หากใครทันฟังเพลงในยุคแฟตเรดิโอ (Fat Radio) คงจำชื่อ ป๊อก Stylish Nonsense หรือป๊อก-วรรณฤต พงศ์ประยูร ได้ขึ้นใจ เพราะด้วยแนวเพลงแปลกหู กับสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร จึงกลายเป็นที่จดจำของเหล่าแฟนเพลง แม้ห่างหายจากหน้าสื่อไปบ้าง แต่เชื่อว่า เพลงของ Stylish Nonsense ไม่เคยถูกลบออกจากเพลย์ลิสต์ของใครหลายคน

วันนี้ป๊อกเพิ่มบทบาทใหม่ในชีวิตที่มากกว่าการเป็นนักดนตรี คือการเปิดไลฟ์เฮาส์ (Live House) ชื่อว่า Noise House ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน คือ เฟิร์น-อทิตยาภรณ์ หมื่นน้อย และอาร์ต-ธีรวัชร์ อุกฤษณ์ เป็นกิจการเล็กๆ เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักดนตรีเข้ามาทำการแสดงที่นี่

ในช่วงเวลาหลังที่เพิ่งกลับมาจากทัวร์เล่นดนตรีที่ยุโรป The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยกับเขา ถึงเหตุผลที่ตัดสินใจทำไลฟ์เฮาส์เล็กๆ ที่ทาวน์เฮาส์ในซอยลาดพร้าว 101 ท่ามกลางสถานการณ์ของวงดนตรีอินดี้ในยุคปัจจุบัน รวมถึงอัปเดตชีวิตและประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมาจากการเดินทาง ตระเวนเล่นดนตรีหลายเมืองในยุโรป

หลายคนอาจเคยฟังอัลบั้มของป๊อกในฐานะศิลปินเดี่ยวชื่อว่า My Post Life ที่มีเพลงอย่างเลิกปฏิวัติ, ฉันหวังจะกลับไปเป็นโลกใบนี้ และขอเหลือแต่ตัวเปล่า จะเห็นว่าบุคลิกและทัศนคติของป๊อกในสมัยนั้นห่างไกลจากคำว่านักธุรกิจโดยสิ้นเชิง กระทั่งวันนี้ เขาสารภาพว่า ความจริงแล้วไม่เคยคิดจะมีกิจการอะไรเป็นของตนเองเลย 

“ความจริงไม่ได้คิดจะทำไลฟ์เฮาส์ เพราะการที่เราต้องเป็นเจ้าของกิจการ หรือมีสิ่งที่ต้องดูแล เช่น มีบ้าน มีรถ มีธุรกิจ มันเป็นการเพิ่มภาระ และเราไม่ได้เป็นคนแบบนั้น” ป๊อกกล่าว

แม้การทำไลฟ์เฮาส์ไม่ได้อยู่ในความคิด แต่ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการหาพื้นที่เล่นดนตรีให้ศิลปินอินดี้หลายคราว โดยเฉพาะไอเดียของงาน Bangkok Street Noise งานดนตรีที่จัดในพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนได้เข้ามาร่วมชมดนตรีและสนับสนุนศิลปิน โดยมีจุดเริ่มต้นในช่วงโควิด-19 ทำให้นักดนตรีไม่มีสถานที่ให้เล่นดนตรี เขาจึงคิดหาวิธีที่ทำให้ศิลปินมีโอกาสได้เล่นบ่อยขึ้น และได้รับค่าตอบแทนกลับบ้านด้วย

“Bangkok Street Noise เป็นงานอาสาสมัคร เราลองให้คนมาบริจาคเงินให้นักดนตรีตามความชอบ แต่มันก็ไม่ค่อยเห็นผล เพราะว่ามันเป็นที่สาธารณะ แล้วส่วนใหญ่คนที่บริจาคให้เขาก็เป็นเพื่อนๆ นักดนตรีด้วยกัน แต่เราก็อยากให้สังคมภาคส่วนอื่นมีส่วนร่วมบ้าง อย่างนักดนตรีเขาแบ่งปันศิลปะ แบ่งปันความสุขทางใจให้ผู้คน เขาก็ควรจะได้รับค่าตอบแทน จึงคิดทำไลฟ์เฮาส์ ที่ทำให้นักดนตรีมีรายได้กลับบ้านไปสักนิดก็ยังดี ประจวบกับช่วงนั้นมีมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ สามารถเปิดกิจการได้แล้ว คนสามารถเดินเข้าบ้านเราได้”

ไลฟ์เฮาส์ในทาวน์เฮาส์

แม้จะเป็นทาวน์เฮาส์ แต่มีการแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน Noise House มีห้องคอนเสิร์ตเล็กๆ ความจุประมาณ 60-70 คน ซึ่งมีห้องเตรียมตัวของนักดนตรีเพื่อให้นักดนตรีได้ขึ้นเวทีจากข้างหลังเวที ส่วนโซนด้านนอกจะเป็นพื้นที่ให้คนได้นั่งคุยกัน

สำหรับ Noise House ป๊อกนิยามว่า เป็นพื้นที่เล็กมาก แบบดีไอวาย (DIY) เพราะนอกจากของตกแต่งในไลฟ์เฮาส์จะเป็นของดีไอวายแล้ว การทำงานของที่นี่ก็เป็นแบบดีไอวายหรือทำกันเองเช่นกัน โดย Noise House มีคอนเซปต์คือ ‘เพื่อให้วงดนตรีเล็กๆ เริ่มต้นได้’ และรวมไปถึงคนที่อยากเป็นนักจัดอีเวนต์หรือหน้าที่อื่นในการจัดคอนเสิร์ต โดยให้กลุ่มนักดนตรีบริหารจัดการกันเองในการแสดงแต่ละครั้ง และ Noise House ทำหน้าที่ขายบัตรให้ 

“เราไม่ได้มีนายทุน หรือต้องขอสปอนเซอร์ก็เลยเริ่มต้นได้เลย แต่ทุกการเริ่มต้นมันมีราคาที่ต้องจ่าย โอเค เราก็ลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด ทำกันเองให้ได้มากที่สุด เพราะพอมีระบบใหญ่เข้ามาช่วยขายตั๋ว ช่วยจัดงาน ในตอนสุดท้ายเงินจะมาถึงนักดนตรีน้อยมาก ที่นี้จึงเป็นพื้นที่ให้ ‘นักดนตรีซูเปอร์อินดี้อันเดอร์กราวนด์’ จริงๆ ได้มาทำกัน” ป๊อกกล่าว

แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่ความจริงวงดนตรีที่มีชื่อเสียงแล้วพอสมควรก็มาเล่นที่ Noise House เช่นกัน เพราะเจ้าของต้องการให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างศิลปินดังกับศิลปินหน้าใหม่ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน และกลายเป็นคอมมูนิตี้

“จริงๆ อยากให้เชื่อมโยงกัน เพราะถ้าวงดนตรีที่มีชื่อเสียงแล้วไม่มาเชื่อมต่อกับตรงนี้ มันก็จะไม่สามารถสร้างซีนได้ อย่างต่างประเทศ สถานที่แบบนี้วงดังระดับโลกก็เล่น เพราะว่าเขาต้องเดินทางไปเล่นทุกเมือง แต่ประเทศไทยเรามีแค่ไม่กี่จังหวัดที่พอมีที่ให้เล่นแบบนี้ และส่วนใหญ่จะเป็นแนวร้านสังสรรค์ แต่ก็ดีกว่าสมัยก่อน ที่คนไทยยังคิดว่าคอนเสิร์ตคือต้องดูฟรีเท่านั้น ร้านเหล้าเข้าไปแล้วมีวงดนตรีแล้ว ไม่มีใครต้องซื้อบัตรเลย แล้วฟรีคอนเสิร์ตก็เยอะ กว่าจะมาถึงวันนี้มันก็เปลี่ยนไปเยอะ คนเริ่มเข้าใจแล้วก็เริ่มซื้อบัตรคอนเสิร์ต” ป๊อกเล่า

หากเราเลือกทำธุรกิจอะไรสักอย่าง แน่นอนว่าต้องเลือกทำเลที่มีผู้คนพลุกพล่าน เดินทางสะดวก โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดนตรีดำเนินกิจการยามค่ำคืน แต่ Noise House อยู่ในซอยลาดพร้าว 101 ซึ่งไม่ใช่ทำเลทองสำหรับธุรกิจประเภทนี้ เมื่อถามว่า ทำไมต้องเป็นย่านนี้ เขาตอบอย่างเรียบง่ายว่า ใกล้บ้าน เพราะเขายังต้องดูแลลูกสาว ไม่เพียงแค่ทำเล แต่ Noise House ยังแวดล้อมด้วยบ้านคนเสียอย่างนั้น หากหลงเดินเข้ามาในตอนกลางวันคงดูไม่ออกว่า หลังประตูกระจกของทาวน์เฮาส์คูหานี้จะเป็นสถานที่เล่นดนตรียามกลางคืน ที่ต้องใช้คำว่าเดินหลง เพราะไลฟ์เฮาส์แห่งนี้ต้องเดินเข้ามาในซอยอีก แต่แค่เพียงไม่กี่ 10 เมตรเท่านั้น คนที่มาที่นี่จึงเป็นคนที่ตั้งใจมาดูดนตรีจริงๆ

และคำตอบที่ว่าได้ตึกนี้มาอย่างไร ป๊อกบอกว่า “เดินหามาเรื่อยๆ เสิร์ชหาบ้าง ที่เสิร์ชแล้วมันไม่ใช่ ก็เดินหาต่อ 

“ประเด็นคือตรงนี้ใกล้บ้านผม หลักๆ คือผมยังต้องเลี้ยงลูก แน่นอนว่าเราคงไม่ได้ไปไหนจนกว่าลูกจะเรียนจบ เลยหาอะไรทำใกล้ๆ บ้าน แล้วประจวบกับเรามีเพื่อนกลุ่ม Bangkok Street Noise ที่เราประทับใจเขาตอนมาอาสาช่วยกัน ก็เป็นเพื่อนเล่นดนตรีกัน เราเลยลองมาทำธุรกิจลักษณะนี้ด้วยกัน มันคงไม่ใช่การทำเพื่อเงิน เพราะว่าแนวดนตรีมันก็ไม่ได้เป็นแนวทำเงิน แล้วสเกลของไลฟ์เฮาส์มันไม่ได้ใหญ่ เราไม่สามารถขายบัตรเยอะๆ ให้ศิลปินมีเงินกลับบ้านเป็นกอบเป็นกำ มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย”

ถึงจุดนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เป้าหมายของไลฟ์เฮาส์ควรเป็นอย่างไร เพราะหากเป็นวงดนตรีที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะไปแสดงที่ไหน ย่อมมีกลุ่มแฟนเพลงตามไปชมอย่างเหนียวแน่น แต่สำหรับวงดนตรีหน้าใหม่ อาจดีกว่าหรือเปล่าหากได้เล่นดนตรีในสถานที่ที่คนฟังสามารถเข้าถึงได้ง่าย นักดนตรีน่าจะมีโอกาสได้แฟนเพลงหน้าใหม่เพิ่ม หรือมีคนที่เดินหลงเข้ามาฟังโดยบังเอิญแล้วกลายเป็นแฟนเพลงเช่นกัน และดูเหมือนการทำเลจะมีผลอย่างมาก

“ไม่ใช่ไม่อยากทำตรงโซนนักท่องเที่ยว แต่ค่าเช่ามันแพง แล้วนักดนตรีจนๆ อย่างเราไม่มีปัญญาไปเช่า เราลำพังตัวเองก็เอาไม่รอดเลย” ป๊อกตอบ

แม้คำตอบจะสะท้อนความจริงที่เป็นอยู่ของเหล่านักดนตรีอินดี้ แต่เขายังมีความหวังในการสร้างซีนดนตรีใหม่ในย่านนี้ 

“ถ้าเราไปเปิดไลฟ์เฮาส์ในย่านท่องเที่ยว แต่ต้องเดินทางในกรุงเทพฯ เป็นชั่วโมง เราคงตายก่อน ซึ่งเราไม่ได้อยากทำอยู่แล้ว หรือไม่เราก็สร้างซีนใหม่แถวนี้ไปเลย ไปเดินชวนแม่ค้ามาดู อยากทำแบบนั้นมากกว่า”

ถึงจะยังไม่ได้ลองเดินไปชวนแม่ค้าหรือชาวบ้านแถวนี้มาดูการแสดงจริงๆ เพราะเขาบอกว่ายังเขินอยู่ แต่เป็นเป้าหมายที่สักวันหนึ่งต้องทำให้ได้

‘เธียเตอร์ในยุโรป’ สู่ ‘ไลฟ์เฮาส์บ้านเสียงรบกวน’

อย่างที่เล่าไปในข้างต้นว่า ป๊อกเดินทางกลับมาจากเดินสายเล่นดนตรีในทวีปยุโรปได้ไม่นาน ในมุมหนึ่งอาจมองดูเป็นเรื่องดี ที่เจ้าของไลฟ์เฮาส์ในไทยเองยังตระเวนเล่นดนตรีในไลฟ์เฮาส์หรือเธียเตอร์ของอีกฟากโลกหนึ่ง ป๊อกเล่าว่า ไลฟ์เฮาส์ในยุโรปกระจายอยู่ในหลายเมือง นอกจากไลฟ์เฮาส์ยังมีเฟสติวัลหรือเทศกาลดนตรีบ่อยครั้ง ทำให้วงดนตรีมีโอกาสในการเล่นบ่อยขึ้น และธุรกิจท้องถิ่นอื่นก็สามารถอยู่ได้

ข้อดีของทวีปยุโรป คืออากาศไม่ร้อนและเป็นเมืองเดินได้ รวมถึงเดินทางง่าย ทั้งการเดินทางข้ามเมือง หรือข้ามเขตแดนไปประเทศข้างเคียง เมื่อเทียบกับประเทศไทย แค่กรุงเทพฯ เมืองเดียวก็เดินทางยากแล้ว โดยเฉพาะตอนกลางคืน ยังไม่นับว่าไลฟ์เฮาส์มีอยู่แค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น หนำซ้ำยังมีจำนวนน้อยเพียงไม่กี่แห่ง

“เราว่าที่ยุโรปต่อให้เป็นวงอินดี้ก็สามารถสร้างไลฟ์ทัวร์ของตัวเองได้ ถ้ามีแผนการทัวร์ที่ดี เพราะมันมีความต้องการของคนดูค่อนข้างเยอะในทุกๆ เมือง เฟสติวัลก็เยอะ และเป็นเฟสติวัลที่กล้ารับวงที่คนยังไม่รู้จัก แต่อาจต้องติดต่อล่วงหน้าสัก 1 ปี”

จึงเป็นเหตุผลที่แม้ว่าที่ยุโรปจะไม่มีใครรู้จัก ป๊อก หรือวง Stylish Nonsense เลย ก็ยังมีคนมาดู จากการอ่านใบปลิว แล้วรู้สึกสนใจสไตล์เพลงของเขา

“เมืองไทยเป็นเมืองนักท่องเที่ยว แล้วเราอยู่ไทยมาตลอด ร้านที่เคยเล่นมีแต่นักท่องเที่ยวมาดู พอเขากลับประเทศเขาไป เขาก็พยายามชวนเราให้ไปเล่นที่ประเทศเขา”

ป๊อกเสริมว่า ในยุโรปมีงบประมาณสนับสนุนศิลปินนอกประเทศ ให้เข้ามาเล่นดนตรีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โดยต้องเขียนหนังสือไปเสนอ ซึ่งการไปทัวร์ยุโรปรอบนี้ ได้รับการสนับสนุนสถานที่ให้แสดงดนตรี รวมถึงที่พักอาศัย โดยต้องดูแลบริหารจัดการเองทั้งหมด จึงเป็นโมเดลที่ป๊อกพยายามให้ศิลปินที่เข้ามาเล่นใน Noise House ได้ใช้วิธีการเดียวกัน เพื่อฝึกทักษะในหลายด้าน

“นักดนตรีอินดี้ต้องมีหลายสกิล ต้องรู้จักบริหาร ต้องไปคุยกับสถานที่ ต้องประสานงานหลายฝ่าย ทีนี้พองานมันเล็ก เราจะเห็นทุกรายละเอียด” ป๊อกกล่าว

หลังจากกลับจากยุโรป ป๊อกมีสิ่งที่แน่ใจอย่างหนึ่ง คือต้องการทำ Noise House ต่อไป โดยอยากนำไอเดียของศิลปะการตกแต่งกลับมาประยุกต์ใช้ เพราะไลฟ์เฮาส์แต่ละแห่งในยุโรปมีสไตล์การตกแต่งแตกต่างกัน และมักเป็นการดีไอวาย ตรงกับคอนเซปต์ของ Noise House

วันนี้ของ ป๊อก Stylish Nonsense

เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยว่า ทุกวันนี้วง Stylish Nonsense เป็นอย่างไรบ้าง ป๊อกให้คำตอบว่า ไม่ได้ทำเพลงมาสิบกว่าปีแล้ว

“แต่เล่นสดมีอยู่เรื่อยๆ ถ้ากล้าจริงก็มาดู (หัวเราะ)”

ป๊อกเสริมว่า “เรากับพี่จูน (ยุทธนา กะลัมพะเหติ) ไม่ได้ทำเพลงมาเป็นสิบกว่าปีแล้ว เพราะว่าพอเข้าวัยที่ไม่มีเวลาด้วยกัน เราก็เลยเล่นสดได้อย่างเดียวเท่านั้น ไปเล่นแบบอิมโพรไวเซชัน (Improvisation) เราไม่สามารถมานั่งทำเพลงด้วยกัน อัดเพลง ทำแผ่นขาย เราก็เลิกไปเลย แต่ไม่แน่ พอเราไม่มีภาระอีกขั้นหนึ่งแล้ว เราอาจจะกับมาทำอัลบั้มก็ได้ มีแต่นายกับฉันอย่างนี้ แล้วก็ไม่มีใคร เราก็เล่นกันมานานแล้วก็เล่นกันต่อ (หัวเราะ) เราไม่เคยคิดจะเอาสมาชิกใหม่เข้าวง หรือไม่คิดที่จะเล่นโซโล่ถ้าไม่จำเป็น”

ป๊อกทิ้งท้ายว่า ศิลปินรุ่นใหม่หรือเด็กยุคใหม่มีความเก่งกาจด้านดนตรี รวมถึงด้านอื่นๆ มากกว่าเขาหลายเท่า โดยเฉพาะการใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการทำเพลง และเชื่อว่าเด็กๆ จะสามารถหาทางไปต่อได้เอง 

“อยู่ที่ว่าเราอยากทำมันสักกี่น้ำ อยากทำมันอีกนานไหม แล้วยุคต่อไปเราจะเป็นอะไร จะทำอะไร หรืออย่างทำดนตรี แนวเพลงเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร เราจะไปทางไหน อยู่ที่คนนั้นแล้วแหละ ที่จะบอกตัวเองได้ ถ้าเขาเก่งการตลาดมากหรือเขาเก่งแฟชั่น ก็คงจะครีเอตไปได้ตลอดเวลา” ป๊อกทิ้งท้าย

Fact Box

  • วง Stylish Nonsense ประกอบด้วยสมาชิก 2 คน ได้แก่ ป๊อก-วรรณฤต พงศ์ประยูร และจูน-ยุทธนา กะลัมพะเหติ เป็นวงดนตรีแนวทดลอง และทำการแสดงแบบอิมโพรไวเซชัน (Improvisation)
  • ป๊อกเป็นผู้บริหารค่ายแพนด้าเรคคอร์ด (Panda Record) ซึ่งเป็นค่ายเพลงอินดี้
  • อาร์ต-ธีรวัชร์ อุกฤษณ์ เป็นสมาชิกวงจินตะ (Jinta) และเป็นหัวหน้าวงรองแง็งสวนกวี
  • Noise House ลาดพร้าว ตั้งอยู่ที่ ถนนลาดพร้าว 101 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ใกล้กับวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ

 

Tags: , , , , ,