ใครชอบพกกล่องข้าวยกมือขึ้น

เพราะไม่ว่าจะเป็นวัยเรียนหรือวัยทำงาน หลายคนยังต้องกินอาหารนอกบ้านเกือบทุกวัน โดยเฉพาะมื้อเช้าและมื้อกลางวัน แต่ปัญหาของร้านอาหารที่ต้องไปกินนั้น บางทีอาจไม่มีโต๊ะให้นั่งที่ร้าน หรือด้วยวิถีชีวิตอันเร่งรีบของผู้คนในปัจจุบัน ทำให้ต้องซื้อกลับมากินที่ออฟฟิศหรือในห้องเรียนแทน 

ทำให้ในแต่ละวัน เราต่างต้องหิ้วทั้งถุงพลาสติกและกล่องพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastics) เป็นจำนวนมาก และหากซื้อทุกวันก็แทบไม่ต่างกับการสร้างขยะนับชิ้นไม่ถ้วน กลายเป็นความไม่สบายใจให้ใครหลายคน จนต้องเริ่มหาซื้อกล่องข้าวมาใช้แทน

หากใครกำลังมองหากล่องข้าวไว้ใช้นานๆ แทนการใช้กล่องพลาสติกหรือกล่องโฟม แต่ต้องมีรูปลักษณ์สวยงามและอยากให้พกพาสะดวก ขอแนะนำให้รู้จักกับแบรนด์ ฮาโกะ (Hako) กล่องข้าวพับได้ ดีไซน์น่ารักของ เต็ม-ธีธัช สู่ประเสริฐ และพิม-จันทร์จิรา เหลารัตนา คู่รักที่อยากทำกล่องข้าวให้คนหยิบมาใช้ได้ทุกวัน

The Momentum ชวนธีธัชมานั่งคุยถึง ‘เพนพอยต์’ (Pain Point) ความเจ็บปวดที่จุดประกายให้เริ่มต้นทำกล่องข้าวแบรนด์ฮาโกะ และกว่าจะมาเป็นกล่องข้าวพับได้ พกพาง่าย ต้องผ่านการกระบวนการอะไรบ้าง ทั้งด้านการออกแบบ การผลิต ทดลองใช้จริง และด้านการตลาด

ธีธัช สู่ประเสริฐ ฮาโกะ (Hako) กล่องข้าวพับได้

กล่องข้าวที่เริ่มต้นจากไลฟ์สไตล์

จุดเริ่มต้นของการทำกล่องข้าวฮาโกะ มีที่มาจากชีวิตประจำวันของธีธัชและจันทร์จิรา ทั้งคู่ชอบวิ่งออกกำลังกายนอกบ้าน เมื่อวิ่งเสร็จ ก่อนกลับบ้านจะต้องหาซื้อของกินติดไม้ติดมืออยู่ตลอด แต่หลายครั้งพบว่า จำนวนพลาสติกที่ต้องใช้แล้วทิ้งเป็นขยะมีจำนวนมาก

“ก่อนกลับบ้านมักแวะซื้ออาหารกลับไปกินที่บ้าน สิ่งที่เราทำเป็นประจำคือโทร.สั่งอาหารจากร้านอาหารตามสั่ง พอวิ่งเสร็จก็จะไปรับอาหาร ซึ่งทุกครั้งข้าวจะใส่มาในกล่องโฟมบ้าง ในกล่องพลาสติกบ้าง ความจริงแล้วรู้สึกผิดที่ใช้นะ เพราะมันเป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง” ธีธัชกล่าว

ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องจำนวนขยะพลาสติก แต่ยังมีเรื่องต้นทุนของเหล่าพ่อค้าแม่ค้าด้วย เพราะบางร้านจำเป็นต้องเก็บเงินเพิ่มอีก 5-10 บาทจากค่าอาหาร เพื่อเป็นต้นทุนค่ากล่อง ค่าถุงพลาสติกที่เพิ่มมาในการสั่งกลับบ้าน แม้บางร้านจะคิดราคาเดียวกับกินที่ร้าน แต่ธีธัชที่เรียนจบด้านบริหารให้ความเห็นว่า สตรีตฟู้ดบางร้านอาจไม่ได้คำนวณต้นทุนละเอียดขนาดนั้น หากนำกล่องไปใส่อาหารเองจะช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าไม่ต้องแบกรับต้นทุนตรงนี้

ฮาโกะ (Hako) กล่องข้าวพับได้

ถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่า กล่องข้าวฮาโกะคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาขยะ สิ่งแวดล้อม และช่วยประหยัดเงินค่ากล่อง แต่ความจริงยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่ธีธัชพบเจอในการใช้กล่องโฟม จากเหตุการณ์กล่องโฟมละลายใส่อาหาร ส่งผลให้เริ่มตระหนักถึง ‘เรื่องสุขภาพ’ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้หันมาใช้กล่องข้าว

“เราเคยสั่งข้าวไข่เจียวจากร้านอาหารร้านหนึ่ง ใส่มาในกล่องโฟม พอความร้อนจากไข่เจียวที่เพิ่งออกจากกระทะใส่ลงกล่องโฟมทันที ปรากฏว่ากล่องโฟมละลายจนเป็นรู แต่เราไม่ทันสังเกต เรากินข้าวไข่เจียวกล่องนั้นไปแล้วมาเห็นทีหล้ง เลยรู้สึกว่ากล่องโฟมมันไม่ปลอดภัยเลย” ธีธัชเล่า

ก่อนจะเริ่มทำกล่องข้าวของตัวเอง แน่นอนว่าธีธัชกับจันทร์จิราก็เหมือนกับคนอื่นที่หาซื้อกล่องข้าวดีๆ มาใช้ใส่อาหารตามสั่ง แต่กล่องข้าวที่ขายในท้องตลาดแต่ละแบรนด์มักจะมีปัญหาเล็กน้อยแตกต่างกันออกไป ทั้งคู่คิดอยากปรับปรุงและพัฒนากล่องข้าว เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานของตัวเอง ประกอบกับบ้านของจันทร์จิราทำธุรกิจด้านการผลิตแม่พิมพ์ ซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวกับพลาสติกและซิลิโคนอยู่ก่อนแล้ว จึงมองเห็นลู่ทางในการทำธุรกิจกล่องข้าว

ฮาโกะ (Hako) กล่องข้าวพับได้

ต้องตอบโจทย์ทั้งฟังก์ชัน ดีไซน์ และอยู่ได้นาน 

กล่องข้าวฮาโกะที่เราเห็นผ่านการพัฒนาจนเป็นกล่องข้าวพับได้ แต่ย้อนกลับไป โจทย์แรกของฮาโกะคือ กล่องข้าวที่คนต้องหยิบมาใช้ทุกวัน ธีธัชและจันทร์จิราจึงแตกไอเดียออกเป็น 3 หัวข้อใหญ่ คือฟังก์ชันต้องดี (Well Function) ดีไซน์ดี (Well Design) และอยู่ได้นาน (Long Lasting)

“ถ้าไม่ใช่กล่องข้าวที่คนอยากหยิบมาใช้ทุกวัน มันจะแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้เลย พอเป็นโจทย์นี้ เราเลยคิดกับทีมงานว่า ความจริงก็ไม่มีทีมอะไรหรอก มีเรากับพิม (จันทร์จิรา) คิดกันสองคน (หัวเราะ) แล้วก็จะมีดีไซเนอร์อีกหนึ่งคน ช่วยกันคิดว่าต้องทำอย่างไรให้คนอยากใช้” ธีธัชกล่าว

ทำให้ฟังก์ชันหนึ่งที่น่าสนใจของฮาโกะคือ พับได้ พกพาสะดวก แต่ต้องไม่จบแค่นั้น เพราะยังคงไว้ซึ่งฟังก์ชันสำคัญอื่นๆ เหมือนกล่องข้าวทั่วไป  ได้แก่ ต้องเข้าไมโครเวฟได้ แช่ในช่องฟรีซได้ เข้าเครื่องล้างจานได้ และแม้จะพับได้ก็ไม่ควรรั่วซึม แน่นอนว่า กล่องข้าวฮาโกะทำได้ทุกข้อ และในส่วนของดีไซน์ หากต้องการให้คนหยิบมาใช้ทุกวัน กล่องข้าวต้องมีรูปลักษณ์สวยงาม ฮาโกะจึงออกมาเป็นทรงกลมมนและสีสันน่ารักธีธัช สู่ประเสริฐ ฮาโกะ (Hako) กล่องข้าวพับได้

ในเรื่องความทนทาน ฮาโกะสามารถใช้งานได้ 3-5 ปี ตามอายุซิลิโคน ซึ่งกว่าจะมาเป็นกล่องข้าวที่อยู่ได้นานขนาดนี้ ต้องผ่านการเลือกสรรวัสดุและทดสอบอยู่หลายครั้ง 

ธีธัชเล่าถึงการทดลองว่า “อายุ 3-5 ปี คืออายุซิลิโคน มันน่าจะไม่มีปัญหา เพราะตอนที่เราทดสอบกล่องข้าว เราใช้วิธีการเอาซิลิโคนใส่น้ำ แล้วนำเข้าไมโครเวฟ เสร็จแล้วเอาออกมา แล้วพับกล่อง ทำวนไปซ้ำๆ ตอนนั้นทำไปประมาณ 300 ครั้ง และกล่องมันยังเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นตรงส่วนกล่องซึ่งทำด้วยซิลิโคนจะไม่มีปัญหา และตรงส่วนหูกล่องเป็นพลาสติก ด้วยความที่มันเป็นหูพับ เราเลยเสริมความหนาตรงหูล็อกให้แข็งแรงมากขึ้น ใช้ได้ 2,000-3,000 ครั้ง ในกรณีที่ใช้บ่อยจริงๆ จะอยู่ได้ประมาณ 2-3 ปี หรือหากส่วนฝากล่องพังก่อน สามารถเปลี่ยนฝาได้ฟรี เพราะการผลิตกล่องหนึ่งกล่องมันใช้ทรัพยากร เลยไม่อยากให้มันเสียเปล่า” 

ธีธัช สู่ประเสริฐ ฮาโกะ (Hako) กล่องข้าวพับได้

แม้ตอนนี้วัสดุของฮาโกะลงตัวแล้ว แต่ธีธัชเล่าย้อนว่าตอนทำกล่องข้าวฮาโกะรุ่นแรก สิ่งที่ยากที่สุด คือการรักษาสมดุลของกล่องข้าว ทั้งในเรื่องการเลือกวัสดุให้คงทน แต่ยังต้องพับได้ ต้องปิดสนิทใส่อาหารประเภทแกงแล้วไม่หกเลอะเทอะ แต่ผู้ใช้ยังต้องรู้สึกว่าเปิดฝากล่องไม่ยาก รวมถึงเรื่องต้นทุนการผลิตกับราคาขาย เพราะหากใช้วัสดุเกรดสูงที่สุด ราคากล่องข้าวจะแพงตาม และคนจะเข้าถึงไม่ได้

“จุดแข็งของฮาโกะ กล่องข้าวพับได้ คือความไม่ยวบยาบ เพราะเราเสริมเนื้อซิลิโคนด้านล่างให้มันหนามากๆ แต่ถ้าอยากให้มันแข็งแรงมากกว่านี้ มันจะกลายเป็นพับไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ความยากคือ เมื่อไรจะเป็นกล่องข้าวที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งตรงนี้ทางโรงงานบริษัท โพลีเน็ต จำกัด (มหาชน) ช่วยเราเยอะมากในการทำฮาโกะออกมา เพราะส่วนของทีมฮาโกะแค่ดีไซน์ วางคอนเซปต์ แต่ส่วนของโรงงานคือต้องผลิตให้มันใช้งานได้จริง ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของพี่พนักงานในโรงงาน” ธีธัชกล่าว

ธีธัช สู่ประเสริฐ ฮาโกะ (Hako) กล่องข้าวพับได้

ตอนนี้กล่องข้าวฮาโกะมีด้วยกัน 3 รุ่น ครอบคลุมอาหารหลากหลายเมนู และมีขนาดพอเหมาะพอดีกับมื้ออาหารปกติในชีวิตประจำวัน เหตุที่ต้องมีหลายขนาด ธีธัชเล่าว่า เคยนำกล่องข้าวไปใส่สลัดร้านหนึ่ง ซึ่งเป็นร้านที่ให้เยอะมากจนล้นกล่อง

การที่เราตั้งใจจะเอากล่องไปใส่มันกลายเป็นว่าลำบากคนอื่น ทางร้านเขาต้องมาแบ่งสัดส่วนใหม่ ชั่งตวงใหม่ ทำให้ร้านเขาเสียเวลา”

เพราะฉะนั้น เมื่อซื้อกล่องข้าวแล้วก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่า ต้องใช้กล่องข้าวทุกมื้อทุกวัน 

นอกจากนี้ ธีธัชยังให้ความเห็นว่า ตั้งแต่เริ่มทำคอนเทนต์เรื่องกล่องข้าว สัมผัสได้ว่าเทรนด์การพกกล่องข้าวในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้คนตระหนักถึงประโยชน์ของการพกกล่องข้าว ไม่เพียงแบรนด์ฮาโกะที่เติบโต แต่จากการศึกษาคู่แข่งในช่องทางการขายแบบออนไลน์ กล่องข้าวแบรนด์อื่นก็ขายได้มากขึ้นเช่นกัน

ฮาโกะ (Hako) กล่องข้าวพับได้

นอกจากกล่องข้าวแล้ว ตอนนี้ฮาโกะยังมีสินค้าใหม่คือ แม่พิมพ์ทำน้ำแข็ง เกิดจากการที่โรงงานของจันทร์จิราสั่งซื้อซิลิโคนฟู้ดเกรด (Food Grade Platinum Cured Silicone) ซึ่งเป็นซิลิโคนเกรดดีที่ใช้ทางการแพทย์ แล้วเหลือจากการสั่งผลิตของลูกค้า จึงนำวัตถุดิบนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด และในอนาคตมีแผนออกสินค้าอย่างกระเป๋าใส่กล่องข้าวด้วย

นอกจากนี้ ฮาโกะยังมีอีกพาร์ตหนึ่งชื่อว่า ฮาโกะแอนด์โค (Hakoandco) เป็นการดึงบางสินค้าบางตัวจากแบรนด์ที่มีแนวคิดใกล้เคียงกับฮาโกะ ทั้งฟังก์ชันดี ดีไซน์ดี และอยู่ได้นาน เช่น ขวดน้ำจากแบรนด์บิงค์ (Bink) เครื่องครัวจากแบรนด์ดับบลิวแอนด์พี (W&P) จากประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาขายในแพลตฟอร์มของฮาโกะ เพื่อให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น ด้วยวิสัยทัศน์คือ อยากให้คนไทยใช้ชีวิตง่ายขึ้น โดยปราศจากพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

“ถ้าเราทำสินค้าสู้เขาไม่ได้ เราก็เอาของเขามาขาย” ธีธัชกล่าวเสริม

ธีธัช สู่ประเสริฐ ฮาโกะ (Hako) กล่องข้าวพับได้

คู่รักขี้อายที่อยากให้คนรู้จักแบรนด์มากกว่าตัวเจ้าของ

ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจต่างหันมาสร้างแบรนด์จากตัวบุคคล (Personal Branding) แต่ธีธัชและจันทร์จิราคิดต่างออกไป

“ความจริงแล้วผมเป็นคนเขินกล้อง แต่พิมน่าจะหนักกว่าผม” เป็นประโยคที่ทำให้เข้าใจว่าทำไมวันนี้เราถึงได้พูดคุยกับธีธัชคนเดียว

ธีธัชเสริมว่า “เราสองคนคิดกันว่าจะทำอย่างไรดี เราอยากให้คนรู้จักฮาโกะ แต่เราไปพูดกับคนอื่นไม่ได้แน่ๆ ถึงคนส่วนใหญ่จะบอกว่าการสร้างแบรนด์จากตัวบุคคล หรือ Personal Branding มันดีกว่า เพราะต่อให้แบรนด์ล้ม แบรนด์มันก็ยังอยู่กับตัวเรา แต่ฮาโกะมองต่างออกไป อยากให้คนรู้จักที่ตัวแบรนด์มากกว่าตัวเจ้าของแบรนด์”

ธีธัชและจันทร์จิราทำคลิปลงแอปพลิเคชัน Tiktok เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงฮาโกะได้ง่าย รวมถึงรู้สึกว่าเป็นแบรนด์ที่เป็นมิตร เมื่อลูกค้ามีข้อสงสัย หรือปัญหาการใช้งานสามารถทักไปสอบถามได้ตลอด อีกทั้งฮาโกะยังใช้ช่องทางตรงนี้ในการสื่อสารกับลูกค้า ถึงความต้องการและให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการปรับปรุงหรือออกสินค้าใหม่ 

“เวลาเราจะเริ่มทำสินค้าใหม่ หรือทำอะไรที่รู้สึกว่าตัดสินใจไม่ได้สักทีว่าจะเอาตัวเลือก A หรือตัวเลือก B ทั้งตัวสินค้า ตัวบรรจุภัณฑ์ ถ้าคุยกับทีมก็คงใช้เวลานาน แล้วถ้าผลิตสินค้าสองแบบออกมาทดลองเลย มันใช้ทรัพยากรเยอะมาก แต่ถ้าเราถามความเห็นลูกค้า เอาเสียงของลูกค้าตัวจริงมาตัดสินใจ หรือบางครั้งเราอ่านความเห็นใต้คลิปที่ทำขึ้นมา ถ้าอันไหนที่เรารู้สึกว่าเป็นประโยชน์ เราจะทักไปหา ชวนมาคุยกัน แล้วเราจะให้เป็นส่วนลด หรือถ้าสินค้านั้นสำเร็จออกมาแล้ว เราก็จะส่งให้เขา” ธีธัชกล่าวธีธัช สู่ประเสริฐ ฮาโกะ (Hako) กล่องข้าวพับได้

แม้จะเป็นคนขี้อาย แต่เมื่อถามถึงความสุขในการทำฮาโกะ ธีธัชกลับบอกว่า ความสุขคือการได้สื่อสารกับลูกค้า และการได้เห็นภาพของกล่องฮาโกะกับอาหารเมนูต่างๆ ที่ลูกค้าถ่ายรูปส่งมาให้ดู

“ในแง่ของธุรกิจ ถ้ามันโตก็มีความสุขนะ แต่ว่าที่รู้สึกว่ามันมีความสุขจริงๆ คือเวลาลูกค้าทักมา ส่งรูปภาพมาให้ดู หรือแท็กมาในสตอรี่ไอจี ว่าวันนี้ใช้กล่องข้าวฮาโกะ ตั้งแต่ทำฮาโกะมานั่นคือความสุขที่สุดแล้วแหละ แล้วทุกครั้งที่มีคนส่งรูปมาก็ยังมีความสุขเรื่อยๆ ได้เห็นคนใช้สิ่งที่เราทำจริงๆ เพราะช่วงแรกมีแค่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงที่ใช้” ธีธัชเล่า

นอกจากนี้ หากลูกค้าทักมาด้วยปัญหาในการใช้งาน ธีธัชมองว่าเป็นเรื่องดีสำหรับแบรนด์ เพราะนี่คือลูกค้าที่ใช้งานกล่องข้าวฮาโกะจริงๆ และบางคนใช้งานทุกวัน

“แค่รู้ว่ามีคนใช้ก็ดีใจมากแล้ว แต่ถ้ารู้ว่ามีคนใช้ทุกวัน ก็จะเมดมายเดย์มาก” ธีธัชทิ้งท้าย

ธีธัช สู่ประเสริฐ ฮาโกะ (Hako) กล่องข้าวพับได้

Fact Box

  • ชื่อฮาโกะ (Hako)  เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่า กล่อง ฟังดูแล้วอาจคิดว่าเป็นสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น นั่นเป็นเพราะจันทร์จิราที่ได้เรียนภาษาญี่ปุ่น มองว่าเป็นคำที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกน่ารัก
  • บ้านของจันทร์จิราทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตแม่พิมพ์ โดยบริษัทและโรงงานชื่อว่า โพลีเน็ต (Polynet) ทำให้มีความรู้ด้านการเลือกวัสดุมาทำกล่องข้าวฮาโกะ
  • ธีธัชอายุ 24 ปี เรียนจบด้านการบริหารจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำแบรนด์ฮาโกะได้ 2 ปี
  • กล่องข้าวฮาโกะมีขายในช่องทางออนไลน์ Shopee, Lazada, Line Shopping, Tiktok Shop และวางขายที่ห้างศูนย์การค้าสยามพารากอน เอ็มโพเรียม เดอะมอลล์งามวงวาน ร้านลอฟต์ (Loft) สาขาสยามดิสคัพเวอรี สาขาไอคอนสยาม ร้านโรฟ (Rove) ป็อปอัพสโตร์

 

Tags: , , , , , , ,