หากเห็นพาดหัวเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายคนคงเดาไปถึงเนื้อหาด้านในว่าต้องเกี่ยวข้องกับพลังงานอย่างถ่านหิน น้ำมัน หรือการรุกล้ำรุกรานเข้าพื้นที่อนุรักษ์ แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีสาเหตุใหญ่สาเหตุหนึ่งที่หลายคนมักอ้อมแอ้มไม่ยอมพูดออกมาดังๆ คือภาคการเกษตร ซึ่งปล่อยแก๊สเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 24 ของกิจกรรมมนุษย์ทั้งโลก เป็นรองเพียงภาคพลังงานและการผลิตความร้อนที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกร้อยละ 25

น่าจะเดาได้นะครับว่าการแตะภาคการเกษตรนั้น ‘ละเอียดอ่อน’ อย่างยิ่ง เพราะนอกจากแรงงานที่ทำงานในภาคเกษตรส่วนใหญ่มักเป็นผู้มีรายได้น้อย เป็นกลุ่มเปราะบาง แถมยังเกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารเลี้ยงปากท้องประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งปัจจุบันก็ยังกระจายได้ไม่ทั่วถึงและเท่าเทียม

อย่างไรก็ดี รายงานล่าสุดของคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการ (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services: IPBES) ซึ่งเป็นคณะทำงานหนึ่งภายใต้สหประชาชาติ ได้รวบรวมการประเมินสถานะของความหลากหลายชีวภาพทั่วโลก ออกมาเป็นรายงานที่สรุปได้สั้นๆ ว่ากว่า 1 ล้านชนิดพันธุ์ทั่วโลกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยมีบทสรุปผู้บริหารจำนวน 39 หน้าสำหรับปุถุชนคนธรรมดาอ่านกัน

รายงานฉบับดังกล่าวแทงไม่ยั้งลงมาที่ภาคการเกษตรว่าเป็นสาเหตุหลักที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือการรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติ หักร้างถางพง แล้วเปลี่ยนมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย ซึ่งพืชเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกป้อนเข้าสู่สายพานการผลิตอาหารสัตว์

ประชากรที่ร่ำรวยขึ้นและเพิ่มจำนวนขึ้น ยิ่งทำให้มีความต้องการเนื้อสัตว์เสิร์ฟในมื้ออาหารเพิ่มขึ้นในระดับทบทวี รายงานของ IPBES ระบุว่าพื้นที่เลี้ยงสัตว์คิดเป็นราวร้อยละ 25 ของที่ดินทั่วโลกซึ่งไม่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง และปล่อยแก๊สเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 18 ของกิจกรรมมนุษย์

ผู้เขียนขอออกตัวไว้ก่อนว่าผู้เขียนไม่ได้ทานมังสวิรัติ แต่ต้องการเชิญชวนผู้อ่านทุกคนในการมีส่วนร่วมลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมง่ายๆ โดยเริ่มจากการเลือกรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน เพราะกว่าเนื้อสัตว์จะมาอยู่บนจานของเรานั้น จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลในระดับที่เราอาจคาดไม่ถึง

เส้นทางเนื้อสัตว์จากฟาร์มสู่จาน

ถ้าจะศึกษาผลกระทบจากเนื้อสัตว์อาจต้องสืบย้อนไปให้กว้างและไกลว่าฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพราะรอยเท้าการใช้ที่ดินในการผลิตเนื้อสัตว์นั้นมาจากการผลิตอาหารสัตว์นั่นเอง งานวิจัยล่าสุดของสองอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเปิดเผยตัวเลขที่น่าหวั่นใจว่าการเพาะปลูกอาหารสัตว์คิดเป็นร้อยละ 83 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดทั่วโลก

หากใครเคยขับรถจากกรุงเทพฯ ไปทางเหนืออาจมองเห็นสองข้างทางเป็นทุ่งข้าวโพด ทุ่งมันสำปะหลัง นั่นแหละครับ พื้นที่เพาะปลูกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์

เราใช้พื้นที่จำนวนมหาศาลเพื่อผลิตอาหารป้อนให้กับไก่ วัว หมู ฯลฯ ในขณะที่ผลผลิตเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ 37 ของโปรตีนที่เราได้รับ และร้อยละ 18 ของแคลอรีที่เรารับประทานอาหารในแต่ละวัน อ่านถึงตรงนี้อาจเริ่มสงสัยว่า ลงทุนไปมากขนาดนี้ แล้วพลังงานหายไปไหนหมด

สถิติที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมใช้พื้นที่ทั้งหมดราวร้อยละ 83 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ปล่อยแก๊สเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 58 ของการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากภาคการเกษตร ทำให้เกิดการปนเปื้อนของมลภาวะในน้ำร้อยละ 57 เป็นสาเหตุของมลภาวะทางอากาศร้อยละ 56 ใช้น้ำจืดราวร้อยละ 33 ผลิตโปรตีนให้กับมนุษย์ร้อยละ 35 ผลิตแคลลอรีให้กับมนุษย์ร้อยละ 18 ข้อมูลจาก Reducing food’s environmental impacts through producers and consumers

คำตอบนั้นต้องย้อนกลับไปเปิดตำราชีววิทยาสมัยมัธยมต้น พลิกหารูปห่วงโซ่อาหารที่แสดงพลังงานซึ่งส่งผ่านจากสัตว์กินเนื้อ สัตว์กินพืช และพืช ซึ่งประมาณการง่ายๆ ว่าพลังงานจะหายไปร้อยละ 90 ตลอดห่วงโซ่อาหาร ลองจินตนาการดูง่ายๆ ครับ ว่าเวลาหมูหรือไก่กินอาหาร 1 กิโลกรัม น้ำหนักตัวก็จะไม่เพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัมเป๊ะๆ คล้ายๆ กับเวลาเราไปกินบุฟเฟต์ที่ต่อให้ยัดทะนานไปมหาศาล แต่น้ำหนักตัวที่เพิ่มก็จะไม่เท่ากับที่เรากินเข้าไปนั่นเอง

ตัวชี้วัดประสิทธิภาพการปศุสัตว์คืออัตราการแปลงอาหารสัตว์เป็นเนื้อสัตว์ (Feed Conversion Ratio) ซึ่งมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทของสัตว์ ประเภทของอาหาร และลักษณะการเลี้ยงดู อย่างไรก็ดี อัตราการแปลงอาหารสัตว์เป็นเนื้อสัตว์ สามารถสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้

อาหารสัตว์ 0.2 กิโลกรัม = เนื้อปลา 1 กิโลกรัม

อาหารสัตว์ 0.9 – 1.1 กิโลกรัม = จิ้งหรีด 1 กิโลกรัม

อาหารสัตว์ 2 – 3 กิโลกรัม = เนื้อหมูและเนื้อไก่ 1 กิโลกรัม

อาหารสัตว์ 4 – 6 กิโลกรัม = เนื้อแกะ 1 กิโลกรัม

อาหารสัตว์ 5 – 20 กิโลกรัม = เนื้อวัว 1 กิโลกรัม

ต้นทางของการผลิตอาหารสัตว์คือสาเหตุของสารพัดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การใช้สารเคมีอันตรายซึ่งทำให้เกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม การใช้น้ำจนเกิดภาวะขาดแคลน และอีกผลกระทบสดๆ ร้อนๆ ต่อจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทยคือฝุ่นควันซึ่งมาจากการเผาไร่อาหารสัตว์หลังการเก็บเกี่ยวนั่นเอง

สารพัดเหตุผลที่เราควรลดการบริโภคเนื้อสัตว์

จากเส้นทางการผลิตอาหารข้างต้น เราคงจะเห็นภาพว่ากว่าจะผลิตเนื้อสัตว์ได้ 1 กิโลกรัมนั้นทิ้งรอยเท้าการใช้ทรัพยากรไว้ไม่ใช่เล็กๆ หากเปรียบเทียบกับการตัดตอน แทนที่จะต้องให้เกษตรกรปลูกธัญญาหารเลี้ยงสัตว์ทำไมเราไม่รับประทานพืชผักเหล่านั้นเป็นอาหารหลักตั้งแต่ต้นล่ะครับ?

กระแสด้านสิ่งแวดล้อมในโลกตะวันตกทำให้เกิดกลุ่มผู้บริโภค ‘มังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian)’ กล่าวคือผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นหลัก แต่ก็ยังบริโภคเนื้อสัตว์ในบางมื้อ ซึ่งงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งระบุว่าคนกลุ่มนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส โดยต้องลดการบริโภคเนื้อวัวร้อยละ 75 เนื้อหมูร้อยละ 90 และไข่ไก่ลงครึ่งหนึ่ง โดยบริโภคพืชผักและธัญญาหารอื่นๆ ทดแทน

แผนภาพเปรียบเทียบรอยเท้าคาร์บอนของการบริโภคอาหารหนึ่งออนซ์ (ราว 113 กรัม) กับรอยเท้าคาร์บอนของรถที่ใช้น้ำมันเดินทางหนึ่งไมล์ (ราว 1.6 กิโลเมตร) ภาพจาก Environmental Working Group

ทางเลือกดังกล่าวนอกจากนับว่าเป็น ‘ทางสายกลาง’ ที่ได้ประโยชน์กับโลกแล้ว ยังมีประโยชน์กับสุขภาพของเรา เพราะมีการศึกษาที่สนับสนุนว่าการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจ ลดคอเลสเตอรอล รวมถึงลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งบางประเภทอีกด้วย

ส่วนประเด็นสุดท้ายคือสายธรรมว่าด้วยสิทธิสัตว์ สำหรับมื้ออาหารมังสวิรัติก็สบายใจได้ว่าอาหารที่รับประทานนั้นไม่ได้เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตใดๆ ส่วนใครที่ไม่ค่อยอินกับทางนี้เท่าไร เราแนะนำให้ลองดูสารคดีเกี่ยวกับปศุสัตว์ เช่น Food, Inc. หรือ Lucent แต่หากดูจบแล้วยังเฉยๆ ก็ไม่เป็นไรครับ ถือว่าทานเนื้อสัตว์น้อยลงเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือช่วยเรื่องสุขภาพของตัวเอง

ยอมรับว่าการรับประทานมังสวิรัติในไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้เขียนเองก็เคยพยายามและพ่ายแพ้เพราะทนทำอาหารเองทุกมื้อไม่ไหว และทางเลือกการรับประทานอาหารนอกบ้านก็มีน้อยถึงน้อยที่สุด การรับประทานมังสวิรัติ หรือวีแกนบางมื้อจึงดูเป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้ 

แล้วมาพยายามด้วยกันนะครับ เพราะช่วงเวลานี้อาจเป็นโค้งสุดท้ายที่ประชาชนคนรุ่นเราจะลดรอยเท้าที่ฝากทิ้งไว้บนโลกก่อนที่จะสายเกินแก้ไข

 

เอกสารประกอบการเขียน

Summary for policymakers of the global assessment report on biodiversity and ecosystem services of the Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services

Livestock – Climate Change’s Forgotten Sector Global Public Opinion on Meat and Dairy Consumption

Human society under urgent threat from loss of Earth’s natural life

กินมังฯ ทำไม ?

 

Fact Box

  • กระแสเนื้อสัตว์ที่ไร้เนื้อสัตว์ (Meatless Meat) กำลังมาแรงในสหรัฐอเมริกา หลังจากมีการพัฒนาเนื้อสัตว์ซึ่งมีส่วนผสมของสารพัดถั่วและสูตรลับเฉพาะที่ไร้เนื้อสัตว์แม้แต่โมเลกุลเดียวแต่ยังให้โปรตีนครบถ้วนโดยภาคเอกชน เช่นบริษัท Beyond Meat ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ไปเมื่อราวต้นปีที่ผ่านมา และมียอดขายพุ่งขึ้นถึง 3 เท่าในไตรมาสแรก โดยบริษัทเบอร์เกอร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Burger Kings ได้จับมือกับ Beyond Meat ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เบอร์เกอร์ที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible Burger) ซึ่งเป็นเบอร์เกอร์เนื้อที่ไร้เนื้อนั่นเอง กระแสดังกล่าวอาจเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะมาแปลงโฉมอาหารโลก และทำให้การกินมังสวิรัติ หรือการงดเนื้อสัตว์เป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายมากขึ้น
Tags: , , ,