เราไม่ได้ฟังงานชุดใหม่ของเมเยอร์นับตั้งแต่อัลบั้ม Paradise Valley เมื่อปี 2013 ซึ่งเป็นหนึ่งในสองอัลบั้มล่าสุดของเขาที่เต็มไปด้วยซาวด์แบบคันทรี จึงอาจทำให้ผู้ที่ชื่นชอบเขาจากความเป็นป๊อปสตาร์อาจจะต้องเคืองไปบ้างเล็กน้อย แต่ถ้าหากเราลองตัดเรื่องกลิ่นคันทรีออกไป และฟังงานของเมเยอร์ในช่วงนั้นแบบจริงจัง จะเห็นได้เลยว่าความสามารถในการแต่งเพลงของเขาสูงขึ้นมากๆ
ตอนได้ข่าวถึงงานชุดใหม่ของเขา ผมก็พยายามที่จะหาข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นแนวดนตรี สถานที่อัด ใครโปรดิวซ์ รวมไปถึงนักดนตรีที่เขาใช้ ซึ่งข้อมูลที่ได้มานั้นทำให้ผมในฐานะแฟนเพลงของเมเยอร์ยุคแรกก็ต้องอุ่นใจ เพราะรายชื่อนักดนตรีที่เผยออกมานั้นคือทีมเดียวกับที่ทำเพลงอัลบั้ม Contiunnm ซึ่งเป็นงานชุดที่ผมชอบมากๆ
กลางเดือนพฤศจิกายนของปี 2016 เมเยอร์ปล่อยซิงเกิลแรกชื่อ Love on the Weekend ออกมาให้เราได้ฟังกัน ความรู้สึกแรกที่ได้ฟังมันยังบอกไม่ถูกครับว่าดีหรือไม่ดี ชอบหรือไม่ชอบ ความรู้สึกทุกอย่างมันกลางๆ ไปหมด คือเพลงเพราะนะครับ แต่ไอ้เราที่รอมานานก็แอบหวังว่ามันจะพีกกว่านี้ เพราะฉะนั้นความรู้สึกของเพลงๆ นี้นั้นออกจะผสมปนเปกันพอสมควร แต่อย่างน้อยๆ ผมก็ดีใจที่ผมได้เมเยอร์ 4 ชุดแรกกลับมาแล้ว และแทบจะรอไม่ไหวที่จะได้ฟังเพลงที่เหลือของอัลบั้มที่ชื่อ The Search for Everything โดยเมเยอร์ออกมาบอกเองว่าเดือนมกราคมนี้เราจะได้ฟังกันแน่นอน
พอช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในทวิตเตอร์ของเขาก็แจ้งข่าวที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
เมเยอร์บอกว่าอัลบั้มชุดใหม่ของเขาจะทยอยปล่อยเพลงออกมาเดือนละระลอก หรือทีละเวฟ (wave) โดยจะมีทั้งหมดเวฟละ 4 เพลง ซึ่งวิธีการปล่อยเพลงแบบนี้ยังไม่มีใครทำมาก่อน คือจะปล่อยเป็น ep ก็ไม่ใช่ ปล่อยเป็นอัลบั้มก็ไม่ใช่อีก ดังนั้นไอ้วิธีที่ว่านี้ก็ต้องดูกันยาวๆ ครับว่ามันจะมีผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน ถ้าเวิร์ก ก็คงจะมีวงอื่นๆ ทำตามในอนาคต
ส่วนตัวของผมนั้นค่อนข้างชอบการปล่อยทีละ 4 เพลงนะครับ
มันทำให้เราสามารถตั้งใจฟังเพลงแบบละเอียดๆ ได้มากกว่าตอนที่ปล่อยออกมาเต็มอัลบั้ม 12-15 เพลง
จริงอยู่ที่ความรู้สึกของการไล่ฟังรวดเดียวทั้งอัลบั้มมันจะหายไป แต่ไม่เป็นไรครับ พอออกมาครบค่อยตามไปซื้อซีดีฟังรวดเดียวอีกครั้งก็ยังไม่สาย
เรามาค่อยๆ ชำแหละ 4 เพลงของเวฟแรกกันครับ
เพลงที่ 1: Moving On and Getting Over
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้น เมเยอร์มีการไปรับจ๊อบเล่นกีตาร์ให้ Dead & Company ซึ่งก็คือการเล่นกับสมาชิกที่เหลือของวง Greatful Dead นั่นเอง โดยการไปเล่นให้กับเด๊ดนั้นส่งผลมาถึงสไตล์การเล่นของเขาอย่างเห็นได้ชัด และอีกหนึ่งปัจจัยก็คือการหมดสัญญากับกีตาร์ยี่ห้อ Fender (อันเป็นซาวด์หลักของเขามาตลอด) และได้กีตาร์ใหม่จาก Paul Reed Smith ซึ่งเป็นกีตาร์ยี่ห้อที่โคตรจะไม่มีความเป็นเมเยอร์เลยแม้แต่นิดเดียว นั่นก็ทำให้ซาวด์กีตาร์โดยรวมของเขาเปลี่ยนไป วิธีการเล่นก็เปลี่ยนไป นั่นก็หมายความว่าเพลงของเขาจะแตกต่างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น
Moving On and Getting Over เป็นเพลงรักของคนที่พร้อมจะก้าวต่อ ไม่ดาร์ก ไม่เศร้า แต่ให้ความหวังเต็มเปี่ยม นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของเมเยอร์ปี 2017 ฟีลของเพลงนี้มีความเป็น R&B สูงมากๆ ครับ
จังหวะอัพบีตดีๆ และการกระชากการกระตุกที่มีให้ฟังในช่วงพรีคอรัสเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับเมเยอร์ เพราะเพลงชุดที่ผ่านๆ มาเขาไม่เคยทำมาก่อน
กีตาร์ริทึมของเขาแน่นขึ้นอย่างมากด้วย ส่วนลูกหยอดกับลูกโซโลก็ไม่ได้มีพร่ำเพรื่อเหมือนตั้งใจมาโชว์ เพราะทีเด็ดของเขาจะไปอยู่ในช่วงท้ายของเพลงครับ ผมมั่นใจว่าเพลงๆ นี้หากได้ฟังตอนเล่นสดจะเป็นเพลงที่มีการแจมต่อยอดกันอย่างดุเดือดในช่วงท้ายเพลงแน่นอน สรุปคือเก๋าขึ้นอย่างเห็นได้ชัดครับเพลงนี้
เพลงที่ 2: Changing
เปียโนบัลลาดที่ได้ความรู้สึกเดียวกับเพลงที่ชื่อ All We Ever Do Is Say Goodbye จากอัลบั้ม Battle Studies
เพลงเริ่มต้นด้วยเปียโนเพราะๆ และกีตาร์สไลด์ที่ให้ความคันทรีเหมือนอัลบั้ม Paradise Valley ซึ่งเข้ากับเนื้อเพลงที่พูดเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่เพิ่งจะบรรลุสัจธรรมของชีวิต
ไอ้เนื้อเพลงแมนๆ แบบนี้มันเข้ากันกับดนตรีคันทรีอ่อนๆ อย่างมาก ผมนั่งหลับตาฟังเพลินๆ จนถึงท่อนบริจด์ ดนตรีเร่งขึ้นเรื่อยๆ เร่งขึ้นเรื่อยๆ แล้วตามด้วยกีตาร์โซโล ผมลุกขึ้นนั่งทันที!
มันอาจจะไม่ใช่โซโลแบบอีพิกที่จะกลายเป็นตำนาน แต่มันเป็นโซโลของเมเยอร์แบบที่ผมไม่ได้ยินมาตั้งแต่ปี 2010!! ผมนั่งยิ้มอยู่คนเดียวเหมือนเสียสติ โชคดีที่ฟังอยู่ที่บ้านครับ ไม่งั้นต้องมีใครหาว่าผมบ้าแน่นอน
*เมเยอร์ให้สัมภาษณ์กับ Rolling Stones ว่าเพลงๆ นี้คือจิตวิญญาณของอัลบั้ม
เพลงที่ 3: Love on the Weekend
การเป็นซิงเกิลแรกของอัลบั้มนั้นมักต้องมีอะไรดี แต่หากเราย้อนดูเพลงที่ถูกตัดเป็นซิงเกิลแรกของเมเยอร์ในอดีต (ยกเว้น Room for Squares) ไม่มีเพลงไหนที่ดังสุดๆ ชนิดเกินหน้าเกินตาเพลงอื่นเลย เพลงที่เป็นซิงเกิลแรกของเขามักจะเป็นเพลงที่ ‘ไม่เสี่ยง’ ซึ่งก็มักจะเป็นเพลงจังหวะกลางๆ ฟังสบายๆ ไม่ต้องมีโซโลกีตาร์ดุเดือด ไม่ต้องมีท่อนคอรัสที่ทรงพลัง แต่มีความผ่อนคลายและสบายใจที่ได้ฟังเพลงใหม่ (ซะทีโว้ย!!!)
ความน่ารักของเพลงนี้คือ เนื้อเพลงที่เหมือนเขียนขึ้นมาให้กับทุกคนที่เราชื่นชอบและหลงรัก
ยุคแรกๆ เพลงรักของเมเยอร์นั้นมักจะจบลงบนเตียงหรือต้องมีการซัดเย่เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อ แต่ดูเหมือนว่ายิ่งแก่เมเยอร์ก็จะเพลาๆ เรื่องนี้ลงมา (อย่างน้อยก็ในเนื้อเพลงนะครับ)
จริงอยู่ที่เนื้อเพลงมันค่อนข้างจะซุกซน (“My clothes are dirty and my friends are getting worried”) แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าเขาเลือกที่จะให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของความรัก (“You be the DJ, I’ll be the driver”) ซึ่งเป็นเนื้อเพลงที่ไม่มีพิษมีภัยตรงข้ามกับความเป็นเพลย์บอยของเขาอย่างสิ้นเชิง เพราะนี่คือเพลงรักของคนที่ผ่านการมีแฟนและผ่านการอกหักมาแล้วอย่างต่ำๆ 5 รอบ
ควรจะมีติดรถอย่างยิ่งครับเพลงนี้
บรรยากาศฤดูหนาว อากาศดีๆ หมุนกระจกลงให้หน้ารับลมเย็น โดยมีคนรักนั่งอยู่ข้างๆ และเพลงนี้เล่นเป็นซาวด์แทร็ก หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนแล้วครับว่าจะจบค่ำคืนนั้นยังไง
เพลงที่ 4: You’re Gonna Live Forever in Me
อีกหนึ่งเปียโนบัลลาดในเวฟแรกของอัลบั้มที่ได้อารมณ์เหมือนฟังซาวด์แทร็ก Toy Story อยู่ยังไงยังงั้น
และยังทำให้นึกย้อนไปถึง Dreaming with a Broken Heart จากอัลบั้ม Continuum เมื่อปี 2006 อีกด้วย
ในเมื่อตัวเพลงถูกสร้างด้วยเครื่องดนตรีน้อยชิ้นและบรรเลงอย่างเรียบง่าย จุดเด่นของเพลงเพลงนี้คือ เนื้อเพลงล้วนๆ ครับ
เพลงบอกกับเราว่า สิ่งที่ยิ่งใหญ่ทุกสิ่งอย่างในโลกมนุษย์ย่อมต้องมีวันจบลง แต่เธอจะอยู่ในใจฉันตลอดไป … อ้าววว นึง ส่อง ซั่มมม อ้วกกกกกกกก!!!! โคตรเลี่ยนครับ ฟังแล้วอยากอ้วกออกมาเป็นสีชมพู
มีความเลี่ยนสูงที่สุดในเวฟแรกแล้วแน่นอนสำหรับเพลงนี้ แต่คำที่เมเยอร์เลือกใช้นั้นลดความน้ำเน่าลงไปได้เยอะพอสมควร เพราะนี่คือเพลงรักที่มีคำว่า love โผล่มาแค่ครั้งเดียว
โดยรวมแล้วเวฟแรกของ The Search for Evevrything นั้นน่าพอใจมากพอสมควร
เราได้ฟัง ‘ความเมเยอร์’ ที่หายไปนานหลายชุด เราได้ฟังเพลงรักซึ่งเมเยอร์ทำได้ดีเหลือเกิน เราได้ฟังกีตาร์โซโลของเขาพอประมาณ และเชื่อแน่ว่าเพลงที่เหลือของอัลบั้มจะต้องมีโซโลโหดๆ รอเราอยู่
ส่วนที่ผิดหวังก็น่าจะเป็นความ ‘ไม่สุด’ ของเพลง
เพลงเมเยอร์มักจะไม่มีอารมณ์พีก และก็เป็นแบบนี้มาตลอดเช่นเดียวกับ 4 เพลงใหม่ที่ปล่อยออกมา
นั่นก็อาจจะทำให้เพลงของเขาเป็นเพียงเพลงเปิดคลอการประกอบกิจกรรมประจำวันสำหรับใครหลายๆ คนที่ไม่ได้อินกับเพลงเมเยอร์เป็นการส่วนตัว
ส่วนการจะฟันธงตัดสินอัลบั้มนั้น เราควรต้องฟังให้ครบทุกเพลงอย่างตั้งใจเสียก่อน ถึงจะบอกได้ว่าดีหรือไม่ดีได้ ผมจึงยังไม่กล้าที่จะบอกออกไปว่าดีใจหรือผิดหวังกับอัลบั้มนี้ แต่อย่างน้อย 4 เพลงที่ปล่อยออกมาก็มีสัญญาณที่ดีว่าเพลงเมเยอร์ที่เราเคยหลงรักนั้นยังไม่ได้ตายจากไปไหน มันยังคงมีอยู่ในตัวในหัวในเสียงและในใบหน้าหล่อๆ ของเขาเหมือนเดิม
จะรอฟังเพลงที่เหลือด้วยใจเป็นกลางและไม่ติ่งออกนอกหน้า
ยินดีต้อนรับกลับมานะครับจอห์น
Tags: Music, TheReview, JohnMayer