หากพูดถึงแหล่งแฮงก์เอาต์ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของกลุ่มคนรักสตรีทแวร์ ชื่อของ Carnival มักจะต้องเป็นร้านที่พวกเขาเคยต้องเข้าไปเหยียบบ้างซักครั้ง

เริ่มต้นจากการเป็นร้านรองเท้าเล็กๆ ในสยามที่ขายเพียงแบรนด์เดียว Carnival เดินทางมาไกลขนาดนี้ วันที่กลายหนึ่งในร้าน Multibrand ที่ดีที่สุดในประเทศไทย Carnival ได้โลดเล่นไปในโลกของอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยการทำ Collaboration กับแบรนด์ต่างๆ ทั้งนอกและในอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่าง Adidas, KFC หรือแม้กระทั่งล่าสุด Netflix พร้อมๆ กับพัฒนาสินค้าของตัวเองเรื่อยมาจนชื่อของ Carnival ได้กลายมาเป็น Lifestyle Brand ที่คุ้นหูของคนไทย

วันนี้พวกเขาได้เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้งในอุตสาหกรรมร้านอาหารด้วยการเปิดแบรนด์ร้าน CDGRE ที่พวกเขาได้นิยามมันว่าเป็น Lifestyle Cafe & Restaurant ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘Eat, Drink, Wear’ ซึ่งสะท้อนถึงตัวตนของพาร์ตเนอร์สำคัญ 3 แบรนด์ที่ต่างก็มีตัวตนของตัวเองอย่างชัดเจน Gaggand, Sühring, และ Carnival 

วันนี้ The Momentum ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับ ‘ปิ๊น’ – อนุพงศ์ คุตติกุล ซีอีโอของแบรนด์ Carnival ที่ไม่เคยหยุดนิ่งในการทำงานเพื่อพัฒนาธุรกิจของตนเอง ทำไมเขาถึงสามารถมีไฟแรงในการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ออกมาอย่างไม่หยุดยั้ง สามารถหาคำตอบได้ในบทสนทนาต่อจากนี้ไป

 

ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง ยุ่งอยู่กับอะไรที่สุด ณ ตอนนี้

ตอนนี้จะยุ่งอยู่กับการริเริ่มโปรเจ็กต์ต่างๆ ของ Carnival และ CDGRE ก็อย่างที่เห็นว่า Carnival จะมีคอลเลกชัน และการ Collab ค่อนข้างต่อเนื่องในทุกเดือน หรือบางเดือนก็มีหลายตัวด้วยซ้ำ แล้วก็ยุ่งเกี่ยวกับการบริการจัดการธุรกิจต่างๆ เพราะว่าหลังจากผ่านโควิด-19 มาสักพักเราก็เริ่มจะฟื้นตัวบ้างแล้ว

2 ปีที่อยู่กับโควิด-19 มีการปรับตัวทางธุรกิจอย่างไรบ้าง

ต้องบอกก่อนว่าเราค่อนข้างโชคดี เพราะก่อนที่จะเกิดโควิด เราเน้นพัฒนาธุรกิจของเราในช่องทางออนไลน์มาตลอด แล้วเราก็ให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าในช่องทางนี้ค่อนข้างเยอะ พอโควิดมา เราต้องปิดสาขาของเราทั้งหมด ก็ทำให้เราสามารถปรับตัวไปช่องทางออนไลน์ได้เลย โดยไม่ต้องตั้งระบบอะไรกันใหม่มาก 

แต่แน่นอนว่ายอดขายลดลงแน่นอน เราก็ต้องพยายามบริการจัดการสต็อกให้หมดไปได้มากที่สุด คิดวิธีการว่าจะทำอย่างไรในการโยกลูกค้าจากหน้าร้านมาซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ 

พอผ่านไปสักพักมันก็เริ่มลงตัว ลูกค้าออนไลน์ก็มีเรื่อยๆ แล้วพอสาขากลับมาเปิด ลูกค้าก็กลับมาซื้อของที่หน้าร้านเหมือนเดิม ตามตรงก็คือเราไม่ได้คิดกังวลอะไรกับมันเท่าไรแล้ว เพราะว่าเหมือนอยู่ร่วมกันไปแล้ว

แล้วสำหรับพนักงานหน้าร้านที่ต้องปิดชั่วคราวไป ต้องช่วยกันปรับตัวอย่างไรบ้าง

พวกเขาก็ปรับตัวกันเยอะนะ พนักงานหน้าร้านเราก็โยกมาให้ทำไลฟ์ขายของผ่านทางเฟซบุ๊กทุกสัปดาห์ มาขายของออนไลน์ พนักงานทุกคนก็เริ่มปรับตัวจากการขายของหน้าร้านมาเรียนรู้ว่าการไลฟ์ต้องทำยังไง การตอบแชตลูกค้าผ่านอินบ็อกซ์ต้องทำอย่างไร มันก็ดีสำหรับตัวพนักงานด้วย เพราะเขาก็ได้ความสามารถเพิ่ม 

ช่วงแรก เราก็ต้องคุยกับความเข้าใจกับพนักงานว่าสถานการณ์ตอนนี้มันเป็นอย่างไร แต่บริษัทเราไม่ได้ให้ใครออกสักคนเลย ก็ต้องช่วยกันไป ณ ตอนนี้ พอมันผ่านพ้นไปแล้ว ทุกอย่างก็กลับมาเกือบจะปกติ ทุกคนได้เงินเดือนเต็ม รายได้ก็กลับมาเกือบจะปกติทั้งหมดแล้ว

แล้ววงการสตรีทแวร์ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

จริงๆ แล้ววงการสตรีทแวร์ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง สินค้าก็ยังออกมาใหม่เรื่อยๆ ความนิยมก็ยังอยู่ในระดับเดิม เพียงแต่ว่ามันเป็นการปรับตัวของผู้บริโภคมากกว่า ที่พวกเขาต้องเข้ามาเลือกซื้อของกันที่หน้าร้านก็ต้องไปซื้อทางออนไลน์ เท่านั้นเอง

เราก็ได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ มากขึ้นด้วยนะ เพราะถึงคนจะออกจากบ้านไม่ได้ คนก็ยังซื้อรองเท้ากันอยู่ อาจจะเพราะว่ากลุ่มลูกค้าเราไม่ใช่กลุ่มที่แมสมากด้วย

นอกจากการซื้อขายผ่านทางออนไลน์แล้ว คุณสังเกตเห็นเทรนด์การบริโภคที่เปลี่ยนไปในกลุ่มลูกค้าบ้างหรือปล่าว

ที่จริงมันก็ยังไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปมากเท่าไรนะ เพราะว่าคนที่ยังชอบสินค้าแฟชั่นก็ยังเหมือนเดิม มีความต้องการที่จะแต่งตัวเหมือนเดิม แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือพวกเขามีความต้องการด้านอื่นมากขึ้นนอกจากสินค้าแฟชั่น 

เพราะแบบนั้น Carnival เองก็เลยแตกไลน์ออกไปทำ Carnival Home & Away ทำสินค้าที่เป็นแคมปิ้ง ทำสินค้าที่เป็นของแต่งบ้าน ทำสินค้าที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ เพราะทุกคนรู้ว่าช่วงโควิด สินค้าประเภทของแต่งบ้านมันขายดีมากๆ 

ไม่ว่าจะเป็นสินค้าจัดโต๊ะคอม จัดหน้าจอ เก้าอี้ทำงาน ขายดีมาก เพราะฉะนั้น ก็เลยเกิดความต้องการของเหล่านี้มากขึ้น พอเราเป็นผู้ขาย จึงมีโอกาสขายสินค้าประเภทนี้มากขึ้น มันก็เป็นการเพิ่มยอดขายมากยิ่งขึ้น แถมเราก็สามารถแตกไลน์สินค้าของเราออกไปให้กว้างขึ้นอีกด้วย

พักหลังนี้เราจะเริ่มได้เห็นการไป Collab ของ Carnival กับแบรนด์ต่างๆ มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มันคือแนวทางการพัฒนาแบรนด์ของ Carnival หรือเปล่า

มันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแบรนด์มากกว่า เราไม่เถียงว่าการ Collab มันสามารถช่วยการพัฒนาแบรนด์ได้จริงๆ แต่สำหรับ Carnival เอง จุดประสงค์การทำ Collab ของเรามันไม่ได้มาจากความต้องการที่จะพัฒนาแบรนด์ แต่มาจากความสนุกของเราที่จะได้ทำ

Carnival ก็เหมือนกับคนคนหนึ่งที่มีความสนใจอะไรหลายๆ อย่าง เป็นคนที่ชอบดูหนัง ชอบฟังเพลง ชอบเล่นเกม ชอบท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น วันหนึ่งเราก็อาจจะให้ความสนใจกับการพัฒนาสินค้าของเราเอง แต่อีกวันหนึ่งเราก็อยากที่จะไปทำอะไรร่วมกับคนอื่นๆ ที่เรารู้จักทั้งในและนอกอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อทำอะไรที่มันแปลกใหม่ ทำอะไรที่สนุก 

ทุกอย่างเหมือนชีวิตคนที่เราจำเจอยู่กับที่ไม่ได้ วันนี้เราอยากดูหนังเรื่องนี้ วันหนึ่ง เราอยากไปเที่ยวประเทศนั้น เพราะฉะนั้นการทำ Collab ของ Carnival ก็เหมือนกัน เราพยายามที่จะไปหยิบจับเอาอะไรที่เราชอบ อะไรที่เราอยากเล่า เรื่องราวต่างๆ ที่เราอยากเล่า เราก็จะหยิบมันออกมาเล่า มันเป็นไลฟ์สไตล์ของเราที่เป็นคนสนุกกับการใช้ชีวิต สนุกกับการออกไปร่วมมือกับคนอื่น ก็เลยสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นการร่วมมือกันต่างๆ ของ Carnival

แล้วสิ่งที่แบรนด์ Carnival อยากจะเล่าตอนนี้คืออะไร

สิ่งที่เราจะบอกมาตลอดก็คือ แบรนด์ก็เหมือนกับคนคนหนึ่ง 

Carnival ก็คือคนที่มีนิสัยเหมือนกับเรานี่แหละ เป็นคนที่ชอบรองเท้า ชอบแฟชั่น เราโตมากับอะไร เราซึมซับอะไรมา วัฒนธรรมของเราเป็นอย่างไร อย่าง Carnival เองก็คือคนที่โตมาในอยู่ 90s โตมากับเกม หนัง การ์ตูน ซึ่งเราก็มองว่าเราจะเอาความประทับใจในวัยเด็กของเรามาเล่าเรื่องใหม่ ให้คนในยุคหลังได้เห็นว่าการ์ตูนดราก้อนบอล วันพีซ นารูโตะคืออะไร แต่เราจะตีความมันใหม่ในแบบของเรา

เราหยิบตัวละครในการ์ตูนที่แบรนด์อื่นมักจะไม่ค่อยหยิบมาทำ เราหยิบเอาพลเอกทหารเรือออกมาเล่าเป็นลายเสื้อที่ยืนอยู่ด้วยกัน เราเอาเสื้อกลุ่มแสงอุษามาเป็นลายเสื้อใหม่ อันนี้คือการเล่าเรื่องของเรา แบรนด์อื่นอาจจะไม่ได้เล่าแบบนี้แต่เราอยากเล่าแบบนี้

แล้วเวลาเลือกที่จะเล่าอะไรสักอย่าง มันมาจากแรงบันดาลใจ หรือต้องฟังเสียงเรียกร้องจากผู้บริโภคด้วยไหม

เราไม่เคยคิดจะทำคอลเลกชันอะไรแล้วต้องมาฟังเสียงผู้บริโภคเลยว่าเขาต้องการอะไร เราสร้างและถ่ายทอดจากตัวเราเองขึ้นมาหมด เหมือนกับว่าเรากำลังทำงานศิลปะชิ้นหนึ่งอยู่ และเราก็เชื่อว่าการเล่าเรื่องแบบเรามันมีเอกลักษณ์ คือตัวตนของเราจริงๆ แล้วลูกค้าก็น่าจะเข้าใจในสิ่งที่เราอยากจะเล่า

ที่ผ่านมาก็เป็นแบบนั้น เพราะว่าเราเล่าจากตัวตนจริงๆ คนที่เขาโตมาแบบเดียวกับเรา หรือคล้ายๆ กับเรา ก็จะเข้าใจว่าทำไมเราต้องทำเสื้อลายแสงอุษา หรือทำเสื้อลายแบบต่างๆ ที่มาจากความประทับใจเดียวกันในวัยเด็ก แล้วก็ยังมีความร่วมสมัยพอที่จะทำให้คนรุ่นหลังมาติดตามได้เช่นเดียวกัน

การที่เราเล่าตัวตนของเรามากกว่า ถ้าลูกค้าชื่นชอบในสิ่งที่เราเล่า ชอบในตัวตนของเรา ชอบในการนำเสนอของเรา และเมื่อเขาเชื่อในตัวเราแล้ว เขาก็จะซื้อสินค้าของเรา

เริ่มสังเกตได้ว่าตอนนี้แบรนด์ต่างๆ เริ่มมีการ Collab กัน แทนที่จะแข่งขันมากขึ้น คุณคิดว่าเทรนด์นี้มันกำลังบอกอะไรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแฟชั่น

เมื่อก่อน การทำธุรกิจมันคือการแข่งขัน ต่างตนต่างทำ ต่างคนต่างอยู่ แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป ก็พิสูจน์แล้วว่าคุณต้องมีพันธมิตร มีการจับมือร่วมกัน มันถึงจะสร้างสรรค์อะไรที่แปลกใหม่ออกมาได้ เพราะฉะนั้น พอคนยอมรับตรงนี้ว่าเราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียวได้แล้ว การทำ ​​Collaboration มันก็เลยเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย 

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือ ถึงแม้คุณจะทำ Collaboration มากแค่ไหน สิ่งที่คุณควรจะให้ความสำคัญเป็นหลักเลยก็คือสินค้าของตัวคุณเอง แบรนด์ใดๆ ก็ตามไม่สามารถอยู่ได้ด้วยการ Collab เพียงอย่างเดียว คุณจะต้องขายสินค้าแบรนด์ตัวเองให้ได้ด้วย

แล้วเวลาจะไป Collab กับใครแต่ละที มีวิธีการเลือกอย่างไรบ้าง

จริงๆ เราเลือกจากสิ่งที่มันผูกพันกับตัวเรา อยู่รอบตัวเรา และมันเข้ากับความเป็นตัวเรา อย่างเช่นเราไปทำน้ำอบไทย เราไปทำกระถางธูป สิ่งต่างๆ ทั้งหมดนี้มันมีความเชื่อมโยงกับตัวเราอยู่ ถ้ามันไม่ใช่ยุคของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เราก็คงไม่ทำ

มันก็ต้องดูด้วยว่าลูกค้าของเราจะเข้าใจในสิ่งๆ นั้นหรือเปล่า ถ้าเราไปทำงานร่วมกับแบรนด์ที่ลูกค้าไม่เข้าใจ มันก็จะเกิดความสงสัย มันก็ไม่โอเค ยกตัวอย่างการ Collab กับ Star Wars, Naruto หรือ Adidas มันชัดเจนอยู่แล้วว่ามันคือตัวเรา เราโตมากับมัน มันคือความฝันในวัยเด็กของเรา คนก็จะเข้าใจ

ช่วยเล่าการทำงาน Collab กับ Netflix ครั้งล่าสุดให้ฟังหน่อย

มันเกิดจากการที่เราได้พูดคุยกับ Netflix คือเขาก็เข้ามาคุยกับเราว่าเขามีแคมเปญอยากจะนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับซีรีส์เกาหลี เพราะว่าซีรีส์เกาหลีในสมัยก่อนนั้นอาจจะมีภาพจำในแง่ลบ ใครสมัยก่อนที่ชอบดูซีรีส์เกาหลีเยอะๆ ก็จะถูกแปะป้ายว่าเป็น ‘ติ่งเกาหลี’ แต่ปัจจุบัน ความจริงก็คือซีรีส์เกาหลีได้พัฒนามาจากจุดนั้นไกลมากแล้ว ไม่ได้มีแต่อะไรน้ำเน่า มันเป็นซีรีส์คุณภาพที่มีโปรดักชันไปไกลกว่าระดับภาพยนต์ฮอลลีวูดด้วยซ้ำในบางเรื่อง

เพราะฉะนั้นเขาจึงอยากนำเสนอว่าการเป็นติ่งซีรีส์เกาหลีนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แล้วตอนนี้ทุกคนก็ดูซีรีส์เกาหลีกันเป็นเรื่องปกติ ไม่อย่างนั้น Squid Game ไม่สามารถขึ้นติดชาร์ตอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกาได้หรอก

หลังจากคุยกันแล้ว เราก็คิดว่ามันเป็นไอเดียคิดที่น่าจะสนุก เราก็เลยอยากจะเล่าในแบบของ Carnival จนออกมาเป็นคอลเลกชัน Carnival x Netflix

คิดว่าการเล่าเรื่องเชิงวัฒนธรรมแบบนี้แปลว่า Carnival ต้องการที่จะสร้าง Soft Power อะไรบางอย่างหรือเปล่า

คือการ Collab แต่ละอย่างมันก็สร้างอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด มันทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้เราได้พูดถึง หรือทำให้เรานึกไม่ถึงว่ามันจะสามารถต่อยอดไปเป็นอะไรได้บ้าง ยกตัวอย่างตอนที่ Carnival ได้ทำงานร่วมกับ KFC ก็ไม่มีใครคิดว่าแบรนด์ไลฟ์สไตล์อย่าง Carnival จะมาทำงานร่วมกับ KFC ได้ แต่เราก็ทำมันออกมาได้ ซึ่งจุดนั้นทำให้เราสามารถต่อยอดไปทำงานร่วมกับบริษัทโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ รองเท้า เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ 

เพราะฉะนั้น มันเป็นการต่อยอดที่ทำให้เรามีโอกาสไปทำอะไรใหม่ๆ ได้ โดยที่ก็ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้อยู่

เมื่อปี 2018 คุณเคยบอกไว้ว่าต้องการเป็นร้านสนีกเกอร์อันดับหนึ่งของประเทศ ตอนนี้สำเร็จแล้วหรือยัง เป้าหมายเปลี่ยนไปไหม

ถ้าย้อนกลับไปจริงๆ แล้ว เราอาจจะไม่ได้ตั้งเป้าว่าเราอยากเป็นร้านสนีกเกอร์อันดับหนึ่งของประเทศหรอก แต่ว่าเราตั้งเป้าว่าเราอยากจะเป็นร้านแรกที่คนนึกถึงเมื่อเขานึกถึงสนีกเกอร์หรือสตรีทแวร์มากกว่า

ถ้าถามว่าตอนนี้เราเป็นร้านอันดับหนึ่งหรือยัง เราก็ไม่รู้ว่าจะวัดด้วยอะไรเหมือนกันเพราะว่ามันไม่มีอะไรเพอร์เฟกต์ 100% ที่คุณจะมาสามารถวัดได้ว่าร้านนี้คืออันดับหนึ่ง สอง สาม 

แต่เราอยากจะเป็นร้านที่คนนึกถึงอันดับแรกเมื่อเขาอยากจะซื้อรองเท้า เขาอยากจะซื้อเสื้อผ้าที่มันเป็นสตรีทแฟชั่น หรือซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์

ปัจจุบันก็ถือว่าเราพอใจในจุดที่เราเป็นอยู่แล้ว

ยังจำเป้าหมายแรกที่ทำให้ทำร้าน Carnival เมื่อปี 2010 ได้อยู่ไหม แล้วคิดว่าตอนนี้แบรนด์ Carnival ในตอนนี้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เคยวาดฝันไว้มากแค่ไหน

เป้าหมายเราไม่เคยเหมือนเดิมเลย เป้าหมายเราเปลี่ยนไปทุกเดือนที่เราโตมากขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าถามว่าเราได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือยัง ก็ต้องตอบว่าเราได้ทำเกินไปกว่านั้นเยอะแล้ว 

มันเหมือนเราเดินทางมากกว่า พอเราเดินไปถึงจุดหมายหนึ่ง เราก็อยากจะเดินทางไปยังจุดหมายต่อไปข้างหน้าเรื่อยๆ เรามีเป้าหมายที่เราตั้งเป้าใหม่อยู่ตลอดเวลา พอเราได้ไป Collab กับ Adidas ที่เป็นการเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เราก็อยากทำรุ่นต่อไปอีก เราอยากทำกับแบรนด์อื่นที่เรายังไม่เคยทำมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นมันไม่มีจุดไหนหรอกที่เรามองว่าเราาประสบความสำเร็จเรียบร้อย แล้วเราอยากจะพอกับมัน

มันเหมือนกับการเดินทาที่เราสนุกที่จะได้ทำงานมากกว่า ซึ่งมันไม่มีจุดจบ เรายังสนุกกับการทำงานต่อไปเรื่อยๆ 

ตอนนี้คุณยังนิยามว่า Carnival เป็นร้าน Multibrand ได้อยู่ไหม

จริงๆ คำว่า Multibrand เป็นส่วนหนึ่งของ Carnival ถามว่าเราเป็น Multibrand ไหม ก็ใช่ แต่ตอนนี้มันเป็นมากกว่านั้น เราเป็นไลฟ์สไตล์ เราเป็นทั้งร้าน เป็นทั้งคอมมิวนิตี้ เป็นอะไรหลายๆ อย่างในปัจจุบัน

การเปิดร้าน CDGRE ดูจะเป็นก้าวใหม่ของแบรนด์ Carnival อะไรเป็นแรงบันดาลใจของคุณที่ทำให้อยากจะเปิดแบรนด์ใหม่นี้ขึ้นมา 

จริงๆ มันเป็นหนึ่งในแพสชันของเราอยู่แล้วมากกว่า เพราะว่าเราเป็นคนที่ชอบเรื่องของอาหาร เราศึกษามาพอสมควร และวันหนึ่งเราก็อยากที่จะทำอะไรที่เกี่ยวกับอาหาร มันก็เหมือนกับการทำ Collaboration ที่เราออกไปจับมือกับคนนู้นคนนี้มาช่วยกันทำโปรเจ็กต์พิเศษ เพียงแต่ว่าคราวนี้มันเป็นโปรเจ็กต์ถาวร ไม่ได้ทำแค่ชั่วคราว

คราวนี้ พอเรามีโอกาสได้รู้จักกับเชฟ Gaggan Anand รู้จักกับร้าน Sühring ซึ่งเราก็เห็นว่าทั้ง 3 แบรนด์มีตัวตนของตัวเองที่ชัดเจน มีกลุ่มลูกค้าของตัวเองที่ชัดเจน มีฐานแฟนๆ ที่ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเราทั้ง 3 แบรนด์มารวมตัวกันเพื่อสร้างพื้นที่ไลฟ์สไตล์แห่งใหม่ขึ้นมา โดยใช้จุดเด่นของทั้ง 3 แบรนด์สร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา สร้างเมนูอาหารใหม่ๆ สร้างกาแฟใหม่ๆ สร้างเสื้อผ้าไลน์สินค้าใหม่ๆ ขึ้นมานั้นมันน่าจะสนุก เพราะว่ามันยังไม่เคยมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน

สุดท้ายก็เลยรวมตั้งกันแล้วตั้งบริษัทใหม่ขึ้นเมื่อเพื่อที่จะได้เปิด CDGRE

หลังจากเริ่มทำโปรเจ็กต์นี้มากว่า 1 ปีครี่ง จนเริ่มเปิดร้านแล้ว ความท้าทายในการเปิดร้าน CDGRE นี้มีความเหมือนหรือต่างอย่างไรกับตอนที่เปิด Carnival ครั้งแรกบ้าง

มันยากแน่นอน เพราะว่า Carnival ไม่เคยทำร้านอาหารมาก่อน แล้วเราก็รู้อยู่แล้วว่าธุรกิจร้านอาหารมันไม่ง่ายแน่นอน แต่โชคดีที่เรามีพาร์ตเนอร์อย่าง Gaggand กับ Sühring ที่คุ้นเคย และมีประสบการณ์ในการทำร้านอาหารอยู่แล้ว แต่ว่าประสบการณ์ของพวกเขาคือการเปิดร้านอาหาร Fine Dining ซึ่งการมาเปิดคาเฟ่ในห้างแบบนี้มันก็เป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับพวกเขาเหมือนกัน 

มันเป็นโจทย์ใหม่ที่เราต้องเรียนรู้ ปรับปรุง เพื่อให้อยู่ได้อย่างราบรื่น รู้สึกเหมือนเรากลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ เหมือนเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง

คุณบอกว่าอยากให้ CDGRE เป็นเหมือนกับพื้นที่ไลฟ์สไตล์ ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่ามันคืออะไร

คอนเซ็ปต์ของที่นี่คือ Eat, Drink, Wear กิน ดื่ม หรือใส่เสื้อผ้าก็ได้ ที่นี่มันเหมือนกับเป็นการรวมว่า ถ้าคุณอยากมานั่งดื่มกาแฟชิลๆ คุณก็มาได้ คุณอยากกินขนมเบเกอรีเบาๆ คุณก็มาได้ คุณหิวอยากกินอาหารจริงจังคุณก็มาได้ อยากนั่งแฮงก์เอาต์กับเพื่อนก็มาได้ ไปจนถึงว่าถ้าคุณอยากจะเดินช้อปปิ้งซื้อสินค้าเสื้อผ้าอะไรต่างๆ คุณก็มาได้เหมือนกัน

มันเป็นการสร้างสรรค์พื้นที่ที่รวบรวมกลุ่มคนจากหลากหลายไลฟ์สไตล์มาอยู่ด้วยกัน มันเป็นการรวบรวมความหลากหลายที่ผนวกออกมาเป็น Lifestyle Space

เราอยากจะเป็นที่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าหลากหลายกลุ่ม ที่ตอบโจทย์พวกเขาในหลากหลายวัตถุประสงค์

Mission ถัดไปต่อจากนี้ของทั้ง Carnival และ CDGRE คืออะไร

ช่วงนี้มันเป็นเหมือนช่วงแรกที่เป็นลักษณะของ Soft Opening เรามีเมนูที่จำกัด เราก็ต้องปรับปรุงอะไรหลายๆ อย่าง และแน่นอนว่าเรากำลังสนุกกับการทำ Collaboration ซึ่ง CDGRE ก็มีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเองเหมือนกันที่ทีม Carnival เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างสรรค์มันขึ้นมา

เราอยากเอา CDGRE ไปทำงานร่วมกับเชฟท่านอื่นๆ หรือแบรนด์อื่นๆ สร้างสรรค์อะไรสนุกๆ ขึ้นมาที่นี่

ความ ‘สนุก’ นี้ดูจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจของคุณไปข้างหน้าตลอดเวลาหรือเปล่า

ใช่ เพราะว่าเราเริ่มต้นธุรกิจนี้จากความสนุกของเราเอง เราใช้แพสชันในการนำ เราอยากทำ เราอยากเล่า เราอยากสื่อสารออกไปแบบนี้ เพราะฉะนั้น เราเลยสนุกกับทุกโปรเจ็กต์ที่เราได้ทำ

เราคุณรักษาสมดุลในการทำธุรกิจด้วยแพสชันได้อย่างไร เมื่อแพสชันของเราอาจจะไม่ได้ส่งผลดีต่อธุรกิจเสมอไป

พอเราเอาแพสชันนำมากเกินไป ธุรกิจของเราก็อาจจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้ มันก็ต้องรักษาสมดุลกันบ้าง 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากจะทำคอลเลกชันเสื้อผ้าอะไรบางอย่างออกมา เราลงทุนไปเยอะมาก ทุ่มเทเวลาให้กับมัน แล้วไม่ต้องกำไรก็ได้ หรือกำไรน้อยก็ได้ โปรเจ็กต์นี้คือสิ่งที่เราอยากทำจะทำ เราไม่สนกำไรเท่าไร แต่ในขณะเดียวกัน อีกโปรเจ็กต์หนึ่ง เราอาจจะต้องทำโมเดลที่ไม่ได้ลงทุนอะไรไปมากแต่ได้กำไรกลับมาเยอะ 

อันนี้คือวิธีการรักษาสมดุลของเรา เพื่อที่เราจะได้สามารถทำสิ่งที่เราอยากทำไปพร้อมกับทำธุรกิจไปด้วยกันได้ไปด้วย

คุณคิดอย่างไรกับคำว่า Grit (ความเพียรและความรักในสิ่งที่ทำ) ที่กำลังมาแทนที่คำว่า Passion (แรงผลักดัน) ในวัฒนธรรมการทำงานสมัยใหม่

อยากจะบอกว่าทุกคนไม่จำเป็นที่จะต้องทำตามแพสชันเสมอไป มันเป็นคำสวยหรูที่คนคิดมาบอกตัวเองว่า ‘ต้องทำงานตามแพสชัน’ หรือ ‘ทำอะไรต้องมีแพสชัน’ แต่สำหรับคนที่ประกอบอาชีพที่ทำเพื่อความจำเป็นและความอยู่รอด ไม่มีใครมีเวลามาคิดเรื่องแพสชันหรอก 

เพราะฉะนั้น ทุกคนไม่ต้องทำตามแพสชัน เพียงแต่ว่าเราต้องรู้ว่าเราทำอะไรแล้วจะสามารถอยู่รอดได้ เราจะอยู่รอดในโลกใบนี้ด้วยการทำงานแบบไหน คุณอาจจะไม่ได้ชอบเล่นฟุตบอลเลย แต่คุณดันเตะฟุตบอลเก่ง แล้วหาเงินกับมันได้ ก็อาจจะต้องทำ

ถ้าคุณได้ทำงานที่ตรงกับความต้องการ หรือตรงกับแพสชันของคุณได้ มันก็คือความโชคดี แต่ทุกคนไม่จำเป็นจะต้องทำตามแพสชัน บางคนก็อาจจะไม่มีแพสชันเลยก็ได้ ซึ่งมันก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด

คิดว่าถ้าเราได้มีโอกาสกลับมาคุยกันอีกใน 5 ปีข้างหน้า วันนั้นเราจะได้คุยเรื่องอะไรกัน

ก็แน่นอนว่าต้องคุยว่า Carnival มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เราอาจจะไม่ได้ทำอะไรเหมือนเดิมเลยก็ได้ ทำหมู่บ้านจัดสรรก็ได้ (หัวเราะ) เราไม่รู้ว่าอนาคตเราจะทำอะไรแต่ต้องเปลี่ยนแปลงเยอะแน่นอน อาจจะอยู่ใน Metaverse ก็ได้นะ แต่ขอหาจังหวะกับช่วงเวลาที่เหมาะสมก่อนถ้าเราอยากจะเข้าไปจริงๆ 

Fact Box

  • ร้าน CDGRE คือการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์ Carnival, Gaggan Anand, และ Sühring ภายใต้คอนเซ็ปต์ Eat, Drink, Wear ซึ่งตอนนี้ตั้งอยู่ที่ชั้น G ของห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน
  • CDGRE อ่านว่า ‘ซีดีกรี’ มีความหมายถึงอุณหภูมิที่พอเหมาะสำหรับทุกคนจะมานั่งแฮงก์เอาต์กันอย่างสบายใจ
Tags: , , , , ,