุยเรื่องนี้ กี่ครั้งแล้วที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าคงจะต้องเกิดอีก มันไม่ใช่ครั้งเดียว มันมีครั้งที่สอง มีครั้งที่สาม ถ้าจะโกรธคงโกรธเรื่องนี้ เพราะภาคประชาชนก็เหนื่อย ไม่ใช่แค่เหนื่อย เรียกว่าจะตายดีกว่า
คุณมีโอกาสได้คุยกับนักดนตรีหรือผู้ประกอบการธุรกิจบาร์คนอื่นๆ บ้างไหม
ผมไม่ได้คุยกับกลุ่มที่ทำบาร์ เพราะตอนปิดโควิดรอบหลัง ผมเอาเวลาไปเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันภาคประชาสังคมเกี่ยวกับเรื่องข้าว ความจริงผมก็อยากจะถามกลุ่มเพื่อนๆ ที่ทำบาร์เหมือนกันว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่ผมก็จินตนาการได้ว่าทุกคนน่าจะรู้สึกไม่ได้ต่างกันว่า ถึงแม้เชียงใหม่ ตัวเลขคนติดเชื้อจะลดลง รัฐอาจจะเริ่มให้เปิดร้านสิ้นเดือน แต่กรุงเทพฯ ก็ยังหนักมาก ซึ่งเอาเข้าจริงผมก็ยังไม่มั่นใจ อย่างที่ผมพูดตอนต้น เราไม่มีตัวเลขที่แท้จริง เราไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน มันประเมินไม่ได้ ถ้าหากรัฐไม่ได้ให้ข้อมูลที่แท้จริง ภาคเอกชนประเมินอะไรยากมาก ถ้ารัฐบอกว่าวันนี้ตัวเลขคนติดเชื้อแค่ 300 แต่ความจริงคือ 900 ผมจะประเมินอะไรได้ในอนาคต ผมว่าความจริงใจเรื่องข้อมูลอาจทำให้คนแพนิคก็จริง แต่คนจะรับได้ เพราะมันต้องมีเหตุและผลในการตัดสินใจ ถ้าข้อมูลไม่เพียงพอคุณจะตัดสินใจอะไรได้
คุณพูดถึงเรื่องข้อมูลหลายครั้ง มันมีความสำคัญอย่างไรในมุมคนทำธุรกิจบาร์
ข้อมูลทำให้เราเตรียมตัวกับเรื่องต่างๆ ได้ถูกจุด เช่น การให้ข้อมูลเรื่องคนติดเชื้อ เพื่อที่จะได้รู้ว่าตอนนี้มีคนติดเชื้อสามร้อย เขาอาจจะเอาเงินที่มีมาลงทุน แต่ถ้าคุณบอกเก้าร้อย เขาอาจจะประหยัดลงครึ่งหนึ่ง ธุรกิจที่ไม่มีข้อมูลจะยิ่งเละในภาพใหญ่ การตัดสินใจของภาคเอกชนตัวเล็กๆ ก็จะไม่สัมพันธ์กัน เพราะข้อมูลผิดหมด ฉะนั้น รัฐต้องจริงใจเรื่องข้อมูล เพราะมันจะสัมพันธ์กับการตัดสินใจของภาคเอกชนและธุรกิจ
เมื่อรัฐไม่ได้มองว่าการเยียวยาภาคธุรกิจบันเทิงและดนตรีเป็นเรื่องเร่งด่วน มันสะท้อนมุมมองของรัฐที่มีต่อกลุ่มนี้อย่างไร
ผมว่าเขาไม่ได้มอง ปัญหาไม่ใช่ว่าเขามองอย่างไร แต่เขามองไม่เห็น เขาไม่ได้มองกลุ่มดนตรีเป็นกลุ่มหลักที่เขาจะไปลงทุน เขาไม่ได้เหมือนเกาหลีใต้มอง BTS มองแบล็กพิงก์ เขาไม่ได้มองการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ในการขับเคลื่อนประเทศ เขามองเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เออีซี เรื่องการส่งออก เรื่องของภาคการเกษตร เขาไม่ได้คิดว่าเรื่องดนตรีเป็นนโยบายของเขา เขาคงคิดว่าเราเป็นคนกลุ่มน้อย เมื่อเทียบกับภาคเกษตร เทียบกับภาคการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือเรื่องของสาธารณูปโภคพื้นฐาน การลงทุนในไฟฟ้า พลังงาน
เขามองเราเป็นแค่ความบันเทิง เขาไม่ได้เห็นว่าเทศกาลดนตรี Java Jazz ผลักดันเศรษฐกิจให้อินโดนีเซียครั้งหนึ่งเท่าไหร่ ทั้งเรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ให้กับเด็กอินโดฯ นักดนตรีอินโดฯ เขาส่งออกนักดนตรีระดับโลก เขามีเด็กอายุ 7 ขวบ 10 ขวบ มาร้องโซโล่ของ ชิค คอเรีย (Armando Anthony Corea) ได้ แต่ภาครัฐของเราไม่ได้เห็นว่าเรื่องดนตรีมันสัมพันธ์กับเรื่องการศึกษา เรื่องเศรษฐกิจ จึงไม่คิดจะลงทุน
ทำไมเวลาไปเกาหลี เราเห็นโรงละครทุกหัวมุมถนนให้คนมาเพอร์ฟอร์ม ให้คนมาเขียนบทละคร ให้คนมาเต้น ให้คนมาร้องเพลง พอภาครัฐบ้านเราไม่ได้มองเรื่องพวกนี้ เราจึงไม่ได้อยู่ในสายตาของภาครัฐ มันก็ไม่มีการลงทะเบียนนักดนตรี ไม่ได้มีกลไกมาสนับสนุน นักดนตรีก็หาวิธีที่จะรวมตัวกันเอง จัดตั้งกลุ่ม สมาคมกันเอง มีกองทุนกันเอง ต่อสู้กันไป เราพยายามจะผลักดันเชียงใหม่เป็นเมืองดนตรีมานานแค่ไหน แต่นักดนตรียังต้องเอาเครื่องดนตรีมาขายเลย จะถามว่าเจ็บปวดไหม ก็เจ็บปวด จะถามว่าเข้าใจไหม ก็เข้าใจ
หากยังไม่มีการเยียวยา ในอนาคตมีแนวโน้มที่คนทำธุรกิจบาร์จะหายไปจากเชียงใหม่ไหม
ถึงไม่เป็น worst case มันก็จะหายไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งมีวัคซีน โรคหายไป ถึงก็จะค่อยๆ กลับมา คือเมล็ดพันธุ์ทางความคิดหรือว่าความรู้ความสามารถของคนมันไม่ได้หายไปไหน แต่ก็เหมือนต้นไม้ พอไม่มีน้ำก็แห้งตาย แต่เมล็ดก็ยังตกอยู่ พอมีน้ำก็จะฟื้นขึ้นมาใหม่ แต่ว่าจะใช้เวลาให้มันเติบโตเท่าเดิม ก็จะเหมือนปลูกต้นไม้ใหม่ตั้งแต่เมล็ด ความจริงแล้วเรามีต้นไม้เดิมที่ใหญ่อยู่แล้ว แต่เราไม่มีน้ำไปเลี้ยงให้มันรอด มันก็จะแกร็นและตายไปทีละต้น
โควิดทำให้ธุรกิจบาร์หรือนักดนตรีไม่มั่นคงอย่างเห็นได้ชัด ในมุมของคุณ การทำธุรกิจบาร์หรือเป็นนักดนตรียุคนี้มีความเสี่ยงอย่างไร
ไม่ใช่ความเสี่ยง แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำตอนนี้ เพราะมีระลอกสามก็จะมีระลอกสี่ ระลอกห้า ยิ่งเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งคนมาเที่ยว ไม่ใช่ธุรกิจบันเทิงอย่างเดียว แต่รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจที่ต้องเอาคนมารวมกัน มันไปไม่ได้
คุณคิดว่ารูปแบบการทำบาร์จะเปลี่ยนไปอย่างไรในอนาคต หากสถานการณ์เริ่มดีขึ้น
คำว่าคลับ ถ้าแปลตรงตัวคือสมาคม ถ้านึกถึงคำว่าสมาคม ก็คือการที่เอาคนมารวมกันเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนความสนใจ แลกเปลี่ยนทรัพยากรความคิด เพื่อหาทิศทางของกลุ่ม เช่น สมาคมคนชอบขี่ม้า สมาคมคนชอบตีกอล์ฟ สารพัดสมาคม แต่ถ้าเรายังเอาคนมารวมกันไม่ได้เวลานี้ ก็คงต้องเป็นเรื่องของออนไลน์ ผมก็เห็นมีนักดนตรีพยายามแจมดนตรีกันสดๆ ด้วยโปรแกรม real time คืออยู่คนละที่ แต่คุณแจมกันสดๆ ได้ มันก็เป็นเทคโนโลยีที่จะมาซัพพอร์ต มันถึงเกิด Zoom หรือ Clubhouse เป็นคลับแต่อยู่ในบ้าน คุณไม่ต้องออกไปนอกบ้าน คุณก็ยังมีคลับ คุยกันได้ทุกเรื่อง แลกเปลี่ยนทรัพยากรกันได้
แต่ถ้าเป็นเรื่องของบาร์ ผมว่าน่าจะอีกนาน แต่อย่างที่บอก มันได้รับการพิสูจน์แล้วว่า การแพร่ระบาดเกิดจากบาร์ เพราะฉะนั้น การที่จะเปิดบาร์แล้วคนจะกลับมาเป็นไปได้ยาก การที่คุณจะมาชนเครื่องดื่ม คุยกัน มีเสียงเพลงดังๆ อาจจะหมดยุคสมัยไปพักใหญ่จนกว่าจะมีวัคซีน
แล้วคุณมองอนาคตของนอร์ทเกตไว้อย่างไร
ร้านนอร์ทเกตอาจไม่ไหวก็ได้ อาจต้องปิดไปเลย แต่เรามีความทรงจำร่วมกันจำนวนมากกับผู้คนในสังคม สมมติว่าแค่จะจ่ายค่าเช่า ผมเชื่อว่าคนก็พร้อมจะช่วยเพื่อให้ร้านไปต่อ นอร์ทเกตเป็น physical space ซึ่งผมรู้สึกดีใจที่เพื่อนๆ จากทั่วโลกเห็นความสำคัญ ทุกคนพร้อมช่วยซัพพอร์ตเพื่อให้ร้านเป็นอนุสรณ์อยู่อย่างนั้น ไม่ต้องมีดนตรีก็ได้ แค่ยังมีอยู่ก็พอ มันทำให้ผมขนลุกเวลาได้รับข้อความแบบนี้
ฉะนั้น วันหนึ่งนอร์ทเกตอาจจะต้องเริ่มทำเรื่องการไลฟ์ แล้วหาเงินมาให้นักดนตรีก็เป็นได้
Fact Box
‘ปอ’ - ภราดล พรอำนวย เป็นชาวเชียงใหม่ที่เติบโตมากับเสียงดนตรี เป็นนักดนตรีแซ็กโซโฟนที่มีชื่อเสียง และเป็นเจ้าของร้านนอร์ทเกต (North Gate Jazz Co-Op) บาร์แจ๊ซชื่อดังแห่งเชียงใหม่ นอกจากบทบาทนักดนตรีและผู้ประกอบการบาร์ เขายังเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน