ดูท่าว่าสมรภูมิสงคราม IT ที่แสนดุเดือดระหว่าง Microsoft และ Apple จะกลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง หลังจากที่ 2 แบรนด์ยักษ์ใหญ่ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่าง Surface Studio และ MacBook Pro (Touch Bar) ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (26-27 ตุลาคมที่ผ่านมา)

เริ่มจากฝั่ง Microsoft ที่เลือกจับตลาดพีซีตั้งโต๊ะเป็นครั้งแรก ด้วยการปล่อย ‘Surface Studio’ พีซีทัชสกรีนขนาดหน้าจอ 28 นิ้ว ที่ปรับระดับความสูงของระนาบหน้าจอได้ตามที่ต้องการ หรือ Surface Dial อุปกรณ์ตัวจิ๋วที่เกิดมาเพื่อเป็นอาวุธชิ้นใหม่ของเหล่านักออกแบบทั้งหลาย

ทางฝั่ง Apple ก็ไม่น้อยหน้า มาพร้อม MacBook Pro ตัวใหม่ที่ไฉไลกว่าเดิมด้วย ‘Touch Bar’ แถบหน้าจอทัชสกรีนที่สามารถเปลี่ยนแปลงการใช้งานได้ตามแอปพลิเคชันที่ใช้ สอดคล้องกับแนวคิดของ สตีฟ จ็อบส์ อดีตซีอีโอที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโน้ตบุ๊กที่มีหน้าจอทัชสกรีน เพราะ Touch Bar ไม่ได้อยู่บนหน้าจอของ MacBook Pro (เจ้าเล่ห์ไม่น้อยนะ ทิม คุก!)

อย่างไรก็ตาม ดูท่าว่าการขยับตัวในครั้งนี้จาก Microsoft จะได้รับความสนใจและกระแสตอบรับในเชิงบวกอย่างท่วมท้น

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

The Momentum ได้ต่อสายพูดคุยกับ Khajochi หรือ ขจร เจียรนัยพานิชย์ แฟนพันธุ์แท้ สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MacThai.com และ ซู่ชิง-จิตต์สุภา ฉิน ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ Cool Tech ทางสถานีโทรทัศน์ Voice TV เพื่อร่วมหาคำตอบ

Photo: Apple

Touch Bar ฟังก์ชันใหม่ที่ดี แต่อาจไม่ถูกใจทุกคน

แม้ ขจร เจียรนัยพานิชย์ จะเป็นหนึ่งในแฟนคลับที่เหนียวแน่นจากฝั่ง Apple แต่เขากลับมองว่า การเปิดตัว Touch Bar ในครั้งนี้กลับมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวเชื่อว่าฟีเจอร์ใหม่นี้อาจจะเป็นใบเบิกทางสู่นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต

“พอได้เห็นวิธีการทำงานจริงๆ ของ Touch Bar ก็มีทั้งสิ่งที่ผมชอบและไม่ชอบ สิ่งที่ชอบคือ Touch Bar น่าจะช่วยให้การทำงานด้านตัดต่อ หรืองานกราฟิกให้เป็นธรรมชาติและลื่นไหลมากขึ้น ที่สำคัญ Touch Bar สามารถเปลี่ยนรูปแบบไปตามแอปพลิเคชันที่ใช้งานได้ แต่สิ่งที่ผมไม่ชอบคือ หากต้องใช้งาน Touch Bar เป็นประจำ เราอาจจะต้องเสียเวลาไปกับการก้มๆ เงยๆ มองสลับระหว่างหน้าจอและแถบสัมผัสดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา

“ครั้งหนึ่งสมัยที่ Apple เคยเปิดตัวฟีเจอร์สแกนลายนิ้วมือใน iPhone 5s ที่ทุกคนเคยเข้าใจว่าเป็นเพียงฟังก์ชันที่ใช้ในการปลดล็อกเครื่อง แต่ 1 ปีให้หลัง Apple ก็พัฒนาระบบสแกนลายนิ้วมือดังกล่าวไปสู่ระบบจ่ายเงิน Apple Pay ใน iPhone 6 ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าอนาคต MacBook Pro อาจจะไม่มีคีย์บอร์ด แต่เปลี่ยนมาใช้แผง Touch Bar แทน นี่อาจจะเป็นวิสัยทัศน์ในอนาคตจากฝั่ง Apple”

 

 

Photo: Microsoft

Surface Studio การขยับตัวครั้งใหญ่ของ Microsoft ที่อาจแย่งกลุ่มลูกค้านักออกแบบของ Apple

ขณะที่ฝั่ง ซู่ชิง จิตต์สุภา มองว่าการเปิดตัว Surface Studio ของ Microsoft ถือเป็นการสลัดภาพจำความโบราณคร่ำครึจากตัวแบรนด์ได้ดีทีเดียว

“การที่ Microsoft แบรนด์ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกตีตราเป็นเหมือน ‘ชายหนุ่มใส่สูทผูกไท น่าเบื่อ อืดอาด ล้าหลัง’ ลุกขึ้นมาเปิดตัวนวัตกรรมที่มีความสดใหม่ราวกับสร้างผลิตภัณฑ์ในหมวดหมู่ที่ต่างออกไปขึ้นมา ก็นับว่าเป็นการพลิกภาพลักษณ์ของแบรนด์จากหลังมือเป็นหน้ามือได้เป็นอย่างดี

“และจากที่ได้เห็นฟีดแบ็กของนักออกแบบส่วนใหญ่ก็มีแต่คนอยากลองใช้ ไม่ค่อยมีใครสนใจเรื่องระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกันสักเท่าไร เขาให้น้ำหนักกับเรื่องการสนับสนุนด้านการทำงานมากกว่า ในสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน นอกจาก Microsoft จะดูเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แล้ว พวกเขายังท้าทายแบรนด์คู่แข่งด้วยการพยายามดึงกลุ่มลูกค้านักออกแบบให้สลับฝั่งอีกด้วย”

 

 

Photo: Lucas Jackson, Reuters/profile

Surface Studio ชนะอย่างเป็นเอกฉันท์

แม้ก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่า Apple จะอยู่ในสภาวะผู้นำที่ทิ้งห่างผู้ตามอย่างแบรนด์อื่นๆ หลายช่วงตัว แต่หลังจากที่มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ชิ้นล่าสุดจากฝั่ง Microsoft ออกมา สถานการณ์ต่างๆ ก็ดูจะเปลี่ยนไป แม้แต่เว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Mashable ยังเปรียบเปรยการต่อสู้ที่แสนดุเดือดในครั้งนี้อย่างเจ็บแสบว่า

“ตอนนี้ Microsoft กล้าหาญ และเป็นบริษัทที่ล้ำหน้าด้านนวัตกรรมกว่า Apple ไปเสียแล้ว”

ซู่ชิง จิตต์สุภา มองว่าการห้ำหั่นกันในยกนี้ดูคล้ายว่า Microsoft จะเป็นฝ่ายที่ได้แต้มต่อไปด้วยซ้ำ

“ถ้าต้องให้คะแนนในครั้งนี้ เราให้ Microsoft 8.5 คะแนน ขณะที่ฝั่ง Apple เรามองว่าไม่มีอะไรใหม่เลย ฟังก์ชันในการใช้งานหรือพอร์ตของตัวเครื่องก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้ใช้งานสะดวกสบายขึ้น ถ้าให้ 5 คะแนนนี่คงไม่โหดไปใช่ไหม (หัวเราะ) ความรู้สึกเราในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนก็ไม่ได้ตื่นเต้นกับการเปิดตัว MacBook Pro ตัวใหม่ ในขณะที่คนตกใจและตื่นเต้นไปกับการเปิดตัว Surface Studio จากฝั่ง Microsoft มันเป็นอะไรที่ประหลาดมาก”

ด้าน ขจร เจียรนัยพานิชย์ ก็เชื่อเช่นกันว่า ในครั้งนี้ Microsoft เป็นฝ่ายทำได้ดีกว่า Apple

“วันที่มีการ Live เปิดตัว MacBook Pro ทีมงานทุกคนที่ต่างก็เป็นสาวก Apple ลงคะแนนเป็นเสียงเดียวกันว่า Microsoft น่าจะได้แต้ม 9/10 ขณะที่ Apple อาจจะได้เพียง 8/10 เพราะหากพูดถึงความว้าวและการดึงดูดความสนใจในครั้งนี้ Microsoft ทำได้ดีกว่าพอสมควร แต่ในแง่การเปรียบเทียบก็อาจจะทำได้ยาก เพราะค่ายหนึ่งเปิดตัวคอมฯ ตั้งโต๊ะ ในขณะที่อีกค่ายเปิดตัวโมบายล์แล็ปท็อป ซึ่งมีฟังก์ชันการใช้งานคนละแบบ”

Photo: Back Diefenbach, Reuters/profile

หรือ Microsoft จะไล่ตาม Apple ทัน?

เรื่องที่น่าสนใจหลังจากนี้คือ เมื่อต่างฝ่ายต่างลั่นกลองรบ ประกาศก้องโชว์ของในมือกันอย่างจ้าละหวั่น เช่นนั้นแล้ว เป็นไปได้ไหมว่าในอนาคตอันใกล้นี้ แบรนด์อย่าง Microsoft ที่เริ่มหันมาผลิตฮาร์ดแวร์ของตัวเองในตระกูล Surface จะถีบทะยานตัวเองให้ไปยืนในจุดเดียวกับที่ MacBook ของ Apple ทำได้

ซู่ชิง จิตต์สุภา แสดงทรรศนะว่า “อาจจะเป็นไปได้นะว่าในอนาคต ทั้ง 2 แบรนด์อาจจะสูสีกัน แต่สิ่งที่ Microsoft ยังขาดคือความพรีเมียมในระดับที่ Apple มอบให้กับผู้ใช้งาน MacBook ซึ่งก็เป็นโจทย์หลักๆ ที่ Microsoft ต้องคิดให้ได้ว่าพวกเขาจะทำอย่างไรให้ลูกค้าของตัวเองได้รับความพรีเมียมในระดับเดียวกับ Apple

“หาก Microsoft สามารถทำให้โลโก้ Windows ที่หลังเครื่อง Surface โดดเด่นได้ทัดเทียมโลโก้ Apple ที่หลังเครื่อง MacBook แค่นี้ก็น่าจะสู้กันได้อย่างสูสีแล้ว แต่ในความหมายก็คือ Microsoft ต้องผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาให้ได้เรื่อยๆ ไม่ใช่ออกผลิตภัณฑ์มาแล้วไม่มีการพัฒนาต่อ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะสลัดภาพลักษณ์เดิมๆ ของตัวเอง และทวงบัลลังก์จาก Apple คืนมาให้ได้”

ขจร เจียรนัยพานิชย์ บอกว่า “ในวงการ IT เป็นที่รู้กันว่า Microsoft มีฉายาว่า แมว 9 ชีวิต ตั้งแต่ยุคสมัยสตีฟ จ็อบส์ ที่ Windows พลาดท่าให้กับ macOS หลังจากนั้นเขาก็เปิดตัว Windows 3.1 มาปะทะกับ Apple โดยตรง หรือในสมัยที่จวนเจียนจะพ่ายแพ้ด้านการพัฒนาเบราว์เซอร์ให้กับ Netscape เขาก็ออก Internet Explorer ตัวใหม่ออกมา ในทางหนึ่งก็อาจจะกล่าวได้ว่า Microsoft เป็นบริษัทที่มีสายป่านยาวและสู้ยิบตา สู้ไปเรื่อยๆ ลองอะไรใหม่ๆ กระทั่งวันหนึ่ง พวกเขาก็สู้ได้อย่างสูสี

“ปัจจุบันบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน IT หลายๆ แบรนด์ของโลกอย่าง Apple, Microsoft หรือแม้แต่ Google เองก็เริ่มหันมาผลิตฮาร์ดแวร์ของตัวเองกันหมด ผมว่าด้วยศักยภาพ และกำลังทรัพย์ของ Microsoft ยังไงๆ พวกเขาก็น่าจะสู้กับ Apple ได้อย่างแน่นอน

“ที่สำคัญค่ายที่ดูจะซุ่มเงียบที่สุดอย่าง Google ก็น่าจับตาว่าเขาจะมาไม้ไหน เพราะต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ แอนดรอยด์กินส่วนแบ่งการตลาดในวงการมือถือไปมาก หากวันหนึ่งข้างหน้าแอนดรอยด์โดย Google คิดจะผลิตพีซีและโน้ตบุ๊กของตัวเองออกมาอย่างจริงจัง ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย”

Photo: Albert Gea, Reuters/profile

การต่อสู้ครั้งนี้ ผู้ชนะที่แท้จริงคือผู้บริโภค

ท้ายที่สุดแล้ว การแข่งขันในการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาสู่โลกเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้งเช่นนี้ ผู้ใดจะเป็นฝ่ายที่ Seize the Moment จากเหตุการณ์นี้ได้มากที่สุด

ขจร เจียรนัยพานิชย์ เชื่อว่า “การต่อสู้ของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่ดุเดือดเช่นนี้น่าจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค เพราะหากตลาดใดก็ตามมีแบรนด์เพียงแบรนด์เดียวถือครองโดยไร้คู่แข่ง มันก็จะนำไปสู่การไม่พัฒนา ยิ่งมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นมา เราก็จะยิ่งเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ในราคาที่จับต้องได้อยู่เรื่อยๆ”

ฝั่ง ซู่ชิง จิตต์สุภา มองไม่ต่างกันว่า “ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าใครก็ตามที่นึกถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วเท่ ดูดี เขาก็จะนึกถึงแต่ Apple เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าผลิตภัณฑ์ของเขามีราคาสูง แต่หากมีค่ายใดที่คิดค้นนวัตกรรมที่สดใหม่ขึ้นมาในราคาที่จับต้องได้ จนได้รับการยอมรับเป็น Innovator การต่อสู้ในครั้งใหม่ก็น่าจะมีแบรนด์ผู้ท้าชิงเพิ่มมากขึ้น

“ซึ่งก็น่าจับตาว่าใครจะเป็น Innovator รายใหม่…” ซู่ชิง จิตต์สุภา กล่าวทิ้งท้าย

 

Tags: , , , , , , , , , ,