ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การเดินทางเยือนประเทศไทยของ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ซีอีโอของ Microsoft บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ระดับโลก สร้างปรากฏการณ์สำคัญอยู่ 2 ข้อ

ข้อแรกคือการประกาศลงทุนสร้าง Data และ AI Center ในประเทศไทย รวมถึงประกาศเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลไทยและภาคเอกชนไทย

กับอีกข้อคือการยกย่องหน่วยงานรัฐไทยอย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า เป็นตัวอย่างขององค์กรภาครัฐที่พัฒนา และใช้ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ขณะเดียวกัน ยังมีการพบปะกันระหว่างนาเดลลาและผู้บริหารของ สปสช.ปรากฏภาพให้เห็นผ่านช่องทางการสื่อสารของทั้ง Microsoft และของรัฐบาลไทย

ข้อสำคัญก็คือ แล้วเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้หน่วยงานราชการไทยอย่าง สปสช.ได้ไปยืนแถวหน้า อยู่ข้างเคียงกับ Microsoft นั้นคืออะไร สปสช.วางแผนทำอะไรกับ Microsoft เจ้าของ OpenAI อย่าง ChatGPT และจะมีผลกับระบบสุขภาพอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Microsoft ประกาศจะสร้างระบบ OpenAI ที่เกี่ยวกับสุขภาพโดยมี สปสช.เป็นเจ้าภาพสำคัญ

The Momentum สนทนากับ ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช.ผู้ยืนสนทนากับ สัตยา นาเดลลา ถึงเบื้องหลังการเข้าพบครั้งนั้น และความพยายามของประเทศไทยในการยืนแถวหน้าร่วมกับ Microsoft เพื่อพัฒนาระบบ OpenChat ให้ตอบโจทย์ที่นอกเหนือจากการดูแลสุขภาพของคนไทยแล้ว คนทั่วโลกก็ยังได้ใช้งานด้วย

“จุดเริ่มต้นหลักๆ คือการที่ท่านนายกฯ (เศรษฐา ทวีสิน) เดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา แล้วได้เจอกับคุณสัตยา นาเดลลา พอกลับมา นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาบอกกับเรา ถามว่ามีไอเดียอะไรไหมเรื่องการทำงานร่วมกับ Microsoft หลังจากระดมสมองกัน พบว่ามีเรื่องของ OpenAI ที่เราอยากทำ ChatGPT ในเวอร์ชันที่สามารถให้คำปรึกษาเรื่องโรคภัยไข้เจ็บได้”

หมออรรถพรเล่าว่า ทุกวันนี้ เมื่อมีอาการป่วยไข้ หรือรู้สึกเหมือนจะป่วย คนไทยมักเสิร์ชผ่านเสิร์ชเอนจินเจ้าดัง แล้วพบความ ‘มั่ว’ ในหลายเรื่อง 

“โดยส่วนตัวผมเองเป็นทันตแพทย์ คนไข้มักจะถามว่า คุณหมอ ฟันซี่นี้มันเสียวๆ เวลากินของเย็นของร้อน ไปเสิร์ชกูเกิลแล้วมันเป็นแบบนี้ บางคนก็พูดว่า เคยปวดฟัน แล้วบวมด้วย ไปเสิร์ชมาแล้วเป็นแบบนี้ จึงเริ่มรู้สึกว่า บางอย่างที่คนไข้เสิร์ชมามันก็ถูก แต่ครึ่งหนึ่งมันผิด ขณะที่ในเรื่องการตรวจรักษาโรค สิ่งที่หลายคนเจอคือ ตรวจอะไรก็กลายเป็นมะเร็ง จึงคิดว่าน่าจะเอาเรื่องนี้”

เพราะส่วนใหญ่ข้อมูลในเสิร์ชเอนจินมักมาจากบริษัทร้านขายยา มาจากร้านขายอาหารเสริม ซึ่งหวังผลกำไร หรือหวังให้คนตรวจสุขภาพเกินความจำเป็น ข้อมูลสุขภาพที่เป็นความรู้จริงๆ จึงไม่ค่อยจะน่าเชื่อถือ

Pain Point ข้อนี้ทำให้หมออรรถพรเห็นว่า หากได้ใช้ศักยภาพของ Microsoft ผู้เป็นเจ้าของ Azure OpenAI Service และ Azure Machine Learning ที่สามารถให้คำปรึกษาด้านสุขภาพได้บนพื้นฐานข้อเท็จจริง มีข้อมูลทางการแพทย์สนับสนุน ในแง่นี้ก็อาจเป็นประโยชน์กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีผู้มีสิทธิรวม 47 ล้านคน และเป็นประโยชน์กับคนไทย 66 ล้านคน

ฉะนั้นข้อสำคัญก็คือ จะทำอย่างไรให้ ChatBot ที่มี Microsoft อยู่เบื้องหลังนั้นน่าเชื่อถือ และเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน 

สปสช.ไประดมสมองจนพบว่า ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1-2 ของ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ถือเป็นตำราที่แพทย์แผนปัจจุบันยึดถือ เล่มแรกพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2519 แต่ที่น่าสนใจก็คือ จนถึงปัจจุบันก็ยังคงอัปเดตอยู่ 

“อาจารย์สุรเกียรติเป็นอาจารย์หมอที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ท่านสอนเรื่องการตรวจวินิจฉัยโรคทั่วไป แต่ตรวจคนเดียวไม่ไหว ทำคนเดียวไม่ไหว ก็เลยเขียนตำรา ทำเป็น Flowchart คล้ายกับการเขียนอัลกอริทึม เหมือนกับภาษาคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว ผลิตเป็นหนังสือออกมา ใช้ตั้งแต่นักศึกษาแพทย์เมื่อ 48 ปีก่อน จนแพทย์รุ่นปัจจุบันก็ยังใช้เวอร์ชันอัปเดต”

“เป็นต้นว่า หากปวดหัว แยกไปได้ 2 ด้าน คือ มีไข้ หรือไม่มีไข้ มีน้ำมูก หรือไม่มีน้ำมูก แล้วถ้ามีไข้ จะวินิจฉัยต่อเป็นอย่างไร ไม่มีน้ำมูกจะวินิจฉัยต่ออย่างไร”

ด้วยเหตุนี้ จึงน่าจะเป็นเรื่องดี หากนำ ‘ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป’ ทั้ง 2 เล่ม บรรจุไว้ใน OpenChat อย่าง ChatGPT ให้คนไทยได้สืบค้น และตรวจหาวิธีการรักษาตัวเองเบื้องต้น

“ด้วยเหตุนี้ สปสช.จึงอยากใช้ความสามารถของ Microsoft ในการทำ AI แต่ความรู้ใน AI นั้น ไม่ต้องไปหาจากอินเทอร์เน็ต เพียงแต่คีย์ขึ้นจากตำรา 2 เล่มนี้ 

“คราวนี้ สิ่งที่เราคิดได้อีกอย่างคือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีมาแล้ว 20 กว่าปี เราพบว่ามีคนเข้าถึงบริการมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน คนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการเหล่านี้ก็มี ก็ต้องหาคำตอบว่าทำไมถึงเข้าไม่ถึง ทั้งที่มีทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีคลินิกนวัตกรรมอีกมาก ค่ารักษาพยาบาลก็ไม่เสีย แต่ก็ยังมีคนเข้าไม่ถึงสิทธินี้อยู่ดี”

ฉะนั้นแนวคิดของ สปสช.​ก็คือ การทำ OpenAI ซึ่ง Microsoft เป็นเจ้าของระบบ ChatBot ปัญญาประดิษฐ์ระดับโลกอย่าง ChatGPT มาช่วยออกแบบระบบให้ประชาชนสามารถคุยกับระบบปัญญาประดิษฐ์ ระบบ Machine Learning เหมือนกับคุยกับแพทย์โดยตรง เสมือนหนึ่งมีแพทย์ประจำตัวที่อยู่กับเรา คอยปรึกษาอาคารเจ็บไข้ได้ป่วยได้

“เรื่องนี้คิดมาสักระยะหนึ่ง เราก็หอบเรื่องดังกล่าวไปคุยกับอาจารย์สุรเกียรติเจ้าของตำรา ท่านก็ยินดีมาก แล้วไปประชุมต่อกับทีมท่าน ก็โอเคทุกคน ทีนี้เหลือเพียงคุยกับ Microsoft เราคุยกับ Microsoft ประเทศไทยก็โอเค เหลือเพียงรอคิวให้สัตยามาเมืองไทย”

แค่ประเทศไทยไม่พอ จาก Local ต้องไปสู่ Global ได้

แต่เมื่อสัตยามาเมืองไทย สิ่งที่คนใน สปสช.คิดก็คือ เรื่องการให้คนไทยปรึกษาสุขภาพผ่าน ChatBot นั้น ‘เล็ก’เกินไป หากเทียบกับการที่เบอร์หนึ่งของ Microsoft อย่างสัตยามาไทย 

เพราะทั้ง Microsoft Malaysia และ Microsoft Vietnam ต่างก็มีข้อเสนอที่ใหญ่กว่า ไทยเลยเสนอเรื่องนี้เข้ามา ตั้งตัวให้เป็น From Local to Global 

“From Local คือเรามีตำราของอาจารย์สุรเกียรติ ซึ่งเรียบเรียงมาถึง 48 ปี และอาจารย์คอยอัปเดตทุกปี หรือเรียกว่าแทบจะทุกวัน แล้วเดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีทีมลูกศิษย์เป็นหมอเฉพาะทางที่ลงลึก คอยอัปเดตเรื่องต่างๆ ในเรื่องความรู้ที่เหมาะกับ AI มาก เพราะ AI วันนี้ เราคุยกันเรื่อง Rule-based อย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่ต้องใส่ความรู้ใหม่ที่เป็นปัจจุบันเข้าไปเรื่อยๆ แล้วให้ AI ไปเรียนรู้ต่อ และต่อยอดด้วยตัวเอง”

ส่วน to Global หมออรรถพรขยายความว่า ไทยเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ สำหรับ ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ ที่ทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ดี คนเข้าถึงได้มาก ทั้งองค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติต่างก็ชื่นชม ฉะนั้นน่าจะเป็นเรื่องดี หากนำเรื่องที่เราตั้งใจจะช่วยคนไทยเท่านั้น ไปช่วยคนทั่วโลก 

“ก็เลยถามอาจารย์สุรเกียรติว่าหากไป Global ตำราเราใช้ได้ไหม คำตอบของอาจารย์สุรเกียรติก็คือใช้ได้เกินครึ่งแน่ๆ ส่วนที่เป็นโรคเฉพาะถิ่น เราค่อยๆ เติมเข้าไป ดังนั้นในระยะยาวสามารถทำได้แน่นอน คราวนี้เราจึงมั่นใจในการคุยกับสัตยา ในการนำเครื่องมือของ Microsoft ไปช่วยกลุ่มคนเปราะบาง ภายใต้แนวคิด ‘ป่วยไข้เริ่มจากดูแลตัวเอง’ แต่การดูแลตัวเองไม่ใช่ทำอย่างไรก็ได้ ต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ” 

ฉะนั้นคำตอบเมื่อคุณรู้สึกป่วยไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว OpenChat ที่เกิดจากความร่วมมือของ สปสช.และ Microsoft จะเลือกคำตอบให้ได้ตั้งแต่

1. ไม่มีอะไร ต้องพักผ่อน ทานน้ำเยอะๆ หาก 2 วันไม่ดีขึ้นค่อยถามใหม่

2. มีสัญลักษณ์ขึ้นตัวแดง ต้องไปหาหมอเดี๋ยวนี้/ ไม่ต้องถามแล้ว เพราะโรคของคุณอันตรายมาก

3. ก้ำกึ่ง ให้พักรักษาตัว 2 วัน 48 ชั่วโมง หากไม่ดีขึ้นก็แจ้งกลับมา เราจะทำการส่งต่อเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป

ด้วยวิธีนี้ ประชาชนไม่มีค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียค่ารถพยาบาล แต่ระบบนี้จะแม่นพอในการบอกว่าคนไทยในต่างประเทศก็สามารถทำได้ 

เบื้องหลัง Pitch งาน ตัดจาก 4 นาที เหลือ 1 นาที

ในวันที่สัตยาเดินทางมายังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมกล่าวเปิดงาน Microsoft Build: AI Day ผู้บริหารบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ได้นัดบรรดาเอกชน-ภาครัฐไทย ให้เข้าไปนำเสนองานว่าจะร่วมมือกับ Microsoft ได้อย่างไร 

ในตอนแรก มีการกำหนดให้ สปสช.ได้เวลาในการนำเสนอ 4 นาที แต่สักพักก็ตัดเหลือ 2 นาทีในการนำเสนอ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้างานไม่นาน Manager จากสิงคโปร์ของ Microsoft ขอลดเวลาเหลือเพียง 1 นาที เพื่อให้สัตยาได้ซักถาม

“ตอนแรกเรามี 4 นาที แต่ต่อไปตัดมา กลายเป็นตัดเหลือ 1 นาที แต่ก็สนุก สุดท้ายระหว่างที่เรากำลังซ้อม สัตยาก็เดินมาดุ่มๆ พร้อมกับนายกฯ เศรษฐา มาฟังเราพูด

“เรา Pitching ในห้องที่ขนาดไม่ใหญ่มาก 5 บูธ ห้ามคนนอกเข้า เป็นห้องลับ แล้วสัตยาก็เดินมากับซีอีโอของ Microsoft Thailand ปรากฏว่า เขาฟังได้แป๊บเดียวก็บอกว่าคอนเซปต์ดี เขาบอกว่าเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่ดีมาก และ Microsoft ยินดีสนับสนุนเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงระบบสุขภาพ โดยที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ฉะนั้นถ้ามีอะไรที่ Microsoft ช่วยได้ Microsoft ยินดี” 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หมออรรถพรยังไม่รู้ก็คือ ยังไม่รู้ว่าตอนนั้น Microsoft จะซื้อโครงการนี้หรือไม่ แต่สุดท้าย CEO ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียก็นำเรื่องนี้ไปพูดบนเวที 

“ตอนแรกเขาไม่พูดถึงสักที เราก็นึกว่าเขาจะไม่ซื้อแล้ว แต่พอใกล้จะจบ เขาก็บอกว่าเมื่อเช้าได้เข้าไปในห้องเล็ก ไปคุยกับภาครัฐและภาคเอกชน แล้วก็เล่าเรื่องที่ สปสช.นำเสนอ บอกจะเป็นตัวอย่างการเอาความสามารถของ AI ว่า สามารถผนวกกับความรู้ที่มีอยู่ ไปช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงระบบสุขภาพ

“สุดท้าย หลังจากที่มีการพูดในเวทีใหญ่แล้ว พอสัตยามาพูดเวทีย่อยในระดับซีอีโอ ก็กล่าวถึง สปสช.อีกรอบ บอกว่าจะลงทุนเรื่องคลาวด์ จะร่วมลงทุนในประเทศไทย และจะทำงานใกล้ชิดกับ สปสช.ก็เป็นอันว่าปิดจ็อบ เขาซื้อ”

ขั้นตอนหลังจากนี้ สปสช.จะร่วมกับ Microsoft พัฒนาระบบที่เดิมมีอยู่แล้วอย่างระบบ Doctor at Home ของ นพ.สุรเกียรติ จากนั้นมาเขียนโปรแกรม ทำหน้าที่ร่วมกับระบบ Machine Learning ระดับโลก 

“ต่อจากนี้ สิ่งที่ทางทีมงานฝั่งเราต้องเรียนรู้คือ การลงรายละเอียดว่าเราจะเอาความรู้เข้าไปใส่ใน AI ได้อย่างไร เป็นเฟสที่ 2 แล้วหลังจากนี้จะเป็นช่วง Develop ช่วงแรกจะเป็นการ Pitching ว่าคอนเซปต์ ไอเดีย แบบนี้ซื้อไหม ซื้อเสร็จก็มาถึงขั้นตอนการพัฒนาให้เป็นรูปร่าง”

จากนี้ ขีดเสร็จ 6 เดือน โปรเจกต์พิเศษที่ยังไม่มีชื่อ แต่ถูกเรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่า HealthGPT จะออกมาให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง

HealthGPT กับ 30 บาทรักษาทุกที่

แนวคิดสำคัญก็คือหลังจากจัดการเรื่องนี้ได้แล้ว จะถูกนำมาประยุกต์กับระบบของ สปสช.ตามหลักการคืออยากให้คนไทยมี 3 Self ได้แก่ Self Care, Self Test และ Self Treat

Self Care คือการดูแลตัวเอง จากเดิม ป่วยนิดหน่อยก็ไปโรงพยาบาล และมักจะเป็นโรงพยาบาลใหญ่ๆ กลายมาเป็นเริ่มจากการดูแลตัวเอง เสมือนมีหมอประจำตัว โดยการถามปัญหาด้านสุขภาพจากแอปพลิเคชันนี้ และหากไม่สะดวกก็ยังใช้ตัวเลือกที่ 2 ได้คือ หมายเลขโทรศัพท์ 1330 ของ สปสช. 

จากนั้น ข้อที่ 2 คือ Self Test คือการตรวจหา ตรวจค้นคนไข้ให้เจอก่อนจะป่วย เช่น คนไข้เป็นสุภาพสตรี อายุ 30 -60 ปี ควรจะได้รับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 

“ถ้าคนไข้พบว่ามีอาการตกขาว มีกลิ่น มีเลือดออก ก็แปลว่ามีอาการแล้ว ในจุดนี้ คนไข้สามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง เพื่อรู้อาการก่อนไปพบแพทย์ เรามีชุดตรวจให้ สามารถตรวจได้ด้วยตัวเองครบวงจร และเรามีชุดตรวจคัดกรองตั้งแต่ตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ พยาธิใบไม้ในตับ ซึ่ง สปสช.จะนำไปวางไว้ที่ร้านยา และหากตรวจแต่เนิ่นๆ คนไข้ที่ไปพบแพทย์ด้วยอาการป่วยหนักจะลดลง

และสุดท้าย Self Treat คือการรักษาตัวเอง ที่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีเครื่องมือ มีหมอประจำตัว และให้ดูแลตัวเองที่บ้าน เช่น กินน้ำเยอะ นอนเยอะ ไม่ต้องออกไปเจอแดด หรือออกไปให้ใส่แว่นกันแดด 

หากการดูแลตัวเองทั้งหมด สามารถเสริมจากการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง ก็จะทำให้โรงพยาบาลลดความแออัดไปได้มาก และต้องเริ่มผ่านเครื่องมือเหล่านี้ 

คำถามสำคัญก็คือ แล้วคำตอบที่ได้ผ่าน HealthGPT จะน่าเชื่อถือขนาดไหน?

หมอออรรถพรเล่าให้ฟังว่า เท่าที่ลองใช้ระบบทดลองที่ทดสอบกันเบื้องต้น พบว่าถูกเกือบ 100% ต่างจากการเสิร์ชทั่วไปที่อาจถูกครึ่งหนึ่งและผิดครึ่งหนึ่ง

“ตำราของอาจารย์สุรเกียรติก็คือ ‘ความมั่นใจ’ ว่าโรคเหล่านี้สามารถรักษาได้ หากวินิจฉัยได้ถูกต้อง”

หมออรรถพรบอกว่า ถึงตรงนี้ใช้เวลาไม่มาก เหลืออีกเพียง 6 เดือนก็สามรถใช้งานได้จริง

ขณะเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องใช้งานบัตรทอง ใช้ประกันสังคม ก็สามารถใช้งานได้ หรือเป็นสิทธิอื่นๆ สิทธิต่างชาติก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน 

คำถามก็คือ แล้วงานนี้ AI กับ ‘30 บาทรักษาทุกที่’ เกี่ยวข้องกันอย่างไร

หมออรรถพรบอกว่า ข้อดีก็คือหากระบบนี้ใช้งานได้จริง ก็เท่ากับช่วยลดความแออัดในระบบ สามารถช่วยให้คนไข้สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดที่จะไปได้ ทั้งหมดนี้คือหลักการเดียวกัน 

แต่สุดท้าย ทั้งหมดจะอยู่ที่การ Prompt หรือป้อนข้อมูล ป้อนชุดคำในการค้นหา ซึ่งเป็นทักษะสำคัญ โดยต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ทั้งผู้จัดทำระบบและผู้ใช้งานว่าทำอย่างไรจะได้ผลลัพธ์ที่โอเคมากที่สุด

หากทั้งหมดเป็นไปตามผลลัพธ์ที่ทีม ‘เสนาธิการ’ จาก สปสช.ประเมินไว้ คาดว่าผู้ป่วยที่ ‘ไม่แน่ใจ’ และตั้งต้นด้วยการไปโรงพยาบาลเป็นอันดับแรกจะลดลงไปได้มากถึง 70% 

“เวลาเรามีค่าทุกคน จริงอยู่ คนในเมือง คนที่มีความรู้ คนที่เข้าถึงเทคโนโลยีจะใช้กันจำนวนมาก แต่เราอยากจะกระตุ้นให้คนที่เขาอยู่ห่างไกล หรืออย่างน้อย อสม.ที่ดูแลประชากรในพื้นที่ห่างไกล ได้เข้าถึงและได้แนะนำชาวบ้านได้อย่างถูกต้อง”

หากเป็นจริง Open Machine Learning ระบบนี้ จะเป็นอีกครั้งในการพาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปยังโลกอนาคต

เพราะบางโรคภัยไข้เจ็บอาจไม่จำเป็นต้อง ‘รักษา’ หากรู้ล่วงหน้า และประเมินตัวเอง วินิจฉัยโรคได้ด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นทาง

Fact Box

  • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 ภายหลังพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผ่านรัฐสภา โดยเป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค 
  • ปัจจุบัน สปสช.อยู่ในระหว่างการเดินหน้าโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ตามนโยบายของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน โดยขณะนี้อยู่ในเฟสที่ 3 สามารถรักษาได้ 45 จังหวัด และคาดว่าจะรักษาทุกที่ได้ทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้
Tags: , , , ,