ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ปะทุขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นคนจำนวนมากออกตัวเลือกข้างชัดเจน ในขณะเดียวกันก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ประกาศว่าตัวเอง ‘เป็นกลาง ไม่เลือกข้าง’ เวลาได้ยินคำพูดนี้ทีไร คำกล่าวคลาสสิกที่ถูกตัดตอนมาของ เดสมอนด์ ตูตู นักรณรงค์สิทธิคนดำชาวแอฟริกาใต้ ก็มักจะถูกหยิบยกมาโต้ตอบมายาคติของความเป็นกลางเสมอ 

หลายคนคงคุ้นเคยกับประโยคคลาสสิกที่ว่า “ถ้าคุณเป็นกลางในสภาวะแห่งความอยุติธรรม นั่นแปลว่าคุณได้เลือกข้างผู้กดขี่” (If you are neutral in situations of injustice, you have chosen the side of the oppressor) เป็นอย่างดี  

อีกหลายคนอาจจะไม่รู้ว่าเวอร์ชั่นเต็มของคำกล่าวนี้ ห้อยท้ายด้วย “ถ้าช้างไปเหยียบหางหนู แล้วคุณบอกว่าคุณไม่เลือกข้าง หนูมันคงไม่ค่อยปลื้มนัก” (If an elephant has its foot on the tail of a mouse and you say that you are neutral, the  mouse will not appreciate your neutrality) 

คำกล่าวของ เดสมอนด์ ตูตู แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า การไม่เลือกแท้จริงแล้วก็คือการเลือกแบบหนึ่ง ฉะนั้น การไม่เลือก จึงไม่เท่ากับ เป็นกลาง เพราะสุดท้ายแล้ว การไม่เลือกก็เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ดีนั่นเอง นอกจากการไม่เลือกจะไม่เท่ากับเป็นกลางแล้ว สาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่มีวันเป็นกลางได้ ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตามคือ บริบทแวดล้อมทางสังคมและการเมืองของแต่ละคน หรือที่เรียกกันว่า Positionality  

Positionality หมายรวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตที่หล่อหลอมประกอบกันขึ้นมาเป็นอัตลักษณ์ของคนหนึ่งคน เช่น เชื้อชาติ ชนชั้น ฐานะทางเศรษฐกิจ เพศสภาวะ เพศวิถี การศึกษา การเลี้ยงดู ประสบการณ์ชีวิต สื่อที่เสพ ความสามารถ เฉพาะตัว เป็นต้น บริบทแวดล้อมต่างๆ เหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเข็มทิศชี้นำวิธีการมองโลกและค่านิยมที่เรายึดถืออีกที ฉะนั้น เวลาที่ใครก็ตามตัดสินการกระทำพฤติกรรมหรือคำพูดของคนอื่นที่ต่างจากตนเอง พวกเขาเหล่านั้นจึงไม่ได้ตัดสินจาก ค่าความเป็นกลาง แต่พวกเขาตัดสินโดยอ้างอิงจากวิธีการมองโลกและค่านิยมประจำตัวที่หล่อหลอมมาจากบริบทแวดล้อมทั้งหลายในชีวิตนั่นเอง 

ด้วยความที่สื่อ การศึกษา และศาสนา เป็นหน่วยงานหลักที่ผลิตวาทกรรมนำของสังคม ทำให้สิ่งที่ผู้คนเข้าใจว่า เป็น ค่าความเป็นกลาง แท้จริงแล้วคือ วิธีการมองโลกและค่านิยมแบบ ชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาแบบไทยๆ เพียงมุมเดียวเท่านั้น ผลที่ตามมาคือ ใครที่แสดงพฤติกรรมหรือคำพูดที่ไม่ตรงตามแบบฉบับ ชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาแบบไทยๆ จึงถูกจัดวางให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าจนถึงขั้นที่เราไม่ควรให้คุณค่า 

ความเข้าใจผิดๆ (โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาของไทย) ว่า ตัวเองตัดสินจากค่าความเป็นกลางนี้เอง  ที่มักจะทำให้เราได้ยินความคิดเห็นประเภท … 

“ถึงจะจนยังไง ถ้ามีศักดิ์ศรีหน่อย ก็ไม่น่าไปเป็นกะหรี่ งานมีให้เลือกทำเยอะแยะมากมาย” ในกรณีที่ผู้หญิงหลายคนเลือกอาชีพโสเภณีเพราะเห็นว่ารายได้ดี ความคิดเห็นที่ดูเหมือนจะ เป็นกลาง แท้จริงแล้วก็ผูกติดอยู่กับวิธีการมองโลกและค่านิยมแบบชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษานั่นเองว่าการขายบริการทางร่างกายเพื่อแลกกับเงินเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ 

โดยที่ชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาเหล่านี้ไม่เคยมีประสบการณ์จนตรอกด้านการเงิน หรือไม่เคยต้องเลือกระหว่าง งานที่สังคม ตราหน้าว่าไม่มีศักดิ์ศรี แต่เงินดี กับ งานที่สังคมยอมรับ แต่ลำบากและเงินน้อย

ในละครไทย เราจะได้ยินบทพูดประเภท ถึงบ้านเราจะจน แต่เราก็ต้องมีศักดิ์ศรีนะลูก ออกมาจากปากตัวละครที่มีฐานะยากจนในเรื่องบ่อยๆ บทพูดประเภทนี้เองได้กลายเป็นเครื่องมือผลิตวาทกรรมอันทรงพลังที่ฝังหัวคนไทยจำนวนมาก ว่า ความยากจนเท่ากับความตกต่ำทางศีลธรรม ทั้งที่ ความยากจนคือการขาดแคลนทุนทรัพย์ที่นำไปสู่การขาดแคลนตัวเลือก หลายๆ ครั้งที่สื่อหรือคนทั่วไปวิพากษ์วิจารณ์คำพูดหรือพฤติกรรมของคนจนก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านแว่นของชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษา โดยไม่เคยมองว่าคำพูดหรือพฤติกรรมเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากความโง่หรือความชั่ว/เห็นแก่ตัว โดยกมลสันดานของคนจน แต่เป็นเพราะความยากจนต่างหากที่จำกัดตัวเลือกในชีวิตของคนจนไว้ 

ด้วยบริบทแวดล้อมต่างๆ ที่หล่อหลอมวิธีการมองโลกและค่านิยมประจำตัว จึงทำให้ในโลกนี้ไม่มีความคิดเห็นหรือจุดยืนใดที่ เป็นกลาง การฟังความทั้งสองฝั่งจึงไม่เท่ากับ เป็นกลาง เพราะสุดท้ายความคิดเห็นของเราต่อความทั้งสองฝั่งนั้น หรือการเลือกที่จะเชื่อฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากกว่า หรือไม่เชื่อฝั่งใดเลยก็เป็นดอกผลจากบริบทแวดล้อมต่างๆ ที่หล่อหลอมวิธีการมองโลกและค่านิยมส่วนตัวของเราอยู่ดี 

ไม่เพียงแต่ในบริบทการเมืองหรือสังคมเท่านั้น แม้แต่ในสาขาที่ขับเคลื่อนด้วยการทดลอง ทางวิทยาศาสตร์ มายาคติแห่งความเป็นกลางก็ไหลเวียนอยู่อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกกันว่า ความเป็นกลางทางคุณค่า (value neutrality) สิ่งที่หลายคนอาจจะไม่รู้คือ ถึงแม้ว่าปัจจุบันสาขาวิชาปรัชญากับสาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์จะดูเหมือนตั้งอยู่สุดขอบขั้ว คนละฝั่งของเขตแดนแห่งการแสวงหาความรู้ เป็นศาสตร์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กันทั้งสิ้น จนกระทั่งอาจเรียกได้ว่าเป็น ปฏิปักษ์ต่อกัน ในอดีตทั้งสองสาขาเคยเป็นศาสตร์เดียวกัน  

ในอดีตนักปรัชญากับนักวิทยาศาสตร์เคยร่วมมือกันเพื่อแสวงหาความรู้ที่จะมาท้าทายอำนาจผูกขาดในการ  กำหนด ความรู้ของนักเทววิทยา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่นักวิชาการคนหนึ่งจะเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญา แต่พอถึงปลายศตวรรษที่ 18 เท่านั้นแหละ วิทยาศาสตร์และปรัชญาก็เริ่มแยกแตกแขนงออกจากกัน โดยนักวิทยาศาสตร์มองว่า ตนมีหน้าที่ค้นหา ความจริงแท้ ผ่านกระบวนการ ทางวิทยาศาสตร์ เท่านั้น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จึงถือว่า เป็นกลางทางคุณค่า เพราะเป็นความรู้บริสุทธิ์ที่ปราศจากนัยยะของคุณค่าทางจริยธรรม ศีลธรรม มนุษยธรรมหรืออคติ ในปลายศตวรรษที่ 18 สาขาปรัชญายังเป็นสาขาใหญ่ที่ครอบแขนงย่อยอย่างมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์อยู่ แต่ไม่นานหลังจากนั้น วิทยาศาสตร์ก็แยกตัวเป็นเอกเทศจากปรัชญาโดยสิ้นเชิง โดยที่วิทยาศาสตร์จะเป็นผู้แสวงหาความจริงโดย ปราศจาก การตัดสินคุณค่า ในขณะที่ปรัชญา (ซึ่งแตกแขนงออกเป็นมนุษยศาสตร์สาขาต่างๆ อีกที) เป็นผู้ค้นหาองค์ความรู้แห่งความดีและความงาม  

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว การแสวงหาความจริงแท้ที่ปราศจากการตัดสินทางคุณค่าก็ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่คิดเสมอไป ย้อนกลับไปที่ประเด็นก่อนหน้านี้ที่ผู้เขียนบทความเสนอไว้ว่า การไม่เลือกก็คือการเลือกแบบหนึ่ง เพราะการไม่เลือกก็มีผลลัพธ์ในตัวมันเองเช่นกัน  รวมทั้งประเด็นที่ว่าด้วย positionality ของแต่ละคนที่หล่อหลอมจากปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่มีใครสามารถรักษาความเป็นกลางได้ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม (นอกจากว่าคุณจะเป็นพระเจ้าที่มีตัวตนอยู่ทุกที่ รอบรู้ทุกสิ่งอย่างบนโลกใบนี้ มองเห็นและรับรู้ทุกเหตุการณ์จากทุกมุมมอง) ทำให้พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ที่ดู เผินๆ เหมือนจะเป็นสิ่งที่ เป็นกลางทางคุณค่า แท้จริงแล้วก็เต็มไปด้วยการเลือก และการไม่เลือก ที่สะท้อนอคติทางคุณค่าเช่นกัน 

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวเราที่สุดคือ อัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บรุนแรงของผู้หญิงจากอุบัติเหตุทางรถยนต์สูงกว่าเพศชาย เมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรหญิงที่ขับรถยนต์ (จำนวนเพศชายเสียชีวิตและประสบอุบัติเหตุรุนแรงทางรถยนต์สูงกว่าเพศหญิง เพราะจำนวนประชากรชายที่ขับรถยนต์สูงกว่า แต่หากเทียบกับสัดส่วนประชากรชายที่ขับรถยนต์แล้ว อัตราส่วนการบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิตจะต่ำกว่าเพศหญิง) ฟังแล้วหลายคนคงด่วนสรุปตามภาพเหมารวมว่า เป็นเพราะโดยธรรมชาติแล้ว ผู้หญิงขับรถแย่กว่าผู้ชาย 

แต่หากค้นลึกไปกว่านั้น เราจะพบว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกใช้หุ่นดัมมี่ผู้ชายเพียงเพศเดียว เป็นมาตรฐานการทดสอบการชนของรถยนต์ (crash test) นี่ยังไม่รวมข้อเท็จจริงที่ว่าที่นั่งรถยนต์ถูกออกแบบมาให้เข้ากับสรีระมาตรฐานของเพศชายเท่านั้น ความสูงเฉลี่ย 177 เซนติเมตร น้ำหนัก 76 กิโลกรัมจึงถูกใช้เป็นขนาดมาตรฐาน สำหรับการออกแบบที่นั่งรถยนต์มาเป็นเวลาหลายทศวรรษตั้งแต่ยุค 1950s ถึงข้อค้นพบนี้จะได้รับการยืนยันมาแล้วในงานวิจัยนับครั้งไม่ถ้วน แถมในปี 2013 ยังมีทีมนักวิจัยการขนส่งและท้องถนนแห่งชาติจากสวีเดนผลิตหุ่นดัมมี่เพศหญิงที่ ไม่ใช่แค่การลดขนาดหุ่นดัมมี่เพศชายลงแบบที่เคยทำๆ มาเพื่อแก้ปัญหาแบบขอไปที แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อกำหนด มาตรการความปลอดภัยในรถยนต์ส่วนบุคคลของประเทศไหนที่บังคับให้มีการทดสอบการชนด้วยหุ่นดัมมี่เพศหญิง  (ในขณะที่การทดสอบเฉพาะหุ่นดัมมี่เพศชายเป็นข้อบังคับมานานแล้ว) แม้แต่ในมาตรฐาน ‘สากล’ อย่าง Euro NCAP ที่ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกนำไปเป็นต้นแบบ 

วงการ AI ในปัจจุบันพัฒนาโปรแกรมต่างๆ มากมายเพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจแทนมนุษย์ในสถานการณ์สำคัญ เช่น โปรแกรมวินิจฉัยโรค โปรแกรมทำนายบุคคลที่มีโอกาสเป็นอาชญากร โปรแกรมเหล่านี้ประมวลผลโดยอ้างอิงจากชุดข้อมูลขนาดมโหฬารที่ผู้พัฒนาป้อนให้ ถึงผู้พัฒนาโปรแกรมเหล่านี้จะไม่ได้มีเจตนาชั่วร้ายแอบแฝง แต่ด้วยลักษณะของข้อมูลตั้งต้นที่ถูกป้อนให้โปรแกรมนำไปเรียนรู้และประมวลผลเองแล้ว ทำให้การทำงานของโปรแกรมเหล่านี้ไม่ได้ ‘เป็นกลาง’ อย่างที่ทุกคนคาดหวัง ในกรณีของโปรแกรมวินิจฉัยโรค ความแม่นยำของโปรแกรมประเภทนี้ในการวินิจฉัยโรคในเพศหญิงหรือกลุ่มที่ไม่ใช่คนขาวต่ำกว่าการให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เป็นมนุษย์วินิจฉัยเองเนื่องจากชุดข้อมูลอาการของโรค รวมทั้งงานวิจัยทางการแพทย์ส่วนใหญ่ในโลกตะวันตกมักอ้างอิงและเก็บจากกลุ่มผู้เข้าร่วมเพศชายผิวขาวเป็นหลัก

เป็นที่รู้กันดีว่า ‘อคติ’ (bias) หลักในวงการวิจัยทางการแพทย์และการคิดค้นพัฒนายาคือ อคติด้านความหลากหลายของผู้เข้าร่วมงานวิจัย หรือในกรณีโปรแกรมทำนายบุคคลที่มีโอกาสเป็นอาชญากร ชุดข้อมูลที่ป้อนให้ AI ก็มาจากฐานข้อมูลอาชญากรในอดีตและปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวสี ทำให้ผลการทำนายที่ออกมามักจะโน้มเอียงไปในทางที่ตรงกับลักษณะของคนผิวสี  โดยหารู้ไม่ว่า ความยากจนเป็นปัจจัยหลักที่ผลักให้กลุ่มคนผิวสีเข้าสู่วงการอาชญากรรม นอกจากนี้ ด้วยอคติทางชาติพันธุ์ที่ยังคงซึมลึกอยู่ในสังคมสหรัฐฯ ทำให้คนผิวสีมักจะถูกตัดสินจับคุกเป็นเวลาหลายปีด้วยความผิดประเภทลหุโทษ  

อย่างถ้าขโมยปากกาในร้านขายของชำ มีกัญชาจำนวนเล็กน้อยในครอบครอง หรือขับรถเร็วเกินกำหนด เมื่อเทียบกับคนขาว ที่รอดพ้นจากการดำเนินคดีทางกฎหมายด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน การพัฒนาโปรแกรมโดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลที่เต็ม ไปด้วยอคติเหล่านี้จึงหมิ่นเหม่ต่อการรื้อฟื้นสุพันธุศาสตร์ (Eugenics) หรือศาสตร์ที่ว่าด้วยการรักษาสืบทอดเฉพาะลักษณะ  ‘เด่น’ ทางพันธุกรรมด้วยการกีดกันประชากร ‘ด้อยคุณภาพ’ ไม่ให้สืบพันธุ์ต่อ ความแพร่หลายของศาสตร์นี้นำไปสู่กฎหมายบังคับให้บุคคลที่มีลักษณะไม่พึงประสงค์ทำหมันในสหรัฐฯ ในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นต้นแบบ ให้นาซีเยอรมนีนำไปใช้ต่อ จนสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว

ดังที่ตัวอย่างข้างต้นชี้ให้เห็น แม้แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เรามักจะคิดกันว่ามีแค่ ‘ผิด’ กับ ‘ถูก’ แท้จริงแล้วก็มีความซับซ้อนทางคุณค่าแฝงอยู่ ไม่เพียงแค่งานวิจัยที่ดำเนินการเสร็จสิ้นจนได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาแล้วเท่านั้นที่แฝงด้วยอคติทางคุณค่า ยังมีข้อเสนองานวิจัยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับทุนเพื่อดำเนินการ เพราะมิใช่ประเด็นที่คณะกรรมการพิจารณาทุนและหน่วยงานมอบทุนให้ความสำคัญในขณะนั้น นั่นแปลว่ามีปัญหาส่วนหนึ่งที่ไม่ได้รับเลือกให้มี 

การคิดค้นหาหนทางแก้ไขในสังคมที่งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มีผลในการขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน (ตามที่รัฐมักจะกล่าวอ้าง) การตระหนักรู้ถึงคุณค่าที่แอบแฝงอยู่ในผลงานวิจัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ กลับมาที่สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน สิ่งที่ทุกคนควรเข้าใจตรงกันคือ ตอนนี้เราไม่ได้เลือกระหว่างความเห็นต่าง แต่ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างอำนาจเผด็จการและประชาธิปไตย การ ‘เป็นกลาง ไม่เลือกข้าง’ ในสถานการณ์ ที่รัฐคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ สามารถครอบงำอำนาจศาลตัดสินให้ใครถูกหรือผิดได้ตามใจชอบ สามารถปลดหรือแต่งตั้งใครให้ดำรงตำแหน่งใดก็ได้ และยังสามารถยัดข้อหาและทำให้ใครสูญหายก็ได้ จึงเท่ากับการเพิกเฉยต่ออาชญากรรมที่รัฐก่อ หรือร้ายยิ่งกว่านั้นคือการยอมรับให้รัฐพ้นผิดลอยนวลจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ

นี่ยังไม่รวมถึงการ ‘ฆาตกรรม’ ประชาชน จำนวนมากทางอ้อมของรัฐผ่านการดำเนินนโยบาย หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องยิ่งกว่านั้นคือ การไม่ดำเนินนโยบายใดๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในสภาวะที่ทุกคนต่างก็ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตหลายทาง รวมทั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 กี่คนแล้วที่ต้องตกงาน กี่ชีวิตแล้วที่ต้องจบลงเพราะความเครียดจากการขาดรายได้ เรายังต้องสังเวยอีกกี่ชีวิตกัน หรือก่อนที่คุณจะเลิก ‘เป็นกลาง’ แล้วหันมาเลือกข้างที่ถูกต้องเสียที 

อ้างอิง 

  • Buranyi, S. (2017). Rise of the Racist Robots – How AI is Learning Our Worst Impulses.  Available at: https://www.theguardian.com/inequality/2017/aug/08/rise-of-the-racist robots-how-ai-is-learning-all-our-worst-impulses. Accessed 2 December 2020.  

  • Challen R, Denny J, Pitt M, et al. (2019). Artificial intelligence, bias and clinical safety. BMJ Quality & Safety. 28:231-237. 

  • Kaushal, A. Altman, R. & Langlotz, C. (2020). Health Care AI Systems Are Biased.  Available at: https://www.scientificamerican.com/article/health-care-ai-systems-are biased/. Accessed 5 December 2020.  

  • Lynch, S. (2020). The Geographic Bias in Medical AI Tools. Available at:  https://hai.stanford.edu/blog/geographic-bias-medical-ai-tool. Accessed 5 December  2020.  

  • Mandel, D. R., & Tetlock, P. E. (2016). Debunking the myth of value-neutral virginity: toward truth in scientific advertising. Frontiers in psychology, 7, 451.

  • Pellegrino, E. D. (2000). Commentary: value neutrality, moral integrity, and the physician. The Journal of Law, Medicine & Ethics, 28(1), 78-80.

  • Perez, C.C. (2019). Invisible Women: Data Bias in a World Designed for Men. Harry N  Abrams.  

  • Rivard, L. (2014) America’s Hidden History: The Eugenics Movement. Available at:  https://www.nature.com/scitable/forums/genetics-generation/america-s-hidden-history the-eugenics-movement-123919444/. Accessed 2 December 2020.  

Takacs, D. (2003). How does your positionality bias your epistemology?. Wallerstein, I. M. (2004). World-systems analysis: An introduction. Duke University  Press.

Tags: