จะมีโรงแรมสักกี่แห่งที่คุณจองห้องไว้ก่อนซื้อตั๋วเครื่องบิน จะมีย่านสักกี่ย่านในกรุงเทพฯ ที่คนตั้งใจมา เพราะอยากนอนโรงแรมนี้ ไม่ใช่แค่เพราะทำเลหรือราคาดี แต่เพราะมันสนุก น่ารัก และเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์แบบที่หาไม่ได้จากที่ไหน
นั่นคือสิ่งที่ Kitsch Hotel ตั้งใจจะเป็น Destination ที่คนอยากมาถึง ไม่ใช่เพียงที่พักระหว่างทาง แต่เป็นจุดหมายปลายทางของคนรักศิลปะ แฟชั่น และความลงตัว
เบื้องหลังไอเดียสุดจัดนี้คือ ลูกศร-ศรุติ ตันติวิทยากุล และอั้ม-บุญญนัน เรืองวงศ์ คู่รักสายอาร์ตเจ้าของร้านมัลติแบรนด์อย่าง Daddy and the Muscle Academy, Frank Garcon และร้านอาหารใต้รสเข้ม ‘ปากนัง’ ที่พลิกโรงแรมเก่าอายุ 3 ทศวรรษกลางย่านราชเทวี ให้กลายเป็น Theme Hotel ที่มีห้องพักถึง 19 สไตล์
ก่อนจะไปถึงเรื่องของ Kitsch Hotel เราอยากอธิบายภาพรวมของ Theme Hotel ก่อนว่าหมายถึงโรงแรมที่มีคอนเซปต์ชัดเจน และนำเสนอประสบการณ์เข้าพักที่สอดคล้องกับแนวคิดหรือธีมที่ตั้งใจวางไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบ ตกแต่ง ไปจนถึงบริการ โดยมีเป้าหมายว่า ไม่ต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นแค่ที่พัก แต่คือการสร้างประสบการณ์เฉพาะตัวให้กับแขกที่มาเยือน
ในไทย Theme Hotel มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลัก เพราะนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเริ่มมองหาประสบการณ์แปลกใหม่ ไม่ใช่แค่หาที่พักเพื่อความสะดวกสบาย แต่ต้องน่าจดจำ ทำให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หันมาสร้างจุดขายที่ชัดเจนผ่านธีมที่แตกต่าง ถือเป็นตลาดที่ยังมีช่องว่างให้เล่าเรื่อง และออกแบบประสบการณ์ได้อีกมาก
รีโนเวตตึกเก่า 30 ปี
ก่อนที่ตึกเก่าย่านราชเทวีจะกลายเป็น Kitsch Hotel โรงแรมธีมที่เต็มไปด้วยลูกเล่นและสีสัน ลูกศรผู้ก่อตั้งโรงแรมแห่งนี้เล่าว่า ตัวเองกับทีม Daddy and the Muscle Academy นั่งคุยกันเรื่องอนาคตของธุรกิจว่า จะขยายธุรกิจไปในทิศทางไหน และต้องการทำอะไรสนุกๆ ไปด้วย
“ลูกศรเป็นคนชอบเที่ยว ชอบที่ที่มันน่าค้นหาหรือไม่เหมือนใคร เวลาไปต่างประเทศก็จะหาโรงแรมธีมที่สร้างประสบการณ์พิเศษได้ เราเลยรู้สึกว่าในไทยยังไม่มีโรงแรมที่กล้าทำอะไรแบบนั้นสักเท่าไร เลยคิดว่านี่แหละคือช่องว่าง” ลูกศรเล่า
จากบทสนทนาในทีมเรื่องทิศทางธุรกิจ จึงเริ่มมีคำถามว่า “เราจะโตต่อยังไงดี” จะเปิดร้านเสื้อผ้าอีกสาขาดีไหม หรือทำอะไรใหม่ๆ ที่ยังเกี่ยวกับความถนัดเดิมคือ การเล่าเรื่อง การออกแบบ และการสร้างโลกแฟนตาซีที่ทำให้คนรู้สึกสนุกเวลาเข้ามาสัมผัส
Kitsch Hotel จึงกลายเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่ท้าทายและน่าตื่นเต้นสำหรับลูกศรและทีม
ฝั่งอั้ม ซึ่งเป็นทั้งคู่ชีวิตและพาร์ตเนอร์ในโปรเจกต์เสริมว่า จริงๆ แล้วที่ตรงนี้ก็มาจากคนรู้จักของลูกศรเอง “คือศรคุยกับผมว่าอยากทำโรงแรม แล้วพอดีมีญาติของเขาที่รู้จักเจ้าของตึกนี้ บอกว่าตึกนี้เคยเป็นโรงแรมมาก่อน แต่ไม่ได้ทำต่อ ศรก็เลยคุยกับพี่สาว ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร้าน Daddy อยู่แล้ว พี่สาวก็เลยช่วยถามให้ว่า มีที่ไหนน่าสนใจบ้าง แล้วก็มาจบตรงนี้”
เดิมทีตึกนี้เคยเปิดเป็นโรงแรมมากว่า 30 ปี แต่หยุดดำเนินกิจการไปหลายปี โครงสร้างยังดี เพียงแต่ต้องรีโนเวตใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่หน้าตา ฟังก์ชัน ไปจนถึงคอนเซปต์ที่อยากให้ทุกคนเข้ามา “เรารู้สึกว่าเราถนัดเรื่องนี้อยู่แล้ว คือการสร้างพื้นที่ที่มีเรื่องเล่า มีสีสัน และทำให้คนมาแล้วจำได้” ลูกศรว่า
“ตอนแรกก็คิดว่าทำแถวราชเทวีน่าจะยาก แต่พอขึ้นมาดูตึกจริงๆ ก็คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ ทั้งเรื่องเงินทุนและโอกาส ตอนนั้นเรามองว่า โรงแรมธีมในไทยยังมีน้อยมาก และกรุงเทพฯ ก็เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวอยู่แล้ว ยังไงนักท่องเที่ยวก็ต้องแวะ เราเลยคิดว่าถ้าทำโรงแรมที่มีคาแรกเตอร์ชัดๆ น่าจะเวิร์ก” อั้มว่า
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้โปรเจกต์นี้เป็นไปได้คือ ความสามารถในการลงมือทำด้วยตัวเอง “เราทำเองได้หลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องดีไซน์ เรารู้ว่าอยากได้แบบไหน ถ้าไปจ้างอินทีเรียเยอะๆ แล้วต้องรวมให้ออกมาทิศทางเดียวกัน มันจะยิ่งยากกว่าเดิมอีก” อั้มเล่า
Data
เมื่อลูกศรและอั้มทำร้าน Daddy And the Muscle Academy พวกเขาอาจไม่คิดว่าวันหนึ่ง Data ที่เก็บจากการทำธุรกิจจะนำไปสู่การเปิดโรงแรม ซึ่ง Data เหล่านี้มีส่วนสำคัญไม่น้อย และกลายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้
“จากการทำร้าน Daddy ศรได้เก็บข้อมูลว่า มีลูกค้าเป็นคนไทยกี่เปอร์เซ็นต์ ต่างชาติกี่เปอร์เซ็นต์ และเวลามาที่ร้านเขามีพฤติกรรมการซื้ออย่างไร เราพบว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ และเราเก็บข้อมูลจนรู้ว่าลูกค้าจะมาเยอะในเดือนไหน เขาชอบอะไร เช่น ลูกค้ากลุ่มนี้ชอบความกุ๊กกิ๊ก และเขาซื้อสินค้าด้วยความรู้สึก” ลูกศรเล่า
จากข้อมูลนี้ทำให้ทั้ง 2 คนเข้าใจกลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง และกล้าที่จะต่อยอดไปสู่ Kitsch โรงแรมเล็กๆ ที่ไม่ได้วางโมเดลธุรกิจเป็นโรงแรม แต่เป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์
“ศรไม่ได้มองว่า Kitsch เป็นโรงแรมที่ลูกค้ามาเพื่อนอนและเช็กเอาต์ แต่เราอยากให้เขาตื่นมาแล้วรู้สึกว่าได้รับประสบการณ์พิเศษ อย่างการนอนในห้อง Candy Cottage ที่ตื่นมาในห้องของคุณยายชาวสวีดิช หรือห้องที่รู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในโลกแฟนตาซี” ลูกศรเล่า
เธอหัวเราะเบาๆ ก่อนเสริมว่า “ศรทำโรงแรมนี้โดยเอาประสบการณ์เป็นที่ตั้ง เหมือนตอนขายของในร้าน Daddy ที่ไม่ได้ขายแค่พวงกุญแจ แต่ขายความชอบ และประสบการณ์”
คำว่า ประสบการณ์ คือหัวใจสำคัญของทุกสิ่ง อั้มเล่าว่า จุดร่วมของ Daddy กับ Kitsch คือ คนไม่ได้ซื้อฟังก์ชัน แต่ซื้ออารมณ์ ซื้อเพราะมีเรื่องเล่า มีความพิเศษที่ทำให้เขายอมจ่ายเงิน และ Data ที่ได้มาก็นำมาต่อยอดได้หลายอย่าง เช่น ทำให้รู้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเพื่อนผู้หญิง 4 คน พอได้ข้อมูลแล้วก็นำมาดีไซน์ห้องพักให้ตอบโจทย์การมาด้วยกัน 4 คน
“Data มันอาจจะไม่ตรงกันเป๊ะระหว่างร้านกับโรงแรม แต่ช่วยกันต่อยอดได้ เพราะสุดท้ายแล้วสินค้าอาจไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เขาซื้อคือ วิธีคิด วิธีเล่าเรื่องที่เหมือนกัน”
ลูกศรเสริมว่า แม้ลูกค้าคนไทยกับต่างชาติจะมีพฤติกรรมต่างกัน แต่สิ่งที่ตรงกันคือ ทุกคนอยากได้ประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกพิเศษ “ลูกค้าเรามีหลายกลุ่ม บางกลุ่มมากับเพื่อน อยากถ่ายรูปสวยๆ หรือมองว่าที่นี่เป็นสตูดิโอถ่ายรูป บางครอบครัวก็พาลูกมา เพราะเขาอาจไม่มีเวลามากพอที่จะพาลูกๆ ไปเที่ยวสวนสนุก การพาพวกเขามาที่นี่ก็เหมือนได้พาลูกมาเติมเต็มจินตนาการ ได้เห็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจ” ลูกศรกล่าว
จากประสบการณ์สู่การสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง
ตอนเริ่มทำ Kitsch ลูกศรบอกว่า ทีมไม่ได้เริ่มจากไอเดียลอยๆ แต่กลับไปดูว่าแต่ละคนในทีมมีอะไรในมือที่พร้อมและลงมือทำได้จริง ลูกศรเติบโตมากับครอบครัวที่รับเหมาก่อสร้าง และผ่านประสบการณ์ทำร้านมาหลายครั้ง จึงไม่กลัวงานก่อสร้าง แถมยังมีเฟอร์นิเจอร์ที่เก็บไว้เพียบ “มันเหมือนทุกอย่างลงตัว ถูกที่ ถูกเวลา ถูกจังหวะ ทุกคนมีความพร้อม จึงเกิดเป็น Kitsch ขึ้นมา” เธอเล่า
ขณะที่อั้มเสริมว่า ถ้าไม่ได้ผ่านการทำร้าน Frank กับ Daddy หลายสาขามาก่อน คงไม่กล้าทำโรงแรม เพราะประสบการณ์เหล่านั้นทำให้พวกเขาออกแบบ อ่านแบบ เข้าใจ BOQ (Bill of Quantities: ใบแสดงรายการปริมาณและราคา) และรู้ว่าปัญหาในไซต์งานจริงต้องเจออะไรบ้าง
“จากที่เคยสร้างร้าน 100 ตารางเมตร พอมาทำโรงแรมก็แค่ขยายเป็น 1,000 ตารางเมตร เหมือนเราทำร้าน 19 ร้านพร้อมกัน” อั้มเล่าพลางหัวเราะ
อั้มเล่าต่อว่า ตอนแรกก็ลองเรียกอินทีเรียมาคุยถึง 3 เจ้า แต่พบว่าแม้ Mood Board จะดูดีแค่ไหน พอลงหน้างานจริงก็อาจไม่แมตช์ และอินทีเรียอาจใช้เวลาเป็นเดือนๆ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ทีมที่อยากควบคุมทั้งงบและเวลา สุดท้ายเลยตัดสินใจออกแบบเองทั้งหมด
เบื้องหลังการออกแบบและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน
“นับตั้งแต่วันแรกที่ให้ช่างเข้ามารื้อห้อง จนถึงวันที่เปิดประตูโรงแรม น่าจะใช้เวลาราวๆ 8-9 เดือน” อั้มเล่าถึงจังหวะที่การดีไซน์กับรีโนเวตวิ่งไปพร้อมกัน ส่วนการออกแบบแต่ละห้องไม่ได้มีสูตรตายตัว บางห้องเริ่มจากมีเฟอร์นิเจอร์อยู่แล้ว แล้วค่อยคิดธีม เช่น ห้อง 401 ที่ได้เฟอร์นิเจอร์มาก่อน แล้วจึงเริ่มแต่งห้องในธีม อาร์ต นูโว (Art Nouveau) ออกแบบห้องสวนดอกไม้แบบเพนต์มือ หรือจะเป็นห้อง 301 ธีม Kitsch ที่ได้แรงบันดาลใจจากซีรีส์ Queen’s Gambit ตกแต่งในสไตล์ยุค 50s
“ตอนแรกเรามีธีมเยอะมาก เลยเอามากองรวมกัน แล้วให้ทีมที่มีทั้งสายบัญชี สายกฎหมาย และคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่สายอาร์ตมาช่วยกันดูว่าไอเดียไหนเวิร์ก ปรากฏว่าห้องที่ถูกเลือกคือ ห้องที่ผ่านมาคัดเลือกมาแล้วเป็นอย่างดี เช่น ห้องแอปเปิลที่ดูแฟนตาซีมากๆ มีมุมให้เซลฟีใต้ต้นแอปเปิล ตอนแรกทีมก็คิดว่าจะรอดไหม พอเปิดจริงกลับเป็นห้องที่ขายดีที่สุดห้องหนึ่ง สุดท้ายมันอยู่ที่ว่าเราเลือกตรงกับกลุ่มเป้าหมายหรือเปล่า ไม่ได้แปลว่าต้องแมสเสมอไป”
“แต่ไม่ใช่ทุกไอเดียจะทำได้เลย มีบางห้องที่ตอนแรกวางคอนเซปต์ไว้อลังการมาก เหมือนอยู่ในอวกาศ พอเริ่มทำราคาสูงเกือบ 5 แสนบาท เราก็ต้องกลับมาทบทวนใหม่” ลูกศรอธิบายถึงแนวทางการออกแบบ
อั้มเสริมว่า ที่ Kitsch ตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน และนำข้อมูลที่ได้จากร้านแด๊ดดี้เข้ามาประกอบ ทำให้เห็นภาพลูกค้าได้ชัดว่าเป็นใคร ชอบอะไร และควรดีไซน์โรงแรมให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่สุด
ทั้งสองคนเล่าว่า ตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนไทย จาก 300 บิล ครึ่งหนึ่งเป็นคนไทย ที่เหลือเป็นต่างชาติหรือนักท่องเที่ยว โดยครึ่งหนึ่งของต่างชาติเป็นชาวจีน รองลงมาคือ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และกลุ่มที่ใช้ภาษาจีนอย่างไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ เรียกได้ว่าอัตราผู้เข้าพักคนไทยและต่างชาตินับเป็นครึ่งต่อครึ่ง
ปักหมุดเป็น Destination
เวลาพูดถึงโรงแรม หลายคนอาจนึกถึงการบริการที่ดี ราคาคุ้มค่า หรือความสะดวกสบายเป็นอันดับแรก แต่ Kitsch Hotel กลับเลือกเดินอีกเส้นทางหนึ่ง เส้นทางที่เริ่มต้นด้วยคำว่า ประสบการณ์
“ถ้าพูดถึงเรื่องราคา ลองดูถนนเส้นนี้สิ โรงแรมตั้งเรียงกันเต็มไปหมด ถ้าต้องสู้ด้วยราคา ก็คงสู้กันไม่มีวันจบ” อั้มกล่าว
ด้านลูกศรเล่าย้อนถึงช่วงเริ่มต้นทำโรงแรมว่า อยากเป็นแค่อีกส่วนหนึ่ง หรือเป็น จุดหมายปลายทาง “สำหรับศร ถ้าต้องลงไปเล่นในสงครามราคา แค่ถนนเส้นนี้ก็มีโรงแรมแน่นแล้ว ถ้าเราเน้นราคา ก็คงไม่ได้รีโนเวต ถ้าเราอยากชนะ เราต้องเป็น Purple Cow (กลยุทธ์การตลาดที่เน้นทำสินค้าหรือบริการให้โดดเด่น น่าจดจำ และถูกพูดถึง) ฉะนั้นเราไม่ได้มองว่าที่นี่เป็นแค่โรงแรม แต่เป็นการสร้างประสบการณ์ที่ทำให้ผู้คนอยากมา”
สำหรับเธอแล้ว การลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ไม่ใช่แค่การมองหาโอกาสในตลาด แต่ต้องเริ่มจากตัวเองก่อนเสมอ “ศรจะไม่เลือกทำธุรกิจอะไรก็ได้ แต่จะทำเฉพาะสิ่งที่เรารู้สึกว่า เราต้องเป็นหนึ่งเดียวกับมัน เป็นผู้บุกเบิกในน่านน้ำนั้นๆ” พร้อมยกตัวอย่างถึง Daddy and the Muscle Academy ร้านมัลติแบรนด์ที่เปิดมากว่า 10 ปี จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่อยากสร้างร้านที่คนเข้ามาแล้วได้แรงบันดาลใจกลับไป ไม่ใช่แค่ซื้อของอย่างเดียว เมื่อมาถึง Kitsch เธอยังคงยึดมั่นในแนวทางเดิม หากต้องแข่งในสนามที่มีคู่แข่งมากมายอย่างธุรกิจโรงแรม เป้าหมายของเธอจึงไม่ใช่การเป็นหนึ่งในตัวเลือก แต่เป็นจุดหมายปลายทางที่ใครๆ ก็อยากมา
ที่ Kitsch ไม่ได้เน้นขายโปรโมชัน 1 แถม 1 หรือบอกว่าที่นี่สะดวกสบายที่สุด แต่กลับใช้ภาษาของแฟชั่น งานดีไซน์ และโลกออนไลน์ ทำให้ลูกค้าเห็นห้องพักแล้วจินตนาการได้ทันทีว่า ‘วันเกิดฉัน ต้องนอนห้องเค้ก’ หรือ ‘ถ้ามากับแฟน ต้องจองห้องนี้’
อั้มเสริมว่า “การทำแบบนี้ง่ายกว่าทำแบบเดิมด้วยซ้ำ เพราะคู่แข่งยังไม่เยอะ แต่ถ้าเราทำแบบธรรมดาให้สบายที่สุด แบบที่ใครๆ ก็ทำกัน จุดขายจะไม่ต่างกันเลย ทุกโรงแรมก็มีเหมือนกันหมด เพราะงั้นเวลาจะทำตลาด เราต้องเริ่มจากถามตัวเองก่อนว่า จุดขายของเราคืออะไร เราอยากขายประสบการณ์หรือเปล่า แล้วสำรวจตลาดว่ามีโรงแรมกี่แห่งที่ขายสิ่งนี้เป็นจุดเด่นจริงๆ”
Team Kitsch
หลายคนอาจเคยได้ยินคำเตือนว่า ‘อย่าทำงานกับแฟน’ เพราะมักลงเอยด้วยการทะเลาะหรือความสัมพันธ์ที่สั่นคลอน แต่สำหรับอั้มและลูกศร การทำงานกับคนรักกลายเป็นเรื่องธรรมชาติที่ลงตัว พวกเขาเป็นทีมออกแบบ คิดธีม และลงมือเองทุกขั้นตอน อั้มและลูกศรบอกว่าแทบไม่เคยทะเลาะกันเลย “แค่บางทีจะคุยกันเฉยๆ ว่า เราคิดไม่เหมือนกันนะ” อั้มเล่า
ลูกศรเสริมว่า ก็มีบ้างที่เห็นไม่ตรงกัน เช่น ครั้งหนึ่งที่อั้มเสนอให้ทำห้องธีมอวกาศ เธอก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า แล้วใครจะอยากนอนห้องนี้ ทั้งคู่จึงมักแลกเปลี่ยนความเห็นกันเสมอว่า กลุ่มเป้าหมายของแต่ละห้องคือใคร ห้องนี้จะขายได้จริงไหม โดยกระบวนการทำงานของทั้งคู่จะแบ่งหน้าที่ชัดเจน ลูกศรจะเป็นคนกำหนดอารมณ์ของห้อง ทำ Mood Board จากภาพต่างๆ ก่อนให้อั้มนำไปพัฒนาต่อเป็นแบบร่างและลงมือทำจริง
“จริงๆ เขารู้จักกลุ่มเป้าหมายดีกว่าผมอีก ผมก็แค่ใช้ประสบการณ์ให้มันออกมาในงบประมาณที่ตั้งไว้ ก็มีบ้างที่ออกแบบแล้วตัดทิ้ง เพราะไม่เวิร์กจริงๆ เมื่อเห็นภาพรวมทั้งหมด จึงเลือกเก็บเฉพาะห้องที่แตกต่างและหลากหลายไว้เท่านั้น ปกติแล้วเวลาไปเที่ยว ผู้หญิงจะเป็นคนเลือกห้อง เลือกโรงแรม ผู้ชายมีหน้าที่จ่ายเงินและถือกระเป๋าตาม บางทีไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จะไปไหน ถ้าเอาความคิดผมทั้งหมด โรงแรมคงเป็น Star Wars ทุกห้อง แล้วใครจะมาพักล่ะ” อั้มอธิบายเหตุผลที่ทำให้เขาเชื่อใจให้ลูกศรเป็นคนตัดสินใจ
แล้วทำยังไงให้การทำงานราบรื่น “ต้องดูว่าเป้าหมายของเราคืออะไร ถ้าเป้าหมายสูงสุดของเราคือแค่ธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่ครอบครัวไม่มีความสุข แบบนั้นก็คงไม่ใช่ เราต้องกลับมาคุยกันว่าทางที่เดินอยู่ มันใช่หรือเปล่า” อั้มอธิบาย
ลูกศรเสริมว่า เธอกับอั้มโชคดีที่เคมีการทำงานตรงกัน “เราเป็นคนทำงานหนักทั้งคู่ และตัดสินใจด้วยข้อมูล ไม่ใช่อารมณ์ เราสามารถสวิตช์เรื่องความสัมพันธ์กับเรื่องงานได้แบบธรรมชาติสุดๆ ทุกการตัดสินใจจะคำนึงถึงความจริง ดูว่า Data เป็นยังไง ยอดขายเป็นยังไง เราอาจโชคดีที่คำตอบมักออกมาคล้ายกัน การได้ทำงานด้วยกันจึงถือเป็นการใช้เวลาร่วมกันด้วย”
อั้มเปรียบการทำงานกับลูกศรเหมือนการเล่นเกมที่มีผู้เล่นร่วมตลอดเวลา “งานของผมเหมือนเกม มีด่านใหม่ให้แก้ไปเรื่อยๆ และมีคนเล่นด้วยกันอยู่เสมอ”
ยังไม่มีแผนจะขยาย แต่ก็ไม่ได้ปิดโอกาส
ลูกศรเล่าว่า ตอนนี้ Kitsch Hotel เพิ่งเปิดมาประมาณ 3 เดือน ยังเร็วเกินไปที่จะพูดเรื่องขยายหรือเปิดสาขาใหม่
“เราอยากเก็บข้อมูลก่อน อยากรู้ว่าจริงๆ แล้วลูกค้าเป็นใครกันแน่ หน้าตาเป็นยังไง เดินทางมายังไง ขับรถมาเองไหม บินมาหรือมาเที่ยวกรุงเทพฯ ก่อนแล้วค่อยต่อไปที่อื่น ถ้าเราเข้าใจลูกค้าจริงๆ แล้ว วันหนึ่งค่อยคิดว่าถ้าจะมี Kitsch อีกแห่ง มันควรจะอยู่ที่ไหน เช่น ถ้ารู้ว่าลูกค้าชอบไปทะเล ก็อาจมี Kitsch ริมทะเลก็ได้ หรืออาจจะที่เขาใหญ่ เชียงใหม่ ก็เป็นไปได้หมด”
อั้มเสริมว่า ตอนนี้โฟกัสหลักคือ ทำที่กรุงเทพฯ ให้ดีที่สุดก่อน “ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องรีบขยายหรอก มองเกมยาวๆ ดีกว่า โรงแรมคืนทุนจริงๆ บางทีใช้เวลา 7-10 ปี เราเองก็ยังใหม่กับธุรกิจโรงแรม ยังไม่รู้เลยว่า 1 ปีจะคืนทุนแค่ไหน เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็เก็บข้อมูลไปก่อนดีกว่า แล้วค่อยดูว่าอีก 2-3 ปีจะโตในทิศทางไหน แล้วค่อยวางแผนขยาย เตรียมเงินทุนให้พร้อม”
โรงแรมแนวคอนเซปต์แบบ Kitsch อาจจะมีจังหวะพีกของมันแค่ช่วงแรกก็ได้ แล้วหลังจากนั้นก็อาจจะต้องปรับหรือรีเฟรชบ้าง “เราอาจต้องเปลี่ยนธีมเรื่อยๆ ก็ได้ ลูกค้าจะเป็นคนบอกเราเอง แต่ถ้าจะรีโนเวตเปลี่ยนธีม ต้องคิดให้รอบด้านเหมือนกัน เช่น ถ้าจะเปลี่ยนบางห้อง มันจะมีเสียงรบกวนไหม ถ้าเปลี่ยนทั้งโรงแรมก็ต้องวางแผนกันยาวๆ
“เราไม่ได้ทำ Kitsch เพราะแค่เทรนด์หวือหวา แต่เราทำเพราะอยากให้มันอยู่ได้ยาวๆ แบบยั่งยืน เป็นโรงแรมที่เติบโตได้อย่างมั่นคง ทุกก้าว” ลูกศรกล่าว
เมื่อถามว่าคนมาพักที่ Kitsch Hotel จะได้อะไรกลับไป อั้มตอบแบบไม่ลังเลว่า “อยากให้คนที่มารู้ว่าประเทศไทยก็มีคนตั้งใจทำอะไรจริงจังอยู่ อยากให้โรงแรมนี้เป็นเหมือนแรงบันดาลใจเล็กๆ ที่ทำให้คนกลับไปอยากเริ่มทำอะไรบางอย่างในแบบของตัวเอง บางทีแค่เห็นว่าเราทำได้ มันก็พอแล้วสำหรับใครอีกหลายคนที่จะเริ่มต้นของเขาเอง แล้วการกระจายของศิลปะ หรือความคิดสร้างสรรค์ก็จะขยายออกไปเอง”
ลูกศรก็เห็นด้วย เธอเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพไม่แพ้ชาติไหนๆ แค่โอกาสกับสภาพแวดล้อมอาจไม่อำนวยให้เราทำอะไรแบบสุดทางได้ง่ายนัก แต่ถ้าทุกคนทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดอย่างเต็มที่ อาจกลายเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยกันเปลี่ยนแปลงประเทศได้ในระยะยาว
“เราอาจไม่ใช่นักการเมืองที่เปลี่ยนนโยบายอะไรได้ แต่เราก็สามารถเปลี่ยนวงการเล็กๆ ของตัวเองได้ เช่น วงการศิลปะ หรือวงการโรงแรม เราเกิดมาเป็นคนไทย เราอยากฝากอะไรไว้ในประเทศนี้ ถ้าเราถนัดศิลปะ เราก็ทำให้วงการศิลปะมันพิเศษขึ้น ทำให้โรงแรมที่เราทำกลายเป็นอะไรที่ยูนีก จนคนรู้สึกว่าไม่เคยมีใครทำมาก่อน” ลูกศรกล่าว
Kitsch Hotel จึงเป็นเหมือนจุดเล็กๆ บนแผนที่ ที่ทำให้คนจีนหรือคนต่างชาติรู้ว่า ประเทศไทยไม่ได้มีแค่วัด แต่ยังมีดีไซเนอร์ มีศิลปินคนไทยที่ออกแบบอะไรเก๋ๆ ได้ ทั้งสองอยากให้โรงแรมนี้เป็นเหมือนศูนย์กลางที่คนเข้ามาแล้วรับรู้ได้ว่า คนไทยก็มีเทสต์ทางศิลปะไม่ธรรมดา และเดินออกไปพร้อมแรงบันดาลใจใหม่ๆ
เมื่อแรงบันดาลใจไม่หยุดอยู่แค่ในห้องพัก
แม้ตอนนี้ Kitsch Hotel เพิ่งเริ่มต้น แต่ในใจของอั้มและลูกศรเริ่มวาดภาพอนาคตเป็นรูปเป็นร่างแล้ว
อั้มบอกว่า เมื่อจำนวนผู้เข้าพักมากขึ้น เขาเริ่มมองเห็นโอกาสในการขยายพลังของงานศิลปะในโรงแรมออกไปสู่ชีวิตประจำวันของผู้คน แม้โคมไฟ หรือหมีโซฟาในห้องพักจะไม่สามารถหิ้วกลับบ้านได้ แต่เขาเริ่มคิดถึงการทำผลิตภัณฑ์อย่าง ‘ชุดคลุมอาบน้ำ’ หรือ ‘ปลอกหมอน’ ที่มีลายเฉพาะของแต่ละห้อง เป็นเหมือนการซื้อชิ้นส่วนเล็กๆ ของความทรงจำกลับบ้านไปด้วย
ลูกศรจึงเสริมว่า ในอนาคตอาจมีแบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า Kitsch Home ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งที่แตกออกมาสำหรับสินค้าตกแต่งบ้านโดยเฉพาะ เป็นภาคต่อของประสบการณ์ที่ผู้คนได้เจอในโรงแรม และถ้าทุกอย่างเป็นไปได้อย่างที่คิด อั้มอยากเห็น Kitsch เขาใหญ่ หรือ Kitsch ในพื้นที่อื่นๆ
“เราอยากให้โรงแรมนี้เป็น Destination ให้คนที่มากรุงเทพฯ อยากมาพักที่นี่ หรือปักหมุดย่านนี้ไว้ โมเดลจะคล้ายๆ เกาหลี ที่สร้างย่านขึ้นมาจากคาเฟ่หรือร้านค้าเล็กๆ จนกลายเป็นหมุดหมายใหม่ของเมือง”
ห้องที่ทำให้รู้สึกเหมือนได้ปลดปล่อยตัวตน
เมื่อถามว่าห้องไหนคือห้องโปรด ลูกศรเลือกห้อง Candy Cottage เพราะคือห้องที่พวกเขาใส่ความรักในงานคราฟต์ลงไปมากที่สุด “เราเป็นคนชอบดีเทล งานคราฟต์ เวลาทำห้องนี้มันเหมือนทำห้องของตัวเอง เพียงแค่ไม่ต้องกลัวว่าจะเบื่อ เพราะทำไว้ให้คนอื่นใช้ด้วย คอนเซปต์ห้องนี้คือ ‘คุณยาย’ ในยุค 70s ที่นั่งปักครอสสติตช์ (Cross-stitch) ชอบอบขนมปัง เซตน้ำชา เป็นห้องที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น นุ่มนวล และมีเสน่ห์เฉพาะตัว”
ส่วนอั้มเลือกห้อง Teddy Room ห้องหมีสุดไอคอนิกของโรงแรม ที่ไม่ได้แค่มีหมีเป็นพร็อป แต่กลายเป็นพีอาร์ของโรงแรม “เราเก็บทุกดีเทลตั้งแต่แรก ตั้งใจทำมาก ซึ่งตอนแรกไม่คิดว่าจะทำได้ด้วยซ้ำ ความยากไม่ได้อยู่ที่การดีไซน์ หรือหาซัพพลายเออร์ แต่อยู่ที่ว่าเราไม่นับหมีเป็นต้นทุนของการรีโนเวตห้อง แต่นับเป็นหนึ่งในงบการตลาด และหมียักษ์ตัวนี้คือ ค่ามาร์เก็ตติงที่เราเลือกจะไม่ยิงโฆษณา เพราะเรารู้ว่าทุกคนที่มาห้องนี้ ต้องถ่ายรูปกับหมีแน่นอน เป็นฟรีมีเดียที่เราได้มหาศาล”
มาถึงตรงนี้ คงต้องบอกว่า Kitsch Hotel ที่มี 19 ห้อง ไม่ใช่แค่โรงแรมสำหรับพักผ่อน แต่คือพื้นที่สำหรับปลดปล่อยตัวตน เติมเต็มความทรงจำ และสร้างเรื่องราวใหม่ๆ ในแบบที่ไม่มีที่ไหนเหมือนด้วยหัวใจของคนที่เชื่อว่า ความฝันเล็กๆ เมื่อทำด้วยความตั้งใจ สามารถกลายเป็นโลกใบใหญ่ที่ใครก็อยากแวะมาเยี่ยมเสมอ
Tags: โรงแรม, Kitsch Hotel, Kitsch, คิทช์โฮเทล