เงินซื้อความสุขได้ไหม’ เป็นคำถามที่หลายๆ คนรู้สึกสงสัยกันมานาน หลายคนบอกว่าเงินมันซื้อความสุขไม่ได้ แต่กับบางงานวิจัยนั้นดันบอกกับเราว่าเงินซื้อความสุขให้เราได้ซะอย่างนั้น วันนี้ โค้ชหนุ่ม และ เคน-นครินทร์ เลยจะมาถกกันในเรื่องนี้

เงินซื้อความสุขได้มั้ย

เชื่อว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย และไม่แน่ใจว่าควรจะตอบอย่างไรกันแน่ นครินทร์มองว่าเงินเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เราได้ ซื้อโอกาส ซื้อความสบายใจ ซื้ออิสรภาพ และซื้อความสุขสบายให้เราได้ในขั้นต้น แม้จะไม่ได้ซื้อได้ทุกอย่างแต่ก็ยังเชื่อว่าเงินเป็นส่วนหนึ่งของความสุขอยู่ดีเพราะเราก็ต้องใช้จ่าย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังเชื่อว่าเงินไม่ได้ซื้อได้ทุกอย่าง อย่างเช่นความรักเป็นต้น

และด้วยความสงสัยนี้ เมื่อปี 2003 จึงมีคนทำการวิจัยเรื่องเงินกับความสุขเพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับการซื้อของคนเราว่าการซื้อแบบไหนกันนะที่ทำให้เรามีความสุขได้ จนล่าสุดก็ได้ผลลัพธ์และตีพิมพ์ใน Journal of Consumer Research

จากการประเมินแล้วค่อนข้างมีความชัดเจนว่าเงินซื้อความสุขได้จริงๆ เพราะเบื้องหลังของหลายสิ่งที่มาเติมชีวิตเรานั้นย่อมมีการจับจ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง และผลวิจัยที่ออกมาก็เป็นเสียงเดียวกันว่าเงินมีความจำเป็นและซื้อความสุขให้เราได้ เพียงแต่ความสุขของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป ซึ่งเค้าก็ทำวิจัยกันต่อไปว่าแล้วระหว่างการซื้อประสบการณ์กับการซื้อสิ่งของอันไหนที่ทำให้เรามีความสุขได้มากกว่ากัน

หลังจากที่เคยมีผลวิจัยออกมาว่าการสร้างประสบการณ์สามารถสร้างความสุขให้คนเราได้มากกว่า อย่างเช่นการท่องเที่ยว การดินเนอร์กับคนที่เรารัก ค่อนข้างจะมีคุณค่าและอยู่ในควาทรงจำมากกว่าการซื้อของ ซึ่งทีมวิจัยที่เชื่อเรื่องประสบการณ์ให้เหตุผลว่าเวลาซื้อของมันจะมีความสุขที่สุดคือตอนจับจ่าย ตอนที่กำลังเลือก ตอนกำลังหยิบเงินเพื่อจ่าย มันเป็นความสุขของการจะได้ครอบครอง เป็นความรู้สึกถึงอำนาจ แต่แปลกที่พอเรากลับถึงบ้านแล้วหลายๆ คนวางถุงทิ้งไว้และไม่ได้แกะ เพราะความรู้สึกสูงที่สุดมันผ่านไปแล้ว และหลายๆ คนก็ยังเริ่มมีความรู้สึกผิดที่ซื้อของเหล่านั้นมาเพราะเพิ่งรู้ตัวว่าของที่อยากได้ในตอนนั้นจริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องซื้อเลย ก็ทำให้ความสุขลดลง รวมไปถึงความรู้สึกเปรียบเทียบที่เกิดขึ้นเมื่อได้เจอคนที่ซื้อของที่ดีหรือคุ้มค่ามากกว่าเรา

ซึ่งงานวิจัยชิ้นใหม่นี้ออกมาแก้ว่าความจริงแล้วการซื้อตัวสินค้าก็มีโอกาสสร้างความสุขได้เหมือนกัน ถ้าเกิดความเป็นการซื้อที่ตรงกับบุคลิก ลักษณะ และตัวตนของเรา เช่นคนที่ไม่ค่อยชอบสังคม คนกลุ่มนี้จะมีความสุขเป็นพิเศษกับการซื้อหนังสือ แผ่นหนัง หรือกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถทำได้คนเดียวที่บ้าน หรือคนทั่วไปที่ชอบแกดเจ็ตต่างๆก็จะมีความสุขเมื่อได้ซื้อของพวกนี้ ไม่ได้มีความรู้สึกผิดแม้ของจะแพง และมีความสุขยาวนานด้วยเพราะเป็นของที่เราชอบจริงๆ

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือจากงานวิจัยเก่าที่บอกว่าคุณจะมีความสุขเมื่อซื้อประสบการณ์ ความจริงแล้วมันหมายความว่าเมื่อคุณซื้อประสบการณ์ที่ดีเท่านั้น ถ้าเราไปเจอประสบการณ์ที่ไม่ดี อย่างไปเที่ยวแล้วเจอฝนตก เที่ยวไม่ได้อย่างที่วางแผนไว้ ก็จะกลายเป็นประสบการณ์เลวร้ายที่กลับด้านยิ่งกว่าการที่เราซื้อของผิด เพราะมันฝังใจและอยู่ได้นานกว่า

เพราะฉะนั้นหากใครที่มีความเชื่อว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ ผู้วิจัยก็บอกว่าให้ลองเปิดความคิดใหม่ดู เพราะโลกทุกวันนี้ค่อนข้างจะเป้นโลกของทุนนิยมไปแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายสิ่งอย่างมีมูลค่าในตัวเอง ถ้าเราไม่ยอมรับตรงนี้มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่ไปกดความรู้สึกของเรา

เกมทางการเงิน

จากประสบการณ์ของโค้ชหนุ่มที่คอยให้คำปรึกษาทางด้านการเงิน แน่นอนว่าต้องมีคนเคยตั้งข้อครหาให้ว่าทำไมถึงเป็นคนที่เอาแต่พูดเรื่องเงิน เงินไม่ได้สำคัญที่สุดสักหน่อย ซึ่งโค้ชหนุ่มบอกว่ามันก็เป็นวิธีคิดและการใช้ชีวิตแบบหนึ่งของคนเรา คงไปห้ามไม่ได้ แต่เท่าที่สังเกตเห็นคือคนพวกนี้ส่วนหนึ่งมักจะเป็นคนที่มีปัญหาทางการเงิน เมื่อโลกของเราเป็นโลกที่เป็นทุนนิยม หลายๆ คนที่สู้แล้วแพ้ในเกมก็เริ่มที่จะไม่อยากอยู่ในเกมนี้

บางคนบอกว่า เนี่ย เวลาเกิดภัยพิบัติแต่ละทีเงินมันไม่เห็นจะมีค่าอะไรเลย หรือตอนที่ชีวิตอยู่ในช่วงสุ่มเสี่ยง เงินมันใช้ทำอะไรได้ที่ไหน ซึ่งโค้ชหนุ่มก็บอกว่าหากเราเอาเวลาในช่วงชีวิตของตัวเองมาตั้งค่าเป็นร้อยเปอร์เซนต์ เราลองดูว่าเวลาที่เราประสบภัยพิบัติและความเสี่ยงขนาดนั้นจะมีอยู่มากสักแค่ไหน แน่นอนว่าช่วงชีวิตปกตินั้นมีอยู่มากกว่า ซึ่งเราควรจะต้องบริหารจัดการให้ชีวิตอยู่ในช่วงปกติให้ดีก่อน

ความสุขที่เราออกแบบเอง

สุดท้ายแล้วโค้ชหนุ่มก็เชื่อว่าเงินสามารถซื้อความสุขได้ เพียงแต่ความสุขของแต่ละคนนั้นมันไม่เหมือนกัน คนเราต้องการเงินไปตอบสนองสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน

อย่างเคสหนึ่งของโค้ชหนุ่มที่มีคนมาเรียนด้วยกัน ตัวคนที่อยู่ล้อมรอบก็คุยกันว่าเราต้องลงทุนนะ เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ ฯลฯ แต่มีอยู่คนหนึ่งที่ไม่สนใจ เค้าบอกว่าเค้ามีความสุขของเค้าแล้ว เงินเดือนเค้าแค่สองหมื่นนิดๆ แต่ก็ยังกินเหลือทุกเดือน ชีวิตวันนึงไม่มีอะไรมาก เช้ามาก็ไปทำงาน ตกเย็นก็เดินกลับที่พักเพราะไม่ไกลมาก กินข้าว ซื้อเบียร์หนึ่งกระป๋องกับถั่วหนึ่งถุงมานั่งกินก็จบ ทุกๆ ปีก็จะเก็บวันลาไปใช้ปลายปี และเอาเงินเก็บไปเที่ยว โค้ชหนุ่มก็สงสัยว่ามีอะไรปกปิดอยู่รึเปล่า แต่เมื่อได้พูดกันจริงๆ แล้วก็พบว่าเค้ามีความสุขจริงๆ เป็นความสุขในแบบที่เค้าออกแบบมาแล้ว

นั่นเป็นตัวอย่างให้เราเห็นว่าการมีความสุขของแต่ละคนนั้นเป็นเรื่องของปัจเจกจริงๆ บางคนมีความสุขที่ได้มีสิ่งของมากมาย บางคนมีความสุขเรียบง่าย อยู่ที่การดีไซน์ของแต่ละคน จะบอกว่าให้ทุกคนกลับไปสมถะแล้วความสุขจะเกิดก็คงไม่ใช่ คนที่มีเงินเยอะแล้วมีความสุขก็มีอยู่ถมไป ขณะเดียวกันจะบอกว่าคนที่มีเงินน้อยนั้นไม่มีความสุขก็ไม่ใช่เช่นกัน

แล้วแค่ไหนคือพอดี

จากตัวอย่างข้างบนถ้าถามว่าคนมักน้อยคือคนที่มีความสุขใช่มั้ย คำตอบก็คือไม่ใช่ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือปัจจัยสี่ มีกินมีใช้ มีที่อยู่อาศัย มีเงินใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ มีเสื้อผ้าในแบบของเรา หากเราผ่านปัจจัยทั้งสี่นี้ไปได้ก็จะเข้าสู่สิ่งเติมเต็มของแต่ละคน

และเมื่อมองกันดีๆ แล้ว แม้เราต้องใช้เงินซื้อความสุขหลายๆ อย่าง แต่ความสุขอีกหลายเรื่องก็ไม่ได้มาจากเงินเพียงอย่างเดียว เรายังมีสิ่งต่างๆ อีกมากมายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินโดยตรง ทั้งความรักจากครอบครัว สุขภาพร่างกาย ธรรมชาติรอบตัว

ความสุขที่แท้อยู่ในความสัมพันธ์

งานวิจัยนี้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่าสุดท้ายแล้วถ้าเงินที่เราจับจ่ายไปนั้นมันไปเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ สิ่งนั้นจะสร้างความสุขอย่างแน่นอน คือเมื่อไรที่การจับจ่ายของเรามันจ่ายไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์ เช่นคุณซื้อของให้คนที่คุณรัก คุณพาครอบครัวออกไปกินอาหารร้านอร่อย และครอบครัวหรือคนรักของคุณมีความสุข นั่นจะเป็นความสุขที่กลับมาหาคุณด้วย

สามารถอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่
http://www.spring.org.uk/2009/02/how-to-choose-between-experiential-and.php
http://www.psychologicalscience.org/news/releases/spending-that-fits-personality-can-boost-well-being.html#.WKvyORKGPq1

—————————————————————–

ข้อเขียนบทความต่อไปนี้ เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของพอดแคสต์ ที่สรุปใจความสำคัญโดยย่อ ตลอดจนรายละเอียดเพิ่มเติมบางอย่าง เช่น link ของสิ่งที่เกี่ยวข้อง หรือที่ถูกพูดถึงในรายการ เพื่อให้ผู้สนใจได้ตามไปอ่านหรือดูเพิ่มเติม กรุณาคลิกที่นี่ เพื่อติดตามฟังรายการเต็มๆ

Tags: , , , ,