พื้นที่หัวมุมถนนวิทยุและถนนเพลินจิตถือเป็นทำเลทองที่ทุกคนต่างก็ควานหา อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าพื้นที่นี้จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงด้วย One City Centre (OCC) อาคารสำนักงานให้เช่าความสูง 61 ชั้น เมกะโปรเจกต์ที่กลุ่ม Raimon Land ตั้งใจพลิกโฉมกรุงเทพฯ เป็นแลนด์สเคปใหม่ ยกระดับกรุงเทพฯ ให้ไม่ได้เป็นแค่เมืองหลวง แต่เป็นสุดยอดมหานครหลักในเอเชีย

“เราต้องการสร้างสถาปัตยกรรมที่สวยงามให้กับเมืองกรุงเทพฯ เป็นปอดแห่งใหม่ และเป็นพื้นที่ที่ใครก็สามารถเข้ามาใช้ได้”

ทั้งหมดนี้ เป็นความฝันของ กรณ์ ณรงค์เดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Raimon Land ที่วาดฝันโครงการนี้ให้เป็นมากกว่า High-End Office Building ไล่ตั้งแต่การแบ่งพื้นที่ 6 ไร่ของโครงการ ให้เป็นสวนขนาดใหญ่ 3 ไร่ เป็นปอดแห่งใหม่กลางใจกรุง และเมื่อเปิดทำการถาวร ร้านอาหาร และรูฟท็อปบาร์บนชั้นดาดฟ้าก็จะสะท้อนวิวของกรุงเทพฯ ในแบบที่ไม่มีใครเคยเห็น เติมแต่งทัศนียภาพของหัวมุมถนนเพลินจิตและถนนวิทยุให้เทียบเท่ามหานครชั้นนำอื่นๆ ของโลก

บ่ายวันหนึ่ง กรณ์ชวนเราเดินชมไซต์งานออฟฟิศที่หากสร้างเสร็จจะเป็นอาคารสำนักงานที่สูงที่สุดในประเทศ พร้อมกับบอกเล่าอาคารที่ Raimon Land และ Mitsubishi Estate ร่วมกันเสกสรรให้เป็นอัตลักษณ์ใหม่ใจกลางเมืองหลวง 

“สำหรับผม โครงการนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็น เมกะโปรเจกต์ เพราะเป็น Joint Venture ที่ร่วมกันระหว่างทาง Raimon Land ถึง 60% และอีกส่วนคือ Mitsubishi Estate ของญี่ปุ่น คืออย่างคนที่ญี่ปุ่นก็จะทราบว่า Mitsubishi Estate เป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ ถ้าเราไปเดินย่านกินซ่าที่โตเกียว ก็จะเห็นว่า 70% เป็นอาคารที่สร้างโดย Mitsubishi Estate” กรณ์เริ่มต้นเล่าให้ฟัง

เขาบอกความฝันของเขาว่านี่คือความฝันที่นอกเหนือจากผลกำไร และการเติบโตของไรมอนแลนด์คือการสร้างแลนด์มาร์กและแลนด์สเคปใหม่ให้กับมหานครอย่างกรุงเทพฯ

“ทุกโครงการของ Raimon Land เราไม่ได้มองแค่สร้างตึก สร้างคอนโดมิเนียม หรือสร้างออฟฟิศอีกต่อไป แต่เราต้องการสร้างสถาปัตยกรรมที่สวยงามให้กับเมือง”

 จุดพักผ่อนหย่อนใจใหม่ใจกลางกรุง

กรณ์บอกว่าโครงการพื้นที่ 6 ไร่แห่งนี้ จะถูกแบ่งออกเป็นสวน 3 ไร่ นอกนั้นจะเป็นอาคารสำนักงานที่คนที่ไม่ได้อยู่ในตึกก็สามารถเข้ามาได้

นอกจากสวนขนาดใหญ่ กรณ์ยังเตรียมงานศิลปะประเภทปูนปั้นหรือใบไม้ที่เปลี่ยนสี ผลัดใบแบบสลับฤดูได้ ซึ่งถึงที่สุด One City Centre จะกลายเป็นจุดพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่

ขณะเดียวกัน จุดขายอีกอย่างคือตึกความสูง 61 ชั้นแห่งนี้ ออกแบบโดยบริษัท SOM ซึ่งเป็นบริษัทสถาปนิกระดับโลก บริษัทเดียวกับที่ออกแบบอาคาร Burj Khalifa ที่ดูไบ และ One World Trade Center ที่นิวยอร์ก

และอีกส่วน นอกจากจะมีจุดเด่นเรื่องการออกแบบแล้ว ยังเป็นไปตามเทรนด์ Smart Building คือการ ประหยัดพลังงาน เพราะสามารถลดแอร์ ลดการใช้ไฟฟ้าได้ โดยเป็นการออกแบบพื้นที่รับแสงที่เป็นไปตามแสงอาทิตย์ สามารถเฉลี่ยแสงอาทิตย์ เฉลี่ยอุณหภูมิภายในได้ หลักคิดก็คือทุกคนที่ทำงานภายในตึกนี้ ต้องได้รับแสงธรรมชาติ เพราะกรณ์และ Raimon Land เชื่อว่า แสงธรรมชาติจะทำให้คนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความคิดสร้างสรรค์สูงที่สุด

นอกจากนี้ ภายในตึก 1 ชั้น 1,300 ตารางเมตร จะพบว่าไม่มี เสากลางคาไว้ เสาจะดันไปอยู่ส่วนริมทั้งหมด

“ตึกนี้มีอยู่ 61 ชั้น เพราะฉะนั้น ถ้าคุณขึ้นไปชั้นบนสุด คุณจะเห็นวิว 360 องศา เห็นถึงคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนออกแบบ เราได้ให้โจทย์ไปเลยว่า ถ้าผมเป็นคนต่างชาติ ผมมากรุงเทพฯ แล้วอยู่ที่นี่แค่ 3 วัน 3 คืน ผมต้องอยากมากินอาหารที่ตึกนี้ให้ได้ เพราะฉะนั้น ผมอยากให้เป็นไฮไลต์ของกรุงเทพฯ เป็นจุดหมายใหม่ ซึ่งเราจะเห็นชัดในเวลาอันใกล้นี้ เสร็จแล้วก็จะเป็นอะไรที่น่าตื่นใจทั้งของชาวไทยและชาวต่างชาติ

ขณะเดียวกัน อีกเรื่องที่เขาใส่ใจไม่น้อยก็คือ ออฟฟิศควรต้องมี สุขลักษณะที่ดี และเอื้อให้คนทำงานได้อย่างปลอดโปร่ง เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่กรณ์ ทำให้เขาเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างมากในการออกแบบระบบกรองอากาศภายใน จนเป็นตึกแรกในเอเชียแปซิฟิกที่ผ่านมามาตรฐาน Fitwel อาคารเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้อาคารประเภทอาคารสำนักงานให้เช่าโครงการแรกในไทย  

“เพราะวันนี้ ลูกบ้านเขาก็จะมองถึงเรื่องอากาศเป็นยังไง มีการกรองฝุ่น PM2.5 ไหม  แสงธรรมชาติพอไหม ซึ่งสุดท้ายเราผ่าน Criteria ทั้งหมด เราก็ได้รับมาตรฐาน 2 ดาว แล้วก็อีกรางวัลที่เราได้ก็คือ Office Development of the Year Thailand จาก Real Estate Asia Awards 2021 ก็เป็นอีกอันที่เราภาคภูมิใจ

สำหรับโลเคชั่นแห่งนี้ กรณ์บอกว่าได้มาเพราะเป็นพอร์ตเดิมของ Raimon Land ที่ต้องชื่นชมฝ่ายพัฒนาที่ดินที่สามารถหาพื้นที่ 6 ไร่เก่า กลางเพลินจิตได้ จนทำให้ เคพีเอ็น แลนด์ เล็งเห็นศักยภาพของที่ดินผืนนี้ จนต้องตัดสินใจเข้ามาถือหุ้นของ Raimon Land

 วิสัยทัศน์ใหม่ Luxury Reimagine

ตอนผมได้มีโอกาสเข้ามาทำที่นี่ มาจากความพยายามมองย้อนกลับไปว่าดีเอ็นเอหลักของ Raimon Land คืออะไร จนพบว่าลูกค้าของเรามักจะนึกถึง Luxury Product ส่วนในเรื่องของ Design แน่นอนถ้าพูดถึง Raimon Land ลูกค้าจะนึกถึง Luxury Product ในเรื่องของนวัตกรรมการออกแบบ เราก็เลยอยากจะโฟกัสในจุดที่เราแข็งอะไร เราก็ควรจะทำในจุดนั้น เช่น ผมทำข้าวผัดปูอร่อย ผมก็ควรจะขายข้าวผัดปู

คือก่อนหน้านี้จะมีพวกพอร์ต Food & Beverage ที่เรารู้สึกว่ามันไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น หรือมีคอนโดมิเนียมที่เป็นระดับกลาง เราก็จะเลิกทำตรงนั้นทั้งหมด ลูกค้าลิสต์ที่เรามีทั้งหมดคือบริษัทอยู่มา 33 ปี เพราะฉะนั้น ลิสต์ของกลุ่มลูกค้าที่จ่ายสูงสุดอย่างเดียว เรามีอยู่ 1.5 หมื่นชื่อ และใน 50% ของ 1.5 หมื่นชื่อ ก็เป็นลูกค้าวีไอพีของเราตลอด ซื้อกับเรามาอย่างน้อย 2-3 โปรเจกต์”

กรณ์บอกอีกว่าจุดแข็งอีกอย่างของ Raimon Land ก็คือทุกโครงการที่ผ่านมาล้วน Sold Out ทั้งหมด ไม่มีตึกไหนเหลือว่าง และในส่วนของลูกค้าชาวต่างชาติ ก็ยังคงขายได้หมดอย่างต่อเนื่อง

“เพราะฉะนั้น เรามี Fan Base ที่เป็นทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ หากจะไปข้างหน้า เราก็ต้อง Reimagine ใหม่ เพราะนิยามของความ Luxury วันนี้ กับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ต่างกันชัดเจน 10 ปีที่แล้ว Luxury อาจเป็นอะไรที่อู้ฟู่ อะไรที่ดูเป็นสีทองๆ

“แต่ Luxury สมัยนี้ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่ Luxury ต้องอยู่สบาย ต้องเป็น User Friendly เพราะ Luxury ใช่ Luxury สมัยก่อน อาจจะสวยงาม แต่ว่าอยู่จริงอาจไม่สบาย หรือว่า Function ไม่ได้ ก็เป็นได้

เพราะทั้งหมดเราทำโครงการที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ บ้านนอกจากสวย ก็จำเป็นต้องอยู่แล้วสบายใจ นั่นก็คือเรามองทุกอย่าง 360 องศาได้ อย่างเช่นว่า ทุกวันนี้เราจะคุยพนักงานเราทุกคน กับทีมงานเราทุกคนว่า ถ้าถามพนักงานของ Raimon Land ว่าทุกวันนี้เราขายอะไร จะไม่มีใครตอบว่าเราขายคอนโดมิเนียมนะครับ เราขายประสบการณ์ให้ลูกค้า เพราะเราเชื่อว่าการขายประสบการณ์ให้ลูกค้า ตั้งแต่นาทีแรกที่ลูกค้าเข้ามาจนตัดสินใจซื้อ จนเป็นลูกบ้าน จนอยู่กับเรา ถ้าทั้งหมด ลูกค้าได้ Experience ที่ดี เราเชื่อว่าลูกค้าจะอยู่กับเราในระยะยาว

ตลาดระดับบนกระทบน้อยช่วง โควิด-19

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตลาด โควิด-19 กระทบกับตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างหนัก ตลาดคอนโดมิเนียมหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงปี 2564 จากกำลังซื้อที่หดหาย ขณะเดียวกัน ตลาดอาคารสำนักงานก็หดตัวลงทั้งจากการปิดกิจการช่วงโควิด-19 และการปรับเปลี่ยนไปทำงานแบบ Hybrid Workplace หลังจากการ Work From Home ท่ามกลางโรคระบาด

ตัวเลขจากศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ ระบุว่า ความต้องการเช่าอาคารสำนักงานใหม่ (Net take-up) เมื่อปี 2564 ต่ำสุดในรอบ 22 ปี ที่ 27,325 ตารางเมตร เทียบกับ 153,000 ตารางเมตรปี 2562 หรือก่อนวิกฤตโควิด-19

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิกฤตผ่านพ้น ความต้องการก็เริ่มกลับมาเป็นปกติ ข้อมูลจากบริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า ปี 2564 ที่ผ่านมา ตลาดอาคารสำนักงานในพื้นที่ กรุงเทพฯ มีอัตราการเติบโตสูงสุดในช่วง 10 ปี และอาคารเกรด A มีอัตราการเช่าเฉลี่ยที่ 88.1% เป็นอัตราที่ดีที่สุด

กรณ์บอกว่าเมื่อ Raimon Land เซ็ตกลุ่มเป้าหมายให้อยู่ในระดับบน ฉะนั้น ไม่ว่าจะเกิดโรคระบาด หรือเกิดสงครามในยูเครน คนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าลูกค้าทั่วไป เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ การโอน ก็กระทบน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น

“ตั้งแต่โควิดเป็นต้นมา เราสามารถเคลียร์สต็อกที่มีอยู่ได้เยอะมาก จนปัจจุบัน Momentum กลับมาแล้ว ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ (2565) ลูกค้าเราก็กลับมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และอีกอย่างที่เป็นผลพลอยได้ก็คือลูกค้าระดับบนซึ่งไม่ได้ใช้จ่ายตอนโควิด ก็พร้อมใจกันใช้เงินเต็มที่ เพราะลูกค้าไม่สามารถเดินทางได้นานถึง 2 ปี เพราะฉะนั้น Spend เดิมที่เขาใช้กิน-เที่ยว ก็กลับมาเป็นการลงทุน”

อีกส่วนหนึ่งก็คือแนวคิดการทำงานหลัง ‘ควิด-19’ ที่ Scenario เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งก็คือมีการลดพื้นที่เยอะมาก เพราะสามารถทำงานแบบ ไฮบริดได้ แต่ในวิกฤตก็มีโอกาส เพราะฉะนั้น บริษัทที่เป็นเกรด A ก็จะกระทบน้อยกว่าบริษัทเกรด B ทั่วไป

“ถามว่ามีการลดพื้นที่มั้ย มีการลดพื้นที่แน่นอน ลูกค้าที่ ย้ายออฟฟิศจากตึกเก่า มาหาเราเขาอาจจะใช้พื้นที่เล็กลง แต่ว่าเหตุผลที่เราได้คือ ถ้ามองในแง่ความสะดวกสบายด้านการเดินทาง ด้านความปลอดภัย หรือชีวิตที่ดี แทนที่จะไปอยู่สเปซเก่าๆ ที่นี่อากาศปลอดโปร่งกว่าแน่นอน”

อีกส่วนหนึ่งก็คือทำเลที่ตั้ง เพราะถ้าเรามองในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ย่านใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ วิทยุ เพลินจิต และชิดลม เป็น 3 พื้นที่ที่แข็งแรงที่สุด เพราะลูกค้าต่างชาติล้วนมองหาโอกาส และสุดท้าย คือเหตุการณ์ในฮ่องกงเองยังคงไม่ค่อยมั่นคง จึงมีลูกค้าต่างชาติบางส่วนที่ตัดสินใจย้ายไปยังสิงคโปร์ ซึ่งกรุงเทพฯ ก็ได้ใบบุญนี้ด้วย ซึ่งโดยทำเลที่ตั้ง จริงๆ แล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าพื้นที่ตรงนี้สบายที่สุด

 ออฟฟิศที่ดี คือออฟฟิศที่ทำให้คน สร้างสรรค์ได้มากขึ้น

แล้วอาคารสำนักงานในฝันของนักธุรกิจหนุ่มอย่าง กรณ์ เป็นอย่างไร? – เราตั้งคำถาม

สมัยผมเด็กๆ ออฟฟิศจะเป็นแบบ Headcount Base ทุกคนจะมีโต๊ะเป็นของตัวเอง แต่ว่าตั้งแต่มีโควิดขึ้นมา ก็มีเทรนด์ใหม่ คือเดี๋ยวนี้ทุกอย่างจะเป็น Community Base แล้วก็จะมีเรื่อง Hot Seat แต่วันนี้ เป็นเรื่อง Activity Base ที่อยากให้ทุกคน Engage กัน

สมัยก่อน โดยปกติผู้บริหารต้องนั่งอยู่ในห้อง พนักงานนั่งอยู่ข้างนอก แต่เดี๋ยวนี้คือต้องทำงานด้วยกันมากขึ้น ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่เก่งมาก เพราะมี Input ที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ และยังมีทีมเวิร์ก”

กรณ์สรุปว่าสภาพแวดล้อมของออฟฟิศที่ดีคือออฟฟิศที่ทำงานได้โดยไม่เครียด เพราะสุดท้าย ความเครียดจะเป็นสิ่งที่ทำลายความคิดสร้างสรรค์อย่างรุนแรง

จากนั้น ลำดับขั้นหรือ Hierarchy ต้องน้อยลง ไม่ใช่ผู้บริหารต้องนั่งอยู่ในที่ผู้บริหาร พนักงานระดับกลาง ต้องอยู่ในที่นั่ง อยู่ในคอกของตัวเอง ทุกคนควรจะทำงานร่วมกันได้ ปฏิสัมพันธ์กันได้ เพราะพนักงานทุกคน ทุกระดับ ล้วนมี Input ที่สามารถทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด

และสุดท้ายคือเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะทุกวันนี้ ในหลายออฟฟิศ ถ้าจะออกไปประชุมก็เจอรถติด 1 ชั่วโมง ออกไปทานข้าวก็รถติด 1 ชั่วโมง

“แต่ที่นี่ เรามีร้านอาหารทุกอย่างที่ตอบโจทย์ ทั้งร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ไปจนถึงร้านอาหารสำหรับเลี้ยงลูกค้าสำคัญ นั่นแปลว่าสามารถจบทุกอย่างได้ในออฟฟิศเดียว สามารถประหยัดเวลา มีความสะดวกสบาย อีกทั้งยังเพิ่มเรื่องของ Application ในเรื่องที่สื่อสารกับลูกบ้านได้หมด ตั้งแต่ร้านอาหาร สามารถสั่งและ Service ในตึกได้ เพราะฉะนั้น ก็สามารถประหยัดเวลา และมีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น”

กรณ์ระบุอีกว่า ที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี โดยมีบางส่วนที่เซ็นสัญญาไปแล้ว บางส่วนอยู่ภายใต้การเจรจา แต่ทั้งหมด ล้วนเป็นบริษัทนานาชาติ โดยคาดว่าน่าจะเปิดเผยชื่อได้ในเดือน 2 เดือนนี้

จริงๆ Office Luxury ถ้าเกรด B การแข่งขันจะค่อนข้างสูง เพราะว่ามีเยอะ แต่ในเรื่องของเกรด A นี่จริงๆ ถ้าตึกเราเสร็จ ก็จะเป็นตึกออฟฟิศที่สูงที่สุดในประเทศไทย จริงๆ โครงการเกรด A ตอนแรกก็จะมีอีกโปรเจกต์หนึ่งที่อยู่แถวๆ นี้ แต่ว่าเขาดีเลย์ไปนิดนึง เรียกว่าเป็นโอกาส สำหรับเราที่จะเสร็จก่อนเขา 2 ปี แล้วยังโชคดีที่อยู่ติดกับสถานทูตอเมริกา เพราะเราได้เรื่องของวิวสวน แล้วก็ได้บรรยากาศสีเขียวเต็มปอด”

ทุกครั้งที่มีปัญหา จะทำให้แกร่งขึ้น

ในมุมมองของนักธุรกิจรุ่นใหม่อย่างกรณ์ แม้ช่วงโควิด-19 จะเป็นช่วงเวลาวิกฤตที่สุดในโลก แต่ทั้งหมดย่อมมีโอกาส เพียงแต่ต้องหาช่องมองให้ออก

ตอนเด็กๆ เวลาเจอปัญหา ก็จะคิดว่าทำไมปัญหาเยอะจัง เหนี่อย สมัยนั้นคุณแม่ (คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช) จะบอกเราทุกครั้งว่าเวลาที่เรามีปัญหา เราจะแข็งแรงขึ้น แล้วปัญหาส่วนมาก ก็จะมีอยู่แค่สี่ห้าอย่าง หากเราเคยเจอปัญหานี้แล้ว ในอนาคตเราเจอปัญหามันก็จะเป็นคล้ายๆ กัน เราก็จะผ่าน แล้วเราก็จะรู้วิธีแก้ปัญหา

สำหรับทุกครั้งที่มีปัญหา ต้องแก้ด้วยสติ อย่าแก้ด้วยอารมณ์ ถามว่าช่วงนี้เหนื่อยไหม ทุกคนก็เหนื่อยกันหมด ก็ต้องช่วยปรับกลยุทธ์ในเรื่องธุรกิจ ทุกอย่างมันมี Cycle ของมันเองเสมอ” กรณ์ระบุ

ถามถึงแผนระยะยาวของ Raimon Land กรณ์บอกว่าอันดับแรกคือการ Rebranding แล้วหลังจากนั้นก็วางวิสัยทัศน์ระยะยาว คือต้องการให้ Raimon Land ขึ้นเป็นชื่อแรก หากพูดถึง Luxury Property ภายใน 3-5 ปีนี้

นอกจากนี้ เขายังอยากเห็นประเทศไทยเป็นฮับของระดับนานาชาติ ไปพร้อมๆ กับขยายโครงการของ Raimon Land ออกไปโตนอกกรุงเทพฯ ก่อนจะขยายการเติบโตไปถึงต่างประเทศด้วย

ช่วงต้นปีหน้า ก็จะมีการทำเรื่องของ Data Center เพื่อส่งเสริมอสังหาริมทรัพย์ของเราให้เซ็กซี่ขึ้น เพราะเราเชื่อว่า Data Center ก็เป็นอสังหาริมทรัพย์อย่างนึง เพราะปัจจุบันเรื่อง Data Consumptionหรือการเก็บข้อมูล บริโภคข้อมูลนั้นเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องการซื้อของออนไลน์ และการเก็บข้อมูลนั้นเป็นโอกาสที่โตไปได้เยอะ ซึ่งอยู่ในพอร์ตที่จะเข้ามาเสริมการเติบโตให้กับ Raimon Land นอกเหนือจากอสังหาฯ ทั่วไป

ส่วนความท้าทายที่สำคัญก็คือในยุคนี้ไม่สามารถที่จะวางแผน ระยะยาวได้ ซึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายๆ แห่ง ก็ประสบปัญหาเช่นนี้หมดหลังจากเจอโควิด-19

แต่หลังจากนี้ เขาเชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยทุกโครงการจะต้องมองภาพระยะยาว 3-5 ปี โดยสิ่งที่นักธุรกิจหนุ่มอย่างเขาพยายามทำคือเร่งพัฒนาที่ดินให้เร็วขึ้น

สมัยก่อนเวลาซื้อที่มา อาจจะซื้อที่มาถือสักสองปี กว่าจะพัฒนาโครงการ ซึ่งก็จะมีค่าดอกเบี้ย ค่าต้นทุนอื่นๆ ซึ่งในส่วนของการพัฒนาที่ดินแล้วขาย เราพยายามจะทำให้เร็วขึ้น ถ้าได้ที่มาแล้วปุ๊บ เราจะพัฒนาโครงการให้เร็วขึ้นเลย

อีกอันก็คือในเรื่องที่เราต้องการเป็น Asset Light Companies ใหม่ หมายความว่า ปัจจุบันนี้การทำโครงการหนึ่ง ต้องยอมรับว่าที่กรุงเทพฯ ตอนนี้ถ้าซื้อที่แปลงหนึ่ง ต้องลงทุน 1,000-2,000 ล้านบาท เราเชื่อว่าเรามี Know-How กับเรามีแบรนด์ที่เราจะทำ

การเป็น Asset Light หมายความว่า สมมติธนาคารนี้เอาที่ดินมาลงกับเรา เราพัฒนาโครงการให้ แล้วเป็น Joint Venture Partner แทนที่บริษัทต้องลงเงินไปซื้อที่ เราก็จะเป็น Platform ในเรื่องที่ว่า ถ้าใครที่มีที่ดิน แต่อาจจะไม่มี Know-How เราสามารถร่วมมือกัน จับมือกันทำงานด้วยกันได้

นอกจากนี้ Raimon Land ก็จะก้าวไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยวางแผนไว้ว่า โครงการหลังจากนี้ 80% จะทำเป็น Residential โดยการนำแบรนด์โรงแรมมาสวมเป็นคอนโดมิเนียม

ถามว่าทำไม สุดท้ายสิ่งที่เราต้องการจะเขยิบต่อไปคือ ถ้าสมมติผมทำโครงการที่ทองหล่อ ลูกค้าก็จะเทียบว่าโครงการเรากับโครงการรอบๆ ขายเท่าไร เปรียบเทียบข้อต่างๆ

แต่พออะไรที่มันมีแบรนด์มาสวมปุ๊บ สมมติเป็น Rosewood เป็น Four Seasons เป็น Peninsulaลูกค้ารู้แล้วว่าแบรนด์ประมาณนี้จะได้คุณภาพ ได้ความหรูหราประมาณไหน เราไม่อยากแข่งขันด้วยราคา เราอยากแข่งด้วยคุณภาพ และอยากให้ Raimon Land เป็นแบรนด์ที่คุณภาพสูงที่สุด”

Tags: , , , , ,