ปัจจุบัน โลกได้เปลี่ยนผ่านจากยุคที่โทรทัศน์และสิ่งพิมพ์มีอิทธิพลบนหน้าสื่อ มาสู่ยุคที่โซเชียลมีเดียครองโลก ฉะนั้น การสร้างงานโฆษณาตามตำราหลักการตลาดเพื่อหวังผลสำเร็จ คงดูตื้นเขินเกินกว่าจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนที่มีความคิดหลากหลายและสลับซับซ้อนมากขึ้น

จากเหตุผลข้างต้นจึงส่งผลให้ ‘Inside the Sandbox’ บริษัทเอเจนซีโฆษณาของกลุ่มคนรุ่นใหม่ พลันเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะพวกเขากล้าที่จะปลดแอกความคิดจากกรอบการตลาดแบบเดิม ด้วยการสร้างโปรเจกต์โฆษณา ที่สามารถถ่ายทอดและสะท้อนประเด็นต่างๆ ในสังคมได้อย่างลึกซึ้ง มีชั้นเชิง และเข้าใจในความเป็นมนุษย์

ด้วยความสงสัยและอยากทำความรู้จักบริษัทเอเจนซีโฆษณาดังกล่าวให้มากขึ้น เราจึงชวน ‘มินนี่-เมธาวจี สาระคุณ’ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Inside the Sandbox มาพูดคุย ทั้งในประเด็นองค์กรที่มอบพื้นที่การเติบโตแก่คนทำงาน การสร้างทัศนคติต่อผู้ติดตามในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่เพียงตัวเลขใน ‘KPI’ (Key Performance Indicator) ที่ดัชนีชี้วัดผลสำเร็จของงาน ไปจนถึงถอดรากวาทกรรมในสังคมไทยที่ผ่านโปรเจกต์ต่างๆ โดยมี ‘ความเชื่อ’ ของผู้สื่อสารเป็นกุญแจสำคัญ

จุดเริ่มต้นของ ‘Inside the Sandbox’ เริ่มจากตรงไหน

ก่อนหน้านี้ ย้อนกลับไปประมาณ 3 ปีที่แล้ว เราทำงานเป็นนักวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planner) ในบริษัทเอเจนซีโฆษณาแห่งหนึ่ง กระทั่งวันหนึ่งเราเกิดความรู้สึกอยากทำงานที่ได้ใช้ความสามารถของตนเองจริงๆ ไม่ใช่แค่ทำตามเป้าหมายของบริษัท เราจึงตัดสินใจรวมตัวกับเพื่อนทำโปรเจกต์โฆษณาผ่านเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า Deadline Always Exists และได้เผยแพร่งานชิ้นนั้นออกไป จนต่อมางานชิ้นนั้นได้รับความสนใจจากคนดูไม่น้อย นั่นทำให้เรารู้สึกว่า นอกจากในคอกสี่เหลี่ยมที่เรานั่งทำงานอยู่ทุกวัน ยังมีอีกสิ่งที่เราทำได้

จากนั้นเราตัดสินใจลาออกจากงานประจำ และรวมตัวกับทีมงาน 6 คนที่มาจากโปรเจกต์ Deadline Always Exists มาตั้งบริษัทที่ชื่อว่า ‘Inside the Sandbox’ 

ที่มีความหมายว่า ในกระบะทรายนั้นไม่มีคำว่าถูกหรือผิด เราจะสร้างอะไรในกระบะทรายนี้ก็ได้ ไม่มีรูปแบบตายตัว วันนี้เราจะเป็นเอเจนซี พรุ่งนี้อาจจะเป็นคนทำละครเวที หรือในอนาคตอาจจะเป็นสร้างเกมก็ได้ เพราะพวกเราแค่อยากรู้ว่า ชีวิตหนึ่งที่เกิดมา เราทำอะไรได้บ้าง

ขณะเดียวกันเราอยากให้บริษัทนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคน เราจึงไม่ห่วงว่ากำไรจะได้เท่าไร เพราะเราให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กร 

ปัจจุบันเราพยายามชะลอให้ขนาดของบริษัทโตช้าที่สุด เพราะหากบริษัทโตเกินไปแต่ตัวเราโตตามไม่ทัน เราอาจดูแลคนในทีมไม่ทั่วถึง เพราะฉะนั้น เราอยากทำให้วัฒนธรรมแข็งแรงมากกว่านี้ก่อน แล้วค่อยรับสมาชิกเพิ่มในอนาคต

เหตุใดจึงนิยาม Inside the Sandbox ด้วยประโยคที่ว่า ‘ฉันสร้างศิลปะจากกระบะทราย 

เกิดจากการที่เรามักคุยกับคนในทีมว่า อย่ามองตนเองกำลังทำงานในบริษัทโฆษณา แต่ให้คิดว่าเรากำลังสร้างงานศิลปะชิ้นหนึ่งอยู่ เพราะศิลปะไม่มีกรอบการสื่อสารแบบ SMCR หรือหลักตำราการตลาด awareness, engagement หรือ conversion มีเพียงกรอบที่ว่า วันนี้เราอยากแสดงอะไรออกไปให้โลกรู้ 

ปัจจุบัน Inside the Sandbox ทำโปรเจกต์การสื่อสารเพื่อวัยรุ่น เพราะตอนนี้คนในบริษัทยังเป็นวัยรุ่นอยู่ เราจึงเชื่อว่า บริษัทของเราสามารถสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่าคำว่า ออกไปซ่า ออกไปกล้า ออกไปท้าโลก และหากถึงวันที่คนในบริษัทแก่ขึ้น ไม่ใช่วัยรุ่นอีกต่อไป เราค่อยมาค้นหานิยามกันใหม่ ว่าวันนั้นเราสามารถสื่อสารประเด็นใดได้ดีที่สุด เพราะเรามีการทำงานไร้รูปแบบตายตัว แม้กระทั่งการวางตำแหน่งทางการตลาด (Market Positioning) 

ความท้าทายสำหรับคุณในฐานะคนทำสื่อยุคใหม่คืออะไร

เราว่าความท้าทายของคนทำสื่อยุคใหม่ คือทำอย่างไรให้คนหยุดดูโฆษณาของเรา เพราะเราไม่สามารถบังคับให้เขาหยุดดูเหมือนโฆษณาคั่นละครในโทรทัศน์ ด้วยสิ่งนี้ที่ทำให้สูตรการสื่อสารแบบเก่าไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป มันอาจจะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างกลับมาที่พื้นฐานว่า มนุษย์ควรคุยกับมนุษย์อย่างไร ซึ่งเรามองว่าการสื่อสารคือ ‘ศิลปะ’ เราจึงไม่กำหนดรูปแบบการสื่อสาร เพราะเราไม่รู้ว่านิยามที่แท้จริงของศิลปะคืออะไร แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้แน่ชัดคือ ศิลปะทำให้เราปลดตัวตนออกจากกรอบพื้นฐานเดิม

คุณได้อะไรจากการทำโปรเจกต์ Deadline Always Exists ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ Inside the Sandbox

โปรเจกต์ Deadline Always Exists สอนเราเยอะมาก เพราะช่วงเสนอโปรเจกต์นี้ ทุกคนบอกว่างานชิ้นนี้ไม่มีใครเล่น มึงทำแบบสอบถามเป็นเนื้อเรื่อง ลำพังแค่ตอบแบบสอบถามข้อเดียวเขายังไม่ตอบเลย (หัวเราะ) จริงๆ ตามทฤษฎีการตลาดมันผิดนะ โฆษณาแบบสอบถามควรมีความยาวไม่เกิน 60 วินาที แต่เราทำไปถึง 5 นาที หรือการทำแอนิเมชันผ่านเว็บไซต์ก็ผิดหลักเช่นกัน เรียกว่าในเชิงเทคนิคเราผิดหมดเลย แต่สุดท้ายเราก็แค่อยากทำ แค่รู้สึกว่า ถ้าเป็นเราเราจะเล่น

สุดท้ายแบบสอบถามชิ้นนั้น เราตัดสินใจแหกกฎเกณฑ์เพื่อเผยแพร่งานออกไป ตอนแรกไม่คิดว่างานนี้จะประสบความสำเร็จด้วย ตอนแรกคิดว่าคนแชร์อย่างมากไม่เกิน 100 คน เราจึงเรียนรู้จากสิ่งนั้นว่า ถ้ามัวทำตามหลักการตลาดแบบเดิมแล้วหวังว่าคนดูจะเชื่อเอง มันใช้ไม่ได้กับยุคปัจจุบันที่มนุษย์มีความคิดซับซ้อน

อุปสรรคของการเปิดบริษัทตั้งแต่อายุยังน้อย

เพราะเราไม่มีประสบการณ์ในการทำงานบริษัท แต่กระโดดมาเปิดบริษัทของตนเองเลย ทำให้ในปีแรกของการเปิดบริษัทมีปัญหาเรื่องการจัดสรรเวลาและการจัดการภาษี ซึ่งปัญหาที่ว่าเราไม่เคยเรียนจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ลูกค้ามักมองว่าภาพลักษณ์ของบริษัทไม่น่าเชื่อถือ พวกเรายังเป็นเด็ก ดังนั้น โจทย์สำคัญที่ยากที่สุด คือการทำให้คนในทีมมี soft skill ในการพูดคุยกับลูกค้า ทำอย่างไรให้ลูกค้าเห็นถึงความสามารถและเชื่อถือบริษัทของเรา

คุณเคยบอกว่าความไม่มั่นคงคือความสนุกของการเป็นเจ้าของกิจการ ไฉนจึงคิดเช่นนั้น

ความสนุกของการเปิดบริษัทเอง คือต่อให้บริษัทรวยแค่ไหน เราก็จะรู้สึกว่าไม่มั่นคง เพราะความรู้สึกไม่มั่นคงมักมาพร้อมกับการเป็นเจ้าของกิจการ บรรดาเจ้าของกิจการในประเทศนี้จะรู้สึกไม่มั่นคงตลอดเวลา ดังนั้น เจ้าของกิจการจะต้องเป็นคนที่สนุกกับการไม่รู้ว่า ความไม่มั่นคงนี้จะพาเราไปถึงจุดไหน 

และแม้สามปีที่ผ่านมาจะเป็นสามปีที่ยาก แต่เราว่าคุ้มค่านะ เพราะบริษัทเติบโตขึ้นเยอะมาก และยังเติบโตได้มากกว่านี้ ตอนนี้เราคิดภาพตัวเองไปทำอย่างอื่นนอกจาก Inside the Sandbox ไม่ออกเลย 

Inside the sandbox คือภาพชัดเจนของบริษัทโฆษณาที่ต่อสู้ระหว่าง ‘ทุนนิยม’ กับ ‘การทำเพื่อสังคม’

ความจริง Inside the Sandbox พยายามสร้างสมดุลระหว่างการทำโฆษณาเพื่อกำไรกับการทำงานเพื่อสังคม ผ่านการแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกคือ ‘การทำงานเพื่อเอาเงิน’ แต่ต้องไม่ล้ำเส้นอุดมการณ์ของเราและไม่ทำร้ายสังคม ซึ่งกำไร 10% จากการทำงานจะนำมาลงทุนแก่ฝ่ายที่สอง ที่ทำหน้าที่ ‘รับผิดชอบงานสื่อสารเพื่อสังคม’ 

โจทย์ของงานเพื่อสังคมคือ ทำอย่างไรให้คนทำรู้สึกมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เราจะคุยกับคนในทีมว่า เราไม่ได้ทำเพื่อสังคม แต่ทำเพื่อตนเอง เพราะเราเห็นปัญหานี้แล้วทนไม่ได้ ดังนั้น เวลาทำโปรเจกต์เพื่อสังคม เราไม่ได้มองว่าใครได้ประโยน์ แต่สิ่งสำคัญคือ เราสามารถสื่อสารสิ่งที่อยากให้สังคมเป็นได้มากน้อยแค่ไหน

ช่วยเล่า 3 โปรเจกต์ ที่คุณกำลังทำและรู้สึกว่ากำลังท้าทายวาทกรรมในสังคมไทย

โปรเจกต์แรกคือ ‘เป็นเมนส์ไม่ต้องหลบซ่อน’ ที่อธิบายว่า เหตุใดผู้หญิงต้องซ่อนผ้าอนามัย เหตุใดการพกผ้าอนามัยจึงกลายเป็น Period Joke ในสังคม และเหตุใดผู้หญิงต้องถูกกดทับเพราะเขาแค่เป็นเมนส์ เราจึงทำการสื่อสารบนกล่องผ้าอนามัย ให้กล่องผ้าอนามัยนั้นเป็นตัวแทนในการสื่อสารว่า เป็นเมนส์แล้วต้องซ่อนจริงหรือเปล่า เป็นเมนส์แล้วใครมีปัญหาหรือเปล่า 

โปรเจกต์ที่สองคือ ‘ฉัน พ่อ แม่’ ที่เริ่มมาจากคำกล่าวว่า พ่อแม่ต้องเป็นพ่อแม่ที่ดี เป็นดังพระในบ้าน แต่แท้จริงเรานิยามคำว่า ‘พ่อแม่’ สมบูรณ์เกินไปหรือเปล่า เราคาดหวังในตัวพ่อแม่มากเกินไปไหม ทั้งที่ความจริงแล้วพ่อแม่ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เขามีสิทธิ์ที่จะบิดเบี้ยวในแบบของเขา ถ้าเขาทำอะไรไม่ดีกับเรา ไม่ใช่ว่าเขาไม่ผิด เขาผิด แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องมองพ่อแม่สมบูรณ์แบบขนาดนั้น ความคาดหวังของลูกเป็นภาระที่หนักเกินไปของคนเป็นพ่อแม่หรือเปล่า

เราจึงสนใจลองทำโปรเจกต์นี้ ด้วยการกลับไปสัมภาษณ์พ่อแม่ว่า ทำไมพ่อเป็นคนแบบนั้น ทำไมพ่อถึงเป็นปิตาธิปไตย แม่โตมาอย่างไร ยายเลี้ยงแม่อย่างไร แม่รู้จักความรักจริงๆ ในชีวิตไหม แล้วเราก็ตกตะกอนได้ว่า จริงๆ แล้วพ่อแม่ก็เป็นเหยื่อของความผิดพลาดของปู่ยาตายายเหมือนกัน ซึ่งปู่ย่าตายายก็เป็นความผิดพลาดของทวดเหมือนกัน เรารู้สึกโชคดีที่มีโอกาสได้ทำโปรเจกต์นี้ เพราะถ้ามองเรื่องนี้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา ลบความสูง-ต่ำ แล้วมองแค่ว่า พ่อแม่เจอแบบนี้ เราเจอแบบนี้ พวกเราเยียวยากันได้อย่างไรบ้าง เราไม่จำเป็นต้องโกรธเกลียดพ่อแม่ขนาดนั้น เราแค่เข้าใจว่าเขาเป็นอย่างไร ไม่ได้เข้าใจเพื่อยกโทษ แต่เข้าใจเพื่อลดความเกลียดชังในใจ

โปรเจกต์ที่สามเราเลือกเล่าประเด็น ‘การทำแท้ง’ เนื่องจากมีวาทกรรมว่า ศาสนาพุทธเชื่อว่าการทำแท้งคือบาป เราเลยลองโต้แย้ง ว่าหากศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เชื่อในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด การทำให้เด็กจากท้องที่ไม่พร้อมไปเกิดในท้องที่พร้อมกว่า ถือเป็นการสร้างบุญไม่ใช่เหรอ เพราะแก่นคำสอนของศาสนาก็สามารถตีความได้หลากแง่มุม

การที่เรากล้าสื่อสารความเชื่อของเราออกมา เสียงของเราอาจไปกระตุ้นให้คนอีกหลายคนที่เขาต้องการพื้นที่ในการสื่อสาร กล้าที่จะพูดว่าเขาคิดเห็นประเด็นนี้อย่างไร แน่นอนว่าต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายแล้วสิ่งนี้คือ shade ทางความคิด ไม่มีความคิดไหนถูกต้องในสังคมนี้ มีแค่ความคิดที่เราเชื่อกับไม่เชื่อ

แล้วโปรเจกต์ที่รู้สึกว่ายากตั้งแต่ทำมาล่ะ

คงเป็นโปรเจกต์ที่เราทำให้ ‘ไทลินอล’ ซึ่งเราสนุกกับมันมาก โจทย์คือเราต้องการขายไทลินอลที่เป็นยาแก้ปวดหัว แต่กฎหมายไทยไม่อนุญาตให้พูดถึงสรรพคุณยา เราจึงทำเกมที่เล่นแล้วปวดหัวที่สุด ก่อนตอนท้ายจะบอกว่า ปวดหัวก็เลือกไทลินอลสิ (หัวเราะ) ถ้าอิงจากสูตรการตลาดวิธีนี้ผิดนะ เพราะทำให้ผู้บริโภครู้สึกไม่ดี เป็นการขายสินค้าด้วยหลัก Negative Approach แต่แล้วไง ลองทำแล้วสนุก ไอเดียไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบตายตัว หรือตรงตามสูตรทางการตลาด แต่ไอเดียขึ้นอยู่กับโจทย์ของงานชิ้นนั้น และความเชื่อของเราในช่วงเวลานั้น

คุณคิดเห็นอย่างไรกับกฎหมายไทยบางข้อที่ปิดกั้นไอเดียการสื่อสารงานโฆษณา เช่นกฎหมายห้ามโฆษณาสุรา เป็นต้น

กฎหมายถูกเขียนขึ้นโดยมนุษย์เพื่อรับใช้ชุดอุดมการณ์ความคิด อย่างในฝรั่งเศสเขียนกฎหมายเพื่อรับใช้คนที่มีอำนาจน้อยกว่า เพราะประวัติศาสตร์ของประเทศเขามาจากการปฏิวัติ ในเยอรมันมีกฎหมายที่รับใช้ผู้ลี้ภัย เพราะว่าประวัติศาสตร์ชาติเขาเป็นเช่นนั้น ดังนั้น ต้องถามว่า ถ้าประวัติศาสตร์ไทยเป็นเช่นนี้ กฎหมายไทยในปัจจุบันกำลังรับใช้ใครอยู่ เรากำลังใช้กฎหมายที่ควรทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นมารับใช้อุดมการณ์ความเชื่อของใคร ใครได้รับประโยน์จากกฎหมายนี้มากที่สุด 

สำหรับเรามีข้อกฎหมายหลายข้อที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น กฎหมายความรุนแรงในครอบครัวที่ระบุไว้ว่า เป้าหมายสูงสุดคือการให้ครอบครัวกลับไปอยู่ด้วยกัน แต่สถานการณ์จริงคือผัวตบเมียนะ กฎหมายจะบอกให้เขากลับไปอยู่กับผัวที่ตบเขา แล้วครั้งหน้าก็หน้าบวมมาหาตำรวจอีกหรือ หรือกฎหมายสุราก็ไม่สมเหตุสมผลเหมือนกัน ประเทศนี้ไม่ได้มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ทำไมคนห้ามขายเหล้าในวันพระ ทำไมต้องมีกฏหมายที่ระบุช่วงเวลาที่สามารถดื่มเหล้าได้ การดื่มเหล้ามากส่งผลอย่างไรต่อสังคมหรือ

กฏหมายควรเปลี่ยนแปลงไปตามความเชื่อที่ต้องรับใช้ในแต่ละยุคสมัย เช่น การเฆี่ยนตีกันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในยุคอยุธยา แต่พอชนชั้นวรรณะถูกยกเลิก กฎหมายนี้ก็ไม่จำเป็น ฉะนั้น กฎหมายควรปรับเปลี่ยนตามวาระของสังคม 

สำหรับคุณดัชนีวัดความสำเร็จของแต่ละโปรเจกต์คืออะไร

ถ้าในมุมมองของลูกค้าย่อมวัดจากค่า KPI มีคนเล่นเท่าไร แชร์กี่คน แต่ในมุมมองของเราจะไม่สนใจตัวเลขเหล่านั้น แต่จะสนใจว่า คนดูได้อะไรจากโปรเจกต์นั้น แค่คนเดียวก็ถือว่าทำสำเร็จแล้ว ถ้าวัดจากคนนอกอาจจะยาก แต่ถ้าเราวัดจากคนในทีมย่อมวัดง่ายกว่า ดังนั้น สิ่งที่เราพยายามมากๆ คือคนทำงานของเราได้อะไรจากงานนั้น เพราะเรามีคติประจำบริษัทคือ ‘โตไปด้วยกัน’ อยากให้บริษัทนี้เป็นพื้นที่ที่ให้ทุกคนได้เติบโตทางความคิด

เช่น มีคนในทีมที่ไม่อินการเมืองเลย แต่พอได้เข้ามาทำงานบริษัทนี้ก็เริ่มรู้สึกว่า การเมืองมันไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่แค่การติดตามข่าวสาร แต่คือเรื่องของการทำงานเชิงความคิด ว่าเรามีความเห็นยังไงกับเรื่องนี้ มีคนที่ไม่เคยรักตัวเองเลย แต่พอเข้ามาทำที่บริษัทนี้ ทำให้เขาเริ่มมีโมเมนต์ที่รู้สึกชอบตัวเองได้บ้าง สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้เราสามารถไปต่อกับการทำงานได้

คอมเมนต์เชิงลบของคนดูส่งผลต่อการทำงานหรือเปล่า

เราว่าการนั่งอ่านคอมเมนต์ตลอดเวลามันไม่ชุบชูจิตใจหรอก เพราะถึงจุดหนึ่ง คุณกลายเป็นคนทำโฆษณาที่รอว่าคนจะคอมเมนต์อย่างไร คุณจะไม่มีวันกล้าทำสิ่งที่ต่างออกไป เพราะคุณมัวกลัวว่าคนจะคอมเมนต์งาน เราเลยมองว่าการวัดประสิทธิภาพงานด้วยยอด engagement นั้นไม่เวิร์ก เพราะไม่งั้นโพสต์ที่บอกให้อ่านต่อในลิงก์ ที่มีจำนวน engagement สูง แต่เป็นคลิกเบตก็คงเป็นการงานสื่อสารที่ดี

คุณแก้ปัญหา ‘อาการหมดไฟ’ ในที่ทำงานอย่างไร

เราไม่ค่อยเห็นคนในบริษัทเราหมดไฟนะ ไม่เคยเห็นเลยดีกว่า เพราะวัฒนธรรมของบริษัทเราโอบอุ้มพนักงานไว้ ถ้าวัฒนธรรมองค์กรมองมนุษย์เป็นมนุษย์ มองคนเป็นคน ให้คุณค่ากับการเติบโต และเวลาที่พนักงานเสียไปในชีวิต ปัญหาหมดไฟในการทำงานก็จะไม่เกิดขึ้น เราอยากให้บริษัทนี้เป็น Life-Life Balance ไม่ใช่ Work-Life Balance สามารถทำงานที่ชอบและอยากทำ รวมถึงกำหนด Job Description ของตนเอง ซึ่งเราจะถามตั้งแต่มาสมัครงานว่าอยากทำอะไร ถ้าสิ่งที่เขาอยากทำตรงกับสิ่งที่เราอยากได้ก็โอเคลุยเลย

หลังจากโอบกอดคนอื่นมามาก แล้วคุณโอบกอดตัวเองอย่างไร

เราระบายออกมาเมื่อรู้สึกไม่ดี การพูดออกมาว่าตนเองไม่โอเคคือสิ่งแรกที่ควรทำ แต่ประเทศไทยไม่ได้มีแนวคิดแบบนี้ เพราะการพูดออกมาว่าคุณรู้สึกไม่ดี ทำให้บรรยากาศเสีย หรือกลายเป็นคนไร้มารยาท ทว่าเราโชคดีที่เราสร้างสังคมบริษัทเป็นอีกแบบ และเราโชคดีที่มีแฟนที่เราสามารถพูดกับเขาได้เสมอว่าเรารู้สึกไม่โอเค เพราะเมื่อเราพูดออกมาแล้วคนรอบข้างรับรู้และไม่รังเกียจ แต่เลือกที่จะโอบกอดเราแทน ย่อมทำให้เรารู้สึกว่า เราก็สามารถโอบกอดตัวเองได้เช่นกัน 

ถ้าต้องเลือกระหว่างเล่าเรื่องของตัวเองให้คนอื่นฟังตลอดชีวิตกับฟังเรื่องเล่าของคนอื่นตลอดชีวิต คุณจะเลือกอย่างใด

(หยุดคิดชั่วครู่) ……ขอเลือกฟังเรื่องของคนอื่น เพราะเรามองว่าตนเองได้ข้อคิดและเติบโตขึ้นทุกครั้งจากการฟังเรื่องราวของคนอื่น เรารู้สึกว่าโลกของเรากว้างขึ้นจากเรื่องเล่า เราเป็นคนไม่ค่อยเที่ยว แต่เรารู้จักโลก ได้รับประสบการณ์ และสัมผัสความความรู้สึกต่างๆ จากการพูดคุยกับคน เราไม่เคยผิดหวังมากจนรู้สึกว่าชีวิตพัง แต่เรารับรู้ว่าความรู้สึกแบบนั้นเป็นอย่างไรจากการฟังเรื่องราวของคนอื่น เพราะความเป็นคนของเราเชื่อมต่อกัน

Fact Box

  • Deadline Always Exists อยู่ภายใต้การทำงานของบริษัท Inside the Sandbox โดยเน้นการทำโปรเจกต์สื่อสารเพื่อสังคม และเป็นพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องความรู้สึกอย่างปลอดภัย โดยสามารถติดตามได้ทาง Facebook: Deadline Always Exists, Instagram: deadlinealways.exists, Twitter: @ExistsAlways และ YouTube: Deadline Always Exists
  • ‘ฉัน พ่อ แม่’ คือหนึ่งในผลงานของ Inside the Sandbox โดยเป็นแบบทดสอบสำหรับผู้เล่นที่ต้องการทำความเข้าใจพ่อแม่มากขึ้น ในรูปแบบเว็บไซต์แอนิเมชัน สามารถลองเล่นได้ที่ https://as-dad-mom.deadlinealwaysexists.com
Tags: , , ,