1

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) คือนักเขียนรางวัลโนเบล เจ้าของงานเขียนลือลั่นอย่าง The Old Man and the Sea

เขาคือ ‘โฉมหน้าชายชาตรี’ (Macho Face) แห่งศตวรรษที่ 20 ด้วยชื่อเสียงลือกระฉ่อนว่ามีความห้าวหาญประดุจนักรบ ‘ความเป็นชาย’ ของเฮมิงเวย์นั้นฉายโชนออกมาในทุกตัวอักษร จนแทบได้กลิ่นเทสโทสเตอโรนจากหน้ากระดาษ

ผู้คนเรียกเขาว่า ‘ปาป้าเฮมิงเวย์’ เพราะเขามีความเป็นชายและมีความเป็น ‘พ่อ’ ที่สูงยิ่ง

แมทธิว อดัมส์ (Matthew Adams) แห่ง Washington Post เคยเขียนว่า เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ผู้เกิดในปี 1899 นั้นเกิดมาเพื่อจะ ‘ตัดขาด’ กระแสวรรณกรรมจากความเป็นหญิง

พูดแบบนี้หลายคนอาจจะงงว่าวรรณกรรมมันมีความเป็นหญิงเป็นชายอยู่ในตัวมากขนาดนั้นจริงหรือ แต่อย่าลืมว่าเรากำลังพูดถึงวรรณกรรมตะวันตก โดยเฉพาะงานเขียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักเท่านั้นนะครับ แล้วถ้าเราย้อนกลับไปในปลายศตวรรษที่ 19 ก็ต้องยอมรับว่างานเขียนที่มีอิทธิพลสูงยิ่งในโลกวรรณกรรม ก็คืองานเขียนของเหล่านักเขียนไอริชที่มีกลิ่นอาย ‘ไม่แมน’ สักเท่าไร โดยเฉพาะงานเขียนของออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) ที่ใครๆ (ในปัจจุบัน) ก็คงรู้ว่าเขามีเพศวิถีแบบไหน

แมทธิว อดัมส์ บอกว่าเฮมิงเวย์เกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้นี่แหละครับ เขาใส่สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนลงไปในงานวรรณกรรม จากการเล่นสำบัดสำนวน เชือดเฉือนกันเจ็บแสบตามขนบวรรณกรรมอังกฤษ เฮมิงเวย์นำเอาเลือด การสู้รบ การดวลกัน เซ็กซ์ การล่าสัตว์ และความตาย ใส่ลงไปในงานวรรณกรรม (แบบอเมริกัน) เขาประกาศก้องว่าจะไม่ใช้คำวิเศษณ์ (adverb) (ซึ่งในด้านหนึ่งถูกมองว่าเยิ่นเย้อยืดย้วย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีคนมองว่ามีลักษณะทางภาษาที่วิจิตรและ ‘เป็นหญิง’) แต่หันมาใช้การเปรียบเปรยใหญ่ๆ ด้วยคำง่ายๆ ตรงไปตรงมา

ออสการ์ ไวลด์ อาจบอกว่าศิลปะทั้งปวงเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ แต่เฮมิงเวย์นำเราเข้าสู่อีกเวทีหนึ่ง เขาบอกว่าศิลปะคือหน้าที่ และดังนั้น ศิลปะจึงจำเป็นจะต้อง ‘จริง’

แต่ ‘ความจริง’ เกี่ยวกับเพศสภาพของ ‘ปาป้า’ เล่า – มันเป็นอย่างไร?

2

คนจำนวนมากยกย่องเฮมิงเวย์ – ไม่ใช่แค่เพราะงานเขียนของเขา แต่เพราะ ‘ไลฟ์สไตล์’ หรือวิถีชีวิตของเขาที่ตระเวนผจญภัยไปทั่วทุกถิ่นที่ในโลก เฮมิงเวย์เผชิญมาแล้วตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามกลางเมืองสเปน สงครามโลกครั้งที่สอง คำร่ำลือว่าเขาเป็นจารชนและสายลับให้กับทั้งคิวบาและรัสเซีย หรือวิถีชีวิตที่ ‘แมน’ มากๆ อย่างการยิงนกตกปลาที่คีย์เวสต์กับแคริบเบียน

แต่กระนั้น นักวิจารณ์ชาวอเมริกันปากจัดจากมหาวิทยาลัยเยลอย่าง แฮโรลด์ บลูม (Harold Bloom) ก็บอกว่าเฮมิงเวย์นั้นเป็นได้แค่ A Minor Novelist with a Major Style พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ใช่นักเขียนนิยายที่ยิ่งใหญ่อะไรนักหนา แต่เป็น ‘สไตล์’ ในการใช้ชีวิตต่างหากที่ใหญ่โตจนทำให้คนอื่นๆ รู้สึกทึ่ง และคิดว่าเขาเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ไปด้วย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘ชีวิต’ ของเฮมิงเวย์นั้นมัน ‘ใหญ่’ (Outsize) กว่าตัวงานของเขาเอง!

ตลอดมา มีนักเขียนหลายคนลงมือค้นคว้าและเขียนประวัติชีวิตของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ คนแรกคือคาร์ลอส เบเกอร์ (Carlos Baker) ที่เขียนไว้ในปี 1968 เล่มนี้ถือว่าเป็นงานเขียนที่ยิ่งใหญ่เสียจนแทบไม่มีใครกล้าท้าชน หลังจากนั้นอีกเป็นสิบปีถึงมีงานเขียนชีวประวัติของเฮมิงเวย์โดยเคนเนธ ลินน์ (Kenneth Lynn), เจมส์ เมลโลว์ (James Mellow) แล้วก็ไมเคิล เรย์โนลด์ส (Michael Reynolds) ซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด

จริงอยู่ มีหนังสือเกี่ยวกับเฮมิงเวย์ที่ผู้หญิงเขียนอยู่บ้าง เช่น The Hemingway Women ของเบอร์นิซ เคิร์ต (Bernice Kert) หรือ Hemingway’s Genders ของแนนซี คอมลีย์ (Nancy Comley) แต่ก็ไม่ใช่หนังสือชีวประวัติของเฮมิงเวย์โดยตรง

จนกระทั่งมาถึงเล่มนี้ เล่มที่มีชื่อว่า Ernest Hemingway: A Biography เขียนโดยแมรี เดียร์บอร์น (Mary Dearborn) ที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 จึงถือได้ว่าเป็น ‘ประวัติเฮมิงเวย์’ ที่เขียนโดยผู้หญิง – เป็นเล่มแรก

แมรี เดียร์บอร์น ใช้เอกสารที่หลายคนไม่เคยใช้มาก่อน นั่นคือเอกสารของแม่ของเฮมิงเวย์ ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเท็กซัสเป็นผู้เก็บรักษาเอาไว้ เธอใช้เอกสารเก่าๆ เหล่านี้เพื่อสำรวจดูว่าอะไรทำให้เฮมิงเวย์เป็นอย่างที่เขาเป็น ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็ทำให้โลกวรรณกรรมต้องตกละลึงไปไม่น้อยเลยทีเดียว

โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ‘ตัวตน’ และ ‘เพศสภาพ’ ของเฮมิงเวย์

3

เดียร์บอร์นเริ่มต้นตั้งแต่เฮมิงเวย์ยังเด็ก พ่อของเฮมิงเวย์เป็นหมอชาวเพียวริแทน แต่คนที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในวัยเด็กของเฮมิงเวย์ก็คือแม่

แม่ของเฮมิงเวย์เป็นผู้หญิงที่ชอบควบคุมอย่างเข้มงวดและแปลกประหลาด ไม่ใช่ในเซนส์ของแม่ที่อ่อนหวานอยากดูแลลูกนะครับ แต่แม่ของเฮมิงเวย์นั้นจะอุ้มเฮมิงเวย์ไว้ในอ้อมแขนมือหนึ่ง แล้วอีกมือก็ควงปืนพกไปด้วย เธอบอกว่าเฮมิงเวย์นั้นชอบนอนซบบ่าแม่เวลาที่แม่ลั่นไกปืน

ในหนังสือ Hemingway Adventure ของไมเคิล พาลิน (Michael Palin) เขาเปิดเรื่องด้วยรูปของเฮมิงเวย์วัยทารกที่ดูเหมือนเด็กผู้หญิงเอามากๆ เดียร์บอร์นก็บอกแบบเดียวกันครับ ว่าในตอนนั้น แม่ของเฮมิงเวย์จะแต่งตัวให้เขากับพี่สาว (ซึ่งแก่กว่า 18 เดือน) เป็นเหมือนฝาแฝดกัน คือถ้าแต่งเป็นชายก็เป็นชายทั้งคู่ ถ้าแต่งเป็นหญิงก็แต่งเป็นหญิงทั้งคู่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหญิงมากกว่า

ตรงนี้เองที่เดียร์บอร์นบอกว่าสำคัญ!

เดียร์บอร์นเคยเขียนประวัติของเฮนรี มิลเลอร์, นอร์แมน เมลเลอร์ และอีกหลายคนมาแล้วนะครับ เธอได้ปริญญาเอกด้านวรรณคดีเปรียบเทียบมาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย จึงได้รับการยอมรับนับถือในฝีไม้ลายมือและการค้นคว้าทางด้านวรรณกรรมอย่างยิ่ง แต่เมื่อมาถึงเรื่องของเฮมิงเวย์ เดียร์บอร์นกลับถูกบางคนวิจารณ์ว่าเธอเขียนถึงเฮมิงเวย์เพราะไม่ชอบ ‘ความเป็นผู้ชาย’ ของเขา บางคนถึงขั้นบอกว่า – เธอเขียนประวัติของเขาอย่างมีอคติ

ตัวอย่างของสิ่งที่เธอถูกกล่าวหาว่ามีอคติต่อเฮมิงเวย์ก็เช่น เธอบอกว่าเมื่อไปอยู่ในปารีสและเริ่มได้รับการยอมรับนับถือ เฮมิงเวย์ไม่ได้โด่งดังขึ้นมาด้วยงานเขียน แต่เขาโด่งดังด้วย ‘หน้าตา’ (เฮมิงเวย์เป็นคนหน้าตาดี) และ ‘เรื่องเล่า’ ต่างๆ (ที่เฮมิงเวย์เป็นคนเล่าเอง) ตัวอย่างเช่น เขาเคยเล่าว่าเคยไปจับนกพิราบในสวนลุกเซมบูร์กเอามาทำอาหารค่ำ เพราะตอนไปอยู่ปารีสใหม่ๆ เขายากจนมาก เดียร์บอร์นบอกว่านี่เป็นหนึ่งใน ‘เรื่องเล่า’ ที่มีสีสัน แต่ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นจริง เพราะเฮมิงเวย์ไม่ได้ยากจนหรือหิวโหยขนาดนั้น เธอเหน็บด้วยว่าไม่มีใครที่ ‘หิว’ มากไปกว่านักเขียนหนุ่มที่กระหายจะมีชื่อเสียงหรอก มันคือความหิวที่มากยิ่งกว่าความอดอยากจริงๆ เสียอีก ซึ่งก็ทำให้เดียร์บอร์นถูกโจมตีกลับ เพราะเอาเข้าจริง นักคิดนักเขียนในกรุงปารีสตอนนั้นหลายคนคบค้าสมาคมกับเฮมิงเวย์ ไม่ใช่แค่เพราะหน้าตาหรือความที่เขาเข้ากับคนได้ดีเท่านั้นหรอก

เขามีฝีมือในการเขียนด้วย

เดียร์บอร์นอาจจะโจมตีเฮมิงเวย์ว่าด้วยงานเขียนและชีวิตของเขาตรงนั้นตรงนี้ และเธอก็ถูกโต้กลับโดยนักเขียนจำนวนหนึ่งตรงนั้นตรงนี้ แต่เรื่องเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่ผมอยากเล่าให้คุณฟังหรอกนะครับ สิ่งที่อยากเล่าให้คุณฟัง ก็คือการวิเคราะห์เรื่องเพศของเดียร์บอร์นต่างหาก

เดียร์บอร์นบอกว่าหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องประหลาดๆ ทางเพศของเฮมิงเวย์เริ่มขึ้นในราวยุค 40s แต่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในบันทึกชีวิตจริงที่ไหนหรอกนะครับ เดียร์บอร์นวิเคราะห์โดยดูจากนิยายเรื่อง The Garden of Eden ของเฮมิงเวย์ (ซึ่งเป็นนิยายที่ไม่ได้ตีพิมพ์เป็นเล่มในช่วงชีวิตของเขา แต่ตีพิมพ์หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้วหลายสิบปี) แล้วนำไปทาบเทียบกับช่วงชีวิตที่เกิดขึ้นจริง

เธอพบว่าเรื่องราวใน The Garden of Eden เป็นเรื่องที่พ้องพานกับเหตุการณ์จริงในชีวิตของเฮมิงเวย์ เมื่อเขาแต่งงานกับภรรยาคนที่สอง คือพอลลีน ไฟฟ์เฟอร์

เป็นในตอนนั้นเอง ที่เฮมิงเวย์ยืนยันให้ผู้หญิงในชีวิตของตัวเองต้องตัดผมสั้น แล้วเขาก็จะย้อมสีผมของตัวเองให้เหมือนกับสีผมของภรรยาด้วย (ทั้งคู่ย้อมผมเป็นสีบลอนด์เหมือนกัน) เพราะฉะนั้น ถ้ามองเผินๆ เร็วๆ จึงแยกได้ยากว่าใครคือเฮมิงเวย์ ใครคือไฟฟ์เฟอร์กันแน่ ทำให้เกิดลักษณะ ‘เพศไหนไม่รู้’ (Androgyny) ขึ้นมากับคู่แต่งงานใหม่นี้ เดียร์บอร์นบอกว่าเฮมิงเวย์ชอบเขียนคำเรียกเฉดสีบลอนด์ต่างๆ มาก เช่น Pale Gold, Deep Gold, Ash blond ฯลฯ เธอบอกว่าแค่ได้เขียนชื่อเฉดสีผม ก็ทำให้เขาตื่นเต้นแล้ว และมันเป็นความตื่นเต้นในเชิงอีโรติก

ในนิยายเรื่อง The Garden of Eden ตัวละครที่เป็นคู่สามีภรรยาก็ย้อมผมเหมือนกัน แล้วก็มีลักษณะที่เรียกว่า ‘เลื่อนไหลทางเพศ’ คือดูไม่ออกว่าใครเป็นชายใครเป็นหญิง คล้ายๆ กับในชีวิตจริงตอนนั้นของเฮมิงเวย์ เพียงแต่ในนิยายจะเข้มข้นจริงจังกว่ามาก – โดยเฉพาะฉากบนเตียง

ตัวละครเอกในนิยายชื่อ เดวิด บอร์น (David Bourne) เขาเป็นนักเขียน เฮมิงเวย์เขียนให้ตัวละครนี้ เวลาร่วมหลับนอนกับภรรยา จะเป็นฝ่ายที่ถูกภรรยาใช้ดิลโดหรืออวัยวะเพศเทียมมาเป็น ‘ฝ่ายกระทำ’ ทางเวจมรรค โดยภรรยาจะเป็นคนที่ ‘อยู่ข้างบน’ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีการสลับบทบาททางเพศระหว่างหญิงชาย ไม่ใช่ในเรื่องทั่วๆ ไป แต่คือเรื่องบนเตียงกันเลยทีเดียว

ที่จริงเรื่องนี้น่าจะเป็นที่ฮือฮามากตอนที่นิยายออกวางตลาดในปี 1986 แต่นักวิจารณ์จำนวนมากเลือกที่จะ ‘มองข้าม’ ส่วนนี้ไป โดยพากันไปวิเคราะห์เรื่องการตัดผมที่ทำให้เกิดลักษณะ ‘ข้ามเพศ’ กันมากกว่า ทั้งที่จริงๆ แล้ว เรื่องสำคัญอยู่ตรงการร่วมเพศทางเวจมรรค (Anality) โดยการย้อมสีผมทั้งหลายแหล่เหล่านั้น – เป็นแค่การเตรียมการเข้าสู่เรื่องนี้เท่านั้นเอง

4

ที่ผมหยิบเรื่องราวของเฮมิงเวย์ขึ้นมาเล่าให้ฟังในตอนนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะบอกว่าเพศสภาพของ ‘ปาป้า’ ของเรา ‘ต้อง’ เป็นอย่างโน้นอย่างนี้หรอกนะครับ แต่เรื่องของเรื่องก็คือ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ถ้าใครอยากให้เฮมิงเวย์ ‘แมน’ ก็จะหาหลักฐานมายืนยันขันแข็งว่าเฮมิงเวย์มีความแมนสุดลิ่มทิ่มประตู แม้แต่การฆ่าตัวตายของเขาก็ไม่ใช่เรื่องอ่อนแอ แต่เป็นเรื่องที่แสดงความเข้มแข็ง ในขณะที่ก็จะมีฝ่ายตรงข้ามที่เห็นว่าเฮมิงเวย์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ด้วยการพยายามผลักเฮมิงเวย์ให้เป็นเกย์ที่แอบซ่อนตัวเองอยู่ภายใต้ความแมนจัด (ตัวอย่างเช่น แนนซี คอมลีย์ ที่เขียน Hemingway’s Genders)

แต่เดียร์บอร์นกำลังพยายามบอกเราว่าเรื่อง ‘เพศสภาพ’ มันซับซ้อนกว่านั้น!

เอาเข้าจริง เฮมิงเวย์อาจไม่ได้เป็นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งสุดขั้วเหมือนกับที่คนอื่นอยากให้เป็นก็ได้ เธอวิเคราะห์ว่าการแต่งตัวข้ามเพศไปมาที่แม่ทำกับเขาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเด็ก น่าจะก่อให้เกิดสภาวะทางเพศที่เธอเรียกว่า Gender Fluidity หรือ ‘ความเลื่อนไหลในเพศสภาพ’ กับเฮมิงเวย์ เป็นสภาวะที่เกิดขึ้น ‘ลึก’ อยู่ภายใน ซึ่งต่อมาเขาก็นำมาใช้กับวิถีทางเพศของตัวเอง เช่น การย้อมผม (และ/หรือการร่วมเพศ – ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่อาจรู้แน่ชัด – นอกจากที่เขาเมตตาสะท้อนให้เราเห็นผ่านทางเรื่องแต่ง) ที่ทำให้เกิดการเลือนของเส้นแบ่งระหว่างเพศ ระหว่างตัวเขากับภรรยา

เอาเข้าจริง เฮมิงเวย์ก็เหมือนมนุษย์คนอื่นๆ ในหนึ่งชีวิตนี้ หากนำทุกอย่างมากองรวมกัน มันจะใหญ่โตมโหฬาร (Colossal) มาก เรื่องเพศเป็นเพียงก้อนอิฐเล็กๆ ก้อนหนึ่งในเรื่องมหึมาเหล่านั้นเท่านั้น และแม้เรื่องนี้อาจทำให้เขาเกิดความไม่มั่นคง (Insecurity) ในความเป็นชายของตัวเองขึ้นมา จนมีคนวิเคราะห์ย้อนกลับไปว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขารู้สึกชิงชังแม่ของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้แปลว่า – การพยายามยืนยันว่าเฮมิงเวย์ต้องเป็นแบบไหนในทางเพศ จะทำให้เขาต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ตามไปด้วยโดยง่าย

คุณูปการของเดียร์บอร์นจึงไม่ใช่การโจมตีหรือเปิดโปงเฮมิงเวย์อย่างที่หลายคนคิด แต่คือการแสดงให้เราเห็นอย่างชัดแจ้งว่า แม้กระทั่งมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ ถูกยกย่องว่าเป็น ‘ปาป้า’ แห่งโลกวรรณกรรม เป็น Macho Face แห่งศตวรรษที่ 20 ก็ยังมีความลื่นไหลทางเพศ (Gender Fluidity) เป็นสมบัติ

และมันซับซ้อนกว่าที่เราคิดมากนัก!

Tags: , , ,