ไมโครซอฟท์กับไอดีซี เอเชียแปซิฟิก ร่วมกันจัดทำงานวิจัยหัวข้อ ‘Understanding Consumer Trust in Digital Services in Asia Pacific’ สำรวจกลุ่มตัวอย่างใน 14 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย งานวิจัยพบว่า ทั้งที่ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว มีมูลค่าการซื้อขายรวมสูงถึง 3.15 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา แต่กลุ่มธุรกิจค้าปลีกกลับเป็นกลุ่มที่ผู้บริโภคมีความมั่นใจ ‘น้อยที่สุด’ ในด้านการเก็บรักษาและใช้งานข้อมูลส่วนบุคคล

ขณะเดียวกัน อาชญากรรมไซเบอร์ในไทยก็ยังน่าห่วง เพราะมีการโจมตีภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รายงาน Security Intelligence Report (SIR) ฉบับที่ 24 ของไมโครซอฟท์ สรุปว่า ภัยร้าย 4 อันดับแรกสำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ได้แก่ มัลแวร์ทั่วไป (พบได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 107% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในเอเชียแปซิฟิก 51%) มัลแวร์ที่ขุดสกุลเงินดิจิทัล (+133% / +100%) มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (+140% / +71%) และการหลอกล่อด้วยเว็บไซต์ (+33% / +9%)

“ข้อมูลทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจในยุคดิจิทัลต้องเผชิญกับความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ๆ จากหลายช่องทาง ทั้งจากภายนอกและภายในองค์กรเอง การสร้างความไว้วางใจในกลุ่มผู้บริโภคจึงเป็นภารกิจที่ท้าทายไม่น้อยสำหรับทุกองค์กร” นายโอม ศิวะดิตถ์ ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

“งานวิจัยฉบับนี้ยังระบุอีกว่าผู้บริโภคไทยถึง 42% เคยพบกับปัญหาในการใช้งานบริการดิจิทัลที่ทำให้สูญเสียความมั่นใจ โดยที่ผู้บริโภคกว่า 62% ในกลุ่มนี้ตัดสินใจหันไปใช้บริการคู่แข่งแทนเมื่อต้องเจอกับปัญหาดังกล่าว ขณะที่ 33% จะหยุดใช้บริการไปอย่างเด็ดขาด”

หมายเหตุ: งานวิจัยดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจทัศนคติผู้บริโภคยุคใหม่ต่อความน่าเชื่อถือของบริการดิจิทัลต่างๆ ประกอบด้วยกลุ่มตัวอย่าง 6,372 คนใน 14 ประเทศ ซึ่งมีผู้บริโภค 452 คนในประเทศไทย มุ่งวิเคราะห์มุมมองเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว (privacy) ความปลอดภัย (security) เสถียรภาพ (reliability) จริยธรรม (ethics) และการปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกฎหมาย (compliance) ซึ่งเป็น 5 ปัจจัยหลักในการเสริมสร้างความมั่นใจของผู้บริโภค