ก่อนอื่นคงต้องบอกว่า ‘เรื่องเล่าจากโรงน้ำชา’ หรือ The Story from the Teahouse of the August Moon เป็นละครเวทีโรงเล็กที่ทำให้คนดูหัวเราะหนักมากตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นละครตลกที่สอดแทรกเรื่องเจ็บๆ เอาไว้อย่างเอร็ดอร่อยทีเดียว
หากอ่านจากตัวบทนิยายเรื่อง The Teahouse of the August Moon ของเวิร์น ชไนเดอร์ (Vern Sneider) ที่ผู้กำกับหยิบมาแปลงเป็นบทละคร คุณจะพบกับเรื่องราวของ ‘สวรรค์แดนใต้’ ของญี่ปุ่น (ซึ่งละครเลือกจะไม่เอ่ยชื่อเกาะอย่างตั้งใจ) นายพลอเมริกันคนหนึ่งได้รับมอบหมายให้ไปปกครองเมืองเล็กๆ ทางใต้ของเกาะ เขาถูกส่งไปเพื่อสร้างโรงเรียนที่จะทำการเรียนการสอนแบบอเมริกันอันศิวิไลซ์ แต่เมื่อไปที่นั่นเขาพบว่าชาวบ้านบางส่วนต้องการโรงน้ำชาที่นับเป็นความรุ่มรวยแบบญี่ปุ่น
ในนิยาย เรื่องจบลงที่เขาตัดสินใจสร้างโรงน้ำชาแทนโรงเรียน ทหารอเมริกันสามารถเข้ากันได้ดีกับคนท้องถิ่นเพราะความเข้าอกเข้าใจและประนีประนอม พวกเขาสื่อสารกันผ่านล่ามนามว่าซากินิ จนความปรองดองบังเกิด เรื่องจบลงด้วยแฮปปี้เอนดิ้ง เป็นนิยายที่เขียนขึ้นโดยนายทหารอเมริกันที่เคยถูกส่งไปประจำที่เกาะแห่งนั้นจริงๆ และยังเคยถูกนำไปทำหนังฮอลลีวูด โดยมี มาร์ลอน แบรนโด นักแสดงอเมริกันตัวท็อป ณ ขณะนั้น รับบทเป็นล่ามนักสื่อสารผู้เชื่อมโลกสองฝั่งเอาไว้ได้
นี่คือเรื่องเล่าโดยคนอเมริกัน จบแบบโปรอเมริกา และยังถูก whitewash (ใช้นักแสดงฝรั่งมารับบทเป็นคนชนชาติโน้นชาตินี้แบบไม่สนใจอะไรทั้งนั้น) โดยอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกัน หรือก็คือผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งบนเกาะแห่งนั้นและเรื่องเล่าเรื่องนี้ นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ อิ๋ว ปานรัตน กริชชาญชัย เลือก The Teahouse of the August Moon มาดัดแปลงใหม่เป็น The Story from the Teahouse of the August Moon และลองเล่าในแบบของตัวเองดูบ้าง
คราวนี้เธอเลือกให้ผู้เล่าเป็นสามพี่น้องนักเล่าเรื่องญี่ปุ่น รับบทโดย เกรียงไกร ฟูเกษม, เศรษฐศิริ นิรันดร และ กวิน พิชิตกุล ใช้วิธีเล่าแบบระกุโกะ (Rakuko) ซึ่งเป็นศิลปะการเล่าเรื่องตลกแบบญี่ปุ่น พวกเขาสามพี่น้องกำลังอยู่ในเวิลด์ทัวร์ ตระเวนเล่าเรื่องนี้ไปทั่วโลก ล่าสุดที่ซิดนีย์โอเปร่าเฮาส์ และนับเป็นบุญของชาวไทยที่เขาแวะมาเล่าที่ Sliding Elbow Studio ในซอยลึกลับกับห้องเล็กๆ ที่ชั้นสามของตึกที่ชวนงงว่ามันเป็นอะไรกันแน่ พอเราเข้าไปในห้อง พวกเขาก็นั่งจิบชาตั้งท่ารออยู่แล้ว บนตั่งที่ไม่ได้กว้างมาก มีฉากหลังเป็นภูเขาอะไรสักอย่างที่ดูญี่ปุ่นๆ กับดวงอาทิตย์-หรือไม่ก็โคมไฟสีแดงซ่อนอยู่ข้างหลัง
ละครจูนคนดูเข้าไปในโลกของสามพี่น้องด้วยความตลกแบบไม่อั้น ตั้งแต่มุกเทคโนโลยีแปลภาษา และแอ็คติ้งของนักแสดงทั้งสามที่เอาอยู่มากๆ แวะเกริ่นเรื่องสามพี่น้องเองว่าพื้นเพแล้วพวกเขาก็เป็นชาวเกาะแห่งนั้นนั่นแหละ จากนั้นก็พาเราเข้าสู่เรื่องของเกาะสวรรค์แดนใต้ ที่ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของจีน อังกฤษ กับล่าสุด อเมริกา และก็เป็นมาจนถึงทุกวันนี้ เรื่องเล่าย้อนไปตอนที่อเมริกาเพิ่งเข้าไปที่เกาะแห่งนั้นใหม่ๆ ละครเล่าเรื่องไปตามครรลองของนิยาย แต่แล้ว หลังจากโรงน้ำชาสร้างเสร็จ ละครก็พาเรื่องไปต่อโดยให้หัวหน้าใหญ่ที่สั่งให้สร้างโรงเรียน กลับมามีบทบาทอีกครั้ง
นักแสดงทั้งสามคน เล่นเป็นนักเล่าเรื่องสามพี่น้อง ที่ต่างก็ผลัดกันรับบทเป็นตัวละครต่างๆ ในเรื่องเล่า ใช้พื้นที่แคบๆ บนตั่งอย่างสุดจะคุ้มค่า ตั้งแต่บทนายพลใหญ่, นายพลนักมนุษยวิทยา, ล่าม ผู้คอยก่นด่าทหารสลับกับคอยหมอบเลียอยู่เป็นระยะๆ, คุณครูสาวผู้รักดนตรีและแสงจันทร์ ผู้ที่ภาษาของเธอแทบจะไม่ค่อยถูกแปลให้เราได้ยิน, เกอิชาตัวแม่ผู้แสนกรุยกราย, เกอิชาตัวลูกที่อ้อร้อเก่ง, คนเฒ่าคนแก่ที่อยากเห็นโรงน้ำชาสักครั้งก่อนตาย ไปจนถึงชาวบ้านร้านตลาด
ขณะที่พวกเขาเล่าเรื่องบ้านเกิดของตัวเอง เราก็ได้ยินบางประโยคที่ดันคลับคล้ายคลับคลาหรือฟังดูคุ้นๆ อย่างบอกไม่ถูก ว่าแล้วก็กลับมาขำต่อน่าจะดีกว่า
ไดอะล็อกของเรื่องนี้น่าสนใจมากๆ ด้วยภาษาแบบวรรณกรรมที่เข้าปากตัวละครนักเล่าเรื่องเป็นอย่างดี สลับกับภาษาบ้านๆ ในบางจังหวะที่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรประดักประเดิด ซึ่งในช่วงพูดคุยหลังจบละคร ก็พบว่าผู้กำกับจริงจังกับไดอะล็อกมาก พยายามให้นักแสดงพูดตามบทอย่างเคร่งครัดแม้แต่การซ้ำคำ และภาษาวรรณกรรมเหล่านั้นก็เกิดอย่างตั้งใจ ยิ่งพอเป็นละครย้อนยุคและใช้อารมณ์ขัน ประโยคสวยๆ เหล่านั้นบวกกับมาดของนักเล่าเรื่องที่ดูมีเรื่องบางอย่างอัดอั้นอยู่ข้างใน ก็ยิ่งช่วยเสียดสีให้บางเรื่องมันบาดลึกเข้าไปอีก
ขณะที่จังหวะของนักแสดงก็กินกันไม่ลง ทั้งสีหน้าและท่าทีที่เก็บรายละเอียดไม่มีตก ไม่แปลกใจที่ทุกคนหัวเราะกันแบบไม่กั๊ก ปรบไม้ปรบมือ แช่มชื่นถ้วนหน้า
เรายังคงรับความบันเทิงจากละครไปได้เรื่อยๆ จนถึงในตอนจบที่ผู้กำกับเลือกล้างไพ่ เมื่อชาวบ้านส่วนหนึ่งสรวลเสเต็มที่กับโรงน้ำชา ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งเกลียดมัน ใจหนึ่งของนายพลนักมานุษยวิทยาก็อยากเหลือเกินให้มันอยู่ต่อ อีกใจก็น่าจะสับสนจากคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ที่สั่งให้ทำลายโรงน้ำชาทิ้งให้สิ้นซากภายในสามวัน เป็นวิธีการล้างไพ่ที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งแอบกระซิบกับเราไว้ตั้งแต่ตอนต้นๆ มันกลายเป็นแบดเอนดิ้งที่ดูยังไงก็แฮปปี้ไม่ออก
จากนั้นพวกเขาก็กลับมาเป็นนักเล่าเรื่อง ทิ้งเรื่องเล่าของชาวเกาะสวรรค์แดนใต้ไว้ให้คิดต่อว่ามันจริงแท้แค่ไหน เมื่อเรื่องเล่าเหล่านั้น ทั้งสามพี่น้องก็ได้ยินมาจากปู่จากย่าของเขาอีกทีหนึ่ง แถมยังบอกว่ามีตัวละครที่ปู่ย่าใส่เข้ามาเองเพื่อเพิ่มอรรถรสเสียอีก
ท้ายที่สุดแล้วเสียงของนักเล่าเรื่องผู้พี่ก็ยังคงวนเวียนในหัวเรา “ขอให้มันเป็นเสียงหัวเราะคิกคักที่ดังก้องจนไปถึงบ้านเกิดเมืองนอน” (หากข้อความผิดต้องขออภัย มัวแต่ขำ น่าจะจำได้ไม่เป๊ะนัก)
และนึกภาพ ถ้าเราเป็นชาวเกาะสวรรค์แดนใต้ แฮปปี้เอนดิ้งของพวกเราควรเป็นอย่างไรดี ภายใต้การปกครองของใครก็ไม่รู้ตลอดหลายทศวรรษมานี้ ความขำขันแฮปปี้แบบที่จะไม่จบลงแบบขื่นๆ จะมีได้จริงหรือ?
ป.ล. ถ้ารอบที่คุณไปดูมีช่วงพูดคุยกันตอนท้าย หากมีเวลาก็อยากแนะนำให้อยู่ฟัง
Fact Box
‘เรื่องเล่าจากโรงน้ำชา’ หรือ The Story from the Teahouse of the August Moon เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลละครกรุงเทพ 2018 เขียนบทและกำกับโดย ปานรัตน กริชชาญชัย ทำการแสดงในวันที่ 16,17,18,19,23,25,26 พฤศจิกายน 2561 เวลา 20:00 น.
สถานที่: Sliding Elbow Studio (ซอยเพชรบุรี 47 แยก2)
ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/events/151911769091473/