เชื่อว่าอีกหนึ่งสิ่งที่พนักงานเงินเดือนทุกคนรอคอยในช่วงปลายปีก็คือเงินโบนัส บางคนได้น้อย บางคนได้มาก เป็นเรื่องธรรมดา แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อได้มาแล้วเราควรจะบริหารจัดการกับมันอย่างไรดีไม่ให้หายไปอย่างรวดเร็วและได้ประโยชน์สูงสุด มาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันกับ เคน-นครินทร์ และ หนุ่ม The Money Coach

โบนัสสามก้อน

1.59

หลายคนใช้เงินโบนัสกันแบบไม่ค่อยคิด เพราะคิดว่ามันเป็นของแถม แต่ความจริงแล้วในมุมของนายจ้างที่คำนวนจากผลประกอบการ เงินก้อนนี้ก็คือน้ำพักน้ำแรงของเรานั่นแหละ เวลาได้มาก็ควรจะใส่ใจที่จะบริหารมัน

หลักการบริหารโบนัสนั้นควรแบ่งเงินก้อนนี้ออกเป็นสามก้อน ก้อนที่หนึ่งคือใช้จัดการภาระในอดีตอย่างเรื่องหนี้ บางคนโบนัสออกมาก็เอาไปโปะหนี้หมดเลย ที่ฮิตสุดคือค่าบ้านจะได้หมดเร็วๆ แต่ความจริงแล้วการใส่เงินไปกับหนี้ที่ยังไงก็ยังปิดไม่ได้มันทำให้เรารู้สึกห่อเหี่ยวได้เหมือนกัน ได้เงินมาเท่าไหร่ก็ถมลงไปไม่เต็ม ส่วนที่สองคือเรื่องของการออม ไม่ว่าจะเป็นการสะสมเงินหรือการลงทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และส่วนที่สามคือการเติมเต็มความสุขของตัวเอง ตอบแทนที่เราเหนื่อยมาทั้งปี ซึ่งเงินทั้งสามก้อนนี้ก็สามารถแบ่งสัดส่วนได้ตามความจำเป็นและความต้องการของตนเอง

ควรออมอย่างไร

6.27

โดยปกติแล้วถ้าเราทิ้งเงินไว้ในบัญชีที่เราใช้ประจำเงินมันจะไหลออกไปเรื่อยๆ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ขอแนะนำให้แยกเงินโบนัสส่วนที่จะออมก้อนนี้ออกมาก่อน ถ้าคิดอะไรไม่ออกจะเอาไปใส่บัญชีสะสมทรัพย์ บัญชีเงินฝากประจำ หรือสลากออมสินก็ไม่ได้เสียหาย บางคนอยากเอาไปลงทุนก็ต้องดูด้วยว่าตัวเราพร้อมและมีความรู้พอรึเปล่า ถ้าพร้อมแล้วก็สามารถทำได้เช่นกัน

หลักการเติมเต็มความสุข

7.56

การเติมเต็มความสุขนั้นถ้าเป็นการเติมเต็มด้านประสบการณ์ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะมีการวิจัยว่าคนเราถ้าจับจ่ายข้าวของเครื่องใช้ สักพักเราก็จะรู้สึกว่ามันเก่าและลืมมันไปได้ แต่ถ้าเราจ่ายไปกับประสบการณ์อย่างการท่องเที่ยวหรือกิจกรรมของครอบครัว นั่นจะเป็นประสบการณ์ที่เราจำได้ไปอีกนาน

และสิ่งที่ไม่ควรเอาเงินก้อนนี้ไปใช้ที่สุดคือการเอาไปเป็นฐานของการสร้างภาระเพิ่ม เช่นเอาไปดาวน์รถ ซึ่งเป็นการสร้างภาระที่ใหญ่และระยะยาวถ้าเรายังไม่พร้อมจริงๆ

การลงทุนสุดคุ้มค่า

8.59

แม้ว่าเราจะลงทุนไปกับอะไรมากมาย แต่สุดท้ายแล้วเราก็ลงทุนไปเพื่อตอบโจทย์ความสุขของตัวเรา เพราะฉะนั้นเวลามีคนมาถามว่าควรลงทุนอะไร สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการลงทุนในตัวเอง อย่างการดูแลสุขภาพที่บางครั้งเราก็ไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงิน แต่จ่ายเป็นเวลา อย่างสิ่งสำคัญที่สุดของการดูแลสุขภาพคือการนอน ถ้าเรานอนอิ่มครบ 7 ชั่วโมงตรงเวลา ตื่นมาเราก็จะหิวตามเวลา มีแรงออกกำลังกาย

บทวิจัยหนึ่งที่เพิ่งลงเว็บไซต์ The Momentum บอกว่าถ้าคนงานในระบบนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงจะทำให้เราสูญเสียรายได้ในระบบจำนวนมหาศาล เพราะเราจะมีชั่วโมงการทำงานลดลงจากอาหารป่วยที่มากขึ้น และสภาพร่างกายไม่ฟิตเต็มร้อยจนสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน

การลงทุนด้านความคิด

12.41

นอกจากสุขภาพ สิ่งที่เราควรลงทุนต่อมาคือเรื่องของความคิดและการพัฒนาตัวเอง อาจจะเป็นการซื้อหนังสือดีๆ เข้าร่วมกิจกรรม หรือสัมนาต่างๆ บางคนอยากเก่งภาษาก็ไปเรียนภาษาเพิ่ม บางคนอยากทำอาหารก็ไปหาคอร์สเรียนทำอาหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าทางจิตใจ และเติมเต็มความรู้สึกให้เราได้
หรือการลงทุนกับประสบการณ์ต่างๆ อย่างที่ว่าไปก่อนหน้าก็เป็นการเติมเต็มความรู้สึกของตัวเอง ยิ่งเป็นประสบการณ์ที่มีร่วมกับคนรอบข้างยิ่งสำคัญ เป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความทรงจำดีๆ และแบ่งปันความสุขให้กันและกัน เป็นการลงทุนที่ใช้เงินไม่เยอะแต่ได้รับผลตอบแทนที่มีค่า

บริหารเวลาอย่างไรให้ได้ไปเที่ยว

17.41

หลายคนมีปัญหา ว่าทำยังไงก็ไม่สามารถหาเวลาไปเที่ยวกับครอบครัวได้ เพราะตารางงานที่มีนั้นมันแน่นเหลือเกิน ซึ่งที่เป็นแบบนี้เพราะคนเหล่านี้ใช้วิธีการจัดตารางงานแบบเอางานถมเข้ามาเรื่อยๆ คิดแต่ว่าถ้ามีสล็อตเวลาว่าตอนไหนค่อยไป ซึ่งนั่นทำให้สล็อตว่างไม่มีอยู่จริง เพราะมันจะถูกถมเข้ามาตลอดเวลา วิธีแก้นั้นโค้ชหนุ่มแนะนำว่าให้เราเลือกช่วงเวลาของการไปเที่ยวก่อนเลยแล้วกดจองตั๋วให้เรียบร้อย จากนั้นจะรับงานเท่าไหร่ก็รับมาเพราะไม่ว่าอย่างไรเราก็มีช่วงเวลาของการไปเที่ยวเก็บไว้อยู่แล้ว

ส่วนเคนแนะนำว่าให้คิดว่าช่วงเวลาของครอบครัวหรือเวลาที่ให้กับเพื่อนนั้นมีค่าเท่ากันกับการทำงาน ให้คิดว่าเวลาเหล่านี้ก็เป็นงานอย่างหนึ่งเช่นกัน

เตรียมพร้อมสู้ต่อปีหน้า

24.43

ช่วงปลายปีโค้ชหนุ่มจะใช้เวลาอยู่กับครอบครัวเป็นหลัก และนั่งรีวิวว่าชีวิตตัวเองผ่านอะไรมาบ้างในปีนี้ เติบโตขึ้นอย่างไร เก่งขึ้นมั้ย มีอะไรที่ผิดพลาดบ้าง และออกไปเที่ยวกับครอบครัว ซึ่งบางทีไม่ต้องมีกิจกรรมมากมาย แค่นั่งเล่นบอร์ดเกมร่วมกัน กินข้าว นั่งคุยร่วมกันก็เพียงพอแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีเราก็ยังจำความสุขตรงนี้ได้ และสิ่งเหล่านี้เป็นการเติมเต็มจิตวิญญาณของเราให้พร้อมที่จะสู้ต่อไปในปีข้างหน้า

Tags: , , ,