“He maybe a son of a bitch, but he is our son of a bitch.”

เขาอาจจะเป็นไอ้ลูกกะหรี่แต่เขาคือไอ้ลูกกะหรี่ของเรา

ข้อความดังกล่าว คอร์เดล ฮัลล์ (Cordell Hull) อดีตผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ กล่าวถึงราฟาเอ็ล เลโอนิดาส ตรูฆิโย โมลินา (Rafael Leónidas Trujillo Molina) อดีตผู้นำเผด็จการแห่งสาธารณรัฐโดมินิกัน อย่างเป็นนัยว่า ตรูฆิโยมีพฤติกรรมอย่างไร และมีความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาอย่างไรในการขึ้นครองอำนาจ และสร้างระบอบเผด็จการที่แผ่อิทธิพลอยู่เหนือฟากฟ้าของสาธารณรัฐโดมินิกันนานกว่าสามทศวรรษ ก่อนที่ความสัมพันธ์จะค่อยๆ เสื่อมลงจนถึงการคว่ำบาตรต่อสาธารณรัฐโดมินิกัน (ข้อความดังกล่าวอ้างอิงจากหนังสือชื่อ Trujillo: The Death of the Goat ของเบอร์นาร์ด ดีเดอริคช์ (Bernard Diederich) นักเขียน นักหนังสือพิมพ์และนักประวัติศาสตร์ชาวนิวซีแลนด์)

วันที่ 30 พฤษภาคม 1961 เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ที่ต้องจดจำสำหรับประชาชนในสาธารณรัฐโดมินิกัน เมื่อ ตรูฆิโย หรือ “ไอ้แพะหื่น” จอมเผด็จการผู้มักมากในกาม จบชีวิตลงด้วยห่ากระสุนจากการลอบสังหารของกลุ่มอดีตผู้ภักดีและผู้ชิงชัง ที่รวมตัวกันเพื่อภารกิจปลดปล่อยประเทศจากแอกเผด็จการ

เหตุการณ์หลังการลอบสังหารตรูฆิโยไม่เป็นไปตามแผนสมคบคิด เมื่อรัฐมนตรีดูแลเหล่าทัพ พลเอกโฆเซ เรเน โรมัน (José René Román) หรือปูโป โรมัน (Pupo Román) ผู้มีอำนาจทางการทหารเป็นอันดับ 2 รองจากตรูฆิโยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำไว้กับเหล่าผู้ลอบสังหาร ทำให้เกิดความพลิกผันในการแย่งชิงอำนาจ จนเมื่อรามฟิส ตรูฆิโย (Ramfis Trujillo) บุตรชายของไอ้แพะหื่นกลับมา ก็เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการล้างแค้นทารุณอันสุนทรต่อเหล่าผู้ก่อการ

ในขณะที่การล้างแค้นของรามฟิส ตรูฆิโย ดำเนินไปนั้น อีกทางหนึ่ง ประธานาธิบดีหุ่นเชิด โฆอากิน บาลาเกร์ (Joaquín Balaguer) ก็เริ่มดำเนินการกำจัดระบอบตรูฆิโยให้หมดไปจากฟากฟ้าของโดมินิกัน ทั้งยังเริ่มทำให้ประเทศกลับสู่เสถียรภาพด้วยการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา

30 พฤษภาคม 1961 ตรูฆิโย หรือ “ไอ้แพะหื่น” จอมเผด็จการผู้มักมากในกาม จบชีวิตลงด้วยห่ากระสุนจากการลอบสังหารของกลุ่มอดีตผู้ภักดีและผู้ชิงชัง

มาริโอ บาร์กัส โยซา (Mario Vargas Llosa) นักเขียนรางวัลโนเบลชาวเปรูได้นำเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นข้างต้น มาเป็นจุดศูนย์กลางของนวนิยายเรื่อง ยัญพิธีเชือดแพะ โดยใช้จุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์นี้เป็นรอยต่อระหว่างนวนิยายผู้เผด็จการ (Dictator Novel) กับนวนิยายการเมือง (Political Novel) ที่มีการช่วงชิงอำนาจนำของสาธารณรัฐโดมินิกันเป็นเดิมพัน

นวนิยายผู้เผด็จการ เป็นตระกูลงานเขียนที่ขึ้นชื่อลือชาของนักเขียนจากภูมิภาคลาตินอเมริกา นับตั้งแต่นักเรียนรุ่นก่อนหน้าอย่างมิเกล อังเกล อัสตูเรียส (Miguel Ángel Asturias) นักเขียนรางวัลโนเบลชาวกัวเตมาลา มาจนถึงกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) ผู้โด่งดัง ล้วนเคยฝากฝีไม้ลายมือรังสรรค์นวนิยายที่บรรยายฉากชีวิตของผู้เผด็จการ ในภูมิภาคที่อุดมไปด้วยผู้นำเผด็จการแห่งนี้

ยัญพิธีเชือดแพะ เป็นนวนิยายผู้เผด็จการที่มาริโอ บาร์กัส โยซา เขียนขึ้นเพื่อเปิดเผยความโหดร้ายทารุณของผู้นำเผด็จการที่ปกครองประเทศด้วยการใช้อำนาจในทางมิชอบ และใช้โฆษณาชวนเชื่อมาปกปิดความชั่วร้าย หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อสร้างภาพตัวตนของผู้นำเผด็จการให้มีลักษณะเทียบเทียมพระเจ้า

ผู้นำเผด็จการใช้โฆษณาชวนเชื่อมาปกปิดความชั่วร้าย หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อสร้างภาพตัวตนของผู้นำเผด็จการให้มีลักษณะเทียบเทียมพระเจ้า

ความโดดเด่นอย่างมากของ ยัญพิธีเชือดแพะ คือการใช้บุคคลจริงที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง ทว่าความโดดเด่นนี้ หากไม่ควบคุมการเขียนด้วยข้อมูลให้ดี ก็จะเกิดการบรรยายเพื่อเพิ่มสีสันให้ตัวละครและตัวบทเกินจริงจนเสียความ นอกจากนั้นแล้ว การเขียนนวนิยายบนฉากของประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องเล่ามากมายกว่าสามทศวรรษนี้ ถ้าไม่สามารถควบคุมเรื่องแต่งที่วางอยู่บนเรื่องจริงให้ได้ดุล พลังของเรื่องแต่งก็จะถูกกลบฝังลงไปด้วยพลังของประวัติศาสตร์

ในข้อนี้ มาริโอ บาร์กัส โยซา จัดการกับข้อเสียเปรียบของเรื่องแต่งได้อย่างแนบเนียน ด้วยการสร้างตัวละครที่มีลักษณะเด่นในการส่องสะท้อนภาพจริงของประวัติศาสตร์ได้อย่างไม่ด้อยไปกว่าบุคคลที่มีตัวตนจริงเพิ่มเข้าไป

ตัวละครที่เป็นภาพเสริมและภาพแทนของบรรดาผู้คนที่ทุกข์ยากจากความวิปริตของระบอบตรูฆิโยก็คืออูราเนีย กาบราล (Urania Cabral) ลูกสาวของอากุสติน กาบราล (Agustín Cabral) หรือ “ไอ้สมองใสกาบราล” หนึ่งในอดีตผู้รับใช้ใกล้ชิดของตรูฆิโย

อูราเนียเดินทางกลับมายังสาธารณรัฐโดมินิกันอีกครั้งในปี 1996 หลังจากที่ได้จากไปเมื่อปี 1961 และตั้งใจไว้ว่าจะไม่กลับมาเหยียบแผ่นดินเกิดนี้อีก ขณะที่เธอกลับมานั้น ไอ้สมองใสกราบาลพ่อของเธอ อยู่ในสภาพทุพพลภาพจากโรคหลอดเลือดในสมองแตก ส่วนตัวเธอเองก็อยู่ในสภาวะจิตใจไม่มั่นคงเมื่อคิดถึงบาดแผลจากอดีตและความอาฆาตที่เธอเองก็ไม่แน่ใจว่าแท้จริงแล้วมันหมดไปหรือยัง

ท่านผู้นำได้มาหาแม่หรือเปล่าก่อนที่ฉันจะเกิด? ตอนที่ฉันยังเล็กเกินกว่าที่จะรู้ความเขามาหาในยามที่ภรรยาเหล่านั้นยังสวยและสาวแม่สวยใช่ไหมล่ะ? ฉันจำไม่ได้ว่าเขามาที่นี่แต่อาจจะมาก่อนที่ฉันเกิดแม่ฉันทำอย่างไร? เธอยอมรับมันหรือ? เธอมีความสุขไหม? หรือภูมิใจรู้สึกเป็นเกียรติ? นั่นคือธรรมเนียมปฏิบัติใช่ไหมล่ะ? ผู้หญิงโดมินิกันที่ดีย่อมรู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณเมื่อท่านผู้นำยอมลดตัวลงมาเย็ดพวกเธอพ่อคิดว่ามันหยาบคายหรือ? แต่นั่นเป็นคำกริยาที่ท่านผู้นำสุดรักของพ่อใช้เลยล่ะ

ไม่เพียงเท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่มาริโอ บาร์กัส โยซาทำได้อย่างเฉียบขาดคือ การใช้เทคนิคเรื่อง ‘เวลา’ และ ‘เสียง’ ของตัวละคร เขาเคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าชั้นเชิงมหัศจรรย์ต่างๆ ที่เขาใช้เกี่ยวกับเวลาและเสียงในงานวรรณกรรมนั้น มาจากการศึกษาผลงานของกุสตาฟ โฟลแบรต์ (Gustave Flaubert) และวิลเลียม โฟล์กเนอร์ (William Faulkner) เขาใช้เทคนิคการยืดหดช่วงเวลาและวิธีเล่าเรื่องตัดสลับไปมาเพื่อชวนให้ผู้อ่านติดตามการดำเนินเรื่องอย่างไม่ลดละ และไม่อาจคาดเดาเนื้อเรื่องได้โดยง่าย

ในส่วนของเสียง เขาให้ตัวละครแต่ละตัวส่งเสียงของตนเองออกมา ไม่ใช่แค่เพื่อดำเนินเรื่องของตัวเอง แต่เพื่อค่อยๆ เปิดทางให้ตัวละครอื่นๆ มีเสียงของตัวเองขึ้นมาด้วย ทั้งๆ ที่ตัวละครเหล่านั้นยังไม่ได้ส่งเสียงขึ้นมาจริงๆ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนในเรื่องนี้คือ ตอนที่บรรยายมุมมองความคิดของตรูฆิโยที่มีต่อผู้คนและสิ่งของรอบกาย

เส้นผมที่ขาดหายไปจากหัวกลายเป็นขนโผล่ยื่นออกมาจากหูเป็นปื้นดำสนิทเป็นการชดเชยที่พิลึกสำหรับความล้านเลี่ยนของไอ้รัฐธรรมนูญขี้เมาเขาเป็นคนตั้งฉายานี้ให้มันด้วยรึเปล่านะก่อนที่จะเปลี่ยนให้ใหม่ (เฉพาะในหมู่คนวงใน) ท่านผู้มีพระคุณจำไม่ได้น่าจะใช่เขาเก่งเรื่องคิดชื่อเล่นคนต่างๆมาตั้งแต่เด็กแล้วฉายาชื่อโหดๆจำนวนมากที่เขาประทับให้กับผู้คนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหนังจนในที่สุดก็แทนชื่อจริงของพวกเขาไปนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับวุฒิสมาชิกเอ็นรีชิริโนสไม่มีใครในสาธารณรัฐโดมินิกันยกเว้นหนังสือพิมพ์เรียกเขาด้วยชื่อจริงมีแต่เรียกด้วยฉายาเสียๆหายๆว่ารัฐธรรมนูญขี้เมา

การเขียนนวนิยายบนฉากของประวัติศาสตร์ ถ้าไม่สามารถควบคุมเรื่องแต่งที่วางอยู่บนเรื่องจริงให้ได้ดุล พลังของเรื่องแต่งก็จะถูกกลบฝังลงไปด้วยพลังของประวัติศาสตร์

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดยังไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดใน ยัญพิธีเชือดแพะ สิ่งที่สวยงามที่สุดนั้นคือ การวางอุดมการณ์ที่ตรงข้ามกันลงบนเนื้อเรื่องอย่างหลักแหลม ไม่ว่าจะเป็นความไม่ลงรอยกันระหว่างการเมืองแบบเผด็จการกับการเมืองแบบประชาธิปไตย อุดมการณ์ทางความคิดแบบคอมมิวนิสม์กับแบบประชาธิปไตย ลักษณะทางสังคมแบบชายเป็นใหญ่กับการต่อสู้แบบเฟมินิสม์ของตัวละครหญิง เราจะได้อ่านความคิดที่ตอบโต้กันด้วยเหตุและผลอย่างไม่ยัดเยียดถูกผิดแบบแปะป้ายจากผู้เขียน ตัวบทเว้นช่องให้เราได้พิจารณาเหตุผลผ่านการอ่านได้อย่างแยบยล ท้ายที่สุด การใคร่ครวญนี้จะกลายเป็นเครื่องมือในการพินิจพิเคราะห์การเมือง อุดมการณ์ และวาทกรรมต่างๆ รายรอบตัวเรา

คงจะไม่เป็นการเกินเลยไปนักที่จะยกย่อง ยัญพิธีเชือดแพะ ว่าเป็นหนังสือที่่คนในสังคมควรอ่านอย่างแพร่หลาย และถกเถียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกันอย่างกว้างขวาง เพราะตัวบทเต็มไปด้วยเรื่องราวปลีกย่อยมากมายที่มาริโอ บาร์กัส โยซา จัดวางลงไปอย่างซับซ้อนและเป็นระบบ หนังสือจะพาเราสำรวจไปภายใต้จิตใจของตัวละครหลากหลายบุคลิก ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงสงครามเย็น และความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

หนังสือพาเราสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงสงครามเย็น และความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

สำหรับนักอ่านชาวไทย หลายครั้งเมื่อบทสนทนาเกี่ยวกับการเมืองเกิดขึ้น เรามักจะได้ยินการพูดในทำนองว่าการเมืองการปกครองของลาตินอเมริกากับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นคล้ายคลึงกัน หนังสือเรื่องนี้ชวนตั้งคำถามระหว่างทางของการอ่านว่า อะไรทำให้ใครคนหนึ่งมีอำนาจล้นฟ้าครองใจคนจำนวนมากได้จนมีสถานะกึ่งพระเจ้า อะไรที่ทำให้คนเหล่านั้นสยบยอมให้กับความวิปริตผิดมนุษย์ และอะไรที่ทำให้วังวนเหล่านั้นไม่เคยหายไป ปฏิบัติการของตัวบทและการอ่านอาจทำให้เราเข้าใจในจุดยืนทางการเมืองของเราเอง (หรืออาจจะคนอื่น) ดีขึ้น เห็นตัวเองในการเมือง เห็นตัวเองบนอุดมการณ์ ย้อนถามตัวเองว่าเราอยู่ตรงไหนในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่จบลงไปแล้ว และอยู่ตรงไหนบนเหตุการณ์ที่กำลังเดินไป โดยมีเราเป็นหนึ่งในตัวละคร

แม้จะเป็นนวนิยายผู้เผด็จการ แต่ไม่ได้เป็นเพียงนิยายที่สาดสีแห่งความชั่วช้าแก่ระบอบเผด็จการ ยัญพิธีเชือดแพะ กลับพาเราไปดูว่ามีอะไรที่อยู่เบื้องหลัง และยังตั้งคำถามเบาๆ ว่า บนบันไดการขึ้นไปสู่ความเป็นเผด็จการนั้น มีแรงงานทางอุดมการณ์ของเราอยู่ด้วยหรือไม่

Fact Box:

  • ยัญพิธีเชือดแพะ เป็นนวนิยายเรื่องแรกของมาริโอ บาร์กัส โยซา ที่แปลเป็นภาษาไทย มาริโอ บาร์กัส โยซา ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2010 เขาเป็นนักเขียนคนที่ 2 ของกลุ่มลาตินอเมริกันบูมที่ได้รางวัลโนเบล ถัดจาก กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ที่ได้รับรางวัลในปี 1982
  • มาริโอ บาร์กัส โยซ่า เคยลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศเปรูในปี 1990 แต่พ่ายแพ้ต่ออัลเบอร์โต ฟูจิโมริ (Alberto Fujimori)
  • ชื่อเรื่อง ยัญพิธีเชือดแพะ แปลมาจากภาษาสเปน La Fiesta Del Chivo สำหรับชื่อเรื่องนี้มีสิ่งที่น่าสนใจในความหมายที่ซ่อนอยู่และจัดวางไว้อย่างจงใจ กล่าวคือ คำว่า “Fiesta” ในภาษาสเปนหมายถึง งานปาร์ตีที่สามารถสื่อไปถึงการเรียกหญิงสาวไปสังเวยกามของตรูฆิโย และยังหมายถึงวันเฉลิมฉลองทางศาสนาที่มีนัยไปถึงวันที่แพะถูกบูชายัญ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงการใช้แพะบูชายัญจะเป็นการชำระบาปให้มนุษย์ แต่ในที่นี้ มาริโอ บาร์กัส โยซ่ากลับวางแพะลงในบริบทของการบูชาเพื่อชำระบาปของของไอ้แพะหื่นต่อแผ่นดินโดมินิกัน
  • ในปี 2007 นิตยสารเซมานา (Semana) ของโคลอมเบียได้จัดทำรายการหนังสือดีภาษาสเปน 100 อันดับในรอบ 25 ปี ยัญพิธีเชือดแพะ ได้รับเลือกเป็นอันดับที่ 2 รองจาก รักเมื่อคราวห่าลง (Love in the Time of Cholera) ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
  • ยัญพิธีเชือดแพะ โดยมาริโอ บาร์กัส โยซา (Mario Vargas Llosa) แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ The Feast of the Goat สำนวนแปลของ Edith Grossman โดยพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ ตรวจทานกับต้นฉบับภาษาสเปน La Fiesta del Chivo โดยมานา ชุณห์สุทธิวัฒน์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บทจร, 552 หน้า ราคา 560 บาท พิมพ์ครั้งแรก 2560 ISBN 978-616-91833-7-2
Tags: , , ,