เมื่อวันหยุดยาวเดินทางมาถึง พร้อมกับบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง บางคนเดินทางไกลไปต่างประเทศเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ การพบเพื่อนใหม่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย อาจทำให้เราพบเป้าหมายอะไรใหม่ๆ ในชีวิตก็ได้ และถ้าไปถึงต่างถิ่นแดนไกลแล้วล่ะก็ สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึกถึงก็คงจะต้องเป็นที่พัก ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมทั่วๆ ไปหรือบ้านพักอย่าง Airbnb

ก่อนที่จะเข้าพักที่ไหนสักแห่ง แต่ละคนตรวจสอบข้อมูลอะไรกันบ้าง เพราะบางคนก็มีสิ่งที่อาจจะทำให้เป็นกังวลต่างๆ กันไป เช่น เคยมีเหตุร้ายอะไรไหม ขึ้นชื่อว่าผีดุหรือเปล่า การเดินทางสะดวกแค่ไหน บริการเป็นอย่างไร ห้องเรียบร้อยหรือเปล่า และอื่นๆ อีกมากมาย ตามที่แต่ละคนจะนึกได้

โรงแรมนับเป็นสถานที่หนึ่งที่มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในแต่ละวัน บ่อยครั้งเราจึงได้ดูภาพยนตร์ที่ผู้กำกับเลือกจะให้เรื่องราวเหล่านั้นดำเนินไปในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้า แล้วเราก็จะได้เห็นมุมมองบางอย่างที่อาจค้นพบได้จากแค่ในสถานที่แห่งนี้เท่านั้น สัปดาห์นี้เราขอชวนมาดู 5 ภาพยนตร์โรงแรมที่เต็มไปด้วยความสัมพันธ์หลายรูปแบบและเหตุการณ์หลากประเภท ทั้งความรัก อาชญากรรม ระทึกขวัญ และดราม่า ไม่แน่ว่าการไปพักผ่อนนอกบ้านคราวต่อไปของคุณอาจเปลี่ยนไปอย่างไม่คาดฝัน

Lost in Translation (2003)

ในโลกใบใหญ่ ในถิ่นแปลกหน้า เราคล้ายเหลือเพียงตัวคนเดียวในโลกใบนี้ ยิ่งอยู่ในดินแดนที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาตัวเองกับบุคคลอื่นได้ เรายิ่งเคว้งคว้างและคล้ายหลงทาง Lost in Translation ภาพยนตร์ที่หลายคนคงคุ้นหูกันดี เพราะเป็นหนึ่งในภาพยนตร์คนเหงาที่ได้รับการพูดถึงบ่อยที่สุด ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดยโซเฟีย คอปโปล่า สร้างด้วยงบประมาณ 4 ล้านเหรียญ แต่ทำรายได้ไปถึง 119 ล้านเหรียญ ทั้งยังได้รับรางวัลออสการ์ สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม มาครองด้วย

เรื่องราวของคนสองคนที่โคจรมาพบกันเพราะความเดียวดายและอ่อนล้า หนึ่งคือ บ็อบ แฮริส นักแสดงอเมริกันที่มาถ่ายทำโฆษณาไกลถึงประเทศญี่ปุ่น เขากำลังหมดไฟในการทำงานและเผชิญหน้ากับวิกฤตวัยกลางคน และสอง ชาล็อตต์ บัณฑิตสาวที่ติดตามจอห์น สามีช่างภาพที่ได้รับมอบหมายให้มาทำงานในโตเกียว แต่การมาในครั้งนี้ทำให้เธอเริ่มตระหนักถึงอนาคตในชีวิตคู่ของตัวเองมากขึ้น เพราะวิถีชีวิตของพวกเขานั้นช่างห่างไกลกัน และจอห์นก็แทบไม่มีเวลาให้เธอเลย

ในแต่ละวันบ็อบกับชาล็อตต์พบกันที่โรงแรม จนในที่สุดก็พบกันที่บาร์ของโรงแรมในคืนหนึ่ง ทั้งสองเริ่มพูดคุยกัน แล้วมิตรภาพก็ก่อตัวอย่างรวดเร็ว เพราะต่างคนต่างรู้สึกแปลกแยกกับสถานที่และสภาพแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง ความอ้างว้างของพวกเขาดูจะประสานกันได้เป็นอย่างดี ในเวลาต่อๆ มาบ็อบและชาล็อตต์จึงใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ท่ามกลางเมืองใหญ่ที่ผู้คนขวักไขว่ดูจะมีแค่พวกเขาเท่านั้นที่เข้าใจกันได้

โซเฟียทำให้เห็นว่านอกจากทั้งสองจะหลงทางการสื่อสารแล้ว พวกเขายังหลงทางในชีวิตและความสัมพันธ์ของตัวเองอีกด้วย เมื่อคนข้างๆ มีแค่ตัวตน แต่ไม่มีความรู้สึกดีต่อกัน มันจึงรังแต่จะสร้างความเจ็บปวด แล้วมันก็กัดกินพวกเขาช้าๆ จากข้างใน จนนำมาซึ่งคำถามที่ว่า “ตอนนี้ฉันทำอะไรอยู่ ฉันมาทำอะไรที่นี่ และที่ไหนคือที่ของฉันกันแน่” บางครั้งเราก็ตั้งคำถามแบบนั้นกับตัวเองเช่นกัน

 

Somewhere (2010)

อีกหนึ่งผลงานจากผู้กำกับหญิง โซเฟีย คอปโปล่า ภาพยนตร์ Somewhere ส่งให้เธอกลายเป็นผู้กำกับหญิงอเมริกันคนแรกที่คว้าสิงโตทองคำ ในเทศกาลภาพยนตร์เวนิซครั้งที่ 67 โซเฟียเคยได้ใช้เวลาอยู่ในโรงแรมเป็นส่วนใหญ่ในยามที่ติดตามคุณพ่อ (ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา) ไปยังสถานที่ต่างๆ และในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังมีโรงแรมที่เธอเคยได้พักอยู่จริงๆ ด้วย

Somewhere เป็นเรื่องของจอห์นนี่ มาร์โค นักแสดงชายชื่อดัง ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในโรงแรม ชาร์โต้ มาร์มอนท์ ย่านฮอลลีวูด เขาใช้ชีวิตกินหรูอยู่สบาย แวดล้อมไปด้วยผู้หญิงมากหน้าหลายตา การพนัน และเหล้ายา มาร์โคสังสรรค์ให้ชีวิตผ่านไปแต่ละวัน และไม่นานมานี้ เขาก็ไม่ได้รู้สึกถึงความหมายในชีวิตเท่าไร จนกระทั่งการปรากฎตัวอย่างไม่คิดฝันของคลีโอ ลูกสาววัย 11 ขวบ ที่ต้องมาใช้ชีวิตกับเขาเป็นระยะเวลาหนึ่ง คลีโอใช้ชีวิตไปตามวิถีของพ่อ แต่ทีละน้อย เธอเข้าไปเปลี่ยนแปลงเขาด้วยเช่นกัน พวกเขาใช้เวลาด้วยกันในห้องสวีทของโรงแรม เดินทางไประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ที่มาร์โคเล่น พบเพื่อนๆ ของเขา นี่เองที่ทำให้มาร์โคพบบางสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตด้วยอีกชีวิตตัวเล็กๆ ของเขา

โซเฟียเล่าภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดของความรู้สึก ความสัมพันธ์ของทั้งสองตัวละครที่ดำเนินไปจะทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงภายในของมาร์โคอย่างเห็นได้ชัด ความจริงแล้วตัว มาร์โคมีส่วนคล้ายชาล็อตต์เป็นอย่างมาก เขาแปลกแยกกับสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอยู่ มีความโดดเดี่ยว และอยู่บนรอยต่อที่ก้ำกึ่งทางความรู้สึก แล้วการปรากฎตัวของคนๆ หนึ่งก็ช่วยให้เขาได้เข้าใกล้ตัวเองอีกครั้ง แม้ทั้งสองเรื่องจะเล่าจากในมุมที่ต่างกัน แต่ก็มีความเหมือนอยู่สูงมากทีเดียว

 

The Grand Budapest Hotel (2014)

เมื่อเอ่ยถึงภาพยนตร์โรงแรม เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องแรกที่คนนึกถึงขึ้นมาในใจเลยก็ว่าได้ สำหรับ The Grand Budapest Hotel ผลงานของเวส แอนเดอร์สัน ผู้กำกับที่มีลายเซ็นเฉพาะตัวอย่างเด่นชัด มันมีทั้งความยียวน สีสันสดใส ความสมมาตรที่ขาดไม่ได้ และความสัมพันธ์เชิงครอบครัวที่เห็นได้บ่อยครั้ง

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในโรงแรมนี้จึงเต็มไปด้วยตัวละครมากมาย และแต่ละคนก็มากฝีมือด้วยกันทั้งสิ้น อาทิ เรล์ฟ ไฟนส์, บิล เมอร์เรย์, ทิลดา สวินตัน, เจฟฟ์ โกลด์บลุม, วิลเลม เดโฟ และเซอร์ชา โรแนน ภาพยนตร์เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 9 สาขา โดยคว้ามาได้ถึง 4รางวัล

ภาพยนตร์เริ่มต้นจากการเล่าย้อนลงไปเรื่อยๆ เป็นชั้นๆ โดยเริ่มจากหนังสือเล่มหนึ่งที่มีหน้าปกเป็นโรงแรม จากหนังสือย้อนไปหานักเขียน จากนักเขียนย้อนไปหาชายชราเจ้าของโรงแรม และจากชายชราคนนี้กลับไปยังจุดเริ่มความเป็นมาของโรงแรม

ในอดีตโรงแรมแห่งนี้เคยรุ่งโรจน์อย่างมาก  และมีผู้จัดการโรงแรมอย่าง กุสตาฟ ซึ่งคอยดูแลแขกเหรื่อเป็นอย่างดี แต่ความพลิกผันก็มาสู่ชีวิตเขา เมื่อมาดามดี คนที่เขามีความสัมพันธ์ด้วยตายลง และมอบมรดกชิ้นหนึ่งให้ กุสตาฟจึงถูกใส่ร้ายป้ายสีจากครอบครัวของเธอว่าเขาเป็นคนสังหารมาดามดีให้ตายลง ความปั่นป่วนจึงก่อตัว กุสตาฟต้องหาทางเอาตัวรอด โดยมีซีโร่ หนุ่มพนักงานโรงแรมเป็นคนคอยช่วยเหลือ และซีโร่นี่เองที่กลายมาเป็นเจ้าของโรงแรมคนปัจจุบัน!

ภาพยนตร์คงความเป็นเวสไว้อย่างครบถ้วน ยังมีอารมณ์ขันอันคมคายที่มาพร้อมกับความเศร้าทรงเสน่ห์ ยั่วล้อไปกับความจริงอันโหดร้าย แต่ทำออกมาได้ในแบบที่เรียกรอยยิ้ม

 

The Lobster (2015)

The Lobster ภาพยนตร์ของใครไร้คู่ที่ไปไกลกว่าเรื่องความรัก ผลงานของยอร์กอส ลานธิมอส ผู้กำกับที่ส่งผลงานอันลื่อลั่นมาก่อนหน้านี้ด้วย Dogtooth (2009) และ Alpeis (2011) โดย The Lobster นับเป็นเรื่องแรกที่เป็นภาพยนตร์ภาษาอังกฤษ และยอร์กอสก็ได้ทำงานกับเอฟธิมิส ฟิลิปปู นักเขียนบทคู่ใจอีกครั้ง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 โลกที่แตกต่างกัน โดยแบ่งจากสถานะความโสด คนไม่มีคู่เป็นเหมือนพลเมืองชั้นสอง ที่ต้องถูกกำจัดไป ไม่มีที่ยืนสำหรับคนที่อยู่เพียงลำพัง เพราะสังคมยอมรับแต่คนที่มีคู่ครองเท่านั้น

The Lobster พาเราเดินทางไปสู่โรงแรมแห่งหนึ่ง มันเป็นโรงแรมที่คนโสดมารวมตัวกันเพื่อหาคู่ เพราะนับเป็นเรื่องผิดกฎหมายหากคุณไม่มีคู่ครอง ในสถานที่แห่งนี้คุณต้องทำตามกฎระเบียบที่ได้ตั้งไว้ และพยายามหาคู่ให้ได้ภายใน 45 วัน ก่อนที่คุณจะกลายเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เลือกไว้เมื่อเส้นตายมาถึง ด้วยเหตุนี้เอง เดวิดจึงปรากฎตัวในที่แห่งนี้

ฟังดูแล้วมันน่าจะโรแมนติก เพราะที่นี่มีแต่คนที่ต้องการคนรัก แต่คนรักกับความรักก็ดูจะเป็นคนละเรื่องกัน เราเพียงหาคู่เพื่อต้องการมีชีวิตรอดเท่านั้น นี่จึงไม่ต่างอะไรกับโลกที่ไร้ความรู้สึก ทุกอย่างฉาบฉวยและเต็มไปด้วยเรื่องหลอกลวง เมื่อทนไม่ได้เดวิดจึงหนีเข้าป่า และพบกับโลกอีกใบที่ไม่บังคับให้ต้องมีคู่รัก แต่การแสดงออกถึงความรักเชิงชู้สาวจะต้องถูกทำโทษ

ไม่มีที่ไหนเลยที่เราจะใช้ชีวิตได้อย่างใจคิด จนสุดท้ายเขาก็หลงรักสาวสายตาสั้นจากกลุ่มคนไร้คู่ และไม่รู้ว่าทางออกของเรื่องราวเหล่านี้เป็นเช่นไร

แน่นอนว่าเนื้อหานั้นตั้งอยู่บนความสัมพันธ์เชิงคู่รัก แต่จริงๆ แล้วมันมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ใหญ่ไปกว่านั้น ภาพยนตร์จึงตั้งคำถามให้กับผู้ชมในหลายๆ เรื่อง ซึ่งทำให้ได้คิดตาม และตอบกับตัวเองได้ว่าในสิ่งที่เราเลือกได้ เราต้องการอะไร และในสิ่งที่เราเลือกไม่ได้ เราจะประนีประนอมกับมันอย่างไร

 

Hotel Artemis (2018)

โรงแรมเก่าๆ แห่งนี้มีอะไร? Hotel Artemis เป็นผลงานการกำกับเรื่องแรกของ ดรูว์ เพียรซ์ ผู้อยู่เบื้องหลังด้านการเขียนบทใน Iron Man 3 (2013) และ Mission: Impossible – Rogue Nation (2015) ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการรวมตัวนักแสดงแถวหน้าไว้มากมาย อาทิ โจดี้ ฟอสเตอร์, สเตอร์ลิง เค. บราวน์, โซเฟีย บูเทลลา และเจฟฟ์ โกลด์บลุม

ในปี 2028 สหรัฐอเมริกาตกอยู่ในความวุ่นวาย และลอสแองเจลิสก็เผชิญหน้ากับเหตุจราจลกลางเมือง จนความปั่นป่วนเล็กๆ นี้ได้เล็ดลอดเข้าไปในโรงแรมแห่งหนึ่ง โรงแรมที่ดูภายนอกแล้วเหมือนไม่มีอะไร แต่ความจริงแล้ว ที่นี่เป็นสถานพยาบาลของเหล่าอาชญากรที่เป็นสมาชิกอีกด้วย

กฎของโฮเทลอาร์ทิมิสนั้นเข้มงวด และทุกคนต้องเคารพมันอย่างเคร่งครัด “ห้ามพกอาวุธ, ไม่รับบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิก และห้ามฆ่าแขกคนอื่นๆ” สถานที่แห่งนี้ดูแลโดยจีน โธมัส หรือที่ทุกคนเรียกว่านางพยาบาล แต่สัจจะในหมู่โจรจะมั่นคงได้แค่ไหนกัน เมื่อไนแองการ่าต้องเข้ามารักษาตัว และคนที่ต้องการชีวิตเขาก็มีมากมายเหลือเกิน การต่อสู้และเอาชีวิตรอดจึงเกิดขึ้นภายในโรงแรมอันสงบสุขแห่งนี้

ความจริงภาพยนตร์สามารถไปได้ไกลกว่านี้ ทั้งด้วยพล็อตและตัวละคร มันน่าจะตื่นตาตื่นใจได้อีก ไม่ว่าจะบทดรามา หรือฉากแอ็คชัน ทำให้โดยรวมออกมาแล้ว อาจจะด้อยไปกว่าภาพยนตร์ที่มีความคล้ายกันอย่าง John Wick (2014) อยู่บ้าง แต่ทั้งนี้ภาพยนตร์ก็สนุกและตลกร้ายอยู่ในตัว นักแสดงสามารถรับบทของตัวเองได้อย่างอยู่หมัด จึงทำให้ภาพยนตร์มีสีสันขึ้นมาบ้าง

Tags: , , ,