“Masculinity is not organic, it’s reactive. It’s not something that just develops.
It’s a rejection of everything that is feminine.”
“ความเป็นชายไม่ได้เกิดขึ้นเอง มันคือปฏิกิริยา ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นมา
แต่มันคือการปฏิเสธทุกอย่างที่มีความเป็นหญิง”
Caroline Heldman
นักรัฐศาสตร์และนักการศึกษา
จากสารคดีว่าด้วยความเป็นชาย
The Mask You Live In
พูดถึงหน้ากากในนาทีนี้ หลายคนคงนึกถึงรายการประกวดร้องเพลง ‘หน้ากากนักร้อง’ ซึ่งในแง่หนึ่งก็แสดงให้เราเห็นถึงสภาวะ ‘จริง/ลวง’ ที่ซ้อนทับกันอยู่
นักร้องคนหนึ่งที่ใส่หน้ากากรูปสัตว์ชนิดหนึ่ง ตอนอยู่เบื้องหลังหน้ากาก มาดและท่าทีของเขาดู ‘แมน’ มากๆ ทำให้กรรมการคิดว่าเขาต้องเป็นนักร้องอีกคนหนึ่ง ซึ่งกำลังทำหน้าที่สุดแมนด้วยการ ‘รับใช้ชาติ’ อยู่ในค่ายทหารแน่ๆ เพราะลีลาท่าทางทั้งหมดของเขาเต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเป็นชาย’ หรือ Masculinity ในแบบที่ทั้งเท่ เก่ง และเปี่ยมเสน่ห์
แต่พอเปิดหน้ากากออกมา แล้วพบว่าเขาเป็นตัวเขาเอง ผู้คนกลับไม่ค่อยยอมรับเขา หลายคนบอกว่าเป็นเพราะเขาพูดไทยไม่ชัดบ้าง ไปทำศัลยกรรมใบหน้ามาจนเปลี่ยนไปบ้าง แต่ผมกลับคิดว่าเรื่องที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการทำให้คนเปลี่ยนความชอบจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ใช่แค่การพูดไทยไม่ชัดหรือทำศัลยกรรมหรอก แต่เป็นเพราะ ‘การรับรู้’ (Perception) ที่มีต่อ Sexuality ของเขาต่างหาก
คนที่ดู ‘ชาย’ มากๆ (แถมยัง Shine มากๆ ด้วยความเป็นชายใต้หน้ากาก) เมื่อเปิดหน้ากากออกมาแล้วกลับมีความเป็นชาย (คือ Masculinity ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ Sexual Preference หรือ Gender ของคนคนนั้นนะครับ) ไม่เท่ากับที่ตัวเองจินตนาการเอาไว้ ก็เลยเกิดอาการเหวอ และที่สุดก็แสดงอาการไม่ค่อยจะยอมรับออกมา แต่ไม่ได้ใช้ประเด็นเรื่องเพศมานำ กลับหา ‘หุ่นฟาง’ เรื่องอื่นๆ มายิงมากกว่า
จอร์จ ออร์เวลล์ เคยเขียนเอาไว้ในความเรียงเรื่อง ‘Shooting an Elephant’ ตอนหนึ่งว่า
He wears a mask, and his face grows to fit it.
เขาสวมหน้ากาก แล้วใบหน้าเขาก็เติบโตขึ้นมาจนพอดีกับหน้ากากนั้น
ผมคิดว่ากรณีของนักร้องใต้หน้ากากก็เป็นแบบนั้น เพียงแต่ไม่ใช่ใบหน้าของตัวนักร้องหรอกที่ขยายมาพอดีลงตัวกับหน้ากาก
เป็น ‘ความคาดหวัง’ ของคนที่อยู่ในสังคมต่างหาก ที่ยอมรับหน้ากาก หลงใหลในหน้ากาก ทั้งที่ก็รู้ว่านั่นคือหน้ากาก นั่นคือความลวง และอยากให้ใบหน้าที่อยู่ใต้หน้ากาก (ซึ่งคือตัวแทนของความจริง) เผยโฉมออกมาสอดคล้องกับความลวงในจินตนาการของตัวเอง
ที่เราคิดแบบนี้ได้ ที่มีแรงสนับสนุนให้คนคิดแบบนี้กันได้เป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าสังคมของเรายกย่องเชิดชู ‘ความเป็นชาย’ (Masculinity) มากแค่ไหน
‘ความคาดหวัง’ ของคนในสังคมต่างหาก ที่ยอมรับหน้ากาก หลงใหลในหน้ากาก ทั้งที่ก็รู้ว่านั่นคือหน้ากาก นั่นคือความลวง และอยากให้ใบหน้าที่อยู่ใต้หน้ากาก (ซึ่งคือตัวแทนของความจริง) เผยโฉมออกมาสอดคล้องกับความลวงในจินตนาการของตัวเอง
เอาเข้าจริง ก็ไม่ใช่แค่สังคมไทยเท่านั้นที่เป็นแบบนี้ แต่ในหนังสารคดีเรื่อง The Mask You Live In ของผู้กำกับ เจนนิเฟอร์ ซีเบล นิวซัม (Jennifer Siebel Newsom) ผู้กำกับหญิงที่ทำงานสารคดีสำรวจเรื่องราวทางเพศและอำนาจที่กำกับ ‘ความเป็นเพศ’ มาสองเรื่อง (เรื่องแรกคือ Miss Representation เป็นสารคดีสำรวจอคติทางเพศที่มีต่อผู้หญิง) ส่วนเรื่องที่สองคือเรื่อง The Mask You Live In หรือ ‘หน้ากากที่คุณอาศัยอยู่ข้างใต้’ เป็นการสำรวจถึง ‘ความเป็นชาย’ ที่หยั่งรากลึกลงไปภายใน
ผมคิดว่าคำพูดสำคัญที่บอกนัยของสารคดีเรื่องนี้ทั้งหมด อยู่ตรงคำพูดแรกที่ยกมาไว้ในบทความนี้ คือคำพูดของคาโรลีน เฮลด์แมน ที่เธอบอกว่า ความเป็นชายไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาด้วยตัวของมันเอง แต่คือการเลือก ‘ปฏิเสธ’ ทุกสิ่งที่เป็นหญิง
ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะหลายคนคิดว่าผู้ชายเป็นเพศที่มาก่อน เป็นเพศที่อยู่เหนือผู้หญิง เพราะถ้าดูในพระคัมภีร์ไบเบิล เราก็คงรู้กันอยู่ว่าผู้ชาย (คืออดัม) ถือกำเนิดมาก่อนผู้หญิง (คืออีฟ)
แต่การศึกษาทางชีววิทยาสมัยใหม่บอกว่า ความเป็นจริงนั้น ‘กลับข้าง’ กันกับที่เราเชื่อถือกัน นั่นคือในสิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย (รวมทั้งมนุษย์ด้วย) เวลาที่เรายังเป็นตัวอ่อนตัวจี๊ดๆ (ที่เรียกว่า Zygote หรือคือ ‘ไข่’ ที่ได้รับการผสมกับอสุจิแล้ว) แนวโน้มพื้นฐานที่จะเติบโตพัฒนาไป ‘มีเพศ’ นั้น ถ้าไม่มีฮอร์โมนเพศชาย (อย่างเทสโทสเทอโรนในมนุษย์) มาเกี่ยวข้องรบกวน แทบทั้งหมดจะเติบโตไปเป็น ‘เพศหญิง’ ทั้งสิ้น
พูดง่ายๆ ก็คือ เพศหญิงเป็น ‘เพศพื้นฐาน’ ในขณะที่จะเกิดเป็นชายได้ จะต้องมีโครโมโซม Y (ที่ทำให้ร่างกายผลิตเทสโทสเทอโรน) เพื่อมากระตุ้นเพศพื้นฐานให้พัฒนาต่ออีกรอบ กลายไปเป็นเพศชาย ซึ่งหากเราสังเกตลักษณะของอวัยวะเพศให้ดี ก็จะพบว่าอวัยวะเพศชายทั้งหลายแหล่ คือสิ่งที่พัฒนาต่อเนื่องจากอวัยวะเพศหญิงทั้งนั้น
นักชีววิทยาจำนวนมากถึงขั้นเรียกเพศหญิง (ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) ว่า Ancestral Sex หรือเป็นเพศโบราณดั้งเดิม และเรียกเพศชายว่าเป็น Derived Sex หรือเป็นเพศที่ ‘ได้มา’ ในภายหลังกันเลยทีเดียว โดยมีหลักฐานหลายกรณี เช่น บางคนมีพัฒนาการของอวัยวะเพศชายช้ากว่ากำหนดมากๆ เช่น กว่าจะเริ่มมีจู๋ได้ก็อายุเลยสิบขวบเข้าไปแล้ว หรือในบางกรณีก็มีพัฒนการของอวัยวะเพศชายแบบไม่สุดทาง ทำให้มีทั้งสองเพศอยู่ในตัว
เมื่อมองในแง่ชีววิทยาพื้นฐาน เพศหญิงจึงควรเป็น ‘เพศที่หนึ่ง’ ในขณะที่เพศชายนั้นเป็น ‘เพศที่สอง’ แต่โดยความรับรู้ทั่วไป เราจะพบว่าเพศหญิงถูกจัดให้เป็น The Second Sex (ตามชื่อหนังสือของ ซีโมน เดอโบวัวร์) มาตลอด
ความเป็นชายไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาด้วยตัวของมันเอง
แต่คือการเลือก ‘ปฏิเสธ’ ทุกสิ่งที่เป็นหญิง
คำถามถัดมาก็คือ แล้วนอกจากฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนแล้ว มนุษย์เรายังต้องการอะไรอีกไหมเพื่อที่จะเติบโตไปเป็น ‘ผู้ชาย’ ที่อยู่ใต้ ‘หน้ากาก’ แห่งความเป็นชายนั่น
คำตอบก็คือมี และมีมากมายเสียด้วย
แม้นักชีววิทยาจะบอกว่า เพศของมนุษย์มี Ancestral Sex และ Derived Sex แต่นั่นก็คือเพศในความหมายของ Sex หรือเพศในทางชีววิทยา แต่ถ้ามาดูเพศในทางสังคม เราจะพบว่าแม้ถือกำเนิดมากับจู๋และจิ๋ม แต่จะมี ‘ความเป็นหญิง’ หรือ ‘ความเป็นชาย’ ได้นั้น มันคือขั้นตอนของการ ‘ประกอบสร้างทางสังคม’ ล้วนๆ
ในสารคดี The Mask You Live In ช่วงต้น เขาไปสัมภาษณ์นักกีฬาเอ็นเอฟแอลอย่าง โจ เออร์มานน์ (Joe Ehrmann) ซึ่งบอกว่าการที่เขาหันมาเล่นฟุตบอลนั้น เป็นเพราะเขาต้องการจะแสดงออกถึงสิ่งที่เรียกว่า Hypermasculinity หรือความเป็น ‘ชายเหนือชาย’ ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เพื่อแสดงให้คนอื่นๆ รู้ และการแสดงความเป็นชายที่สุดแสนจะชายนั้น วิธีที่ง่ายที่สุด ก็คือการ ‘ปฏิเสธ’ ความเป็นหญิงทั้งหลายนั่นเอง
หลายคนในสารคดีเรื่องนี้ ถึงขั้นเลิกคบเพื่อนที่เคยคบกันมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะว่าเพื่อนมีลักษณะที่ ‘เป็นหญิง’ (แม้จะมีเพศกำเนิดหรือเพศทางชีววิทยาเป็นชาย) เพราะการคลุกคลีกับเพื่อนที่มีลักษณะแบบนั้น จะลดทอนความเป็นชายในตัวเองลง
การหันไปเล่นกีฬา ยกเวท เล่นกล้าม การไม่ร้องไห้ให้ใครเห็น การเก็บสะกดความเจ็บปวดทั้งหลายในชีวิต ล้วนแต่เป็นวิถีของผู้ชายที่ต้อง ‘ฝึก’ ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ นิวซอมจึงตั้งชื่อสารคดีเรื่องนี้ว่า The Mask You Live In เพราะมันเหมือนกับคนเหล่านี้ได้นำเอา ‘ความเป็นชาย’ มาเป็นเกราะกำบัง สร้างมันขึ้นมาเป็นหน้ากากที่แข็งแกร่ง เพื่อปกปิดความอ่อนแออ่อนไหวทั้งปวงอยู่ภายใน
เมื่อดูสารคดีเรื่องนี้ ผมจึงนึกถึงหน้ากากนักร้องคนนั้นขึ้นมา
ไม่ใช่เขาหรอกที่สวมหน้ากาก
แต่เป็นคนอื่นๆ ในสังคมต่างหาก ที่ขังตัวเองอยู่ใต้หน้ากากแห่งความเป็นชายดั้งเดิม
มันคือหน้ากากที่ถอดเท่าไหร่ก็ไม่ออกเสียที!
ภาพประกอบโดย คุณเค
Tags: The Mask You Live In, Masculinity, ความเป็นชาย, Caroline Heldman, Sexuality, Jennifer Siebel Newaom