เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด

00.36

เวลาคนเป็นหนี้นั้น เราจะไปว่าเค้าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอย่างเดียวคงไม่ได้ ในความเป็นจริงมีคนอีกกลุ่มที่เป็นหนี้เพราะเป็นคนดี คนกลุ่มนี้ก็เป็นคนทำงานหารายได้ปกติ ซึ่งถ้าต้องเลี้ยงดูแค่ตัวเองคนเดียวก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่คนกลุ่มนี้กลับมีภาระทางการเงินจากคนรอบตัวด้วย ก็เป็นลักษณะของสังคมไทยเชิงอุปถัมป์ที่ต้องคอยดูแลญาติพี่น้อง มันก็ไม่ได้ผิดอะไรที่เราจะดูแลกัน แต่หากว่าตามหลักการด้านการเงินแล้วมันก็ต้องมีความพอเหมาะพอสมของมันอยู่เหมือนกัน

หารายรับให้พอก่อนช่วยคนอื่น

04.10

เริ่มจากเคสสุดโต่งของโค้ชหนุ่มก่อน คือปกติเวลามีคนมาปรึกษาด้านการเงิน โค้ชหนุ่มก็จะให้คนเขียนรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือนมาให้ดู ครั้งหนึ่งมีพี่ผู้หญิงกรอกรายละเอียดว่ามีรายจ่ายเดือนละ 15,000 บาท ก็ถือว่าไม่ได้สูงมาก แต่พอเหลือบไปดูช่องรายได้ แกเขียนว่า 600 โค้ชก็เลยบอกแกว่าช่องรายรับให้ใส่เป็นรายได้ต่อเดือนไปเลย ถ้าเป็นรายวันให้คุณสามสิบเข้าไป ปรากฏว่านี่แหละคือรายรับต่อเดือนของพี่เค้า คำถามแรกที่มาเลยคือพี่อยู่ยังไง แกก็บอกว่าหยิบยืมคนรู้จักกันไป และเมื่อถามว่าทำงานอะไรแกก็ตอบว่าทำงานเป็นอาสาสมัคร โค้ชหนุ่มก็ให้คำแนะนำไปว่ารายจ่ายพี่ไม่ได้สูงมาก แต่ที่พี่ต้องเพิ่มเร่งด่วนคือรายรับ ต้องหางานทำที่มีรายได้ประมาณ 18,000 บาท ซึ่งเมื่อคุยไปแกก็จะมีข้ออ้างสารพัด จนเรารู้สึกได้ว่ามันเป็นความพ่ายแพ้ทางจิตใจ ก็คุยกับเพื่อนๆ แกจนทราบว่าแกเคยทำงานแล้วมีปัญหาเลยออกมา และแต่ก่อนเคยมีสามีดูแล พอสามีไม่อยู่แกก็ไม่ยอมเปลี่ยนวิถีชีวิต ซึ่งนี่เป็นเคสแรกๆ ที่เคยเจอ เมื่อเวลาผ่านไปก็ยิ่งได้เจอเยอะขึ้น

ความดีที่เกินกำลัง

08.24

เคสต่อมาเป็นคนที่มีเงินเดือนประมาณ 20,000 บาท แต่มีภาระประมาณ 30,000 กว่าบาท พอไปไล่เรียงก็พบว่าต้องส่งพ่อแม่ส่วนหนึ่ง ซึ่งพ่อแม่ก็รับลูกของพี่น้องมาเลี้ยงด้วย ซึ่งคนนี้ก็เป็นคนดี นอกจากส่งเงินให้พ่อแม่แล้วยังต้องให้หลานๆ ทุกคนด้วย เป็นความดีที่เกินกำลัง และเค้าจะรู้สึกผิดถ้าไม่ได้ทำ พอถามว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป วันนึงที่เราต้องมีครอบครัวจะทำยังไง เค้าก็ตอบกลับมาว่าชีวิตของเค้าเป็นอย่างนี้ โค้ชคิดว่าเค้าจะมีครอบครัวได้เหรอ

แถมบางเคสยังมีแบบที่พี่สาวเสียสละให้เค้าได้เรียนหนังสือ กลายเป็นว่าคนเรียนจบต้องรับภาระทั้งหมดไป ซึ่งเงินเดือนมันก็ไม่พอดูแลสามสี่ชีวิตอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้มันแบ่งด้วยเส้นบางๆ ระหว่างความอุปถัมป์เกื้อกูลครอบครัวกับความพร้อมของเรา โค้ชก็จะแนะนำว่าไม่ห้ามเรื่องช่วย แต่ต้องมีลิมิตว่าแค่ไหน ต้องดูเงินของเราว่าช่วยได้แค่ไหน ไม่ใช่เอาความต้องการของคนอื่นเป็นตัวตั้ง วิธีเริ่มต้นง่ายๆ คือเราต้องจำกัด และเชื่อเถอะว่าถึงเราจำกัดแล้วเค้าก็จะอยู่กันได้

ภาวะพึ่งพิง

11.59

ในความจริงแล้วคนเรานั้นควรดำรงชีวิตอยู่บนพื้นฐานของการดูแลตัวเองให้ได้ ถ้าเราไปดูแลเค้าทุกอย่างจนมากเกินไปมันจะเกิดสภาวะ ‘เสพติดภาวะพึ่งพิง’ ซึ่งมีการวิจัยในเมืองนอกมาแล้ว มักจะพบในครอบครัวใหญ่ที่คุณพ่อคุณแม่มีลูกหลายคน ก็จะมีลูกบางคนที่ไม่ตั้งใจกับชีวิต เกาะอยู่กับพ่อแม่ไปเรื่อย พ่อแม่ก็จะบอกให้ลูกที่เหลือส่งเงินมาให้จนคนที่อยู่กับที่บ้านเสพติดภาวะพึ่งพิงไป

ยิ่งให้ยิ่งได้รับ

16.53

หากเราอยากช่วยเหลือกันมันก็สามารถบริหารเงินและช่วยเหลือคนอื่นไปพร้อมกันได้ ‘การให้’ มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ควรจะมีอยู่แล้ว ยิ่งให้เราก็ยิ่งได้รับ ดังนั้นการแบ่งเงินออกมาเพื่อช่วยเหลือคนอื่นบ้างก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องเป็นในระดับที่เราสบายใจ เป็นระดับที่พอไหว และไม่เป็นภาระต่อเรา แบบนี้คือดีที่สุด อย่างบางคนก็เลือกที่จะให้กับมูลนิธิต่างๆ บางที่แค่เดือนละ 600 บาทก็สามารถให้เป็นค่าอาหารเด็กคนนึงได้แล้ว ซึ่งก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ตัวเงินไม่ได้สูงมาก และรู้ว่าเงินที่ให้ไปนั้นไปอยู่ตรงไหน

หรือถ้าเป็นเมืองนอกเค้าก็จะมีสัดส่วนการบริหารเงินเลย ว่าให้บริจาคที่ 5% – 10% นะ แต่สำหรับคนไทยแบบเราๆ แล้วก็อยากให้ดูความรู้สึกเป็นสำคัญมากกว่า ตัดเงินที่เรารู้สึกว่าให้ได้ เดือนนี้อาจจะมาก เดือนนั้นอาจจะน้อย ตามความเหมาะสมทางการเงินของเรา

ช่วยเหลือตาม ‘กำลัง’

19.45

คนเราถ้าเรายังไม่แข็งแรงพอที่จะช่วยเหลือใครทั้งหมดให้ช่วยเหลือตามกำลัง และอาจจะไม่ต้องเป็นตัวเงินก็ได้ ถ้าเรายังไม่พร้อมมากแล้วจะช่วยใคร ให้ยื่นมือ อย่ายื่นเงิน สมมุติพี่น้องเราหางานไม่ได้ แทนที่เราจะช่วยเหลือไปตลอดก็อาจต้องกำหนดลิมิตว่าช่วยได้เดือนละเท่านี้ ให้ได้นานแค่นี้ จากนั้นก็อาจจะช่วยเค้าหางานทำ คุยกับพรรคพวกที่มีอะไรให้ทำ แล้วก็สอนเค้าว่ามีอะไรก็ทำไปก่อน อย่างน้อยให้มันมีเงินมาจุนเจือชีวิต หรือบางทีการให้กำลังใจก็เป็นการช่วยเหลืออย่างหนึ่งได้เหมือนกัน

ตกลงแล้วเราช่วยเหลือคนอื่นไปทำไม

21.03

การบริจาคนั้นมันก็เป็นการให้คืนสู่สังคม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าสังคมดี มีกลุ่มคนที่เป็นคนดี สิ่งแวดล้อมดีๆ มันก็จะกลับมาหาเรา เพราะมันเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งหลายๆ ครั้งเวลาเราให้เราก็ไม่ได้คิดอะไร อย่างเช่นเวลามีคนมาปรึกษาปัญหาทางการเงิน เมื่อเค้าเอาไปแก้ปัญหาได้ หรือเอาไปสอนคนอื่นให้แก้ปัญหา เราก็มีความสุข เป็นสิ่งที่ย้อนคืนกลับมาสู่เราเอง

Tags: , , ,