6 ปีก่อน สหภาพดนตรี ค่ายเพลงที่นำโดยหัวเรือใหญ่แถวหน้าของวงการ ได้ทำการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น มิวสิคมูฟ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ก่อนจะปรับเป็น มิวซิกมูฟ (Muzik Move) ในปัจจุบัน บนเรือลำใหญ่ที่รวบรวมค่ายเพลงที่ผสมผสานดนตรีเข้ากับความเป็นศิลปะอย่างลงตัว พร้อมส่งศิลปินตัวจริงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเดี่ยวหรือวง โดยเฉพาะสายเลือดใหม่ ภายใต้ค่ายย่อยในเครือที่หลากหลายและมีดีเอ็นเอเฉพาะ จนกลายเป็นที่จับตาของวงการเพลงไทยและประสบความสำเร็จอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น อิ้งค์ – วรันธร, เอิ๊ต – ภัทรวี, Serious Bacon, เบล – วริศรา ไปจนถึงรุ่นเก๋าอย่าง วง Zeal, วง Silly Fools, Hugo และบุรินทร์ บุญวิสุทธิ์ 

มาในปี 2022 นี้ ครบรอบ 6 ปีของการรีแบรนด์ หลังจากผ่านความเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทั้งการทำงานของค่ายและศิลปิน ที่ต้องก้าวเข้าสู่โลกของมิวสิคออนไลน์คอนเทนต์มากขึ้น มิวซิกมูฟ ก็เตรียมก้าวเข้าสู่โลกของความเป็นไปได้ใหม่ๆ และความทันสมัยในอุตสาหกรรมดนตรีอีกครั้ง  

น่าสนใจว่าในยุคที่หลายคนมองว่าค่ายเพลงแทบจะมีความสำคัญน้อยลงเรื่อยๆ แต่ มิวซิกมูฟ ยังเชื่อในความเป็น ‘ค่ายเพลง’ ซึ่งเปรียบเสมือน ‘ฮับ’ ของเหล่าคนดนตรีทั้งหลาย ที่ต้องทำงานร่วมกันทั้งในเชิง ‘ความสร้างสรรค์’ และ ‘ธุรกิจ’ เพื่อเปิดประตูสู่คนฟังเพลงยุคใหม่ที่มีความ niche มากขึ้น และยังเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ มิวซิกมูฟ เตรียมขยายค่ายเพลงในเครือเพิ่มเติม อาทิ ค่าย Home Run Music, ค่าย Crazy Moon, ค่าย Baked Brownie, ค่าย Melodic Corner และค่าย Zircle Muzik 

แน่นอนว่าความสำเร็จของเหล่าศิลปินและบทเพลงคงไม่เกิดขึ้น หากปราศจาก ‘คนเบื้องหลัง’ ที่มีความสำคัญ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘บอม’ – ดนุภพ กมล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มิวซิกมูฟ จำกัด ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่คลุกคลีอยู่ในวงการดนตรีของไทยมาเกือบ 20 ปี จากจุดเริ่มต้นของการเป็น Sound Engineerให้ค่ายยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่ ก่อนบินไปศึกษาต่อในสาขา Music Business Management ที่ประเทศอังกฤษ และกลับมารับหน้าที่สำคัญในการบริหารค่ายเพลง และคอยขับเคลื่อนกำหนดทิศทางของมิวซิกมูฟ ในปัจจุบัน ร่วมกับกลุ่มผู้บริหารที่คร่ำหวอดในแวดวงดนตรีอีกหลายคน

The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยกับดนุภพ เกี่ยวกับวันที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลายลง ภาคธุรกิจต่างๆ เริ่มขยับเคลื่อน เช่นเดียวกับแวดวงดนตรีที่ราวกับถูกแช่แข็งมา 2 ปี พร้อมกับก้าวใหม่ครั้งนี้ของมิวซิกมูฟ ในการต่อยอดสู่การเป็นแถวหน้าของวงการ และมุมมองเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของศิลปิน ผู้ฟังในยุคสมัยนี้ รวมถึงเทรนด์ต่างๆ ที่น่าสนใจของแวดวงดนตรีที่ต้องตามให้ทันโลกเทคโนโลยี

ไม่ว่าคุณจะสนใจเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังของธุรกิจค่ายเพลง ก้อนความคิดจากการสนทนากับผู้บริหารหนุ่มไฟแรงในบทสนทนานี้ น่าจะสนุกและทำให้ได้รู้จักธุรกิจค่ายเพลงที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน

คุณทำงานในแวดวงดนตรีมานานกี่ปีแล้ว

เราเข้าทำงานในแกรมมี่ปี 2546 จนตอนนี้ปี 2565 ก็เกือบ 20 ปีแล้ว เริ่มต้นจากเป็น Sound Engineer ทำงานที่ มอร์ มิวสิค (More Music) ค่ายเพลงร็อกของแกรมมี่ มีพี่ป้อม (อัสนี โชติกุล) เป็นผู้บริหาร เราได้อัดเสียงให้วงร็อกต่างๆ เช่น วง Zeal, อัสนี – วสันต์, วงแบล็คเฮด, วง Instinct แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ จนเติบโตในสายงาน Sound Engineer หลังจากนั้นก็มาทำงานที่ GMM Studios มิกซ์เสียงให้วง POTATO, เอ็ม – อรรถพล, บอย พีซเมกเกอร์ รวมถึงพี่เบิร์ด – ธงไชย 

พออยู่ GMM Studios มา 7 – 8 ปี ก็เริ่มอิ่มตัวในสายงาน Sound Engineer เราคิดว่าอยากอยู่ในสาขานี้ต่อ เพื่อให้เราได้เติบโตและทำอะไรหลายอย่างเพิ่มมากขึ้น ก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อที่อังกฤษ ในสาขา Music Business Management 

ระหว่างศึกษาที่อังกฤษ คุณได้พัฒนาตัวเองและเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในด้านดนตรีเพิ่มบ้าง

เรียกว่าเริ่มใหม่เลยดีกว่า เราเคยอยู่ฝั่งที่ทำ production มาก่อน คือทำ recording เป็นสตูดิโออัดเสียง การมิกซ์เสียง อะไรแบบนี้ การเรียนที่นั่นก็เหมือนเรียนบริหาร (MBA) แต่อยู่ในฝั่งของ Music Business ซึ่งก็ได้ความรู้จากต่างประเทศด้วย ได้เจอเพื่อนยุโรป เพื่อนอเมริกา ได้แชร์ไอเดียต่างๆ ได้รู้ว่า Music Industry ของแต่ละประเทศเป็นอย่างไร แล้วก็นำกลับมาใช้ในไทย 

ตอนที่เรียนจบมา พอดีพี่ป้อมย้ายจากแกรมมี่มาที่สหภาพดนตรี พี่ป้อมก็ชวนเรามาทำงานด้าน Music Business ที่นี่ เราเริ่มจากตรงนั้น ในยุคนั้นก็ได้ทำงานกับศิลปินอย่างพี่ป้อม, พี่โอม – ชาตรี คงสุวรรณ, วงแบล็คเฮด และวงต่างๆ พอถึงจังหวะหนึ่ง สหภาพดนตรีก็รีแบรนด์มาเป็นมิวซิกมูฟ (Muzik Move) โดยมี 3 ค่ายย่อยในเครือ

หลังจากรีแบรนด์จากสหภาพดนตรีมาเป็นมิวซิกมูฟ 6 ปีผ่านมา คุณมองการเติบโตของมิวซิกมูฟอย่างไรบ้าง

เรียกได้ว่าโตเร็วมาก เร็วจนถึงขั้น พี่พล (วงแคลช) พี่เบียร์ (ฟองเบียร์) บอกว่าใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบขยายมากนัก พอถึงวันนี้ มิวซิกมูฟมีศิลปินเกือบ 50 เบอร์แล้ว จาก 3 ค่ายก็ขยายเป็น 8 ค่าย ล่าสุดที่ปีที่แล้วมีค่ายเพิ่ม คือค่ายโฮมรันมิวสิค (Home Run Music) ซึ่งมีศิลปินอย่าง น้องเบล – วริศรา เพลง ‘เอาปากกามาวง’ ก็ได้รับการตอบรับค่อนข้างดีมาก

ทำไมถึงคิดว่าไม่อยากให้ค่ายเพลงโตเร็วเกินไป ทั้งที่ปกติในการทำธุรกิจคนก็มักอยากให้โตเร็วๆ

ส่วนตัวเราเองที่ดูแลฝั่งธุรกิจ หน้าที่ของเราก็คือขยายธุรกิจเพื่อซัพพอร์ตศิลปินในค่ายให้ได้มากที่สุด แล้วถ้าค่ายโตเร็วไป ศิลปินเยอะไป การดูแลของเราอาจจะไม่ทั่วถึง จำนวนช่องทางการโปรโมต หรือวิธีการหารายได้ของเราจะซัพพอร์ตเขาได้แค่ไหน เพียงพอหรือยัง เราเลยรู้สึกว่าค่ายเพลงกับธุรกิจ ต้องโตไปพร้อมกัน ในอัตราส่วนที่เท่าๆ กัน 

ในฐานะคนที่อยู่เบื้องหลังของค่ายเพลงมา 6 ปี กับธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาก อยากให้ลองวิเคราะห์ว่า ทำไมมิวซิกมูฟถึงประสบความสำเร็จขนาดนี้ 

เรามองว่าความสำเร็จมาจาก 2 ส่วนหลักที่สำคัญมาก ส่วนแรกคือศิลปิน เราคิดว่าศิลปินของค่ายต้นทุนค่อนข้างดี เรามีศิลปินที่มีคุณภาพและหลากหลายแนวทาง ในจำนวน 50 เบอร์ ตั้งแต่ศิลปินรุ่นใหญ่ เช่น พี่ฮิวโก้ พี่บุรินทร์ ก็เรียกได้ว่าเป็นศาสดาไปแล้ว เราก็ดูแลเขาแบบหนึ่ง ส่วนพี่ๆ วงรุ่นใหญ่ที่เป็นวงดนตรี เช่น วง ZEAL, วง Silly Fools และวง Season Five เราก็ดูแลเขาอีกแบบหนึ่ง ส่วนศิลปินเดี่ยวรุ่นใหม่ เช่น อิ้งค์ – วรันธร, เอิ๊ต – ภัทรวี เราก็ดูแลเขาอีกแบบหนึ่ง และศิลปินที่เป็นค่ายใหม่ๆ อย่าง เบล – วริศรา, Copter หรือ SERIOUS BACON เราก็กรูมมิงเขาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนก็มีคุณภาพในแบบของเขาเอง 

อีกส่วนคือทีมงานเบื้องหลัง เริ่มจากเฮดคือพี่ฟองเบียร์ พี่พล พี่โอ๊บ – เพิ่มศักดิ์ ที่ดูแล 3 ค่ายหลัก และก็มีผู้บริหารท่านอื่นที่ช่วยดูแล เอเนอร์จี้ของพี่ๆ ที่เป็นเฮดร่วมกับทีมงานในค่ายถือเป็นจุดแข็งของมิวซิกมูฟ ที่ทำให้ผลงานที่ออกมาค่อนข้างแข็งแรง และกระจายออกไปได้เร็ว เพราะนอกจากต้นทุนของศิลปินแล้ว ความสามารถของทีมงานที่สามารถขับเคลื่อนงาน production ต่างๆ ทั้งภาพและเสียงให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้ ก็สำคัญมาก รวมถึงคนทำงานในฝั่งของ Business Unit ที่เราดูแลอยู่ ก็เป็นส่วนที่ต่อยอดได้ดีมากๆ

แก่นหรือนิยามของค่ายมิวซิกมูฟในมุมของคุณคืออะไร

แก่นของมิวซิกมูฟ คือค่ายที่สร้างศิลปินมาจากความเป็นศิลปินตัวจริง นักดนตรีตัวจริง ศิลปินส่วนใหญ่จะมีความเป็นนักดนตรีในตัว อย่างวง ETC หรือวง ZEAL เป็นต้น แต่ละคนเป็นนักดนตรีตัวจริง อย่างบลู วง Indigo ก็แข่ง The Voice มา ขวัญ วง Indigo ก็เล่นให้กับศิลปินมากมายเลยที่ผ่านมา เอิ๊ต – ภัทรวี ก็มีความเป็น singer-song writer ในตัว เขียนเพลงเองได้ โปรดิวซ์เพลงของตัวเอง หรืออย่างวง SERIOUS BACON ก็เป็นยูทูเบอร์มาก่อน ร้องเพลงคัฟเวอร์ แต่งเพลงเอง มีส่วนในเพลงของตัวเอง หรืออย่าง อิ้งค์ – วรันธร ก็เรียกได้ว่าเป็นตัวจริงมาก่อนเหมือนกัน เรียนเอกวอยซ์ ร้องเพลงได้ และมีส่วนร่วมในการเขียนเนื้อร้องเอง อย่างล่าสุดเพลง ‘กลับก่อนนะ’ เขาก็มีส่วนในการคิดเนื้อเพลงขึ้นมาร่วมกับโปรดิวเซอร์ 

หลังจากการรีแบรนด์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว 6 ปีถัดมาในปีนี้ ทำไมมิวซิกมูฟถึงต้องมีการปรับเปลี่ยนอีกครั้ง 

เรื่องหนึ่งคือเราปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทุกที่ อีกเรื่องคือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทุกคนคงรู้ว่าโควิดเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ศิลปินเองจากที่เคยเป็น on-ground-based คือโชว์เป็นหลัก แสดงสดเป็นหลัก พอโควิดมาเขาแสดงสดไม่ได้ มันก็เปลี่ยนมาเป็นเรื่องของการทำออนไลน์แทน ซึ่งค่ายก็ซัพพอร์ตให้ศิลปินมีช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพราะนอกจากฝั่งของการทำเพลง มิวซิกมูฟมี Marketing Agency ในนาม Mad Monster ทำหน้าที่เป็นเอเจนซีที่ดูแล music marketing ดูแลศิลปินหรือคอนเทนต์ที่เรามี สร้างให้เกิดงานระหว่างเรากับลูกค้า อย่างช่วงโควิดแรกๆ ก็จะมีไลฟ์สตรีมต่างๆ ที่มีศิลปินเราขึ้นมาเล่น มีการ tie-in แบรนด์ลูกค้าเข้าไป ก็ทำให้ศิลปินเป็นที่รู้จักในวงกว้าง 

หรืออย่าง Showbiz เราก็เปลี่ยนเป็นออนไลน์ เราพยายามคิดรูปแบบงานที่แสดงได้บนออนไลน์ อย่างโปรเจกต์ Hotel Fest แสดงดนตรีที่โรงแรม เป็นการแสดงดนตรีแบบ New Normal คือคนสามารถดูโชว์จากระเบียงห้องได้ และเน้นการถ่ายทอดสดเป็นหลักผ่านพวกแอปพลิเคชันสตรีมมิงต่างๆ ไลฟ์สตรีมต่างๆ ช่วงแรกเราก็โปรโมตศิลปินผ่านโซเชียลมีเดียที่มีการไลฟ์ หรือช่วงหนึ่งที่คนอยู่บ้านเยอะๆ เราก็สามารถไลฟ์ได้ตามช่วงเวลา พอโควิดเข้าปีที่ 2 คนเริ่มกลับไปทำงานแล้ว ลักษณะการโปรโมต การแสดงคอนเสิร์ตออนไลน์ ก็เปลี่ยนเป็นรูปแบบ on app มากกว่า ก็มีแอปฯ ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อสตรีมและเสถียรมากขึ้น 

ทุกวันนี้เรียกได้ว่าศิลปินแมสก็ไม่แมสขนาดนั้น เรียกได้ว่าร้อยล้านวิวมันเกิดได้ยากขึ้นช้าขึ้น กลายเป็นว่าค่ายเพลงเล็กๆ และศิลปินที่มีความอินดี้มีจำนวนมากขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้น 

ในการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ของมิวซิกมูฟ มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง 

อย่างที่บอกว่า พอตลาดมันเปลี่ยนไปเป็นตลาดที่ niche มากขึ้น มิวซิกมูฟเองที่ตอนแรกมี 3 ค่ายเพลง อย่างป็อปเมนสตรีมก็คือ มิวซิกมูฟ เรคคอร์ดส ร็อกเมนสตรีมคือ มี เรคคอร์ดส (Me Records) และ urban pop คือ บ็อกซ์ มิวสิค (BOXX MUSIC)

จากแบบเดิมก็ต้องแตกย่อยออกมา เพื่อให้สอดคล้องกับการฟังของคน ยกตัวอย่างเช่น เราคิดว่าจะต้องมีค่ายที่เป็น teenage pop อีกค่าย เช่น โฮมรันมิวสิค ซึ่งเราเรียนรู้จากปีที่แล้วว่า การแตกย่อยออกมามันทำให้เอนเกจคนฟังได้มากขึ้น เช่น เบล – วริศรา เพลง ‘เอาปากกามาวง’ โดยแบรนด์ดิ้งของเขาคือความสดใหม่และซาวด์ดนตรีน่ารักๆ จะให้เบลไปอยู่ มิวซิกมูฟ เรคคอร์ดส หรือ มี เรคคอร์ดส ก็อาจจะไม่ตรงเท่าไร การสร้างจึงต้องทำให้เหมาะกับตลาดที่เป็น fragment มากขึ้นด้วย 

จะเห็นว่าค่ายเพลงเองก็มีหน้าที่ตามให้ทันเทคโนโลยีจากมิวสิคสตรีมมิง เราก็ต้องทำตามเขาให้ทัน เอาเพลงขึ้นไปโปรโมตให้ครบทุกแพลตฟอร์มที่คนจะเข้าไปฟัง โซเชียลมีเดียเราก็ต้องใช้งบในการโปรโมต ในวันที่พัฒนาเข้าสู่โลก Metaverse เทคโนโลยีที่พัฒนาในยุคนี้จาก VR เราสามารถเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงได้ เราสามารถเข้าไปดูคอนเสิร์ตใน Metaverse ได้ ค่ายเพลงเองก็ต้องพัฒนาตาม เพื่อให้การโปรโมตศิลปินและการเป็น Online Performance มันเข้าไปอยู่ในเทคโนโลยีได้เหมือนกัน ในอนาคตอาจจะมีคอนเสิร์ตของอิ้งค์ ของเอิ๊ตบนโลก Metaverse แต่ก้าวแรกในการเข้าสู่ Metaverse ของเราก็คือ NFT เราก็จะมี BU ที่เป็น New Business ที่พัฒนาสินทรัพย์ของเรา ทั้งเรื่องเพลง ทั้งเรื่องชิ้นงานต่างๆ คอนเทนต์ รวมไปถึงโปรดักต์จากศิลปิน ต่างๆ เข้าไปสู่โลกของ Digital Asset คือ NFT นอกจากงานอาร์ต ฝั่งเพลงก็เริ่มขยับตัวเข้าไปเหมือนกัน อนาคตก็อาจจะมีพวกโปรดักต์ต่างๆ เป็น Digital Asset อยู่บน NFT ในโลก Metaverse

แสดงว่าก็ครอบคลุมทั้ง 2 ฝั่งหลัก ฝั่งศิลปินเองก็มีค่าย มีเทคโนโลยีมารองรับมากขึ้น ฝั่งธุรกิจก็พัฒนาตัวเองให้ทันเทคโนโลยี ซึ่งก็สำคัญมากๆ กับยุคนี้

ถูกต้อง ปัจจุบันทฤษฎีที่ทุกคนยอมรับไม่ใช่ปลาใหญ่กินปลาเล็กแล้ว แต่เป็นปลาเร็วกินปลาช้า ดังนั้นบริษัทส่วนใหญ่ที่ขยับตัวได้เร็ว ก็จะสามารถอยู่รอดได้ในยุคนี้ ค่ายเพลงก็เหมือนกัน หากสามารถหาช่องทางที่จะซัพพอร์ตศิลปินให้ยังอยู่บนชาร์ตเพลงได้ อยู่บนโลกโซเชียลได้ และสามารถทำให้ศิลปินใช้ชีวิตได้ในยุคโควิดได้ ก็จะเป็นค่ายที่สามารถไปได้เร็วกว่า 

คุณอยู่เบื้องหลังวงการดนตรีประเทศไทยมาเกือบ 20 ปี ช่วงนี้เป็นช่วงที่ท้าทายที่สุดในอุตสาหกรรมดนตรีหรือเปล่า 

ใช่เลย แล้วมันก็ท้าทายขึ้นเรื่อยๆ ช่วงก่อนที่จะมีโควิดก็โดนท้าทายด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลอยู่แล้ว แล้วโครงสร้างของ Music Industry ในไทยนั้น base on การแสดงสด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาศิลปินอยู่ได้ด้วยการแสดงสด เพลงที่ปล่อยเป็นแค่ต้นน้ำเป็นการโปรโมตให้ทุกคนรู้จัก

แล้วก็ไปหารายได้จากการแสดงสด แต่พอโควิดมาล้มกระดานเลย ทุกอย่างก็ต้องเริ่มกันใหม่ในวิถี New Normal ถ้าไม่แสดงสดแล้วทำอะไรได้บ้าง สิ่งที่มิวซิกมูฟพยายามปรับตัวก็คือโฟกัสที่ Music Marketing แทน เรามีเอเจนซีอย่างที่บอกไป ก็พัฒนาศิลปินไปพร้อมกับภาพลักษณ์ที่ขายลูกค้าได้ ยกตัวอย่างศิลปินที่โตเร็วมากก็คือ อิ้งค์ – วรันธร ใน 2 ปีที่ผ่านมาก็มีงานที่เป็นพรีเซนเตอร์ค่อนข้างเยอะ ตอบโจทย์ลูกค้าได้ค่อนข้างมาก ทั้งภาพลักษณ์ของตัวน้องเองและคุณภาพของเพลง

อีกเรื่องที่คนพูดถึงและจับตามองในยุคนี้ คือการที่มีศิลปินไทยทำงานร่วมกับศิลปินเมืองนอกเยอะมาก มิวซิกมูฟมีแพลนที่อยากทำงานร่วมกับศิลปินอินเตอร์บ้างไหม 

ต้องบอกว่าพาร์ตอินเตอร์ของมิวซิกมูฟเริ่มมาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว คือการพาศิลปินไปแสดงต่างประเทศ ก่อนโควิดเราพาอิ้งค์ และเอิ๊ตไปเล่นงานเฟสติวัลที่ญี่ปุ่น แล้วก็ไปเล่นไลฟ์เฮ้าส์ต่อ หรือวง ZEAL วง Season Five ก็ได้ไปเช่นกัน นอกจากนี้ก็พาไปแสดงที่ออสเตรเลีย 4 เมืองหลัก ซิดนีย์, เมลเบิร์น, เพิร์ท และบริสเบน แล้วก็ไปที่อังกฤษ ไปเล่นในผับใต้สนามเชลซี คนดูประมาณ 600-700 คน แต่ละประเทศก็จะมีทั้งคนไทยและคนต่างประเทศที่ไปดู ดังนั้น ในฝั่งของ Show Business เรารันเรื่องนี้อยู่แล้ว 

ทีนี้ที่ผ่านมา ก่อนช่วงโควิด Music Business เราก็พัฒนาคอนเทนต์ของศิลปินในภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ศิลปินของเราเรียนภาษาจีน แล้วก็ร้องเพลงเป็นเวอร์ชันภาษาจีน แต่เริ่มโปรโมตไปนิดหนึ่งก็มีโควิดพอดี เลยต้องเบรกไป เรื่อง Collaboration ก็เหมือนกัน ก่อนหน้าที่จะมีโควิดก็มีการคุยกับค่ายต่างประเทศอยู่ อย่างช่วงกลางปีนี้อิ้งค์ก็จะมีการ Collaboration กับศิลปินญี่ปุ่น ซึ่งจริงๆ ก็เตรียมไว้แล้ว แต่รอจังหวะที่จะปล่อยมากกว่า และด้วยคอนเนคชันที่เรามี เราก็เตรียมไว้หลายศิลปิน ซึ่งจะค่อยๆ ทยอยตามกันไป 

ขอย้อนกลับไปในเรื่องค่ายย่อย อยากช่วยเล่าหน่อยว่าแต่ละค่ายที่จะเปิดใหม่มีความแตกต่างหรือความน่าสนใจอย่างไร

เป้าประสงค์ของค่ายย่อยคือทำให้มีความ unique ในตลาดของเขา อย่างค่ายโฮมรันมิวสิค มีคนดูแลคือพี่ติ๊ก วง playground ซึ่งก็อยู่เบื้องหลังการผลิตงานมิวซิกมูฟมาสักพักหนึ่งแล้ว เราก็เปิดพื้นที่ใหม่ขึ้นมาเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนฟังที่เด็กลง มีความเป็น teenager มากขึ้น ซึ่งค่ายเดิมๆ ที่เรามีอาจจะมีความเป็นแมสที่โตขึ้นหน่อย ยกตัวอย่าง พี่พล วงแคลช ล่าสุดเพิ่งขยายค่ายใหม่ชื่อว่า ZIRCLE MUZIK ซึ่งเขามองว่าค่าย BOXX MUSIC เดินทางมาถึงจุดหนึ่งที่ศิลปินเป็นที่รู้จักแล้ว แล้ว BOXX MUSIC มี DNA ของความเป็นเด็กหน้าห้อง เป็นเด็กเรียบร้อย เพลงฟังสบายๆ แต่ตัวพี่พลเอง DNA มีความเป็นชาวร็อกอยู่ เขาก็เลยใช้อีกโอกาสหนึ่งในวันที่ BOXX MUSIC นิ่งแล้ว ขยายค่ายใหม่ซึ่งมี DNA เป็นเด็กหลังห้อง เป็นวงดนตรีที่ซนๆ มันก็จะตอบโจทย์ในมุมของวงดนตรีหน้าใหม่ที่มีแนวเพลงของตัวเอง 

ในภาพรวมของมิวซิกมูฟ ซึ่งเป็นฝั่งธุรกิจที่เราดูแล ก็มีการซัพพอร์ตศิลปินแต่ละแบบไม่เหมือนกัน เป็นคนละรูปแบบกัน ศิลปินใหญ่ก็ซัพพอร์ตแบบนี้ ศิลปินเล็กเราก็หาสเกลในการซัพพอร์ตอีกแบบนึง ยกตัวอย่าง SERIOUS BACON ก็ถือว่ามาแรงบนชาร์ต และมีแฟนที่ติดตามเขามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็จะเป็นกลุ่มที่เด็กลง ถ้าเกิดโควิดดีขึ้นเราก็เตรียมจัดคอนเสิร์ตในสเกลที่เหมาะกับเขาอาจจะ 1,000-2,000 คน หรืออย่าง อิ้งค์ – วรันธร สเกลก็จะใหญ่ขึ้น เพราะวันนี้เขาเป็นศิลปินแนวหน้าแล้ว มีแฟนติดตามค่อนข้างเยอะ เราก็สามารถจัดคอนเสิร์ตในสเกลที่ใหญ่ขึ้นได้ เช่น อิมแพคอารีน่า

ในวันนี้คุณมองแบรนด์มิวซิกมูฟอย่างไร และอยากให้มิวซิกมูฟอยู่ตรงจุดไหนที่จะแตกต่างจากค่ายเพลงอื่นๆ 

มิวซิกมูฟแตกต่างในแง่ของความแข็งแรงของแบรนด์มากกว่า ค่ายเพลงแต่ละค่ายมีความชัดเจนน่าเชื่อถือ มีศิลปินคุณภาพและหลากหลาย ความแข็งแรงของฝั่งธุรกิจที่สามารถซัพพอร์ตศิลปินได้ดี Music Business ทุกๆ แพลตฟอร์ม สามารถทำให้ศิลปินอยู่บนชาร์ตได้ หรือ Show Business ที่มี Network ทั่วประเทศ สามารถจัดคอนเสิร์ตหรือเฟสติวัลในสเกลใหญ่ได้ หรือ Inter Business ทำให้ศิลปินของเราสามารถ Collaboration กับศิลปินต่างประเทศได้ เรามองว่าอันนี้คือความแข็งแรงของแบรนด์มิวซิกมูฟ ในฐานะบริษัทแม่ 

เรามองว่าสิ่งที่แตกต่างในวันนี้คือ Personal Brand ก็คือแบรนด์ของศิลปิน คนฟังทุกวันนี้เขาไม่ได้มองค่ายแล้ว แม้ว่าจะมีการสร้างความ unique ของค่าย แต่ผู้บริโภคเองมีแนวโน้มในการติดตามศิลปินเป็นเบอร์ๆ มากกว่า เช่น ชอบอิ้งค์มากๆ เลย ก็จะเริ่มจากกดติดตามพี่อิ้งค์ในโซเชียลของพี่อิ้งค์ ไม่ใช่โซเชียลค่าย แล้วค่อยขยับมาที่ศิลปินในค่ายเดียวกัน ดังนั้น กลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่างก็คือการสร้างให้ศิลปินแต่ละคนมีความ unique ในแบบของตัวเอง พี่อิ้งค์ก็เป็นอีกแบบนึง SERIOUS BACON ก็เป็นศิลปินคู่ที่น่ารัก เป็นสไตล์ของเขา MV สไตล์เขา แต่ละคนมีทิศทางของตัวเอง

คุณมองการเติบโตของมิวซิกมูฟต่อจากนี้ยังไงอย่างไร ยังเหมือนตอนแรกไหมที่บอกว่าไม่อยากรีบโตเกินไป 

เราคิดว่ามันก็จะโตเร็วเหมือนเดิม ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากเอเนอร์จี้ของทั้งศิลปินและคนทำงาน ซึ่งอาจจะต้องดูจังหวะด้วย เช่น โควิดมา ศิลปินอยากจะทำนู่นทำนี่ เราก็อาจจะแนะนำว่าช่วงเวลาที่เหมาะคือประมาณนี้นะ หรือหาอะไรที่เติมเต็มเขาได้มากขึ้น ในกรณีที่บริษัทเดินเร็วไป ศิลปินมากไปจนเราดูแลไม่ไหว มันก็ไม่ดี จริงๆ คิดว่ามิวซิกมูฟทำได้ดีกว่าปีที่แล้ว เบล – วริศรา ที่เป็นศิลปินใหม่ก็มีเพลงที่ติดตลาดและได้รางวัล อิ้งค์ – วรันธร และ SERIOUS BACON ก็ได้รางวัลจาก Spotify ความจริงรางวัลก็เป็นส่วนการันตีอย่างหนึ่ง และเรามองว่าถ้าสามารถสร้างธุรกิจไปซัพพอร์ตไปพร้อมๆ กับค่ายเพลงได้ในด้านต่างๆ ได้ อย่างเช่น ถ้าในฝั่งธุรกิจซัพพอร์ตเรื่อง NFT ได้ทัน มันก็จะโตไปพร้อมกับเทคโนโลยี แต่ในมุมของ Music Business เอง มันก็ยังมีความซับซ้อนในเรื่องของ Publishing Copyright ต่างๆ ที่เราต้องสร้างโครงสร้างหลังบ้านให้แข็งแรงทัน หรือพวกสัญญาธุรกิจต่างๆ การที่เราดีลกับ partner และ distributor ก็คือพัฒนาโครงสร้างของธุรกิจให้ซัพพอร์ต อันนี้ก็สำคัญเช่นกัน

ถ้าให้ลองสรุปว่า ภารกิจการต่อยอดก้าวใหม่ของมิวซิกมูฟในครั้งนี้ ฝั่ง Music Business ที่คุณดูแลจะให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรมากที่สุด หรือโฟกัสเรื่องอะไรมากที่สุด 

ต้องอธิบายมิวซิกมูฟแยกเป็น Business Unit ที่ดูแลของแต่ละธุรกิจ แต่ละส่วนก็จะวิ่งด้วยขาของตัวเองเพื่อซัพพอร์ตศิลปิน ภารกิจของมิวซิกมูฟคือการสร้าง Ecosystem ที่ล้อมรอบศิลปินและเพลงเป็นหลัก ดังนั้น หัวใจหลักสำคัญของเรา คือความแข็งแรงของศิลปิน ระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) และธุรกิจต่างๆ ที่ซัพพอร์ต ซึ่งเรามองว่ามันควรจะต้องโตไปพร้อมกัน 1. Music Business ก็ต้องดูแลสตรีมมิง ทำให้เพลงอยู่บนชาร์ต 2. Artist Management และ 3. Show Business ดูแลงานแสดงของศิลปิน ในขณะที่ 4. Marketing ก็อาจจะหาแง่มุมของการ Collaboration กับแบรนด์ต่างๆ เพื่อไปนำเสนอลูกค้า 5. Inter & New Business ก็ต้องพยายามตามเทรนด์ให้ทัน ต้องพัฒนา Digital Asset ขึ้นมาให้ทันกับโลกของ Metaverse สิ่งที่สำคัญอีกข้อคือ Partnership เพราะสิ่งที่เราพยายามเน้นย้ำคือการโตไปกับ partner ทั้ง Music Platform ต่างๆ หรือพวกผู้จัดงานคอนเสิร์ต ก็พยายามส่งเสริมเกื้อกูลกันเพื่อให้โตไปด้วยกัน 

เสริมในเรื่องของ Metaverse อีกเทรนด์หนึ่งที่ New Business ของเรากำลังพัฒนา นอกจาก NFT คือคริปโตเคอเรนซีต่างๆ ที่จะเข้ามามีส่วนมากขึ้นในอนาคต ใช้ในการซื้อบัตรคอนเสิร์ต หรือเป็นสื่อกลางในการช่วยซัพพอร์ตศิลปิน ตรงนี้เราก็กำลังพัฒนาร่วมกับ partner ต่างๆ เหมือนกัน 

แฟนๆ มิวซิกมูฟจะได้เห็นอะไรในปีนี้บ้าง 

ปีนี้มิวซิกมูฟเน้นพัฒนาด้านออนไลน์เป็นหลัก เราพัฒนา online-based ทั้งหมด เพราะเรามองว่าโควิดจะยังอยู่กับเราอีกสักพัก ความจริงที่ผ่านมาเราแข็งแรงเรื่อง on ground ศิลปินมีช่องทางในการออกไปแสดงค่อนข้างเยอะ รวมถึง Showbiz คอนเสิร์ต เฟสติวัลต่างๆ ปีนี้เราโฟกัสในการสร้างแบรนด์ ศิลปินทุกวันนี้ที่อยู่ได้เพราะเขามีฐานแฟนของเขาเอง มีแฟนซัพพอร์ตที่ดี เราพยายามรักษาแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะที่เข้ามาใหม่ๆ เช่น TikTok เมื่อก่อนเราอาจจะโปรโมตศิลปินผ่าน เฟซบุ๊กเป็นหลัก แต่ในวันนี้เราหันไปที่ TikTok มีคลิปเต้นหรือการตัดเพลงในคลิปสั้นๆ เราโฟกัสแพลตฟอร์มที่เป็น short video มากขึ้น เช่น IG story หรือ YouTube short เรียกได้ว่าเราวิ่งเข้าหาแฟนมากขึ้นดีกว่า แล้วก็พัฒนาสร้างฐานแฟนมากขึ้นในอนาคต เพื่อเข้าสู่ความเป็นออนไลน์พรีเซนเตอร์ 

เราจะพยายามพัฒนาศิลปินให้อยู่ในเบสของอินฟลูเอนเซอร์และพรีเซนเตอร์มากขึ้น แฟนๆ ก็น่าจะเห็นภาพแบบนี้มากขึ้นในปีนี้ ระหว่างนั้นก็เตรียม on ground ไปด้วย ถ้าโควิดซาเมื่อไหร่เราพร้อมลุยทันที อย่างปีนี้ อิ้งค์ก็กำลังมีอัลบั้มเต็มแรกในชีวิต แฟนๆ อาจจะรอคอนเสิร์ตของเขาอยู่ ถ้าโควิดซาและไฟเขียว เราพร้อมทันที รวมถึงคอนเสิร์ตของศิลปินอื่นๆ ในสเกลต่างๆ ที่เหมาะกับศิลปินคนนั้น

อีกเรื่องคือ ช่วงกลางปีเราจะมีแคมเปญใหญ่ของมิวซิกมูฟ เป็นแคมเปญใหญ่ที่มาครอบการ launch อะไรต่างๆ ออกไป เพื่อสร้างให้ทุกคนเห็นมิวซิกมูฟในภาพใหญ่ อยากให้รอติดตามกัน

 

ขอบคุณสถานที่ถ่ายทำ: ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์

 

Fact Box

  • มิวซิกมูฟ (Muzik Move) เป็นการรีแบรนด์มาจากค่ายเพลง สหภาพดนตรี เมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยเน้นการผสมผสานระหว่างดนตรีที่นำสมัยและศิลปะ ที่ลงตัว
  • ปัจจุบันกลุ่มผู้บริหาร มิวซิก มูฟ ประกอบไปด้วย ‘จุ๊บ’ - วุฒินันต์ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการ ร่วมกับ ‘ฟองเบียร์’ - ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซึ่งยังมีหน้าที่คอยดูแลค่าย Me Records และ ‘บอม’ - ดนุภพ กมล รองกรรมการผู้จัดการ ที่จะคอยขับเคลื่อนกำหนดทิศทางของบริษัท โดยยังมีอีก 2 โปรดิวเซอร์มืออาชีพมาบริหารค่ายหลัก อย่าง ‘โอ๊บ’ - เพิ่มศักดิ์ พิสิษฐ์สังฆการ ดูแลค่าย Muzik Move Records และ ‘พล’ – คชภัค ผลธนโชติ ดูแลค่าย Boxx Music 
  • ศิลปินของ มิวซิกมูฟ มีกว่า 50 ศิลปิน ใน 8 ค่ายย่อย อาทิ อิ้งค์ - วรันธร, เอิ๊ต - ภัทรวี, Season Five, Silly Fools, Hugo, บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์, SERIOUS BACON
Tags: , ,