ในช่วงปี 1930 อัลเฟรด เออร์วิง ฮัลโลเวลล์ (Alfred Irving Hallowell) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันได้ลงพื้นที่ศึกษาชาวอินเดียแดงเผ่าโอจิบเว (Ojibwe) บริเวณตอนเหนือของประเทศแคนาดา ระหว่างช่วงเวลาที่เขาลงพื้นที่ศึกษา ฮัลโลเวลล์ได้ผูกมิตรกับวิลเลียม เบเรนส์ (William Berens) หัวหน้าของชาวอินเดียแดง เบเรนส์เป็นชายที่เฉลียวฉลาด มีความรู้ในสิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของสัตว์ป่า สรรพคุณของต้นไม้ใบหญ้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของก้อนหิน’ 

ผ่านการสนทนาของทั้งคู่ฮัลโลเวลล์ได้เรียนรู้ว่า ในภาษาของชาวโอจิบเวนั้น ความหมายของก้อนหินคือสิ่งมีชีวิต’ (animate entity) ไม่ใช่วัตถุแข็งๆ นิ่งๆ ที่เคลื่อนไหวด้วยตัวเองไม่ได้อย่างที่เราเข้าใจก้อนหินทุกๆ ก้อนมีชีวิตหมดเลยเหรอ” ฮัลโลเวลล์ถามด้วยความสงสัย 

ไม่ทุกก้อนหรอก” เบเรนส์ว่าแค่หินบางก้อนเท่านั้นแหละ

เมื่อสัปดาห์ก่อน อยู่ๆ เพื่อนคนหนึ่งผมก็ชวนเข้ากลุ่มกลุ่มที่เราจะแกล้งเป็นนกพิราบกลุ่มใหญ่ในเฟซบุ๊ก แรกที่อ่านแค่ชื่อ ผมไม่เข้าใจว่าจุดประสงค์ของกลุ่มๆ นี้คืออะไร ทำไมต้องแกล้งเป็นนกพิราบ? แล้วนกพิราบมีความหมายอย่างไร? แต่ด้วยความสงสัย และอยากที่จะเข้าใจ ผมจึงกดส่งคำขอเข้าร่วมกลุ่มนี้ทันที

แค่เพียงไม่กี่นาที คำขอเข้าร่วมกลุ่มก็ได้รับการตอบรับ ผมอ่านคำบรรยายของกลุ่มที่เขียนว่าเราคือนกพิราบกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด! เพราะสัญลักษณ์ของนกพิราบ คือเสรีภาพที่กูจะทำอะไรก็ได้จึงเริ่มจะเข้าใจขึ้นมาหน่อยว่า ความหมายของนกพิราบของกลุ่มๆ นี้คืออะไร ตอนนั้นจำนวนสมาชิกกลุ่มในวันนั้นมีประมาณสามพันกว่าคน (ปัจจุบันกลุ่มนี้มีสมาชิกเกือบหนึ่งหมื่นคน) พอลองไปดูว่าพวกเขาคุยอะไรกัน ผมก็พบว่า สมาชิกในกลุ่มต่างสนทนากันเสมือนว่า พวกเขาเป็นนกพิราบจริงๆ เพราะไม่เพียงแต่พวกเขาจะลงท้ายคำพูดด้วยการเลียนเสียงนกพิราบ เช่นสวัสดี กรู๊วๆ” “ยินดีที่ได้รู้จัก วู้กๆแต่สมาชิกในกลุ่มยังเลียนแบบพฤติกรรมของนกพิราบผ่านการคอมเมนต์คำกริยา เช่นจิกๆ” “บินๆและขี้ๆ” 

ภายใต้ความพยายามเลียนแบบเสียงร้อง และพฤติกรรมของนกพิราบเช่นนี้ สำหรับผม จุดที่น่าสนใจที่สุดของกลุ่มๆ นี้คือ การที่สมาชิกต่างแกล้งเป็นนกพิราบจริงๆ ในความหมายที่ว่า พวกเขาจินตนาการถึงมุมมอง ความรู้สึกนึกคิด และทัศนคติของนกพิราบจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ คือ หากนกพิราบสามารถสื่อสารด้วยภาษาของมนุษย์ หรือหากมนุษย์สามารถเข้าใจภาษาของนกพิราบได้ ความรู้ และข้อมูลที่เราจะได้รับจากนกพิราบจะเป็นเรื่องอะไร

กลุ่มที่เราจะแกล้งเป็นนกพิราบกลุ่มใหญ่ไม่ใช่กลุ่มแรกของเฟซบุ๊คที่เชิญชวนให้ผู้คนมาร่วมกันแกล้งเป็นสิ่งมีชีวิตอื่น เพราะก่อนหน้าจะมีกลุ่มนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ต่างประเทศได้มีกลุ่มที่ชื่อว่ากลุ่มที่เราจะแกล้งเป็นฝูงมดในรังมด’ (A group where we all pretend to be ants in an ant colony) เกิดขึ้นก่อนแล้ว จุดประสงค์ของกลุ่มนี้คล้ายกับกลุ่มนกพิราบ นั่นคือ สมาชิกทุกคนต่างแกล้งเป็นมดตัวหนึ่งในรังมดขนาดใหญ่ ความน่าตกใจคือ ในวันที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ กลุ่มๆ นี้มีสมาชิกถึง 9 แสนคน! นั่นเท่ากับว่า กำลังมีผู้คนทั่วโลกเกือบหนึ่งล้านคนกำลังแกล้งเป็นมดกันอย่างขยันขันแข็ง กลุ่มๆ นี้มี ‘ANTmins’ โดยที่สมาชิกแต่ละคนต่างเลียนแบบการกระทำของมด เช่น LIFT (ยก) BITE (กัด) RUN (วิ่ง) โดยที่กฎข้อสำคัญของกลุ่มนี้คือ สมาชิกทุกคนต้องปกป้องราชินีมดสมาชิกทุกคนต้องแกล้งว่า ตัวเองเป็นมดงานที่ขยันขันแข็ง และพร้อมจะพิทักษ์นางพญาจากอันตรายต่างๆ และห้ามตั้งตนเป็นปฏิปักษ์โดยเด็ดขาด มดที่ดีคือมดที่ขยัน ส่วนนกพิราบที่ดีคือนกพิราบที่เชื่อว่า กูมีเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ 

คำถามคือ แล้วปรากฏการณ์ที่ผู้คนต่างพากันแกล้งเป็นมด แกล้งเป็นนกพิราบนี้ มันน่าสนใจตรงไหน?

ในหนังสือ Anthropology: why it matters ของ ทิม อิงโกลด์ (Tim Ingold) เขากล่าวว่า พื้นฐานสำคัญของมานุษยวิทยา คือการให้ความสำคัญกับผู้อื่นอย่างจริงจัง’ (taking others seriously) เพราะผ่านการให้ความสำคัญอย่างจริงๆ จังๆ จะนำมาซึ่งความท้าทายต่อความรู้ และข้อมูลต่างๆ ที่เรามี ต่อสมมติฐานเกี่ยวกับสรรพสิ่งรอบๆ ตัว และต่อโลกที่เราดำรงอยู่ 

ผมเชื่อว่า หลายๆ คน (รวมถึงตัวผมเองด้วย) หากอยู่ๆ มีใครสักคนมาบอกว่าก้อนหินคือสิ่งมีชีวิตหากไม่หลุดขำ  ก็คงคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะก้อนหินที่อยู่นิ่งๆ ไม่ขยับเขยื้อนจะเป็นสิ่งมีชีวิตไปได้อย่างไร ถ้าเช่นนั้น แปลว่าคำบอกเล่าของเบเรนส์เป็นเรื่องโกหกงั้นหรือ? เปล่าเลย เบเรนส์เล่าเรื่องก้อนหินด้วยความสัตย์จริง เขาไม่ได้โกหก และก้อนหินในภาษาของชาวโอจิบเวหมายถึงสิ่งมีชีวิตจริงๆ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันแต่อย่างใด 

ในวิชามานุษยวิทยา ความเข้าใจต่อสรรพสิ่งต่างๆ รอบตัวเช่นนี้เรียกว่า ‘animism’ (วิญญาณนิยม) นั่นคือการมองว่า สรรพสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่มนุษย์ แต่ยังรวมถึงสัตว์ พืช ผี และวัตถุต่างๆ ล้วนมีจิตวิญญาณ และมีความคิดเป็นของตัวเอง พูดอีกอย่างคือ โดยปกติแล้วเรามักจะเข้าใจว่า มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่คิด และให้ความหมายกับสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ แต่ animism กลับบอกว่า เปล่าเลย สรรพสิ่งอื่นๆ ต่างก็มีความสามารถที่จะคิด และให้ความหมายกับสิ่งต่างๆ รอบตัวเช่นกัน ในแง่นี้ หากเรามองว่า วัฒนธรรมถือกำเนิดจากความคิดของมนุษย์ นั่นย่อมจะเท่ากับว่า สรรพสิ่งอื่นๆ ที่มีความสามารถที่จะคิดก็ล้วนแล้วแต่มีวัฒนธรรมเช่นกัน

animism คือภววิทยา (Ontology) แบบหนึ่ง นั่นคือทฤษฎีเกี่ยวกับความจริง ภววิทยาแบบ animism มองว่า สรรพสิ่งต่างๆ ล้วนมีจิตวิญญาณ ไม่ใช่แค่มนุษย์ สัตว์ และต้นไม้ แต่ยังรวมถึงภูเขา แม่น้ำ และก้อนหิน สรรพสิ่งต่างๆ ไม่แตกต่างกัน และล้วนมีความรู้สึกนึกคิด รักได้ ชอบได้ เกลียดได้ ในแง่นี้ สรรพสิ่งต่างๆ จึงล้วนต้องการที่จะถูกปฏิบัติด้วยความเคารพ หากถูกล่วงเกินก็มักจะมีอารมณ์โกรธ และเป็นเหตุให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ได้ โดยที่เมื่อเกิดเภทภัยต่างๆ ขึ้น มนุษย์จึงจำเป็นต้องนำสิ่งของต่างๆ มากราบไหว้ขอขมา 

ความสำคัญของภววิทยาแบบ animism จึงคือการเปิดเผยให้เห็นความจริงอื่นๆ บนโลกใบนี้ และท้าทายต่อแนวคิดในยุคปัจจุบันที่มองว่า วิทยาศาสตร์คือความจริงเพียงหนึ่งเดียวของโลก ภววิทยาแบบ animisim สั่นคลอนความคิดที่ว่า มนุษย์คือองค์ประธานเดียวของความรู้ และความจริง นั่นเพราะภายใต้ภววิทยา animism สรรพสิ่งต่างๆ กับมนุษย์ไม่ได้มีสถานะที่แตกต่างกันแต่อย่างใด  นี่เองจึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไม เบเรนส์จึงบอกฮัลโลเวลล์ว่า ก้อนหินคือสิ่งมีชีวิต 

ผมคิดว่า การเกิดขึ้นของกลุ่มที่เราจะแกล้งเป็นนกพิราบกลุ่มใหญ่และกลุ่มที่เราจะแกล้งเป็นฝูงมดในรังมดสะท้อนฐานคิดเรื่อง ภววิทยาแบบ animism อย่างน่าสนใจ แน่นอนว่า ผู้คนในกลุ่มต่างรู้ตัวว่า พวกเขาเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์ หรือแมลง อย่างที่พวกเขาแกล้งจะเป็นกัน หากประเด็นสำคัญของปรากฏการณ์นี้คือการตั้งคำถามว่า ‘what if?’ หรือถ้าหาก…’ คำถามลักษณะนี้อาศัยพลังของจินตนาการ โดยที่การแกล้งว่าเป็นพิราบ และฝูงมด คือการจินตนาการว่า พวกเขาเป็นสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ จากการไล่อ่านโพสต์ต่างๆ ภายในกลุ่ม ผมพบว่า ทั้งกลุ่มพิราบ และฝูงมดต่างก็แสดงความโกรธแค้นต่อมนุษย์เป็นพิเศษ พวกเขาจะกดโกรธโพสต์ใดๆ ก็ตามที่อ้างว่า เป็นมนุษย์ และพยายามจะทำร้ายนกพิราบ หรือรังมด ไม่เพียงแต่สมาชิกในกลุ่มจะตอบสนองโพสต์ลักษณะนี้โดยการรุมกดโกรธ หากพวกเขายังรุมคอมเมนต์ด้วยประโยคที่แสดงว่ากำลังโจมตีต่อมนุษย์คนนั้นๆ เช่น จิก ขี้ และกัด แน่นอนว่า ปฏิกิริยาเหล่านี้ดำเนินไปเพื่อความขบขัน หากนั่นก็แสดงให้เห็นถึงจินตนาการร่วมของสมาชิกในกลุ่มที่ร่วมกันสร้างความรู้สึกนึกคิดของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ โดยที่แม้ว่า ถึงที่สุดแล้วมนุษย์จะยังเป็นศูนย์กลางของบทสนทนาภายในกลุ่ม หากสถานะของมนุษย์ก็ถูกลดทอนลงจนเหลืออยู่ระดับของผู้ถูกกระทำเท่านั้น

ผ่านกรณีการเกิดขึ้นของกลุ่มพิราบ และกลุ่มมด แม้ว่าถึงที่สุดแล้วจะคือกิจกรรมเพื่อความบันเทิงของมนุษย์ด้วยกัน ทว่าในทางหนึ่ง ผมคิดว่า กิจกรรมนี้สร้างบทสนทนาต่อภววิทยาแบบ animism และมุมมองต่อวิชามานุษยวิทยาของอิงโกลด์ได้อย่างน่าสนใจ เพราะไม่เพียงแต่กลุ่มพิราบ และกลุ่มมดจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ต่อการจะจินตนาการถึงความรู้สึกนึกคิดของสรรพสิ่งอื่นๆ ที่ก้าวพ้นไปจากมนุษย์เท่านั้น แต่อย่างพื้นฐานที่สุด มันคือการสะท้อนสำนึกที่ครอบคลุมถึงชีวิตอื่นๆ และความหลากหลายอื่นๆ บนโลกใบนี้ ที่ควรจะถูกให้ความสำคัญอย่างจริงจัง

ไม่กี่วันก่อน ในกลุ่มนกพิราบ อยู่ๆ ก็มีสมาชิกคนหนึ่งมาโพสต์เชิญชวนให้สมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มไปเข้าร่วมกลุ่มที่เราจะแสร้งว่าอยู่ในประเทศประชาธิปไตยปรากฏการณ์นี้น่าสนใจอีกเช่นกัน เพราะแม้ว่ากลุ่มๆ นี้จะตั้งขึ้นบนฐานของการเสียดสี และอารมณ์ขัน หากจุดประสงค์ของกลุ่มที่จะให้สมาชิกทุกคนมาแกล้งว่ากำลังใช้ชีวิตอยู่ในประเทศประชาธิปไตยคือ การสร้างเครือข่ายจินตนาการที่วาดภาพความจริงอื่นซึ่งขัดแย้งกับความเป็นจริงของประเทศไทย

ในบทหนึ่งของหนังสือ Why We Post: How the World Changed Social Media โดย แดเนียล มิลเลอร์ (Daniel Miller) นักมานุษยวิทยาผู้สนใจในวัฒนธรรมโซเชียลมีเดียได้กล่าวถึงลักษณะร่วมทางการเมืองในโซเชียลมีเดียว่าการมีส่วนร่วมเชิงรับ’ (passive participation) นั่นคือ การที่ผู้คนวิจารณ์เรื่องต่างๆ แบบจำยอม เช่น การที่ผู้คนในโซเชียลมีเดียจะหาความสนุกจากการเมืองผ่านการเปลี่ยนนักการเมืองเป็นมุกตลก หรือการที่ผู้คนจะติดตามการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก มิลเลอร์ชี้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างโซเชียลมีเดียกับการเมือง คือการที่ผู้คนมองว่าโซเชียลมีเดียคือบ่อเกิดของความบันเทิง

เขายังได้ยกตัวอย่างรูปแบบการใช้โซเชียลมีเดียในอิตาลีตอนใต้ ในฐานะพื้นที่ที่ผู้คนจะมาแสดงความโกรธแค้นขุ่นเคืองต่อภาวะการเมืองทั่วๆ ไป ทว่าพวกเขากลับไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กเพื่อประท้วง หรือเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ แม้ว่าหลายๆ คนจะรู้สึกไม่ดีกับการเมือง แต่พวกเขาเพียงใช้โซเชียลมีเดียในการวิจารณ์ประเด็นที่คนส่วนใหญ่รู้ดีกันอยู่แล้ว และรับรู้ว่าเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ มิลเลอร์เสนอว่า ลักษณะเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากอารมณ์ขัน นั่นคือการมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ได้เป็นไปในลักษณะการกระทำทางการเมือง แต่เป็นการใช้การเมืองเพื่อสร้างวาทกรรมร่วมกันในแง่นี้ ความเป็นการเมืองจึงได้กลายเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนทั่วไป

ปัจจุบันกลุ่มที่เราจะแสร้งว่าอยู่ในประเทศประชาธิปไตยได้หายไปแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มลบไปเอง หรือเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มๆ นี้หรือเปล่า ถึงอย่างนั้น การปรากฏขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ของกลุ่มนี้ก็สะท้อนข้อเสนอของมิลเลอร์ได้อย่างน่าสนใจ ผมคิดว่า ความเป็นการเมืองไทยในโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ ในแง่หนึ่ง ได้มีลักษณะเป็นวัฒนธรรมร่วมไปแล้ว โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ที่ความโกรธแค้นขุ่นเคืองต่อรัฐบาล และผู้มีอำนาจคล้ายจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐจะดังชัดขึ้นเท่านั้น หากพร้อมๆ กัน มุกตลก และลีลาการประชดประชันก็ยังซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จนในบางครั้งก็ยากที่จะแยกแยะระหว่างเรื่องจริง กับเรื่องแต่ง ความพร่าเลือนเช่นนี้ แม้อาจสร้างความสับสนอยู่บ้าง แต่มันก็สะท้อนบรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยได้เป็นอย่างน่าสนใจ ผมไม่รู้ว่า ถึงที่สุดแล้ว จะมีวันที่ลักษณะร่วมทางการเมืองในโซเชียลมีเดียจะเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีส่วนร่วมเชิงรุก’ (active participation) หรือไม่ จะมีวันที่โซเชียลมีเดียมีพลังพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเฉกเช่นเดียวกับอาหรับสปริงหรือไม่ นั่นอาจเป็นเรื่องที่ยังตอบไม่ได้

นั่นอาจเป็นเรื่องของจินตนาการต่อประเทศประชาธิปไตยที่ยังมาไม่ถึง

อ้างอิง:

  • Anthropology: why it matters, Tim Ingold: เขียน
  • Perspective, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ: เขียน
  • Why We Post: How the World Changed Social Media, Daniel Miller และคณะ: เขียน, ฐณฐ จินดานนท์: แปล