ผู้จัดที่จริงใจ เข้าถึงง่าย และยกระดับมาตรฐานการจัดคอนเสิร์ตในประเทศไทย
เหล่านี้เป็นคำชมส่วนหนึ่งบนโลกโซเชียลฯ จากคอคอนเสิร์ตและกลุ่มแฟนคลับทั่วทุกสารทิศถึงอาวาลอน ไลฟ์ (Avalon Live) บริษัทธุรกิจบันเทิงสัญชาติไทยที่มีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคือ การจัดคอนเสิร์ตและอีเวนต์จากแดนอาทิตย์อุทัย
แม้บริษัทมีขนาดเล็ก และมีผู้อยู่เบื้องหลังในการสรรค์สร้างผลงานต่างๆ เพียง 9 ชีวิต แต่ อาวาลอน ไลฟ์ กลับสร้างความประทับใจยิ่งใหญ่ให้กับผู้ชม โดยมีเครื่องพิสูจน์อันเป็นที่ประจักษ์ คือ อายุของบริษัทที่มากกว่าสิบปี ทักษะการสื่อสารชั้นดี การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงความสำเร็จจากงานครั้งที่ผ่านมา
ไม่ว่าจะเป็นเสียงตอบรับล้นหลามในคอนเสิร์ต ONE OK ROCK Luxury Disease Asia Tour 2023 in Bangkok, Travis Japan World Tour 2024 Road to A Bangkok หรือแม้แต่ความไว้วางใจของแฟนๆ ในคอนเสิร์ตที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่าง Best of Fujii Kaze 2020-2024 ASIA TOUR in Bangkok หลัง ฟูจิอิ คาเสะ (Fujii Kaze) ขึ้นแท่นศิลปินเดี่ยวญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ โดยสามารถจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นในอิมแพ็ค อารีนา (Impact Arena) หมดทั้ง 2 รอบ ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงได้สำเร็จ
“เราอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิง เราขายความสุข เราอย่าไปเล่นกับใจ เราต้องพยายามให้ทุกคนได้ความสุขที่ควรจะได้กลับไป เพราะผู้ชมเขารักศิลปิน เขาถึงมาดู”
คำกล่าวข้างต้น คือปรัชญาในการทำงานของ กิตติวัฒน์ มโนสุทธิ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัท อาวาลอน ไลฟ์ จำกัด หรือเป็นที่รู้จักกันในฐานะ ‘พี่วัฒน์’ เจ้าของแอ็กเคานต์ @Kittiwat แห่งแอปพลิเคชัน X ผู้ตอบคำถามคลายข้อสงสัยของเหล่าแฟนๆ ได้ในทุกปัญหา ที่มานั่งคุยร่วมกับ The Momentum เป็นที่แรก เปิดเผยถึงเบื้องหลังของบริษัทและทีมงานที่เปี่ยมไปด้วย ‘แพสชัน’ และ ‘จิตวิญญาณ’ อันแรงกล้าในการทำงาน
จาก ‘นักธุรกิจ’ สู่ ‘ผู้จัดคอนเสิร์ต’ ที่ผลักดันกระแส K-Pop ให้ลุกโชน
แม้อาวาลอน ไลฟ์เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในฐานะผู้จัดคอนเสิร์ตจากญี่ปุ่น แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า กิตติวัฒน์เริ่มต้นเส้นทางดังกล่าวและเรียนรู้ความเป็นไปของโลกธุรกิจนี้ ในช่วงกระแส K-Pop ที่กำลังโด่งดังในประเทศไทย เมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นในปี 2548 ขณะนั้นกิตติวัฒน์เริ่มเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้บริหารของ RK MEDIA HOLDING Group หนึ่งในธุรกิจเครือข่ายวิทยุที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีโจทย์และความท้าทายสำคัญคือ ทำอย่างไรให้จึงจะสามารถฟื้นฟู และพลิกสถานการณ์ขาดทุนในบริษัทได้
อาจเป็นเพราะโชคชะตาและฟ้าลิขิต เขาจึงมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับเพื่อนนักธุรกิจที่อยู่ใกล้ชิดกับแวดวงบันเทิงเกาหลีใต้ ซึ่งประจวบเหมาะกับกระแส K-Pop กำลังค่อยๆ โลดแล่นในประเทศไทย
ด้วยวิสัยทัศน์กว้างไกล ความสนใจในวงการดนตรีส่วนตัว และเหตุผลทางธุรกิจ กิตติวัฒน์ตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางการจัดคอนเสิร์ตเกาหลีในประเทศไทย โดยเริ่มต้นอย่างสวยงามด้วยการคว้าตัวซูเปอร์สตาร์ค้างฟ้าแห่งเอเชียอย่าง ‘เรน’ (Rain) มาแสดงในคอนเสิร์ต Rain’s Coming World Tour in Bangkok 2007
“ตอนนั้นเราเริ่มต้นโดยที่ไม่มีใครรู้จักวิธีการทำคอนเสิร์ตเลย ขณะที่ผมก็บริหารเรื่องการเงินหรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจล้วนๆ โดยอาศัยทีมงานที่ทำคอนเสิร์ตเข้ามาช่วยจัดการให้อีกที” เจ้าของอาวาลอน ไลฟ์เล่าให้กับ The Momentum ฟัง
แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อกรุงเทพฯ เผชิญกับเหตุก่อการร้ายวางระเบิดราว 10 จุดในช่วงวันข้ามคืนปีใหม่ปี 2549 เป็นเหตุให้ทางเกาหลีขอระงับคอนเสิร์ตของเรนจากกำหนดการเดิมคือ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549
ทว่าในท้ายที่สุด สถานการณ์ก็คลี่คลายลง คอนเสิร์ตของเรนในไทยจึงได้จัดขึ้นในวันที่ 2-3 มิถุนายน 2549 ณ อิมแพ็ค อารีนา นับเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของความสามารถของเขาและบริษัท ซึ่งตอกย้ำด้วยปรากฏการณ์ ‘เรนฟีเวอร์’ สะท้อนจากภาพของเรน ในฐานะพรีเซนเตอร์โฆษณาทั่วทุกมุมของประเทศ
จากความสำเร็จล้นหลามในครั้งแรก นำมาสู่การจัดคอนเสิร์ตครั้งที่ 2 ในปี 2550 คือ TVXQ The 2nd Asia Tour Concert ‘O’ คอนเสิร์ตของดงบังชินกิ (TVXQ) ไอดอลเจ้าของฉายาเทพเจ้าแห่งโลกตะวันออก ซึ่งปรากฏว่า กระแสตอบรับดีเยี่ยมไม่ต่างกัน อีกทั้งยังได้รับความไว้วางใจจากต้นสังกัด นำไปสู่โปรเจกต์ครั้งสำคัญ คือ SM Town Live 2008 in BANGKOK นับเป็นคอนเสิร์ต K-Pop ในไทยลำดับแรก ที่ศิลปินสามารถขึ้นแสดงบนสนามราชมังคลากีฬาสถาน สเตเดียมขนาดใหญ่ของประเทศ
‘ดวงมากับเหตุการณ์บ้านเมือง’ คือคำอธิบายในการทำงานหลายครั้งจากกิตติวัฒน์ เพราะคอนเสิร์ตครั้งนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมือง ที่ถูกจารึกในหน้าประวัติศาสตร์อีกครั้งคือ เหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ-ดอนเมืองของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม 2551 ซึ่งตรงกับวันจัดคอนเสิร์ตคือ 29 พฤศจิกายน 2551
“ปกติเราจะเตรียมงานก่อนล่วงหน้า 6-7 วันสำหรับราชมังฯ ซึ่งมักจะจัดการแสดงในช่วงวันหยุด แน่นอนว่า พอถึงวันศุกร์ ศิลปินจะต้องบินมาแล้ว ตอนนั้น TVXQ อยู่สนามบินอินชอน Super Junior อยู่สนามบินกิมโพ Girls’ Generation อยู่ญี่ปุ่น แต่สุวรรณภูมิปิด ศิลปินก็ขึ้นเครื่องไม่ได้
“แล้วเวทีเสร็จหมดแล้ว ตั๋วขายหมด เด็กๆ ก็เตรียมมาดู เแต่พอมีเหตุชุมนุม สนามบินปิด เราก็พยายามหาวิธีแก้ไขปัญหา ลองหาทางลงสนามบินอื่น แต่ไม่ได้ เอาเข้าจริงในตอนนั้นเราก็ถอดใจว่า มันแก้ไม่ได้แล้ว”
กิตติวัฒน์หวนนึกถึงอดีต ก่อนจะเสริมว่า เขาต้องเจรจาจนได้ข้อสรุปว่า ‘ต้องเลื่อน’ แต่ในท้ายที่สุด SM Town Live in BANGKOK ก็เกิดขึ้นในปีถัดมาคือ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2009 ซึ่งทุกอย่างผ่านไปด้วยดี ผู้ชมเข้ามาร่วมงานและศิลปินก็ขึ้นแสดงอย่างมีความสุข
แต่ดูเหมือนบททดสอบเจ้ากรรมยังไม่สิ้นสุด เพราะเขาต้องเผชิญประสบการณ์การจัดคอนเสิร์ตที่หนักหนาที่สุดคือ คอนเสิร์ต ShowKing M 2010 (งานที่ร่วมกันจัดกับทาง Mnet เป็นการพาศิลปินเกาหลีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 19 กลุ่มมาแสดงที่สนามราชมังฯ) ซึ่งตรงกับการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553
“ครั้งนี้หินและหนักหนามากที่สุดในบรรดาทั้งหมด เพราะคอนเสิร์ตใกล้แสดงแล้ว แต่การเดินทางยังติดขัด คนก็มาจริง แต่เราต้องเจรจากับสปอนเซอร์ ซึ่งเขาก็เข้าใจสถานการณ์ มันเป็นการคุยที่เคร่งเครียด แต่ก็ผ่านมาได้ เพราะทีมงานช่วยเหลือกัน
“จนสุดท้ายงานได้จัด แต่ผู้ชมไม่ไป เพราะผู้ปกครองกลัวและเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย รวมถึงออกจากบ้านไม่ได้ ถือเป็นการจัดคอนเสิร์ตที่กระทบเต็มๆ อีกครั้ง แต่งานก็ผ่านไปด้วยดี สปอนเซอร์มา ทุกคนทำได้ดีในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้”
“ทำให้ถึงวันนี้ อะไรจะเกิดขึ้น ผมก็ไม่กลัวแล้ว”
กิตติวัฒน์อธิบายถึงเหตุสุดวิสัยนับครั้งไม่ถ้วน ที่เปรียบเสมือนบทเรียนชั้นครูทำให้เขาสามารถรับมือกับวิกฤต ก่อนจะเล่าต่อว่า ยังมีเหตุการณ์อื่นในทำนองเดียวกัน แต่เขาก็หลงลืมไปบ้าง ตามกาลเวลาและความชินชา
เปิดประตู J-Pop (อีกครั้ง) ในประเทศไทย และประสบความสำเร็จในนาม ‘Avalon’
เมื่อถึงจุดหนึ่งกิตติวัฒน์ตัดสินใจค่อยๆ เดินออกจากเส้นทางการเป็นผู้จัดคอนเสิร์ตเกาหลี ด้วยเหตุผลในเรื่องความอิ่มตัว และการที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์บางอย่างได้เท่าที่ควร
“ส่วนตัวผมอยากให้งานออกมาดี ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ แต่การจัดคอนเสิร์ตเกาหลีควบคุมได้น้อยมาก ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะวิธีคิดของเรากับอีกฝ่ายไม่เหมือนกัน ขณะที่ตลาดก็ยังมีการแข่งขันสูงขึ้น และเราก็ต้องการควบคุมราคาบัตรไม่ให้แพงเกินไป เพราะมาตรฐานค่าครองชีพของคนไทยไม่ได้มีรายได้เยอะ”
ด้วยความเป็นคนที่ชื่นชอบฟังเพลงหลากหลายแนวเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อต้องมองหาตลาดคอนเสิร์ตกลุ่มใหม่ ก็นับว่าไม่ยากเย็นนักสำหรับกิตติวัฒน์ โดยเขาพุ่งเป้าไปที่วงการเพลง ‘ญี่ปุ่น’ ซึ่งเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีความหลากหลายสูง ทั้งเชิง ‘กว้าง’ และ ‘ลึก’
แม้จะติดปัญหาคือ วิธีการเปิดประตู เพราะกระแส J-Pop ค่อนข้างเบาบางลง หากเทียบกับหลายทศวรรษก่อนที่เคยเฟื่องฟู ทว่าเขาได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการเพลงญี่ปุ่น โดยให้คำมั่นว่า เขาจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้กระแส J-Pop หวนความนิยมคืนสู่ประเทศไทย
อาวาลอนจึงถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับคอนเสิร์ตที่เป็นดังทั้งบททดสอบ และการปลุกฟื้นกระแส J-Pop ในประเทศให้คึกคักอีกครั้งคือ Tomohisa Yamashita Asia Tour 2011 in Bangkok Super Good Super Bad คอนเสิร์ตของยามะพี (Yamapi) ณ ธันเดอร์โดม ณ วันที่ 23-24 เมษายน 2554
“คอนเสิร์ตนี้คือ บททดสอบการกลับมาของกระแส J-Pop ในประเทศไทย ซึ่งประสบความสำเร็จไปด้วยดี และทำให้เห็นว่า แฟน J-Pop ไม่ได้ล้มหายจากไปไหน เขายังอยู่เสมอ ทั้งยังมีจำนวนเยอะด้วย
“การทำงานครั้งนี้มีความสบายใจ รู้สึกว่า ตัวเองกำลังมาถูกทาง และไม่ได้คิดว่า เราต้องทำกำไรแบบ ‘ตู้มต้าม’ เหมือนเมื่อก่อน” ผู้จัดคอนเสิร์ตชื่อดังเสริมต่อว่า ความสำเร็จครั้งนั้นได้ต่อยอดให้อาวาลอนเติบโตและโลดแล่นในอุตสาหกรรมการจัดคอนเสิร์ตญี่ปุ่น ดังเช่นคอนเสิร์ต ONE OK ROCK Tour Live In Bangkok ครั้งแรกในประเทศไทยปี 2556
ตามติดเบื้องหลังผู้จัดคอนเสิร์ต: กว่าจะเป็นคอนเสิร์ตหนึ่งงาน ต้องทำอะไรบ้าง?
“เราพยายามวิ่งเข้าหาการแสดงที่ดีเพื่อให้คนไทยได้ดูกัน โดยไม่ต้องรอโอกาสอย่างเดียว”
คือวิสัยทัศน์ของกิตติวัฒน์ในการทำงาน เพราะด้วยวัฒนธรรมญี่ปุ่นอันเป็นเอกลักษณ์ การดูคอนเสิร์ตจึงเป็น ‘งานอดิเรก’ ที่ทำให้อุตสาหกรรมดนตรีเต็มไปด้วยความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแนวไอดอล อนิเมะ วงดนตรีร็อก ออร์เคสตรา คอมโพสเซอร์ หรือแม้แต่แนวเพลงแปลกใหม่ไม่คุ้นหู การคัดสรร ‘ไลน์อัป’ จึงเต็มไปด้วยความเข้มข้น เพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคอคอนเสิร์ตเป็นสำคัญ
“เวลาเลือกไลน์อัปในแต่ละคอนเสิร์ต เราจะพิจารณาหลายปัจจัย หนึ่งคือมีฐานแฟนรออยู่ หรือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม Right Timing อีกกรณีคือ เป็นงานที่อยากทำเอง ซึ่งบางทีกำไรไม่ได้หรอก แต่เราอยากทำ ถึงจะเจ็บตัว แต่ก็ยังไหว”
แต่กว่าจะเป็นคอนเสิร์ตหนึ่งงานต้องใช้เวลาเบื้องต้นราว 3 เดือนหรือนานกว่านั้น โดยผู้จัดคอนเสิร์ตเผยว่า มีรายละเอียดให้ต้องใส่ใจในทุกขั้นตอน ทั้งการพิจารณาตารางงานของศิลปิน สถานที่จัด วัน หรือเวลา
หลังจากนั้นจึงเป็นเรื่องการวางแผนช่วงเวลา ที่ต้องประเมินตั้งแต่วันประกาศ ราคาบัตรคอนเสิร์ต ผังคอนเสิร์ต รวมถึงการติดต่อพาร์ตเนอร์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับรายละเอียดโปรดักชันในการแสดงของศิลปิน
ที่ขาดไม่ได้คือ การเตรียมพร้อมบรรยากาศหน้างาน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การรักษาความปลอดภัย การจัดแถวเข้าฮอลล์ การเข้า-ออก ตำแหน่งแห่งที่ของบูธต่างๆ รวมถึงการดูแลศิลปินเมื่อเดินทางเข้า-กลับประเทศไทย โดยทั้งหมดนี้มีทีมงานอาวาลอน 9 คนเป็นหัวเรือหลักในการทำงาน ขณะที่ทีมสนับสนุนคือทีมงานและพาร์ตเนอร์อื่นๆ รวมในแต่ละงานหลายร้อยชีวิต
“สำหรับวันงาน เนื่องจากเราทำงานล่วงหน้า เราก็จะเห็นว่า จุดไหนมีปัญหา ซึ่งเราต้องไม่ทำให้มันเกิด พยายามคิดเยอะไว้ก่อนเสมอ งานส่วนใหญ่จึงออกมาราบรื่น คิดเยอะปัญหาหน้างานจะน้อย คิดน้อยปัญหาให้แก้หน้างานจะเยอะ” กิตติวัฒน์เสริมว่า ขั้นตอนหลังคอนเสิร์ตอย่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ชมก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะช่วยให้ทีมงานสามารถพัฒนาหรือประเมินผลลัพธ์ในครั้งถัดไปได้
นอกจากนี้ผู้จัดคอนเสิร์ตชื่อดังยังสปอยล์เล็กน้อยถึงคอนเสิร์ต Best of Fujii Kaze 2020-2024 ASIA TOUR in Bangkok ของ ฟูจิอิ คาเสะ (Fujii Kaze) ศิลปินที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการดนตรีญี่ปุ่นว่า เป็นการรวบรวมสิ่งที่ดีในคอนเสิร์ตครั้งก่อน ซึ่งผู้ชมทุกคนในประเทศไทยจะได้สัมผัสด้วยตนเอง
“ทุกอย่างเป็นความลับ (หัวเราะ) ต้องไปชมเอง สนุกแน่นอน จริงๆ เขา (คาเสะ) กำลังตกตะกอนเรื่องการแสดง เพราะมีคอนเซปต์หลากหลายในคอนเสิร์ตครั้งก่อนๆ โดยล่าสุดคือคอนเสิร์ตที่นิสสันสเตเดียม มีผู้เข้าชมราว 7 หมื่นคนต่อรอบ คราวนี้คอนเสิร์ตที่ไทยจึงเป็นการรวมสิ่งดีๆ จากครั้งก่อนมา ซึ่งมันจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ อีก”
‘ผู้จัด & ทีมงาน’ ที่ใช้จิตวิญญาณและแพสชันในการทำงาน
รอบคอบ ตั้งใจ และแพสชันในการทำงาน
คือสิ่งที่สัมผัสได้ตลอดการพูดคุยกับหัวเรือใหญ่ของอาวาลอน เมื่อต้องถามถึงเคล็ดลับความสำเร็จว่า อะไรที่ทำให้บริษัทแห่งนี้ยืนอยู่ได้อย่างยาวนาน ท่ามกลางเสียงชื่นชมจากลูกค้าและคอคอนเสิร์ต
“ผมคิดว่า อาวาลอนอยู่มานานได้เป็นเพราะจุดยืนของเรา หมายถึงทีมงานทุกคนเลย พวกเราคิดเหมือนกัน ส่วนหนึ่งคือเรื่องของความยุติธรรมกับคนดู เราต้องการทำสิ่งที่ดีที่สุดให้คนดูคุ้มค่ากับบัตรที่เขาซื้อบัตรไป เริ่มจากจุดยืนราคาบัตรของเราต้องจับต้องได้ เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจไทย รวมถึงเรื่องความตรงไปตรงมา พูดอะไรออกไป ต้องทำตามที่พูด ไม่มีการเปลี่ยน
“นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ มุมมองของเราที่เข้าใจลูกค้า เพราะการมาดูคอนเสิร์ต มันไม่ใช่แค่การจ่ายเงินเพื่อมาดูในวันที่แสดง จบ เลิก กลับบ้าน แต่นี่คือการซื้อประสบการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ นับตั้งแต่วันที่มีประกาศออกไป ซึ่งเราก็ต้องประกาศให้ละเอียด ให้เขารู้ว่า เขาจะจ่ายเงินเพื่ออะไร ต้องทำอะไร เมื่อไร เพราะทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ที่เขาจะได้สัมผัส
“อีกทั้งวันซื้อบัตรก็ควรจะผ่านไปได้ด้วยดี และวันประกาศเรื่องสินค้าของศิลปิน ก็ควรจะมีอะไรให้ลูกค้าเห็นในเวลาที่เหมาะสม ส่วนในเรื่องวันแสดง โปรดักชันเราเตรียมพร้อมอยู่แล้ว” กิตติวัฒน์เล่า
ขณะที่ ‘การจัดปัญหาเฉพาะหน้า’ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งคำนึงตั้งแต่การตอบคำถามจากทางบ้าน การเดินทาง บรรยากาศหน้างาน การเข้าแถว การฝากของ การเข้า-ออกสถานที่จัดงาน จนถึงเหตุฉุกเฉิน
“เราไม่อยากให้เขาเข้าแถวนานเกินไป เช่น เข้าแถวตั้งแต่เช้ายันเย็น แล้วไปดูคอนเสิร์ตเพียง 1 ชั่วโมง ซึ่งโจทย์ของเราคือ การคิดว่าทำยังไงให้ทุกคนเข้าแถวรวดเร็วและเรียบร้อยที่สุด เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องคณิตศาสตร์ที่คำนวณได้ ไม่ใช่ไสยศาสตร์หรือเป็นเรื่องที่ต้องเดา เราก็ออกแบบเพื่อให้ได้ผลอย่างที่ต้องการ
“เราเข้าใจตั้งแต่หัวจรดท้ายโดยไม่มีเจตนาอื่นแฝง ลูกค้าจึงเชื่อใจเรา ในวันแสดง เขาก็มาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีคนหน้าบึ้งหน้าบูด รวมถึงพาร์ตเนอร์ทั้งต่างประเทศและผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศ เขาคงเห็นการทำงานของเรา หรือการใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ
“อาจบอกได้ว่า เราทำงานด้วยแพสชัน เงินไม่ได้เป็นที่หนึ่ง หรือต้องทำกำไรสูงสุดเสมอไป เราแค่ต้องการให้ทุกอย่างสมดุล แน่นอนว่าธุรกิจต้องมีกำไร แต่คุณไม่จำเป็นต้องกำไรจนทำให้คนบางกลุ่มเดือดร้อน
“เราอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิง เราขายความสุข ดังนั้นอย่าไปเล่นกับใจคน เราต้องพยายามให้ทุกคนได้ความสุขที่ควรได้กลับไป เพราะผู้ชมเขารักศิลปิน เขาถึงมาดู
ทว่าทุกอย่างจะสำเร็จไม่ได้ หากขาดพลังของ ‘ทีมงาน’ ที่เปรียบเสมือนครอบครัว ซึ่งกิตติวัฒน์ย้ำว่า นี่คือสิ่งที่เขาภาคภูมิใจเสมอ เพราะแม้บริษัทจะมีขนาดเล็ก แต่ทุกคนเต็มไปด้วย ‘จิตวิญญาณ’ โดยเหตุการณ์ที่ทำให้เขาเห็นศักยภาพและความตั้งใจในการทำงานของแต่ละคนคือ งาน Arashi JET STORM in Bangkok ในปี 2019 เพราะเป็นงานที่มีเวลาไม่มากในการเตรียมการ และต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นพิเศษ
“ผมชื่นชมกับทีมงานของเราทุกคน เพราะมีจิตวิญญาณในการบริการลูกค้า ตอนนั้นเรามีเวลา 2 ชั่วโมงในการแก้ไขปัญหา แต่ทุกคนเต็มร้อย รู้สึกประทับใจในทีมงานทุกคน ทั้งพนักงานในบริษัทเรา พาร์ตเนอร์ ความเป็นหนึ่งเดียว ทุกคนทำให้รู้สึกเหมือนเป็นพี่เป็นน้องกัน”
ผู้จัดคอนเสิร์ตทิ้งท้ายว่า ทุกงานการคอนเสิร์ตมีความสนุกและสวยงามสำหรับเขาและทีมงาน โดยปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไข หากทุกคนตั้งใจและมีสติพร้อมรับมือ
อุตสาหกรรมคอนเสิร์ตไทยในโลกจากมุมของผู้จัดคอนเสิร์ต
หากยังจำกันได้ ดีลคอนเสิร์ตช็อกโลกอย่าง Taylor Swift: The Eras Tour ในประเทศสิงคโปร์เมื่อต้นปี 2567 เคยทำให้สังคมไทยตั้งคำถามต่อศักยภาพของประเทศในฐานะ ‘ศูนย์กลาง’ การจัดคอนเสิร์ตในระดับโลก โดยต่างพูดถึงหนึ่งในปัจจัยสำคัญอย่างการ ‘สนับสนุน’ ของรัฐบาลสิงคโปร์ และความ ‘พร้อม’ ของสาธารณูปโภครอบด้าน
เราตั้งคำถามเดียวกันกับกิตติวัฒน์ถึงอนาคตของประเทศไทย ในฐานะเมืองคอนเสิร์ตของโลก โดยผู้บริหารแห่งอาวาลอนตอบคำถามอย่างน่าสนใจว่า แม้ขณะนี้การจัดคอนเสิร์ตยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องแก้ไข หากเทียบกับเรื่องปากท้อง หรือความเป็นอยู่ของประชาชน แต่ก็มีเรื่องที่ทางการควรช่วยผลักดันคือ ‘พื้นที่จัดคอนเสิร์ต’ เพราะตอนนี้ประเทศกำลังเผชิญกับภาวะ ‘งานเยอะกว่าสถานที่จัดงาน’
“สิ่งที่รัฐจะแก้ไขได้ นอกจากการพยายามให้การจัดคอนเสิร์ตแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน คือ การเพิ่มสเตเดียมจัดคอนเสิร์ต ทำฮอลล์ให้มีคุณภาพ และมีปริมาณเพียงพอกับอีเวนต์ที่จะเกิดขึ้น โดยใช้ได้แบบหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องทำคอนเสิร์ตอย่างเดียว
ขณะที่การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และระบบรักษาความปลอดภัยของประเทศไทย ยังมีความสำคัญควบคู่กันไป โดยเขายกตัวอย่างถึงกรณีศึกษาของประเทศญี่ปุ่นว่า คอนเสิร์ตในนิสสันสเตเดียมสามารถระบายคนออก 7 หมื่นคนภายใน 1-2 ชั่วโมง โดยทุกคนค่อยๆ ทยอยออกจากฮอลล์ โดยเริ่มจากข้างบนสุด ก่อนจะแยกทางกันที่สถานีรถไฟฟ้า และกลับบ้านโดยสวัสดิภาพพร้อมด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
“ถ้าต้องการเป็นศูนย์กลางการจัดงาน คุณต้องมีพื้นที่ให้เขา พร้อมกับระบบขนส่งที่เกื้อหนุนกันได้ อาจบอกได้ว่า รัฐบาลสามารถช่วยเหลือด้วยการทำให้การจัดงานของเอกชนง่ายดายขึ้น ทั้งลดต้นทุนตรงและทางอ้อม หรือพยายามทำให้อุปสรรคในการจัดงานน้อยที่สุด” กิตติวัฒน์ทิ้งท้าย
Fact Box
- นอกจาก อาวาลอน ไลฟ์ กิตติวัฒน์ยังดำรงตำแหน่งผู้บริหารบริษัทอื่นๆ โดยหนึ่งในนั้นคือ Kira Entertainment (คิราห์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์) บริษัทธุรกิจบันเทิงที่จัดอีเวนต์ศิลปิน K-Pop อย่างคอนเสิร์ต M.A.Y. JAM Festival in Bangkok 2023 และแฟนไซน์ FACE TO FACE ALBUM SIGN EVENT NCT DREAM - The 3rd Album [ISTJ] In Bangkok
- ShowKing M 2010 เป็นคอนเสิร์ตที่มีศิลปินเกาหลีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ 19 กลุ่ม โดยจัดแสดงที่สนามราชมังฯ
- กิตติวัฒน์ชื่นชอบการฟังเพลงหลากหลายแนวเป็นชีวิตจิตใจ โดยเขาเติบโตมากับเพลงสากลของ The Carpenters, The Eagles, Pink Floyd, Whitney Houston, Billy Joel, Dire Straits, Avril Lavigne ขณะที่ระยะหลังๆ จะชอบฟังเพลงของ Michael Bublé, Diana Krall, Billie Eilish และ Adele รวมถึงศิลปินญี่ปุ่น
- โอโมเทะนาชิ (おもてなし) เป็นปรัชญาการทำงานที่แฝงใน DNA พนักงานของอาวาลอนทุกคน ซึ่งแปลได้ว่า ‘การบริการด้วยใจ’ โดยมุ่งเน้นการมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ที่ไม่เพียงแค่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า แต่ยังคาดการณ์และตอบรับความต้องการที่ยังไม่ถูกพูดถึงด้วย