ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่าเราจะเรียกนวนิยายชุด นิวยอร์กไตรภาค (The New York Trilogy) ของ พอล ออสเตอร์ (Paul Auster) ว่าเป็น “นวนิยายแนวนักสืบ” ได้หรือไม่ เพราะในมุมมองของผู้เขียน มันค่อนข้างจะผิดฝาผิดตัวอยู่ไม่น้อยหากเราจะประเมินนวนิยายชุดนี้ด้วยขนบของนวนิยายแนวนักสืบ หลังอ่านจบ สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมั่นใจอย่างยิ่งคือ มันไม่ได้ทำตัวเป็นนวนิยายแนวนักสืบ เพียงแต่อาศัยกลวิธีการเขียนบางประการจากนวนิยายแนวนักสืบเป็นอุบายในการเล่าเรื่องเท่านั้น

นิวยอร์กไตรภาค ประกอบด้วยนวนิยายสามเรื่อง ได้แก่ นครกระจก (City of Glass), ภูตผี (Ghosts) และห้องปิดตาย (The Locked Room) ซึ่งตีพิมพ์ออกมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ก่อนจะนำมาพิมพ์รวมเป็นสามเรื่องในเล่มเดียว

นครกระจก : ขีดจำกัดของภาษาและภาพเลือนพร่าของความจริง

นครกระจก เปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่ ‘ควินน์’ ตัวเอกของเรื่อง รับสายจากโทรศัพท์ลึกลับที่โทรมาขอสายนักสืบชื่อ ‘พอล ออสเตอร์’ (ชื่อเดียวกับผู้เขียนนวนิยายชุดนี้) แม้ควินน์จะปฏิเสธว่าที่นี่ไม่มีคนชื่อพอล ออสเตอร์ แต่ปลายสายกลับไม่สนใจเลยแม้แต่น้อย ในคืนต่อมา เมื่อมีโทรศัพท์สายเดิมโทรเข้ามาอีก ด้วยแรงจูงใจบางอย่าง ควินน์จึงสวมรอยเป็นนักสืบชื่อพอล ออสเตอร์ เสียให้รู้แล้วรู้รอด จากจุดเริ่มต้นนี้เองที่ควินน์เริ่มเข้าไปพัวพันกับเรื่องราวประหลาดหลายอย่าง

นับตั้งแต่เรื่องราวของศาสตราจารย์สติเฟื่องที่จับลูกชายของตัวเองไปขังในห้องมืดนานถึงเก้าปีเพื่อทำการทดลองบางอย่าง, ประเด็นทางเทววิทยา, ตำนานแห่งหอคอยบาเบล, ประวัติศาสตร์การค้นหาภาษาสากล เรื่อยไปจนถึงการสะกดรอยตามชายชราผู้หนึ่งเพื่อถอดรหัสเส้นทางการเดินของเขา

จุดที่โดดเด่นที่สุดของเรื่องนี้คือ การนำเอาประเด็นทางเทววิทยามาผสานเข้ากับความหมกมุ่นบ้าคลั่งของตัวละคร โดยเฉพาะการค้นหาภาษาที่เป็นภาษาสากลของมนุษยชาติ ตามความเชื่อของศาสนาคริสต์ที่ว่า เมื่อมนุษย์ไม่เชื่อฟังและเริ่มท้าทายอำนาจของพระเจ้า จึงทำให้พระเจ้าทรงโกรธ และสาปให้มนุษย์ทั้งหลายกระจัดกระจายกันออกไปเป็นหลายเผ่าพันธุ์หลายภาษา มูลเหตุดังกล่าวนี้ทำให้เกิดความเชื่ออย่างหนึ่งว่า แรกเริ่มเดิมนั้นมนุษย์มีภาษาสากลที่ใช้สื่อสารกัน และถ้าหากค้นพบภาษาดังกล่าว ก็เป็นไปได้ที่มนุษย์จะได้รับการอภัยและกลับไปอยู่ในอาณาจักรของพระเจ้าได้อีกครั้ง

นวนิยายเสริมประเด็นนี้ด้วยการหยิบยกตัวอย่างการค้นหาภาษาสากลตามที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์มาร้อยเรียงเข้ากับการค้นพบทวีปอเมริกาของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าอาณาจักรของพระเจ้ามิใช่ที่ใดอื่นไกล หากแต่คืออเมริกานั่นเอง!

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องภาษาสากลยังนำไปสู่คำถามทางปรัชญาที่ว่าภาษาสามารถบรรจุและอธิบายความจริงได้มากน้อยเพียงใด ขีดจำกัดของการเรียกชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ตรงไหนหากสิ่งนั้นสูญเสียสารัตถะของการเป็นสิ่งนั้นไปแล้ว สอดคล้องกับความเชื่อของตัวละครในเรื่องนี้ที่เชื่อว่าจำเป็นจะต้องสร้างระบบภาษาขึ้นมาใหม่เพื่อทลายขีดจำกัดที่ว่านี้

ผู้อ่านจะได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้จากการที่ควินน์ (ในคราบของนักสืบ) พยายามจะไขปริศนาว่าตัวเขากำลังรับมืออยู่กับอะไรและตกอยู่ในสถานการณ์แบบไหนกันแน่ แม้เรื่องราวหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับเขาจะดูสับสนคลุมเครือ แต่ทั้งหมดนั้นก็ดูกระจ่างชัดเหลือเกินว่าเป็นการจงใจเข้ารหัสเอาไว้ ขอเพียงเขาค้นพบแบบแผนของมัน ปริศนาทั้งหมดก็จะกระจ่าง

หากเรานำประเด็นเรื่องภารกิจของนักสืบมาวางคู่กับประเด็นเรื่องการค้นหาภาษาสากล เนื้อเรื่องในส่วนนี้ก็คือการล้อกันในแง่มุมที่ว่า ภารกิจในการแกะรอยและไขปริศนาของนักสืบ แท้จริงแล้วก็คือการค้นหา “แบบแผนสากล” จากการตีความร่องรอยเบาะแสต่างๆ ที่ผู้ก่อเหตุทิ้งเอาไว้ให้ เพื่อเข้าใกล้ “ความจริง” ให้ได้มากที่สุด

แต่กระนั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าอะไรคือ “ความจริง” ในเมื่อภาพที่สะท้อนออกมาจากความสัมพันธ์ระหว่างชุดสัญญะต่างๆ ที่นำมาประกอบกันอาจไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าขีดจำกัดของตัวสัญญะต่างๆ เท่านั้น ดุจเดียวกับหากเราส่องดูใบหน้าตนเองด้วยเศษกระจกชิ้นเล็กๆ ภาพที่สะท้อนออกมานั้นอาจไม่ได้บ่งบอกความเป็นตัวเรามากเท่ากับที่บ่งบอกถึงขีดกำจัดของกระจกเอง และในระดับที่ซับซ้อนกว่านั้น เราไม่อาจรู้ได้ว่าใบหน้าของเราเล็กหรือใหญ่เพียงใด และกระจกที่เรามีนั้นใหญ่เพียงพอจะสะท้อนภาพทั้งหมดได้หรือไม่

ในแง่นี้ชื่อเรื่อง นครกระจก จึงอาจหมายถึงสถานที่ที่เต็มไปด้วยเศษเสี้ยวภาพสะท้อนต่าง ๆ ที่กระจัดกระจาย แต่ไม่อาจประกอบเข้าด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์

ภูตผี : ยิ่งตามหา ยิ่งสูญหาย

ภูตผี เริ่มเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่ “บลู” นักสืบเอกชน ได้รับการว่าจ้างจาก “ไวท์” ชายลึกลับผู้อำพรางใบหน้าตนเอง ให้เฝ้าติดตามสังเกต “แบล็ค” ชายหนุ่มที่เช่าห้องอยู่ในอาคารแห่งหนึ่ง สิ่งที่บลูต้องทำคือ เข้าไปเช่าห้องอยู่ในอาคารฝั่งตรงข้ามซึ่งเมื่อมองผ่านจากกล้องส่องทางไกลจะสังเกตเห็นแบล็คได้พอดี หลังจากนั้นเขาต้องเขียนรายงานความเคลื่อนไหวของแบล็คให้ไวท์ทราบทุกสัปดาห์เพื่อแลกกับค่าจ้าง

ในระยะแรกที่บลูเริ่มสังเกตการณ์นั้น เขาพบว่าแบล็คแทบไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากนั่งอ่านและเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะริมหน้าต่างเกือบตลอดเวลา นอกจากนั้นก็มีเพียงไม่กี่ครั้งที่แบล็คออกจากห้องเพื่อลงไปซื้อของใช้จำเป็น และออกเดินเล่นไปทั่วเมือง บลูตามสะกดรอยเขาไปทุกฝีก้าว แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่พบเบาะแสความผิดปกติอะไร มีเพียงข้อสังเกตอย่างเดียวคือ แบล็คแทบจะไม่เคยพูดจาหรือทักทายกับใครเลย ยิ่งนานวันบลูก็ยิ่งสงสัยว่าเขากำลังตามสืบคดีอะไรอยู่กันแน่ เขาสร้างสมมติฐานขึ้นมาหลายอย่าง แต่มันก็แทบจะไม่ช่วยอะไรนอกจากทำให้เขาหลงวนติดกับดักอยู่ในความคิดของตนมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่ออ่านไป เราจะพบว่ายิ่งบลูเฝ้าติดตามประกบแบล็คเหมือนเป็นเงาตามตัวมากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งสูญเสียสำนึกรับรู้ถึงตัวตนของตนเองไปทีละน้อย เขาทำทุกอย่างที่แบล็คทำ เขาไปทุกที่ที่แบล็คไป ราวกับว่าหนทางเดียวที่เขาจะเข้าได้แบล็คได้ก็ด้วยการทำตัวเป็นภาพเหมือนของแบล็ค และมีหลายครั้งที่บลูถึงกับลงทุนปลอมตัวเข้าไปพูดคุยกับแบล็คซึ่งๆ หน้า

ณ จุดนี้ ผู้เขียนพลันนึกถึงคำกล่าวของนิทซ์เช่ที่ว่า “เมื่อท่านจะต้องต่อสู้กับปีศาจ ก็ขอจงพึงระวังมิให้ตัวท่านกลายเป็นปีศาจไปเสียเอง เมื่อท่านจ้องมองขุมนรก ก็พึงระลึกไว้เสมอว่าขุมนรกก็กำลังจ้องมองท่านอยู่เช่นกัน” ด้วยเหตุที่ว่ายิ่งบลูจ้องมองแบล็คมากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งรู้สึกเหมือนกำลังจ้องมองตัวเองอยู่ ก่อเกิดเป็นความผูกพันราวกับว่าต่างฝ่ายต่างเป็นตัวตนอีกภาคหนึ่งของกันและกัน ความคิดนี้พาเขาเผลอไผลไปถึงขั้นว่าระหว่างเขากับแบล็ค มีมิตรภาพอันแสนพิลึกพิลั่นระหว่างผู้เฝ้ามองกับผู้ถูกมองซ่อนอยู่ เขารู้ว่าแบล็ครู้ และเขาก็รู้ด้วยว่าแบล็ครู้ว่าเขารู้ ต่างฝ่ายต่างขับเคี่ยวดึงเกมกันไปเรื่อยๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะหงายไพ่ออกมาง่ายๆ

ทว่าในที่สุด บลูก็เริ่มหมดความอดทน เขาไม่อาจทนเล่นบทสายลับสองหน้าได้อีกต่อไป เขารู้ว่าแบล็คก็รอเวลาและยั่วเย้าให้เขาเปิดเผยตัวเองเช่นกัน ตอนแรก เขาปกปิดตัวตนเพื่อค้นหาอะไรบางอย่าง แต่เมื่อไม่พบ เขายอมเปิดเผยตัวตนเพื่อค้นหามัน น่าสนใจว่าคนเราไม่อาจทนกับความสัมพันธ์ที่คลุมเครือได้ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบมิตรหรือศัตรู หรือหากไม่ใช่ทั้งสองอย่าง ก็ต้องรู้ให้ได้ว่าเป็นความสัมพันธ์แบบไหนกันแน่

“…เราไม่ได้อยู่ในที่ที่เราอยู่… แต่ในตำแหน่งที่ไม่เป็นจริง เนื่องจากความไม่มั่นคงตามธรรมชาติของพวกเรา เราจึงต้องอุปโลกน์สร้างเรื่องราวขึ้น แล้วจึงจัดวางตัวตนของเราลงไปในนั้น ด้วยเหตุนี้ จึงอยู่ในทั้งสองกรณีในเวลาเดียวกัน และมันจึงยากขึ้นเป็นสองเท่าที่จะหนีรอดออกมาได้…”

(หน้า 231 ข้อความที่ตัวละครอ้างว่าจำมาจากหนังสือเรื่อง วอลเดน ของเฮนรี เดวิด ธอโร)

ห้องปิดตาย : My Brilliant Doppelganger

ห้องปิดตาย เริ่มเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่ “ผม” ตัวเอกของเรื่อง ได้รับจดหมายจาก ‘โซฟี’ แจ้งว่า ‘แฟนชอว์’ สามีของเธอ เพื่อนสนิทในวัยเด็กของเขา จู่ๆ ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ทิ้งไว้เพียงต้นฉบับงานเขียนจำนวนมากที่เขาต้องการให้ “ผม” ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์และคลุกคลีอยู่ในแวดวงวรรณกรรม ตัดสินใจว่าผลงานเหล่านั้นควรจะได้รับการตีพิมพ์หรือไม่

จากจุดนี้ “ผม” ผู้เล่าเรื่อง พาเราย้อนเวลากลับไปเล่าถึงมิตรภาพระหว่างเขากับแฟนชอว์ในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทั้งน่าจดจำและชวนให้ฉงนสนเท่ห์ในตัวตนและความคิดของแฟนชอว์ไปพร้อมๆ กัน พวกเขาอยู่บ้านติดกัน เล่นด้วยกัน เรียนห้องเดียวกัน สนิทสนมและไปไหนมาไหนด้วยกันตั้งแต่เด็กราวกับเป็นฝาแฝด ในมุมมองของเขา แฟนชอว์เป็นเด็กที่แตกต่างและมีบุคลิกภาพโดดเด่นกว่าเด็กชายทุกคนในวัยเดียวกัน เรียนดี กีฬาเด่น และเป็นจุดศูนย์กลางความสนใจของเพื่อนๆ เสมอ เขาเป็นและทำในสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของคนอื่นๆ ด้วย

“…เขาทำตัวกลมกลืนได้สำเร็จ ได้ค้นพบสถานที่ของตน อย่างไรก็ตามบททดสอบที่แท้จริง คือต้องเป็นเหมือนคนอื่น ๆ ครั้นเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เขาก็ไม่ต้องตั้งคำถามถึงลักษณะเฉพาะตัวของเขาอีกต่อไป เขาพลันมีอิสระ-ไม่ใช่แค่จากคนอื่น ๆ เท่านั้น แต่จากตัวเขาเองด้วย…” (หน้า 365)

กระนั้น ยิ่งเขารู้จักและสนิทสนมกับแฟนชอว์มากเท่าใด บุคลิกภาพและตัวตนอันซับซ้อนของแฟนชอว์กลับทำให้เขารู้สึกหวาดหวั่นพรั่นพรึงในตัวเพื่อนคนนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แฟนชอว์ค้นพบ “โลกภายใน” ของเขาตั้งแต่ยังเด็ก เขาเพียงแสดงให้เพื่อนสนิทของเขาเห็นว่ามีโลกใบนั้นอยู่ แต่เขาไม่เคยหยิบยื่นกุญแจให้ เขาเข้าไปอยู่ในโลกของเขาเพื่อเฝ้ามองความเป็นไปรอบตัว โลกส่วนตัวอันแสนลี้ลับและอัดแน่นไปด้วยสัญชาตญาณมุ่งตายและพลังการทำลายล้าง

เมื่อได้อ่านต้นฉบับงานเขียนทั้งหมดของแฟนชอว์ “ผม” ตัดสินใจนำผลงานของแฟนชอว์ไป         เสนอบรรณาธิการชื่อดัง และหลังจากได้รับการตีพิมพ์ ผลงานของเขาก็โด่งดังเป็นพลุแตก ยอดขายถล่มทลาย พร้อมๆ กันนั้น “ผม” ก็เริ่มพัฒนาความสัมพันธ์กับ “โซฟี” ภรรยาม่ายของแฟนชอว์ จนทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานและอยู่กินด้วยกันในฐานะสามีภรรยา

ทุกอย่างกำลังลงตัวและดูจะไปได้อย่างราบรื่น แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้รับจดหมายลึกลับที่สั่นคลอนให้โลกของเขาต้องพังทลายลง จดหมายจากแฟนชอว์ที่ยืนยันว่าเขายังไม่ตาย เพียงแต่จงใจทำให้ตัวเองหายสาบสูญ และตอนนี้แฟนชอว์ก็กำลังเฝ้ามองชีวิตเปี่ยมสุขของพวกเขาจากที่ไหนสักแห่ง

สำหรับผู้เขียนแล้ว ในบรรดาสามเรื่องที่ประกอบกันเข้าเป็นนวนิยายไตรภาคชุดนี้ ห้องปิดตาย คือเรื่องที่ลุ้นระทึกที่สุด ตื่นเต้นที่สุด และอ่านสนุกอย่างร้ายกาจที่สุด จุดเด่นในงานเขียนของพอล ออสเตอร์ ที่ผู้เขียนนิยมชมชอบเสมอมาก็คือ ท่วงทำนองการเล่าเรื่องอันแสนฉับไว ไม่เสียเวลาอยู่กับการพิรี้พิไรอยู่กับการพรรณนาฉากและสถานที่ ถ้อยคำที่กระชับและแม่นยำราวกับห่ากระสุนที่สาดเข้าใส่คนอ่านอย่างไม่ลดละ สอดคล้องเข้ากันอย่างดียิ่งในการฉายให้เห็นสภาวะอันปั่นป่วนพลุ่งพล่านของตัวละคร การปะติดปะต่อเรื่องราวอันไร้ระเบียบผ่านการกระทำอันแสนพิลึกพิลั่น ราวกับว่ายิ่งเหตุการณ์ซับซ้อนและเต็มไปด้วยปริศนามากเท่าใด ถ้อยคำและวิธีเขียนก็ยิ่งต้องปราดเปรียวเพื่อไล่ตามความซับซ้อนนั้นให้ทัน

ความสัมพันธ์ระหว่าง “ผม” กับแฟนชอว์ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงความเชื่อเรื่อง ‘Doppelganger’ ที่เชื่อกันว่าคนแต่ละคนมีฝาแฝดที่เป็นคู่ตรงข้ามของตัวเอง ฝาแฝดที่มิได้ถือกำเนิดขึ้นจากครรภ์เดียวกัน แต่เป็นเงาคู่ขนานในอีกโลกหนึ่งที่คอยห้ำหั่นทำลายล้างอีกฝ่าย หากทั้งคู่ค้นพบกันและกันย่อมนำมาซึ่งความหายนะ

เหตุการณ์ในเรื่องที่ผู้เขียนคิดว่ามีนัยยะเชื่อมโยงกับความเชื่อดังกล่าวนี้ได้เด่นชัดที่สุดคือ ฉากที่แม่ของแฟนชอว์เล่าให้ “ผม” ฟังว่า เมื่อเห็นทั้งคู่กำลังเล่นด้วยกันในตอนเด็ก บางชั่วขณะเธอไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าคนไหนคือลูกชายของเธอกันแน่ พวกเขาคล้ายคลึงกันราวกับฝาแฝด และประเด็นนี้ยิ่งถูกขับเน้นเด่นชัดมากขึ้นไปอีกเมื่อแม่ของแฟนชอว์สารภาพออกมาว่าเธอปรารถนาอยากให้ “ผม” เป็นลูกชายของเธอมากกว่า “ผม” ที่ทั้งอ่อนโยนกว่า เข้าถึงง่ายกว่า และรักได้ง่ายกว่า ผิดกับแฟนชอว์ที่เธอมักจะรู้สึกอยู่เสมอว่าเขาช่างเย็นชา ห่างไกล เสมือนเป็นสิ่งมีชีวิตในโลกอื่น

พร้อมๆ กันนั้น “ผม” ก็ค่อยๆ เผยความในใจออกมาให้ผู้อ่านรับรู้ว่าเขารู้สึกอิจฉาแฟนชอว์มาเสมอ และเมื่อถึงจุดหนึ่งความรู้สึกนั้นก็พลุ่งพล่านรุนแรงจนถึงขั้นกลายเป็นความปรารถนาอยากจะฆ่าแฟนชอว์ด้วย

จุดหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ ผู้เขียนคิดว่าแฟนชอว์อาจล่วงรู้ความลับข้อนี้มาแล้วตั้งแต่แรก และถ้าประเมินจากสติปัญญาอันล้ำลึกของเขา ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเขาค้นพบความลับข้อนี้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นแล้ว เราอาจจะพิจารณาแง่มุมนี้จากเหตุการณ์หนึ่งในช่วงวัยรุ่น ที่พวกเขาสองคนไปเดินเล่นอยู่ในสุสาน แฟนชอว์ลงไปนอนในหลุมฝังศพเปล่าที่ถูกขุดไว้ ขณะที่ “ผม” ซึ่งยืนมองเพื่อนอยู่ข้างบน ก็เริ่มนึกถึงภาพความตายของแฟนชอว์

เป็นไปได้ไหมว่าเหตุการณ์ครั้งนี้คือสิ่งที่กะเทาะความรู้สึกดำมืดในจิตใจของ “ผม” ให้เปิดเผยออกมาเป็นครั้งแรก จนมันเติบขยายใหญ่ขึ้นและกลายเป็นความรู้สึกอยากฆ่า ราวกับว่าสำหรับแฟนชอว์แล้ว ความตายคือสิ่งเย้ายวน และเขาก็เย้ายวนคนอื่นด้วยภาพความตายของตัวเอง และการแสร้งทำตัวหายสาบสูญของเขา ก็คือการยั่วให้ “ผม” ออกตามหาเขา พร้อมๆ กับที่หันกลับมาเผชิญกับความมืดมิดในจิตใจของตัวเองอีกครั้ง ความมืดมิดที่เขาพยายามจะเบือนหน้าหนีจากมันตลอดหลายปีที่ไม่เคยได้ข่าวคราวจากแฟนชอว์

เมื่ออ่าน ห้องปิดตาย จบลง ผู้เขียนคิดว่าเรื่องนี้คือการคลี่คลายฟอร์มลงอย่างหมดจดงดงามที่สุด มีการอ้างถึงนวนิยายทั้งสองเรื่องก่อนหน้าในฐานะพี่น้องร่วมครรภ์เรื่องเล่าเดียวกัน ราวกับทั้งสามเรื่องคือแฝดสามคนที่ปรากฏตัวในต่างเวลาและสถานที่

ณ จุดใดจุดหนึ่ง พวกเขาอาจจะกำลังตามหาคุณอยู่

Fact Box

นิวยอร์กไตรภาค (The New York Trilogy)

พอล ออสเตอร์ เขียน

คมสัน นันทจิต แปล

จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์กำมะหยี่

*ผลงานของพอล ออสเตอร์ ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วก่อนหน้านี้

เลอไวอะธัน (Leviathan) แปลโดย นาลันทา คุปต์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่เช่นกัน

Tags: , , ,