สังคมที่ป่วยพิกลพิการกับประวัติศาสตร์ครอบครัวที่แตกสลายแทบจะกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน
พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ เป็นเรื่องราวของครอบครัวจีนอพยพครอบครัวหนึ่งซึ่งถูกเล่าคู่ขนานไปกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของไทยและประวัติศาสตร์โลก ผ่านสายตาของยายศรีและหลานดาว รวมถึงเจ้าแมวกุหลาบดำ เล่าย้อนปะติดปะต่อความทรงจำแหว่งวิ่นเข้าเป็นเนื้อเดียว ปมปัญหาสำคัญของเรื่องคือ การพยายามกลับไปหาราก (origin) หรือบางสิ่งบางอย่างที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ความฝันของทวดตงในการกลับไปสู่จีนแผ่นดินใหญ่ โดยสำนึกตลอดเวลาในความเป็นจีนของตนเอง และใช้รากนั้นเป็น ‘ที่พำนักแห่งจิตวิญญาณ’ เช่นเดียวกับตัวละครอีกหลายๆ ตัวในเรื่อง ซึ่งล้วนแต่มีที่ยึดเหนี่ยวแตกต่างกันไป
แม้ว่าจะมีวรรณศิลป์ไพเราะเฉกเช่น ‘ไส้เดือนตาบอดฯ’ และมีตัวละครที่พังวิ่นไม่ต่างกัน แต่ข้อแตกต่างที่ชัดเจนประการหนึ่งในทั้งสองเรื่องคือ ตัวละครแต่ละตัวใน ไส้เดือนตาบอดฯ เป็นตัวละครที่กระทำสิ่งต่างๆ ตามแรงขับหรือสัญชาตญาณ สะเปะสะปะไร้ทิศทาง ในขณะที่ตัวละครใน พุทธศักราชอัสดงฯ แสดงเจตจำนง (will) ของตนเองออกมาอย่างชัดเจน อย่างน้อยที่สุดแทบทุกตัวละครมีทัศนคติบางอย่างต่อชีวิตและรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ทวดตงอยากกลับคืนสู่แผ่นดินแม่และสืบสกุลลูกหลานอย่างมั่นคงต่อไป จงสว่างมียี่สุ่นเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและปลายทาง รากของเขาคืออะไรมาจากไหน ไม่สำคัญเท่ากับการที่เขาจะได้หนีจากภาระที่แบกรับและไปใช้ชีวิตสงบๆ ที่ไหนสักแห่งกับเธอเพียงสองคน หรือแม้กระทั่งเจริดศรีผู้หลีกหนีชีวิตที่ตัวเองไม่ชอบและไม่พอใจด้วยการแต่งงานถึงสองครั้งสองหน เป็นอาทิ
ใน พุทธศักราชอัสดงฯ ทุกคนตัดสินใจเลือกกระทำบางสิ่งด้วยตนเองอย่างมีทิศทางและเหตุผลเพื่อจะไปสู่เป้าหมายบางอย่าง สิ่งสำคัญไม่ใช่การบรรลุเป้าหมายนั้น การจะไปถึงเป้าหมายอย่างไร ไปถึงหรือไม่และไปถึงเมื่อไหร่เป็นอีกประเด็น ใครจะรู้ว่าศิลปินตกยากอย่างแวนโก๊ะจะมีชื่อเสียงนิรันดร์ แม้กระทั่งตัวเขาเองก็ไม่ได้อยู่ชื่นชมความสำเร็จนั้นเช่นกัน เหมือนคำตอบของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา หรือ Filmsick ต่อคำถามที่มีคนถามเขาว่า อะไรคือสิ่งที่แย่ที่สุดในชีวิต …ก็คือชีวิตนั่นเอง ความล้มเหลวของทวดตงในการกลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอนก็เป็นผลลัพธ์หนึ่งที่เราไม่อาจคาดเดาได้จากการเลือกกระทำ แม้ที่สุดเขาจะเข้าใจว่าตนเองสูญเสียครอบครัวที่เมืองจีนไปจากการกวาดล้างของคอมมิวนิสต์ ทว่า ฮง ลูกชายที่เขาไม่เคยพบพาน กลับเป็นเพียงคนเดียวที่สืบสานสาแหรกวงศ์ตระกูลให้ดำรงอยู่ โดยที่เขาไม่รู้และไม่มีวันจะได้รู้ แต่อย่างน้อยที่สุด เขาได้สถาปนาเสรีภาพของตนเองขึ้นแล้วผ่านการกำหนดเป้าหมายให้ตนเอง…ตลอดไป
ผลจากความล้มเหลวของเป้าหมายในชีวิตทำให้ชีวิตดูราวกับต้องคำสาป – อดีตที่ตามหลอกหลอน ความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง ความป่วยไข้ทางจิตใจ (trauma) ที่ฝังลึกและไม่ได้รับการเยียวยา ล้วนแต่เป็นสิ่งที่แฝงฝังอยู่ในสถาบันครอบครัว ประเด็นเชิงอารมณ์ที่แก้ไขไม่ได้ (unresolved emotional issues) มักจะตามมาด้วยความบาดหมางและการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ เช่น การตัดขาดตัวเองออกจากครอบครัวเพื่อลดความตะขิดตะขวงใจ
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการกลับไปสู่รากเหง้าอาจเป็นการกลับไปเพื่อพบว่าไม่มีอะไรจริงแท้ให้เราจับฉวย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ จงสว่าง ลูกเลี้ยงที่ถูกละเลยและถูกครอบครัวปฏิบัติราวกับเป็นคนอื่นคนไกล ทั้งยังต้องจำยอมอยู่ภายใต้เงื่อนไขของพ่อแม่ เมื่อความรับผิดชอบของธุรกิจครอบครัวมาปะทะกับอุดมการณ์รักชาติของจิตรไสวน้องชายที่รัก ที่หมิ่นหยามว่าอาชีพค้าขายของครอบครัวนั้น ‘ต่ำเกียรติ และมีแต่จะคิดเบียดบังเอาจากราษฎร’ ทั้งสองคนก็กลายเป็นคนแปลกหน้าต่อกันนับแต่นั้น ซ้ำร้าย จงสว่างเลือกที่จะตัดสัมพันธ์กับครอบครัวในที่สุด เมื่อพ่อกับแม่ขอยี่สุ่นให้มาเป็นภรรยาของน้องชาย โดยที่ตนไม่สามารถจะทำอะไรได้เพียงเพราะเป็นแค่ลูกเลี้ยง
จากรุ่งอรุณของครอบครัวที่ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัว เรียงร้อยไล่มาจนถึงจุดอัสดงเมื่อสงครามจบสิ้นลง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติของครอบครัวเองหรือวิกฤติในสังคมก็ล้วนแต่เป็นบ่อเกิดแห่งความป่วยไข้ทางจิตใจทั้งสิ้น สังคมที่ป่วยพิกลพิการกับประวัติศาสตร์ครอบครัวที่แตกสลายแทบจะกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ความป่วยไข้หลังสงครามทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างแตกแยกกระจัดกระจาย จุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างยังนำไปสู่การก่อกบฏทั่วทุกหัวระแหง การมาถึงของสงครามเย็น การดูหมิ่นดูแคลน การจราจลของชาวจีนที่พระนคร ไทยเหยียดจีน จีนเหยียดญี่ปุ่น ไทยเหยียดเวียดนาม สารพันความป่วยไข้ที่บรรจุไว้ใน ‘ประเทศไร้ทรงจำ’ ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ความป่วยไข้ทางจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วในทางวิทยาศาสตร์ว่าสามารถส่งผ่านทางครอบครัวได้ไม่ต่างอะไรกับคำสาปที่ส่งทอดต่อกันลงมาจากรุ่นสู่รุ่นในตระกูลตั้ง
พุทธศักราชอัสดงฯ ยังเป็นเสมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กๆ ซึ่งไม่มีบทจารในหน้าประวัติศาสตร์หลัก ทั้งเรื่องล้วนเต็มไปด้วยผู้คนที่หล่นหายตามรายทาง ประวัติศาสตร์อีกด้านของเหตุการณ์ที่อาจไม่มีใครรู้หรือมีความทรงจำ และยังถูกเล่าผ่านสายตาของคนนอกที่แม้จะพยายามแต่ก็ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไร้ทรงจำแห่งนี้
จากรุ่นพ่อ (ทวดตง) ที่รู้สึกว่าตนเองเป็นเพียงผู้อาศัย มาสู่รุ่นลูก (จิตรไสว) ที่แม้จะอยู่กึ่งกลางระหว่างความรักในเชื้อชาติจากครูชาวจีนกับความชาตินิยมที่บ่มเพาะจากการเป็นนาวิกโยธิน กลับต้องบังเอิญไปเข้าร่วมกับกบฏแมนฮัตตันโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ และเมื่อการปฏิวัติไม่เป็นผลสำเร็จ เขาก็ต้องทำให้ตัวเองกลายเป็นคนสาบสูญไปโดยปริยาย จนมาถึงรุ่นหลาน (ระพินทร์) ที่แม้จะไม่ได้รู้สึกเป็นอื่นกับแผ่นดินที่เขาอาศัยอยู่อีกต่อไป หนำซ้ำยังเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมตามมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายเขาก็เป็นได้เพียงแค่ผู้สังเกตการณ์ บันทึก (ภาพถ่าย) และจมหายไปจากประวัติศาสตร์อย่างไร้ตัวตน การมีตำแหน่งแห่งที่ของคนธรรมดาในท้ายที่สุดอาจจะเป็นดังว่า
“…ท้ายที่สุดเราทุกคนไม่ว่าจะรุ่งโรจน์หรือตกต่ำก็ล้วนหลงเหลือเป็นแต่เพียงเรื่องเล่าขาน”
…ไม่อาจรู้ได้ด้วยซ้ำว่าจริงเท็จประการใด
ความพยายามในการกลับไปหารากเปรียบเสมือนการถอยกลับอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เว้นแต่เราจะกำหนดจุดเริ่มต้นให้ตัวเองไว้ในแห่งหนใดสักแห่ง และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการกลับไปสู่รากเหง้าอาจเป็นการกลับไปเพื่อพบว่าไม่มีอะไรจริงแท้ให้เราจับฉวย สิ่งที่ทวดตงสูญเสียคือแสงแห่งความหวังไว้ส่องนำชีวิต เพราะเขามองย้อนกลับไปข้างหลัง หากแต่ความหวังนั้นอยู่ข้างหน้า อยู่ที่การกำหนดมั่นและมุ่งไปยังจุดหมายบางอย่าง
แม้ว่าความหวังจะริบหรี่เหมือนแสงอาทิตย์อัสดงและไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะไปถึงเป้าหมายเมื่อไหร่
แต่แค่เพียงแสงจางบางๆ นั้นก็พอแล้วที่จะทำให้สิ่งใหม่ ๆ งอกงามขึ้นมา
วีรพรมักจะหอบพาเรื่องราวไปสุดทางชนิดที่เราคาดไม่ถึง แถมยังเก็บแม้กระทั่งรายละเอียดที่เล็กน้อยที่สุดในเรื่องมาใช้ครบทุกเม็ด
Recommended: งานเขียนของคุณวีรพรควรค่าแก่การอ่านด้วยประการทั้งปวง เพราะเธอมีความสามารถในการผูกร้อยเรื่องราวที่มีความละเอียดซับซ้อนและประเด็นที่หลากหลายเข้าด้วยกันอย่างแยบคายและกลมกล่อม ทั้งยังเป็นเรื่องเล่าผ่านภาษาสละสลวย หากใครบอกว่า ไส้เดือนตาบอดฯ น้ำเน่าดราม่าแล้ว เล่มนี้เรียกว่าหนักกว่า… และดียิ่งกว่าเดิม ด้วยสิ่งที่นำเสนอนั้นแข็งแรงและคมชัดมากขึ้น อีกทั้งงานของเธอมักจะทำให้รู้สึกสั่นสะเทือนเสมอ เนื่องจากเล่นอยู่กับประเด็นความถูกผิดทางศีลธรรม และวีรพรมักจะหอบพาเรื่องราวไปสุดทางชนิดที่เราคาดไม่ถึง แถมยังเก็บแม้กระทั่งรายละเอียดที่เล็กน้อยที่สุดในเรื่องมาใช้ครบทุกเม็ด คุณค่าในทางวรรณศิลป์และเนื้อหาครบถ้วนชนิดที่ไม่ว่าจะเป็นคนรักหนังสือหรือไม่ ก็ควรต้องมีติดบ้านไว้สักเล่มจริงๆ
Tags: book, TheReview, VeerapornNitiprapha