ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา The Wine Ayutthaya ได้รับความสนใจจากสื่อออนไลน์ด้านสถาปัตยกรรมชั้นนำของโลกหลายสำนัก หนึ่งในเว็บไซต์ยักษ์ใหญ่อย่าง ArchDaily สื่อเจ้าแรกที่ได้สิทธิ์ในการเผยแพร่ผลงานชิ้นนี้สู่โหมดสาธารณะ ถึงขนาดส่งอีเมลฉบับแล้วฉบับเล่ามาสอบถามความคืบหน้าของโครงการ ทุกครั้งที่เจ้าของผลงานอัปโหลดรูปถ่ายอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในช่องทางการสื่อสารของบริษัท
สปอตไลต์ความสนใจจากสื่อนอกที่สาดจับโดยพร้อมเพรียง และเสียงแซ่ซ้องจากคนในแวดวงสถาปนิกไทย ล้วนส่งสัญญาณว่าอาคารวาฟเฟิลริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้จะเป็นหนึ่งในตัวเต็งและตัวแทนของสถาปัตยกรรมฝีมือคนไทยที่จะไปสร้างชื่อเสียงบนเวทีโลกในอนาคตอันใกล้ เฉกเช่นที่ ‘สถาบันกันตนา’ อาคารอิฐหนาทึบกลางทุ่งกว้าง ผลงานการออกแบบของสถาปนิกท่านเดียวกัน คว้ารางวัลระดับโลกมาแล้วเมื่อปี 2011
อาคารทรงกล่องสีอบอุ่นแห่งนี้เป็นโครงสร้างเหล็กผสมไม้อัดยางเคลือบเรซิ่นกันชื้น ห่มคลุมภายนอกด้วยแผ่นพลาสติก PVC เพื่อกันฝนอีกชั้นหนึ่ง
หากคุณอยากรู้ที่มาที่ไปของแนวคิดเบื้องหลังอาคารแห่งนี้ The Momentum จะพาไปพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Bangkok Project Studio และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลายปีมานี้ ผลงานของสถาปนิกไทยรุ่นใหม่ได้รับความสนใจจากสื่อในต่างประเทศมากขึ้น อาจารย์มีมุมมองต่อวงการสถาปัตย์ของไทยอย่างไร
สถาปนิกในบ้านเรา ถ้าพูดถึงฝีมือ ความละเอียดเรียบร้อยในการออกแบบ ผมว่าเราทำได้ดี ถ้าพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ ความกล้า ความท้าทาย เราอาจจะเป็นรองประเทศอื่นๆ เงื่อนไขข้อจำกัดในบ้านเราก็แตกต่างกัน ถึงแม้เราจะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา สถาปนิกก็ต้องสามารถหา Core หรือแก่นแท้ของตัวเอง ตัวตนของสถาปัตยกรรม ความเชื่อ ความศรัทธาที่ตัวเองมีให้ได้ว่าคืออะไร ไม่ใช่ทำตามแฟชั่น วิธีการที่จะทำให้โลกสนใจคือเราก็ต้องค้นหาวิธีการ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ทำให้สถาปัตยกรรมที่มีคุณภาพเกิดขึ้นภายใต้ข้อจำกัดของเรา
อย่าลืมว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่ซูริค ประเทศไทยก็ไม่ใช่สวิตเซอร์แลนด์ ฉะนั้นสถาปนิกไทยหรือตัวผมเองต้องใช้ความพยายามในการทำงานเป็นสิบยี่สิบเท่า เพื่อที่จะไปให้ถึงระดับที่เทียบเท่าสวิตเซอร์แลนด์ เงื่อนไขข้อจำกัดนั้น ผมคิดว่าเป็นข้อดี มาตรฐานก็คือรางวัล เขาไม่สนว่าคุณจะมาจากไหน มีพื้นฐานความยากลำบากมาอย่างไร มาตรฐานรางวัลเขาตีเส้นเท่าเทียมกัน
แต่ในบางครั้งรูปแบบของสถาปัตยกรรมก็อาจจะขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของโครงการที่เป็นผู้ว่าจ้าง
มันขึ้นอยู่กับสถาปนิก ผมไม่ได้ทำงานทุกงานตามใจลูกค้าทั้งหมด ผมไม่ทำงานอะไรที่ หนึ่ง-ไม่สร้างสรรค์ สอง-ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ไม่เป็นประโยชน์กับคนทั้งคู่ ส่วนคนที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าของการออกแบบที่เป็นทั้งความสวยงาม การพัฒนาชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมา The Wine Ayutthaya ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง อาคารหลังนี้สร้างเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวให้อยุธยา เจ้าของโครงการ (เอส-สรวีย์ วิศิษฏ์โสพา) กับผมมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือต้องการให้อยุธยาเป็นหนึ่งใน Destination ที่ไม่ใช่มีเพียงนักท่องเที่ยวมาดูซากโบราณสถาน The Wine Ayutthaya จึงไม่ได้เป็นอาคารที่สร้างความโดดเด่นในตัวมันเอง แต่เป็นอาคารที่สร้างแรงดึงดูดผู้คนและกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ทำให้ผู้คนรอบๆ มีงาน มีรายได้ขึ้นมา
ทราบมาว่าโครงสร้างน็อกดาวน์ของอาคารได้รับแรงบันดาลใจมาจากบ้านไม้ของชาวบ้านในพื้นที่
การจะสร้างอาคารสักหลังขึ้นมา เราก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ทำความเข้าใจพื้นที่ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เราเห็นจากบันทึกของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14) บ้านที่สร้างด้วยไม้มีความยืดหยุ่น ผุก็เปลี่ยนทีละแผ่น ผมจึงคิดว่าบ้านที่ทำจากโครงสร้างไม้น่าสนใจ เพียงแต่เราไม่สามารถใช้ไม้จริงได้ เนื่องจากราคาแพง จึงใช้ไม้อัดยางสำหรับทำเฟอร์นิเจอร์ที่เราถูกสอนมาว่าลายมันไม่สวย แต่ผมกลับมองว่ามันสวย มีเสน่ห์ เลยอยากเอาสิ่งที่อยู่เบื้องหลังออกมาเปิดเผยให้เห็นเบื้องหน้า แล้วมันก็ได้ผลดี ทุกคนก็ถามว่าคือไม้อะไร สถาปนิกจะรู้ว่ามันคือไม้อัดยาง แต่ไม่มีใครเคยคิดจะเอามาใช้
อาจารย์เริ่มกระบวนการทดลองวิธีเคลือบผิวไม้อัดยางด้วยเรซิ่นอย่างไร
การค้นคว้าข้อมูล เริ่มแรกคืออ่านหนังสือ มีอะไรบ้างที่ป้องกันความชื้น มีอะไรบ้างที่คนใช้และยังไม่มีคนใช้ ในขณะเดียวกัน คุณต้องเป็น Innovator คุณต้องเข้าใจเรื่องเคมี เมื่อวัสดุเช่นไม้อัดไม่ทนชื้น คุณสามารถหาอะไรมาเคลือบผิวได้บ้าง อย่างเรซิ่นก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมนำมาใช้ในการเคลือบผิวบางๆ เพื่อป้องกันความชื้น ผมสอนวิชาวัสดุและการก่อสร้าง มันก็ทำให้ผมสนใจ ตั้งคำถาม และค้นคว้าวัสดุทางสถาปัตยกรรม ผมสอนทุกอย่างตั้งแต่เบสิกไปจนแอปพลาย แอปพลายคือสิ่งที่ผมทดลองทำแล้วคิดว่ามันสามารถที่จะเอามาทำได้ อย่าง PVC sheet ความหนา 1 มิลลิเมตรก็ไม่มีใครเอามาทำผนังอาคาร ผมก็ไปซื้อมาตั้งแต่ 1-2-3 มิลลิเมตร เขาขายเป็นม้วน เราก็ต้องยกมาทั้งม้วนเอามาทดลอง
พีวีซีชีทช่วยป้องกันความชื้นให้อีก 1 ชั้น ป้องกันฝน สามารถเลื่อนให้ลมเข้าเหมือนเป็นม่านบานเลื่อนหน้ากว้าง 1.20 เมตร มีสลิงบริเวณตะเข็บข้างเพื่อไม่ให้พีวีซีห่อตัว แต่ก็มีคนคอมเมนต์ว่าพอมันโดน UV แล้วมันเหลือง แล้วไง เราก็รู้ มันก็ไม่ได้แพงอะไร อาคารหลังนี้พอมันเหลืองก็เปลี่ยน ผมใช้พีวีซีชีทแทนกระจกเพื่อลดงบประมาณค่าก่อสร้างและให้ได้ Effect ที่แปลกกว่ากระจก เจ้าของมีงบประมาณจำกัด แต่มันไม่ได้เป็นข้ออ้างที่จะทำให้สถาปัตยกรรมออกมาไม่ดี งบประมาณจำกัดก็อาจเป็นข้อดี มันทำให้ผมเอาชนะ มันท้ายทายผม
โครงการนี้ทำให้วัสดุที่ถูกมองข้ามดูแพงขึ้นมา
มันคือการเพิ่มมูลค่า ผมคิดว่าทำอย่างไรที่จะยกระดับวัสดุที่ดูธรรมดา เช่น ไม้อัดยาง หรือ PVC ที่เราใช้คลุมห้องเย็น ให้เป็นงานศิลปะ ทำให้มันเป็นสถาปัตยกรรม เราเรียกมันว่า Soft Glass เวลามุงเสร็จ คุณจะเห็นว่ามันเป็นคลื่น reflection ของมันเวลาเป็นคลื่นก็สวยไปอีกแบบ เวลาถูกแสงสะท้อนจากแม่น้ำหรือเงาของต้นไม้ ผิวของอาคารก็จะแปรเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา ทำให้เกิดบรรยากาศรอบๆ อาคาร
มีคอมเมนต์หนึ่งในเฟซบุ๊กพูดถึงโครงการนี้ว่า “เป็นสิ่งที่อยากเห็นมานานแล้ว อยากเห็นสถาปนิกไทยที่ทำงานในบริบทที่เป็นไทยได้ และก็เป็นอินเตอร์ได้ ขอบคุณที่ทำงานดีๆ ออกมา” เรื่องนี้ถือว่าสะท้อนสิ่งที่อาจารย์ตั้งใจสื่อสารออกมาในตัวสถาปัตยกรรมด้วยใช่หรือไม่
ผมคือคนไทย สิ่งที่ผมทำหรือสิ่งที่ผมคิดเกิดจากประสบการณ์ทั้งชีวิต แบ็กกราวด์ผมเป็นแบบนี้ ผมไม่มีองค์ความรู้ที่จะไปต่อกระจกเฉียงๆ ใหญ่ๆ ผมก็ต้องคิดว่าใครจะทำ ผมจะเอาเครื่องมือที่ไหนมายก ช่างของผมมีเครื่องมืออยู่ก็เป็นเครื่องมือธรรมดา ผมก็ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้วิธีการทำชิ้นเล็กๆ มันออกมามีคุณภาพ ถามผมเรื่องความเป็นไทยหรือไม่ได้เป็นไทย ผมไม่ได้คิดเช่นนั้น แต่ว่ามันออกมาเองโดยดีเอ็นเอของคน ความเข้าใจเรื่องแรงงาน ช่างฝีมือ วัสดุ ข้อจำกัด วิธีการก่อสร้าง งบประมาณ เวลาที่มีอยู่ รวมถึงสิ่งที่อยู่แวดล้อม มันมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นแบบนี้
ตัวอาคารตั้งอยู่ริมแม่น้ำ และอยุธยาก็เป็นพื้นที่รับมวลน้ำช่วงฤดูน้ำหลาก อาจารย์มีวิธีการป้องกันไม่ให้อาคารไม้อัดเสียหายจากปัญหาอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร
เราเช็กระดับความสูงถึงถนน แล้วมันมีประวัติน้ำท่วมถึงปี 2554 ในความเลวร้ายมันก็มีข้อดี คือช่วยเซ็ตระดับในตัวว่าระดับน้ำในปี 2554 เป็นอย่างไร อาคารนี้สูงกว่าระดับน้ำท่วม แต่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้หรอกถ้าน้ำจะท่วม มันเป็นธรรมชาติ เราต้องอยู่กับมันให้ได้ ถามว่าไม้อัดจะทนน้ำไหม โครงสร้างของมันเป็นไม้อัดผสมเหล็ก โครงสร้างหลักจึงยังอยู่ ส่วนไม้อัดเป็นตัวโครงสร้างหลักเหมือนกัน แต่เป็นโครงสร้างน็อกดาวน์ ถ้าน้ำขึ้นสูง เราก็ถอดออกได้ แล้วเปลี่ยนชิ้นข้างล่างเท่านั้นเอง
เมื่อเร็วๆ นี้อาจารย์ได้รับเชิญไปบรรยายที่ Trondheim Architecture Association และ Norwegian University of Science and Technology ประเทศนอร์เวย์ ผู้ฟังตั้งคำถามเกี่ยวกับ The Wine Ayutthaya อย่างไรบ้าง
เขาถามผมว่าทำไมผมต้องทำบันไดเยอะขนาดนี้ ผมก็บอกว่าสถาปัตยกรรมของผมต้องการสร้างอารมณ์ บรรยากาศจะกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ ผมต้องการให้คนเข้าไปแล้วมีประสบการณ์ในอารมณ์ของสถาปัตยกรรม แน่นอน-ในอาคารมีบันไดวน 5 ตัว ผมต้องการให้คนถามว่าทำไมต้อง 5 ตัว มันจะเกะกะไหม เบียดกันไหม เวลาเดินจะเป็นอย่างไร นั่นก็เป็นคำถามที่คนถาม ผมก็ตอบสั้นๆ ว่าคุณต้องมาดู เพราะสถาปัตยกรรมที่ผมสร้างนั้นมีไว้เพื่อที่คุณจะเข้าไปใช้ชีวิตอยู่กับมัน เห็นมันด้วยตาของคุณเอง ด้วยผิวกายของคุณที่สัมผัส ด้วยจมูกที่คุณได้กลิ่น ด้วยเสียงที่คุณได้ยิน มันจะทำให้คุณมีความสุข
การไปบรรยายหรือได้แลกเปลี่ยนความคิดกับผู้คนในวงการสถาปัตยกรรมต่างประเทศ ช่วยเปิดหรือเปลี่ยนมุมมองที่อาจารย์มีต่องานสถาปัตยกรรมมากน้อยแค่ไหน
ผมได้เรียนรู้ในสิ่งที่แตกต่าง ผมได้ชี้แจงและอธิบาย รวมทั้งเผยแพร่ความคิด เวลาเลคเชอร์ก็มีคำถามถหนักๆ เป็นปกติ เพราะเมืองนอกเขาไม่ต้องเกรงใจกัน เคยมีที่สิงคโปร์ นักศึกษาที่นั่นถามผมเรื่องอาคารกันตนา คุณใช้อิฐแบบนี้ไม่เพิ่มงบประมาณให้กับลูกค้าหรือ
แล้วอาจารย์ตอบว่าอย่างไร
ผมก็ตอบไปว่า สำหรับผม คุณค่ามันอาจจะมีมากกว่ามูลค่า ชีวิตผมเอง ประเทศผมเอง ก็อยู่ท่ามกลางประวัติศาสตร์ที่มีมาช้านาน ผมคิดว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่ผมคิดจะรักษาภูมิปัญญาความรู้บรรพบุรุษของผมไว้ ถ้าผมต้องรักษาเอาไว้ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน แล้วต้องลงทุนกับสิ่งเหล่านี้ ผมก็รู้สึกว่าผมคุ้ม เพราะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ และมันเป็นมรดกให้ลูกหลานได้สืบต่อไป ฉะนั้นงานสถาปัตยกรรมของผมก็จะเป็นงานที่มีคุณค่ามากกว่ามูลค่า
FACT BOX:
- ผศ. บุญเสริม เปรมธาดา ได้รับรางวัล The ar+d Awards for Emerging Architecture 2011 ในงานประกวดสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยมระดับโลก โดยนิตยสาร The Architecture Review ของประเทศอังกฤษ จากงานออกแบบ ‘สถาบันกันตนา’
- The Wine Ayutthaya ซึ่งออกแบบโดย ผศ. บุญเสริม เปรมธาดา และ Nathan Mehl เป็นส่วนหนึ่งของร้านอาหารแกรนด์เจ้าพระญา ตั้งอยู่เลขที่ 42/2 หมู่ 4 ต.บ้านรุน อ.พระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา เปิดบริการทุกวัน เวลา 11.00-22.00 น.