เทรนด์การกินอาหารมังสวิรัตนั้นเริ่มกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมปัจจุบัน มีร้านอาหารที่รองรับกลุ่มคนเหล่านี้เกิดขึ้นมากมาย มีการศึกษาวิจัยหาประโยชน์ในเชิงวิทยาศาสตร์ และการถกเถียงระหว่างคนกินเนื้อกับคนกินมังฯ ก็ดูเหมือนจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ 

วัฒนธรรมการกินมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และนี่คือยุคสมัยแห่งการกลับมามองว่าโลกมนุษย์กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่มีผลให้สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบจนอาจจะส่งผลร้ายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกไม่เว้นแม้แต่มนุษย์ การกินมังสวิรัติจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้ เนื่องจากพวกเขามองว่าการผลิตเนื้อสัตว์นั้นใช้ทรัพยากรมากกว่าการปลูกพืช และสร้างมลภาวะต่อโลกได้มากกว่า หรือบางคนก็กินมังสวิรัติด้วยเหตุผลทางจริยศาสตร์ คือไม่ต้องการเบียดเบียนสัตว์อื่น เป็นต้น (ผมจะไม่ถกเถียงในประเด็นนี้ในบทความชิ้นนี้)

แม้ว่าการกินมังฯ จะเป็นเรื่องที่ปกติมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนกินมังฯ จะไม่ต้องเผชิญปัญหาอะไรเหมือนกับที่พวกเขาเคยเจอในอดีต (10-20 ปีที่แล้ว) โดยเฉพาะประเทศที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมการกินเนื้อสัตว์ เช่นประเทศที่ปลูกพืชไม่ค่อยได้ (กลุ่มประเทศทะเลทราย) หรือประเทศที่ยากจน ซึ่งการเลือกกินไม่ใช่เรื่องน่าชื่นชมนัก แม้แต่ประเทศที่ร่ำรวยอย่างอังกฤษก็ยังคงมองว่ามังสวิรัติเป็นเรื่องยุ่งยาก ถ้าคุณไปตามภัตตาคารที่อังกฤษเมื่อ 15 ปีก่อน อาจจะมีตัวเลือกมังสวิรัติเพียงแค่ 1-2 เมนูเท่านั้น หรืออาจจะได้กินแค่ขนมปังกับซอสมะเขือเทศเป็นอาหารหลักถ้าอยู่ในครอบครัวที่คนอื่นกินเนื้อสัตว์กันหมด 

เกาหลีใต้ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่คนกินมังสวิรัติต้องพบเจอกับความลำบากเช่นกัน มีเรื่องตลกร้ายเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะเล่าให้ฟัง เป็นคำบอกเล่าของผู้กำกับชาวเกาหลี บองจุนโฮ ที่หลายคนน่าจะรู้จักเขาดีจากเรื่อง Parasite ซึ่งผลงานก่อนหน้านี้ของเขาอย่าง Okja ก็ได้พูดถึงเรื่องสิทธิสัตว์ และความโหดร้ายของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เอาไว้ด้วย การกำกับภาพยนต์เรื่องนี้ทำให้เขาต้องทำการค้นข้อมูลอย่างหนักเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้ และได้ไปเยือนโรงฆ่าสัตว์หลายต่อหลายครั้ง 

“ตอนที่ผมกลับจากโคโรลาโดมาถึงนิวยอร์ก กลิ่นโรงฆ่าสัตว์ยังติดตามผมมาด้วยเลย” นอกจากนี้เขายังดูคลิปวิดีโอเกี่ยวกับโรงฆ่าสัตว์มากมาย ทำให้เขากลายมาเป็นมังสวิรัตินานถึงสองเดือน จนกระทั่งกลับเกาหลีบ้านเกิด “พอผมกลับเกาหลีใต้ คุณก็รู้ใช่ไหมว่า เกาหลีคือสวรรค์แห่งบาบีคิว ถนนทุกสายล้วนแต่มีร้านเนื้อย่าง เท่านั้นแหละ ผมก็เริ่มกลับมากินเนื้อสัตว์อีกครั้ง” แต่ท้ายสุดเขาก็บอกว่า หลังจากสร้าง Okja เขาก็ลดการกินเนื้อสัตว์ลงมามาก จนแทบจะเหลือแต่ปลาเท่านั้น (pescatarian)

เรื่องราวของบองจุนโฮทำให้เราเห็นแล้วว่า การกินมังสวิรัติในเกาหลีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะวัฒนธรรมการกินของเกาหลีนั้นผูกติดกับเนื้อสัตว์ แม้แต่กิมจิก็ยังมีส่วนผสมของสัตว์ (เช่นน้ำปลา หรือกะปิ) การกินมังฯ ในเกาหลีนั้นยังไม่แพร่หลายเท่ากับที่อื่นๆ แม้ทางสถิติจะมีผู้กินมังฯ ในเกาหลีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม นั่นหมายความว่าถ้าคุณเป็นคนกินมังสวิรัติที่เคร่งครัด (ไม่บริโภคอุปโภคอะไรก็ตามที่มีส่วนผสมของสัตว์) เกาหลีใต้อาจจะเป็นหนึ่งในฝันร้ายของคุณไปโดยปริยาย คุณต้องตรวจแล้วตรวจอีกจนมั่นใจว่าอาหารที่คุณจะทานนั้นไม่มีส่วนผสมของสัตว์อยู่เลยจริงๆ 

ดังนั้นจะเรียกแบบผิวเผินว่าคนกินมังสวิรัติในเกาหลีเป็นคนชายขอบ ก็คงจะมีเค้าความเป็นจริงอยู่บ้าง

ผมเองเพิ่งอ่านนิยายเกาหลีเรื่องหนึ่งจบไป ชื่อว่า The Vegetarian เขียนโดย ฮันคัง (Han Kang) ตอนแรกที่เลือกอ่านเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะว่าผมสนใจมังสวิรัติ แต่สนใจเนื้อหาและวิธีการเล่าเรื่องที่ค่อนข้างลุ้นระทึกถึงอารมณ์ และปนไปด้วยความลึกลับซ้อนเงื่อน และพออ่านจบก็เห็นภาพสังคมเกาหลีกับการมังสวิรัติได้อย่างชัดเจน เลยอยากหยิบมาเล่าให้ฟังกัน

The Vegetarian เป็นนิยายขนาด 188 หน้า ไม่สั้นไม่ยาว ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2007 ทั้งเรื่องแบ่งออกเป็น 3 บทใหญ่ๆ โดยที่มุมมองในการเล่าเรื่อง และตัวละครที่ผู้เล่าเรื่องโฟกัสจะแตกต่างกัน แต่จุดศูนย์กลางของเรื่องนี้ก็คือหญิงสาวที่ชื่อว่ายองฮเย เธอแต่งงานกับสามีแต่ไม่มีลูก ทั้งคู่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่งในกรุงโซล

*ต่อไปนี้จะเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ

บทแรกของเรื่องเล่าจากมุมมองของสามียองฮเย เขามองว่าภรรยาเป็นคนที่แสนธรรมดา ทั้งหน้าตา รูปร่าง นิสัยเงียบๆ ขี้อาย แต่เขาก็ยอมรับและแต่งงานกับเธอ เพราะว่าเธอเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี ดูแลเขาไม่มีขาดตกบกพร่อง จนมาวันหนึ่งเขาพบว่า ยองฮเยเอาเนื้อสัตว์ในตู้เย็นไปทิ้งทั้งหมด ด้วยความตกใจว่าเกิดอะไรขึ้นเขาจึงโยนคำถามไปหาภรรยา โดยได้รับคำตอบกลับมาว่า “ฉันฝัน” เพียงเท่านั้น 

จากนั้นยองฮเยก็กลายมาเป็นมังสวิรัติ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้เขาอย่างมาก เช่น ตอนที่พาเธอไปกินข้าวกับหัวหน้าบริษัท ยองฮเยก็ดันไปต่อปากต่อคำกับเมียหัวหน้าเรื่องการกินเนื้อสัตว์ ทำให้สามีเธอกลายเป็นตัวตลก หรือเธอไม่ยอมมีเซ็กซ์กับเขาเพราะบอกว่าเขามีกลิ่นเนื้อติดเต็มไปหมด เขาไม่สามารถแม้แต่จะกินเนื้อสัตว์ในบ้านได้ จนสุดท้ายเมื่อเอาเรื่องนี้ไปบอกพ่อแม่ของยองฮเย ทำให้พ่อของเธอโกรธมาก และพยายามบังคับเกลี้ยกล่อมให้เธอกินเนื้อ บังคับถึงขั้นที่ว่าจับเธอขึงกับพื้นแล้วเอาเนื้อยัดเข้าปาก และตบหน้าเธอ บทนี้จึงจบลงด้วยการที่ยองฮเยเอามีดกรีดข้อมือตัวเองจนต้องเข้าโรงพยาบาล สิ่งที่เปลี่ยนแปลงต่อตัวเธอในช่วงนี้คือ เธอเริ่มคิดว่าตัวเองเป็นต้นไม้ และออกไปเปลือยอกอาบแดด ท่ามกลางสายตานับสิบของคนในโรงพยาบาล

บทแรกนี่เองที่เราจะเห็นความสะเทือนใจที่เกิดขึ้นกับยองฮเยมากที่สุด ในฐานะ ‘ผู้หญิงเกาหลี’ เธอย่อมมีสถานะต่ำกว่าผู้ชายอยู่แล้ว เธอกลายเป็นคนไม่มีปากมีเสียงและต้องเชื่อฟังคำสั่งของสามีกับพ่อตลอด และผู้ชายก็ใช้ความรุนแรงกับเธอเหมือนเป็นเรื่องปกติ เรื่องแย่ลงเมื่อเธอกลายมาเป็นมังสวิรัติ ซึ่งทำให้สามีและครอบครัวต้องผิดหวังคับข้องใจ ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเธอก็ชอบกินเนื้อสัตว์มาก (แม้แต่แม่กับพี่สาวของเธอก็ยังบังคับให้เธอกลับมากินเนื้อ แต่ด้วยท่าทีอ่อนโยนกว่า) ยองฮเยรู้สึกแปลกแยกมากขึ้นๆ ด้วยความไม่เข้าใจต่อปฏิกิริยาของคนรอบข้างที่มองว่าเธอเพี้ยน มุมมองของคนอื่นที่มีต่อเธอทำให้เธอเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง สถานะความเป็นผู้หญิงที่พ่วงมากับการเป็นมังสวิรัติยิ่งผลักเธอออกไปชายขอบมากขึ้น จนท้ายที่สุดต้องลงมือทำร้ายตัวเองเพื่อตอบโต้และยืนยันตัวตนของเธอว่าจะไม่ยอมเปลี่ยนใจเด็ดขาด

บทที่สองเล่าจากมุมมองบุคคลที่ 1 โดยมีตัวละครหลักคือพี่เขยของยองฮเย เขาตกหลุมรักน้องสะใภ้จากรอยปานที่ก้นของเธอ และรับรู้เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับน้องสะใภ้เพราะว่าอยู่ในเหตุการณ์กรีดข้อมือนั้นด้วย เขาแต่งงานกับอินฮเย พี่สาวของยองฮเย และมีลูกด้วยกันหนึ่งคน เขาทำงานเป็นศิลปินที่มีรายได้ไม่แน่นอน ส่วนมากภรรยาจะเป็นคนหาเลี้ยงลูกเพราะเธอมีธุรกิจร้านเครื่องสำอาง จริงๆ แล้วพี่เขยชอบยองฮเยมาตลอด เขาจินตนาการว่าร่วมเพศกับเธอ นึกถึงรอยปานมองโกเลีย (Mongolian Mark เป็นปานชนิดหนึ่งซึ่งมักจะหายไปเองเมื่อเจ้าตัวเติบโตขึ้น) ที่ไม่เคยหายไปจากแก้มก้นของน้องสะใภ้ และทำงานศิลปะที่มีแรงบันดาลใจมาจากความสเน่หาในตัวน้องสะใภ้คนนี้ แม้จะรู้ว่าเธอเป็นมังสวิรัติ แต่เขาก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาในแง่ลบต่อเธอแต่อย่างใด จนท้ายที่สุดเข้าก็มีความสัมพันธ์ทางเพศกับเธอ และถูกภรรยาจับได้ สุดท้ายเขาก็ต้องหย่าร้าง และยองฮเยก็ต้องเข้าโรงพยาบาลจิตเวช

บทนี้เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในตัวยองฮเย เธอดำเนินชีวิตเรียบๆ ตัวคนเดียวหลังจากสามีหย่ากับเธอไป แต่จุดสำคัญก็คือ การที่เธอพยายามเลียนแบบต้นไม้มากขึ้น และยอมมีอะไรกับพี่เขยเพราะว่าเขาวาดดอกไม้ไว้บนร่างกายของเขา ทั้งที่เธอเป็นคนขี้อาย เก็บตัว และไม่ชอบแสดงออกอารมณ์ทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง และแน่นอนว่าหลังจากเหตุการณ์นี้ เธอก็กลายเป็นผู้มีปัญหาทางจิตในสายตาของพี่สาว จนต้องเข้ารับการรักษา

บทสุดท้าย เล่าเรื่องโดยมุมมองบุคคลที่ 1 เช่นกัน แต่ตัวละครหลักคืออินฮเย ผู้เป็นพี่สาวของยองฮเย เธอกลายมาเป็นผู้ดูแลน้องสาวของตัวเองหลังจากที่หย่าร้างกับสามี คอยไปเยี่ยมน้องที่โรงพยาบาลอยู่เสมอ และจัดการธุระค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่เธอก็ยังไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าทำไมน้องสาวของเธอถึงเลิกกินเนื้อสัตว์ และดูเหมือนว่าจะไม่ยอมกินอาหารอะไรอีก นอกจากผัก แถมยังทำตัวเหมือนกับว่าตัวเองเป็นต้นไม้ ร่างกายเริ่มผอมแห้งถึงกระดูก ไม่พูดไม่จา ราวกับว่าเธอมีชีวิตอยู่จากการสังเคราะห์แสงเพียงเท่านั้น  เธอถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคกลัวอ้วนและต้องได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด มาถึงจุดนี้เราจะเห็นได้ว่าอินฮเยก็เริ่มที่จะรับภาระกับความแปลกประหลาดของน้องสาวไม่ไหวแล้ว จนเธออยากจะทิ้งน้องไป แม้รู้ว่าถ้าทิ้งน้องไปแล้วยองฮเยก็จะไม่เหลือใครมาคอยดูแลอีก แต่ท้ายที่สุดเมื่อน้องสาวของเธอกำลังจะถูกรักษาด้วยการช็อตไฟฟ้า เธอก็ทนเห็นสภาพแบบนั้นไม่ได้จนตัดสินใจพายองฮเยออกมาจากโรงพยาบาล และเรื่องราวก็จบตรงนี้

จากเรื่องราวทั้งหมดจะเห็นได้ว่า เราไม่เคยรู้เลยว่ายองฮเยคิดอะไรอยู่ เรารู้แค่ว่าเธอฝันเห็นภาพอันแสนน่ากลัว ฝันถึงสัตว์ที่โดนฆ่า โดนชำแหละ จนทำให้เธอเปลี่ยนตัวเองไม่ยอมกินเนื้อสัตว์ และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือเธออยากเป็นต้นไม้ 

แต่สิ่งที่เราเห็นอย่างชัดเจนในนิยายเรื่องนี้คือ ปฏิกิริยาของคนรอบข้างที่มีต่อคนกินมังสวิรัติ โดยเฉพาะในประเทศที่เนื้อสัตว์คืออาหารหลัก คนกินมังฯ กลายเป็นพวกนอกคอก ร่างกายอ่อนแอ ไปจนถึงเสียสติ นิยายเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ยองฮเยค่อยๆ กลายมาเป็นคนกินมังฯ แต่ทำให้เธอเปลี่ยนไปเพียงเวลาข้ามคืน มันทำให้คนอื่นๆ ตกตะลึงและสับสน และเมื่อไม่มีคำอธิบายใดๆ แล้ว ก็ยิ่งซ้ำเติมความสับสนเข้าไปอีก แน่นอนว่าผู้เขียนต้องการให้มันเป็นสิ่งลึกลับ ไม่เปิดเผย เหมือนกับที่ตัวยองฮเยแทบไม่พูดอะไรออกมาเลย เรารับรู้ความคิดเธอได้จากการกระทำเป็นหลัก เรารู้ว่าเธอฝันเห็นอะไรบ้าง แต่กลับไม่รู้ว่าทำไมเธอถึงฝันถึงเรื่องราวเหล่านั้น ไม่มีการเฉลยใดๆ ในจุดนี้ เราไม่ได้เห็นภาพอะไรมากไปกว่าความสัมพันธ์ระดับปัจเจก ตัวละครแทบไม่เชื่อมโยงไปถึงหลักการหรือปัญหาของการกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ

ในอีกแง่หนึ่ง การที่ตัวเอกเป็นเพศหญิงก็ยังตอกย้ำให้เห็นถึงการไร้อำนาจต่อรองในสังคมเกาหลีใต้ เป็นที่รู้กันดีว่าเกาหลีใต้ยังเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศอยู่สูงมาก ผู้หญิงมักจะเป็นเป้าโจมตีได้ง่ายกว่าผู้ชายเมื่อทำความผิดลักษณะเดียวกัน ถ้าลองเปลี่ยนให้พ่อของยองฮเยมากินมังสวิรัติ เหตุการณ์ก็คงแตกต่างไปจากนี้ ความเป็นชายขอบซ้ำสองของตัวเอก จึงทำให้นิยายเรื่องนี้บีบคั้นความรู้สึกอย่างรุนแรง ในขณะที่เราสงสารยองฮเยจับใจจากการโดนกระทำด่าทอ จากการพยายามปลดปล่อยตัวเองจากค่านิยมของสังคมเกาหลี เพื่อยืนยันความเป็นตัวเองอย่างหนักแน่น แต่เราก็ถูกทำให้กลายเป็นเหมือนกับคนอื่นๆ คือไม่เข้าใจว่าทำไมเธอถึงเป็นแบบนี้ แสดงออกแบบนี้ เราเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ต่อเรื่องราวอันน่าสลดเท่านั้น 

ผู้เขียนลองย้อนกลับมาดูโลกจริงๆ บ้าง เวลาที่มีคนถกเถียงกันเรื่องนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่การกินมังสวิรัติไม่ใช่เรื่องยากเท่าไร เพราะเราเป็นสังคมที่ปลูกพืชเป็นหลักอยู่แล้ว แต่แน่นอนว่าวัฒนธรรมการกินเนื้อก็เหนียวแน่น จนเกิดการปะทะกันระหว่างคนกินเนื้อกับไม่กินเนื้ออยู่บ่อยๆ ซึ่งมักจะจบที่การประชดประชันกันมากกว่า คำถามก็คือ การถกเถียงในเรื่องนี้ควรจะเป็นไปในลักษณะใด? ในเมื่อการกินเนื้อก็มีหลายเหตุผล การกินมังฯ ก็มีหลายเหตุผล แล้วเราจะเอาประเด็นอะไรมาเถียงกัน หรือท้ายที่สุดแล้ว เราไม่จำเป็นต้องถกเถียงอะไรกันเลย ถ้าเรายังไม่ได้มองอีกฝ่ายแบบเคารพ แน่นอนว่าส่วนตัวแล้วผมไม่ชอบพวกมังสวิรัติที่ระรานคนอื่นอย่าง PETA แต่ก็ไม่ได้เห็นด้วยนักกับการไปโพสต์รูปเนื้อสัตว์ในกลุ่มมังสวิรัติด้วยเช่นกัน

สำหรับผมแล้ว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การกินเนื้อสัตว์ แต่อยู่ที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่เอาแต่ได้มากกว่า พวกที่ผลิตทีละเยอะๆ เพื่อป้อนตลาด ถ้าคุณเห็นใจสัตว์คุณต้องวิจารณ์คนพวกนี้ ถ้าคุณมองว่าปศุสัตว์ก่อให้เกิดมลพิษ คุณก็ต้องวิจารณ์พวกนี้เหมือนกัน เพราะสุดท้ายแล้วคนตัวเล็กตัวน้อยที่เลี้ยงสัตว์เอามาประทังชีวิต กลับโดนร่างแหไปด้วย ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่มีเงินพอที่จะไปซื้อมากิน กลับกลายเป็นว่าคนที่ไม่มีทางเลือกในการกินมากนัก กลับต้องถูกตราหน้าว่ากินซากศพสัตว์ (ถ้าคุณไปอยู่แถวชนบทคงจะมองภาพง่ายขึ้น) ปัญหาที่แท้จริงคือกลุ่มคนที่ควบคุมอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ โดยที่ไม่สนว่าจะมีผลกระทบอะไร ตราบใดที่ธุรกิจยังดำเนินไปได้ต่างหาก 

อย่างไรก็ตาม ผมไม่เคยมีปัญหากับคนกินมังสวิรัติเลย ผมได้ข้อมูลบางอย่างในบทความนี้จากพวกเขาด้วยซ้ำ สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อในบทความนี้ โดยยกตัวอย่างจาก The Vegetarian ก็คือการเคารพต่อคนอื่น ซึ่งไม่ใช่แค่การปิดปากเงียบไม่ยุ่งเกี่ยวกัน แต่รวมไปถึงการถกเถียง อธิบาย และสร้างความเข้าใจถึงความแตกต่างระดับวัฒนธรรม และท้ายสุดนี้ ถ้าเรามองเห็นภาพร่วมกันว่าศัตรูที่แท้จริงคือใคร เราก็คงไม่ต้องมาประชดประชันกันเอง แล้วปล่อยให้นายทุนใหญ่ผูกขาดเนื้อสัตว์อยู่เพียงไม่กี่เจ้า