ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ตอนจบของละครเมีย 2018 ซึ่งครองเรตติ้งสูงสุดในประวัติศาสตร์ช่องวัน (One) นับว่ากระตุกให้คนดูกลับมานึกถึงความเป็น ‘ปาหี่’ ของตัวมันเองได้อย่างดีเยี่ยม
ละครชื่อชวนขมวดคิ้วที่สร้างจากบทประพันธ์นำเข้าจากไต้หวัน (ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษประหลาดพอๆ กันว่า The Fierce Wife) เรื่องนี้ สร้างความนิยมผ่านเสียงชื่นชมแบบปากต่อปากจนกลายเป็นกระแสโด่งดังในแง่ของความ ‘สมจริง’ และ ‘แตกต่าง’ จากละครไทยแนวชิงรักหักสวาททั่วไป
อรุณา ตัวเอกของเรื่อง สร้างนิยามใหม่ให้ ‘เมีย’ ในละครร่วมสมัยไทย โดยการเลือกก้าวออกจากสถานภาพเมียหลวง เมื่อพบว่าสามีเป็นชู้กับกันยา ลูกพี่ลูกน้องตัวเองที่เข้ามาขอพักอาศัยในบ้านชั่วคราว เดิมทีอรุณาเป็นแม่บ้านที่วันๆ เอาแต่เลี้ยงลูกและปรนนิบัติผัวจนหัวหูกระเซอะกระเซิง (มากเท่าที่นางแบบสูงยาวเข่าดีหน้าสวยใสอย่างบี น้ำทิพย์จะเป็นได้) แต่หลังจากเจอมรสุมครั้งใหญ่ในชีวิต เธอก็ไม่จมอยู่กับความทุกข์นาน ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปิดรับโอกาสต่างๆ ที่เข้ามาเมื่อเธอดูดีขึ้น จนกลายมาเป็นเซลล์ขายซูเปอร์คาร์สุดฮอตและพิธีกรรายการแนวสร้างแรงบันดาลใจที่โด่งดังมีแฟนคลับทั่วประเทศ ทั้งนี้ทั้งนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอได้รับกำลังใจและแรงสนับสนุนจากคนรอบตัว ทั้งแม่ เพื่อนสนิท และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชายหนุ่ม (กว่า) ผู้เริ่มต้นจากการเป็นเจ้านายแต่ลงท้ายที่อยากเป็นคนรัก ทำเอาคนดูปลาบปลื้มจนพากันเชียร์ให้เธอลืมสามีไม่รักดีและเริ่มต้นรักครั้งใหม่กับ ‘บอส’ ให้ได้เร็วๆ
ความท้าทายสำคัญของอรุณา ไม่ใช่เรื่องสูญเสียสามีหรือโดนเมียน้อยตามรังควาน แต่คือเรื่องของนุดา ลูกสาววัยอนุบาล ที่ค่อยๆ รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงภายในบ้าน ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติในโลกของผู้ใหญ่ เด็กน้อยไร้เดียงสาเรียกร้องหาพ่อให้มาทำหน้าที่อย่างที่เขาเคยทำมาโดยตลอด ปัญหาดังกล่าวคลี่คลายไปได้ในที่สุดจากความร่วมมือระหว่างอรุณากับธาดา ที่เลิกเป็นภรรยา-สามีกันแต่ยังช่วยกันทำหน้าที่แม่และพ่อของลูก การให้น้ำหนักกับผู้รับผลกระทบหลักจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคน 2 คน นั่นก็คือลูก สร้างความน่าติดตามให้ละครเมีย 2018 และเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการผสมผสานเรื่องสมจริงกับเพ้อฝันได้อย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน จนหลายคนถึงกับบอกว่ารู้สึกเหมือนกำลังแอบดูเพื่อนข้างบ้าน
อย่างไรก็ตาม ตอนจบของละครเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ก้อนอิฐจากผู้ชมไปอย่างล้นหลาม เหตุที่ว่าผู้จัดพยายามขายของ อย่างออกนอกหน้า ไม่ว่าจะเป็นรายการของค่ายตัวเอง หรือสารพัดสินค้าที่เป็นสปอนเซอร์ จนพากันออกทะเลไปทั้งตัวละครและบท สร้างความขัดอกขัดใจให้กับคนที่รอลุ้นบทสรุปของตัวละครแต่ละตัว
วิธีการที่ทีมงานเมีย 2018 เลือกใช้เพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากสินค้าของตัวเองเป็นครั้งสุดท้ายน่าสนใจไม่น้อย เมื่อมองว่าละครเรื่องนี้ได้รับความนิยมมาจาก ‘ความสมจริง’ ของเรื่อง เริ่มจากการประกาศเชิญชวนให้แฟนละคร เข้ามามีส่วนร่วมในการถ่ายทำฉากจบของเรื่องที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพเพียง 1 อาทิตย์ก่อนละครจะออกอากาศ ภาพจากกองถ่ายที่ปรากฏตามโซเชียลเน็ตเวิร์กน่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้คนดูทางบ้านยิ่งอยากรอลุ้นตอนจบที่หน้าจอแบบสดๆ อยู่ไม่มากก็น้อย
ตามท้องเรื่อง ฉากดังกล่าวเป็นงานอีเวนท์พบแฟนคลับของอรุณา โดยทีมงานของเธอจัดกิจกรรมให้ผู้ชมรายการส่งคลิปเข้ามาร่วมสนุกในหัวข้อ “ครั้งหนึ่งในชีวิต” เพื่อคัดเลือกชิ้นที่น่าประทับใจมาตัดต่อเผยแพร่สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ ฝ่ายตัวเธอเองก็จะมาพูดถึง ครั้งหนึ่งฯ ของตัวเองแบบสดๆ บนเวที
ภาพที่คนดูละครเรื่องเมีย 2018 ได้เห็น ก็คือ บี น้ำทิพย์ที่แสดงเป็นอรุณาพิธีกรชื่อดัง พูดความในใจของตัวเองบนเวทีต่อหน้าแฟนคลับของเธอ (ซึ่งที่จริงเป็นแฟนคลับละครเมีย 2018 และเหล่านักแสดงในเรื่อง) หลังจากเธอพูดถึงกำลังใจที่เป็นแสงสว่างในความมืดมิดจบ แฟนคลับต่างรู้คิวพร้อมใจกันหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเปิดไฟฉาย ส่องสว่างให้กับอรุณา สร้างความประทับใจจนน้ำตาเล็ดน้ำตาไหล ไม่เพียงเท่านั้น คนดูทางบ้านยังได้เห็นอรุณาตกตะลึง เมื่อมองไปในจอ projector บนเวทีแล้วพบกับวศิน ชายที่เธอรักซึ่งจู่ๆ เงียบหายไปเพราะโดนฝรั่งขี่จักรยานจนล้มหัวฟาดพื้นสลบระหว่างเดินทางท่องเที่ยวที่อิตาลี โดยที่เบื้องหลังวศินอีกที เป็นจอทีวีโฆษณาเครื่องสำอางที่มีดาราสาวชื่อดัง ใหม่ ดาวิกา เป็นพรีเซ็นเตอร์
เป็นอันว่าคนดูพลอยได้ดูโฆษณาที่อยู่ในจอบนเวทีที่อรุณาดูซึ่งถูกถ่ายทอดสดให้คนดูทางบ้าน (ในเรื่อง) อีกที ทันใดนั้นเอง ภาพตัดมาที่คู่สามี-ภรรยาเพื่อนรักของนางเอก (ชาติชาย-ธารี) ที่กำลังนั่งดูถ่ายทอดสดทางมือถืออยู่บนเตียงในโรงพยาบาล ข้างเตียงเป็นกระเช้าผ้าอ้อมยี่ห้อดังซึ่งแน่นอนว่าเป็นอีกหนึ่งผู้สนับสนุน ระหว่างที่คนดูยังลังเลอยู่ว่าจะอิ่มกับฉากรักของพระ-นาง หรือจะเอียนกับการไทอินโฆษณาดี เสียงเพลงประกอบละครเมีย 2018 ก็ดังขึ้น กล้องแพนไปที่หน้าเวที พบเจ้าของเพลงยืนร้องสดอยู่ท่ามกลางคนดู ไม่มีใครแปลกใจว่าเธอมาทำอะไรตรงนี้ ตรงกันข้าม กลับพากันยกมือถือขึ้นโบก พร้อมร้องคลอตามอย่างพร้อมเพรียง ขณะที่นางเอกกับพระเอกยืนกอดกันกลม ภาพของทั้งคู่ปรากฏบนจอยักษ์กลางเวที และงานอีเวนท์เหมือนจะจบไปโดยที่ยังไม่มีผู้ใดได้รับรางวัล
ไม่น่าแปลกใจที่ความเลอะเทอะจนน่าขัน เหล่านี้ทำให้คนดูที่ชื่นชอบละครเรื่องนี้เพราะความสมจริง ต้องผิดหวังไปตามๆ กัน ปมขัดแย้งที่หลายคนรอดูการคลี่คลาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางจิตของกันยา หรือความสับสนของนุดาหากพบว่าแท้จริงพ่อกับแม่ของเธอหย่าขาดจากกันแล้ว ลอยหายไปพร้อมกับคลิป ‘ครั้งหนึ่งในชีวิต’ ของผู้ชมทางบ้าน
ขณะเดียวกัน การเล่นกับกระแสของละครแบบไม่บันยะบันยังในฉากจบดังกล่าว ทั้งการให้แฟนละครเข้าไปร่วมเล่นเป็นตัวประกอบ, การฉายภาพคนดู (ซึ่งที่จริงเป็นตัวประกอบในเรื่อง) ที่ติดตามงานอีเวนท์ผ่าน live stream และการเอานักร้องเพลงประกอบตัวจริงมาร้องเพลงให้ฟังแบบดื้อๆ นอกจากจะทำให้เส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริง กับ เรื่องแต่ง พร่าเลือนแล้ว ยังกระตุกให้คนดูได้ตระหนักถึง ‘ความเป็นละคร’ ที่เกือบตลอดทั้งเรื่องถูกบทที่ค่อนข้างสมจริงห่อหุ้มเอาไว้
Bertolt Brecht (1898–1956) นักการละครชาวเยอรมัน เคยเสนอทฤษฎีว่าด้วยเทคนิคของละครเวทีที่เรียกว่า alienation effect (แปลจาก Verfremdungseffekt ในภาษาเยอรมัน) ว่าด้วยการทำให้แปลกแยก คือการแสดงชนิดที่ทำให้คนดูตระหนักว่ากำลังดูละคร (ไม่ใช่ชีวิตจริง) เพื่อที่จะได้ไม่เชื่อมโยงตัวเองกับตัวละครหรืออินกับเรื่องราวจนสูญเสียความสามารถในการคิดเกี่ยวกับเนื้อหาของเรื่องอย่างจริงจัง
สำหรับ Brecht การคิดที่ว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ อย่างมีสติไม่ใช้อารมณ์ และอาจนำไปสู่การลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับ Brecht หรือไม่ แนวคิดเรื่อง alienation effect ช่วยส่องให้เราเห็นอีกมิติของผลจากการทำการตลาดแบบไม่ค่อยสร้างสรรค์ของทีมงานเมีย 2018 การที่ฉากท้ายเรื่องผลักคนดูออกจากภวังค์ที่เรื่องเล่าสมจริงที่ตรึงพวกเขาไว้ ในแง่หนึ่งอาจทำให้คนดูได้หยุดคิด และวิพากษ์วิจารณ์มันในฐานะที่เป็นละคร รวมทั้งมองเห็นตัวเองในฐานะ ‘คนดู’ หรือกระทั่ง ‘เหยื่อการตลาด’ ของค่ายโทรทัศน์ แทนที่จะเป็นเพื่อนข้างบ้านที่เฝ้าติดตามชีวิตของผู้หญิงชื่ออรุณา อย่างที่รู้สึกกันมาตลอด
เมื่อมายาแห่งความสมจริงสลายไป เราอาจได้มองเห็นนาง-พระของเรื่อง (รวมถึงอดีตสามีของนางเอก ที่น่าจะนับได้ว่าเป็นพระเอกอีกคน) ในฐานะภาพสมบูรณ์แบบของตัวเองในจินตนาการของชนชั้นกลาง ที่สวย-หล่อ จับอะไรเป็นเงินเป็นทอง สังคมและสิ่งแวดล้อมดีเลิศ เมื่อพบกับความท้าทายในชีวิต ก็ก้าวข้ามมันมาได้อย่างสวยงามและกล้าหาญ พวกเขาใช้ชีวิตปัจเจกที่มีทางเลือกแบบที่ชนชั้นกลางใฝ่ฝัน (สมชื่อรองของเรื่องคือ ‘รักเลือกได้’) ไม่ต้องเผชิญแรงกดดันจากสังคม ครอบครัว ปัญหาการเงิน (พ่อแม่ญาติมิตรของตัวละครเหล่านี้แทบไม่ปรากฏตัวในเรื่อง) ตกงานก็หางานใหม่ที่เงินดีเท่าเดิมได้ งอนสาวก็หนีงานไปเดินทางรอบโลกได้ ถูกนอกใจก็อัดคลิปเรียกไลก์กู้คืนความมั่นใจในตัวเองกลับมาได้ ฯลฯ
ในแง่นี้ เมีย 2018 จึงไม่ได้สะท้อนความจริงในสังคมมากเท่ากับสะท้อน ‘ความใฝ่ฝัน’ ของคนกลุ่มหนึ่งเกี่ยวกับตัวเอง และไม่ได้ท้าทายระบบคุณค่าเกี่ยวกับครอบครัวหรือบทบาททางเพศมากเท่ากับเยียวยาอาการ ‘อกหัก’ ของชนชั้นกลางจากระบบคุณค่าทางศีลธรรมที่ค้ำจุนความเป็นครอบครัวแบบอุดมคติเอาไว้
แม้จะเห็นได้ชัดว่า ละครปรับตัวให้เข้ากับโลกทัศน์ของชนชั้นกลางที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป—ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วไม่จำเป็นต้องมีภาพลักษณ์แม่บ้านหัวฟู แต่สามารถเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวสวยเก๋ทำงานเก่ง ครอบครัวที่รักษาไว้ให้สมบูรณ์ไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องแตกสลาย ลูกที่พ่อแม่แยกทางกันก็ไม่จำเป็นต้องเติบโตมาอย่างขาดพร่อง—แต่พร้อมกันนั้น มันก็เป็นตัวยืนยันจินตนาการอีกหลายอย่างที่ยังถูกแช่แข็งไว้ ไม่ว่าจะเป็นการที่คนเป็นเมียน้อยถ้าไม่ใช่คนเลวไร้สำนึกทางศีลธรรมก็ต้องเป็นคนบ้า ผู้ชายที่มีสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิงแล้วจะต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูกันไปตลอด ความรักต้องมีรูปแบบที่ตายตัวและมุ่งสู่การสร้างครอบครัว ฯลฯ
ยิ่งไปกว่านั้น ละครที่สร้างเรื่องเล่าชุดใหม่ให้กับครอบครัวชนชั้นกลาง ที่ยังคงสมบูรณ์แบบในความไม่สมบูรณ์ ก็ต้องการสักขีพยานของความสำเร็จ และการยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานจาก ‘คนข้างบ้าน’ ที่แต่ไหนแต่ไรมามักถูกนำเสนอในละครไทยในรูปของแม่บ้านปากมากช่างเผือก ซึ่งภาพของแฟนคลับที่มาร่วมให้กำลังใจอรุณาอย่างอุ่นหนาฝาคั่งและปรบมือเกรียวกราวให้กับซีนสารภาพรักของนาง-พระ ตอบสนองข้อเรียกร้องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ที่สุดแล้ว บางทีฉากที่สมจริงที่สุดของละครเรื่องนี้ อาจอยู่ในฉากที่เผยการจัดฉาก เผยความเป็นเรื่องแต่งที่ต้องการคนดู และความเป็นละครที่ต้องการตัวประกอบ (แถมพ่วงด้วยเพลงประกอบ) ของเรื่องเล่าแบบอุดมคติของชนชั้นกลางไทยในยุค 2018 ในฐานะแฟนละคร ผู้ชมทางบ้านถูกเชิญชวนให้มาเป็นสักขีพยานของการกู้คืนอีโก้ของคนในชนชั้นของอรุณาที่ยังไงๆ ก็ ไปต่อ (ตามที่เพลงประกอบบอก) ได้ หากเพียงแค่ปล่อยวางชุดคุณค่าทางสังคมบางชุดที่กำลังเริ่มเสื่อมพลังลง
ภาวะกระอักกระอ่วนของคนดูละครต่อการจัดฉากอันแสนไม่เนียน อาจทำให้พวกเขามองเห็นตัวเองชัดขึ้นในฐานะเอ็กซ์ตร้าค่าตัวฟรี ที่ไม่มีบทบาทอะไรมากไปกว่าแหงนหน้าขึ้นชื่นชมผู้ที่สูงส่งและสมบูรณ์แบบกว่าตัวเองโดยธรรมชาติ เพื่อช่วยสร้าง ‘เอ็ฟเฟ็คต์’ ของความสมจริงให้กับเรื่องเล่าที่แสนห่างไกลจากชีวิตจริงของพวกเขานั่นเอง
Tags: บี น้ำทิพย์, ละครไทย, บอสวศิน, เมีย 2018, The Fierce Wife