ในช่วงที่ผ่านมา กฎหมายการทำแท้งที่เป็นประเด็นถกเถียงอย่างร้อนแรงในสหรัฐอเมริกา หลายรัฐเริ่มเปลี่ยนกฎหมายเป็นห้ามทำแท้ง มีรายงานว่าระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 20 พฤษภาคม 2019 มีความพยายามแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำแท้งรวม 378 ฉบับ จาก 50 รัฐ

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน เว็บไซต์ข่าวเดอะการ์เดียนของอังกฤษตัดสินใจปรับภาษาที่ใช้รายงานข่าวการทำแท้งใหม่ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้กองบรรณาธิการไม่นำเสนอข่าวที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดทางการแพทย์

ในการปรับเปลี่ยนแนวทางรายงานข่าวกฎหมายการทำแท้ง เดอะการ์เดียนอิงกับสมาคมสูตินรีแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสมาชิกเป็นแพทย์ 58,000 คน สมาคมฯ ให้ความเห็นว่า คำว่า ‘ร่างกฎหมายชีพจรทารกในครรภ์’ (heartbeat bill) ไม่ถูกต้องทางการแพทย์

เดอะการ์เดียนเห็นว่าคำที่ใช้อ้างกันไม่เป็นวิทยาศาสตร์  “เราต้องการหลีกเลี่ยงความไม่ถูกต้องทางการแพทย์ ใช้ภาษาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ในการรายงานข่าวสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง” จอห์น มัลฮอลแลนด์ บรรณาธิการบริหารของเดอะการ์เดียน สหรัฐอเมริกากล่าว  “การต่อต้านทำแท้งเป็นเหตุผลตามอำเภอใจ ไม่ได้สะท้อนพัฒนาการของทารกในครรภ์ และภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาที่มีแรงผลักดันทางการเมือง ไม่ใช่วิทยาศาสตร์”

คู่มือการรายงานข่าวฉบับปรับปรุงใหม่นี้จะใช้คำว่า ‘ต่อต้านการทำแท้ง’ (anti-abortion) แทน ‘ปกป้องชีวิตทารก’ (pro-life) และคำว่า ’ปกป้องการเลือกของผู้หญิง’ (pro-choice) แทนคำว่า ‘ปกป้องการทำแท้ง’ (pro-abortion) เพราะว่าไม่ใช่ทุกคนที่สนับสนุนสิทธิผู้หญิงด้านอนามัยเจริญพันธุ์จะสนับสนุนการทำแท้งในระดับปัจเจก

นอกจากนี้ กองบรรณาธิการและนักข่าวจะใช้คำว่า ‘การห้ามทำแท้งเมื่อครรภ์อายุ 6 สัปดาห์’ (six-week abortion ban) แทน ‘ร่างกฎหมายชีพจรของทารกในครรภ์’ (fetal heartbeat bill) ถ้าไม่ใช่การรายงานคำพูดตามตัวอักษรของผู้พูด

“การตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์เป็นภาวะต่อเนื่อง” นายแพทย์ เท็ด แอนเดอร์สัน ประธานสมาคมฯ กล่าว “สิ่งที่ถูกตีความว่าเป็นการเต้นของชีพจรในร่างกฎหมายเหล่านี้ จริงๆ แล้วเป็นแค่การสั่นจากการเหนี่ยวนำไฟฟ้าของเนื้อเยื่อส่วนหนึ่งของทารกในครรภ์ ที่จะกลายเป็นหัวใจตอนที่ตัวอ่อนของมนุษย์พัฒนา

แพทย์บางคนที่คัดค้านการห้ามทำแท้งกล่าวว่า คำที่ใช้กันเป็นแทคติกทางการเมืองเพื่อให้กฎหมายห้ามทำแท้งได้รับการสนับสนุน โดยบอกว่า กฎหมายเหล่านี้นำเสนอความคิดที่ว่า มีสิ่งที่เหมือนกับคุณ หรือเหมือนกับคนที่เดินบนถนน ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นทารกได้ “แต่ในความเป็นจริงก็คือ คุณกำลังพูดถึงสิ่งที่เล็กขนาดมิลลิเมตร และดูไม่เหมือนเด็กทารกเลย” เจน กันเตอร์ สูตินรีแพทย์ในแคนาดากล่าว

อนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ เดอะการ์เดียนก็เพิ่งเปลี่ยนคำศัพท์ที่ใช้ในข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยหวังว่าภาษาที่ใช้จะทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงสถานการณ์เร่งด่วนที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ โดยแทนที่จะใช้คำว่า ‘ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง’ (climate change) ก็เปลี่ยนมาเป็น ‘ภูมิอากาศในภาวะฉุกเฉิน’ (climate emergency) ‘วิกฤตภูมิอากาศ’ (climate crisis) หรือ ‘ภูมิอากาศที่ผิดปกติ’ (climate breakdown) แทน รวมทั้งเปลี่ยนจาก ‘โลกอุ่น’ (global warming) มาใช้คำว่า ‘โลกร้อน’ (global heating) แทนด้วย

ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2019/jun/07/abortion-the-guardian-style-guide

 

Tags: , , , , ,