ช่วง ‘behind the scenes’ มักกระตุ้นความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นให้กับผู้ชม และยังช่วยเติมเต็มเรื่องราวบางอย่างของชิ้นงานได้ เมื่อผู้ชมมีโอกาสได้เข้าไปเห็นกระบวนการทำงานที่ต้องใช้ทั้งความสามารถและความพยายาม กว่าทุกสิ่งจะออกมาดูดีพร้อมโชว์หน้าม่าน

เบื้องหลังการดูแลคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์เองก็เช่นกัน และบางครั้ง มันได้กลายมาเป็นหนึ่งใน ‘โชว์’ ให้ผู้ชมได้เห็นกันโต้งๆ

งานอนุรักษ์หรือ Conservation ถือเป็นงานที่สำคัญและเฉพาะทางมากๆ กล่าวคือ เมื่อพิพิธภัณฑ์ได้วัตถุชิ้นหนึ่งมา ใช่ว่าจะจัดแสดงได้เลยทันที เพราะมันจะต้องถูกบูรณะในอยู่ในสภาพที่ ‘เสร็จสมบูรณ์’ หรือแข็งแรงพอสมควรก่อน พิพิธภัณฑ์จึงจะต้องอาศัยทีมผู้เชี่ยวชาญที่รู้วิธีรักษาวัตถุนั้นๆ ต้องเข้าใจถึงธรรมชาติของวัสดุของว่ามีปัจจัยอะไรเป็นความเสี่ยง เช่น ความชื้น, แสงที่มากเกินไป, อุณภูมิ ฯลฯ ทั้งหมดต้องทำงานกันในแล็บ หรือสภาพแวดล้อมปิด ด้วยความอดทนและความละเอียดอ่อน ทำให้ของบางชิ้นต้องใช้เวลาอยู่หลังบ้านในห้องอนุรักษ์เสียนาน กว่าจะออกมาให้พวกเราคนดูได้เชยชม

ปัจจุบันจึงมีพิพิธภัณฑ์บางแห่ง ที่ท้าทายขนบธรรมเนียมการทำงานอนุรักษ์ โดยถือโอกาสจัดแสดงกรรมวิธีอนุรักษ์เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการให้ผู้ชมได้เห็นกันไปเลยแบบไม่กั๊ก (เอาให้ดูทั้งๆ ที่มันยังไม่เสร็จสมบูรณ์นี่แหละ!) อย่างเช่น มหากาพย์การกู้เรือ Mary Rose ซึ่งจมอยู่ใต้ทะเลมายาวนานเกือบ 500 ปี ถือเป็นหนึ่งในกรณีสะท้านวงการพิพิธภัณฑ์ ที่งานอนุรักษ์ได้ออกมาเป็นพระเอกอย่างแท้จริง

ภายใน The Mary Rose Museum ในส่วนที่จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเรือ

Mary Rose เป็นเรือธงของกษัตริย์เฮนรี่ที่แปด และเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดลำหนึ่งในราชนาวีอังกฤษสมัยนั้น มันได้นำขบวนทัพเรือในการต่อสู้กับข้าศึกมามากกว่า 30 ปี ผ่านสงครามกับฝรั่งเศสมาถึง 3 ครั้งด้วยกัน และในศึกครั้งที่ 3 นี่เอง ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1545 ที่เรือ Mary Rose ถูกทัพเรือฝรั่งเศสยิงจนเสียหายอย่างหนัก และจมลงใกล้ฝั่งเมืองพอร์ทส์เมาธ์ (Portsmouth) ดึงเอาลูกเรือและทหารนับร้อยลงสู้ก้นทะเลไปพร้อมๆ กัน

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่กี่อาทิตย์ ประเทศอังกฤษได้มีการว่าจ้างทีมปฏิบัติการชาวเวนิสเพื่อกู้เรือ Mary Rose ขึ้นมา มีรายงานลงวันที่ 1 สิงหาคม บันทึกไว้ว่า “ภายในวันจันทร์หรือวันอังคาร เรือ Mary Rose ก็จะถูกกู้ขึ้นมาได้สำเร็จ” แต่ทว่าความเป็นจริงไม่ง่ายเช่นนั้น ทีมกู้ไม่สามารถจะยกเรือขึ้นหรือแม้แต่จะเคลื่อนให้มาอยู่ในบริเวณน้ำตื้นได้เลย เพราะตัวเรือติดแน่นอยู่กับก้นทะเล จนปฏิบัติการต้องล้มเลิก และทิ้งให้ Mary Rose ถูกดินทรายและโคลนทับถมใต้ผืนน้ำต่อไป

ผ่านมาจนถึงศตวรรษที่ 20 ความหวังในการกอบกู้กลับมาอีกครั้งเมื่ออเล็กซานเดอร์ แม็คคี (Alexander McKee) ได้ริเริ่มโครงการ ‘Project Solent Ship’ ในปี 1965 เพื่อที่จะสืบหาและกู้ซากเรือ Mary Rose ลำนี้ขึ้นมา ทีมใช้เครื่องมือทางทะเลต่างๆ นาๆ ทั้งเครื่องโซนาร์ ทั้งเรือยก ฯลฯ พร้อมด้วยนักประดาน้ำอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง ออกเสาะหาเจ้าเรือ Mary Rose จนในที่สุดก็พบเข้าจนได้ในปี 1971 ทว่าสภาพ Mary Rose ในตอนนั้นแทบจะเหลือเพียงซีกเดียวคือกราบขวาที่จมอยู่ใต้ผืนทรายก้นทะเล โดยเนื้อไม้ทั้งโครงเรือส่วนนี้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีเพราะฝังตัวอยู่ในทราย ในขณะที่ซีกซ้ายของเรือถูกกระแสคลื่นใต้ทะเลและแบคทีเรีย กัดกร่อนมานานหลายร้อยปีจนผุสลายไปเกือบหมด

การค้นพบนี้นำไปสู่การก่อตั้งมูลนิธิ Mary Rose Trust เพื่อดำเนินการกู้ซากเรืออย่างเป็นทางการโดยมีเจ้าฟ้าชายชาลส์เป็นประธาน ปฏิบัติการอาสาสมัครได้กลายเป็นปฏิบัติการเต็มรูปแบบที่มีทั้งนักโบราณคดี นักอนุรักษ์ และเจ้าหน้าที่ต่างๆทำงานกู้ซากเรือเต็มเวลา (ให้นึกถึงฉากแรกๆในหนังเรื่อง Titanic) และในปี 1982  —เป็นเวลาถึงสิบปีตั้งแต่ค้นพบซากเรืออีกครั้ง—ในที่สุดเรือก็สามารถถูกยกขึ้นมาเหนือผืนน้ำได้!

เมื่อนำเรือไม้ที่จมอยู่ใต้ทะเลมาเกือบ 500 ปี ขึ้นถูกอากาศเป็นครั้งแรก งานอนุรักษ์ต่อจากนั้นจึงเป็นงานช้างไม่แพ้การยกเรือขึ้นเหนือน้ำเลย โดยขั้นตอนต่างๆ ในการอนุรักษ์ Mary Rose นับตั้งแต่ขึ้นบกในปี 1982 กินเวลาไปอีก 34 ปี กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากเนื้อไม้ของเรืออมน้ำทะเลจนเต็มปรี่ เมื่อถูกอากาศย่อมจะเริ่มผุกร่อน ดังนั้นในช่วงสิบปีแรกจึงต้องมีการพ่นน้ำและแว็กซ์เพื่อไม่ให้ไม้แห้งเร็วจนเกินไป และเพื่อไล่น้ำเค็มและแบคทีเรียที่จะกัดเซาะเรือออก จากนั้นก็พ่นด้วยสารโพลิเมอร์ที่เรียกว่า Polyethylene Glycol (PEG) ที่จะเข้าไปแทนที่น้ำในเนื้อไม้ เพื่อพยุงผนังเซลล์ในเนื้อไม้ไม่ให้ยุบตัวลงเมื่อน้ำแห้งสนิท (มิฉะนั้นเรือจะพังครืนลงมาทันทีที่แห้ง!) ขั้นตอนนี้ใช้เวลากว่า 20 ปี จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายคือเป่าแห้งอีกราวสี่ปี

อย่างไรก็ดี ความดีงามอย่างมากของโครงการอนุรักษ์ Mary Rose คือแทบจะตลอดช่วงเวลาดำเนินการอันยาวนานนี้ มีการเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมเรือที่อยู่ระหว่างการอนุรักษ์ได้ แม้จะถูกกั้นด้วยกระจกเพื่อควบคุมสภาพแวดล้อม และถูกบดบังด้วยท่อระโยงระยางที่คอยฉีดพ่นน้ำและสารเคมี แต่เราก็ยังได้เห็นเจ้าโบราณวัตถุขนาดมโหฬารชิ้นนี้ ค่อยๆ ฟื้นคืนชีวิตอย่างใจจดใจจ่อ

สภาพของไม้ในตัวเรือ ระหว่างการบูรณะซ่อมแซม

ในปี 2013 พิพิธภัณฑ์ The Mary Rose Museum ก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ณ เมืองพอร์ทส์เมาธ์ จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวของเรืออย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ความเป็นมาของเรือ ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกเรือสมัยนั้น พร้อมสิ่งของที่เก็บกู้ได้พร้อมเรือ เช่น กระบอกปืนใหญ่ และโครงกระดูกน้องหมาที่เลี้ยงไว้จับหนูบนเรือ เป็นต้น ตลอดจนโปรเจคต์กู้ซากเรือข้ามทศวรรษจนมาถึงขั้นตอนเป่าลมซึ่งเป็นเฟสสุดท้าย แต่ที่สำคัญคือตัวอาคารทั้ง 3 ชั้นของพิพิธภัณฑ์ โอบล้อมดาวเด่นของเรื่องราวเหล่านี้ซึ่งก็คือเรือ Mary Rose นั่นเอง โดยระหว่างที่เดินชมห้องจัดแสดงต่างๆ ก็จะสามารถมองเห็นตัวเรือที่กำลังถูกเป่าลมให้แห้ง ผ่านช่องกระจกระเบียงด้านที่ติดกับห้องอนุรักษ์ได้ ซึ่งการที่ผู้ชมได้รู้เห็นและใกล้ชิดกระบวนการเหล่านี้ ย่อมทำให้เขารู้สึก ‘อิน’ เหมือนตัวเองเป็นส่วนหนึ่งกับทีมอนุรักษ์เจ้าเรือลำนี้ไปโดยปริยาย

ข้าวของและอุปกรณ์บนเรือที่ถูกจัดแสดงในบริเวณใกล้กัน

ระหว่างทางเดินที่สามารถสังเกตตัวไม้จากมุมด้านบน

ส่วนของนิทรรศการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นอยู่บนเรือ

การรอคอยอันยาวนานได้จบลงเมื่อการอนุรักษ์ Mary Rose เสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ในปี 2016 เมื่อช่องกระจกที่ไว้ “ส่อง” ดูเรือถูกแทนที่ด้วยผนังกระจกใหญ่ตั้งแต่พื้นจรดเพดาน เผยให้เห็น Mary Rose ทั้งลำอย่างเต็มๆตา ไม่ต้องมีท่อพ่นสารเคมีหรือละอองน้ำบดบังทัศนียภาพอีกต่อไป แน่นอนว่า การเปิดตัวนี้ย่อมเรียกผู้คนได้อย่างล้นหลาม โดยเฉพาะคนที่เคยมาแล้วก็อยากมาอีก ทั้งมาดูผลลัพธ์สุดท้ายของกระบวนการที่เขาเคยได้เห็นไปบางส่วน และมาแสดงความยินดีกับทีมด้วยความภูมิใจ ประหนึ่งงานเป็นรับปริญญาของคนที่เราผูกพันด้วยนั่นเอง

การเล่าเรื่องมหากาพย์งานอนุรักษ์อันน่าทึ่ง อีกทั้งการสร้างสายสัมพันธ์กับคนดูในลักษณะนี้ จะไม่ได้เกิดแน่นอนหากงานอนุรักษ์ยังคงอยู่แค่หลังบ้าน เป็นเพียง ‘behind the scenes’

หมายเหตุ* ภาพในบทความ ผู้เขียนได้ถ่ายไว้เมื่อปี 2015 ตอนที่ยังอยู่ในกระบวนการเป่าลม

ชมภาพหลังอนุรักษ์เสร็จสมบูรณ์ในปี 2016 ได้ที่

https://www.thetimes.co.uk/article/mary-rose-emerges-in-all-her-glory-h9t9n9m2q

http://www.bbc.com/news/uk-england-hampshire-36802829

Tags: , , ,