สตอกโฮล์มเข้าสู่หน้าหนาวอย่างเป็นทางการเมื่อเช้าวันนี้ หิมะเหมือนน้ำตาลไอซิ่งโปรยปรายลงมาเคลือบต้นสนและฉาบพื้นถนน ณ Royal Djurgården เป็นสีขาวโพลน ไม่นึกไม่ฝันว่ารสหวานจะสัมผัสได้ด้วยตาแบบนี้ ไม่ช้าหิมะก็ละลายล้อกับชื่อของนิทรรศการที่ฉันกำลังจะไประหว่างหลบลมหนาว ที่ชื่อว่า The Arctic – While the Ice Is Melting ฉันผลักประตูบานยักษ์ของพิพิธภัณฑ์นอร์ดิก (Nordic Museum) เข้ามารับไออุ่น ซึ่งพอมองเห็นเจ้าก้อนน้ำแข็งยักษ์จำลองใจกลางห้องโถงแล้วกลับรู้สึกหนาวขึ้นมา
The Arctic – While the Ice Is Melting
แค่ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นนิทรรศการที่เล่าเรื่องราวของอาร์กติกในวันที่น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย (ใช่ค่ะ น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย) สิ่งแรกที่เราหลายคนตระหนักคือระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นใช่ไหมคะ จนเราเองก็อาจลืมนึกไปว่า “ประชากรที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นกว่า 4 ล้านคน จะอยู่อย่างไร เมื่อบ้านของพวกเขากำลังถล่ม”
นิทรรศการเกิดจากการร่วมมือกันของมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม (Stockholm University) และพิพิธภัณฑ์นอร์ดิก โดยเนื้อหาต่างๆ มาจากงานวิจัยกว่า 3 ปี เล่าเรื่องของภูมิประเทศที่อากาศโหดร้ายเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในมุมมองของความสัมพันธ์ ความสำคัญ และผลกระทบจากน้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลายของผู้ที่เรียก ‘อาร์กติก’ ว่าบ้าน ผ่านสิ่งของ รูปภาพ มัลติมีเดียต่างๆ สารคดี ผลงานวิจัย รวมถึงกล้องเว็บแคม
ด้วยการออกแบบของ design-duo MUSEEA ในห้องโถงข้างล่างสุดของพิพิธภัณฑ์นอร์ดิก มีธารน้ำแข็งจำลองขนาดยักษ์ตั้งอยู่ รอยร้าวของมัน แยกออกเป็นทางแคบๆ ให้เรารู้จักอาร์กติกแบบใกล้ชิด อาทิ ความสัมพันธ์ของคนกับน้ำแข็ง ความสำคัญของอากาศที่หนาวเย็นแม้จะไม่ดีต่อร่างกายแต่มีคุณประโยชน์ต่อโลกและผู้คนอย่างไร เทรนด์ต่างๆ ในเขตอาร์กติกตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงกิจกรรมยามว่าง และผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แม้นิทรรศการจะมีธารน้ำแข็งก้อนยักษ์เป็นแลนด์มาร์ค แต่มันยังแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ขอเรียกเป็นภาษาไทยตามความเข้าใจว่า 1. ธารน้ำแข็ง 2. บ้านเรือนและผู้คน และ 3. ท้องฟ้าและอนาคต
ภาพประกอบของแผนผัง
ภายในธารน้ำแข็ง
แบ่งออกเป็น 6 โซนย่อยด้วยกัน โดยเรียงลำดับด้วยตัวเลขให้เดินตามได้ง่าย โดยโซนน้ำแข็งเก็บข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่ อดีตถึงปัจจุบันได้เข้มข้นโดยเฉพาะ โซนที่ 3 ในเรื่อง Crack on Our World and Ourselves ที่เน้นการอ่านเป็นส่วนใหญ่ แม้จำนวนผู้เข้าชมจะเริ่มหนาแน่นขึ้น แต่ทุกคนใจเย็นรอให้คนข้างๆ ขยับไปทีละนิด ก่อนที่จะค่อยๆ ขยับตามเพื่อที่จะให้ทุกคนได้เสพข้อมูลที่รวบรวมจากงานวิจัยในหลายบริบทได้ครบถ้วน ในโซนแรกๆ ของธารน้ำแข็งนี้จะเข้มข้นด้วยวิชาการมากกว่าส่วนอื่น แต่ไม่ชวนให้น่าเบื่อด้วยลำดับการจัดเนื้อหาที่ฉุกให้ขบคิดทั้งบทบาท ความรับผิดชอบ และการกระทำของเรา
เมื่อย้ายไปชมโซนถัดไป กลับเป็นเรื่องตำนานปรัมปราของชาวน้ำแข็ง แทรกด้วยสารคดีและหนังสั้น และกล้องเว็บแคมที่ไลฟ์สดให้เราได้เห็นสถานที่ต่างๆในอาร์กติก ณ ขณะนั้น ฉันชอบที่ผู้จัดพยายามนำเสนอในมุมมองวัฒนธรรมมากกว่าจะอิงวิทยาศาสตร์จ๋า เหมือนอยากให้เราเข้าใจแบบคนที่มองอาร์กติกเป็นบ้านมากกว่าคนที่มองเห็นอาร์กติกเป็นแค่ขั้วโลกเหนือ
แสง คือสิ่งที่โดดเด่นในโมเดลธารน้ำแข็งนี้ ด้วยสีที่ไล่ลำดับจากตอนต้นธารน้ำแข็งเป็นสีขาว-สีเขียวอ่อน-ฟ้า-สีน้ำเงินเข้ม ฉันคิดว่ามันเหมือนแสงเหนือที่โลดแล่นบนท้องฟ้าของขั้วโลก แต่ในโซนสุดท้ายกลับมีโปรเจกเตอร์ธารน้ำแข็งที่กำลังละลายอยู่ในน้ำทะเลอยู่บนผนัง สีของมันค่อยๆ กลืนไปกับผิวน้ำที่มันลอยตัวอยู่ คล้ายกับแสงที่ฉันเอ่ยถึง จากก้อนน้ำแข็งสีขาว ค่อยๆ ละลายจนกลายเป็นสีน้ำเงินเข้มดุจใต้ท้องทะเลอาร์กติกอันมืดมน
บ้านเรือนและผู้คนในอาร์กติก
ตอนเด็กๆ ฉันถามพ่อเสมอว่ามีคนอยู่ที่ขั้วโลกได้อย่างไรในเมื่อหนาวขนาดนั้น ความหนาวเท่าที่คิดได้คือการเอามือไปแช่ในช่องฟรีซและค้างไว้สักสิบวินาที พอวันนี้เดินทะลุโซนน้ำแข็งมาถึงบริเวณโซนบ้านเรือนของชาวน้ำแข็ง กลับรู้ว่าเขาอยู่ได้เพราะในความหนาวเหน็บคนเรามีวิวัฒนาการ ไม่ใช่แค่เอาตัวรอดในอากาศหนาวไปวันๆ แต่คือการอยู่อย่างมีความหมาย หรือเกิดเป็นวัฒนธรรมนั่นเอง ซึ่งในอาร์กติกประกอบด้วยประชากรกว่า 40 กลุ่ม อาทิ Qaanaaqในกรีนแลนด์ Vatnajokul ในไอซ์แลนด์ Arjeplog และ Abisko ในสวีเดน Inuit ในอลาสก้า เป็นต้น
ในส่วนที่อยู่อาศัยออกแบบให้อบอุ่นกว่าส่วนแรกจนสัมผัสได้ มีเสียงเตาผิงเป็นดนตรีประกอบหลัก ภายในรวมประวัติศาสตร์และเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในขั้วโลก แฟชั่นเครื่องนุ่งห่มตั้งแต่สมัยแรกๆ จนถึงปัจจุบัน อาหารการกิน การเดินทางสัญจร อาชีพที่มากับน้ำแข็ง และสถาปัตยกรรม ทุกอย่างดูเหมือนเรื่องใหม่สำหรับฉัน เช่น วัฒนธรรมการดื่มที่ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นจนนำไปสู่ปัญหาสังคมบางอย่าง การนำเศษไม้ที่ลอยตามแม่น้ำที่เชี่ยวกรากมาเป็นฟืน จนปัจจุบันสามารถนำเศษไม้ที่อยู่ในน้ำแข็งมาศึกษากระแสน้ำในอดีตได้ แต่สิ่งที่ใหม่กว่าสำหรับทุกคนคือ ทุกวันนี้แค่ดำรงชีวิตปกติกลับยากขึ้นทุกวัน
“บ้านควรเป็นที่ที่ Safe and Sound” ตามคำบรรยายในหน้าหนึ่งของนิทรรศการ แต่รอยแตกที่เกิดขึ้นขณะน้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลายนี้ ทำให้เราสัมผัสความเยือกเย็นของการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อบ้านของพวกเขาผ่านสารคดีและภาพยนตร์สั้นต่างๆ รวมถึงภาพถ่าย
ท้องฟ้าและอนาคต
ฉันเดินออกมาเงยหน้าชมท้องฟ้าของอาร์กติก ที่ฉายบนเพดานสูงจากพื้นกว่า 20 เมตรของพิพิธภัณฑ์ วิดิโอโปรเจกเตอร์เกิดจาก Contemporary Collection ของตัวพิพิธภัณฑ์ (ทั้งรูปถ่ายและภาพยนตร์) ได้ผู้กำกับสายติสต์อย่าง Jesper Wachtmeiter มาเรียงร้อยจนออกมาดุจความฝันแบบนี้ จนทำให้เห็นท้องฟ้าของขั้วโลกเหนือที่ไม่ได้มีแค่แสงเหนืออันสุดวิเศษ
แม้หัวข้อเรื่องที่ค่อนข้าง Intense คล้ายกับเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่วันสิ้นโลก นิทรรศการยังคงให้ Sense of Hope ด้วยโซน The Future ที่ให้เราได้กลั่นกลองและตั้ง Climate Pledge ให้กับตัวของเราในอนาคต
We – While the Ice Is Melting
ประเด็นที่ฉันชอบที่สุดคือสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน เราอาศัยทวิตเตอร์บอกว่าคนนั้นก็ไม่ดี การทำแบบนี้ก็ไม่ใช่ ใส่ #shaming ให้กับคนอื่น ซึ่งเรื่องปกติที่เราทำเวลาตื่นตระหนกและอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบจริงจัง แต่การบอกว่าใครทำดีกว่าใครก็ไม่ได้ทำให้เราหายตึงเครียดได้เลย
หากทุกวัฒนธรรมสร้างขึ้นมาจากความเชื่อเรื่องการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ เพื่อที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เราสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ ณ ตอนนี้ธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณให้เราเริ่มตระหนักว่าความเชื่อนั้นมันกำลังเกิดขึ้นจริง ด้วยการดำเนินเนื้อหาแบบให้ข้อมูลเชิงวัฒนธรรมมากกว่าจะเน้นวิทยาศาสตร์ และการเล่าเรื่องที่สะท้อนการเปลี่ยนผ่าน เรามองเห็นรอยแตกในอาร์กติกและสะท้อนมาเห็นรอยแตกในตัวเราโดยปราศจากการชี้นิ้วบอกว่าต้องทำหรือไม่ต้องทำอะไร จากชื่อนิทรรศการที่ว่า “น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย” ทำให้เรารู้สึกหดหู่และสิ้นหวัง การเพิ่มโซน The Future ก็ทำให้ความตึงของหัวเรื่องมันเบาลง เพราะมันคือการที่เราได้คุยกับตัวเอง และให้สัญญากับตัวเราในอนาคตว่า ณ วันนี้ เราจะเริ่มทำอะไร (เพราะเรายังมีความหวังว่าเราคนนั้นจะได้กลับมาอ่านสิ่งนี้)
Fact Box
- นิทรรศการ The Arctic - While the Ice Is Melting จัดแสดงที่ พิพิธภัณฑ์นอร์ดิก (Nordic Museum) ณ ย่าน Djurgården ของสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ตั้งแต่วันนี้ถึงตุลาคม ปี 2021 โดยค่าเข้าจะรวมอยู่ในค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ 140 โครน
- เนื่องจากนิทรรศการมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงในการเข้าชม และยังไม่มีแผ่นพับข้อมูลออกมาอย่างเป็นทางการ หากใครเข้าชมร้านขายของที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์ที่ชั้นใต้ดินได้ โปรดระวังเงินในกระเป๋าสตางค์ไว้สักนิด เพราะในร้านขายของรวบสินค้าน่ารักน่าจับจองของนิทรรศการไว้มากมาย ส่วนหนังสือ Arctic Trace: Nature and Culture in Motion ที่รวบรวมข้อมูลเชิงลึกจะตีพิมพ์ออกมาให้ชมกันช่วงต้นปีหน้า